ศาสนาสิกข์ในภูเก็ต
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
จันทร์, 11 กุมภาพันธ์ 2008


ศาสนาสิกข์

 ศาสนาสิกข์เกิดขึ้นในแคว้นปัญจาบ  ซึ่งเป็นแคว้นที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย  ติดกับประเทศปากีสถาน มีภาษาและตัวอักษรเป็นของตนเอง เรียกว่า ภาษาปัญจาบี ผู้ก่อตั้งศาสนาคือคุรุนานักเทพ

ชาวสิกข์คนแรกที่เข้ามาเมืองไทยในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เข้ามาค้าผ้า และต่อมาได้ชักชวนชาวสิกข์ คนอื่น ๆ ให้เข้ามาทำมาหากินในประเทศไทยมากขึ้น  ส่วนใหญ่ประกอบกิจการขายผ้า เมื่อชาวสิกข์เข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ก็ได้รวมตัวกันจัดตั้งสมาคมศรีคุรุสิงห์สภาขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เพื่อเป็นศูนย์กลางของชาวสิกข์ในประเทศไทย" (กุลธิดา  สามะพุทธ : สารคดี :  ๙๗) สำหรับชาวสิกข์ในภูเก็ตนั้นเข้ามาประมาณ ๗๐-๘๐ ปี มาแล้วโดยครั้งแรกนั้นเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ปีนัง แล้วค่อยอพยพเข้ามาอยู่ในภูเก็ตในระยะแรกมีกลุ่มชาวสิกข์เพียง ๑๐ คน เข้ามาประกอบอาชีพขายผ้าอยู่บริเวณถนนถลาง ซึ่งเป็นย่านธุรกิจดั้งเดิมของภูเก็ต แต่อยู่ในลักษณะคนต่างด้าวต้องเดินทางไป ๆ มา ๆ ระหว่าง ภูเก็ตปีนัง ต่อมาเมื่อมีชาวสิกข์เข้ามาอยู่ในภูเก็ตมากขึ้น จึงได้จัดตั้งวัดสิกข์ (คุรุทวารา) ขึ้นบริเวณถนนสุทัศน์ ตรงข้ามกับเรือนจำภูเก็ต ในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ วัดคือศูนย์รวมของชาวสิกข์ทุกคนในจังหวัดภูเก็ต มีผู้นำชาวสิกข์ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งนายกสมาคมศรีคุรุสิงห์สภาของจังหวัดภูเก็ต คือ นายจี. ซิงห์ เศรษฐี  ชาวสิกข์ในภูเก็ตมีประมาณ ๒๐๐ คน เกือบทุกครอบครัวประกอบอาชีพขายผ้า มี ๒ ครอบครัว ที่ประกอบอาชีพขายเพชร และขายเฟอร์นิเจอร์ ส่วนมากตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณ หาดป่าตอง กะรน และในตลาดภูเก็ต ชาวสิกข์จะยึดมั่นอยู่ในคำสอนของคุรุอย่างเคร่งครัด และอยู่ในสังคมของชาวภูเก็ตอย่างสงบ ชาวสิกข์จึงเป็นส่วนหนึ่งของชาวภูเก็ตในปัจจุบันเพราะสามารถพูดภาษาไทย และภาษาไทยท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

หลักคำสอนของศาสนาสิกข์

 ศาสนาสิกข์ส่งเสริมให้ผู้คนที่นับถือศาสนามีความกล้าอันประกอบด้วยเหตุผล  ไม่ให้กลัวต่อการขู่เข็ญคุกคาม  ไม่ให้เชื่อต่อการหลอกลวงเพื่อได้รางวัล  ศาสนาสิกข์สอนให้เชื่อในชัยชนะของการบำเพ็ญความดีด้วยความกล้าหาญและเด็ดเดี่ยว
 ท่านศาสดาคุรุนานักเทพย้ำถึงความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคนและต้องการให้เรามีความก้าวหน้าโดยวิธีการแห่งการรู้จักตนเองและควบคุมตนเอง  ตามระเบียบวินัย ๓ ประการ คือ วินัยทางกาย ทางศีลธรรม และทางจิตใจ
 วินัยทางกาย คือการให้บริการคนอื่นทางกาย วาจา เช่น การให้ทาน ซึ่งเป็นการบริการของผู้ครองเรือน 
 วินัยทางศีลธรรม  คือ การเลี้ยงชีพโดยชอบธรรม  ไม่มีความเห็นแก่ตัว  จิตใจสูงกว่าคนธรรมดาสามัญ  ผู้ยึดตัวตนเป็นประการสำคัญ
 วินัยทางจิตใจ  คือ ความเชื่อมั่นในพระเจ้าองค์เดียว  ซึ่งอยู่เหนือกาละเทศะและเหนือเทพทั้งหลาย  ศาสนาสิกข์เชื่อว่าในโลกนี้มีความหวังแม้แต่คนที่สิ้นหวังที่สุดก็จะยังมีโอกาสได้รับผลสำเร็จในชีวิต  ถ้าเขามีความพยายามไม่หยุดหย่อน   นอกจากนี้ยังสอนให้หลีกตนจากบาปสำคัญ ๕ อย่าง คือ ตัณหา โกรธ โลภ โมหะ อหังการ  บาปทั้ง ๕ นี้เป็นศัตรูสำคัญของมนุษย์และทำให้มนุษย์ตกระกำลำบากตลอดไป

ศาสนสถานสิกข์

ตั้งอยู่ที่ ถนนสุทัศน์  ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต