การกินโต๊ะจีนในงานมงคล
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
จันทร์, 11 กุมภาพันธ์ 2008
๕.๒(๔) (ชุด ๒) เอกลักษณ์วัฒนธรรมอาหารการกิน
การกินโต๊ะจีนในพิธีมงคลสมรส

 ในสมัยโบราณ (ก่อน พ.ศ.๒๕๐๐) เมื่อมีการมงคลสมรสระหว่างคนไทยเชื้อสายจีน เจ้าภาพจะนำบัตรไปเชิญแขกให้มาร่วมรับประทานอาหารในงานมงคลสมรส  ฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องชวนเพื่อนบ่าว(เกี๋ย) ๒ คน เป็นเพื่อนเพื่อนำบัตรไปเชิญ(แจก)แขกผู้ใหญ่หรือญาติสนิทที่เจ้าบ่าวให้ความเคารพนับถือถึงที่บ้าน  ซึ่งจะวางบัตรเชิญพร้อมด้วยบุหรี่ ๒ มวน

 การแจกบัตรเชิญในสมัยก่อน จะเชิญเฉพาะพ่อบ้านเท่านั้น จะไม่เชิญลูกชาย ยกเว้นเพื่อนชายที่สนิทของเจ้าบ่าวจึงจะได้รับเชิญไปเป็นเพื่อนเจ้าบ่าว(เกี๋ย)

 ส่วนแม่บ้านหรือลูกสาว จะได้รับเชิญหรือบอกกล่าวด้วยวาจา(บอกกินงาน)จากเจ้าภาพทั้ง ๒ ฝ่าย  เพื่อให้ไปร่วมรับประทานอาหาร(กินงาน)  ลูกสาวที่ได้รับเชิญจะช่วยงานครัว เพราะสมัยก่อนนิยมจัดพิธีมงคลสมรสที่บ้านของคู่สมรส  ซึ่งส่วนมากจะจัดที่บ้านเจ้าบ่าว


การเตรียมอาหารแบบเลี้ยงโต๊ะจีน

 เมื่อใกล้วันมงคลสมรส  ชาวไทยเชื้อสายจีนฝ่ายเจ้าภาพ ต้องเตรียมอาหารแห้งหรืออาหารสำเร็จรูปประเภทบรรจุกระป๋องไว้ หรือมีการเลี้ยงหมู เลี้ยงเป็ดไก่ไว้ล่วงหน้า  เพื่อจะได้นำเนื้อหมู เป็ด ไก่ เหล่านั้นมาปรุงอาหารคาว

การเตรียมอาหารหวานคาวและผลไม้

 เจ้าภาพฝ่ายเจ้าสาวจะเลี้ยงแขกบ้างเล็กน้อย ในกรณีที่จัดงานเลี้ยงใหญ่ที่บ้านเจ้าบ่าว  การเลี้ยงแขกจำนวนมากมักเป็นฝ่ายเจ้าบ่าว เมื่อถึงกำหนดวันเวลางาน เจ้าภาพฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องจัดทำอาหารหวานคาว  ผลไม้กระป๋องเป็นจำนวนมากให้พอแขกเหรื่อทั้งฝ่ายเจ้าบ่าวและฝ่ายเจ้าสาวที่จะมาร่วมพิธี

อาหารโต๊ะจีนในพิธีมงคลสมรส

 เจ้าภาพต้องจัดอาหาร ๑ ชุดต่อ ๑ โต๊ะ  แต่ละรายการมี ๑ จาน  คือ ไก่ต้ม (แป๊ะสะ) หั่นเป็นชิ้น, เป็ดตุ๋นเปื่อยทั้งตัว, เกี้ยนหมูทอด (เจี้ยน), หูปลาฉลาม ปู เนื้อไก่ เห็ดหอม (หู่ฉี่), ผัดถั่วลันเตากระป๋องกับเครื่องในหมู-ไก่,  เนื้อหมูตุ๋นกับเห็ดหอม(ห้องบ้ะ), แกงจืดกระเพาะหมูกับหอยเป๋าฮื้อ และมีน้ำต้มสำหรับล้างถ้วยกับช้อนอีก ๑ ถ้วย

 อาหารที่เป็นของหวาน เจ้าภาพนิยมเลี้ยงผลไม้กระป๋อง  แต่ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงบ้างในบางโอกาส  เจ้าภาพจะเลือกเพียง ๑ รายการจากของหวานดังต่อไปนี้ คือ ลิ้นจี่กระป๋อง (ไล่จี้) ลำไยกระป๋อง (เง่งเง้ง) หรือถั่วลิสงต้มใส่น้ำตาล (ถ่อต่าวหยีนถึ้ง)


อาหารขบเคี้ยวและเครื่องดื่ม

 ในช่วงพบปะสนทนาระหว่างแขกเหรื่อเพื่อรอเวลาฤกษ์ เจ้าภาพจะเสิร์ฟของขบเคี้ยวซึ่งประกอบด้วยรายการดังต่อไปนี้ คือ กล้วยข้าว เมล็ดแตงโม ส้มโอ อ้อยหั่นชิ้นเล็ก ๆ  ส้มเขียนหวาน อย่างละ ๒ จานมีน้ำส้ม-น้ำหวาน (น้ำบิหลิด) ๔ ขวด  และเหล้า ๑ ขวดใหญ่


สิ่งของประกอบการจัดโต๊ะจีน


 สิ่งของประกอบเพื่อจัดเป็นโต๊ะจีน  ๑ ชุด ให้แขกนั่งได้ ๘ คน  ประกอบด้วย โต๊ะ ๑ ตัว เก้าอี้ ๘ ตัวหรือม้านั่งยาว ๔ ตัว(นั่งได้ตัวละ ๒ คน) ผ้าปูโต๊ะสีแดง ๑ ผืน ตะเกียบ ๘ คู่  แก้วน้ำ ๘ ใบ ถ้วยซุปขนาดเล็ก ๘ ใบ และช้อนกระเบื้อง ๘ คัน
 พ่อบ้านฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องเตรียมจัดโต๊ะเก้าอี้พร้อมอุปกรณ์ ทุกโต๊ะปูด้วยผ้าแดง  และจะต้องวางถ้วยเล็ก,ช้อน,ตะเกียบ ตรงหน้าผู้นั่ง ส่วนกล้วยข้าว, ส้มเขียวหวาน, อ้อย, ส้มโอ, เมล็ดแตงโม, น้ำส้ม, น้ำหวาน และแก้วน้ำ จะต้องวางที่มุมโต๊ะทั้งสี่มุม 

การเชิญแขกมาร่วมงานเลี้ยง


 เมื่อฝ่ายเจ้าภาพได้กำหนดไว้ว่าจะเลี้ยงแขกเวลา ๑๙.๓๐ น. ฝ่ายเจ้าบ่าวกับเพื่อนเจ้าบ่าวจะต้องไปเชิญแขกที่อยู่ใกล้บ้านถึงที่บ้านแขกที่อยู่ใกล้เคียงอีกครั้ง ถ้ามีรถยนตร์ก็ใช้รถยนตร์ไปรับ แขกที่อยู่ห่างไกล แขกจะเดินทางไปเอง หากผู้ใหญ่ที่ได้รับเชิญไม่สามารถไปร่วมงานได้ จะมอบให้ลูกชายไปงานแทน และจะห่ออั้งเป้าฝากไปช่วยงาน ๑ ห่อ เรียกว่าล่าวยั้วะ
 เวลาประมาณ ๑๗.๓๐ น. ฝ่ายเจ้าภาพจะจุดประทัดหนึ่งกล่องเป็นสัญญาณ ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมว่าเริ่มเบิกฤกษ์งาน คือเปิดงานกินเลี้ยง (ขุ่ยโต๊ะ)  เจ้าภาพจะทยอยเสิร์ฟอาหารออกมาตามลำดับดังนี้
 ตามธรรมเนียมของชาวจีนโบราณจะเสิร์ฟไก่ต้ม(แป๊ะสะ) เป็นจานเบิกฤกษ์ และต้องวางอยู่บนโต๊ะตลอดไป ห้ามยกออกโดยเด็ดขาด จนกว่าจะเสร็จงานเลี้ยง

ลำดับการเสิร์ฟอาหารแบบโต๊ะจีน


 อาหารชุดที่ ๑  ไก่ต้มแป๊ะสะหั่นเป็นชิ้น     ๑ จาน
 อาหารชุดที่ ๒  เป็ดตุ๋นเนื้อเปื่อย     ๑ จาน
 อาหารชุดที่ ๓  เกี้ยนทอด (เจี้ยน)     ๑ จาน
 อาหารชุดที่ ๔ หูปลาฉลาม,ปู,เนื้อไก่,เห็ดหอม (หู่ฉี่)  ๑ จาน
 อาหารชุดที่ ๕  ผัดถั่วลันเตากระป๋องกับเครื่องในหมู-ไก่  ๑ จาน
 อาหารชุดที่ ๖  เนื้อหมูสามชั้นตุ๋นเปื่อยกับเห็ดหอม (ห้องบ๊ะ) ๑ จาน
 อาหารชุดที่ ๗  แกงจืดกระเพาะหมูกับหอยเป่าฮื้อ   ๑ ถ้วย
   น้ำร้อนสำหรับล้างถ้วยกับช้อน   ๑ ถ้วย
 ของหวานชุดที่ ๘ ลิ้นจี่,ลำไย หรือถั่วลิสงต้ม อย่างใดอย่างหนึ่ง ๑ ถ้วย
 
อาหารในงานเลี้ยงทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นชุดเล็กหรือชุดใหญ่ สามารถลดลงตามฐานะของเจ้าภาพ ไม่จำเป็นต้องทำตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น  เมื่อได้ทยอยอาหารออกมาวางครบตามจำนวนที่กำหนด เจ้าภาพจะจุดประทัดอีกหนึ่งกล่องเพื่อเป็นสัญญาณเลิกงานเลี้ยง

มรรยาทในการกินโต๊ะจีนในงานมงคลสมรส

 เมื่อได้สัญญาณประทัดดังครั้งแรก  แขกแต่ละโต๊ะจำนวน ๘ คนนั้น ผู้อาวุโสน้อยกว่าจะต้องเชิญแขกอาวุโสสูงสุดเป็นผู้เริ่มรับอาหารชุดแรก และรินเหล้ามอบให้ ถัดไปจะเชิญผู้อาวุโสรองลงมาเป็นลำดับ มารยาทที่ควรระวังอีกประการหนึ่งคือจะต้องไม่เอาช้อนหรือตะเกียบเขี่ยหรือเลือกหยิบอาหารด้านตรงหน้าแขกผู้อื่น หรือใช้ตะเกียบเลือกหยิบแล้ววาง ถือว่าผิดธรรมเนียมและไม่มีมรรยาท

 ในระหว่างที่แขกกำลังรับประทานอาหาร  เพื่อนเจ้าบ่าว ๒ คน และเพื่อนเจ้าสาว ๒ คน  จะพาเจ้าบ่าวกับเจ้าสาวออกเยี่ยมแขกทุกโต๊ะ เจ้าบ่าวกับเจ้าสาวจะต้องจับขวดเหล้าด้วยกัน แล้วรินเหล้าให้แขกทุก คน กล่าวขอบคุณแขก ส่วนแขกที่มาจะต้องเตรียมอังเป้าหนึ่งห่อมอบให้เจ้าบ่าวเจ้าสาว  กำหนดเวลาขอบคุณแขกโต๊ะสุดท้ายต้องให้ทันกับของหวานที่เสิร์ฟและรับประทานหมดพอดี จึงมีเสียงประทัดครั้งที่ ๒ ดังขึ้นเป็นสัญญาณเลิกงาน.