สุริยเทพลูกปัด
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
ศุกร์, 28 สิงหาคม 2009

link ประวัติลูกปัด 

ครั้งที่ ๒๗    

๓๐ สิงหาคม  ๒๕๕๒ 

สุริยเทพ ลูกบอลกับตาวิเศษ

จากอุบลราชธานี

สุริยเทพจากอุบลราชธานี
               เมื่อเริ่มเขียนคอลัมน์ (ตาม)รอยลูกปัด:สุริยเทพที่คลองท่อม ตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๒ จนถึงวันนี้ ๖ เดือนพอดี  ๒๗ ตอนซึ่งน่าจะกำลังดีของการตามรอยแม้ว่าจะยังมีเรื่องราวและร่องรอยของลูกปัดให้ตามติดอีกมากก็ตาม  ประกอบกับผมเริ่มมีงานอื่นอีกมาก โดยเฉพาะหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญที่กำลังเร่งรัดและขยายผล  วันนี้จึงจะเป็นวันสุดท้ายของการตามรอยลูกปัดกับมติชนอาทิตย์สุขสันติ์ที่ผมขอปิดคอลัมน์ด้วยสุริยเทพเม็ดใหม่ล่าสุดจากจังหวัดอุบลราชธานี

                สุริยเทพเม็ดนี้ผมพบที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม เมื่อคราวไปเดินดูงานนวัตกรรมอุตสาหกรรมแล้วพบด้วยอาการคุ้น ๆ เพราะว่าคล้ายกับสุริยเทพที่คลองท่อมแทบทุกประการ รวมทั้งยังมีลูกบอลอย่างเขาสามแก้ว และ ตาวิเศษอย่างที่ไชยาและตะกั่วป่า  ถามว่ามาจากไหน  ได้ความว่ามาจากอุบลก็ยิ่งยุ่งใหญ่  ดีที่ว่าสักครู่เดียวเขาก็บอกว่าลอกเลียนแบบมาจากหนังสือ รอยลูกปัดของหมอบัญชา  โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำการวิจัยแบบบูรณาการการพัฒนาขีดความสามารถในการสร้างชิ้นงานหัตถกรรมแก้วศิลป์เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจระดับชุมชน ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ประกอบด้วย ๔ โครงการย่อย คือ การสร้างเตาที่สามารถหลอมทรายท้องถิ่นอุบลราชธานีเพื่อผลิตแก้ว, การพัฒนาเนื้อแก้วสีสำหรับงานศิลป์, การนำเศษขยะแก้วมาใช้ใหม่ในงานศิลป์ และ การออกแบบและสร้างชิ้นงานหัตถกรรมแก้วศิลป์เป็นสินค้า Smart OTOP แล้วทำการอบรมแก่กลุ่มชาวบ้าน พร้อมกับถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการรวมทั้ง อบต. ภายใต้การดูแลของอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และจะยกระดับ อบต.ห้วยแจระแม เมืองอุบลราชธานี เป็น บ้านแก้วเมืองอุบล

 

                ลูกปัดทั้ง ๓ ที่เห็น มีลวดลายอย่างของเก่าที่พบในพื้นที่ภาคใต้  โดยมีเนื้อแก้วที่ใสสวยอย่างเห็นชัดว่า ทำใหม่ด้วยฝีมือ และน่านิยมยกย่องพร้อมกับการตื่นเต้นต่อการตามรอยอย่างยิ่งที่ได้พบว่าแม้จะล่วงเลยมาเกือบ ๒,๐๐๐ ปีแล้ว ทุกวันนี้มีคนบนแผ่นดินไทยเริ่มการ ผลิตใหม่ ลูกปัดเหล่านี้จากทรายท้องถิ่นแล้ว แถมทำได้สวยด้วย          

 

                ผมอยากขอเชิญชวนทุกท่านที่สนใจการตามรอยลูกปัดได้ช่วยกันติดตามศึกษาค้นคว้าและยกระดับพัฒนาวงการลูกปัดกันต่อไปดังเช่นกรณีศึกษานี้ที่มีฐานงานวิจัยและพัฒนารองรับ นำทรายท้องถิ่นที่อุบลมาทำพร้อมกับการบ่มเพาะธุรกิจใหม่พร้อมกับการส่งเสริมชุมชนชาวบ้านอย่างเป็นกระบวน  พร้อมกับขอบอกส่งท้ายว่าขณะนี้มีการทำสุริยเทพออกมาใหม่หลากหลายรูปแบบและเรื่องราวในหลายแหล่ง เฉพาะที่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๒ ก็มีการทดลองทำออกมาแล้วถึง ๔ แบบเพื่อส่งขายในชื่อว่า ‘Klongtom Face Bead’ ที่ผมขอเติมว่า ‘Java Made’ ส่วนที่อื่นไหนทำใหม่อีกนั้นผมไม่อาจทราบได้

 

                ส่วนท่านที่สนใจตามรอยอย่างเจาะลึกนั้น วันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๒ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติถลาง จังหวัดภูเก็ตจะมีการจัดแสดงและเสวนาเรื่องลูกปัดเป็นการเฉพาะ  ต่อด้วยวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ในงานฉลอง ๕๐ ปี คณะแพทยศาสตร์ ที่เชียงใหม่ จะมีการอภิปรายพิเศษเรื่องนี้  นอกจากนี้ยังมีรายการธรรมทัศนาจรพิเศษของหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ กับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เที่ยวไทยให้ถึงธรรมที่มีส่วนเกี่ยวกับเรื่องลูกปัดอีก ๓ รายการ คือ ครั้งที่ ๑ สวนโมกขพลาราม และ ศรัทธาพระพุทธศาสนาสมัยศรีวิชัยที่พระบรมธาตุไชยากับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา สุราษฎร์ธานี (๑๗ ๒๐ กันยายน) ครั้งที่ ๒ วัดศรีทวี และ ศรัทธาพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ ที่พระมหาธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช (๑๕ ๑๘ ตุลาคม) และ ครั้งที่ ๓ วัดทุ่งไผ่ และ ศรัทธาพระพุทธศาสนา ๒๐๐๐ ปี ตรีรัตนะ ณ เขาสามแก้ว ชุมพร (๑๙ ๒๒ พฤศจิกายน)  ผมนำทั้ง ๓ รายการ สวัสดีครับ สนใจสอบถามได้ที่ ๐๒ ๓๐๕๙๕๘๙ - ๙๐ 

                ท่านใดมีข้อแนะนำหรือหารืออะไรก็ขอเชิญได้ที่อีเมล์ข้างล่างนี้นะครับ  สำหรับหนังสือเล่มใหม่เรื่องลูกปัดที่หลายท่านบอกว่าเล่มแรกยังไม่จุใจนั้น ขอเวลาตามรอยจนได้เรื่องเด็ด ๆ อีกสักชุดแล้วค่อยพบกันครับ.

 

บัญชา  พงษ์พานิช

อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปเพื่ออ่านมันได้

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( อาทิตย์, 06 กันยายน 2009 )