รื้อรั้วฮอลแลนด์ 105 ปี
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อังคาร, 16 มิถุนายน 2009

ทุบรั้วฮอลแลนด์ 105 ปี ทิ้ง!

ท้าทายกฎหมายอนุรักษ์ รึฤๅศักดิ์สิทธิ์?

(มห.ภูเก็จ ๒๓๐๗)
รั้วเหล็กจากฮออลแลนด์ พ.ศ.๒๔๔๗
.

เมื่อเวลาประมาณ 13.45 น.วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2552 ร้อยเอกบุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ นักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต พร้อมด้วยนายทวิชาติ อินทรฤทธิ์ วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต นางสาวอัจจิมา หนูคง หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้นำคณะสื่อมวลชน ตรวจพื้นที่ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ เนื้อที่ประมาณ 776 ตารางวา ที่ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าบ้านชินประชา นักโบราณคดีแจ้งความกรณีเอกชนภูเก็ตรื้อทำลายกำแพงอายุ 105 ปี ของตระกูลพระพิทักษ์ ชินประชา เลขที่ 98 ถนนกระบี่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นบ้านหรืออั้งม้อหลาว(Mansion)ที่ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสมีอายุ 105 ปี และจัดเป็นโบราณสถานประเภทหนึ่ง เนื่องจากทางเจ้าของโครงการอาคารพาณิชย์ได้มีการรื้อทำลายกำแพง มีความยาวประมาณ 30 เมตร ที่อยู่ด้านหน้าอาคารพาณิชย์และเป็นโบราณ สถานส่วนหนึ่งที่คู่กับตัวบ้านชินประชาที่ตั้งอยู่ด้านหลัง

            ร้อยเอกบุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ นักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต กล่าวถึงการลงตรวจสอบพื้นที่ก่อสร้างดังกล่าวว่า เนื่องจากได้รับแจ้งจากทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต ว่ามีการรื้อกำแพงบริเวณด้านหน้าโครงการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ดังกล่าวเป็นของเอกชนรายหนึ่ง และจากการตรวจสอบพบว่ามีร่องรอยการรื้อ แต่ไม่ทั้งหมด โดยก่อนหน้านี้ในช่วงเช้าวันที่ 3 กุมภาพันธ์นี้ได้มีการประสานไปกับทางเจ้าของโครงการและนายช่างคุมงานทางโทรศัพท์ว่าอย่าพึ่งทุบทำลายกำแพงโบราณดังกล่าวเนื่องจากเป็นโบราณสถานที่มีกฎหมายคุ้มครอง เพื่อจะได้หารือปรับแบบและจะได้รักษาแนวกำแพงรวมทั้งตัวเสาที่เป็นประวัติศาสตร์ไว้ แต่ไม่ได้รับการตอบรับที่ดี เพราะในช่วงบ่ายวันเดียวกัน มีการลงมือทุบกำแพงดังกล่าว

 

            “สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าเสียใจสำหรับชาวภูเก็ต เนื่องจากกำแพงดังกล่าวมีอายุถึง 105 ปี สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2447 และเป็นสิ่งที่คนภูเก็ตจะต้องอนุรักษ์ไว้ จึงไม่อยากให้เจ้าของผู้ครอบครองที่ดินอ้างเหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นตัวอย่างในการรื้อทำลายโบราณสถานในที่ดินของตนเองแล้วจะถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่  หากการก่อสร้างใดถูกระบุว่าเป็นโบราณสถานก็จะมีกฎหมายคุ้มครองมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 7 แสนบาท ตามพระราชบัญญัติโบราณสถานโบราณวัตถุ ในขณะที่ หากเป็นโบราณสถานที่มีการขึ้นทะเบียนเอาไว้แล้ว ต้องระวางโทษ ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาทและจำคุกไม่เกิน 10 ปี ”ร้อยเอกบุณยฤทธิ์ กล่าวและว่า พื้นที่ดังกล่าวทางภาคเอกชนเป็นเจ้าของที่ดินสามารถที่จะดำเนินการก่อสร้างได้อยู่แล้ว เพราะไม่ได้มีการประกาศขึ้นทะเบียน แต่อาจจะไปบดบังความสวยงามของโบราณสถานด้านหลังได้ หากการก่อสร้างนั้นมีการออกแบบที่ไม่สอดคล้องกัน เข้าใจว่าการก่อสร้างใหม่สามารถทำได้ภายใต้การพูดคุยทำความเข้าใจกัน

 

    ร้อยเอกบุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ นักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต กล่าวย้ำว่าในส่วนของโบราณสถานคือตัวแนวกำแพงที่มีอายุ 105 ปี และเมื่อมีการรื้อทำลายก็ถือว่าผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติโบราณสถานโบราณวัตถุ มาตรา 32 โดยจะได้ไปแจ้งความกล่าวโทษกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป แม้ว่ากำแพงดังกล่าวจะไม่ได้มีการขึ้นทะเบียน แต่เป็นโบราณสถานที่มีลักษณะเข้าตามคำนิยาม คือ เป็นอสังหาริมทรัพย์ และโดยอายุ ประวัติศาสตร์ หรือลักษณะการก่อสร้างเป็นประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์หรือโบราณคดี กำแพงดังกล่าวเข้าเกณฑ์ตามคำนิยามของโบราณสถาน มีกฎหมายคุ้มครองอยู่ ทั้งนี้โบราณสถานนั้นจะมี 2 ประเภท คือ โบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนกับโบราณสถานที่ไม่ขึ้นทะเบียน

            นอกจากนี้ร้อยเอกบุณยฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมายังไม่พบการรื้อทำลายโบราณสถานในลักษณะเช่นนี้ที่เป็นรูปธรรมหรือชัดเจนมากนัก แต่ที่พบจะเป็นการขุดทำลายแหล่งโบราณคดี ดังนั้นจึงอยากให้เหตุการณ์นี้เป็นกรณีตัวอย่างกรณีแรกที่สื่อไปถึงชุมชนหรือสังคมว่า โบราณสถานแม้จะอยู่ในที่ดินของใครก็ตามจะมีกฎหมายคุ้มครองอยู่เป็นมรดกของคนทุกคนที่จะต้องดูแลรักษาไว้ อย่างไรก็ตามอยากที่จะฝากไว้ว่าในเรื่องของโบราณสถานกับการพัฒนาเมืองหรือการพัฒนาต่าง ๆ สามารถที่จะดำเนินการควบคู่กันไปได้ จึงอยากให้มีการมาพูดคุยกันเพื่อจะได้ร่วมกันรักษาเอกลักษณ์ของเมืองไว้เป็นเพื่อเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์บอกเล่าความเป็นมาของเมืองต่อไป    
                          
 

รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ตยื่นหนังสือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนขอให้ดำเนินคดีการทำลายโบราณสถาน หรือการรื้อทำลายแนวกำแพงโบราณบ้านพระพิทักษ์ชินประชาแล้ววันนี้

 

เมื่อเวลาประมาณ 16.00 น.วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2552 ร้อยเอกบุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ นักโบราณคดีระดับชำนาญการ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต พร้อมด้วยคณะเข้าพบ พ.ต.อ.วันไชย เอกพรพิชญ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองภูเก็ต เพื่อยื่นหนังสือสำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต ที่ วธ 0429/81 ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2552 เรื่อง ขอให้ดำเนินคดีการทำลายโบราณสถาน พร้อมกับแนบ ภาพประกอบการรื้อทำลายแนวกำแพงโบราณ  ข้อมูลประวัติความสำคัญของบ้านชินประชา และเอกสารพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535

 

ทั้งนี้ พ.ต.อ.วันไชย เอกพรพิชญ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองภูเก็ตได้พบปะสนทนากับร้อยเอกบุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณและมอบหมายให้ พ.ต.ท.วฤทธิ์ เจ๊ะโด สารวัตรรับแจ้งความกล่าวโทษในคดีที่เกิดขึ้น และกล่าวยืนยันว่าพนักงานสอบสวนยินดีในการดำเนินการให้ ในขณะเดียวกัน พ.ต.ท.เศียร แก้วทอง พนักงานสอบสวนร่วมรับผิดชอบอีกส่วนหนึ่งด้วย   ในขณะที่ร้อยเอกบุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ นักโบราณคดีระดับชำนาญการ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ตกล่าวว่า วันนี้ได้นำเอกสารที่สำคัญมายื่นประกอบ การแจ้งความกล่าวโทษผู้เกี่ยวข้อง และพนักงานเจ้าหน้าที่โบราณคดี พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ เข้าไปสืบสวนสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนในลำดับต่อไป


            สำหรับหนังสือของสำนักศิลปากรที่15 ภูเก็ตที่ยื่นให้พนักงานสอบสวนนำไปประกอบคดีระบุตอนหนึ่งว่า สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ตได้รับแจ้งจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ตเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552 ว่า ขณะนี้มีโครงการก่อสร้างอาคารพาณิชย์จำนวน 8 ยูนิต ผู้เป็นเจ้าของโครงการคือนายวิสิทธิ์ อิทธิวราภรณ์กุล  โดยในพื้นที่ก่อสร้างมีแนวกำแพงรั้วโบราณของบ้านชินประชา  ที่เจ้าของเดิมได้ขายที่ดินแปลงนี้ให้ดังนั้น จึงดำเนินการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ดังกล่าวขึ้นและกำลังเตรียมที่จะทุบทำลายแนวกำแพงโบราณดังกล่าวออกทั้งหมดเพื่อทำที่จอดรถ และสำนักศิลปากรที่15 ภูเก็ตจึงได้รีบเข้าไปดำเนินการตรวจสอบในวันเดียวกัน 

 

อย่างไรก็ดีเจ้าหน้าที่พบว่าแนวกำแพงโบราณมีร่องรอยการถูกทุบแล้วบางส่วน  จึงได้ติดต่อหัวหน้าคนงานที่กำลังก่อสร้างอยู่  ขอให้ระงับการรื้อกำแพงไว้ก่อน  และได้ประสานเจรจากับนายวิสิทธิ์ อิทธิวราภรณ์กุล   เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 เพื่อขอให้อนุรักษ์แนวกำแพงโบราณไว้ โดยขอให้พิจารณาปรับแบบโครงการก่อสร้างใหม่  แต่ปรากฏว่าในวันเดียวกัน นายวิสิทธิ์ อิทธิวราภรณ์กุล  ได้ดำเนินการทุบทำลายแนวกำแพงโบราณออกทั้งหมด

 

นอกจากนี้สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต ขอเรียนว่า แนวกำแพงโบราณ ดังกล่าว สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2447 อายุ 105 ปี มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมชิโน-โปรตุกีส อันเป็นเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นของจังหวัดภูเก็ต  ซึ่งมีอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมยุโรปผสมจีน ที่เข้ามาในช่วงรัชกาลที่ 4-5 ดังนั้นกำแพงโบราณดังกล่าวจึงมีคุณค่าทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี สอดคล้องกับคำนิยามของคำว่า โบราณสถาน ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535  ส่งผลให้แนวกำแพงโบราณดังกล่าวได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายตามมาตรา 10 ที่ห้ามรื้อถอน ต่อเติม ทำลาย เคลื่อนย้ายโบราณสถานหรือส่วนต่าง ๆ ของโบราณสถาน  เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากร  ทำให้การทุบทำลายแนวกำแพงโบราณ มีความผิดตามมาตรา 32 โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 700,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

อย่างไรก็ดีสำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ตพิจารณาแล้วเห็นว่านายวิสิทธิ์ อิทธิวราภรณ์กุล  มีเจตนา จงใจทำลายโบราณสถานที่เป็นเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของจังหวัดภูเก็ตและของชาติ  ซึ่งก่อนหน้านี้มีหลายฝ่ายได้เข้าไปเจรจา เพื่อขอให้อนุรักษ์แนวกำแพงโบราณดังกล่าวแล้ว  แต่นายวิสิทธิ์ อิทธิวราภรณ์กุล ดื้อดึง ไม่ยอมรับและไม่พยายามเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา  เพื่อให้การอนุรักษ์และการพัฒนาสามารถดำเนินไปได้อย่างสอดคล้องเหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดผล ส่งผลกระทบเสียหายทั้ง 2 ฝ่าย ดังนั้นจึงขอให้สถานีตำรวจภูธรเมืองภูเก็ต เร่งดำเนินคดีกับนายวิสิทธิ์ อิทธิวราภรณ์กุล  ให้ถึงที่สุด เพื่อเป็นคดีตัวอย่างต่อไป

 

เจ้าของโครงการเซาธ์ สยาม ซิโน บิวดิ้ง สั่งให้คนงานก่อสร้างนำเอาสังกะสีมาปิดกั้นบริเวณแนวกำแพงที่ถูกทุบทำลาย

 

หลังจากที่เมื่อบ่ายวันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้ ร้อยเอกบุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณพร้อมด้วยนายทวิชาติ อินทรฤทธิ์ วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต นางสาวอัจจิมา หนูคง หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติถลาง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้นำคณะสื่อมวลชน ตรวจพื้นที่ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ เนื้อที่ประมาณ 776 ตารางวา ที่ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าบ้านชินประชา เลขที่ 98 ถนนกระบี่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ล่าสุดเมื่อบ่ายวันที่ 5 กุมภาพันธ์นี้ ปรากฏว่ามีคนงานก่อสร้าง นำเอาสังกะสีมาปิดกั้นบริเวณแนวกำแพงที่ถูกทุบทำลายตลอดแนวด้วย เพราะเป็นพื้นที่ก่อสร้างเซาธ์ สยาม ซิโน บิวดิ้ง (South Siam Sino Building)หรืออาคารพาณิชย์สไตล์ชิโนโปรตุกีสจำนวน 8 Units และเจ้าของโครงการ ยังมีแนวคิดสร้างอพาร์ทเมนท์ด้านหลังเพิ่มเติมอีกภายหลัง

 

นอกจากนี้นายแพทย์ประสิทธิ์ โกยศิริพงศ์ ประธานมูลนิธิเมืองเก่าภูเก็ตกล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าเสียดายกับสิ่งที่เกิดขึ้น  และก่อนหน้านี้ทางมูลนิธิพยายามที่จะพูดคุยกับเจ้าของโครงการ ตั้งแต่ทราบข่าวว่า จะมีโครงการก่อสร้างอาคารพาณิชย์เกิดขึ้นในบริเวณย่านการค้าเมืองเก่าภูเก็ต ซึ่งเป็นย่านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมในท้องถิ่นที่สำคัญของจังหวัดภูเก็ต  แต่ต้องยอมรับว่า มูลนิธิไม่มีอำนาจในเรื่องนี้โดยตรง  แต่ยืนยันว่า เคยร้องขอไม่ให้สร้างอาคารหรือขายที่ดินคืนให้กับญาติพี่น้องเจ้าของที่ดินเดิมในราคาที่พอสมควร รวมทั้งการสร้างอาคาร ให้สร้างเป็นแนวตั้งฉากกับถนนกระบี่ เพื่อไม่ให้บดบังทัศนียภาพบ้านชินประชา  และยังมีพื้นที่ว่างบริเวณตรงกลางสนามหญ้า ตลอดจนการเจรจากับเจ้าของบ้านชินประชา เพื่อให้สามารถใช้ที่ดินบางส่วนในด้านข้าง เพื่อใช้เป็นที่กลับรถ โดยที่ไม่ต้องทุบทำลายกำแพง  และยังสามารถส่งเสริมเรื่องของการอนุรักษ์โบราณสถานกับการพัฒนาธุรกิจที่กลมกลืนกันเป็นอย่างดีในระดับหนึ่ง

 

ทั้งนี้ประธานมูลนิธิเมืองเก่าภูเก็ตกล่าวว่า เมื่อมีการประสานงานในเรื่องนี้ นายวิสิทธิ์ อิทธิวราภรณ์กุล ได้มาพบปะเจ้าหน้าที่มูลนิธิที่สำนักงาน 2 ครั้ง และในรายละเอียด ในการร้องขอจากโครงการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ที่จะสร้างขนาดสูง 4 ชั้นให้เหลือเพียง 2 ชั้น มีความเป็นไปได้หรือไม่  และในที่สุด เจ้าของตัดสินใจสร้าง 3 ชั้นแต่ยังคงสร้างอาคารพาณิชย์ขนาดถนนกระบี่รวมทั้งเจ้าของโครงการยังให้ความร่วมมือให้ผู้ออกแบบและสร้างเป็นสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสแต่แท้ที่จริงแล้วไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิเมืองเก่าภูเก็ต เทศบาลนครภูเก็ต กรมศิลปากร จะต้องเข้าไปหานายวิสิทธิ์ อิทธิวราภรณ์กุลเจ้าของโครงการตั้งแต่ยังไม่ได้ลงมือก่อสร้าง  น่าจะดีกว่า

 

นายแพทย์ประสิทธิ์ โกยศิริพงศ์ ประธานมูลนิธิเมืองเก่าภูเก็ตกล่าวถึงกรณีการทำลายโบราณสถานหรือการรื้อทำลายแนวกำแพงโบราณบ้านพระพิทักษ์ชินประชาอีกครั้งหนึ่งในวันนี้ว่าเป็นเรื่องที่เสียหายมาก เพราะคนภูเก็ตปากก็ว่าจะดูแลศิลปกรรมในท้องที่  แต่กลับดูแลไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น เพราะตั้งแต่เริ่มก่อสร้างโครงการของภาคเอกชนน่าจะเริ่มมีปฏิกิริยากันแล้ว  จนถึงขณะนี้ มีคนที่เจ็บปวดกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะรั้วเป็นเหมือนมรดกของคนภูเก็ตไปแล้วและในนามของมูลนิธิเมืองเก่าภูเก็ต ยืนยันว่า ไม่มีอำนาจจัดการ ในการบังคับใช้ให้เป็นไปกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  เป็นเพียงองค์กรหรือนิติบุคคลที่สนับสนุนให้การอนุรักษ์ย่านการค้าเมืองเก่าภูเก็ตเป็นไปด้วยความเรียบร้อย  หรือพยายามเฝ้าดูแล ประสานงานหรือลอบบี้ไม่ให้ผู้เกี่ยวข้องทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่อนุรักษ์เท่านั้น

 

ประธานมูลนิธิเมืองเก่าภูเก็ตกล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นบทเรียนของผู้ประกอบการในอนาคต และเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ที่ภาคเอกชนเจ้าของโครงการ South Siam Sino Building รายนี้ให้ความร่วมมือในบางส่วนคือ ได้ก่อสร้างลดความสูงจาก 4 ชั้น เหลือ 3 ชั้น  และมีการออกแบบเป็นสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีส และมูลนิธิเมืองเก่าภูเก็ต มุ่งหวังว่าทั้งด้านหน้าและด้านหลังอาคาร ขอให้เจ้าของโครงการทำเหมือนกันส่วนในกรณีที่จะสร้างเป็นอพาร์ทเมนท์มีขนาดความสูงหลายชั้น บริเวณด้านหลังอาคารพาณิชย์นั้น ยังจะทำต่อไปอีกหรือไม่นั้น ไม่ทราบและกรณีที่เกิดขึ้น การออกเทศบัญญัติควบคุมให้ชัดเจน ควรรีบทำ ทางเจ้าหน้าที่เทศบาลนครภูเก็ตต้องรีบล้อบบี้ทำให้เหมาะสมกับจังหวัดภูเก็ต

แหล่งข่าว(นางจรูญรัตน์ ภรรยานายประชา ตัณฑวณิช(เสียชีวิตแล้ว ผู้ครอบครองบ้านชินประชา) ผู้ใกล้ชิดตระกูลตัณฑวณิชเปิดเผยว่า ในอาณาเขตของบ้านชินประชา มีเนื้อที่รวมทั้งหมดประมาณ 4 ไร่เศษ เฉพาะตัวบ้านและเนื้อที่โดยรอบ มีเนื้อที่รวมประมาณ 1 ไร่เศษ  ส่วนเนื้อที่อื่น ๆ นั้น ทางญาติพี่น้องนายประชา ตัณฑวณิช มีการจำหน่ายจ่ายโอนให้กับเจ้าของโครงการไปในสัดส่วนที่ดิน 776 ตารางวา ในมูลค่า 28 ล้านบาท  แต่ในเวลาต่อมา บรรดาทายาทเจ้าของที่ดินเดิม ต้องการที่จะซ ื้อที่ดินกลับคืน ในห้วงเวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น ผู้ที่ซื้อที่ดินไป กลับขึ้นราคาขึ้นไปมาก จนรับไม่ได้ คือ ตั้งราคาสูงถึง 60 ล้านบาท แม้ว่าจะลดลงมา 45 ล้านบาทหรือ 35 ล้านบาท ที่เหลือเพียงที่ดิน ด้านหลังของอาคารพาณิชย์ที่ก่อสร้างอยู่ในปัจจุบัน

“ ในช่วงที่มีการจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินดังกล่าว พบว่าบุตรหลานและผู้เกี่ยวข้องกับตระกูลตัณฑวณิช พยายามเจรจากับนายวิสิทธิ์ อิทธิวราภรณ์กุล เพื่อทำโครงการร่วมกัน โดยจะนำเอาบ้านชินประชาเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ รวมทั้งแนวถนนทางเข้าบ้านที่ครอบครองรวมอยู่ด้วย  เพื่อผลักดันให้เป็นเหมือนกับศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ฝั่งตะวันตกหรือเป็นสถานที่รวบรวมศิลปวัฒนธรรมประเพณีชาวไทยเชื้อสายจีนในฝั่งทะเลอันดามัน  ในขณะที่โครงการของภาคเอกชนด้านติดกับถนนกระบี่ สามารถที่จะผสมกลมกลืนกับอาคารโบราณต่อไปได้  แต่ผู้ที่ซื้อที่ดินไปไม่สนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวรั้วและเสาโบราณ ไม่จำเป็นจะต้องทุบทำลายทิ้งแม้แต่น้อยและเป็นเรื่องที่เศร้าใจและน่าใจหายเป็นอย่างมาก เมื่อเดินเข้ามาพบร่องรอยการทำลาย เหลือแต่ซาก และถึงกับน้ำตาตก  เพราะบริเวณบ้านชินประชานี้ อาศัยเข้ามาเที่ยวเล่นตามประสาตั้งแต่เด็ก มีความผูกพันมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และไม่นึกว่าจะมีภาคเอกชนสั่งทุบทำลายในขณะนี้” แหล่งข่าวรายเดิมกล่าว

ในขณะที่ผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อประสานงานทางโทรศัพท์มือถือและโทรศัพท์ที่ทำงานบริษัท South Siam Divers จำกัด เพื่อขอสัมภาษณ์นายวิสิทธิ์ อิทธิวราภรณ์กุล เจ้าของโครงการ เพื่อทราบข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดีไม่สามารถติดต่อได้  ส่วนพนักงานบริษัทแจ้งว่า นายวิสิทธิ์ อิทธิวราภรณ์กุล ไม่อยู่

ทางด้านนายสมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ นักวิชาการประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภูเก็ตกล่าวว่าเป็นผู้บันทึกภาพถ่ายเกี่ยวกับอาคารต่าง ๆ ในบริเวณย่านการค้าเมืองเก่าภูเก็ตรวมทั้งบ้านและรั้วบ้านพระพิทักษ์ชินประชา บ้านชินประชาที่เห็นความสนบูรณ์อย่างชัดเจน และทรงคุณค่ามหาศาล และในขณะนี้ได้จัดส่งสำเนาภาพนี้ให้ทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ตและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว  เพราะส่วนประกอบของรั้วที่ถูกทุบทำลายลงไปนั้น  เป็นรั้วเหล็กที่นำเข้าจากประเทศเนเธอร์แลนด์ และนำมาประกอบเป็นรั้ว มีอายุ 103-105 ปีทีเดียว และยังเข้าข่ายเป็นโบราณวัตถุตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2)พ.ศ.2535 ด้วย  และตามความคิดเห็นในขณะนี้ หน่วยงานที่น่าจะมีส่วนผลักดันและป้องปรามหรือแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ส่วนหนึ่งคือหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดภูเก็ต มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต.

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( พฤหัสบดี, 22 มีนาคม 2018 )