รางเหมืองแร่ใน พมร.ภูเก็ต |
รางเหมืองแร่ใน พมร.ภูเก็ต ผศ.สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ รองประธานดำเนินการพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ภูเก็ตได้ประสานงานกับ สส.เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ ดำเนินการของบประมาณ ๗ ล้านบาทสร้างรางเหมืองแร่ที่หน้าผารางเหมืองในพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ภูเก็ต เมื่อกลางปี พ.ศ.๒๕๕๑ นายวุฒิ สายะพันธ์ ปลัดเทศบาลเมืองกะทู้ได้มอบหมายให้นายศิริชัย นัครา ผอ.กองช่าง ดำเนินการจัดทำแบบรางเหมืองแร่ ชุดแบบรางเหมืองแร่ ๒ ชุดแรกไม่ได้มาตรฐาน ผศ.สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์จึงได้แจ้งให้เทศบาลเมืองกะทู้ปรับปรุงให้เป็นรางเหมืองแร่ และแจ้ง สส.เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ ช่วยประสานงาน รางเหมืองแร่ในอดีตสร้างด้วยไม้ มีเหล็กเป็นฮูวเต๊งทำหน้าที่เป็นตะปูแท่งใหญ่ตอกตรึงให้ท่อนไม้เล็กติดกับท่อนไม้ใหญ่ ไม่ใช้เดือยสอดเข้าร่องไม้หรือบากเนื้อไม้ลึกเพราะจะทำให้ไม่แข็งแรงในส่วนที่ประกบกัน และเสียเวลามากที่จะต้องเจาะรูใส่เดือยด้วยเหตุที่มีไม้ประกบทุกเสาทุกระยะ เสารางเหมืองด้านนอกตั้งตรงแต่สอบเข้าใน(เอียงเข้าใน) เพื่อรับน้ำหนักได้มาก(เช่นเดียวกับเสาอุโบสถยุคกรุงศรีอยุธยา ภาคใต้ดูได้ที่อุโบสถวัดพระมหาธาตุนครศรีธรรมราช) ถือได้ว่าเป็นภูมิปัญญาชั้นเลิศของสถาปัตยกรรมชาวบ้าน รางเหมืองมีไม้มีชื่อเรียกต่างกันเช่นห่วยต๊า ท่าวเหลง หล่าวแป่ ประกอบเป็นชุดเป็นส่วนมีชื่อเรียกว่าเก๊ง กุ่ย เสี่ยจุ่ย ท่อลำเลียงแร่มีหลายขนาดตามจำนวนหนาแน่นของแร่ดีบุก มีขนาด ๑๒ นิ้ว ๑๐ นิ้ว ๘ นิ้ว และ ๖ นิ้ว ซึ่งต่อมาจากโรงหัด ในลานฉีดแร่ก็มีท่อฉีดน้ำ(จุ้ยปีด) ฉีดไล่แร่ให้ไหลตามร่องน้ำไปสู้โรงหัด |
< ก่อนหน้า | ถัดไป > |
---|