อาจพูดได้ว่าไม่มีชาวภูเก็ตคนไหนไม่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องนี้ ตำนานแห่งความรักที่อยู่คู่กับสะพานสารสิน สะพานคู่บ้านคู่เมืองของชาวภูเก็ตที่สร้างข้ามช่องปากพระ
เพื่อเชื่อมระหว่างเกาะภูเก็ตกับแผ่นดินใหญ่ ตรงบริเวณท่าฉัตรไชยกับท่านุ่น จังหวัดพังงา ซึ่งเริ่มเปิดใช้เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2510 หลายสิบปีมาแล้ว
ตำนานรักบทนี้ มิได้เกิดขึ้นแต่นาย สารสิน หรอก อย่าได้มั่วไปก่อน (ชื่อสะพานนั้นมีที่มาจาก นาย พจน์ สารสิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติในขณะนั้นต่างหาก) ตำนานรักสะพานสารสิน เป็นเรื่องราวความรักของชายหนุ่มหญิงสาวคู่หนึ่ง ที่เกิดมาแตกต่างด้วยฐานะทางสังคมและชาติตระกูล ชายหนุ่มยากจนนาม “โกดำ” ประกอบอาชีพขับรถสองแถวและรับจ้างกรีดยาง กับ “อิ๋ว” นักศึกษาวิทยาลัยครู ที่ภายหลังกลายมาเป็น “ครูอิ๋ว” ด้วยความเป็นครูนี่เอง ที่ทำให้ฐานะทางสังคมของทั้งสองถูกถ่างห่างออกไปอีก
มองลึกลงไปถึงความรักของคนทั้งคู่ ที่ก่อเกิดตั้งแต่อิ๋วยังเป็นนักศึกษาจนกระทั่งกลายมาเป็นครู ก็นับเป็นระยะเวลาไม่น้อย หากมิใช่เพราะครอบครัว โดยเฉพาะผู้เป็นบิดาที่ไม่เห็นด้วยอย่างหนักแล้ว เรื่องราวของพวกเขาก็คงกลายเป็นความรักที่ธรรมดาสามัญ ไม่มีความสลักสำคัญให้ต้องจดจำ หากแต่โชคหรือสวรรค์กันแน่ไม่รู้ที่ไม่เข้าข้าง เมื่อบิดาของผ่ายหญิงนั้นเลี้ยงลูกสาวแบบไม่ให้อิสระ และต้องการให้อิ๋วแต่งงานกับคนมีฐานะ อุปสรรคขัดขวางต่างๆ นานาจึงตามมาไม่หยุดหย่อน ทั้งกีดกันไม่ให้ได้พบหน้า และหนักหนาไปจนถึงขั้นลงไม้ลงมือทุบตี เมื่ออิ๋วขัดใจและไม่โอนอ่อนตามความประสงค์ของผู้เป็นบิดา
ชาวบ้านในย่านท่าฉัตรไชย ต่างทราบดีถึงอุปสรรคความรักของหนุ่มสาวทั้งสอง ด้วยความเป็นห่วง หลายคนได้แนะนำให้โกดำให้เลิกกับครูอิ๋ว เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของทั้งคู่ ขณะที่ผู้ใหญ่มีหน้าตาในละแวกหลายคน อาสาเข้าไปพูดคุยกับบิดาของครูอิ๋ว หวังให้ยอมรับโกดำเป็นลูกเขย เพราะเห็นใจในความรักอันมั่นคงของหนุ่มสาว
แต่ไม่ว่าคนทั้งคู่จะพยายามพิสูจน์ความตั้งใจ และความรักที่มีให้แก่กันอย่างไร บิดาของฝ่ายหญิงก็ยังไม่ยอมรับ และไม่มีทีท่าว่าจะเปิดใจแม้แต่น้อย สิ้นไร้หนทางและอัดอั้นตันใจจนถึงที่สุด เมื่อไม่สามารถสมหวังในรักได้ ทั้งสองจึงลอบนัดพบกัน และตัดสินปัญหาด้วยการใช้ผ้าขาวม้าผูกต่อกัน แล้วมัดตัวเองกระโดดจากกลางสะพานสารสิน ลงสู่พื้นน้ำในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2516 ทิ้งเรื่องราวความรักอันซาบซึ้ง ให้ผู้คนเบื้องหลังได้เล่าขานสืบต่อกันมา
ขอขอบคุณ
ข้อมูล : ผู้จัดการออนไลน์ สนุก!พีเดีย และบล็อกโอเคเนชั่น
รูปสะพานสารสิน : www.thaimtb.com
รูปโปสเตอร์ภาพยนต์: บล็อกโอเคเนชั่น