จดหมายท่านผู้หญิงจัน(ท้าวเทพกระษัตรี)เขียนถึงกัปตันฟรานซิส ไลท์(พญาราชกปิตัน) เจ้าเมืองปีนัง ให้เมืองภูเก็จ(พญาเทียน-พระยาถลางเทียน ต้นสกุลประทีป ณ ถลาง) ไปเจรจากับพญาราชกปิตันที่บ้านท่าเรือ (ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง) ขอผ่อนผันดีบุกค่าผ้าที่ค้างอยู่และขอให้ช่วยสู้รบกับยี่หวุ่น แม่ทัพเรือพม่าที่ได้ยกพลมา ๓ พันคน ในปี พ.ศ.๒๓๒๘ ท่านผู้หญิงจันไปพบเองไม่ได้เพราะพญาพิมลอัยาขันผู้สามีป่วยหนักอยู่
มทศ. จห.๑๕
กรทิชาต์ วัฒนพันธุ์
เลขานุการมูลนิธิท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร
บันทึกไว้เป็นฉบับแรกของ มทศ.เมื่อ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๓
จดหมายเหตุเมืองถลางและหัวเมืองปักษ์ใต้
ต้นฉบับของศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต (ศวภ.)
ประสิทธิ ชิณการณ์ : อ่านและวิเคราะห์
ฉบับ มทศ.จห.๑๕ (เดิมคือศวภ ๑๕)
คำอ่าน ๐ หนังสือท่านผู้หญิงมาเถิงลาโตก ด้วยมีหนังสือไปนั้น ได้แจ้งแล้ว ครั้นจะเอาหนังสือเรียนแก่พระยาถลาง พระยาถลางป่วยหนักอยู่และซึ่งว่ามาค้าขาย ณ เมืองถลางขาดทุนหนักหนาช้านานแล้วนั้นเห็นธุระของลาโตกอยู่ แต่หากว่าลาโตกเมตตาเห็นดู ข้าเจ้าจึงเปลืองทุนเป็นอันมาก ทนระมานอยู่ด้วยความเห็นดู แลซึ่งว่าแต่งกำปั่นแล้วจะลากลับไป แลมีราวข่าวว่า พม่าจะมาตีเมืองถลาง ท่านพระยาถลางเจ็บหนักอยู่ ถ้าพม่ายกมาจริง ข้าเจ้าจะได้พึ่งลาโตกเป็นหลักที่ยุดต่อไป แลซึ่งว่าจะเอาดีบุกค่าผ้านั้น ท่านพระยาถลางยังเจ็บหนัก มิได้ปรึกษาว่ากล่าว ถ้าท่านพระยาถลางคลายป่วยแล้ว จะได้ปรึกษาว่ากล่าว จักเตือนให้ ซึ่งว่าเจ้ารัดจะไปเยี่ยม ขุ่นท่ามิให้ไปนั้น ข้าเจ้าจะให้ไปว่าหลวงยุกบัตร และขุนท่า ไม่ให้ยุดหน่วงไว้ ครั้นข้าเจ้าจะลงมาให้พบลาโตกเอง เจ้าคุณยังเจ็บหนักอยู่ จึงให้เมืองภูเก็จลงมา ลาโตกได้เห็นดูงดอยู่ก่อนถ้าเจ้าคุณค่อยคลายขึ้นข้าเจ้าจะลงมาให้พบลาโตก และขันนั้นไม่แจ้งว่าเป็นขันอะไรให้บอก๊ไปแก่เมืองภูเก็จให้แจ้ง ข้าเจ้าจะเอาลงมาให้ อนึ่งคนซึ่งรักษาบ้านเฝ้าค่ายนั้น ขัดสนด้วยยาฝิ่นที่จะกินให้ลาโตกช่วยว่ากปิตันอีกสะกัดให้ ๆ ยาฝิ่นขึ้นมาสักเก้าแท่นสิบแท่น แล้วถ้าพ่อลาโตกจะขึ้นมาได้ ให้ขี่ชื่นมาสักที หนังสือมา ณ วันอังคาร เดือนอ้าย ขึ้น ๕ ค่ำ ปีมะเส็งสัพศก
วิเคราะห์ ๐ เอกสารฉบับนี้ อาจารย์สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ ได้ทำบทปริวรรตไว้แล้วในการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก โดยกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๒๕ ด้วยความร่วมมือสนับสนุนของศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต ผู้สนใจควรจะดูบทปริวรรตที่อ้างถึงนี้ประกอบด้วย
เอกสารฉบับนี้เป็นจดหมายตอบจดหมายของพระยาราชกปิตัน (ฟรานซิส ไลท์) ซึ่งมีถึงท่านผู้หญิงจันและพระยาถลางพิมลอัยาขัน ทวงเงินค่าสินค้าที่ทางเมืองถลางรับซื้อไว้โดยยังมิได้ชำระมูลค่า น่าเสียดายที่เอกสารฉบับนี้และฉบับอื่น ๆ อันเป็นจดหมายติดต่อการค้าของนายสำเภาชาวอังกฤษผู้นี้มีถึงเจ้าเมืองถลางนั้นสูญหายไปสิ้น ไม่มีเหลือไว้ให้ได้ศึกษาอีกเลยอาจถูกเผาไหม้ไปในครั้งพม่ามาตีเมืองถลาง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๒ หรือ สูญหายไปเนื่องจากระบบการจัดเก็บรักษาเอกสารของบ้านเมืองยังไม่รัดกุมก็ไม่อาจจะวิเคราะห์ได้
กัปตัน ฟรานซิส ไลท์ หรือพระยาราชกปิตัน ผู้นี้ตั้งบ้านและสำนักงานตลอดจนคลังสินค้าอยู่บริเวณบ้านท่าเรือ ซึ่งอยู่ใกล้ลำคลองใหญ่ออกอ่าวภูเก็จ เป็นความสะดวกในการขนส่งสินค้าเข้าและขนแร่ดีบุกออก นันทา วรเนติวงศ์ กล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง "พระยาราชกปิตัน (ฟรานซิส ไลท์) "(พิมพ์โดยกรมศิลปากร พ.ศ. ๒๕๑๗ หน้า ๕) ว่า กับตัน ไลท์ ไปตั้งรกรากอยู่บนเกาะถลางในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๑๕ (ค.ศ. ๑๗๗๒)" ซึ่งเมื่อนำมาประสานเข้ากับเอกสารอันเป็นจดหมายของทานผู้หญิงจันฉบับนี้ ที่ได้กล่าวถึงการเตรียมตัวของพระยาราชกปิตัน เพื่อที่จะย้ายกิจการค้าออกจากเมืองถลางไปในปี จุลศักราช ๑๑๔๗ (พ.ศ. ๒๓๒๘) ก็รวมเวลาที่พ่อค้าอังกฤษผู้นี้ตั้งบ้านและสำนักงานค้าขายอยู่บนเกาะถลางนานประมาณ ๑๓ ปี
สาเหตุที่กัปตัน ฟรานซิส ไลท์ ย้ายสถานประกอบการค้าออกจาเมืองถลางนั้น นอกจากจะเนื่องจากการค้าขายขาดทุน เพราะ ฟรานซิส ไลท์ มีมิตรสหายและบริวารในเมืองถลางมาก และต้องทำนุบำรุงมิตรสหายบริวารเหล่านั้นไว้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง คือความมุ่งหมายที่จะเข้ายึดครองเกาะถลางไว้เป็นอาณานิคมของอังกฤษ หากโอกาสเปิดให้ ค่าใช้จ่ายนากรนี้เป็รายจ่ายผ่านทางสินค้าต่าง ๆที่ ฟรานซิส ไลท์ ขายเงินเชื่อแล้วเรียกเก็บไม่ได้ รวมทั้งมอบให้เป็นของกำนับแก่บุคคลชั้นสูงอีกทางหนึ่งด้วย การลงทุนเพื่อเก็งกำไรทางด้านการเมืองของ ไลท์ จึงขาดทุน
อีกประการหนึ่งที่เป็นสาเหตุให้ ไลท์ ต้องการถอนตัวออกจากเมืองถลาง ก็คือ ในขณะนั้น ไลท์ ได้ไปเจรจาขอซื้อเกาะปีนังจากพระยาไทรบุรีเป็นผลสำเร็จซึ่งอันที่จริงแล้ว เกาะปีนังนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของพระยาไทรบุรีแต่เมืองไทรบุรีเป็นเมืองในพระราขอาณาจักรของไทย การที่พระยาไทรบุรีไปทำสัญญาขายเกาะปีนังให้แก่ ฟรานซิส ไลท์ เป็นการลุแก่อำนาจต่ออาณาจักรไทย ภายหลังพระยาไทยบุรีคิดตกใจกลัวก็พยายามจะเอาเกาะปีนังคืนจากไลท์ แต่ไม่สามารถช่วงชิงมาได้ แม้จะทำการรุนแรงโดยส่งกองทัพเข้ายึดเอาดื้อ ๆ แต่ก็ถูกกองทหารของ กัปตัน ฟรานซิส ไลท์ต่อสู้ขับไล่ถอยกลับไป
ไลท์ มีอำนาจเด็ดขาดในเกาะปีนังภายใต้ร่มธงอังกฤษ จึงพอใจในการไปตั้งสำนักงานค้าขายที่เกาะปีนังมากกว่าที่จะอยู่เกาะถลาง
ประจวบกับได้ข่าวว่าพม่ากำลังเตรียมทัพจะยกมาตีเมืองถลาง ซึ่งถ้าไลท์อยู่เกาะถลางต่อไปก็เกรงว่าทรัพย์สมบัติจะสูญเสีย ทั้งอาจจะต้องรับภาระช่วยเมืองถลางรบพม่าไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เนื่องจากมีความสนิทสนมกับท่านผู้หญิงจันอยู่มาก และท่านผู้หญิงก็แสดงความประสงค์ขอให้ช่วยในการทำสงครามกับพม่าอย่างชัดเจน ฟรานซิส ไลท์ เห็นว่าประโยชน์ที่จะได้จากรบพม่านั้น สู้ถอยออกไปให้พ้นเขตสงครามไม่ได้ จึงรีบร้อนถอนตัวออกไปโดยเร็ว ละทิ้งหนี้สินมูลค่าสินค้าที่ชาวถลางค้างอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน
ในการถอนตัวจากเกาะถลางครั้งนี้มีผู้หญิงชาวถลางคนหนึ่งจะติดสอยห้อยตามไปด้วย คือ เจ้ารัด ที่จะหมายของท่านผู้หญิงเอ่ยชื่อถึง นัยว่าผู้หญิงคนนี้เป็นทาสเรือนเบี้ยของหลวง ยุกบัตร หรือ ขุนท่า คนหนึ่งคนใด ยังหาหลักฐานไม่ได้ชัดเจนนัก กัปตัน ฟรานซิส ไลท์ ได้ขอไถ่หนี้ของเจ้ารัดจากนายเงิน ซึ่งตามรูปการแล้ว น่าจะสันนิษฐานว่า เป็นหลวงยุกบัตร แต่การเจรจาคงจะมีอะไรอย่างหนึ่งอย่างใดผิดพลาด เมื่อเจ้ารัดจะออกจากที่อยู่เดิม(คือบ้านตะเคียน) ลงไปหาพระยาราชกปิตัน ที่บ้านท่าเรือในฐานะเจ้าเงินคนใหม่ หลวงยุกบัตร และขุนท่า (ขุนท่า คือกรมการเมืองดูแลธุรกิจการค้าของเมืองถลางกับพ่อค้าต่างประเทศ) จึงขัดขวางไว้ เป็นกรณีพิพาทที่พระยาราชกปิตัน ร้องทุกข์ให้ท่านผู้หญิงเข้าไปจัดการแก้ไข
ผู้หญิงเมืองถลางหลายคน ทั้งที่เป็นทาสเรือนเบี้ยของขุนนาง หรือผู้ดีเมืองถลาง หรือภรรยาของชาวบ้านที่สามีใฝ่หาความมั่งมี ถูกขายให้ไปกับพ่อค้าชาวต่างประเทศอย่างไม่ผิดกฎหมาย ดังปรากฏหลักฐานตามเอกสารเมืองถลางชุดนี้หลายฉบับ นับเป็นเรื่องน่าพิศวงสำหรับนักศึกษาเรื่องสิทธิของสตรีอยู่มาก
ในคำอ่านฉบับนี้ ได้อ่านบรรทัดสุดท้าย ในข้อความที่ว่า ".....พ่อลาโตกจะขึ้นมาได้ ให้ขี่ชื่น ขึ้นมาสักที...." ซึ่งในฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๕ อ่านว่า ".....ให้เชิญขึ้นมาสักที..." แตกต่างกันอยู่
ความแตกต่างนี้ เกิดขึ้นเนื่องจาก สุนัย ราชภัณฑารักษ์(เรื่องภูเก็ต พิมพ์ พ.ศ.๒๕๑๗ หน้า ๑๔๕) กล่าวไว้มีใจความสรุปว่า บ้านพระยาถลางอยู่ห่างกับบ้านท่าเรือประมาณ ๗ ไมล์ การเดินทางไปมาติดต่อระหว่างกันใช้ช้างเป็นพาหนะ และท่านผู้เขียนคนเดียวกันนี้ยังได้กล่าวไว้ในเรื่อง "ท้าวเทพกระษัตรี" ของท่าน (อ้างเอกสารประกอบการสัมมนาประวัติศาสตร์ถลาง ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๓๙ หน้า ๖๕) ว่า ช้างที่เจ้าเมืองถลางใช้ประจำอยู่น่าจะชื่อชื่น จึงเป็นช้างที่ท่านผู้หญิงจันแนะนำให้พระยาราชกปิตัน ขึ้นขี่ไปยังจวนเจ้าเมืองเพื่อพบปะกันสักครั้งหนึ่ง ตามเอกสารฉบับดังกล่าวนี้ เห็นว่าลายมือเขียนและคำวิเคราะห์ตีความของท่าน สุนัย ราชภัณฑารักษ์ พอรับฟังได้ จึงได้แก้ไขคำอ่านให้ตรงกัน
หมายเหตุเพื่อการค้นหา
จดหมายเหตุ มทศ. | |
กรทิชาต์ วัฒนพันธุ์ เลขานุการมูลนิธิท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทรมีเอกสารลายลักษณ์จำนวนมากได้เสนอที่ประชุม มทศ.ให้จัดทำจดหมายเหตุของมูลนิธิท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร ผศ.สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์อาสาเป็นผู้อำนวยการหมายเหตุรักษ์ มทศ. มอบหมายให้ปาณิศรา(นก) ชูผลเป็นผู้ช่วยหมายเหตุรักษ์ ร่วมด้วยช่วยกันให้มีจดหมายเหตุลายลักษณ์ไว้เป็นเอกสารอ้างอิงในการดำเนินงานของ มทศ. และเป็นประโยชน์แก่นักวิจัย นักเรียนนักศึกษาและผู้สนใจงานทางด้านนี้ ปี พ.ศ.๒๕๕๓ มทศ.มุ่งเป้าไปสู่จดหมายเหตุที่ช่วยงานอนุสรณ์สถานเมืองถลาง และด้วยเหตุที่เมืองถลางมีประวัติยาวนานจาก พ.ศ.๗๐๐ ที่ปรากฏ JUNK CEYLON ในแผนที่การเดินเรือของคลอดิอุส ปโตเลมี เปลี่ยนมาเป็น SILAN ตามคำเรียกของพระภิกษุจีนอี้จิง และเปลี่ยนเป็นสลาง ฉลาง จนคนทั่วไปรู้จักถลาง มีประวัติวีรสตรีท้าวเทพกระษัตรี(ท่านผู้หญิงจัน) ท้าวศรีสุนทร(คุณมุก) แม่ปราง พญาถลางเทียน ประทีป ณ ถลาง(อดีตเจ้าเมืองภูเก็จ) และเหล่าวีรชนเมืองถลางแห่งศึกเมืองถลางที่เป็น ๑ ในศึก ๙ ทัพต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จนชาวภูเก็จภูเก็ตมีวันถลางชนะศึกในวันที่ ๑๓ มีนาคมของทุกปี |
" />