Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
โบราณวัตถุในจังหวัดภูเก็ต PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อาทิตย์, 10 กุมภาพันธ์ 2008

  

๓.๒.๑(๑) โบราณวัตถุ

 ผศ.สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์

อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปเพื่ออ่านมันได้

--------------------  

 

โบราณวัตถุในวัดไชยธาราราม(วัดฉลอง)

ต้องยอมรับว่า บารมีพ่อท่านสมเด็จเจ้า(แช่ม) ได้ช่วยให้ถาวรวัตถุในวัดฉลองพัฒนาไปอย่างมิมีติดขัด    ศรัทธามหาชนยังคงท่วมท้นใจสืบมาแต่ครั้งวีรกรรมศิษยานุศิษย์พ่อท่านสมเด็จเจ้าผจญวุ่นจีน พ.ศ. ๒๔๑๙

กุลีเหมืองแร่ได้ก่อกำเริบจนพระยาวิชิตสงครามเจ้าเมืองภูเก็จต้องหลีกไปตั้งหลักสร้างจวนเมืองภูเก็จที่บ้านท่าเรือ พวกก่อความวุ่นวายในครั้งนี้ทางเมืองหลวงเรียกว่าอั้งยี่  ส่วนภูเก็จเรียกว่า วุ่นจีน  เกิดเหตุเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๙ 

(มห.ภูเก็จ ๒๓๑๒)

 

      เมื่อวุ่นจีนเข้าปล้นตีเมืองจนวุ่นวาย  ได้ขยายเขตไปจนถึงเขตบ้านฉลอง  ใกล้วัดโคกโตนด(วัดลัฏฐิวนาราม)มีบ้านเรือนอยู่หลายหลัง วุ่นจีนก็เผาทิ้งเสียจนกำเนิดชื่อทิ้งไว้ว่า บ้านไฟไหม้  ปัจจุบันมีบ้านเรือนไทยถิ่นภูเก็จอยู่เพียงหลังเดียว และได้อาศัยรูปแบบบ้าน"ขุนมรดก" ประกอบกับกุฏิพ่อท่านสมเด็จเจ้า ฯ  เป็นแบบอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง

เมื่อพ่อท่านสมเด็จเจ้า ฯ ไม่ยอมรับนิมนต์หนี  ชาวบ้านฉลองจึงต้องป้องกันภัยได้รับผ้ายันต์(ผ้าประเจียด)จากพ่อท่านสมเด็จเจ้า ฯ ปิด คลุมหัวเข้าต่อสู้ให้วุ่นจีนแพ้ แล้วแพ้อีก     จนวุ่นจีนได้ตั้งฉายาศิษย์วัดฉลองว่า พวกหัวขาว  และแม้ว่าจะได้ตั้งค่าหัวพ่อท่านสมเด็จเจ้าไว้ถึงพันเหรียญ  ก็ไม่สามารถทำลายวัดฉลองได้ จำเป็นต้องยอมแพ้พ่ายไปในที่สุด

ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๕  จึงได้โปรดเกล้า ฯ นิมนต์พ่อท่านสมเด็จเจ้าเข้าเฝ้าในปี พ.ศ.๒๔๒๐    รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูวิสุทธิวงษาจาริย์ญาณมุนี  สังฆปาโมกข์เมืองภูเก็จ

สารตราตั้ง

      "ให้เจ้าอธิการแช่มวัดไชยธาราราม  เปนพระครูวิสุทธิวงษาจาริย์ญาณมุนี เจ้าคณะใหญ่เมืองพุเก็ต ขอพระคุณจงเอาธุระพระพุทธสาสนา เปนภาระสั่งสอนช่วยรงับอธิกรณ์และอนุเคราะห์พระภิกษุสามเณรในคณะโดยสมควร    จงมีสุข สวัสดิเจริญในพระพุทธสาสนาเทอญ  ตั้งแต่  ณ วัน ๔  ๑๔  ๖ ค่ำ ปีขานสัมฤทธิศก พุทธสาสนากาล ๒๔๒๐ พรรษา เปนวันที่ ๓๔๗๓ ในรัชกาลปัตยุบันนี้ ฯ|ะ"

ตาลปัตรพ่อท่านสมเด็จเจ้า(แช่ม)

      หลังศึกวุ่นจีน(อั้งยี่)ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๙  วัดฉลองก็ได้รับพระราชทานนามเป็นวัดไชยธาราราม (ไชย=ดีกว่า, เจริญกว่า;    ธารา=ลำธาร, สายน้ำ, ทางน้ำ;  อาราม,-ราม=สวนอันเป็นที่รื่นรมย์, วัด)     พ่อท่านวัดฉลองก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ เป็นพระครูวิสุทธิวงษาจาริย์ญาณมุนี สังฆปาโมกข์  เป็นสมณศักดิ์สูงมากที่พระภิกษุหัวเมืองชั้นนอกจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณเช่นนั้น     พระครูวิสุทธิวงษาจาริย์ญาณมุนี(แช่ม) ได้รับพระราชทานตาลปัตรสมณศักดิ์(พัดยศ)เทียบชั้นสมเด็จเจ้า    พี่น้องชาวภูเก็จในช่วงสมัยตอนต้นรัชกาลที่ ๕ จึงถวายสมณศักดิ์สมัญญาพ่อท่านวัดฉลอง(แช่ม)ว่า  พ่อท่านสมเด็จเจ้า และเรียกขานสมณศักดิ์สมัญญานี้มาโดยตลอด

      พ่อทานสมเด็จเจ้า(แช่ม)    ยังได้รับพระราชทาน ตาลปัตรเกียรติคุณ ซึ่งวัดไชยธารารามได้เก็บรักษาให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์   เป็นเกียรติประวัติแด่พ่อท่านสมเด็จเจ้า พระครูวิสุทธิวงษาจาริย์ญาณมุนี(แช่ม) และวัดไชยธาราราม
บริเวณตัวตาลปัตรเกียรติคุณทำด้วยผ้าพื้นสีเหลืองทอง ขอบตาลปัตรติดดิ้นสีทองเข้ม กลางตาลปัตรด้านบนปักดิ้นรูปอุณาโลมแผ่รัศมีอยู่บนดิ้นรูปพานสองชั้น    รูปพานอยู่บนหลังเศียรช้างเอราวัณ(ช้างสามเศียร ช้างทรงของพระอินทร์)  ข้างเศียรช้างเอราวัณ  ปักดิ้นรูปฉัตร ๗ ชั้น   ด้านขวาปักเป็นรูปทหารสวมหมวกถือดาบทั้งสองมือ   ด้านซ้ายปักรูปทหารมือขวาถือดาบ  มือซ้ายถือโล่ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า     ตรงยอดด้ามถือหรือส่วนล่างของตาลปัตรปักดิ้นรูปจักรและตรี  อันเป็นพระสัญลักษณ์แห่งราชวงศ์จักรี

      ตาลปัตรเกียรติคุณของพ่อท่านสมเด็จเจ้า(แช่ม)แห่งวัดไชยธาราราม(วัดฉลอง)     เป็นตาลบัตรที่ยังคงรักษาไว้ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด เป็นตาลปัตรที่เก่าแก่ที่สุดและเป็นโบราณวัตถุตาลปัตรเกียรติคุณที่ทรงคุณค่าควรแก่ความภาคภูมิใจ.

ไม้เท้า

      ไม้เท้าของพ่อท่านสมเด็จเจ้ามี ๒ อัน  อันใหญ่เป็นไม้เท้าที่มีประวัติดังพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชนุภาพ เรื่องพระครูวัดฉลอง    มีความยาว ๑๖๐ ซม. ท่อนด้านบนมีความยาวรอบนอก ๗.๓ ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง ๒.๓๒ ซม.  เรียวเล็กลงไปถึงปลายมีความยาวรอบนอก ๖ ซม.   เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๙๐ ซม. ไม้เท้าอีกอันมีขนาดเล็กกว่าอันใหญ่เล็กน้อย

ผ้าทิพย์

     หลัง พ.ศ.๒๔๑๙ อันเป็นการสิ้นสุดศึกวุ่นจีน(อั้งยี่)เมืองภูเก็จแล้ว   ชื่อเสียงของวัดฉลอง(วัดไชยธาราราม) ตำบลฉลอง อำเภอทุ่งคา(ชื่อสมัยก่อน) จังหวัดภูเก็จ  และพ่อท่านสมเด็จเจ้าแช่ม  ก็ปรากฏแพร่หลายสู่ศรัทธามหาชนฝั่งตะวันตกแพร่ขจรขจายไปถึงเมืองปีนัง  ประเทศมาเลเซีย

      สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ได้ทรงนิพนธ์เรื่องราวของพ่อท่านสมเด็จเจ้าแช่มไว้ในนิทานโบราณคดีเรื่องพระครูวัดฉลอง    เรื่องวัดฉลองจึงเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วแผ่นดินไทย

      นอกจากศรัทธามหาชนจะรู้จักพ่อท่านสมเด็จเจ้าแช่ม  และไม้เท้าศักดิ์สิทธิ์ที่มีเกร็ดพิสดารแล้ว   เมื่อเข้านมัสการพ่อท่านนอก ณ วิหารหลวงพ่อเจ้าวัด      ก็จะพบศิลปกรรมของช่างนิรนามที่ได้นิรมิตพระพุทธรูปปางมารวิชัย   พระพักตร์กลมอิ่มเอิบเป็นพุทธลักษณะที่งดงามแล้ว   ยังได้ตกแต่งฐานพระพุทธรูปพ่อท่านนอกหรือหลวงพ่อเจ้าวัดเป็นรูปชายผ้าสามเหลี่ยมห้อยลงทับ ผ้าทิพย์  ที่ได้รับการตกแต่งลวดลายปูนปั้นนูนรูปเถาวัลย์ดอกไม้บานด้วยความประณีต  ผู้ใส่ใจในงานศิลปะต่างก็ยอมรับกันว่า ในบรรดาผ้าทิพย์ที่มีอยู่ในจังหวัดภูเก็จ  ผ้าทิพย์ตรงฐานหลวงพ่อเจ้าวัดเป็นผ้าทิพย์ที่มีความงดงามประณีตที่สุด

ท้าวนนทรี

       ประสิทธิ ชิณการณ์ ขุมทรัพย์วัฒนธรรมภูเก็จ เล่าว่า ในวิหารพ่อท่านวัดนอกมีนนทิอสูรยืนถือกระบองด้านหน้าพระพุทธรูปที่มีผ้าทิพย์สวยงามนั้น จำนวน ๒ ตน  แต่ถูกคนสติไม่ดีทุบทำลายเหลือเพียงตนขวามือพระพุทธรูป   ชาวบ้านเรียกว่า ท้าวนนทรี(ประสิทธิ ชิณการณ์ ให้สัมภาษณ์ ๒๕๓๒)

ตาขี้เหล็ก

      ในการสร้างพระประธานในอุโบสถ มีเศษปูนเหลืออยู่ ช่างปั้นผู้มีอารมณ์ขันได้ปั้นรูปตาแก่นั่งตะบันหมาก  ทิ้งไว้ในอุโบสถ  เมื่อพระภิกษุกราบไหว้องค์พระประธานก็จำต้องไหว้ตาขี้เหล็กผู้เป็นฆราวาสด้วย     พ่อท่านช่วงอดีตเจ้าอาวาสรูปต่อจากพ่อท่านสมเด็จเจ้า เห็นว่าไม่เหมาะสม   จึงได้ย้ายตาขี้เหล็กไปแทนที่ท้าวนนทรีตนที่ถูกคนสติไม่ดีทำลายในวิหารพ่อท่านวัดนอก เด็กวัดได้ไปติดสินบนตาขี้เหล็กบันดาลให้ควายมาชนให้ดูหน้าวัด  จะเป็นด้วยเหตุใดก็ตาม ความประสงค์ของเด็กวัดก็สำเร็จ  จึงได้แก้บนด้วยการให้ตาขี้เหล็กสูบบุหรี่(ประสิทธิ ชิณการณ์ ให้สัมภาษณ์ ๒๕๓๒)   คนที่เชื่อถือต่อมาก็กระทำดังนั้นด้วยเพียงแต่เปลี่ยนความประสงค์เป็นอย่างอื่น    แต่สาธุชนจะเปลี่ยนเป็นความดีและอะไรก็ตามที่มีคุณค่าควรแก่การสรรเสริญ.

กำแพงวัดฉลอง

           เมื่อปี พ.ศ. 2419 ได้เกิดความวุ่นวายขึ้นในเมืองภูเก็จ ด้วยกุลีจีนเหมืองแร่ก่อการกำเริบเข้าทำลายทรัพย์สิน  ฆ่าฟันคนไทยและคนจีนที่มีครอบครัวเป็นคนไทยล้มตายลงเป็นจำนวนมาก            บ้านฉลอง เป็นหมู่บ้านคนไทยที่คนจีนเข้าก่อการวุ่นวายด้วยแห่งหนึ่ง  ชาวบ้านต้องละทิ้งไร่นา บ้านช่อง เข้าอาศัยความเมตตาของพ่อท่านสมเด็จเจ้า(แช่ม)เป็นที่พึ่งอยู่ในกำแพงแก้วพระอุโบสถ

           จนเมื่อเหตุการณ์สงบลงแล้ว  ชาวบ้านได้ช่วยกันทำเตาเผาอิฐขึ้นในทุ่งนาทางทิศตะวันออก นำเอาอิฐมาก่อกำแพงวัดขึ้นโดยรอบทั้งสี่ด้าน  เว้นเพียงประตูทางเข้าออกไว้ ๔ ทิศ ทั้งนี้เพื่อป้องกันภัยจลาจลด้วยความไม่ประมาท

           กำแพงเก่าได้ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต สถาบันราชภัฏภูเก็ตและวัดไชยธารารามจึงได้บูรณะกำแพงบางส่วนขึ้นใหม่ตามรูปแบบเดิม เมื่อ  พ.ศ. ๒๕๒๗ เพื่อคงไว้เป็นอนุสรณ์สืบไป.


บรรณานุกรม

กลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ บรรณาธิการ วัดไชยธารา
ราม(วัดฉลอง) ภูเก็ตการพิมพ์   ๒๕๓๒, ๖๔ หน้า ประสิทธิ  ชิณการณ์  อายุ ๖๓ ปี ถนนดีบุก ตลาดเหนือ อำเภอ
เมือง ภูเก็ต ให้สัมภาษณ์สมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์ เมื่อ
พ.ศ.๒๕๓๒ สมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์ รวบรวม "วัดไชยธาราราม" เสริมรู้เมือง
ภูเก็ต หน้า ๓๘  ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต  
๒๕๒๖,  ๒๙๐ หน้า  อัดสำเนา


จั่งซุ้ย : เสื้อกันฝนชาวเหมือง

      แร่ดีบุกเป็นทรัพยากรหลักที่สำคัญมากที่สุดของภูเก็จมาไม่ต่ำกว่า ๔๐๐ ปี  การขุดค้นหาแร่ดีบุกได้พัฒนาจากการเก็บหาแร่บนพื้นผิวดินไปเป็นเหมืองรู  เหมืองแล่น  เหมืองหาบ เหมืองสูบ  เหมืองฉีดหรือเหมืองเรือขุด  จนเป็นแพดูดแร่ในท้องทะเลที่ค่อนข้างลึก

      ในช่วงที่เหมืองหาบกำลังเป็นที่นิยมเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา   กรรมกรชาวจีนจำนวนมากได้เข้ามาภูเก็จเป็นกุลีเหมืองหาบได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของบรรพชนภูเก็จ

      ยกระนองและพังงาออกไปแล้ว    ก็คงจะต้องเป็นภูเก็จที่มีฝนตกชุก  ยิ่งเมื่อป่าไม้อุดมสมบูรณ์ไม่มีวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมอย่างปัจจุบัน ฝนภูเก็จจึงตกชุกระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน   กรรมกรเหมืองต้องกรากกรำฝนเป็นระยะยาวนาน    จึงได้มีผู้คิดเสื้อกันฝนที่คงทนต่อการทำงานในเหมือง  โดยใช้เส้นใยจากโคนกาบต้นชกที่ชาวบ้านเรียกว่า "รกชก" มาเย็บเป็นเสื้อกันฝน   แล้วเรียกเสื้อกันฝนนี้ว่า  จั่งซุ้ย  มีใช้กันมากในเหมืองเขตอำเภอกะทู้   

      ลูกหลานที่เห็นคุณค่าได้เก็บรักษาจั่งซุ้ยไว้ และเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อคนอื่น ๆ จึงได้นำไปถวายวัดพระทองเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙  จำนวน ๑ ชุด  เป็น จั่งซุ้ย ที่มีความกว้างระหว่างปลายแขนซ้ายและขวาเท่ากับระยะคอถึงชายจั่งซุ้ยด้านล่างประมาณ ๓๖ นิ้ว   พ่อท่านสุขุมวัดพระทองพระนักอนุรักษ์มรดกไทย ได้นำไปแสดงไว้ที่ พิพิธภัณฑ์วัดพระทอง  สอบถามผู้เกี่ยวข้อง  ก็ไม่ปรากฏว่ามีใครเก็บรักษาไว้ได้สมบูรณ์เท่าจั่งซุ้ยในพิพิธภัณฑ์วัดพระทอง.

หนังสือเก่า

      ชาวใต้ได้บันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ไว้บนแผ่นหิน   ใบลานและถัดมาลงบนกระดาษที่เรียกว่า บุด  บุดช้างน้อย  บุดดำ  บุดข่อย หรือที่ตรงกับชาวภาคกลางเรียกว่าสมุดไทย เมื่อการบันทึกเรื่องราวได้วิวัฒนาการมาเป็นรูปเล่มที่เรารู้จักว่า หนังสือ แล้ว  หนังสือที่จัดพิมพ์ไว้จะระบุวันเดือนปีที่พิมพ์ให้เป็นที่ประจักษ์    เราสามารถรู้ได้ว่า หนังสือเล่มใดเก่าแก่กว่ากัน

      หอวัฒนธรรมภูเก็จมีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ พระจตุราริยสัจจกถา เป็นบทเทศนาของสมเด็จพระสังฆราช วัดราชประดิษฐ์  ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒   พิมพ์ไว้แจกในงานปลงศพ    มีความในคำนำว่า "ด้วยนายพุ่ม รัตนดิลก ณ ภูเก็จ  บอกมายังหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครว่ามีศรัทธาจะพิมพ์หนังสือแจกในการกุศลทำงานปลงศพสนองคุณพระรัตนดิลก เดช ผู้บิดา"   สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สภานายกหอสมุดวชิรญาณจึงทรงเลือกเรื่องดังกล่าวประทานให้นายพุ่ม รัตนดิลก ณ ภูเก็จ ตามความประสงค์

      หนังสือพระจตุราริยสัจจกถามีปกแข็งพื้นสีม่วงขนาดกว้าง ๑๖ ซม. ยาว ๒๓.๕ ซม. พิมพ์ปกด้วยอักษรไทยและตราหอพระสมุดวชิรญาณด้วยสีทอง กระดาษเนื้อในเป็นกระดาษปอนด์ คำนำเป็นบทพระนิพนธ์ของสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จำนวน ๕ หน้า เป็นเนื้อเรื่อง ๕๔ หน้า 

      ก่อนถึงปกในมีภาพรองอำมาตย์โท พระรัตนดิลก เดช รัตนดิลก ณ ภูเก็จ เป็นภาพขาวดำ ๑ ภาพ  ในประวัติพระรัตนดิลกได้บอกไว้ว่า ท่านเป็นบุตรชายคนที่ ๗ ของพระภูเก็จโลหเกษตร์ตรารักษ์ แก้วเจ้าเมืองภูเก็จ  นางพรมเนี่ยวเป็นมารดา  เกิดในรัชกาลที่ ๓ เมื่อวันเสาร์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีวอก พ.ศ.๒๓๙๑   รับราชการอยู่กับพระยาวิชิตสงครามรามฤทธิเดชโลหเกษตร์ตรารักษ์พิทักษ์รัฐสีมามาตยานุชิตพิพิธภักดีพิริยพาหะ (ทัต) ผู้เป็นพี่ชายแต่ในรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕ ลาพักราชการออกอุปสมบทอยู่ที่วัดมงคลนิมิตร จังหวัดภูเก็จ เมื่อปีวอก พ.ศ.๒๔๑๕ ก่อนเกิดศึกวุ่นจีนที่วัดฉลอง ๔ ปี พระอุปัชฌาย์ด้วง เป็นอุปัชฌาย์   พระครูวิสุทธิวงศาจาริย์แช่ม(พ่อท่านสมเด็จเจ้า หรือหลวงพ่อแช่มวัดฉลอง)เป็นพระกรรมวาจาจารย์

      พระรัตนดิลกมีบุตรและบุตรี ๗ คน คือ  นายพุ่ม  นางสาวหมู  นายพวง นางนอง นางสาวหมา  นางปุก  นางแดง    พระรัตนดิลกถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๔๖๒ เมื่ออายุได้ ๗๒ ปี
บุตรชายชื่อนายพุ่ม รัตนดิลก ณ ภูเก็จ จึงได้ขอจัดพิมพ์"พระจตุราริยสัจจกถา"พิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๒   หนังสือนี้จึงมีอายุ ๘๐ ปีในปีพ.ศ.๒๕๔๒    ยังมีหน้าและเรื่องครบสมบูรณ์ จึงนับว่า "พระจตุราริยสัจจกถา"เป็นหนังสือเก่าแก่ที่สุดที่ปรากฏอยู่ในภูเก็จ

 

งาประทับมณฑลภูเก็จ

      หลักฐานการเริ่มต้นชื่อ ถลาง ที่นักค้นคว้ารายงานให้ทราบว่า ถลาง มาจาก JUNK CEYLON ซึ่งปรากฏอยู่ในแผนที่เดินเรือของคลอดิอุส ปโตเลมี เมื่อ พ.ศ.๗๐๐    กาลล่วงมาถึง พ.ศ.๑๕๖๘  โจฬะทมิฬ ยกกองทัพมาตีอาณาจักรศรีวิชัยที่ไชยา   ทัพหน้าตั้งอยู่ที่บ้านม่าหนิก "มณินครัม"(มะ-นิ-นะ-คะ-รัม) ซึ่งเป็นภาษาทมิฬ   จำแนกได้เป็น ๒ คำ คือ มณิ คือ มณี อันเป็นส่วนหนึ่งของ แก้วมีค่า  ส่วน นครัม คือ นคร หรือ เมือง  รวมความหมายเป็น เมืองแก้ว

      เมื่อ ๒๐๐ กว่าปีที่แล้ว    บุตรชายของท่านผู้หญิงจัน(ท้าวเทพกระษัตรี)  คือ  นายเทียน ประทีป ณ ถลาง  ได้เป็นเจ้าเมืองภูเก็จ   ต่อมาได้เป็นพระยาทุกรราช   และท้ายสุด  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้า ฯ ให้เป็น   พระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหงเจ้าพระยาถลาง ก็คงชื่อ เพชร และ คีรี ซึ่งหมายถึง   ภูเขาแก้ว  หรือ  ภูเก็จไว้ดั่งเดิม

      ภูเก็จ  เป็นเมืองอยู่ในมณฑลภูเก็จ ที่มีตราประทับมหาดไทย ประจำมณฑลภูเก็จ แม้เมื่อเลิกการปกครองแบบมณฑลไปแล้ว  ตราประทับก็หมดหน้าที่การใช้งาน ถูกทิ้งไว้ที่สโมสรข้าราชการเมืองภูเก็จ    จนกระทั่งนายสุบิน  สมวงษา ทำความสะอาดสโมสรจึงได้พบตราประทับมหาดไทยมณฑลภูเก็จ   และได้นำไปมอบให้นายสกุล  ณ นคร เก็บรักษาไว้

      ตราประทับชิ้นนี้ทำจากงาช้างมี ๒ ส่วน คือส่วนที่เป็นวงกลมของตราประทับ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๕.๕ ซม.    ตรงกลางเป็นรูปหัวสิงห์  เหนือหัวสิงห์มีอักษร "มหาดไทย"  ด้านล่างหัวสิงห์มีอักษรว่า "มณฑลภูเก็จ" อีกส่วนเป็นด้าม เมื่อสวมติดกับตราวงกลมวัดส่วนสูงได้ ๘ ซม. จึงนับได้ว่าเป็นตราประทับรูปสิงห์"มหาดไทย มณฑลภูเก็จ"ที่เป็นหลักฐานภูเก็จชิ้นเดียวที่ทำจากงาช้าง.

 


 ปี พ.ศ.๒๕๕๔ งาประทับมณฑลภูเก็จในความครอบครองของกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ  เก็บรักษาอยู่ที่อุทยานแห่งการเรียนรู้กรทอง ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต

สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปเพื่ออ่านมันได้
โทร. 081 326 2549

 

***

พจนสารอันดามัน

ประวัติศาสตร์ ข้อมูลภูเก็ต

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( พฤหัสบดี, 22 มีนาคม 2018 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้356
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1745
mod_vvisit_counterทั้งหมด10711366