เบื่อทอด ลักษณะคล้ายใบผักและกุ้งชุบแป้งทอด นิยมใช้รับประทานเป็นอาหารว่าง หรือเป็นกับแกล้ม ใบผักที่ใช้ได้แก่ ใบชะพลู ใบเล็บครุฑ หรือ หญ้าช้อง ชุบแป้งที่ปรุงด้วยพริกแห้งใหญ่ ตะไคร้ ข่า หอม กระเทียม ขมิ้น พริกไทย กะปิ เกลือ ไข่ กะทิ แป้งข้าวเจ้า และน้ำปูนใส ลงทอดในน้ำมันร้อน ตักกุ้งตัวเล็ก ๆ ไม่ต้องปอกเปลือก เพียงแต่ตัดส่วนหัวและหนวดออก ชุบแป้งแล้ววางเรียงบนใบพืช ทอดจนเหลืองกรอบ นำมารับประทานด้วยน้ำจิ้ม ที่ปรุงด้วยพริกชี้ฟ้าสด กระเทียม เกลือ น้ำตาล และน้ำส้มสายชู หมี่ไทยภูเก็ต นิยมใช้รับประทานเป็นอาหารว่างตอนบ่าย ปรุงจากหมี่หุน (ปีหุน หรือเส้นหมี่) ที่ผ่านการแช่น้ำให้นุ่มแล้วเอามาเคล้ากับซีอิ้วดำ และน้ำตาลที่เคี่ยวจนข้น วิธีปรุง เอากะทิเคี่ยวจนแตกมัน แล้วตักขี้มันขึ้นไว้สำหรับโรยหน้าหมี่ไทย เอาหมี่หุนลงผัดในน้ำมัน ใส่ถั่วงอก กุยช่าย ลงผัด อย่าให้ถั่วงอกเหี่ยว การรับประทาน จะปรุงรสด้วยเต้าเจี้ยว น้ำส้มหรือน้ำมะนาว น้ำตาลทราย ถั่วลิสงป่น พริกขี้หนูป่น และแต่งหน้าหมี่ไทย ด้วยกุ้งลวก ขี้มัน เต้าหู้ทอด พริกเขียว-แดง นิยมรับประทานกับถั่วงอกและกุยช่ายสด
ฮูแช้ ลักษณะคล้ายสลัดผักหรือสลัดแขก นิยมรับประทานเป็นอาหารว่างตอนบ่าย อาหารชนิดนี้จะอร่อยหรือไม่ขึ้นอยู่กับน้ำปรุง ที่ทำมาจากพริกแห้งใหญ่ กระเทียม เกลือ ซีอิ้วขาว ซอสจีน (ตีเจียว) น้ำมะขามเปียก น้ำตาล มะนาว ถั่วลิสงคั่ว งาขาวคั่วแล้วทุบให้แตก นำเครื่องปรุงทั้งหมดมาผสมกันแล้วเติมแป้งนิดหน่อย ตั้งไฟ พอเดือดยกลง ชิมให้ได้รส หวาน เค็ม เปรี้ยว และเผ็ดเล็กน้อย นำน้ำปรุงราดบนผัก ไข่ต้ม เส้นหมี่หุนทอด โดยเฉพาะผักจะต้องมี มันแกวหั่นเป็นเส้นฝอย แตงกวาหั่นเป็นเส้นหยาบ ผักกาดหอม ผักบุ้งลวก และถั่วงอกลวก ข้าวยำภูเก็ต นิยมรับประทานเป็นอาหารมื้อเที่ยง แบบอาหารจานเดียวในปัจจุบัน รสชาติแตกต่างไปจากข้าวยำปักษ์ใต้ คือ ข้าวยำภูเก็ต จะไม่ใส่น้ำบูดู แต่มีรสเผ็ดของพริกไทยอยู่ด้วย เครื่องปรุงที่จะใช้คลุกกับข้าวสวย ได้แก่ พริกขี้หนูแห้ง หอมแดง กะปิ พริกไทยเม็ด ปลาฉิ้งฉ้าง และกุ้งแห้ง เมื่อนำเครื่องปรุงมาโขลกให้เข้ากันแล้ว นำมาคลุกกับข้าวสวย ใบมะกรูด และใบกระพังโหมหั่นเป็นเส้นบาง ๆ ปรุงรสด้วย น้ำตาล น้ำปลา ให้มีรสเผ็ดนำเล็กน้อย และรับประทานกับถั่วงอก แตงกวา และถั่วฝักยาว น้ำชุบหยำ เป็นน้ำพริกชนิดหนึ่ง ซึ่งวิธีปรุงใช้นิ้วมือขยำเครื่องปรุงทั้งหมดให้เข้ากัน เครื่องปรุง ได้แก่ กุ้งแห้ง กุ้งสด หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ปลาย่าง หรือปลาฉิ้งฉ้าง หอมแดงซอย กะปิเผา มะนาวปอกผิวใช้ เนื้อมะนาว ระกำหั่นเนื้อบาง ๆ และส้มเก็ดด้า พริกขี้หนู น้ำตาลทราย เกลือ นำเครื่องปรุงรวมในชามใบใหญ่ ขยำให้เข้ากัน ถ้าข้นเกินไปก็เติมน้ำต้มสุก ชิมให้ได้รส เผ็ด เปรี้ยว เค็ม หวาน รับประทานกับผักสด เช่น แตงกวา สะตอ ลูกเนียง ใบมะม่วงหิมพานต์ และผักลวกกะทิ ได้แก่ผักกูด ผักบุ้ง และถั่วลา(ผลกระเจี๊ยบ) โก่ต้าว (โอต้าว) เป็นอาหารว่างตอนบ่าย หรือ ตอนดึก และนิยมใช้เลี้ยงแขกในวันเคลื่อนย้ายศพไปฝังหรือเผาเพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ลูกหลานและผู้ไปร่วมงาน เครื่องปรุง มี หอยติบ (หอยนางรมเล็ก) หัวเผือก กากหมูทอด แป้งมัน แป้งสาลี ไข่ไก่ ต้นหอมซอย พริกแห้งใหญ่ กระเทียม น้ำสมสายชู น้ำมัน เกลือ น้ำตาล ซีอิ้วขาว พริกไทยป่น การปรุงต้องละลายแป้งกับน้ำ น้ำตาล และโรยต้นหอมซอย ส่วนการทอดจะใช้กะทะแบนใส่น้ำมันพอสมควร พอน้ำมันร้อนตักแป้งใส่ โรยเผือก หอยติบ ไข่ไก่ ปรุงรสด้วยซีอิ้วขาว น้ำส้ม พริกไทยป่น และใส่พริกกับกระเทียมที่ตำไว้ด้วย หากต้องการให้เผ็ด จากนั้นใช้ตะหลิวสับให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วกลับ ผัดให้เข้ากัน โรยหน้าด้วยกากหมู รับประทานกับถั่วงอก กุยช่าย หรือต้นหอม โกสุ้ย เป็นขนมหวานคล้ายขนมถ้วยตะไล แต่ปรุงด้วยน้ำตาลทรายแดง และทรายขาว จึงมีสีน้ำตาลแดง การละลายแป้งข้าวเจ้าและแป้งมันจะละลายกับน้ำเย็น ผสมน้ำตาล ที่เคี่ยวและผ่านการกรองแล้ว เติมน้ำด่าง (กี้) เล็กน้อย เพื่อให้มีความเหนียว ตั้งลังถึงนึ่งถ้วยตะไลให้ร้อนเสียก่อนจึงตักแป้งใส่ ทุกครั้งที่ตักแป้งต้องคนให้แป้งเข้ากันดี นึ่งประมาณ ๒๐ นาที จะสุก เวลารับประทานจะจิ้มกับมะพร้าวขูดที่ใส่เกลือเล็กน้อยพอมีรสเค็ม. |