Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
การจัดการทรัพยากรในภูเก็ต PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พุธ, 06 กุมภาพันธ์ 2008

๔. (๗) การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


 
บทบาทการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของชาวภูเก็ต  ปรากฏในรูปแบบต่าง ๆ มานานแล้ว ทั้งการรวมตัวกันในระดับจังหวัดและในระดับท้องถิ่น ในลักษณะขององค์กรท้องถิ่นหรือกลุ่มต่าง ๆ ตามความสามารถในฐานะที่ชาวภูเก็ตพึงกระทำได้เพื่อรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของภูเก็ต
 กระแสความร่วมมือกันของชาวภูเก็ตเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจตั้งแต่อดีตปรากฏให้เห็นหลายครั้ง ดังเช่น กรณีการคัดค้านบริษัทเทมโก้ ที่ได้รับประทานบัตรขุดแร่ในทะเลประมาณปี 2514 - 2515 จนส่งผลให้ต้องยกเลิกประทานบัตรการขุดแร่ในทะเลในครั้งนั้น


 การคัดค้านการนำเรือขุดแร่เข้ามาขุดแร่ในบริเวณอ่าวสะปำในปี 2518 และบริเวณอ่าวกะรนประมาณปี 2524  ของบริษัทเศรษฐทรัพย์การแร่ (ฟูคุนหลอง) และมีเป้าหมายจะขุดแร่บริเวณอ่าวป่าตองด้วย แต่ได้รับการคัดค้านจากชาวภูเก็ต ทั้งนี้เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ความสวยงามตามธรรมชาติเหมาะเป็นเขตธุรกิจท่องเที่ยวในอนาคต การมองในแง่ของการใช้ทรัพยากรการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวจะเอื้อประโยชน์ให้กับชาวภูเก็ตได้มากทั้งยังเป็นการใช้ทรัพยากรได้ยาวนานกว่าการอนุญาตให้ขุดแร่ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวได้กลายเป็นเขตธุรกิจการท่องเที่ยวที่สำคัญซึ่งทำให้นำรายได้เข้าสู่ภูเก็ตมหาศาล


 ในปี พ.ศ. 2529 ชาวภูเก็ตได้รวมตัวกันคัดค้านการก่อตั้งโรงงานแทนทาลัมในภูเก็ต เพราะเกรงว่าโรงงานดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการเกิดมลภาวะเพราะไม่มั่นใจ ในมาตรการการควบคุมโรงงาน เพราะโรงงานดังกล่าวมีการใช้สารเคมีที่อันตรายในการสะกัดธาตุแทนทาลัม ประกอบกับทางโรงงานและรัฐบาลไม่ได้ทำความเข้าใจในรายละเอียดให้ชัดเจนจนนำไปสู่ความไม่พอใจและเกิดการรวมตัวกันขึ้นทั้งจังหวัดและนำไปสุ่เหตุการเผาโรงงานแทนทาลัมเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2529 หลายกลุ่มระบุว่ามีการแทรกแซงจากการชุมนุมในครั้งนั้น
 บทบาทการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของชาวภูเก็ตเริ่มเปลี่ยนไปจากการต่อต้านกิจกรรมอันก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรในท้องถิ่นและทรัพยากรการท่องเที่ยว โดยหันมาให้ความสนใจปัญหาอันเกิดจากการใช้ทรัพยากรเพื่อธุรกิจการท่องเที่ยวกมากขึ้นทั้งนี้เพราะผลประโยชน์จากธุรกิจซึ่งเกี่ยวข้องกับแร่ดีบุกได้ลดบทบาทลง ในขณะเดียวกันการใช้ทรัพยากรเพื่อการท่องเที่ยวกลับเพิ่มบทบาทมากขึ้น จนชาวภูเก็ตเองเริ่มมองเห็นปัญหาอันเกิดจากการท่องเที่ยวที่กำลังทำลายสภาพแวดล้อมทั้งจากกลุ่มผู้ลงทุนภายในและกลุ่มผู้ลงทุนข้ามชาติ
 ในปี พ.ศ. 2531 เกิดกรณีต่อต้านโครงการขอเช่าที่ดิน 2,800 ไร่ บริเวณท่าฉัตรไชยเพื่อทำรีสอร์ท หรือที่ชาวภูเก็ตเรียกว่าโครงการ “แรพพา พอร์ต” ทั้งนี้เพราะชาวภูเก็ตเห็นว่าพื้นที่บริเวณท่าฉัตรไชยควรเป็นพื้นที่อนุรักษ์ฯ เนื่องจากที่ผ่านมาธุรกิจท่องเที่ยวในภูเก็ตได้ทำลายธรรมชาติ ชายหาดและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ไปมากแล้ว
 นากจากบทบาทการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของชาวภูเก็ตดังกล่าวมาแล้วนั้น ยังมีบทบาทของชาวภูเก็ตในระดับท้องถิ่นอันเกิดมาจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมเฉพาะท้องที่ ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนที่ขาดการควบคุม ดังเช่น กรณีการขยายตัวของธุรกิจเพาะเลี้ยงชายฝั่ง ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพป่าชายเลน จนเกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ลงทุนกับชาวบ้านในท้องถิ่นบางพื้นที่สามารถยุติกรณีขัดแย้งลงได้ระดับหนึ่งบางพื้นที่ยังคงความขัดแย้งอยู่จนปัจจุบัน
 ตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมาการรวมตัวกันเพื่อต่อต้านการบุกรุกทำลายป่าชายเลนในเขตป่าสาธารณะ และป่าสงวนเริ่มปรากฏเด่นชัดขึ้นในภูเก็ต เช่นความขัดแย้งกรณีที่องค์การสะพานปลาได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้ใช้ที่ดินซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าเลนคลองบางชีเหล้า-คลองท่าจนจนนำไปสู่การแจ้งจับแกนนำผู้ต่อต้านซึ่งเป็นชาวไทยใหม่หรือชาวเล 9 คน
 นอกจากนี้ยังมีความพยายามของชาวภูเก็ตในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อการรักษาไว้ซึ่งทรัพยากร

ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภูเก็ตโดยเฉพาะป่าชายเลน เช่น กรณีความขัดแย้งที่คลองบางลา กรณีการบุกรุกป่าชายเลนในเขตป่าสงวนแห่งชาติคลองบางโรง รวมถึงกรณีความพยายามรักษาไว้ซึ่งพื้นที่ป่าพรุในเขตตำบลไม้ขาว
 บทบาทการต่อสู้เพื่อการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของชาวภูเก็ตที่ผ่านมาดังที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ให้คงอยู่เพื่อลูกหลานชาวภูเก็ต บทบาทการต่อสู้ดังกล่าวได้ดำเนินสืบต่อกันมาอย่างไม่ขาดตอน
 ปัจจุบันปัญหาสภาพแวดล้อมในภูเก็ตอยู่ในสภาพที่น่าเป็นห่วงประกอบกับปัญหาได้เปลี่ยนแปลงจากอตุสาหกรรมอื่น ๆ ที่ชาวภูเก็ตไม่เห็นด้วยมาตลอด กลายมาเป็นการท่องเที่ยวที่ชาวภูเก็ตต้องการเป็นตัวทำลายสิ่งแวดล้อมภูเก็ตเอง เพราะปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมักเกิดจากการท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ เช่นการก่อสร้างโรงแรมขนาดใหญ่ตามชายหาด การระบายของเสียลงสู่ทะเล การบุกรุกที่สาธารณะเพื่อการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างรวดเร็วและขากการวางแผนอย่างจริงจัง จนอาจกล่าวได้ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้เป็นผู้ทำลายสิ่งแวดล้อมเสียเอง และเป็นที่น่าเป็นห่วงเพราะการท่องเที่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่ดีย่อมเป็นสิ่งคู่กันหากขาดการดูแลจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีย่อมส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของภูเก็ตต้องพบจุดจบในที่สุด
 การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของชาวภูเก็ตในขณะนี้ จำเป็นต้องมีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ของชาวภูเก็ตอย่างแท้จริงมากกว่า เพื่อการท่องเที่ยวที่มีผู้ประกอบการจากภายนอกเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์เพียงกลุ่มเดียว ชาวภูเก็ตจำเป็นต้องมีส่วนรับรู้ในแนวทางการพัฒนาภูเก็ตทั้งในด้านข้อมูลข่าวสาร  การมีส่วนแสดงความเห็น รัฐต้องรับฟังข้อมูลและความเห็นของประชาชน เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลของท้องถิ่นการให้ความรู้แก่ชุมชน มากกว่าให้อำนาจการตัดสินใจตกอยู่กับกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยที่ชาวภูเก็ตส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสและถูกปล่อยให้เป็นผู้ตามโดยไม่เห็นอนาคตที่ชัดเจนของตัวเอง จนในที่สุดความรู้สึกรักและหวงแหนในแผ่นดินจะเลือนหายไปเหลือแต่ความรู้สึกว่าแผ่นดินนี้ไม่มีประโยชน์คุ้มค่ากับการ
ต่อสู้อีกต่อไป.

 

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้296
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1738
mod_vvisit_counterทั้งหมด10706779