Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
เพลงในจุฬาตรีคูณ PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
จันทร์, 25 เมษายน 2011

 

เนื้อเพลงใน จุฬาตรีคูณ

 

จุฬาตรีคูณ : ดนตรี

จุฬาตรีคูณ : นันทิดา แก้วบัวสาย; มัณฑณา โมรากุล

จุฬาตรีคูณ : ศรันยา ส่งเสริมสวัสดิ์

จ้าวไม่มีศาล : วินัย จุลบุษปะ

ใต้ร่มมลุลี : วินัย - เพ็ญศรี;  ใต้ร่มมลุลี : ศรันย่า ส่งเสริมสวัสดิ์

อ้อมกอดพี่ : เอื้อ สุนทรสนาน

ปองใจรัก : ปนัดดา เรืองวุฒิ : อั๋น ภูวนาท


ภาพจาก สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม พิมพ์ครั้งที่ 15

ชื่อเรื่อง : จุฬาตรีคูณ

ผู้เขียน : พนมเทียน

ความชอบ : 4 ดาว



อริยวรรต จอมกษัตริย์แห่งมคธ ต้องการรวมแผ่นดินชมพูทวีปให้เป็นหนึ่ง ด้วยคำอ้างว่าเพื่อรวบรวมเผ่าพันธุ์มคธที่แตกสานซ่านเซ็นกันไปในครั้งศึก อารยัน หลายต่อหลายอาณาจักรที่ยาตราทัพผ่านและมีชัยเหนือแผ่นดินเหล่านั้น จนเมื่อยกทัพมาหยุดยั้งตรงริมฝั่งแม่น้ำคงคา เพื่อข้ามไปยังกรุงพาราณสี ราตรีนั้นอริยวรรตได้นิมิตเห็นนางงามผู้หนึ่งสะอื้นไห้ด้วยชิงชังในความงาม ของนางเอง ด้วยความรุ่มร้อนอยากค้นหานางในฝันและต้องการรู้ว่าทำไมนางจึงต้องการเช่น นั้น จึงให้เลิกทัพแล้วชักชวนขัตติยะราเชนทร์พระอนุชา ข้ามฝั่งนทีเพื่อตามหานางในฝัน แต่ด้วยเหตุที่รู้ว่าเป็นลางร้ายขัตติยะจึงเพียรขัดขวางแนะนำให้กลับไป อภิเษกกับเจ้าหญิงอาภัสราพระคู่หมั้น แม้ว่าตนเองจะผูกสมัครรักใคร่อยู่กับนาง แต่เป็นเพราะพระราชบิดาทรงจัดการหมั้นหมายให้ก่อนจะสวรรคต อริยวรรตทรงทราบพระทัยของคู่รักดี และคิดจะให้ทั้งคู่อุปภิเษกกัน แต่ขัตติยะราเชนทร์ทรงปฎิเสธ

อริยวรรตตั้งพระทัยมั่นที่จะตามหานางในฝันให้ได้ ทำให้ขัตติยะราเชนทร์จำยอมปลอมเป็นกัญญะผู้มีเสียงเสนาะปานนกโกกิลา และอริยวรรตปลอมพระองค์เป็นพราหมณ์วิพาหะผู้มีจักษุเพียงข้างเดียว ทั้งสองเข้าไปถึงชานเมืองพาราณสีวันเดียวกับที่เจ้าหญิงดารารายพิลาสทรง หมั้นกับกาฬสิงหะกษัตริย์แห่งเวสาลีและเสด็จมานมัสการองค์ศิวะเทพที่เทวาลัย แถวนั้น สองสหายเมื่อทราบความก็รีบหลบเข้าข้างทางซอกซอนหาทางเข้าเทวาลัย เมื่อเทวตีนางแม่มดผู้ดูแลวิหารอัญเชิญเสด็จเจ้าหญิงเข้าสู่เทวาลัยใต้ เงื้อมผา มีแต่เหล่าพี่เลี้ยงนางกำนัลตามเสด็จเข้าไป ทันใดนั้นเกิดแผ่นดินไหวหินถล่มลงมาทับนางแม่มดและเหล่านางกำนัลตายสิ้น ส่วนเจ้าหญิงนั้นวิพาหะเข้าไปช่วยพาออกมาจากที่ทรงยืนนิ่งเพราะต้องมนต์อยู่ ได้ทัน ทำให้ทรงรอดชีวิตมาเพียงผู้เดียว จากการช่วยชีวิตของเจ้าหญิงดารารายทำให้สองสหายได้เข้าไปอยู่ในพระราชวังตาม คำเชิญของพระเจ้ากรุงพาราณสี

พราหณ์วิพาหะแฝงตัวเข้าไปพบเจ้าหญิงที่จุฬาตรีคูณซึ่งอยู่ติดกับอุทยานด้าน หลังของปราสาทที่บรรทมของนาง และแสดงรูปโฉมแท้จริง แต่ไม่ได้บอกว่าที่แท้ตนเป็นใคร ในที่สุดทั้งคู่ผูกรักสมัครใคร่ อริยวรรตได้ทราบว่าที่แท้ชนนีของดารารายพิลาสก็ถูกบังคับให้กระโจนลงสูวัง น้ำวนเบื้องล่างที่สถานจุฬาตรีคูณ การแฝงตัวของอริยรรตไม่อาจรอดพ้นหูตาของฝ่ายกาสีจึงโดยจับไปขังคุก ดารารายแอบเข้าไปปล่อยให้อริวรรตเป็นอิสระแต่ขอคำมั่นว่าจะไม่บุกแคว้นตนแต่ถูกปฎิเสธ ทำให้นางตัดสินใจตะโกนเรียกทหาร ก่อนที่อริยวรรตจะเพลี่ยงพล้ำ ขัตติยะราเชนทร์นำทหารมาช่วยทำให้หนีออกไปได้ และอริยวรรตก็พาดารารายขึ้นม้าหนีออกไปด้วย แต่ขัตติยะราเชนทร์เสียท่าโดนจับไว้แทน ทางพาราณสีเสนอให้แลกเปลี่ยนเชลย คราแรกอริยวรรตจะไม่ยอมเพราะไม่ต้องการเสียนางไป แต่จะบุกกาสีแทน ดารารายไม่ยอมเป็นคนบาปของแคว้นและตัดใจกล่าวตัดขาดกับอริยวรรตเพื่อให้ทรง ยินยอมแลกเปลี่ยนเชลย คล้อยหลังนางไปไม่นานขัตติยะราเชนทร์ก็หนีกลับมาได้แต่ไม่ทันยับยั้งการแลกเปลี่ยน

อริยวรรตเสียพระทัยที่ถูกนางตัดรอนทำให้ไม่มีพระสติทรงตัดสินพระทัยอภิเษก กับพระคู่หมั้นโดยให้พระอนุชาไปรับเจ้าหญิงอาภัสราจากมคธมาจัดพิธีอุปภิเษก กลางป่า โดยไม่ฟังคำทัดทานของใครว่าผิดโบราณราชประเพณีและเป็นลางวิบัติ หลังงานพิธีเจ้าหญิงดารารายทรงหนีจากงานอภิเษกของตัวเองมาได้ แต่กลับพบว่าอริยวรรตมีราชินีแห่งมคธไปแล้ว เจ้าหญิงทรงเสียพระทัยยิ่งนักวิ่งออกไปราวกับวิกลจริต

เมื่อรู้ว่าตนได้กลายเป็นผู้ทรยศต่อความรักของเจ้าหญิงอันเป็นที่รัก อริยวรรตทรงคลุ้มคลั่ง ยืนกรานยกทัพบุกแคว้นพาราณสีเพื่อติดตามความรัก แม้จะเสี่ยงทายต่อแม่น้ำคงคาว่าการไปครานี้คงไม่รอดชีวิตกลับมา พระอนุชาจะทรงทัดทานเพียงไรก็ไม่ฟัง กลับยกบัลลังก์แคว้นมคธให้ครอง ส่วนพระองค์เองบุกเข้าแคว้นพาราณสี เมื่อขัตติยะราเชนทร์และราชินีแห่งมคธยกทัพตามไปช่วย ก็ไม่ทันเสียแล้ว และเมื่อถามหาเจ้าหญิงดารารายจากเหล่านางกำนัล ก็ได้ทรงทราบว่านางถูกกาฬสิงหะและราษฎรทั้งอาณาจักรบังคับสู่สถานจุฬาตรีคูณ เช่นเสด็จแม่ของนาง

ความรักอภัยได้ทุกอย่าง ดังถ้อยดำรัสของ เจ้าหญิงดารารายพิลาส

"อริยวรรตผู้ทรยศของข้าฯ เอ๋ย ท่านได้มาแล้ว ยังสถานแห่งความรักนี้ มาเถิด จงมาดื่มความพิสวาสกับข้าฯ ณ ที่นี้ ด้วยว่ารักนั้นได้ให้อภัยหมดสิ้นแล้วทุกสิ่งทุกอย่าง"



บันทึกความรู้สึก

เก็บความมาจากข้อเขียนที่คุณพนมเทียนเขียนถึงคนอ่านในหนังสือ (เล่มที่มี คนละเล่มกับปกที่พิมพ์ใหม่) เพื่อประกอบว่าทำไมถึงคิดว่า เรื่องนี้เหมาะจะเป็นละครเวทีมากเพียงไร คุณพนมเทียนเขียนเรื่องนี้เมื่ออายุ 17 เป็นเรื่องแรกของนามปากกาพนมเทียน และถูกปฎิเสธการตีพิมพ์จากทุกที่ที่ไปติดต่อจนกระทั่งได้มาพบกับครูเอื้อและ ครูแก้วฟ้าแห่งวงสุนทราภรณ์ ทั้งสองท่านสนใจ ช่วยแต่งเพลงประกอบให้สอดคล้องกับเนื้อเรื่องหรือคำโต้ตอบของตัวละคร จากนั้นนำไปออกละครวิทยุทางกรมประชาสัมพันธ์ โด่งดังจนมาเป็นละครเวทีปีถัดมา

ฉากแรก เจ้าหญิงดารารายรำพึงชังความงามตัวเองที่จุฬาตรีคูณ เพลงประกอบคือ จุฬาตรีคูณ

ฉากสอง ขัตติยะราเชนทร์ร้องถามเป็นปริศนาแก่พระเชษฐาขณะปลอมแปลงตัวมาในดินแดนของศัตรู (เพลง เจ้าไม่มีศาล)

ฉากสาม เจ้าหญิงาดารารายละเมอถามอริยวรรตว่า "หม่อมฉันอยู่ไหนนี่เพคะ?" (เพลงอ้อมกอดพี่)

ฉาก สี่ ขัตติยะราเชนทร์รำพึงรำพันในคืนสุดท้าย กับเจ้าหญิงอาภัสรา (เพลงใต้ร่มมะลุลี)

ฉากสุดท้าย อริยวรรตกำลังเสี่ยงสัตย์กับสายน้ำคงคา แต่ในกระแสน้ำสายเดียวกันนั้น เจ้าหญิงดารารายได้ปลงพระชนม์ตนเอง โดยโจนลงวังวนแห่งจุฬาตรีคูณแล้วจึงกลายเป็นคำพูดโต้ตอบระหว่างอนุสติของอริ ยวรรต กับ ดวงวิญญาณของดาราราย (เพลงปองใจรัก)

เรื่องนี้เหมาะจะเป็นละครเวทีจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงประกอบเพราะขนาดนี้ แต่ตัวเนื้อเรื่องเองเป็นนิยายขนาดสั้น จึงยังไม่ได้ปูอารมณ์ของคนอ่านให้คล้อยตามไปจนถึงที่สุด ทำให้เศร้าตามไม่เต็มที่เมื่อคู่รักทั้งคู่ต้องตายจากกัน แต่สุดท้ายก็สมหวังในโลกวิญญาณ

หากใครเคยอ่าน ศิวาราตรี จุฬาตรีคูณก็แนวเดียวกัน เพียงแต่สั้นกว่ามาก สำนวนภาษาไพเราะเหมือนกัน อาจจะไม่ดีเลิศในแง่บทประพันธ์ แต่น่าทึ่งในความสามารถเมื่อดูจากอายุผู้เขียน ณ ขณะนั้น

ถ้าถามว่าชอบเรื่องนี้เพราะอะไร คงเริ่มจากเพลงก่อน ที่ทำให้อยากรู้เนื้อเรื่องและเมื่อได้อ่านก็ยิ่งทึ่งในความสอดคล้องของ เนื้อเรื่องกับเนื้อร้องภาษาแทบไม่ต้องพูดถึง เพียงแต่ความสั้นของเรื่องทำให้ไม่ได้ลงรายละเอียดในหลายๆ ส่วนไป

และอีกเหตุผลคือ อยากรู้ว่าจุฬาตรีคูณในเรื่องคืออะไร ตามเนื้อเรื่อง จุฬาตรีคูณคือที่ที่แม่น้ำยมุนาและคงคาไหลมาบรรจบกัน แต่เชื่อว่ามีแม่น้ำสายที่สามที่มองเห็นได้ในคืนเดือนมืด คือแม่น้ำคงคาที่ไหลมาจากสวรรค์ (ทางช้างเผือก หรือความจริงคือแม่น้ำสุรัสวดีที่ไหล มาจากใต้ดิน) ทำให้จุดที่แม่น้ำสามสายมารวมกันเกิดวังน้ำวน เรียกว่า จุฬาตรีคูณ และเป็นสถานที่ซึ่งดารารายผู้เป็นพระชนนีและดารารายพิลาสพระราชธิดาฝากพระชนม์ชีพไว้เพราะความรัก

http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=mint-tea&month=03-10-2009&group=7&gblog=2

 

Posted by ลูกเสือหมายเลข9 , ผู้อ่าน : 2277 , 00:48:24 น.  
หมวด : วรรณกรรม/กาพย์กลอน

พิมพ์หน้านี้
โหวต 0 คน

        “อริยวรรตผู้ทรยศของข้าฯ เอ๋ย ท่านได้มาแล้ว ยังสถานแห่งความรักนี้ มาเถิด จงมาดื่มความพิสวาสกับข้าฯ ณ ที่นี้ ด้วยรักนั้นได้ให้อภัยหมดสิ้นแล้วทุกสิ่งทุกอย่าง”
       นี่คือ"บทสรุป" อมตะจินตนิยายไทยเรื่อง “จุฬาตรีคูณ” ที่นักอ่านซาบซึ้งตรึงจิต จากพรรณนาโวหาร บรรยายโวหาร บทสนทนา และโครงเรื่องที่ดำเนินเรื่องรวดเร็ว มิอาจรั้งรอให้ “ความรัก” ระหว่าง อริยวรรต-ดารารายพิลาส นิ่งเฉยอยู่ไย
       "จุฬาตรีคูณ"เป็นผลงานขอม พนมเทียน ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2540

       เป็นเรื่องราวของ"ดารารายพิลาส" หญิงสาวผู้เลอโฉม เห็นพราหมณ์เฒ่าแปลงกายเป็น "อริยวรรต" ต่างหลงรักซึ่งกันและกัน ต่างคนต่างถือคำสัตย์มั่น เมื่ออริยวรรต ให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่เปลี่ยนแปรหัวใจไปจากนาง วันใดเขาตระบัดสัตย์ ขอให้วิบัติมีอันเป็นไปแล้ว ชีวิตแห่งกรรมนำพาให้อริยวรรตเป็นผู้ทรยศคำสบานนั้น
        เมื่อความรักกลายเป็นคำสาปแช่ง ดารารายพิลาศผู้ยึดมั่นพลันต้องเจ็บปวด

       "จุฬาตรีคูณ" เคยถูกสร้างเป็นภาพยนตร์มาหลายครั้ง และมีเพลงไพเราะด้วยกันหลายเพลงที่ล้วนแต่เป็นบทเพลงอมตะมาจนถึงทุกวันนี้ เช่น จุฬาตรีคูณ ร่มมลุลี ปองใจรัก จ้าวไม่มีศาล

       จุฬาตรีคูณ คือการรวมของแม่น้ำ 3 สายอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีผู้ศรัทธาเดินทางไปเพื่อให้ได้อาบ ได้กินและนำน้ำนั้นกลับมาเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อว่าจะสมปรารถนาในสิ่งที่ตั้งเอาไว้
       น่าแปลกที่เพลง"จุฬาตรีคูณ"ครูแก้ว อัจฉริยะกุล ประพันธ์คำร้องทั้งที่ไม่เคยได้ย่างกรายไปถึงจุดสังคัมหรือจุฬาตรีคูณนั้นเลย

       ตำนานของ"จุฬาตรีคูณ" เกิดขึ้นเมื่อ"พนมเทียน" หรือฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ ชาวอ.สายบุรี จ.ปัตตานี
        พนมเทียน เริ่มเรียนหนังสือเมื่ออายุ 5 ขวบที่โรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ จากนั้นย้ายไปเรียนที่โรงเรียนประสานอักษร และโรงเรียนวันรับสิน จบชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2484 และเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนวัดสุทธิวนาราม จบชั้นมัธยมปีที่ 6 เมื่อ
       พ.ศ. 2489 เข้าเรียนต่อในชั้นเตรียมอักษรศาสตร์ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จบการศึกษาปี พ.ศ. 2492 และเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนพลตำรวจระยะหนึ่ง จากนั้นเข้าทำงานเป็นเลขานุการที่บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลแอสชัวร์รันซ์ จนถึง พ.ศ. 2494 ลาออกแล้วดินทางไปศึกษาวิชาสันสกฤต ที่คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยบอมเบย์ ประเทศอินเดีย จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2498

       พนมเทียนเริ่มอ่านหนังสือมาตั้งแต่อายุ 7 ขวบ และเมื่ออายุ 12 ขวบ ต้องหนีภียจากสงครามโลกครั้งที่สองไปพักอาศัย ณ บ้านต้นตระกูลวิเศษสุวรรณภูมิ ซึ่งสะสมหนังสือไว้มากมาย ทำให้ได้เริ่มอ่านหนังสือวรรณคดีของไทย รามเกียรติ์ พระอภัยมณี ฯลฯ อ่านจนกระทั่งเกิดความอยากเขียนหนังสือของตนเองบ้าง
       เมื่ออายุได้ 16 ปีขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 6 โรงเรียนวัดสุทธิวนาราม พนมเทียนเริ่มเขียนนวนิยายเรื่องแรก คือ"เห่าดง" โดยเขียนต้นฉบับไว้ในสมุดจดวิชาประวัติศาสตร์ให้เพื่อนๆอ่านเล่น ต่อมาอีกหนึ่งปีก็เริ่มเขียนนวนิยาย จุฬาตรีคูณ
       พนมเทียนได้นำต้นฉบับ"จุฬาตรีคูณ" ไปเสนอขายตามสำนักพิมพ์ต่างๆ แต่เนื่องจากเป็นนักเขียนหน้าใหม่ที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก ทุกสำนักพิมพ์จึงปฎิเสธ บรรณาธิการบางคนแนะนำให้เขียนเรื่องสั้น แต่เมื่อพนมเทียนเขียนเรื่องสั้นไปให้พิจารณาก็ ถูกปฎิเสธอีกครั้ง แต่ก็ไม่ทำให้เขาท้อแท้ กลับมุมานะเขียนเรื่องส่งไปยังสำนักพิมพ์ต่างๆสม่ำเสมอ
       กระทั่งวันหนึ่ง พนมเทียนได้นำต้นฉบับนวนิยายเรื่อง"จุฬาตรีคูณ" ไปเสนอครูแก้ว อัจฉริยะกุล หรือ "แก้วฟ้า" ราชาละครวิทยุในขณะนั้น เมื่อครูแก้วได้อ่านแล้วชอบใจจึงทำเป็นละครวิทยุ ให้ครูเอื้อ สุนทรสนาน จากคณะสุนทราภรณ์ช่วยแต่งเพลงประกอบเรื่อง ทำเป็นละครวิทยุ ทำให้จุฬาตรีคูณเป็นที่รู้จักของผู้ฟังจำนวนมาก
       ปี 2492 ครูแก้วได้นำนวนิยายเรื่องจุฬาตรีคูณ มาทำเป็นละครเวที แสดงที่ศาลาเฉลิมไทย โดยคณะลูกไทย ทำให้ชื่อ แก้วฟ้า-พนมเทียนมีชื่อเสียงขึ้นมา (ละครเวทีจุฬาตรีคูณ ใช้ชื่อแก้วฟ้า-พนมเทียนเพราะ แก้วฟ้านำมาทำเป็นบทละคร ส่วนพนมเทียนเป็นผู้ประพันธ์) แต่คนทั่วไปก็ยังไม่รู้จักพนมเทียนมากนัก
       กระทั่งเมื่อ"พนมเทียน"เป็นที่รู้จัก ผลงานเรื่องแรกที่เขียนไว้คือ"เห่าดง"ก็ได้รับการพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์เพลินจิตต์รายวัน จากนั้นจากนั้นก็มีผลงานอื่นๆตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เช่น เพลินจิตต์ เดลิเมล์ สยามสมัย นพเก้า สายฝน ศรีสยาม จักรวาล บางกอก สกุลไทย สตรีสาร ฯลฯ
       นวนิยายของพนมเทียน ได้รับการกล่าวถึงและวิพากษ์วิจารณ์อยู่เสมอ เรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ เล็บครุฑ ศิวาราตรี และเพชรพระอุมา ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการชมหรือการตำหนิ "พนมเทียน"จะถือว่าคำวิจารณ์ทั้งหมดคือครูที่ดีและเป็นเหมือนกระจกส่องให้เห็นจุดต่างๆในผลงานของตน และเป็นสิ่งชี้ให้เห็นว่าเจ้าของบทประพันธ์เรื่องที่ถูกวิจารณ์นั้นได้รับความสำเร็จในการเขียนหนังสือ เพราะนวนิยายที่ไม่ได้รับการกล่าวขวัญเลย ก็หมายถึงงานที่ไม่แพร่หลายและไม่มีใครรู้จัก

อ้างอิงจาก
1. ประวัตินักเขียนไทย ล.2 กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์กรมศิลปากร
2. ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2540
3. เงามายา ป. บุนนาค
4. บทสัมภาษณ์จาก นิตยสารขวัญเรือน

http://www.oknation.net/blog/chai/2007/08/30/entry-2

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( พุธ, 27 เมษายน 2011 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้1266
mod_vvisit_counterเมื่อวาน2782
mod_vvisit_counterทั้งหมด10710531