Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
ลิเกป่า ลิเกรำมะนา PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พุธ, 06 กุมภาพันธ์ 2008

ลิเกป่า

ผศ.สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์

------------------------- 


 ชาวภูเก็ต เรียก ลิเกป่า ว่า ยี่เกรำมะนา เป็นการละเล่นพื้นบ้านนานมาแล้ว แต่ไม่สามารถหาหลักฐานได้แน่ชัดว่านานเท่าใด ปัจจุบัน ยี่เกรำมะนา กำลังจะสูญหายไปจากท้องถิ่นจนแทบจะหาดูไม่ได้อีกแล้ว เนื่องจากเยาวชนรุ่นหลัง ไม่ให้ความสำคัญและความสนใจในศิลปะการร่ายรำแขนงนี้

ประวัติความเป็นมาและวิวัฒนาการของยี่เกรำมะนา


 ประสิทธิ ชิณการณ์ สันนิษฐานว่ายี่เกรำมะนา มีต้นกำเนิดมาจากเกาะชวา ทั้งนี้สังเกตจากลีลาการการเต้นและการรำของตัวละครของลิเกรำมะนา มีแนวโน้มไปทางชวามากกว่าของไทย เช่นการเต้นของตัวละครที่แสดงเป็น “แขก” ซึ่งเป็นตัวเอกของยี่เกและการร่ายรำของตัว “อาจิ” ซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่อง


 เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบในการแสดงยี่เกรำมะนา ได้แก่ กลองรำมะนา ฆ้อง กรับ ฉิ่งฉับ ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีของปักษ์ใต้ในแหลมมลายูโดยเฉพาะ บางครั้งก็มี ปี่ ขลุ่ย และซอด้วง

 วิวัฒนาการของยี่เกรำมะนา แรกเริ่มคงจะแสดงเป็นภาษาชวา แล้วค่อย ๆ ปรับตัวเองเข้าเป็นภาษาไทย แต่ยังคงต้นแบบในการเต้นและการขับร้องบางบทบางตอนไว้ในรูปเดิม คือ ภาษายาวี โดยเฉพาะตัวที่แสดงเป็น “แขก”


 ผู้ที่นำยี่เกรำมะนา เข้ามาสู่เกาะภูเก็ต เข้าใจว่าเป็นกัปตันฟรานซิส ไลท์ ซึ่งเป็นนายทหารนอกราชการของอังกฤษมาเดินเรือค้าขายระหว่างเมืองโคลัมโบ เบงกอล ตะนาวศรี เกาะถลาง ไทรบุรี และเกาะสุมาตรา เมื่อคริสตศตวรรษที่ ๑๘ จนมีความสนิทสนมกับเจ้าพระยาถลางในยุคนั้นมากจนกระทั่งมาแต่งงานกับสุภาพสตรีชาวตะกั่วทุ่ง ต่อมากัปตันฟรานซิส ไลท์ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากสมเด็จพระเจ้าตากสิน เป็นที่หลวงยอดอาวุธ เจ้าเมืองปีนัง และได้รับเลื่อนเป็นพระยาราชกปิตัน ในรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อกัปตันฟรานซิส ไลท์ มาเกาะภูเก็ตคงจะนำเอาศิลปะการแสดงยี่เกรำมะนามาเผยแพร่ โดยตอนแรก ๆ ก็ขับร้องตามภาษาดั้งเดิมและค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นภาษาไทยมากขึ้น แต่เนื่องจากครูเดิมของยี่เกรำมะนาเป็นแขก คนไทยที่รับช่วงศิลปะประเภทนี้มาจึงไม่ทอดทิ้งเค้าโครงเดิม คือต้องวางวิธีการแสดงทั้งหมดที่จะดำเนินตลอดไปนั้น แสดงโดยแขกเจ้าเก่าทั้งสิ้นเรื่องราวต่าง ๆ ที่ยี่เกรำมะนานำมาแสดงในสมัยดั้งเดิมนั้น สันนิษฐานว่าคงจะเป็นเรื่องนิทานต่าง ๆ ของชวาและเรื่องรามเกียรติ์ อันเป็นนิยายดั้งเดิมของดินแดนคาบสมุทรอินเดีย ซึ่งประเทศอินเดีย พม่า ไทย เขมร และอินโดนีเซีย ต่างก็ตกอยู่ในอิทธิพลของวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ทั้งสิ้น ต่อมาก็ค่อยเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ตามความต้องการของผู้แสดงและผู้ชม


วิธีเล่นยี่เกรำมะนา


 ยี่เกรำมะนาจะเริ่มเรื่องจับตอนฝรั่ง (คือตัวแขกแดง) มาสู่เมืองไทย รับภรรยา (อาจิ) ลงเรือล่องไปตามทะเลหลวงแล้วเป็นอันจบรายการยี่เกรำมะนา  ถัดจากนั้นไปจะเล่นเรื่องสุวรรณหงส์ มโนราห์ หรือพระรามรบทศกัณฐ์ ก็แล้วแต่ผู้ชมจะขอร้อง  สำหรับผู้ร่วมแสดงยี่เกรำมะนาทุกคนมักจะร้องลำขับของยี่เกรำมะนาได้ด้วย เสมือนหนึ่งว่าการแสดงประเภทนี้จะเป็นการร่วมกันระหว่างผู้ชมกับผู้แสดง โดยไม่จำกัดจำนวน แต่จะมีตัวเอกที่สำคัญอยู่ ๔ ตัว คือ


 ๑. ตัวออกแขก เรียกว่า เทศ
 ๒. ตัวยายี เรียกว่า ตัวที่เป็นเมียแขก
 ๓. เจ้าเมือง
 ๔. เสนา


ขั้นตอนในการแสดงยี่เกรำมะนา


 ๑. ขั้นออกเทศ  มีการโหมโรงก่อนประมาณ ๓๐ นาที หลังจากโหมโรงเสร็จก็จะมีการขึ้นต้นบทรับ เพื่อประกาศให้รู้ว่าต่อไปนี้จะเริ่มรายการแสดงแล้ว
 ขั้นที่ ๑. จะมีการขับบอกบท
 ขั้นที่ ๒. ขั้นไหว้ครู
 ขั้นที่ ๓. ขั้นเตรียมออกเทศ จะมีการขับเพลงวงก่อน คือเพลงที่ใช้สำหรับโหมโรงก่อนที่จะเปิดการแสดง โดยให้ผู้ที่แสดงมานั่งร้องขับเพลงสลับกันไปทีละคน ไปจนครบตามจำนวนพอเหมาะ หลังจากจบเพลงวงแล้ว เทศก็ออก เมื่อเทศออก คนที่ร้องเพลงวงทุกคน ก็เตรียมตัวที่จะไปแสดง
 ขั้นที่ ๔. เรียกว่า ขั้นเริ่มแสดง แบบปรายหน้าบทเทศ หรือบทโหมโรง เพื่อบอกให้ผู้ชมทราบว่า เทศมาแล้วและจะนำรายการแสดงต่าง ๆ มาสู่ผู้ชม ซึ่งมีอยู่ถึง ๑๒ ชุด หรือ ๑๒ บท ส่วนจะแสดงชุดใด แขกก็จะบอกเป็นการเกริ่นเรื่อง ดังนี้


 ชุดที่ ๑. จะบอกให้แจ้ง เล่นเรื่อง แขกแดงรดน้ำมนต์ออกมาเที่ยวเล่น เต้น ๆ รน ๆ จะบอกให้คนทั้งหลายเข้าใจ(ลูกคู่รับ)


 ชุดที่ ๒. แขกแดงเสงี่ยม เล่นตามธรรมเนียมแต่เก่าก่อน ไม่ปลิ้นไม่ปล้น ไม่หลอกไม่หลอน ไม่ใช่เอากลอนของใครมาว่า


 ชุดที่ ๓ ยังไม่งามดีที่แขกคนนี้ออกมารำเทียน ผู้คนทั้งหลายอย่าได้ติเตียน ที่แขก รำเทียนผุดขึ้นมาใหม่


 ชุดที่ ๔ ยังมีบังกาหลี ออกมาเที่ยวเต้นเล่นรำทำท่า บรรดาที่มา ผมบอกให้เข้าใจ


 ชุดที่ ๕ พม่ามายืนยาวหนุ่มๆ สาว ๆ แสแรแท้ ยังมีนางรูปสวย อยู่ด้วยพ่อแม่ ให้คนไปแลมีผัวสองคน


 ชุดที่ ๖ ตกที่เม้ยเจิง เป็นเมียมะเทิ่งงามสภา ไปขายแป้งน้ำมันขยันนักหนา พญาน้อยมาพาตัวนางไป


 ชุดที่ ๗ สุวรรณหงส์ ถูกต้องหอกยนต์ มาม้วยบรรลัย ฝ่ายข้างพ่อตา มาใช้เสนาใน ให้พาตัวไปทิ้งลงในนที


 ชุดที่ ๘ แม่ทรามสงวน ห่มแพรสีนวลเดินลอยหน้า นางชื่อสาวน้อย แม่สร้อยระย้า มีวาสนาได้ผัวลิเก


 ชุดที่ ๙ ผมจะเล่ายุบล   เมื่อพระศรีสุธนเที่ยวตามแม่นางมโนราห์ มาพักอยู่ใต้ต้นพฤกษา แล้วขึ้นไปหาพญาอินทรีย์


 ชุดที่ ๑๐ ผมประดิษฐ์ให้ฟัง ยังมีนายฝรั่งสร้างแต่งเรือรบ เที่ยวจบลาดตระเวนน้อยหรือเจนจบ เรือรบมีพวงมาลัย


 ชุดที่ ๑๑ เล่นเบ็ดเตล็ด เล่าเรื่องนายทุน เป็นคนสำคัญ พาลูกจรจรัลไปให้ลิงไพร


 ชุดที่ ๑๒ บอกพี่น้อง ผมต้องขอลา พาแม่ยายีแม่ศรีสุดไปลงนาวากลับไปเมืองไกล.........  ครบ ๑๒ ชุดพออุดม เล่าแต่เนื้อความไปตามนิยม ขอให้งามสม คนได้แจ้งใจเอย


 ขั้นที่ ๕. ขั้นแสดงเรื่องหลังจากที่ออกเทศเป็นการเสร็จเรียบร้อย ก็จะแสดงไปตามเนื้อเรื่องในชุดหนึ่งชุดใดใน ๑๒ ชุด หรือผูกเรื่องขึ้นแสดง โดยไม่เอาใน ๑๒ ชุดก็ได้ สุดแต่ผู้แสดงจะตกลงกันแสดงเรื่องอะไร


สถานที่การแสดงของยี่เกรำมะนา


 การแสดงยี่เกรำมะนา จัดแสดงได้ทั้งบนเวที พื้นดิน โดยใช้ขนาดโรงประมาณ ๔X๔ เมตร ภายในตัวโรงจัดทำห้องไว้สำหรับผู้แสดงอยู่ เพื่อเตรียมการแสดงเหมือนกับมโนราห์อยู่หลังม่าน แต่ยี่เกรำมะนา ไม่มีม่าน ไม่มีระบาย ไว้เป็นที่หลบซ่อนของผู้แสดง ผู้แสดงจึงอยู่ภายในม่าน


จำนวนคนแสดงและคนร่วมคณะ


 จำนวนคนแสดงและคนร่วมคณะ แยกเป็น ๒ พวก คือ พวกแสดงกับพวกดนตรี  สำหรับตัวแสดงก็จะแสดงไปตามบทบาท แต่ถ้าคนใดในขณะที่กำลังแสดงไม่ถึงคิวที่จะแสดง ก็ไปนั่งตีเครื่องดนตรีประกอบการแสดง พอถึงคิวแสดงก็ลุกขึ้นมาแสดงต่อตามท้องเรื่องที่กำหนดให้ โดยสับเปลี่ยนกับผู้ที่หมดคิวแสดงในบทตอนนั้น และทำการเช่นนี้สลับกันไป ดังนั้นในยี่เก ๑ คณะ ไม่จำเป็นต้องมีคนมาก ๆ คณะหนึ่งมีประมาณ ๕-๘ คน หรือ ๘-๑๒ คน ก็เพียงพอสำหรับการแสดง เพราะทุกคนมีความสามารถแสดงได้ทุกบทบาท ไม่ว่าในกรณีที่จะเป็นนักดนตรีหรือจะเป็นนักแสดง ผู้แสดงยี่เกป่าจะต้องมีความสามารถทำได้ทั้งสองอย่างในคณะนักแสดงมักจะเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง การใช้ตัวแสดงในบางครั้ง ใช้ผู้ชายแทนผู้หญิง


เครื่องดนตรี


 ใช้สำหรับบอกจังหวะมีอยู่ ๒ อย่าง คือ
 ๑. รำมะนา  ๓ ใบ
 ๒. ฆ้อง  ๑ ใบ


การแต่งตัวของยี่เกรำมะนา


 แต่งตัวไปตามบทบาทที่ถูกกำหนดขึ้นไปตามท้องเรื่อง เช่น ตัวพระก็จะต้องใส่มงกุฎ ตัวอื่น ๆ ก็แต่งไปตามสภาพสมจริง เท่าที่จัดเครื่องแต่งกายได้ ถ้าหากสมมุติเป็นสัตว์ก็ใช้เสียงและท่าทางลักษณะของสัตว์นั้น ๆ

สำนวนและบทขับร้อง


 สำนวนและบทขับร้องที่ใช้ในการขับบทแสดงมี ๒ ลักษณะ คือ บทร้อง และ บทเจรจา บทร้องส่วนมากใช้เป็นการบรรยายเรื่อง และพรรณนาความ ใช้วิธีนำคำมาผูกเป็นคำสำนวน คล้องจองมากกว่าการผูกเป็นบทกลอน ส่วนใหญ่ทำนองการร้องมีลักษณะไปในเชิงบทร้องเพลง การผูกบทไม่สามารถบอกได้ว่าใช้คำกาพย์กลอนแบบใด เพราะการผูกบทกลอนไม่มีแบบแผนที่ตายตัว บทร้องจึงขับร้องไปตามบทที่ตนแสดง


 การเล่นยี่เกรำมะนา สมัยเริ่มแรกจะใช้ปฏิภาณในการขับร้องลำยี่เก เช่นเดียวกับมโนราห์ที่ใช้ปฏิภาณ หรือ “มุตโต” (วุตโตทัย) ดังนั้นบทคำร้องของยี่เกรำมะนาจึงไม่มีการจดบันทึกเพื่อการถ่ายทอดไว้แก่ชนรุ่นหลัง


 ตัวละครที่เล่นเป็น “แขกแดง” และ “อาจิ” ซึ่งเป็นตัวพระ ตัวนาง ในยี่เกรำมะนานั้นจะต้องมีปฏิภาณในการขับร้องมาก เพราะทั้งคู่จะต้องขับร้องโต้ตอบกันเป็นเวลานานด้วยการซักถามข้อสงสัย และชี้ชวนชมนกชมไม้ ชมเดือนชมดาว ระหว่างเดินทางออกทะเลหลวงเรื่อยไป จนกว่าจะถึงเมืองกัลกัตตา หรือสิงหะปุระ (สิงคโปร์) ปัญหาใดที่อาจิถามแล้วอาบัง (แขกแดง) ตอบไม่ได้ คนดูก็หัวเราะว่าแขกแดงแพ้อาจิ หรือเมื่อแขกแดงตอบปัญหาแรกตกไปแล้ว อาจิคิดถามปัญหาใหม่ไม่ทันต้องร้องซ้ำบทเดิมอีกครั้งหนึ่ง คนดูหัวเราะว่าอาจิแพ้อาบัง


 บทร้องยี่เกรำมะนา จะมีลีลาการขับร้องหลายแบบนับตั้งแต่บทโหมโรง บทไหว้ครู บทกราวหน้าพาทย์ บทออกแขก บทเกี้ยวพาราสี บทชมธรรมชาติและบทซักถาม ซึ่งแต่ละบทแต่ละทำนองก็มีความไพเราะในลีลาการขับร้องที่ไม่ซ้ำกัน ควรแก่การอนุรักษ์และเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

 

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้1315
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1738
mod_vvisit_counterทั้งหมด10707798