Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
รำวงในภูเก็ต PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พุธ, 06 กุมภาพันธ์ 2008

รำวง

สุเชาว์ พงศานนท์

------------------ 

ความเป็นมา


 ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๕ - ๒๔๙๖ รำวงคณะแรกที่มีสถานที่ตั้งเป็นการถาวร ได้เกิดขึ้นบริเวณโรงไฟฟ้าถนนถลางในปัจจุบัน ชื่อ คณะศรีภูพิงค์ ต่อมาก็มี คณะแม่จ๋า บริเวณโรงภาพยนตร์เพิร์ลในปัจจุบัน หลังจากนั้นก็มีคณะรำวงเกิดขึ้นบนถนนหลายสายในเมืองภูเก็ต แต่ละคณะมีสาวรำวง หรือ นางรำ หลายสิบคน เคยมีระยะหนึ่งที่บางคณะมีถึงร้อยกว่าคน
 คณะรำวงที่ภูเก็ต จะแตกต่างจากคณะรำวงที่อื่นก็คือ ที่นี่จะเปิดบริการให้ความบันเทิงแก่แขกทุกคืนตลอดปีไม่มีวันหยุด มีสถานที่ตั้งถาวรมั่นคง อยู่ประจำที่ไม่ได้ย้ายไปไหนเหมือนบางจังหวัดที่เป็นการรวมตัวกันเป็นครั้งคราวตามวาระงานเทศกาลหรือเร่เดินสายไปตามสถานที่ต่าง ๆ ไม่ได้ตั้งคณะอยู่กับที่
 นับจากปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมา จังหวัดภูเก็ตมีคณะรำวงที่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปคือ
๑. คณะเจริญศิลป์ บริเวณถนนมนตรี ปัจจุบันเป็นธนาคารทหารไทย
๒. คณะพรศิลป์ ซอยตลิ่งชัน ข้างโรงภาพยนตร์เริงจิต
 ๓. คณะบัวหลวง ซอยภูธร ถนนบางกอก
 ๔. คณะบัวหลวง ถนนพูนผล
 ๕. คณะหนูจ๋า ถนนถลาง หลังศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลเมืองภูเก็ต
 ๖. คณะศรีภูเก็ต ใกล้โรงแรมเมโทรโปล วงเวียนหอนาฬิกา


 ปัจจุบัน พ.ศ.๒๕๔๑ คณะที่ ๑-๔ เลิกกิจการไปแล้ว คณะที่ ๕-๖ ยังดำเนินกิจการอยู่


 สาวรำวงเมืองภูเก็ต ส่วนมากมาจากภาคเหนือ เช่น ลำพูน พิจิตร เชียงราย เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก มีส่วนน้อยที่มาจากภาคใต้ เช่น ชุมพร และ สงขลา


 เจ้าของคณะรำวงจะให้คนไปติดต่อสาว ๆ จากภาคเหนือมาเป็นสาวรำวง โดยการทำสัญญากันกับผู้ปกครองของเด็กสาวที่สมัครใจจะมาเป็นสาวรำวง สาวรำวงทุกคนจะได้รับเงินเดือนเป็นประจำทุกเดือน ที่พักของสาวรำวง คือบริเวณด้านหลังของโรงรำวง บางคณะมีบ้านพักอยู่อีกที่หนึ่ง เวลาจะเดินทางมาแสดงจะใช้รถสองแถวไม้คันใหญ่แบบภูเก็ตขนไปขนกลับกันทุกคืน
การแต่งกายของสาวรำวง


 สาวรำวงทุกคณะนิยมแต่งกายด้วย เสื้อ กระโปรง สีเดียวกัน โดยหมุนเปลี่ยนกันไปตามสีของวัน เช่นวันจันทร์ สีเหลือง วันอังคารสีชมพู เป็นต้น
 ในยุคแรก เสื้อผ้าจะมีแขนพวงที่หัวไหล่ และกระโปรงยาวเกือบถึงพื้น ต่อมาเปลี่ยนเป็นเสื้อไม่มีแขน และกระโปรงสั้นเลยเข่าขึ้นไปเหมือนปัจจุบันนี้


ลักษณะอาคารโรงรำวง


 โรงรำวงคณะต่าง ๆ ของภูเก็ตนิยมกั้นและมุงด้วยสังกะสี มีประตูเหล็กเป็นทางเข้า-ออก ตัวอาคารกว้างใหญ่คล้ายโรงมหรสพตามชนบทไทยทั่ว ๆ ไป
 ตรงกลางโรงรำวงเป็นเวทีกว้างใหญ่ใช้เนื้อที่เกือบครึ่งหนึ่งของโรงรำวงทั้งหลัง เวทีปูด้วยกระดานส่วนมากปูด้วยปูนซีเมนต์ มีเก้าอี้เหล็กพับได้วางเรียงรายเป็นรูปครึ่งวงกลม จำนวนเก้าอี้จะมีเท่ากับจำนวนของสาวรำวง ด้านหลังเป็นที่ตั้งของเครื่องดนตรี มีนักร้องและนักดนตรีร้องและเล่นเพลงตามสมัยนิยม ทั้งเพลงลูกทุ่งไทยสากลและเพลงสากล


 บริเวณด้านล่างรอบ ๆ เวที ปูพื้นด้วยปูนซีเมนต์ มีโต๊ะ เก้าอี้ วางเรียงรายอยู่เต็มพื้นที่ของโรงรำวง แบบการจัดโต๊ะของงานเลี้ยงทั่ว ๆ ไป บริเวณเหล่านี้เป็นสถานที่ให้แขกนั่งฟังเพลง ดูสาวรำวงเต้นรำ หรือเรียกสาวรำวงมานั่งคุยด้วย


 ส่วนด้านหลังของโรงรำวงเป็นสถานที่พักของสาวรำวง ซึ่งยกพื้นขึ้นมาสูงพอสมควร สาวรำวงจะวางเครื่องนอนและอุปกรณ์ส่วนตัวประจำที่ เป็นอาณาเขตส่วนตัว ซึ่งรู้กันโดยทั่วไปว่า ตรงไหนที่ของใคร
 ด้านหลังสุด เป็นลานซักล้าง ห้องน้ำ และ ห้องส้วม


การบริการบันเทิง


 โรงรำวงของภูเก็ตเปิดบริการตั้งแต่ ๒๐.๓๐ น. ถึง ตี ๒ ของทุกคืนไม่มีวันหยุด


 เมื่อได้เวลาเปิดทำการแสดงสาวรำวงจะออกมายืนเป็นแถวเรียงรายกันเต็มเวที เป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงามมาก เพื่อทำการไหว้ครู ก่อนจะเริ่มการรำกันอย่างจริงจังด้วยเพลงต่าง ๆ ผู้ที่ต้องการขึ้นไปรำกับสาวรำวงบนเวที ต้องซื้อตั๋วจากคนขายตั๋วบริเวณมุมด้านหน้าของเวที แต่ละรอบก็จะมีคนเก็บตั๋วเดินเก็บเมื่อเพลงเริ่มต้นทุกเพลง


 ผู้ที่ไม่ชอบเต้นรำ ก็จะเลือกหาที่นั่งตามความชอบของตัวเอง นั่งฟังเพลงหรือดูสาวรำวงเต้นรำ บางคนก็จะเรียกสาวรำวงมานั่งคุยด้วย โดยคิดเวลาในการนั่งคุยเป็นชั่วโมง มีกัปตันคอยจดเวลาว่าโต๊ะไหนเริ่มมานั่งคุยกันตั้งแต่เมื่อไร เมื่อหมดชั่วโมง เด็กเดินบาร์ก็จะไปบอก ถ้าโต๊ะไหนจะต่อเวลาก็ต้องจ่ายค่าชั่วโมงเพิ่ม มีเครื่องดื่มทั้งเหล้า เบียร์ น้ำอัดลม เครื่องดื่มบำรุงกำลัง รวมทั้งบุหรี่และของขบเคี้ยว หรือกับแกล้ม สามารถเรียกหาได้โดยการสั่งกับเด็กเดินบาร์


 คนภูเก็ตเรียกสาวรำวงว่า หญิงรำวงหรือนางรำ สาวรำวงทุกคนมีหน้าที่เต้นรำกับแขกบนเวที และวงมานั่งคุยกับแขกตามโต๊ะต่าง ๆ ข้างล่างเท่านั้น ไม่มีการขายตัวหรือให้แขกพาออกไปค้างคืนข้างนอก


 สมัยแรกสาวรำวงไม่สามารถไปไหนมาไหนได้เองต้องมีคนคุมพาออกไป เช่น ดูหนัง ตัดเย็บเสื้อผ้า ทำผม หาซื้ออุปกรณ์ของใช้หรือการไปเที่ยวชายหาดต่าง ๆ เมื่ออยู่ในโรงรำวง จะถูกจำกัดอิสระภาพให้อยู่แต่ในโรงรำวง


 เมื่อมีงานเทศกาลต่าง ๆ เช่น งานปีใหม่ งานวัด งานศาลเจ้า ฯลฯ จะมีการเหมาคณะรำวงไปแสดงในงานดังกล่าวด้วย ในโรงรำวงก็ต้องปิดบริการไป บางคณะที่มีสาวรำวงจำนวนมาก ก็จะแบ่งออกเป็นสองชุด คืออยู่ที่เดิมชุดหนึ่ง ไปแสดงตามงานต่าง ๆ อีกชุดหนึ่ง ซึ่งชุดนี้จะมีจำนวนมากกว่า ลูกค้า ขาประจำ รวมทั้งแฟนของสาวรำวงต้องสอบถามกันเอาเอง  สาวรำวงที่มาจากจังหวัดต่าง ๆ จำนวนไม่น้อยที่กลายมาเป็นสะใภ้ของคนภูเก็ต จนมีลูกหลานอยู่ทั่วไปแทบทุกตำบลในจังหวัดภูเก็ต


 ปัจจุบันนี้ ปี พ.ศ.๒๕๔๑ คณะรำวงของจังหวัดภูเก็ตมีเปิดบริการอยู่เพียงสองคณะเท่านั้น ทั้งสองคณะไม่มีนักร้อง นักดนตรีแสดงสดอีกแล้ว มีแต่การเปิดเทปด้วยเครื่องเสียงที่มีเสียงดังเหมือนดิสโก้เธค สาวรำวงหรือนางรำก็มีน้อยลง ส่วนมากคนจะนิยมเรียกสาวรำวงไปนั่งคุยกันมากกว่าการเต้นรำ ผู้เต้นบางคนก็พาผู้หญิงมาเอง จับคู่เต้นรำกันเอง.

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( อาทิตย์, 26 เมษายน 2009 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้892
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1659
mod_vvisit_counterทั้งหมด10720151