Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
ไหว้เทวดา PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พุธ, 06 กุมภาพันธ์ 2008


ไหว้เทวดา

------------------------------------------------------

ผศ.อวยชัย ผกามาศ

รองหัวหน้าคณะวิชาคณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์
วิทยาลัยครูภูเก็ต
๑ เมษายน ๒๕๒๓
------------------

เทศกาลที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของชาวจีนคือเทศกาลไหว้เทวดา เป็นการไหว้เทวดาผู้ยิ่งใหญ่บนท้องฟ้าพิธีมีในวันถัดจากวันตรุษจีน ไป ๙ วัน พิธีจะเริ่มตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันที่ ๘ (โชยโป้ย) เป็นต้นไป จนรุ่งเช้าวันที่ ๙ (โช้ยเก้า) เดิมที่ประเพณีนี้มีเฉพาะชาวจีนฮกเกี้ยนเท่านั้น ต่อมาได้แพร่หลายในหมู่ชาวจีนทั่วไป เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องดีมีสิริมงคลแก่ตน ของที่ไหว้จำนวนมากน้อยแล้วแต่ฐานะของตน ของที่สำคัญได้แก่ ธูป เทียน อ้อย ทั้งต้น (มีใบด้วย) ๑ คู่ กระดาษเงิน กระดาษทอง ทั้งแผ่นใหญ่และแผ่นเล็ก กระดาษริ้ว ๑ คู่ น้ำตาลที่ทำเป็นขนมรูปสัตว์ต่าง ๆ ไก่ตอน ๑ ตัว (มีขนเสียบไว้ที่ก้น ๓ เส้น) หมี่เส้นเหลือง หมู ปู ปลาหมึก ไข่เป็ด หรือปลา รวมแล้วก็ได้ ๕ อย่าง จัดที่เดียวกัน ๒ ที่ ไข่ไก่ ๒ ที่ ที่ละ ๑๒ ฟอง ผักแห้ง ได้แก่ เห็ดหูลิง ฟองเต้าหู้ ดอกไม้จีน บะหมี่ หมี่สั่ว เห็ดแห้ง เตเลี้ยว ได้แก่ ของจับฉ่ายที่รับประทานกับชาจีน ขนมเข่ง ๒ ที่ ขนมถ้วยฟู ๒ ที่ ขนมเต่าตะขาบ (อั่งถ้าน) ขนมเต่ากลม (อั่งอี่) ขนมเต่า (อั่งกู่) อย่างละ ๒ ที่ น้ำชาพร้อมแก้ว ๙ ใบ สุราพร้อมแก้ว แตงโม ๒ ผล ส้มเขียวหวาน ๒ ที่ สับปะรด ๒ ผล กล้วยน้ำว้า ๒ หวี องุ่น ๒ ที่ ผลไม้ ๕ อย่างนี้จะจัดรวมกันเป็น ๒ ที่ก็ได้

เหตุที่ชาวจีนมีประเพณีไหว้เทวดาก็เพื่อรำลึกถึงเทวดาชื่อ องค์เตียวเทียนซือของชาวฮกเกี้ยน เพราะองค์เตียวเทียนซือเมื่อยิ่งมีชีวิตอยู่ มีความเก่งกล้าสามารถในด้านโหราศาสตร์มาก เคยทำนายทายทักชะตาบ้านเมือง และบุคคลสำคัญถูกต้องตลอด มาสิ้นชีวิตในวันที่ถัดจากวันตรุษจีนไป ๙ วัน แล้วได้ไปเกิดเป็นเทวดา ชาวฮกเกี้ยนจึงเคารพกราบไหว้ตั้งแต่นั้นมา

อีกทางหนึ่งกล่าวว่า ครั้งหนึ่งชาวมณฑลฮกเกี้ยนถูกข่มเหงรังแกจากบุคคลกลุ่มหนึ่งที่แต่งกายคล้ายทหารเที่ยวป่าวประกาศว่าจะทำการปราบโจร ที่หนีหลบซ่อนอยู่ในตำบลหนึ่งของมณฑลฮกเกี้ยน แต่ปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นเหยียบย่างเข้าไปในหมู่บ้านใดจะฆ่าข่มขืน และขโมยข้าวของเสียเองอย่างเหี้ยมโหด ประชาชนต่างอพยพหนีภัยจากบุคคลในเครื่องแบบกันจ้าละหวั่น มีชาวมณฑลฮกเกี้ยนตำบลหนึ่งหนีไปซ่อนอยู่ในไร่อ้อยขนาดใหญ่ที่ใบหนาทึบ และขออ้อนวอนเทวดาให้ช่วยคุ้มครองปกป้องภัยให้แก่ตนด้วย จะจัดพิธีกราบไหว้ให้ ปรากฏว่าชาวตำบลนั้นมิได้รับอันตรายใด ๆ เลยจริง ๆ พวกเขาจึงจัดงาน เฉลิมฉลองกราบไหว้ เป็นการขอบคุณเทวดาที่ช่วยให้ปลอดภัย วันนั้นตรงกับวันที่ ๙ หลังจากตรุษจีนแล้ว ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าพิธีไหว้เทวดานั้นต้องมีต้นอ้อยเป็นสัญลักษณ์ ประดับอยู่ที่โต๊ะบูชาอยู่เสมอ

บางท่านเล่าว่า มีกษัตริย์แห่งแคว้นหนึ่งของจีน (ไม่ปรากฏพระนาม) พระองค์หนึ่งได้หนีภัยสงครามเข้าไปอยู่ในไร่อ้อย และได้ทรงอธิษฐานให้เทวดาช่วยคุ้มครองให้พ้นจากเงื้อมมือข้าศึก ปรากฏว่าหาพระองค์ไม่พบจริง ๆ ครั้นเมื่อพระองค์ได้เป็นกษัตริย์ อีกครั้งหนึ่งก็ทรงรำลึกถึงบุญคุณของเทวดาที่ได้ให้ความคุ้มครอง จึงรับสั่งให้จัดพิธีไหว้เทวดาขึ้น ในวันที่พระองค์หนีภัยในครั้งนั้นทุกปี (หลังจากวันตรุษจีนแล้ว ๙ วัน) จึงเป็นประเพณีแต่นั้นมา

 

ไหว้พระจันทร์ 

ชาวจีนหญิงถักร้อยตามประสาหญิง เพื่อจะได้เป็นแม่บ้านที่ดีต่อไป เมื่อออกมาทำพิธีไหว้พรจันทร์ก็จะเอาผลงานที่เย็บปักถักร้อยของตนมาตั้งแสดงไว้ข้าง ๆ โต๊ะบูชา เป็นการอวดฝีมือกันกลาย ๆ และจะพยายามทำให้ สวย ๆ มีจำนวนมาก ๆ พร้อมกันนั้นตนเองจะได้ออกอวดโฉมพร้อมกันไปด้วยในตัว ให้หนุ่ม ๆ ที่เที่ยวเตร่ชมอยู่ได้พบเห็น และขณะที่ไหว้เทวดาหญิงสาวมักจะตั้งจิตอธิษฐานให้เทพเจ้าแห่งดวงจันทร์ ช่วยให้พานพบคู่ครองที่ดีมีคุณธรรมบางแห่งอาจจัดให้หญิงสาวแข่งขันกันเอาด้ายสนเข็ม หรือเย็บปักถักร้อยบางอย่างด้วย ใครก็เสร็จก่อนแสดงว่าเก่งฉลาด เทพเจ้าแห่งดวงจันทร์ให้ความฉลาดมา

ส่วนอีกทางหนึ่ง ตามตำนานกล่าวว่าสมัยโบราณ พวกแมนจูเรียได้เข้ามารุกรานจีนสามารถควบคุมคนจีนไว้ได้ และให้ทหารควบคุมดูแลครอบครัวคนจีน ๑๐ ครอบครัวต่อทหาร ๒ คน (บางท่านว่า ๓ ครอบครัว ต่อทหาร ๑ คน) นอกจากนี้ยังให้ชาวบ้านเลี้ยงดูทหารที่มาควบคุมดูแลนั้นให้ดี ไม่ให้อ้วนหรือผอมเกินไป (ทุก ๑ เดือนจะมีคนมาชั่งน้ำหนักทหารเหล่านั้น) มิฉะนั้นจะถูกลงโทษ และชาวบ้านยังถูกบังคับอีกหลายเรื่อง เช่น จำกัดเครื่องใช้พวกของมีคมทุกอย่าง ได้แก่ มีดให้มีได้ ๑ เล่มต่อ ๑๐ ครอบครัว และไม่ให้ไว้บ้านใด แต่จะล่ามมีดด้วยโซ่ไว้กลางกลุ่มบ้านนั้น เวลาจะใช้ต้องไปใช้มีดที่ถูกล่ามโซ่อยู่ ทั่งนี้ก็เพื่อกันมิให้ชาวจีนมีอาวุธคิดปฏิวัติได้ เท่านั้นยังไม่หนำใจผู้ชายจีนจะถูกโกนศีรษะไว้หางเปีย เพื่อป้องกันเวลาหนีจะได้จับหางเปียมารวมไว้ด้วยกัน ส่วนผู้หญิงจีนจะถูกผูกข้อเท้ามีเครื่องหมายติดอยู่เพื่อให้แตกต่างจากพวกแมนจูเรีย ทหารที่มาควบคุมดูแลนั้นเล่าจะคอยสอดส่องมิให้ชาวจีนชุมนุมหรือติดต่อกันได้ การติดต่อกันทุกอย่างจะต้องผ่านทหารเหล่านั้น จากการที่ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างมากนี่เอง ทำให้ไฟปฏิวัติคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา จึงเกิดผู้ฉลาดคิดจะส่งข้อความการปฏิวัติขับไล่พวกแมนจูเรียออกไปเสียจากแผ่นดิน ด้วยการออกอุบายทำขนมขึ้นอย่างหนึ่งเรียกว่า “ตงชิวเปี๊ยะ” เป็นรูปกลม ๆ ข้างในเขียนข้อความนัดวันปฏิวัติคือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ตามแบบจีน ขนมนี้แจกจ่ายไปทั่วเมืองโดยที่พวกแมนจูเรียมิได้สงสัย เพราะเข้าใจว่าเป็นขนมที่ชาวจีนทำขึ้นสำหรับไหว้พระจันทร์ ปรากฏว่าประชาชนพร้อมใจกันปฏิวัติขับไล่พวกแมนจูเรียออกไปได้สำเร็จ ในวันนั้นเอง ด้วยเหตุนี้จึงได้ถือเอาวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เป็นวันไหว้พระจันทร์ตั้งแต่นั้นมา

ดังนั้นของที่ทำพิธีไหว้พระจันทร์ในสมัยต่อมา นอกจากมีธูปเทียนเป็นหลักแล้วขนมที่ขาดไม่ได้ก็คือ “ตงชิวเปี๊ยะ” (ซึ่งตามปกติจะไม่ทำ และร้านจำหน่ายก็จะไม่ทำจำหน่าย) นอกจากนี้มีพวก อาหาร คาว หวาน ผลไม้ กระดาษเงิน กระดาษทอง จุดลูกประทัด ของเหล่านี้จำนวนมากน้อยเท่าไรก็ขึ้นอยู่กับฐานะของแต่ละครอบครัว ส่วนเครื่องสำอางของผู้หญิงหรือผลงานด้านเย็บปักถักร้อยนั้น ด้วยภาวะสังคม และเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปของเหล่านี้ก็ลดจำนวนลง หรือแทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้ และการทำพิธีไหว้ก็มิได้เฉพาะเจาะจงไปว่าผู้หญิงเท่านั้น อาจจะเป็นทุกคนในครอบครัวก็ได้ เพราะเป็นเรื่องสิริมงคลไม่มีเสีย อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายบ้างเท่านั้น


หมายเหตุ

รายละเอียดของเทศกาลตรุษจีน ไหว้เทวดาและไหว้พระจันทร์ เก็บความมาจากคำบอกเล่าของคุณเต็กเชง แซ่อึ้ง คุณลู่หอง แซ่ตัน คุณเริงศักดิ์ ละอองจินดา คุณประสิทธิ ชิณการณ์ คุณกิ้ม แซ่หงอ (แป๊ะกิ้มปักษ์ใต้) นิตยสารบีอาร์ บางกอกรีดเดอร์ส มีนาคม ๒๕๑๖ และชัยพฤกษ์ฉบับ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘
 

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( พุธ, 06 กุมภาพันธ์ 2008 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้34
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1111
mod_vvisit_counterทั้งหมด10730753