Skip to content

Phuketdata

default color
Home
ตรุษจีน PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พุธ, 06 กุมภาพันธ์ 2008

ตรุษจีน


------------------------------------------------- 

ผศ.อวยชัย ผกามาศ


รองหัวหน้าคณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
วิทยาลัยครูภูเก็ต

๑ เมษายน ๒๕๒๓
-------------------

วันสำคัญที่สุดในบรรดาวันสำคัญตามประเพณีชาวจีน ก็คือตรุษจีนซึ่งถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของจีนมาแต่โบราณกาล เช่นเดียวกับชาวไทยถือวันตรุษสงกรานต์เป็นวันสิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ ถึงแม้ในปัจจุบันจะหันมาถือวันปีใหม่ตามปฏิทินสากลแล้วก็ตาม แต่วันตรุษจีนก็ยังถือเป็นเทศกาลที่ต้องปฏิบัติตามอยู่

เทศกาลตรุษจีนหรือวันขึ้นปีใหม่ของจีนนี้ได้กำหนดในวันสิ้นเดือน ๑๒ ของจีนเป็นวันสิ้นปีเก่า รุ่งขึ้นอีกวันเป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตรงกับเดือนยี่ และเดือนสามทางจันทรคติ ของไทยเหตุที่ถือเอาวันนี้ ถือเอาความหมายของวันเริ่มใบไม้ผลิซึ่งมีอากาศสดชื่นแจ่มใสเหมาะแก่การเริ่มชีวิตใหม่

วันตรุษจีน แบ่งออกเป็น ๓ วัน เรียก วันจ่าย วันไหว้ และวันถือ

 

วันจ่าย เป็นวันที่ชาวจีนไปซื้อข้าวของต่าง ๆ เพื่อนำมาทำพิธีและจัดฉลองกัน ในวันนี้ไม่ถือเป็นวันสำคัญ

วันไหว้ เป็นวันสำคัญเพราะเป็นวันสิ้นปีเก่า เรียก “ซ่าจั้บ” แสดงความยินดีที่ชีวิตได้ผ่านพ้นมาอีก ๑ ปี จึงแสดงความกตัญญูแก่เทวดา และบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ด้วยการเอาของมากราบไหว้ การไหว้ ไหว้ถึง ๓ เวลา คือ เช้า กลางวันและบ่าย ไหว้ตอนเช้าเรียกว่า “ไป๊เล่าเอี๊ย” แปลว่า ไหว้เจ้า ของไหว้มี หมู เป็ด ไก่ สุรา น้ำชา แจไฉ (ได้แก่ เห็ดหอม ดอกไม้จีน และเห็ดหูหนู) ส้มจีน ขนมอื่น ๆ เป็นต้น การไหว้ตอนนี้ ไหว้ได้ตั้งแต่เที่ยงคืนล่วงไปแล้วถึงรุ่งเช้า

ไหว้ตอนกลางวัน เรียกว่า “ไป๊เป่ป๊อ” แปลว่า ไหว้บิดา – มารดา เฉพาะผู้ที่บิดามารดาถึงแก่กรรมไปแล้ว การไหว้ตอนนี้ต้องไม่เกินเวลาเที่ยง ของไหว้ทำเป็นสำรับ กับข้าวอาหารหวานคาวบริบูรณ์

ไหว้ตอนบ่าย เรียกว่า “ไป๊ห่อเฮียตี๋” แปลว่า ไหว้ญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว การไหว้ตอนนี้ไหว้ได้ตั้งแต่เวลาหลังเที่ยงไปแล้ว ของไหว้มักจะมากกว่าตอนเช้าและกลางวัน การไหว้ทุกครั้งนอกจากมี ธูป เทียน ยืนพื้นแล้วต้องมีขนมเข่ง ขนมเทียน เผากระดาษเงิน กระดาษทองและจุดประทัดด้วย บางบ้านถือเคล็ดโชคลางโดยการเอากระดาษเงิน กระดาษทองเหน็บไว้ที่ช่องกระดานประตู (บ้านชาวจีนโบราณมักจะมีประตูที่ใช้กระดานเป็นแผ่น ๆ มาต่อกัน) เป็นทำนองว่าให้ทำมาค้าคล่อง เงินทองไหลมาเทมา ปัจจุบันเพื่อความสะดวก ชาวจีนในไทยมักจะไหว้บรรพบุรุษทุกฝ่ายรวมกันไปในตอนกลางวันเลยก็มี เมื่อเสร็จพิธีไหว้แล้วผู้ใหญ่ในครอบครัวก็จะเอาของขวัญหรือเงินทองมาให้แก่ลูกหลาน เรียกว่า “แต๊ะเอีย” คำว่าแต๊ะเอียเป็นภาษาพูดของชาวแต้จิ๋วถ้าเขียนเป็นตัวอักษรอ่านว่า ”เอี๊ยบส่วยจี๋” ภาษากวางตุ้ง อ่านว่า “ยับสุ่ยฉีน” และคำว่า “เอี๊ยบ” ในภาษาแต้จิ๋ว หรือ “ยับ” ในภาษากวางตุ้งนี้ ถ้าเป็นนามหมายถึงกระเป๋าที่ติดอยู่กับเสื้อเอี๊ยมเด็ก “ส่วย” ในภาษาแต้จิ้ว หรือ ฉีน ในภาษากวางตุ้ง แปลว่า เงิน เมื่อรวมทั้ง ๓ คำแล้วแปลว่า เงินก้นถุงประจำปี ซึ่งหมายถึงเอาเงินมาวางติดกระเป๋าเพื่อต่อเงินประจำปีหน้านั้นเอง

ความมุ่งหมายเดิมของเงินแต๊ะเอียนั้น อยู่ที่ว่าผู้ใหญ่ต้องการให้เด็กมีเงินมีทองจึงให้มีเงินทุกปี ถ้าเป็นลูกหลานเล็ก ๆ ก็จะเอาเงินใส่ซองกระดาษแดง หรือห่อกระดาษแดง ซึ่งเรียกว่า “อั่งเปา” สอดใส่ในกระเป๋าที่เอี๊ยมตรงหน้าท้อง และถ้าเก็บไว้ทุก ๆ ปี ตั้งแต่เด็กจนเป็นผู้ใหญ่คงจะเป็นเงินจำนวนมากอยู่ พอเป็นทุนรอนตั้งตัวได้เป็นอย่างดีตอนแรกเงินแต๊ะเอีย หรืออั่งเปาก็ให้เฉพาะลูกหลานในครอบครัวเท่านั้น ต่อมาได้เผื่อแผ่ถึงบรรดาญาติมิตรอื่น ๆ ตลอดจนลูกจ้าง บริษัท ห้างร้านต่าง ๆ ด้วย คล้ายเป็นเงินโบนัสประจำปี ซึ่งเป็นธรรมเนียมของชาวจีนในไทยยืดถือปฏิบัติตลอดมา (บางคนให้ของขวัญแก่ข้าราชการไทย เพื่อมุ่งหวังประโยชน์ให้เกิดแก่กิจการของตนก็มี) นอกจากจะให้ของขวัญหรือ อั่งเปาแก่บุคคลที่ควรให้แล้ว แต่ละครอบครัวที่รู้จักมักคุ้นกันมากก็จะแลกเปลี่ยน “ส้มจีน” ต่อกันเพราะชาวจีนถือว่า “ส้มจีน” หรือ “ไต้กิก” เป็นผลไม้ดีมีความหมายในทางศิริมงคล เพราะแปลชื่อ ไต้กิก เป็นไทยว่า “ดีมาก” นับเป็นธรรมเนียมที่ดีอย่างหนึ่งของชาวจีน เมื่อถึงระยะวันตรุษจีนทางร้านค้า หรือนายจ้างหรือญาติผู้ใหญ่จะนึกถึงผู้น้อย จะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เป็นเงินทองสิ่งของให้ลูกจ้าง ญาติ มิตร สหาย ให้ผัก ปลา อาหาร เงินทอง เสื้อผ้าในเวลาเดียวกันผู้น้อยเมื่อตั้งตัวได้ภายหลังก็ตอบแทนผู้ที่เคยมีคุณในวันตรุษจีนนี้ คนที่เป็นหนี้เป็นสินก็จะรับนำหนี้สินไปคืนในวันนี้

อนึ่งคนจีนที่เข้ามาอยู่ทางฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต มักทำเหมืองแร่ บางคนเป็นเถ้าแก่หรือนายจ้างบางคนก็เป็นลูกจ้าง ลูกจ้างเหล่านี้วันปกติธรรมดาจะไม่ได้รับเงินจากนายจ้างเลย หากจะเบิกเงินใช้จ่ายต่าง ๆ ก็จะได้เป็นพวกไม้ไผ่ หรือแผ่นเหล็กจากนายจ้าง ลูกจ้างจะนำพวกไม้ไผ่หรือแผ่นเหล็กที่เขียนราคาหรือค่าของแทนจำนวนเงิน นำไปซื้อสิ่งต่าง ๆ ภายในร้านที่เจ้าของเหมืองแร่ได้เปิดขึ้นโดยเฉพาะ เพราะฉะนั้นทั้งปีลูกจ้างหรือกรรมกรเหล่านี้ก็จะไม่ได้แตะต้องธนบัตรเลย จะมีเพียงวันเดียวเท่านั้นคือวันตรุษจีน ที่ทุกคนจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงิน หลังจากที่ได้สะสมมาเป็นเวลา 1 ปีเต็ม ทั้งนี้ก็ได้จากการที่เหลือจากหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้วนั่นเอง

วันถือ เป็นวันต่อจากวันไหว้ ชาวจีนเรียกว่ “วันชิวอิด” (หรือ โช้ยอิด) เขาถือว่าเป็นมงคลจะหยุดประกอบอาชีพ ร้านค้าบางแห่งหยุดหลาย ๆ วัน และงดเว้นการกระทำบางอย่างที่ถือว่าไม่เป็นมงคล หรือเป็นไปในทางที่ไม่เป็นคุณ เช่น ไม่กวาดบ้าน ไม่ทะเลาะเบาะเว้ง หรือฆ่ากัน มิฉะนั้นจะกลายเป็นลางร้ายนำความอัปมงคลมาสู่ชีวิตได้ เพราะจะเป็นการตัดโชคลาภ ในวันนี้ต่างแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวยงาม หากผู้มีฐานะดีหน่อยก็จะใช้ทุกสิ่งทุกอย่างใหม่หมด เช่น เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ เหล่านี้จะไม่ใช้ของเก่าเลย หรือพวกฐานะไม่ดีไม่อาจใช้เสื้อผ้าใหม่ ๆ ได้ก็จะพยายามหาตัวที่เห็นว่าดีที่สุดมาสวมในวันขึ้นปีใหม่นี้ เพราะเขาถือว่าเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่โดยเฉพาะหากเริ่มต้นปีใหม่ด้วยสิ่งใหม่ ๆ ดี ๆ แล้วก็จะทำให้ชีวิตสดใสก้าวหน้ากว่าเดิม และไปเที่ยวตามบ้านญาติมิตร เพื่ออวยพรแก่กัน ปัจจุบันชาวจีนในไทยนิยมไปพักผ่อน หรือไปเที่ยวตามสถานที่ที่น่าท่องเที่ยว ในวันนี้เมื่อพบหน้ากันก็จะกล่าวคำอวยพรแก่กัน เช่น “เกียงฮ่อซิงฮี้นี้ตั่วถั่ง” แปลว่า สวัสดีปีใหม่ ขอให้ได้กำไรมาก ๆ หรืออวยพรว่า “ซิ้งเจียยู่อี่ ซิงนี่ฮวดไซ้” (สำเนียงจีนมักออกเสียงอย่างนี้คือ เสียง น เป็น ง เสียง ด เป็น ก ถ้าเป็นตัวเขียนคงเป็น “ซินเจียยู่อี่ ซินนี้อวดไช้”) แปลว่า ขอให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ในปีใหม่ขอให้ร่ำรวย หรือไม่ก็อวยพรว่า “ซิงนี้ตั่วถั่ว ซิงเจี่ยยู่อี่” แปลว่า ขอให้มีความสุขปีใหม่ ค้าขายของรุ่งเรือง ฝ่ายผู้รับพรก็จะตอบว่า “ตั่ง ๆ ยู่อี่” แปลว่า ขอให้สมพรปาก และขอให้พรนั้นจงตอบสนองท่านเช่นกัน ผู้ใหญ่ที่ไปอวยพรผู้คุ้นเคยใกล้ชิดญาติสนิทมิตรสหายจะต้องเตรียมของขวัญ หรืออั่งเปาไปให้ลูกหลานอีกฝ่ายหนึ่งที่ออกมาต้อนรับด้วย ในวันถือนี้ชาวจีนบางคนจะกินเจ โดยละเว้นการกินเนื้อสัตว์ต่าง ๆ แต่บางคนไม่ยึดมั่น เพราะชาวจีนจะมีประเพณีที่ยิ่งใหญ่อีกประเพณีหนึ่งคือกินเจ

เดิมทีชาวจีนจะหยุดงานเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน ตั้งแต่ครึ่งเดือนถึงหนึ่งเดือนก็มีในปัจจุบันเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจ มักจะหยุดงานเพียง ๑ - ๗ วันเท่านั้น แต่ชาวจีนในไทยส่วนมากจะหยุดงานเพียง ๒ วัน คือวันสิ้นปีและวันชิวอิด รุ่งขึ้นก็ทำมาหากินตามปกติ

กินกรรมอื่น ๆ ในเทศกาลตรุษจีน ได้แก่การจัดขบวนแห่แหนอย่างสวยงามมีการเชิดสิงโตและแห่มังกร ตลอดจนการจุดประทัดเสียงดังสนั่นหวั่นไหว บางแห่งอาจจัดมหรสพซึ่งได้แก่ หุ่นกระบอก(กาเหล้) หรืองิ้วด้วย

ก็ด้วยความเชื่อถือว่า เป็นการต้อนรับบรรดาเจ้าต่าง ๆ ซึ่งเพิ่งกลับมาจากสวรรค์หลังจากนำทุกข์ สุขของราษฎรไปรายงานเทวดาแล้ว

การเต้นหรือเชิดสิงโต มีตำนานเล่าว่าประมาณ ๓๐๐ ปี มาแล้ว สมัยพระเจ้าเคียงล่งกุน กษัตริย์แห่งราชวงศ์เช็งเฉียงครองเมืองจีน ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นกษัตริย์ผู้ทรงไว้ซึ่งบุญญานุภาพและมีพระเกียรติยศเกียรติคุณเลื่องลือปรากฎไปทั่วทุกทิศ วันหนึ่งขณะที่พระเจ้าเคียงล่งกุน ได้เสด็จออกว่าราชการแผ่นดินอยู่ท่ามกลางมุขอำมาตย์ราชเสนา และข้าราชการบริพารทั้งหลายอยู่นั้น ได้มีสัตว์ประหลาดตัวหนึ่งรูปร่างคล้ายสุนัขจูตัวใหญ่ได้สำแดงปาฏิหาริย์เหาะมาจากเบื้องบูรพาทิศ และลอยต่ำลงมา หยุดลงหน้าพระที่นั่งกระทำการถวายบังคมพระเจ้าเคียงล่งกุนถึง ๓ ครั้ง แล้วเหาะกลับทิศทางเดิมพระองค์และบรรดาหมู่เสนาที่ประสบเหตุมหัศจรรย์เช่นนั้นก็ตกตะลึงอยู่ เพราะมิรู้ต้นสายปลายเหตุ และแม้แต่นามของสัตว์ประหลาดนั้น ขุนนางผู้เฒ่าผู้หนึ่งมีตำแหน่งเป็นกุน ซือ ประจำราชสำนักมีความรู้กว้างขวาง จึงกราบบังคมทูลว่า สัตว์ที่มาถวายบังคมพระองค์นั้นเป็นสัตว์ประเสริฐกอปรด้วยมงคลลักษณะอย่างสูง มีนามว่า “สิงโต” สัตว์ชนิดนี้ยากที่มนุษย์สามัญจะพบเห็น แต่การที่สิงโตมาน้อมเคารพแก่พระองค์ ก็เนื่องเพราะเหตุว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ ที่ทรงบุญญานุภาพเลิศกว่ากษัตริย์ทั้งหลายในพิภพ สิงโตจึงได้มาถวายเช่นนั้น เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีและอวยพรแด่พระองค์ให้ทรงพระเจริญเสวยราชสมบัติเป็นร่มเกล้าแก่พวกไพร่นับชั่วกาลนาน พระเจ้าเคียงล่งกุนได้ทรงฟังดังนั้น ก็ทรงโสมนัสและพอพระราชหฤทัยยิ่ง นับแต่นั้นมาทรงโปรดให้จัดพระราชพิธีพิเศษในวาระสิ้นปีทุก ๆ ปี จนกลายเป็นประเพณี พวกราษฎรก็พากันเลื่อมในในสิงโตวิเศษนี้เป็นอันมาก ได้จัดหารูปสิงโตมาตั้งเคารพบูชาตามบ้านเรือน และในวันเทศกาลตรุษจีน แทนที่จะอวยพรผู้เคารพนับถือด้วยวาจาดังเก่าก่อนก็ทำเป็นรูปสิงโตแห่ไปเล่นที่บ้านนั้นเป็นการแสดงทำนองว่า สิงโตได้มาอวยพรปีใหม่เจ้าของบ้านก็ตอบแทนด้วยการเลี้ยงสุราอาหาร ต่อมาการเต้นหรือการเชิดสิงโตได้กลายเป็นอาชีพไปมีการตั้งเป็นคณะต่าง ๆ เชิดสิงโตตามจังหวะล่อโก๊ะไปตามบ้านเรือนร้านค้าพร้อมทั้งมอบแผ่นกระดาษ หรือป้ายสีแดงมีข้อความอวยพรให้เจ้าของบ้าน ร้านค้าก็จะจัดเตรียมเงินทองแต๊ะเอียหรืออั่งเปาไว้ตอบแทน เช่นกัน ปัจจุบันหาดูได้บางท้องถิ่นเท่านั้น (จีนนับถือสีแดงเป็นสีมงคลดังนั้นงานมงคลต่าง ๆ มักจะมีกระดาษหรือผ้าสีแดงปรากฎเป็นสัญลักษณ์ทั่วไป นอกจากสีแดงแล้วยังถือสีเหลืองเป็นสีมงคลด้วยเช่นกัน)

การเล่นแห่มังกร ก็ด้วยคตินิยมที่ชาวจีนโบราณ มีความเชื่อว่ามังกรเป็นเจ้าแห่งสัตว์ มีอิทธิฤทธิ์บันดาลคุณและโทษได้ จัดอยู่ในสัตว์วิเศษ ทั้ง ๔ คือ กิเลน หงส์เต่า และมังกร แต่มังกรยิ่งใหญ่ที่สุด จนมีคำอุปมา ยกย่องบุคคลที่เก่งกล้าว่าเปรียบเสมือนมังกรในมวลหมู่มนุษย์และด้วยเหตุที่มังกรเป็นสัตว์มีอำนาจนี่เอง เมื่อเกิดเภทภัยเช่น ฝนแล้ง โรคระบาด หรือเหตุร้ายอื่น ๆ จึงนิยมจัดพิธีแห่มังกรขอให้ปกป้อง คุ้มครองต่อมาในสมัยปัจจุบันความเชื่อดังกล่าวเสื่อมคลายลงไป กลายเป็นเล่นแห่มังกรเพื่อความสนุกสนาน และนิยมเล่นเช่นเดียวกับเต้น หรือเชิดสิงโตในวันตรุษจีน หรือเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ ขบวนแห่มังกรจะมีผู้ถือลูกแก้วทำด้วยกระดาษนำหน้าด้วยเหตุเชื่อกันว่ามังกรชอบเล่นลูกแก้ว

การจุดประทัด เมื่อถึงเทศกาลตรุษจีนทุกครั้ง สิ่งที่เราได้ยินได้ฟังจนแสบแก้วหู ก็คือเสียงประทัดดังสนั่นหวั่นไหวไปหมด มาระยะหลัง ๆ นี้ทางการได้สั่งห้ามเสียงประทัดจึงเพลา ๆ ลงบ้าง (ยกเว้นในเทศกาลกินเจ ประทัดยังมีความจำเป็นอย่างมาก)

การที่กระทำพิธีตรุษจีน หรือไหว้เจ้าแล้วจุดประทัดนี้ด้วยความเชื่อถือที่มีอยู่ว่าจะขับไล่ไสส่งสิ่งที่อัปรีย์ เสนียด จัญไร หรือภูตผีปีศาจที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในบ้านหรือที่จะมาทำอันตรายให้ตกใจกลัวแล้วหนีไปเลย เพราะเข้าใจว่าผีจีนกลัวไฟ และกลัวเสียงประทัด

สาเหตุที่ต้องใช้ประทัดไล่ผีนั้น มีตำนานกล่าวไว้ว่าเมื่อหลายพันปีมาแล้วว่ามีชาวจีนคนหนึ่งชื่อ “ตงโซ่ว” เกิดป่วยเป็นไข้จับสั่น บรรดาญาติมิตรคิดว่านายตงโซ่วถูกผีเข้าก็เลยไปตามหมอผีชื่อ “หลีเที้ยน” ซึ่งมีชื่อเสียงในหมู่บ้านนั้นมาดำเนินการรักษา (ความจริงคือบำบัด) และปัดรังควานให้ วิธีการรักษาของนายหลีเที้ยนก็ไม่มีอะไรมาก เพียงแต่ชาวบ้านไปหาไม้ไผ่ทั้งปล้องมากองสุมเข้าแล้วจัดการเผาไม้ไผ่ที่กองไว้บนนั้นจนไหม้แตกเสียงดังโป้งป้างลั่นไป หลังจากที่ได้เผาไม้ไผ่หมดไปหลายกอแล้วอาการป่วยของนายตงโซ่ว ก็หายไปอย่างอัศจรรย์ ชาวบ้านต่างยกย่องสรรเสริญนายหลีเที้ยนเป็นการใหญ่หลังจากนั้นถ้ามีใครเกิดเป็นไข้ได้ป่วย มีอาการหนาวสั่นแบบนายตงโซ่ว ก็พากันไปให้นายหลีเที้ยนรักษา

ต่อมาได้มีผู้เห็นว่า ถ้ามีคนไข้จับสั่นมาก ๆ จะยังขืนใช้ไม้ไผ่เป็นกอ ๆ มาเผาเพื่อรักษาแล้วในที่สุดไม้ไผ่คงหมดเมืองจีนแน่ จึงมีคนปัญญาไวคิดขึ้นมาได้ว่าเคล็ดสำคัญในการรักษาไข้ของนายหลีเที้ยนอยู่ตรงที่ให้มีเสียงดังโป้งป้างนั่นเองผีตกใจกลัวแล้วหนีไป จึงได้ประดิษฐ์ประทัดกระดาษขึ้นใช้จุดแทน ซึ่งก็ได้รับความนิยมแพร่หลายอย่างรวดเร็ว เพราะสะดวกและประหยัดกว่ามาก และเนื่องจากมีผู้ประดิษฐ์ประทัดขึ้นได้นี้เองที่ทำให้พระเจ้าไทไจ้ว ฮ่องเต้ กษัตริย์องค์แรกแห่งราชวงศ์ง่วนเฉียว ได้ให้ช่างหล่อปืนใหญ่ขึ้นสำเร็จเป็นครั้งแรก และนำไปตีเมืองเซียงเอี้ยงแตกในที่สุด

การจุดประทัดมิได้ใช้เฉพาะเทศกาลตรุษจีนเท่านั้น เทศกาลอื่นก็นิยมจุดประทัดกันอย่างแพร่หลาย สังเกตได้ในพิธีต่าง ๆ ทั่วไป

การแสดงหุ่นกระบอก (กาเหล้) และงิ้ว นับเป็นมหรสพที่ขึ้นชื่อลือชานิยมกันมากในหมู่ชาวจีนในเทศกาลตรุษจีนจึงจัดให้หุ่นกระบอกหรือ งิ้วแสดงเป็นการเฉลิมฉลอง และเพื่อความสนุกสนานเกษมสำราญแก่ผู้ชมที่หยุดพักผ่อน หลังจากตรากตรำงานหนักมา 1 ปี

 

ภาคผนวก

มีเรื่องน่ารู้อันเนื่องจากเทศกาลตรุษจีนอีกบางอย่าง ได้แก่


๑. การจัดเตรียมพิธี และทำพิธีสังเวยเจ้าเตาไฟ ก่อนจะถึงวันเทศกาลตรุษจีนพอสมควร ชาวจีนทั้งหลายจะจัดเตรียมเพื่อทำพิธีด้วยการทำความสะอาดบ้านเรือนตกแต่งซ่อมแซมส่วนที่ชำรุด ทาสีรั้วและประตูบ้าน เพื่อขจัดฝุ่นละอองและสิ่งสกปรกที่มีอยู่ให้หมดสิ้นไป ซึ่งเขาถือว่า เท่ากับเป็นการขจัดสิ่งชั่วร้ายให้หมดสิ้นไปด้วย

เมื่อจัดบ้านช่องให้สะอาดเรียบร้อยแล้ว ต่อไปก็จัดตกแต่งบ้านเรือนให้สวยงามมีการติดโคมไฟและประดับประดาประตูทุกแห่ง โดยเฉพาะประตูใหญ่ที่สำคัญในบ้านจะมีรูปเทวดาทั้งสององค์ติดอยู่ ได้แก่ “เจ้ายูซีกั๋ง” กับ “เจ้าฉิมจูเปา” ที่นำรูปเทวดาหรือเจ้าสององค์มาติดไว้นี้ ก็เพื่อให้เป็นผู้ปัดเป่าไม่ให้ภูตผีปีศาจมากล้ำกรายผ่านประตูเข้าไปรังควานทำความเดือนร้อนให้แก่ผู้อยู่อาศัยในบ้าน

ความเป็นมาของเจ้าทั้ง ๒ องค์ คือ ยูซีกั๋ง กับ ฉิมจูเปา นั้น มีเรื่องเล่าว่าเดิมทีเป็นทหารยศนายพล มีหน้าที่คุ้มครองป้องกันภัยทำนองนายทหารคนสนิทของพระเจ้าถังไท้สุงแห่งราชวงศ์ถัง

คืนวันหนึ่ง พระเจ้าถังไท้สุง ทรงสุบินว่า พระองค์ได้ให้คำมั่นสัญญาแก่กษัตริย์มังกรหนุ่มองค์หนึ่งที่จะถูกลงโทษทัณฑ์จากเทพเจ้าบนสรวงสวรรค์ว่า พระองค์จะปกป้องให้ ด้วยพระสุบินของพระเจ้าถังไท้สุงนี้ พระองค์จึงเกรงไปว่าพระองค์จะได้รับการปองร้ายหรือได้รับอันตรายเสียเอง ดังนั้นพระองค์จึงรับสั่งให้สองนายพลดังกล่าวแต่งเครื่องแบบเต็มยศ และอาวุธคู่มือครบครันมายืนเฝ้าที่หน้าทวารห้องบรรทม เพื่อคอยป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่ปรากฏว่าตลอดคืนนั้นหาได้มีเหตุการณ์ร้ายหรือผิดปกติเกิดขึ้นแต่อย่างใดไม่ ตั้งแต่นั้นมานายพลยูซีกั๋ง และฉิมจูเปาได้เป็นที่รู้จักและเคารพรักของคนจีนทั่วไป และนับเป็นเจ้าทวารมาจนถึงปัจจุบัน

หลังจากทำความสะอาดและตกแต่งบ้านเรือนดังกล่าวมาแล้ว ครั้นถึงวันที่ ๔ ของเดือน ๑๒ ทุกบ้านจะต้องจัดทำอาหาร เพื่อบวงสรวงสังเวยหรือเลี้ยงส่งเจ้าเตาไฟในครัวที่จะเดินทางขึ้นไปเฝ้าเทพเจ้าบนสรวงสวรรค์ เพื่อไปรายงานผลการทำความดีความชั่วของทุกคนในครอบครัวที่เจ้าเตาไฟสิ่งสถิตอยู่

คนจีนนับถือเตาไฟมากเพราะมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของทุกคน ทุกบ้านต้องมีเตาไฟไว้หุงอาหารเวลาจะสร้างเตาไฟจึงต้องหาฤกษ์ที่ดี เพื่อให้เกิดศิริมงคลแก่ครอบครัวและเชื่อว่าเตาไฟนั้นมีเจ้าสิงสถิตอยู่ชื่อ สู่เบ่ง – เจ้ากุ๊น ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดกับบุคคลในครอบครัวมากที่สุด เห็นใครทำความดีความชั่วอยู่ตลอดเวลา

ดังนั้นอาหารที่ทุกบ้านทำเลี้ยงหรือบูชาเจ้าเตาไฟนั้น จะประกอบด้วยสิ่งที่มีรสหวานทั้งสิ้น ทั้งนี้ก็ด้วยถือเคล็ดว่า เมื่อเจ้าเตาไฟเสวยอาหารหวาน ๆ เข้าไปแล้วจะได้ไปรายงานแต่สิ่งที่ดี ๆ ไพเราะเสนาะโสตแก่ เทพเจ้าผู้เป็นนายบนสรวงสวรรค์และขนมหวาน ๆ ต่าง ๆ นั้น ก็ทำเสียให้เหนียว ๆ ทั้งนี้ก็เพื่อจะเย็บปากหรือปิดปากเจ้าเตาไฟ มิให้อ้าปากได้สะดวก จะได้ไม่พูดมากนัก

การทำพิธีบูชาหรือไหว้เจ้าเตาไฟนี้ จะให้หัวหน้าครอบครัวเป็นผู้กระทำด้วยการเอาอาหาร และขนมหวานที่มีลักษณะดังกล่าวมาวางไว้หน้าหิ้งบูชาที่มีภาพเจ้าเตาไฟประดิษฐานอยู่ เพื่อทำความเคารพและอ้อนวอนให้เจ้าเตาไฟไปรายงานแต่สิ่งที่ดีงามเกี่ยวกับครอบครัวตนแล้ว จึงเอาภาพเจ้าเตาไฟมาเผาให้เปลวไฟลอยขึ้นสู่สวรรค์ เป็นอันเสร็จพิธี


๒. ตำนานที่กล่าวถึงมูลเหตุที่ชาวจีนถือเอาวันขึ้น ๑ ค่ำ หลังวันสิ้นเดือน ๑๒ หนึ่งวันเป็นวันตรุษจีน มีเรื่องเล่าอีกทางหนึ่งว่า นานมาแล้วมีชายคนหนึ่งซึ่งทำงานหนักอย่างขยันขันแข็งตลอดปี ไม่มีวันหยุดเลย จะหยุดงานก็เป็นห่วงครอบครัวจะอดเพราะมีฐานะยากจนมาก วันหนึ่งจึงได้ไปถามพระจีนว่า เมื่อไรบ้านเมืองจะถล่มเสียที จะได้พ้นทุกข์ที่ต้องตรากตรำทำงาน พระจีนจึงแสร้งตอบว่า เมื่อไรบ้านที่สิงโตหินหน้าวัดกระอักเลือด แล้วเมื่อนั้นแหละบ้านเมืองจึงจะถล่ม ขณะนั้นมีคนขายหมูจำนวนมากไปทาปากสิงโตนั้น เมื่อประชาชนไปพบเข้าก็สำคัญผิดว่าสิงโตกระอักเลือดตามที่ชายแก่ไปเที่ยวบอกไว้จริงก็ตกใจกลัว คิดว่าบ้านเมืองคงถล่มแน่จึงได้ช่วยกันหาต้นอ้อยมาค้ำประตูบ้านไว้ รุ่งเช้าเมื่อเห็นว่าบ้านเมืองไม่ล่มจมแน่แล้วต่างก็พากันดีใจหยุดงานไปถามข่าวคราวซึ่งกันและกัน พบหน้าก็อวยพรแก่กันและถือโอกาสเที่ยวพักผ่อนไปด้วย วันนั้นตรงกับวันขึ้น ๑ ค่ำพอดี จึงถือเป็นประเพณีสืบต่อกันมา กำหนดวันขึ้น ๑ ค่ำ หลังจากสิ้นเดือน ๑๒ แล้ว ๑ วัน เป็นวันตรุษจีน

ปัจจุบันนี้ การจัดงานเทศกาลตรุษจีนก็ยังคงกระทำกันอยู่ในหมู่ชาวจีนทั่วไปรวมทั้งชาวจีนโพ้นทะเลด้วย และนับเป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ เนื่องจากมีพิธีรีตอง จารีตประเพณีตำนานและเกร็ดที่เกี่ยวข้องไว้มากมายหลายอย่าง เป็นเทศกาลปีใหม่ที่ชาวจีนทุกแห่งปฏิบัติเป็นประเพณีโดยเคร่งครัดตลอดมา เช่นเดียวกับเทศกาลปีใหม่ที่ชาวจีนทุกแห่งปฏิบัติกันอยู่และย่อมแตกต่างกันตามวัฒนธรรมประเพณี คตินิยม และสังคมของชาตินั้น ๆ.

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( พุธ, 06 กุมภาพันธ์ 2008 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Polls

ชื่อใด (หรือคำใด) สื่อได้ชัดคม รู้เป้าหมายได้มากกว่า
 

Who's Online

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้1975
mod_vvisit_counterเมื่อวาน2873
mod_vvisit_counterทั้งหมด11411672