Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
น้ำท่วมเกาะ PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อังคาร, 05 กุมภาพันธ์ 2008

น้ำท่วมเกาะ

ราชัน  กาญจนะวณิชย์
------------

เมื่อผมมาเริ่มฝึกหัดงานที่ภูเก็ตในปี พ.ศ. 2494 นั้น นายลินด์ซี แมคคลักเกจ วิศวกรชาวนิวซีแลนด์เป็นผู้รักษาการแทนผู้อำนวยการเขตประเทศไทย เพราะนายรอเรน พาร์สัน ผู้อำนวยการหยุดพักงานไปอยู่ในยุโรป 6 เดือน นายแมคคลักเกจเป็นวิศวกรที่คงแก่เรียน งานก่อสร้างต่าง ๆ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ต้องมีรายการคำนวณประกอบทั้งสิ้น ในฤดูฝนปี พ.ศ. 2494 นั้น ทางบริษัทชะเทิร์นคินตา คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด กำลังจะเปิดเหมืองสูบที่บ้านบางคูใกล้ๆ กับที่ตั้งวิทยาลัยดัลลิชในปัจจุบัน และได้มอบหมายให้ผมเป็นผู้ควบคุมการตอกเข็มรองรับแท่นเครื่องยนต์ดีเซลที่จะใช้ในการทำเหมือง ฉะนั้นเช้าวันไหนผมไม่มีความจำเป็นที่จะไปวางแผนงานก่อสร้างของบริษัทกำมุนติง ทินเดรดยิง ลิมิเต็ด ที่จังหวัดพังงา ผมก็จะพาคนงาน 2-3 คนไปตรวจการตอกเข็มตั้งเครื่องยนต์ดีเซลที่บ้านบางคู เช้าวันหนึ่งเมื่อออกจากบ้านที่ซอยสะพานหิน ผมก็เห็นน้ำท่วมตลาดภูเก็ตในเขตเทศบาล น้ำฝนไหลมาจากทุ่งทอง กะทู้ ฯลฯ จะระบายมาตามคลองบางใหญ่และมาออกทะเลอ่าวทุ่งคาส่วนใหญ่ได้สองทาง คือออกทะเลด้านด่านศุลกากร และออกทะเลทางด้านที่ทำการไปรษณีย์ ทางด้านที่ทำการไปรษณีย์นั้น มีถนนมนตรีทำหน้าที่เป็นทำนบกั้นน้ำทะเลและมีทางให้น้ำไหลออกได้ 2 ช่อง ซึ่งมีซากสะพานไม้เหลืออยู่สองสะพานแต่ใช้การไม่ได้ สะพานแรกอยู่ทางด้านตะวันออก เวลาน้ำขึ้นผมเคยน้ำเรือยนต์วิจิแลนด์แล่นเข้ามาผูกกับเสาสะพานได้ แต่สะพานด้านตะวันตกใกล้โรงไฟฟ้าเทศบาลนั้น ทางระบายน้ำแคบน้ำจึงไหลแรงเป็นพิเศษ เช้าวันที่น้ำท่วมนั้น ได้มีบ้านไม้หลังหนึ่งถูกน้ำพัดพังไหลออกทะเลไป มีบ้านไม้อีกหลังหนึ่งซึ่งเป็นของคุณวิเชียร ณ นคร กำลังถูกน้ำซัดโซเซ ทำท่าจะพังลอยไปอีก ผมจึงได้ระดมคนงานและสมาชิกสมาคมไทยมุงช่วยกันเอาเชือกผูกยึดบ้านคุณวิเชียรไว้ได้สำเร็จ จากคำบอกเล่าของคุณวิเชียรและจากผลการศึกษาแผนที่ต่าง ๆ จึงทราบว่า ทางระบายน้ำเดิมของคลองภูเก็ตหรือทุ่งคานั้นไหลออกทางด้านนี้ แต่ต่อมาเมื่อมีการทำเหมืองหาบขนาดใหญ่ จึงได้มีการสร้างทำนบปิดกั้นทะเลไว้ ดังปรากฏในรายงานเสด็จประพาสภูเก็ต ปี พ.ศ. 2415 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และรายงานการตรวจแหล่งแร่ของบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ ทินเดรดยิง ลิมิเต็ด

 

คุณวิเชียร ณ นคร เล่าให้ฟังว่า ทางเทศบาลได้ตกลงในชั้นศาลกับเจ้าของที่ดินว่าจะไม่ซ่อมสะพานที่ถนนมนตรีทั้งสองสะพานนี้ และถ้าจะฝังท่อระบายน้ำ ก็จะต้องให้อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลสูงสุด เมื่อถามว่าทำไมเทศบาลไม่ทำตามข้อตกลงเล่า คุณวิเชียรก็อธิบายให้ฟังว่า ถ้าขืนถมดินฝังท่อน้ำก็จะท่วมตลาดมากขึ้น เพราะแม้แต่ในสภาพที่เป็นอยู่ ก็มีทางระบายน้ำไม่พอเพียงอยู่แล้ว คุณวิเชียรเป็นผู้มีความรู้ในกิจการของเทศบาลดี เพราะเคยเป็นพนักงานของเทศบาลและเป็นสมาชิกสภาเทศบาลอยู่หลายสมัย

ผมพิจารณาข้อตกลงในชั้นศาลของเทศบาลแล้ว ก็งงอยู่ เพราะการไม่ซ่อมสะพาน ก็ทำให้ราษฎรเดือดร้อน ใช้ถนนมนตรีไม่ได้และก็ยังผิดเงื่อนไขที่ตกลงไว้ เรื่องระดับน้ำทะเลสูงสุดตามเงื่อนไขนั้น ก็ปรากฏว่าสูงเกือบเท่าระดับถนน ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ดร.มาลัย หุวะนันท์ ได้ขอให้ผมไปช่วยนายช่างเทศบาล คุณสะอาด กีศิริ เพื่อทำการวัดระดับ เพราะสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ดร.มาลัยกับผมถูกเกณฑ์ไปทำงานกระจายเสียงวิทยุที่ซานฟานซิสโกด้วยกันจึงรู้จักกันดี

ฉะนั้นถ้าไหน ๆ ก็จะผิดเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ ก็น่าที่จะซ่อมสะพานให้ราษฎรใช้เพราะถ้าทิ้งไว้เช่นนั้นก็ย่อมจะผิดเงื่อนไขกับเจ้าของที่ดิน และผิดเงื่อนไขตามหน้าที่ซึ่งจะต้องให้บริการแก่ประชาชน ซึ่งจะเป็นการผิดถึงสองกระทง

เมื่อผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาเทศบาลในปี พ.ศ. 2496 ผมจึงได้ติดตามเรื่องนี้ โดยขอให้นายกเทศมนตรีเจรจากับเจ้าของที่ดินชี้แจงให้ทราบถึงความเดือดร้อนของชาวเมืองภูเก็ตในเรื่องน้ำท่วม และการใช้ถนนมนตรี นายกเทศมนตรีศิลป์ บุญขจร ได้เจรจากับคุณเอี้ยว ตัณฑวณิช ผู้แทนมรดกพระพิทักษ์ชินประชา และเป็นที่ตกลงกันว่าเมื่อเทศบาลได้สร้างสะพานแล้ว จะขนานนามว่า พิทักษ์ชินประชา การที่คุณเอี้ยว ตัณฑวณิช เป็นนักเรียนกฎหมายในประเทศอังกฤษพร้อมกับ ม.ล.ปีกทิพย์ มาลากุล ซึ่งเป็นพี่เขยของผมก็ทำให้บรรยากาศในการเจรจาไม่เครียดและเป็นกันเอง

ผมรับเป็นเทศมนตรีในครั้งนั้นก็เพื่อจะจัดการสร้างสะพานสองแห่งนี้ให้สำเร็จและได้เสนอต่อคณะเทศมนตรีว่าทางบริษัทกำมุนติง ทิน เดรดยิง ลิมิเต็ด มีโครงการสะพานเหล็กที่ใช้ในทางรถไฟของบริษัทสายเลียบคลองพังงา และสายทุ่งคาโงก หลายสะพานและยินดีจะยกมาติดตั้งดัดแปลงเป็นสะพานรถยนต์ได้โดยเร็ว แต่ตามระเบียบเทศบาลในยุคนั้นทางเทศบาลไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้แผนผังของตนเอง และต้องใช้แผนผังสะพานมาตราฐานของส่วนกลาง และจะต้องรองบประมาณเพื่อสร้างสะพานดังกล่าว ผมจึงจำเป็นต้องเป็นเทศมนตรีอยู่นานถึง 18 เดือน จึงลาออกได้เมื่อสร้างสะพานเสร็จ

การสร้างสะพานดังกล่าวมิได้บรรเทาปัญหาน้ำท่วม แต่เป็นการป้องกันมิให้มีการปิดทางระบายน้ำสำคัญ ซึ่งเคยเป็นทางระบายน้ำออกทะเลที่สำคัญของตำบลทุ่งคา แต่ต่อมาเมื่อมีการถมทะเลเพื่อขยายที่ดินเป็นที่อยู่อาศัย ถนนมนตรีซึ่งเคยทำหน้าที่เป็นทำนบกั้นน้ำทะเล ก็กลับกลายไปอยู่ห่างทะเลหลายกิโลเมตร เช่นเดียวกับถนนเจ้าฟ้าหน้าโรงพัสดุเดิมของบริษัทระเงงทิน โนไลอาบิลิตี หรือสำนักงานทรัพยากรธรณีเขตภูเก็ตในปัจจุบัน

ปัญหาน้ำท่วมเขตเทศบาลภูเก็ตได้รับการแก้ไขไปบ้าง เมื่อกรมทรัพยากรธรณีได้ขุดคลองระบายน้ำออกที่สะปำ แทนโครงการเดิมที่จะขุดคลองระบายน้ำออกทางบ้านกู้กู


การเข้าไปรับหน้าที่เทศมนตรีในครั้งนั้น ทำให้ผมได้มีโอกาสได้รับเลือกเป็นประธานสภาจังหวัดภูเก็ต และเทศมนตรีอีกครั้งหนึ่ง และทุกครั้งที่ผมรับงานท้องถิ่น ก็ต้องมีโครงการที่เป็นรูปธรรมซึ่งเมื่อสำเร็จแล้วก็สามารถลากออก เปิดโอกาสคนอื่นซึ่งมีโครงการต่าง ๆ เข้าไปทำงานให้ท้องถิ่นได้อีกต่อไป.

 

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้710
mod_vvisit_counterเมื่อวาน2905
mod_vvisit_counterทั้งหมด10716214