Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
ดีบุกในภูเก็ตสมัยอยุธยา PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อังคาร, 05 กุมภาพันธ์ 2008

ดีบุกกับภูเก็ตสมัยอยุธยา

ราชัน กาญจนะวิณิช
-------------

  ในระหว่างเวลาที่ มองซิเออร์ เรเน ชาร์บอโน มารักษาการอยู่ในเมืองนี้ก็ได้สร้างป้อมเล็ก ๆ ทำด้วยไม้กระดานป้อมหนึ่ง ซึ่งมีหอคอย 4 หอซึ่งก็งดงามอยู่บ้าง พลเมืองในเกาะนี้เป็นคนป่าคนดง หรือจะใช้คำให้ดีหน่อย ก็เป็นคนที่ไม่รู้จักกิริยาสุภาพ ซึ่งในประเทศสยามทั้งพระราชอาณาเขต ไม่มีที่ใดที่จะมีคนเลวทรามเช่นนี้เลย ชาวเกาะนี้อาศัยอยู่ตามป่าตามดง ไม่ทำการงานที่แปลกอย่างใดเลย ทั้งวิชาความรู้ก็ไม่ต้องเสาะแสวงหา การที่ทำอยู่ในทุกวันนี้ก็เพียงแต่ตัดไม้ทำฟืนทำนา และขุดดินเพื่อร่อนหาแร่ดีบุกเท่านั้น แร่ดีบุกนี้เป็นสิ่งสำคัญของเมืองนี้ และที่ได้เกิดมีการค้าขาย และที่ชาวเมืองได้อยู่เลี้ยงชีพไปได้ก็โดยอาศัยแร่ดีบุกนี้เอง เพราะชาวเมืองขุดแร่ดีบุกได้ ก็เอาแร่นั้นไปแลกเปลี่ยนกับพ่อค้าซึ่งนำสินค้ามาจากภายนอกเพื่อเอามาแลกเปลี่ยนกับดีบุกนั้นเอง การค้าดีบุกนี้ได้กำไรมาก เพราะเหตุนั้น บริษัทค้าขายของฮอลันดาซึ่งไปทุกหนทุกแห่งที่เห็นว่าจะหาผลประโยชน์ได้ จึงได้ตั้งห้างใหญ่ในเมืองนี้มาแต่เดิม แต่ได้เลิกห้างไปสัก 14 หรือ 15 ปีมาแล้ว เหตุที่ต้องเลิกห้างไปก็เพราะฮอลันดาจะคิดเอากำไรฝ่ายเดียว พวกชาวเมืองกับพวกแขกมลายูซึ่งมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในเมืองภูเก็ต จึงได้ช่วยกันฆ่าฟันพวกฮอลันดาตายเสียหมดสิ้น ตั้งแต่นั้นมา บริษัทฮอลันดา ก็หาได้ส่งคนออกมาอีกไม่

 มองซิเออร์ เวเรต์ สรุปบันทึกของเขาว่า “การที่มีดีบุก อำพัน และไข่มุก ซึ่งหาได้ในเมืองนี้ ทั้งเป็นเมืองที่อยู่ชายแดนด้วยนั้น จึงต้องนับว่าเมืองนี้เท่ากับเป็นกุญแจของประเทศสยาม และเป็นเมืองที่สำคัญของพระเจ้ากรุงสยามเมืองหนึ่ง”

 

 เยรินี ได้เขียนไว้ว่า มองซิเออร์ บิลลี หรือ บิญี (BILLI) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองภูเก็ต ในปี พ.ศ. 2228 (ค.ศ.1685) และไม่ได้อยู่ที่ภูเก็ต เมื่อนายพล เดฟาซ์ (DESFARGES) ได้นำหมู่เรือฝรั่งเศส 5 ลำ เดินทางมาในปี พ.ศ. 2232 (ค.ศ.1689) เพื่อจะหาทางเจรจาคืนตัวประกันแลกเปลี่ยนกับการกักขังชาวฝรั่งเศสในกรุงศรีอยุธยา และเขียนอ้างว่า เกอร์แวส์ (GERVAIS) ซึ่งอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ระหว่างปี พ.ศ. 2224 ถึง 2228 (ค.ศ. 1681-1685) ได้บันทึกไว้ว่า ชาร์บอนโน (CHARBONNERAU) ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลสยามให้ดูแลเกาะภูเก็ต และได้เข้าไปปกป้องอย่างมั่นคง ไม่ยอมได้ฮอลันดาเข้ายึดเกาะนั้นได้

 สำหรับ มองซิเออร์ บิลลี หรือบิญี (BILLI) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองภูเก็ตนั้น อาจจะได้รับแต่งตั้ง ใน พ.ศ. 2228 (ค.ศ. 1685) จริงตามที่ เยรินีได้เขียนไว้ แต่ ม. บิลลี เคยทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการวังของ เชวาเลีย เดอ โซมองต์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นราชทูตฝรั่งเศสคนแรกที่เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาในปลายปี ค.ศ. 1685 และได้ลงนามในสัญญาลงวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2228 (ค.ศ. 1685) เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางศาสนาและการค้า บริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศสได้รับอนุญาตให้ค้าอย่างเสรี โดยเสียภาษีขาเข้าและขาออก และการซื้อขายต้องผ่านคลังสินค้าของหลวง ผู้จัดการบริษัท ได้รับสิทธิปกครองผู้คนที่เข้ามาทำการค้าขายด้วย พร้อมทั้งสิทธิผูกขาดการซื้อดีบุกที่เกาะภูเก็ต ส่วนทางสงขลานั้นก็ได้รับสิทธิในการสร้างป้อมปราการ

 สำหรับเจ้าเมืองภูเก็ต ชาวฝรั่งเศสคนที่สองนี้ ไม่มีหลักฐานว่าเป็นเจ้าเมืองที่มีคนรักใคร่เป็นพิเศษ และคงจะมาอยู่ที่ภูเก็ตจนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งเป็นช่วงที่คนไทยเริ่มสงสัยใจเจตนาของฝรั่งเศส แต่มีชื่อปรากฎในจดหมาย ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2228 (ค.ศ. 1685) ที่ มองซิเออร์ เดอ ลูแวง เขียนไว้ว่า  “ข้าพเจ้ามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้พบมองซิเออร์ เดอ บิลลี ในเวลาที่ เซอวาเลีย เดอ โซมองต์ ราชทูตของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสได้เข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้ากรุงสยาม ข้าพเจ้าได้ลงไปที่เรือเพื่อคำนับท่านราชทูต เพราะถือว่าท่านราชทูตเป็นหัวหน้าห้างฝรั่งเศส แล้วท่านมองซิเออร์ เดอ บิลลี จึงได้ส่งหนังสือที่ท่านฝากมาให้ข้าพเจ้า” ซึ่งก็ทำให้เข้าใจได้ว่า มองซิเออร์ เดอ บิลลี นี้คงจะเดินทางมากรุงศรีอยุธยา เมื่อปลายปี ค.ศ. 1685 (พ.ศ. 2228) พร้อมกับคณะราชทูตของเชอวาเลีย เดอ โซมองต์ เพราะเป็นผู้บัญชาการปราสาทของเดอ โซมองต์ ในประเทศฝรั่งเศส และก็คงได้มาทำหน้าที่เป็นเจ้าเมืองภูเก็ต ในปีถัดมา คือ ค.ศ. 1686 ซึ่งอาจเป็นปลาย พ.ศ. 2228 หรือ ในปี พ.ศ. 2229 ก็ไม่แน่ เพราะการเริ่มต้นปีใหม่ไม่ตรงกัน และ ม.บิลลี ก็คงจะอยู่ที่ภูเก็ตเพียงเวลาไม่เกิน 2 ปี จึงไม่ค่อยจะเป็นที่รู้จักกัน

 ที่ฝรั่งเศสเรียกว่าภูเก็ตนั้น ก็ไม่มีหลักฐานแน่นอนว่าหมายถึงเกาะภูเก็ตทั้งเกาะ หรือ เมืองภูเก็ต หรือเขตปกครองตอนใต้ของเกาะ ตามที่ใช้ในการปกครองในยุคต่อมา แผนที่ฝรั่งเศสโบราณ PLAN DE’L’ISLE JUKE SEILON แสดงเมือง PUQUET ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอ่าวฉลอง ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะ นอกจากนั้นแล้วยังแสดงว่าอยู่ใกล้คลองหรือแม่น้ำทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอ่าวฉลอง ซึ่งอยู่ตรงกับที่ตั้งคลองมุดงในปัจจุบัน แผนที่ฝรั่งเศสฉบับนี้แสดงที่ตั้งเมืองใหญ่ที่สุด อยู่ริมคลองหรือแม่น้ำใกล้ๆ บ้านท่าเรือในปัจจุบัน ทางด้านตะวันตกของเกาะก็มีเมืองหรือชุมชนเรียกว่า PUTOM ก็คงจะเป็น ปะตอง หรือป่าตอง ในปัจจุบัน จึงน่าจะสันนิษฐานได้ว่าชาวยุโรปเมื่อสามร้อยปีมานั้น ใช้เรือใบเข้ามาในอ่าวฉลอง เพื่อติดต่อกับภูเก็ต นอกจากอ่าวท่าเรือหรือสะปำ ในยุคปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จึงมีหลักฐานปรากฏว่าได้มีเรือใบต่างประเทศเข้ามาติดต่อทางด้านอ่าวทุ่งคา และที่ท่าแครง หลักจากที่ได้มีการทำเหมืองแร่ดีบุกที่ ระเง็ง หล่อโรง และทุ่งคา

 เมื่อสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในปี พ.ศ. 2231 (ค.ศ. 1688) แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศยุโรปก็เริ่มเสื่อมคลาย ถึงแม้ว่าพ่อค้าชาวฮอลันดาจะพยายามจะแผ่อิทธิพลกลับเข้ามาอีก และมีการเปิดห้างที่ปัตตานีขึ้นอีก แต่ก็ไม่ได้กลับเข้ามาที่ภูเก็ต ประเทศต่าง ๆ ในยุโรป ก็วุ่นวายด้วยสงคราม พระเจ้าวิลเลี่ยมที่สามของฮอลันดา ซึ่งมีมเหสีเป็นเจ้าหญิงแมรีของอังกฤษได้ยกทัพเข้าไปในอังกฤษ จนพระเจ้าเจมส์ที่สองของอังกฤษต้องหนีอพยพไปอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ฝรั่งเศสต้องประกาศสงครามกับอังกฤษ ซึ่งได้กลับเป็นพันธมิตรกับฮอลันดา ในต้นปีต่อมา พระเจ้าวิลเลี่ยมและราชินีแมรีได้สวมมงกุฎเป็นกษัตริย์อังกฤษ และเริ่มเปิดฉากสงครามศาสนาระหว่างนิกายโรมันคาธอลิต กับนิกายใหม่  ๆ ที่แยกตัวออก สงครามศาสนานี้ยืดเยื้อไปเป็นเวลา 9 ปี และต่อมาอีกเพียง 4 ปี ก็เกิดสงครามชิงการสืบสันติวงศ์สเปน ใน พ.ศ. 2250 (ค.ศ. 1701) จนถึงปี พ.ศ. 2262 (ค.ศ. 1713) จึงได้มีการสงบศึกทำสัญญาที่เมือง ยูเทรด (UTRECHT)  ในประเทศฮอลแลนด์ การค้าดีบุกในภูเก็ตจึงต้องชะงักไปจนกระทั่งสิ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา และก็ไม่มีเจ้าเมืองภูเก็ตที่มีความสำคัญมากพอที่จะมีชื่อปรากฏในประวัติศาสตร์นอกจากจอมร้าง บ้านตะเคียน บิดาของท้าวเทพกระษัตรี เจ้าเมืองถลาง การแต่งตั้งเจ้าเมืองก็เป็นการแต่งตั้งจากนครศรีธรรมราช เพราะความสำคัญของภูเก็ตนั้นอยู่ที่การค้าดีบุก

เมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าตีแตก ทางเมืองไทรบุรีก็เคยยกทัพเรือมาตีเกาะภูเก็ต และยึดเกาะภูเก็ตไว้ได้ชั่วคราว และก็ถูกชาวเมืองขับไล่ไปได้สำเร็จ เมื่อพระยาพิมลได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองถลาง ประเทศสยามอยู่ในความระส่ำระสาย กัปตันเจมส์ ฟอร์เรสท์ (CAPTAIN FAMES FORREST) ได้เขียน เล่าถึงการเดินทางไปเกาะภูเก็ตสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระยาพิมลเป็นเจ้าเมือง และมีผู้ช่วย 3 คนคือ พระยาทุกขราษฎร์ พระยาสุรินทรราชา และพระยาลังการักษ์ เน้นถึงเรื่องการที่ชาวเกาะที่ทำมาหากินด้วยการขุดแร่ดีบุก ต้องถูกกดขี่มากกว่าเดิม เพราะทางราชการได้ให้คนจีนเจ้าของโรงถลุงผูกขาดการถลุงแร่ดีบุก นอกจากหักน้ำหนักเป็นค่าสูญเพลิงแล้ว ยังเก็บค่าถลุงอีกร้อยละ 12 แต่ที่ร้ายที่สุดก็คือการเก็บค่าภาคหลวงก่อนจะขายไปนอกประเทศอีกร้อยละ 25 ชาวเหมืองแร่ภูเก็ตจึงความรู้สึกถูกเอารัดเอาเปรียบ และใคร่ที่จะดิ้นรนให้พ้นจากอำนาจรัฐบาล และพระยาพิมลเองในชั้นต้นก็พร้อมที่จะสนับสนุนความคิดนี้ ในสมัยนี้ภูเก็ตได้เริ่มส่งดีบุกไปขายที่ปีนัง

เยรินี ได้อ้างรายงานของกัปตัน อเลกซานเดอร์ แฮมิลตัน (ALEXANDER HAMILTON) ซึ่งได้เดินทางไปในน่านน้ำภูเก็ต ในระหว่างปี พ.ศ. 2243 – 2262 (ค.ศ. 1700-1719) และเขียนไว้ว่า ที่เกาะภูเก็ตมีไม้ดีสำหรับทำเสากระโดงเรือ และมีดีบุกมาก แต่หาคนขุดไม่ได้ เพราะถูกโจรสลัดรบกวน และถูกเจ้าเมืองกดขี่ เพราะเจ้าเมืองโดยทั่ว ๆ ไปแล้วเป็นคนจีนที่ซื้อตำแหน่งจากราชสำนักและชักทุนคืนด้วยการเอาเปรียบราษฎร จนชาวเกาะภูเก็ตเห็นว่าการมีทรัพย์สมบัตินั้นเป็นภัย สู้อยู่ว่าง ๆ ใช้ชีวิตอย่างง่าย ๆ นั้นสบายกว่า ฉะนั้นจะเป็นได้ว่าหลังจากแผ่นดินพระนารายณ์มหาราชแล้ว ไม่มีเรือใบที่ติดปืนปราบปรามโจรสลัด ในน่านน้ำเกาะภูเก็ต และมีพ่อค้าจีนที่คิดเอารัดเอาเปรียบราษฎรมาปกครองแทนเจ้าเมืองชาวยุโรป

เยรินี ยังได้อ้างถึง ดร.โคนิค (DR.KOENIG) นักวิทยาศาสตร์ชาวเดนมาร์คที่เคยได้มาสำรวจเกาะภูเก็ต ในปี พ.ศ. 2322–3 (ค.ศ.1779-80) ในสมัยพระเจ้าตากสิน ครั้งแรก ดร. โคนิค ได้โดยสารเรือ “บริสตอล” (BRISTOL) ซึ่งมีฟรานซิส ไลท์ (FRANCIS LIGHT) เป็นผู้บังคับการ เดินทางมาเกาะภูเก็ต ดร.โคนิค เขียนว่า เมืองท่าเรือเป็นศูนย์กลางในการปกครองเขตภูเก็ต และได้ไปดูเหมืองแร่ และเกาะต่าง ๆ ในอ่าวพังงา ในครั้งที่สอง ได้ไปทอดสมอเรือที่เกาะมะลิและพบเรืออังกฤษจอดอยู่แล้ว 2 ลำ ได้สำรวจเกาะมะพร้าวพบหินชนวนที่คนไทยใช้เป็นกระดานชนวนเขียนหนังสือ และมีชาวมลายูที่จับปลิงทะเลนำมาย่างเป็นอาหาร บางครั้งไม่สามารถออกสำรวจได้เพราะมีเรือโจรสลัด แต่ก็เคยออกไปถึงช่องระหว่างเกาะรัง เกาะยาวน้อยและเกาะยาวใหญ่ เกาะนาคา และขึ้นไปถึงเกาะฝรั่งเศส นอกจากนั้นยังได้ไปสำรวจแหลมมลายู ซึ่งเป็นเกาะเวลาน้ำขึ้นอยู่แนวเดียวกับเกาะนาคา (SALANGS) ทั้งสอง ที่แหลมยามูมีช้างป่ามาก ระหว่างพักอยู่ที่ท่าเรือ คืนหนึ่งเสือเข้ามากินห่านใกล้ ๆ บ้านพัก ชาวเมืองชอบรับประทานข่า (AMONIM) และแมลงตัวใหญ่ชนิดหนึ่ง (SCARABAEA ACTEN) นกที่พบมากเป็น นกเงือก ซึ่งชาวเกาะเรียกว่า นกฮัง คนที่ขุดหาแร่ดีบุกส่วนใหญ่เป็นสตรีสูงอายุที่ออกร่อนแร่มาขายให้โรงถลุงที่หักส่วนแบ่งร้อยละ 20 ดร. โคนิค ทำการสำรวจบริเวณต่างๆ ที่ภูเก็ต ถ้าจะไปไกลหรือเข้าป่าลึก กัปตัน ฟรานซิส ไลท์ ก็ต้องให้ลูกเรือปืนช่วยคุ้มกันไปด้วย จนถึงวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2323 (ค.ศ. 1780) ก็ล้มป่วยต้องขึ้นเรือของกัปตันสก็อต เดินทางไปรักษาตัวที่มะละกา

ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ภูเก็ตได้ถูกพม่ารุกรานหลายครั้ง เพราะไม่มีกำลังเข้มแข็งที่จะคุ้มกัน พม่าได้ส่งทหารมาตีภูเก็ตรวม 4 ครั้ง นับตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาแตกจนถึงสมัยรัชกาลที่ 2 พลเมืองได้ลดน้อยถอยลงเพราะถูกพม่ากวาดต้อนไป หรืออพยพหนีภัยสงครามไป เจ้าเมืองที่มีชื่อเสียงที่สุดในสงครามกับพม่า ก็คงจะเป็นท้าวเทพกระษัตรี หรือท่านผู้หญิงจัน และท้าวศรีสุนทร หรือคุณมุก ซึ่งสามารถรวบรวมผู้คนรักษาค่ายไว้ได้ ความสำคัญของเกาะภูเก็ตในยุคนั้น จึงอยู่ทางด้านเหนือของเกาะ เพราะพม่าจะยกทัพมาทางปากพระ และแนวรบฝ่ายไทยตั้งรับจะมาอยู่ที่คลองบางใหญ่ ซึ่งมีต้นน้ำที่เขาพระแทวและไหลออกทะเลที่ท่าอู่ตะเภา (อ่าวบางเทา)

ในการโจมตีเกาะภูเก็ตนั้น พม่าไม่มีจุดหมายที่จะเข้ายึดครองเกาะภูเก็ตแต่เป็นการล้อมเมืองเข้าฆ่าฟัน กวาดต้อนพลเมือง และยึดเอาทรัพย์สมบัติที่มีค่าไป ที่พม่าสามารทำได้เช่นนั้น ก็คงเป็นเพราะมีความสามารถในการเดินเรือ พม่าส่งทัพเรือภายใต้การนำของยี่หวุ่นจากมะริดมาโจมตีหัวเมืองชายทะเลที่ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง ในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2328 (ค.ศ. 1785) และเดือนมกราคม พ.ศ. 2329 (ค.ศ. 1786) และเข้ามาต่อสู้กับฝ่ายไทยที่เกาะภูเก็ต ที่ปากพระ พระยาธรรมไตรโลก ต้องเสียชีวิตและพระยาพิพิธ ต้องถอยทัพหนีข้ามเทือกเขาในพังงาไปทางด้านตะวันออก แต่ก็ไม่สามารถเข้ายึดเมืองถลางได้ เพราะท่านผู้หญิงจัน และคุณมุกได้รวบรวมราษฎรต่อต้านไว้ได้ ในช่วงนั้น ภูเก็ตมีเมืองถลางเป็นเมืองสำคัญ ส่วนท่าเรือทางใต้ได้เสื่อมความสำคัญลง

พม่าส่งทัพเรือมาตีเกาะภูเก็ตอีกเป็นครั้งที่สอง ในปี พ.ศ. 2352 (ค.ศ. 1809) เมื่อพม่าได้ข่าวว่า สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกกำลังทรงพระประชวร จึงได้รีบส่งทัพเรือมาโจมตีเมืองถลางอีก ในระหว่างฤดูมรสุม ซึ่งแสดงถึงความสามารถในการเดินเรือของพม่า และเริ่มเข้าระดมยิงเมืองถลางในวันที่ 9 สิงหาคม และสามารถเข้ายึดเมืองถลางได้ ในวันที่ 15 เดือนเดียวกัน และรีบกวาดต้อนราษฎรและทรัพย์สินกลับเมืองทวาย รองแม่ทัพพม่าแล่นเรือออกทะเลจะเดินทาง แต่ต้องถูกพายุมรสุมพัดกลับเข้าฝั่งจึงถูกเจ้าเมืองถลางจับตัวไว้ได้

พม่าได้ส่งทัพเรือมาตีเกาะภูเก็ตอีกในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม พ.ศ. 2352 (ค.ศ.1809) และมกราคม พ.ศ. 2352 (ค.ศ.1810) นับเป็นครั้งที่สามเนื่องจากทางภูเก็ตไม่มีผู้ชำนาญทะเล เมื่อเข้าใจว่าพม่าถอยทัพไปแล้ว ก็เกิดชะล่าใจฝ่ายพม่าจึงยกพลขึ้นบกที่แหลมยามูและเข้าล้อมเมืองถลางในวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2352 ส่วนเมืองในเขตปกครองของภูเก็ต คือเมืองท่าเรือนั้นถูกพม่าตีแตกภายในวันเดียว ส่วนเมืองถลางนั้นถูกล้อมอยู่ 27 วัน พม่าก็บุกเข้าเมืองปล้นทรัพย์สินและกวาดต้อนราษฎรได้สำเร็จในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2352  (ค.ศ. 1910) บาทหลวงฝรั่งเศสคนหนึ่งชื่อ PALLEGOIX ได้เขียนบันทึกการรบครั้งนี้ไว้ละเอียดในหนังสือ HISTORY OF THE CHURCHES OF INDIA, BURMA, SIAM.

ปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2354 (ค.ศ. 1811) พม่าได้ส่งทหารประมาณ 5,000 คน ขึ้นบกที่เกาะภูเก็ตอีกเป็นครั้งที่ สี่ แต่เมืองทางเมืองหลวงส่งทัพใหญ่ไปช่วย พม่าทราบข่าวก็ถอยทัพกลับไปแต่ไม่ลืมปล้นทรัพย์สินตามเมืองเล็ก ๆ ชายฝั่งทะเลไปด้วย เพราะทางฝ่ายไทยไม่เคยส่งเรือรบออกรับมือพม่า แต่ใช้การรบแบบรับคือกวาดต้อนผู้คนเข้าค่ายเพื่อตั้งรับเท่านั้น

การรุกรานของพม่านั้น มีผลกระทบกระเทือนต่อเกาะภูเก็ตมาก ดังหลักฐานต่างๆ ที่มีผู้เขียนไว้ ถึงแม้จะเป็นเวลามากกว่า 10 ปีต่อมา

เจมส์ โลว์  ได้เขียนเรื่องการไปเกาะถลาง เมื่อปี พ.ศ. 2367 (ค.ศ. 1824) ไว้ว่าได้ไปขึ้นบกที่ท่าเรือ "เราถึงท่าเรือ เมื่อตะวันตกดิน และข้าพเจ้าได้เดินทางไปยังบ้านหลวงบำรุงผู้ดูแลเกาะนี้ เขาต้อนรับข้าพเจ้าดัวยอัธยาศัยไมตรีอันดียิ่ง ครั้นเวลาประมาณ 2 ทุ่ม ภรรยาของหลวงบำรุงซึ่งเป็นหญิงสูงอายุได้ยกอาหารกับขนมฉาบน้ำตาล ซึ่งจัดอย่างดีมาวางตรงหน้าข้าพเจ้า เจ้าของบ้านไม่ยอมกินอาหารจนกว่าข้าพเจ้าอิ่มแล้ว เมื่อเขากินอาหารและกลับมายังข้าพเจ้า เราได้พูดคุยกันท่ามกลางแสดงคบไฟจนกระทั้งเที่ยงคืน - - - - - - - - เท่าที่ปรากฏว่าชาวเมืองถลางดำเนินชีวิตไปอย่างง่าย ๆ ตั้งแต่เกาะถลางเริ่มเสื่อม พวกเขาก็ถูกกำหนดให้อยู่ใต้การปกครองของเมืองพังงา พวกผู้หญิงมีความลำบากอยู่บ้างในการนุ่งห่ม - - - - - - - - - หมู่บ้านท่าเรือในสมัยกัปตันฟอร์เรสท์ มีบ้าน 30 หลัง ในขณะนี้มีเพียง 18 หลังคาเรือน  - - - - - - - - - เขตแดนของคนไทยทางฝั่งทะเลตะวันตกของแหลมมลายูทั้งหมด ดูเหมือนว่าถลางมีค่าอย่างแท้จริงมากที่สุด อย่างไรก็ตามสำหรับผู้เป็นเจ้าของอยู่ขณะนี้ มันมีสภาพดีกว่า แผ่นดินรกร้างแห้งแล้งนิดเดียวเท่านั้นเอง ดูเหมือนสาเหตุทั้งหลายของการขัดแย้งกันก็ได้รับการอธิบายเป็นบางส่วนแล้ว และสาเหตุหนึ่งน่าจะขจัดไปได้โดยสิ้นเชิงในไม่ช้า โดยการที่พวกอังกฤษเข้าปกครองเมืองท่าอังวะซึ่งจะทำให้สยามทุเลาจากความกลัวพม่ารุกรานได้ทันที และเมื่อได้ปล่อยให้เวลาล่วงไปสักระยะหนึ่งจะได้ผลดีแก่การเปลี่ยนแปลง ถลางก็จะสูงส่งขึ้นในความนิยมของสยาม - - - - - - -"

ตำแหน่งเจ้าเมืองภูเก็ตต่อมาจึงมักจะตกทอดแก่ลูกหลานของวีระสตรีสองท่านที่กล่าวแล้วหรือข้าราชการที่มาจากกรุงเทพฯ ดังปรากฏในหนังสือลงวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2367 (ค.ศ. 1824) ถึงร้อยเอกเจมส์ โลว์ ที่ปีนัง เขียนโดยพระบริรักษ์ภูธร บุตรท่านพระยาณรงค์เรืองฤทธิประสิทธิสงคราม พระยาถลางผู้ออกมาสำเร็จกิจศุขทุกข์ประชาราษฎร ณ เมืองถลาง บางคลี ตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า ทั้งแปดหัวเมือง แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่แสดงความเด่นชัด ปรากฏในพงศาวการ จนถึงสมัยพระยาภูเก็ต (ทัด) ซึ่งได้รับผูกขาดซื้อแร่ดีบุกที่ภูเก็ต จนสามารถสะสมทรัพย์ไว้พอที่จะไปสร้างตึกใหญ่ที่ ธนบุรี ปีนัง และสิงคโปร์

ในปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. 3) ประมาณปี พ.ศ. 2393 (ค.ศ. 1850) กรมการเมืองถลางคนหนึ่งในตำแหน่ง หลวงมหาดไทย ได้รับเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระภูเก็ต (แก้ว) ซึ่งมีต้นตระกูลเป็นพ่อค้ามาจากเมืองมัทราช พระภูเก็ต (แก้ว) มีบุตรชายชื่อ ทัด ซึ่งเป็นผู้เริ่มขยายการทำเหมืองแร่ดีบุกออกไปยังบริเวณใหม่ ๆ เช่นที่ ตำบลทุ่งคา หล่อยูง และท่าแครง เมื่อพระภูเก็ต (แก้ว) ลาออกจากราชการ บุตรชายที่ชื่อทัด หรือหลวงทวีปสยามกิจ ก็ได้รับตำแหน่งรักษาการเมืองภูเก็ต และต่อมาก็ได้เป็นเจ้าเมือง โดยมีบรรดาศักดิ์ใหม่เป็น พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์

พระยาภูเก็ต (ทัด) เป็นบุคคลสำคัญในการสร้างตำบลทุ่งคาให้กลายเป็นจุดศูนย์กลางของเกาะภูเก็ต โดยมาสร้างบ้านอยู่ในหมู่เหมืองแร่ดีบุก จนกระทั่งเกาะที่เคยเรียกกันว่า เกาะถลาง ก็มาเป็นที่รู้จักกันว่า เกาะภูเก็ต ความสำคัญของการทำเหมืองแร่ดีบุก ที่ตำบลทุ่งคา ได้ทำให้ตำบลทุ่งคาได้กลายเป็นอำเภอทุ่งคา และเป็นอำเภอเมืองภูเก็ตหรือเทศบาลเมืองภูเก็ต ในสมัยต่อมา

พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ (ทัด) เลือกที่ตั้งข้างริมแม่น้ำใหญ่ หรือคลองทุ่งคา หรือคลองบางใหญ่ ตามแนวสายแร่ดีบุกที่มุ่งตรงออกสู่ทะเลในอ่าวทุ่งคา การทำเหมืองแร่ดีบุกในสมัยนั้นใช้วิธีทำเหมืองหาบด้วยแรงงานคนเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็จำเป็นต้องอาศัยกรรมกรจีน ที่มาจากดินแดนต่าง ๆทั้งประเทศจีนและแหลมมลายู และเมื่อมีการติดตามสายแร่ดีบุกออกไปใกล้ทะเล ก็จำเป็นต้องกั้นเป็นทำนบย้ายทางน้ำให้ออกไปทางอื่น และได้ขยายการทำเหมืองแร่ห่างออกไปจากฝั่งเดิม

หน้าที่สำคัญของเจ้าเมืองภูเก็ตในสมัยนั้น ก็คือการประมูลเก็บภาษีอากรจากเหมืองแร่ดีบุก เพื่อที่จะส่งให้รัฐบาลในกรุงเทพฯ ซึ่งถ้าเก็บได้มากก็จะได้ผลประโยชน์เป็นของส่วนตัว ระบบการประมูลเก็บภาษีนี้ ทำให้กรรมกรเหมืองแร่ชาวจีนต้องเดือดร้อนและได้ก่อการจลาจลขึ้นหลายครั้ง จนรัฐบาลต้องส่งเรือรบไปควบคุม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2412 (ค.ศ.1869) พ.ศ. 2415 (ค.ศ. 1872) เมื่อพระยาอัศฎงคตทิศรักษา (ตันกิมเจ๋ง) ได้เริ่มยื่นขอประมูลเก็บภาษีแข่งกับเจ้าเมืองภูเก็ต ซึ่งทำให้เจ้าเมืองภูเก็ตต้องเพิ่มค่ารับเหมาตามไปด้วย พระยาภูเก็ต (ทัด) นั้นต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระยาวิชิตสงคราม จางวางกำกับเมืองภูเก็ต และบุตรชายชื่อ ลำดวน ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็น พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ สืบทอดไป
ในปี พ.ศ. 2424 (ค.ศ. 1881) พระยาภูเก็ต (ลำดวน) ไม่สามารถส่งภาษีให้รัฐบาลได้ครบถ้วน จนต้องเลิกระบบผูกขาดเหมาเก็บภาษี และบ้านเรือนของพระยาภูเก็ต (ลำดวน) ที่ตำบลทุ่งคาก็ได้ตกเป็นทรัพย์สินของทางราชการ
ในปี พ.ศ. 2437 (ค.ศ.1894) วาร์ริงตัน สไมธ์ จากกรมราชโลหกิจมีโอกาสไปราชการที่จังหวัดภูเก็ต และเขียนบันทึกไว้ (FIVE YEARS IN SIAM 1891-1896) ว่า:-

“ข้าพเจ้าได้ทราบจากกรุงเทพฯ ว่าท่านสมุหเทศาภิบาลเป็นผู้เฉลียวฉลาดซึ่งใครได้พบเห็นก็คงจะไม่คัดค้าน และก็คงทราบว่า นโยบายสูบเลือดหัวเมืองต่างๆ ทางด้านตะวันตกเช่นนี้คงจะมีผลตามมาเช่นไร และก็เป็นที่น่าประหลาดใจว่าทางรัฐบาลสยามก็พลอยเห็นชอบไปด้วย เพราะท่านข้าหลวงตรวจการได้รับความไว้วางใจ และปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอีกสมัยหนึ่ง ท่านสามารถเก็บภาษีได้มากประมาณว่าส่งเงินเข้ากรุงเทพฯ ได้ปีละ 500,000 เหรียญ ไม่มีเจ้าเมืองที่ไหนจะสามารถเก็บภาษีได้มากกว่านี้ และก็ไม่มีเจ้าเมืองใด ๆ ในโลกที่จะใช้เงินบูรณะบ้านเมืองในความดูแลได้น้อยกว่านี้ นอกจากอาคารสำนักงานของราชการและทำเนียบสมุหเทศาภิบาลแล้ว มีหลักฐานว่ามีการใช้เงินบำรุงท้องที่ในภูเก็ตอีกเพียง 3 แห่ง คือมีการซ่อมถนนสายในทู้ช่วงหนึ่งระยะ 200 หลา ค่าใช้จ่ายประมาณ 100 เหรียญ อีกแห่งหนึ่งคือ เมื่อที่พักตำรวจพังลง ได้มีการสร้างโรงไม้ไผ่ขึ้นแทน แต่ตำรวจคงไม่ได้จ่ายเงินเอง แห่งที่สาม ทุ่นและเสาวัดระดับน้ำในอ่าวภูเก็ตมีการทาสี กัปตัน เวเบอร์ ผู้กำกับตำรวจจ่ายค่าสี แต่ใช้แรงงานของราชการ ข้าพเจ้าเชื่อว่ารัฐบาลในกรุงเทพฯ คงไม่ทราบถึงผลกระทบอันจะพึงเกิดขึ้นจากากรใช้ระบบดังกล่าวในดินแดนที่ห่างไกล ตราบใดที่มีการส่งภาษีให้ครบถ้วน ก็จะไม่มีใครสนใจ เงินที่ใช้บำรุงกรุงเทพฯนั้น อาจจะทำให้ผู้คนเข้าใจว่า ประเทศสยามรุ่งเรือง เพราะเขาไม่เห็นหัวเมืองต่าง ๆ ที่ยากจน เจ้าเมืองคนหนึ่งชี้ให้เห็นถนนเรียบสองฝากคลองในกรุงเทพฯ แล้วบอกข้าพเจ้าว่า เงินของพวกเราจากบ้านนอกทั้งนั้น แต่เจ้าเมืองต้องควักกระเป๋าจ่ายค่ามุงหลังคาศาลประจำจังหวัดเอง


เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้ทรงรับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย หัวเมืองต่าง ๆ เริ่มได้รับความสนใจ และนโยบายสูบเลือดจากหัวเมืองไปบำรุงกรุงเทพฯ ก็กำลังเริ่มจะสั่นคลอน ในช่วง 18 เดือนที่แล้วมาได้มีการเปลี่ยนแปลงเริ่มขึ้นมากบ้างน้อยบ้าง แต่จะต้องก้าวไปอีกไกล เพราะยังหาคนที่เหมาะสมได้ยาก ทางด้านการกระจายเงินออกไปตามหัวเมืองนั้น ข้าพเจ้ายังไม่ทราบ แต่อย่างไรก็ตามภูเก็ตยังไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ จากนโยบายใหม่ ๆ นี้ หรือจากความคิดเห็นใหม่ ๆ กำลังเป็นของทันสมัยในกรุงเทพฯ


เจ้าเมืองภูเก็ตต่อมา ที่รู้จักกันดี ก็คงจะเป็น พระยารัษฎานุประดิษฐ์ ซึ่งความจริงมีตำแหน่งเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ท่านได้มีบทบาทมากในการพัฒนาเกาะภูเก็ต เช่นการตัดถนน ส่งเสริมให้ปลูกสวนยาง ตลอดจนการสร้างศาลากลางจังหวัดภูเก็ตขึ้นใหม่ ที่ตีนเขาโต๊ะแซะ แทนที่ทำการเก่าที่บ้านเดิมของพระยาภูเก็ต (ลำดวน) ที่ตำบลทุ่งคา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เขียนในหนังสือสาร์นสมเด็จไว้ว่า :-

“การบำรุงเมืองภูเก็ตได้เริ่มก่อขึ้น ทั้งทำถนนหนทาง และการจัดนคราทร พอประจวบเวลาพวกฝรั่งชาวออสเตรเลียนเข้ามาทำเหมืองแร่ในหัวเมืองไทย และแหลมมลายู พวกนี้มีทุนมากประสงค์แต่จะให้ได้ลงมือทำการโดยเร็ว ด้วยเวลานั้นดีบุกราคาสูงก็เป็นช่วงที่ พระยารัษฎานุประดิษฐ์ จะเรียกเงิน คอมเมนเสชั่น ได้ง่ายและได้มากขึ้นฝ่ายผู้ให้ก็ยอมด้วยยินดี เพราะเห็นประโยชน์ที่ได้จากเงินที่เสียไปนั้น ในตอนนี้รัฐบาลให้มีเอนยิเนียฝรั่ง ในกระทรวงโยธาธิการลงไปช่วยด้วย พระยารัษฎานุประดิษฐ์ จึงสามารถทำการบำรุงบ้านเมืองได้กว้างขวางออกไป ให้ทำถนนจากตัวเมืองภูเก็ตออกไปถึงตำบลต่าง ๆ ที่มีเหมืองแร่ทั่วเกาะ และให้กรุยถนนที่จะทำให้ถึงหัวเมืองใกล้เคียง สายหนึ่งจะทำไปถึงเมืองตะกั่วป่า อีกสายหนึ่งจะทำผ่านเมืองตะกั่วทุ่ง เมืองพังงา เมืองกระบี่ ต่อไปจนถึงเมืองตรัง ว่าโดยย่อ ถนนที่พวกกรมทางไปทำในรัชกาลที่ 7 นั้น ทำตามทางที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์ ได้กะไว้แล้วทั้งนั้น


นอกจากทำถนนดังกล่าวมา พระยารัษฎานุประดิษฐ์ สามารถสร้างเมืองภูเก็ตขึ้นใหม่ได้ทั้งเมือง ด้วยอุบายอย่างน่าอัศจรรย์ ด้วยบริเวณบ้านพระยาภูเก็ต ซึ่งตกเป็นของหลวงและอาศัยใช้เหย้าเรือนเดิมเป็นที่ว่าการมณฑล และที่พักของข้าราชการอยู่นั้นเป็นที่มีแร่ดีบุกอยู่ใต้ดินมาก เมื่อขุดแร่ตาที่ใกล้เคียงหมดแล้ว ก็ยังเหลืออยู่ตรงที่ตั้งบริเวณสถานรัฐบาล  มีบริษัทฝรั่งมาถามว่าถ้ายอมให้ค่าคอมเมนเสชั่นตามสมควร รัฐบาลจะอนุญาตให้ขุดแร่ตรงนั้นได้หรือไม่ พระยารัษฎานุประดิษฐ์ มาบอกหม่อมฉันว่า โชคดีมาถึงแล้ว ขออนุญาตขายที่บริเวณรัฐบาลเอาเงินสร้างสถานที่สำหรับราชการต่าง ๆ กับที่ตั้งที่อยู่ของข้าราชการขึ้นใหม่ให้สมสมัย หม่อมฉันก็กราบบังคมทูลของพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตามประสงค์ พระยารัษฎานุประดิษฐ์ ไปเลือกที่ใหม่บนเนินเขา แล้วคิดทำแผนผังทั้งถนนและสถานที่ต่าง ๆ เหมือนอย่างสร้างเมืองใหม่ ประมาณเงินที่จะต้องใช้การก่อสร้างตั้งเป็นราคาที่บริเวณรัฐบาล บริษัทก็รับซื้อ ได้เมืองใหม่ซึ่งปรากฏอยู่ทุกวันนี้ทั้งเมือง โดยมิต้องจ่ายเงินพระคลัง และยังมีกำไรต่อไปด้วยลงความในสัญญาขาย ว่าขายแต่แร่ดีบุก เหมืองบริษัทขุดแร่ดีบุกหมดแล้วต้องคืนที่นั้นให้รัฐบาลโดยไม่เรียกค่าชดใช้อย่างใด เมื่อหม่อมฉันไปเมืองภูเก็ตคราวตามเสด็จในรัชกาลที่ 7 ที่นั้นกลับมาเป็นของรัฐบาลแล้ว ยังเป็นที่ว่างเปล่าอยู่กลางตลาด รัฐบาลจะขายหรือจะสร้างตึกแถวให้เช่า ก็จะได้เงินอีกครั้งหนึ่งจากที่แห่งเดียวนั้น แต่ที่ประหลาดอย่างยิ่งนั้น ปรากฏว่าบริษัทที่รับซื้อไปได้กำไรงามด้วย เพราะแร่เนื้อดีบุกมาอยู่ตรงนั้นมาก รัฐบาลยิ่งได้เงินค่าภาคหลวงมากขึ้นจากการทำเหมืองแร่ในที่นั้นด้วยอีกโสดหนึ่ง


พระยารัษฎานุประดิษฐ์ หาเงิน คอมเมเสชั่น ได้เกินความคาดหมายจนสามารถทำถนนในเมืองอื่น เช่น ต่อถนนที่เมืองกระบุรี ต่อจากบ้านปากจั่นลงไปถึงทับหลี อันเป็นท่าเรือใหญ่สายหนึ่ง ช่วยกันกับเจ้าพระยายมราช และสมเด็จชาย เมื่อยังเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ทำถนนจากเมืองตรัง ถึง เมืองนครศรีธรรมราชสายหนึ่ง จากเมืองตรังข้ามภูเขามาถึงเมืองพัทลุงสายหนึ่ง ที่เมืองตะกั่วป่าก็ย้ายเมืองลงมาตั้งใหม่ที่น้ำลึกให้เรือไปมาได้สะดวก นอกจากนั้นสามารถต่อเรือไฟสำหรับใช้ราชการได้คือเรือถลาง (ลำเก่า) ลำหนึ่ง เรือเทพสตรี ลำหนึ่ง และมีตัวเงินเหลืออยู่ในพระคลังเมืองภูเก็ต เมื่อพระยารัษฎานุประดิษฐ์ถึงแก่อนิจกรรม กว่าสองแสนบาท การที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์ บำรุงหัวเมืองฝ่ายตะวันตกครั้งนั้น ได้พระราชทานบำเหน็จความชอบด้วยเครื่องอิสริยาภรณ์มหาสุราภรมงกุฎสยาม เป็นสายสะพายสวยที่สุดที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระราชทานแก่ผู้มีความชอบ เมื่อก่อนสวรรคต เพียง 3 เดือน


หลังจากสมัย พระยารัษฎานุประดิษฐ์ แล้ว การเก็บเงินชดเชย จากบริษัทเหมืองแร่เพื่อบำรุงท้องถิ่น ก็ถูกยกเลิกไป ทางเกาะภูเก็ตมิได้รับการทำนุบำรุงตามสมควรเนื่องจากได้ส่วนแบ่งน้อยจากงบประมาณส่วนกลาง จึงมิได้มีเจ้าเมืองที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันมาก จนกระทั่งยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ประเทศไทยต้องถูกญี่ปุ่นยาตราทัพเข้ามาในประเทศไทย


ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ได้มีคนไทยอย่างน้อย 2 ท่าน ที่ได้มีบทบาทในการต่อต้านญี่ปุ่นที่ได้เข้ามาควบคุมประเทศไทย และทำลายเศรษฐกิจของประเทศด้วยการปรับค่าเงินบาทให้เท่ากับเงินเยนอันไร้ค่าของญี่ปุ่น “เสรีไทย” 2 ท่านนี้ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองภูเก็ต คือ นายอุดม บุญญประสพ (พ.ศ.2492-2494) และนายมาลัย หุวะนันท์ (พ.ศ.2494-2495)


เจ้าเมืองในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่มีโอกาสแสดงความสามารถเพราะมาอยู่ภูเก็ตในระยะสั้น ๆ แต่ที่มีชื่อเป็นนักประชาธิปไตย ก็มี คุณมงคล สุภาพงศ์แต่ก็อยู่ไม่นาน และก็มี คุณอ้วน สุระกุล ซึ่งมีชื่อว่าเป็นนักพัฒนา และมีโอกาสมาเป็นผู้ว่าราชการภูเก็ตนานถึง 10 ปี ซึ่งในช่วงนั้น ท่านได้เอาใจใส่ในการฟื้นฟูสนามกอล์ฟหาดสุรินทร์ ซึ่งได้ถูกบุกรุกเหลือที่ดินไม่ถึง 60 ไร่ ริเริ่มสร้างอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีและได้สร้างสนามกีฬา “สุระกุล” ตลอดจนการสร้างสะพานสารสิน เชื่อมเกาะภูเก็ตกับฝั่งจังหวัดพังงา จากท่าฉัตรไชยไปยังท่านุ่น เล่ากันว่า คุณอ้วน เมื่อครั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ได้มีการพบช้างเผือกหนึ่งเชือก แต่ทางรัฐบาลสมัยนั้นไม่สนใจ ต่อมาเมื่อ จอมพลสฤษฎ์ ธนรัตน์ มีอำนาจ คุณอ้วนจึงรายงานไปใหม่และได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดี คุณอ้วนจึงเป็นเจ้าเมืองช้างเผือกทำหน้าที่อยู่ภูเก็ตจนกระทั่งได้ลาออกจากราชการ เมื่อลงสมัครรับเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ในปี พ.ศ. 2511 ราษฎรชาวภูเก็ตไม่สนใจหรือลืมเรื่องช้างเผือกไปแล้ว คุณอ้วนจึงไม่ได้รับเลือกตั้ง


เจ้าเมืองอีกผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นเจ้าเมืองนักเขียนค้นคว้า และนักประชาธิปไตย คือ คุณสุนัย ราชภัณฑารักษ์ ซึ่งได้ประพันธ์หนังสือเรื่องภูเก็ตไว้ ท่านได้เป็นสมาชิกก่อตั้งสโมสรไลออนส์ภูเก็ต ในปี พ.ศ. 2514 และได้ทำหน้าที่ต่าง ๆ สละเวลาให้แก่สโมสรการกุศลนี้ และเมื่อมีอายุเกษียณแล้ว ก็ยังไปปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ของสโมสรในกรุงเทพฯจนถึงแก่อนิจกรรม ในด้านประชาธิปไตยนั้น ท่านมิได้ปฏิบัติตามจังหวัดต่าง ๆ ที่นิยมแต่งตั้งภรรยาผู้ว่าราชการ ให้เป็นนายกสมาคมวัฒนธรรมหญิง หรือ สมาคมสตรี แต่กลับส่งเสริมให้สตรีภูเก็ต เข้ารับตำแหน่งแทน


การศึกษาประวัติศาสตร์ของภูเก็ต จากหลักฐานตามที่กล่าวมาแล้วนี้ จะเห็นได้ชัดว่า ชาวเกาะภูเก็ตได้ถูกพ่อค้าเอารัดเอาเปรียบด้วยการวิ่งเต้นซื้อตำแหน่งเจ้าเมืองมาเป็นเวลาช้านาน เกิดความรู้สึกได้สำนึกสืบทอดอยู่จนถึงทุกวันนี้ ที่ไม่พร้อมที่จะรับคนต่างเมืองที่ได้รับการแต่งตั้งให้มาปกครองบ้านเมืองโดยมิได้คำนึงถึงว่าผู้ที่ถูกส่งมานั้น จะมีความสามารถหรือความตั้งใจดีเพียงใด

 

พระนามและนามสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต
1. พระยาทิพย์โกษา (หมาโต โชติกะเสถียร)
2. พระยาวิสูตรสาครดิฐ (สาย โชติกะเสถียร)
3. พระยาวรสิทธิ์เสวีวัฒน์ (ไต่ฮัก)
4. พระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง)  พ.ศ. 2450-2456
5. พลโท พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว. สิทธิ สุทัศน์)  พ.ศ. 2456-2463
6. พระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล)  พ.ศ. 2463-2468
7. หม่อมเจ้าสฤษดิเดชชายางกูร  พ.ศ. 2469-2473
8. พระยาศรีเสนา (ฮะ สมบัติศิริ)  พ.ศ. 2474-2475

พระนามและนามผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต
1. พระยาวิสูตรสาครดิฐ (สาย โชติกะเสถียร)
2. พระยาวิเศษสิงหนาท (ปิ๋ว บุนนาค)
3. พระยาประชากิจกรจักร (ชุบ โอสถานนท์)
4. พระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ (อรุณ อมาตยกุล)
5. หม่อมเจ้าประดิพัทธเกษมศรี พ.ศ. 2450-2458
6. พระยาทวีปธุระประศาสตร์ (ชุบ โอสถานนท์)พ.ศ. 2458-2461
7. พระกรุงศรีสวัสดิการ (จำรัส สวัสดิชูโต)  พ.ศ. 2461-2465
8. พระยานครราชเสนี (สหัส สิงหเสนี)  พ.ศ. 2465-2471
9. พระศรีสุทัศน์ (ม.ล.อนุจิตร สุทัศน์)  พ.ศ. 2471-2472
10. พระยาอมรศักดิ์ประสิทธิ์ (ทะนง บุนนาค)พ.ศ. 2472-2476
11. พระองค์เจ้าอาทิตย์ ทิพยอาภา  พ.ศ. 2476-2476
12. พระยาสุรเดชรณชิต   พ.ศ. 2476-2478
13. พระยาศิริชัยบุรินทร์ (เบี๋ยน)  พ.ศ. 2478-2479
14. พระยาอุดรธานีศรีโขมสาครเขตต์  พ.ศ. 2479-2480
15. หลวงเธียรประสิทธิสาร (ร.อ.มงคล เธียรประสิทธิ์)  พ.ศ. 2480-2486
16. หลวงอังคณานุรักษ์ (ร.อ.ถวิล เทพาคำ) พ.ศ. 2486-2489
17. ขุนภักดีดำรงฤทธิ์   พ.ศ. 2489-2492
18. นายอุดม บุญยประสพ   พ.ศ. 2492-2494
19. นายมาลัย หุวะนันทน์   พ.ศ. 2494-2495
20. ขุนจรรยาวิเศษ (เที่ยง บุณยนิตย์)  พ.ศ. 2495-2497
21. นายมงคล สุภาพงษ์   พ.ศ. 2497-2500
22. นายเฉลิม ยูปานนท์   พ.ศ. 2500-2501
23. ขุนวรคุตต์คณารักษ์   พ.ศ. 2501-2501
24. นายอ้วน สุระกุล   พ.ศ. 2501-2511
25. นายกำจัด ผาติสุวัณณ   พ.ศ. 2511-2512
26. นายสุนัย ราชภัณฑารักษ์  พ.ศ. 2512-2518
27. นายศรีพงศ์ สระวาสี   พ.ศ. 2518-2521
28. นายเสน่ห์ วัฑฒนาธร   พ.ศ. 2521-2523
29. นายมานิต วัลยะเพ็ชร์   พ.ศ. 2523-2528
30. นายสนอง รอดโพธิ์ทอง   พ.ศ. 2528-2529
31. นายกาจ รักษ์มณี   พ.ศ. 2529-2530
32. นายเฉลิม พรหมเลิศ   พ.ศ. 2530-2534
33. นายยุวัฒน์ วุฒิเมธี   พ.ศ. 2534-2536
34. นายสุดจิต นิมิตกุล   พ.ศ. 2536-2539
35. นายจำนง เฉลิมฉัตร   พ.ศ. 2539-2541
36. นายจเด็จ อินสว่าง   พ.ศ. 2541-2542
37. นายชาญชัย สุนทรมัฎฐ์   พ.ศ. 2542-

 

หนังสืออ้างอิง

(1) CAPTAIN FAMES LOWE – JOURNAL OF THE INDIAN ARCHIPELAGO.
(2) MAURICE COLLIS – SIAMESE WHITE.
(3) EDMUND BARKER – THE VOYAGES OF SIR JAMES LANCASTER TO THE EAST INDIES.
(4) สุนัย ราชภัณฑารักษ์ – ภูเก็ต – พิมพ์เป็นบรรณาการ เนื่องในโอกาสอันเป็นมงคล
 ครบอายุ หกสิบปี – 5 ตุลาคม 2517
(5) COLONEL G.E. GERINI – HISTORICAL RETROSPECT OF JUNK CEYLON ISLAND.
(6) W.A.R.WOOD – HISTORY OF SIAM.
(7) ประชุมพงศาวดาร เล่ม 26
(8) ALEXANDER HAMILTON – “NEW ACCOUNT OF THE EAST INDIES”
 EDINBURGH 1727, LONDON 1744.
(9) PALLEGOIX – HISTORY OF THE CHURCHES OF INDIA, BURMA, SIAM.
(10) จดหมายเหตุ เจมส์ โลว์ – กรมศิลปากรพิมพ์ พ.ศ. 2519
(11) H. WARRING – TON SMYTH – FIVE YEARS IN SIAM (FORM 1891-1896)
(12) สาส์นสมเด็จ – สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( อาทิตย์, 30 สิงหาคม 2009 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้1755
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1779
mod_vvisit_counterทั้งหมด10694167