Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
ดีบุกในภูเก็ต PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อังคาร, 05 กุมภาพันธ์ 2008

ดีบุก กับ ภูเก็ต สมัยรัตนโกสินทร์

ราชัน กาญจนะวณิช
------------

ประวัติศาสตร์ของมนุษย์นั้น นักศึกษาวัตถุโบราณมักจะแบ่งออกเป็น ยุคหินตอนต้น ยุคหินใหม่ ยุคทองแดง ยุคดีบุกผสมทองแดงที่เรียกว่า บรอนซ์ และยุคเหล็กในปัจจุบัน

มนุษย์ได้เริ่มใช้ดีบุกผสมทองแดงในที่ฝังศพเก่า ๆ มามากในที่ต่าง ๆ ในหลายทวีปและได้พบเครื่องประดับทำด้วยดีบุกในที่ฝังศพในอียิปต์ ซึ่งปรากฏว่ามีอายุประมาณ 3,800 ปี

ในสมัยที่พวกโรมันเรืองอำนาจ ก็มีการใช้ดีบุกผสมที่เรียกว่า “พิวเตอร์” ซึ่งชาวยุโรปถือว่าเป็นเครื่องเงินของคนจน

ชาวยุโรปโบราณได้ดีบุกส่วนใหญ่จากประเทศอังกฤษ ซึ่งยังคงเป็นผู้ผลิตดีบุกอยู่ ทางด้านทวีปเอเชียได้มีชาวอาหรับเขียนไว้กว่าพันปีมาแล้วว่า ดีบุกส่วนใหญ่จะได้มาจากแหลมมลายูและหมู่เกาะอินโดนีเซีย แต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าภูเก็ตได้เริ่มมีบทบาทในการป้อนดีบุกให้โลกเมื่อใด

พวกมุสลิมจากอินเดียก็ได้มาค้าขาย ซื้อดีบุกจากภูเก็ต ดังที่กัปตันเบาเวอรี ได้เขียนเล่าไว้ว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้นำเรือใบมาจอดทอดสมอในอ่าวถลาง ได้ทราบว่ามีชาวเมืองจังสลันลุกขึ้นต่อสู้ฆ่าฟันเจ้าเมืองและพวกของเขาซึ่งเป็นพวกมุสลิมที่ยกมาจากอินเดีย และทำการค้าในอ่าวเบงกอล และตั้งบ้านเรือนอยู่ที่มะริด และสินค้าสำคัญก็คือดีบุกที่ต่างประเทศต้องการ ความต้องการดีบุกนี้เอง จึงทำให้ภูเก็ตเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น และเป็นเป้าหมายของบริษัทการค้าของชาวยุโรปก่อนสมัยรัตนโกสินทร์

นักเดินเรือในทะเลอันดามันในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้เขียนบรรยายไว้ว่า ระยะทางระหว่างมะริดซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญของพระเจ้ากรุงสยาม กับจังสลัน (หรือภูเก็ต) นั้น มีอ่าวจอดเรือดี ๆ หลายแห่ง แต่ตลอดทางตามแนวชายฝั่ง ไม่ค่อยจะมีผู้คนอาศัยอยู่ ทั้งนี้เนื่องจากพวกสลัดเที่ยวรังควาญชาวบ้าน ด้วยการปล้นสะดม หรือจับตัวไปขายเป็นทาส จังสลันหรือเกาะภูเก็ตนั้นถูกรุกรานอยู่เสมอ

เบาเวอรีเขียนไว้ใน พ.ศ. 2218 (ค.ศ.1675) ว่า พวกสลัดนี้เป็นโจรแท้ ๆ แล่นเรืออยู่ระหว่างจังสลัน กับ ปูเลา ซัมบิลัน (เกาะเก้า) ไม่ถือสัญชาติหรือขึ้นกับรัฐใด ชอบหลบซ่อนอยู่ตามที่กำบังต่าง ๆ และออกคุกคามตลอดทางเดินเรือริมฝั่งแหลมมลายู ชาวสลัดพวกนี้ไม่ชอบอยู่เป็นแห่งหน ย้ายที่อยู่ไปตามเกาะต่าง ๆ และไม่ทำการเพาะปลูกแต่อย่างใด ได้แต่ดำน้ำงมหอยมุก และปล้นสะดมเป็นการเลี้ยงชีพ การที่มีชาวยุโรปเข้ามาค้าขายเพื่อซื้อดีบุกจากเกาะภูเก็ตนั้น ก็เป็นการเริ่มเปิดฉากรักษาความสงบด้วยการปราบปรามโจรสลัด

นับตั้งแต่ ชาวโปรตุเกสได้เข้ามาตั้งป้อมปราการที่มะละกาในปี พ.ศ. 2054 (ค.ศ. 1511) ก็ได้มีชาวยุโรปเข้ามาติต่อซื้อดีบุกจากภูเก็ต ดังปรากฏอยู่แล้วตามเอกสารต่าง ๆ ที่ได้มีคนกล่าวถึงมามากทั้งชายโปรตุเกส ชาวฮอลันดา และฝรั่งเศส ได้เข้ามาตั้งห้างซื้อดีบุกจากภูเก็ต ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ถึงกับมีการแต่งตั้งชาวฝรั่งเศสมาเป็นเจ้าเมือง เพื่อรักษาความปลอดภัยให้พลเมืองของเยาที่เข้ามาค้าขาย

การแก่งแย่งระหว่างชาวโปรตุเกส ฮอลันดา และฝรั่งเศส ในสมัยกรุงศรีอยุธยานี้ก็คงมีส่วนช่วยให้ภูเก็ต รักษาความเป็นไทไว้ได้ ในขณะที่เมืองท่าอื่น ๆ ต้องถูกชาวยุโรปที่แย่งชิงกันเข้าครอบครอง

มะละกาซึ่งตกอยู่ในอำนาจโปรตุเกส ในปี พ.ศ. 2054 (ค.ศ.1511) นั้น ก็ถูกพวกฮอลันดาเข้าล้อมยึดไปได้ในปี พ.ศ. 2184 (ค.ศ. 1641) พวกฮอลันดาเองก็ต้องถอนกำลังไปในระหว่างที่นโปเลียนมีอำนาจ ถึงแม้ต่อมาอังกฤษจะคืนให้ฮอลันดา แต่ในที่สุดฮอลันดาก็ต้องยกให้อังกฤษในปี พ.ศ. 1367 (ค.ศ.1824)

เหตุผลที่สำคัญข้อหนึ่งที่ช่วยให้ภูเก็ตเป็นไทมาได้ในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ อาจเป็นเพราะในปี พ.ศ. 2327 (ค.ศ.1784) นายกรัฐมนตรี วิลเลี่ยม พิทท์ ของอังกฤษได้ออก พ.ร.บ. อินเดีย ซึ่งบังคับมิให้ทำสัญญาใด ๆ อันอาจก่อให้เกิดสงครามได้ โดยมิได้รับอนุมัติจากรัฐบาล โดยอ้างว่าการวางแผนรุกรานและขยายอาณาจักรเป็นการขัดต่อความปรารถนา เกียรติยศ และนโยบายของชาติ

ในสมัยรัชกาลที่ 1 ก็ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์การซื้อขายดีบุก ดังเช่น ในหนังสือของท้าวเทพกระษัตรี ถึง ฟรานซิส ไลท์ ที่กล่าวว่า

“ด้วย ณ เดือนแปดข้างแรมนี้ ข้าพเจ้าจะไปกรุงเป็นแน่ แต่จะมา ณ ทางตรัง ถ้าข้าพเจ้ามาเถิงเกาะตะลิโบงแล้ว จะให้พระยาทุกราช กับ พ่อจุ้ยมากราบเท้าพระยานายท่าน จะขอพึ่งซื้อของท่านสักสามสี่สิบภาราจะได้เอาเข้าไปแก้ไข ณ กรุงให้พ้นกรมการ ณ เมืองถลางเบียดเสียดว่ากล่าวแล้วถ้าสบความคิดข้าฯ ไปครั้งนี้ก่อน ดีบุก ณ เมืองถลางก็จะอยู่ในพระยาท่านได้ใช้ไม่ขัดสน แต่พระยานายท่านได้เห็นดูแก่ข้าพเจ้าครั้งนี้ด้วยเถิด ข้าพเจ้าหามีผู้ใดเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่แล้วยังเห็นหน้าแต่ท่านแห่งเดียว และให้โตกพระยานายท่านช่วยจัดปืนสูตันสัก 50 บอก ฯลฯ”
หรือ หนังสือของเจ้าพระยาถลาง ถึง ฟรานซิส ไลท์ ในเรื่องเกี่ยวกับค่าภาคหลวง หรือภาษีส่งออกดีบุกที่กล่าวไว้ว่า

“หนังสือท่านพระยาปลัดผู้เป็นเจ้าพระยาถลางบอกมายังท่านโตกพระยาราช ด้วยมีตราออกมาแต่กรุงฯ ครั้งนี้ ว่าหลวงคลังเข้าไปกราบทูลให้เอาภาษี ภาราละชั่งเหมือนครั้งก่อนและของหลวงให้มีตราออกมาถามข้าพเจ้าว่ายังจะเอาภาษีแก่ราษฎรภาราละชั่งได้หรือมิได้ ในท้องตรามีเนื้อความเป็นหลายประการนั้น ข้าพเจ้าจะบอกขอภาษีเสีย แลโตกพระยาราชได้เห็นได้ช่วยจัดของถวาย แลข้าพเจ้าให้ยี่สิบผู้เป็นขุนล่ามพลอยสลุบ กปิตันปิราเสน บรรทุกดีบุกมาสิบห้าภารา ให้ท่านช่วยจัดของ ปืนสูตันสักร้อยบอก ผ้าแพรดัตตะหลัก ผ้าขาวผ้าลายพรม และเงินเหรียญ จะได้จ่ายซื้อดีบุกไว้แต่ราษฎรสักสามพันสี่พัน แลข้าวสารสักสิบเกียน เกลือสักสองเกียน ของทั้งนี้ท่านได้เห็นดู ช่วยจัดให้มาจะได้ใช้การขัดสน ข้าพเจ้าจะขอติดหนี้ท่านสักห้าสิบภารา มาเถิงเมืองถลางจะใช้ให้ครึ่งหนึ่งก่อน และดีบุกราษฎรจะนำขึ้นไปอีกในมรสุมนี้ ข้าพเจ้าจะจัดแจงแก้ไขให้คงไปได้ ณ เกาะปูเหลาปีนังทั้งนั้น แลการที่จะรบพม่านั้น แลแต่
ราษฎรเมืองถลางจะให้ขึ้นขุดแต่ต้นมรสุม และการ ณ เมืองถลางทุกวันนี้ไป ข้าพเจ้าทำอยู่เหมือนหนึ่งเกาะปูเหลาปีนังของท่านเองเหมือนกัน ฯลฯ”

เป็นที่น่าสังเกตว่าในสมัยนั้น ทางรัฐบาลก็เก็บภาษีดีบุกภาราละชั่ง บางแห่งอ้างว่าหนึ่งภาราเท่ากับ 20 ดุล และหนึ่งดุลเท่ากับ 20 ชั่ง แต่เอกสารบางฉบับก็ว่า หนึ่งภาราเท่ากับ 350 ชั่ง อย่างไรก็ดี ภาษีดีบุกคงไม่ถึงร้อยละหนึ่ง และดีบุกในสมัยนั้นก็ผลิตไม่ทันส่งออก จนชาวภูเก็ตต้องเป็นหนี้ ฟรานซิส ไลท์

ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ เป็นช่วงที่ฟรานซิส ไลท์ ได้เข้าไปปกครองเกาะปีนัง โดยเริ่มต้นด้วยการทำสัญญาเช่าจากสุลต่านไทรบุรี มะละกาก็เริ่มหมดความสำคัญทางการค้าลง มะริดก็ถูกพม่าในราชวงศ์อลองพญายึดไป การค้าดีบุกของภูเก็ตก็เป็นการค้ากับปีนังเป็นส่วนใหญ่ ดีบุกจึงมีอิทธิพลที่ช่วยปั้นวัฒนธรรมภูเก็ตไปในแนวของปีนัง ชาวภูเก็ตในระยะกว่าร้อยปีที่แล้วมามักจะอ้างอิงถึงปีนังเมื่อต้องการพัฒนาบ้านเมือง และพยายามเจริญรอยตามปีนัง

เนื่องจากประชาชนชาวสยามเองไม่นิยมใช้ดีบุก ดีบุกจึงเป็นสินค้าออกที่สำคัญที่สุดของภูเก็ตที่จะใช้แลกเปลี่ยนกับสินค้าต่าง ๆ ตั้งแต่ฝิ่นจนถึงอาวุธที่มีส่วนในการรักษาเอกราชของประเทศการทำเหมืองแร่ดีบุกในช่วงรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 จึงเป็นการซื้อแร่ร่อนจากการทำเหมืองแล่นและเหมืองรูหรือเหมืองปล่องเป็นสำคัญ

สนธิสัญญาระหว่างประเทศสยามและอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ให้ประโยชน์ในการค้าแก่อังกฤษเป็นอย่างมาก ความสัมพันธ์ระหว่างภูเก็ตกับปีนังของอังกฤษ จึงแน่นแฟ้นขึ้น

หลังจากปี พ.ศ. 2338 (ค.ศ.1795) ทางประเทศฝรั่งเศสได้พยายามค้นคว้าหาทางเก็บอาหารใส่ภาชนะไว้ใช้ในยามสงครามจนกระทั่งปี พ.ศ. 2382 (ค.ศ.1839) นับตั้งแต่นั้นมา ดีบุกจึงเป็นโลหะสำคัญที่ตลาดโลกต้องการมากยิ่งขึ้น

การทำเหมืองแร่ดีบุกในเกาะภูเก็ต จึงได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว การทำเหมืองหาบได้เริ่มขึ้นและสามารถผลิตดีบุกได้มากกว่าวิธีเก่า ๆ แต่ก็ต้องใช้กรรมกรเป็นจำนวนมาก และก็ต้องอาศัยแรงงานจากต่างประเทศ ชาวจีนเป็นจำนวนมากจึงได้เดินทางมาภูเก็ต วัฒนธรรมของภูเก็ตจึงได้รับการวิวัฒนาการตามแบบของจีนไปด้วย
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2435 ได้ทรงแต่งตั้งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อยังทรงดำรงพระยศเป็นกรมหมื่น ให้เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย การปรับปรุงการปกครองต่อมาก็ได้มีส่วนทำให้การทำเหมืองแร่ดีบุกในจังหวัดภูเก็ตทันสมัย และตั้งอยู่ในระเบียบแบบแผนและมีประสิทธิภาพ ซึ่งแม้ในปัจจุบันนี้ ก็ยากที่จะเปรียบเทียบได้

ประมาณปี ค.ศ.1905 (พ.ศ.2448) เมื่อได้มีการทำเหมืองหาบกันแพร่หลาย เหมืองแร่ที่อุดมสมบูรณ์ได้ร่อยหรอลงไป การทำเหมืองซึ่งเคยมีศูนย์กลางอยู่ตามลุ่มแม่น้ำถลาง ได้ย้ายมายังตำบลกะทู้ และทุ่งคา แหล่งแร่ที่สำคัญที่ไม่เคยมีการขุด ก็คือที่ดินในเขตศาลากลางทุ่งคา อันเป็นที่ตั้งสถานีตำรวจ ที่ทำการไปรษณีย์ ซึ่งพระยารัษฎานุประดิษฐ์ได้ชักชวนให้มีการลงทุนทำเหมือง

กัปตัน เอดวาร์ด ที.ไมลส์ ชาวออสเตรเลียซึ่งได้เดินทางมาทำธุรกิจที่ปีนัง ได้รับเชิญให้มาสำรวจและมีความเห็นว่าการย้ายอาคารบ้านเรือนของทางราชการไม่น่าคุ้มกับการทำเหมืองแร่ แต่กลับไปสนใจในการทำเหมืองหาบในอ่าวทุ่งคา ซึ่งในขณะนั้นใช้ทำนบกั้นน้ำเค็มเป็นบริเวณประมาณ 320 ไร่ เพื่อทำเหมืองหาบและใช้คนงานหลายร้อยคนเป็นแรงงานขุด กัปตันไมลส์เชื่อว่าแหล่งแร่ดีบุกซึ่งสะสมตามทางน้ำเดิมใต้ศาลากลางและเหมืองหาบชายฝั่ง คงจะเป็นสายออกไปในอ่าวทุ่งคา พ้นบริเวณที่มีการทำเหมืองอยู่แล้ว

ตามประวัติศาสตร์แต่ดั้งเดิม นับแต่ชาวโปรตุเกสเข้ามาตั้งห้างเมื่อ พ.ศ. 2151 (ค.ศ.1608) ไม่ปรากฏว่ามีชาวยุโรปเคยเข้ามาทำเหมืองแร่ดีบุกในประเทศสยาม แต่เข้ามาเป็นคนกลางรับซื้อดีบุกไปขายเท่านั้น กัปตันไมลส์ จึงได้ทดสอบความสมบูรณ์ของแหล่งแร่ในอ่าวทุ่งคาและเมื่อได้ผลยืนยันความคิดเดิม ก็เริ่มดำเนินการเจรจาของสัมปทานพิเศษ

การที่กัปตันไมลส์ นำเรือขุดเข้ามาทำเหมืองแร่ในอ่าวทุ่งคาได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2450 (ค.ศ.1907) นั้น จึงเป็นการใช้เรือขุดทำเหมืองแร่ในทะเลแห่งแรกของโลก และเป็นการเปิดเหมืองแบบใหม่ได้สำเร็จภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี นับตั้งแต่เริ่มสำรวจ ย่อมเป็นเครื่องแสดงถึงความเชื่อมั่นในความมั่นคงของบ้านเมือง และแสดงถึงประสิทธิภาพของการบริหารของรัฐบาลสยาม


ภายใน พ.ศ. 2454 (ค.ศ.1911) ได้มีเรือขุดเดินในทะเลขุดแร่ดีบุกอยู่ในอ่าวทุ่งคารวมถึง 5 ลำ

หลังจากที่กัปตันไมลส์สามารถใช้เรือขุดมาทำเหมืองแร่ดีบุกในอ่าวทุ่งคาได้ผลแล้ว ก็ได้ปรึกษาเรื่องแหล่งแร่บริเวณศาลากลางกับเพื่อนฝูง ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ ทิน เดรดยิง โนไลอาบิลิตี้ ต่อมา นายอิริค ไบรอนมัวร์ วิศวกรเหมืองแร่ได้มาสำรวจตรวจเจาะตัวอย่างบริเวณศาลากลางทุ่งคา จึงได้มีการก่อตั้งจดทะเบียน บริษัททุ่งคา คอมเปานด์ โนไลอาบิลิตี้ ขึ้นที่เมืองเมลเบอร์น ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2453 บริษัทนี้ได้เริ่มเปิดเหมืองที่บริเวณศาลากลางทุ่งคาเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454 และเลิกขุด เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2463 (ค.ศ.1920) เรือขุดลำนี้ขุดดินรวม 5 ล้านลูกบาศก์หลาเศษ และได้แร่ดีบุก 7,679 ตัน ซึ่งนับว่าเป็นแหล่งแร่ที่สมบูรณ์ยิ่ง ตามความคาดหมายของพระยารัษฏา ในการขุดแร่ดีบุก ในบริเวณศาลากลางทุ่งคานี้ บริษัทได้จ่ายเงินชดเชยเป็นค่าสร้างที่ทำการรัฐบาลขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นศาลากลางจังหวัดภูเก็ตในปัจจุบัน กล่าวกันว่าเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กหลังแรกในประเทศสยาม ในเรื่องนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงเขียนไว้ว่า

“พระยารัษฎานุประดิษฐ์ สามารถสร้างเมืองภูเก็ตขึ้นใหม่ได้ทั้งเมืองด้วยอุบายอย่างน่าอัศจรรย์ ด้วยบริเวณบ้านพระยาภูเก็ตซึ่งเป็นของหลวงและอาศัยใช้เหย้าเรือนของเดิมเป็นที่ว่าการมณฑล และที่พักของข้าราชการอยู่นั้น เป็นที่มีแร่ดีบุกอยู่ใต้ดินเป็นอันมาก เมื่อขุดแร่ตามที่ใกล้เคียงหมดแล้วก็เหลืออยู่ตรงที่ตั้งบริเวณสถานที่รัฐบาล มีบริษัทฝรั่งมาถามว่าถ้ายอมให้ค่าคอมเมนชั่นตามสมควร รัฐบาลจะอนุญาตให้ขุดแร่ตรงนั้นได้หรือไม่ พระยารัษฎานุประดิษฐ์ มาบอกหม่อมฉันว่า โชคดีมาถึงแล้ว ขออนุญาตขายที่บริเวณรัฐบาลเอาเงินสร้างสถานที่สำหรับราชการต่าง ๆ กับทั้งที่อยู่ของข้าราชการขึ้นใหม่ให้สมสมัย หม่อมฉันก็กราบบังคมทูล ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตามประสงค์ พระยารัษฎานุประดิษฐ์ ไปเลือกที่ใหม่เนินเขาแล้วคิดทำแผนผังทั้งถนนและสถานที่ต่าง ๆ เหมือนอย่างสร้างเมืองใหม่ ประมาณเงินที่จะต้องใช้ในการก่อสร้าง ตั้งเป็นราคาบริเวณรัฐบาล บริษัทก็รับซื้อ ได้เมืองใหม่ซึ่งปรากฏอยู่ทุกวันนี้ทั้งเมือง โดยมิต้องจ่ายเงินพระคลัง และยังมีกำไรต่อไปด้วย ลงความในสัญญาว่าขายแต่แร่ดีบุก เมื่อบริษัทขุดแร่ดีบุกหมดแล้วต้องคืนที่นั้นให้รัฐบาลโดยไม่เรียกค่าชดใช้อย่างใด ฯลฯ รัฐบาลยังได้เงินค่าภาคหลวงมากขึ้นจากการทำเหมืองแร่ในที่นั้นด้วยอีกโสดหนึ่ง”

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้พยายามปรับปรุงอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุกโดยว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศเข้ามา นายเฮนรี่ ยอร์ช สก็อตต์ วิศวกรเหมืองแร่ชาวอังกฤษได้เข้ารับราชการในประเทศสยามตั้งแต่อายุได้ 21 ปี และต่อมาก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมราชโลหกิจ

หลังจากที่ได้ออกราชการแล้ว ในปี พ.ศ. 2450 (ค.ศ.1907) ท่านก็ได้ออกสำรวจแหล่งแร่ในจังหวัดภูเก็ต และลูกหลานของท่านก็ยังคงอยู่ในภูเก็ต และมีบทบาทในกิจกรรมที่สำคัญของท้องถิ่น ท่านผู้นี้ได้ร่วมกับพี่ชายในการก่อตั้ง บริษัทไวมิสทิน ซินดิเคท ลิมิเต็ด ซึ่งยังคงเปิดทำการทำเหมืองอยู่ในจังหวัดระนอง

ท่านไม่พบแหล่งแร่ดีบุกใหญ่ ๆ ในภูเก็ต แต่แหล่งแร่เล็ก ๆ ที่ท่านสำรวจไว้ ก็ได้กลายเป็นเหมืองของชาวภูเก็ตต่อมา

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 การเดินเรือระหว่างภูเก็ตกับปีนัง ดำเนินไปไม่สะดวกเพราะเรือเดินทะเลอังกฤษถูกเรียกไปใช้ในงานสงคราม แต่อย่างไรก็ดี พ่อค้าภูเก็ตก็สามารถติดต่อหาเช่าเรือมาเดิน ทำให้การค้าดีบุกไม่ต้องหยุดชะงักลงได้

มีเรื่องที่เล่าให้ฟังกันว่า ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 นี้ ชาวภูเก็ตได้เรี่ยไรเพื่อออกสั่งซื้อนาฬิกา แล้วจะมาติดตั้งที่หอนาฬิกาที่สถานีตำรวจ ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับธนาคารชาเตอร์ แต่เรือที่นำนาฬิกามาจากยุโรปนั้น ได้จมระหว่างทาง นาฬิกาแห่งนี้จึงมีช่องว่างเป็นที่พิศวงแก่มหาชนรุ่นหลังอยู่จนกระทั่ง พ.ศ. 2519 สโมสรไลออนส์ภูเก็ต ซึ่งขณะนั้นมีไลออนส์เฉลิม ทองตันเป็นนายกฯได้จัดหานาฬิกามาติดตั้งให้

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 การทำเหมืองแร่ดีบุกในภูเก็ตได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วมีบริษัทชาวต่างประเทศเข้ามาเปิดดำเนินกิจการเหมืองเรือขุดเป็นจำนวนมาก ส่วนชาวไทยเองก็ได้ขยายกิจการ โดยนำเครื่องจักรและเครื่องทุ่นแรงต่าง ๆ มาใช้

เมื่อชาวต่างประเทศได้นำเรือขุดเข้ามาใช้เป็นจำนวนมาก ชาวภูเก็ตเองก็ไม่น้อยหน้า ได้มีการใช้เครื่องสูบทรายมาทำเหมือง ดังที่เรียกกันว่าเหมืองสูบดินซึ่งสามารถทำได้เป็นปริมาณมาก ผู้บุกเบิกทางด้านนี้ก็มี นายตันลิ้มหยอง ขุนนิเทศจีนารักษ์ นายตันเคกิ้ว และขุนวิเศษนุกูลกิจ

หลวงอนุภาษ ได้เปิดเหมืองสูบที่ทันสมัยที่สุดโดยใช้แรงงานไฟฟ้าจากโรงจักรกลาง ซึ่งเรียกกันว่า เหมืองเจ้าฟ้า อันเป็นที่เชิดหน้าชูตาของภูเก็ตอยู่นาน ที่เรียกกันว่าเมืองเจ้าฟ้า เพราะกรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นผู้ทรงมาทำพิธีเปิด

ในระยะก่อนสงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นก็ได้พยายามที่จะเข้ามามีบทบาทในภูเก็ตและได้พยายามผูกขาดการซื้อดีบุก

มีผู้ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ป. พิบูลสงคราม ได้ไปทำสัญญายอมขายดีบุกและยางทั้งหมดที่ประเทศไทยจะผลิตได้ในปี พ.ศ.2484 ให้แก่ญี่ปุ่น แต่ต่อมาทางกระทรวงการต่างประเทศคัดค้าน เพราะอังกฤษและอเมริกาจะถือว่าไทยไม่วางตัวเป็นกลางตามที่ประกาศไว้

เมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา และกองทัพญี่ปุ่นได้ยกเข้าประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 นั้น มีบริษัทเหมืองแร่และบริษัทค้าดีบุกของเครื่องจักรภพอังกฤษอยู่ในภูเก็ตหลายบริษัท คือ

บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ ทิน เครดยิง ลิมิเต็ด
บริษัท ชะเทินคินตา คอนโชลิเดเต็ด ลิมิเต็ด
บริษัท ภูเก็ต ทิน เดรดยิง ลิมิเต็ด
บริษัท กะทู้ ทิน เดรดยิง ลิมิเต็ด
บริษัท ตีนเล ทิน เดรดยิง ลิมิเต็ด
บริษัท ปีนังไมนิง คอปอเรชั่น ลิมิเต็ด
บริษัท ระเงง ทิน เดรดยิง โนไลอาบิลิตี้
บริษัท สเตรทเทรดยิง ลิมิเต็ด
บริษัท อิสเตอร์น สเมลติง ลิมิเต็ด

บรรดาชาวอังกฤษและออสเตรเลีย ซึ่งมาทำงานอยู่ตามบริษัทต่าง ๆ เหล่านี้ ได้เข้าไปรวมตัวชุมนุมอยู่ที่สนามบินภูเก็ต ที่ตำบลไม้ขาว พวกชาวอังกฤษและออสเตรเลียจากจังหวัดใกล้เคียงก็ได้มารวมตัวอยู่ด้วย โดยามีนายวอเรน พาร์สัน ผู้อำนวยการเขตของกลุ่มบริษัทแองโกล-ออเรียนเดล (มาลายา) ลิมิเต็ด เป็นหัวหน้า ทั้งนี้เป็นไปตามแผนซึ่งรัฐบาลอังกฤษได้กำหนดไว้ โดยหวังว่าจะส่งเครื่องบินมาลงที่สนามบินภูเก็ตได้ แต่เมื่อปรากฏว่า ทางกองทัพอากาศอังกฤษในมลายูไม่สามารถรับกำลังทัพญี่ปุ่นได้ ทางกองทัพเรืออังกฤษจึงได้ส่งเรือมาอพยพชาวอังกฤษและออสเตรเลียที่ภูเก็ตไป ขุนเลิศโภคารักษ์ผู้ช่วยเหลือส่งเสบียงให้พวกอังกฤษที่สนามบินไม้ขาว ต้องอยู่รับการซักซ้อมเมื่อญี่ปุ่นเข้ามายึดครองภูเก็ต

ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา การทำเหมืองแร่ดีบุกได้เงียบเหงาไป เพราะตลาดโลกถูกตัดขาดเหลือแต่ญี่ปุ่น ซึ่งก็ต้องประสบปัญหาในการลำเลียง การใช้ภายในประเทศก็มีจำกัด  ทางราชการได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมเหมืองแร่ต่างๆ ของบริษัทอังกฤษและออสเตรเลียกับฝ่ายพันธมิตร เมื่อพ.ศ. 2485 ทางราชการก็ได้จัดตั้งบริษัทแร่และยางไทย จำกัด (บ.ร.ย.) เข้าดำเนินการทำเหมืองแร่เท่าที่อุปกรณ์และอะไหล่ที่เหลืออยู่ และตลาดจะอำนวย

ทางกองทัพบกได้ส่งหน่วยทหารมาตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านพักเดิมของชาวอังกฤษที่เชิงเขาโต๊ะแซะ เล่ากันว่านายทหารหนุ่มผู้หนึ่งที่มาประจำอยู่ในครั้งนั้น คือ ร.ท.สิทธิ  จิระโรจน์ ซึ่งต่อมาเป็นนายพลเอกแล้ว

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มขึ้นในยุโรปปี พ.ศ.2482 และประเทศอิตาลีได้ประกาศสงครามเข้ากับฝ่ายเยอรมนีนั้น ได้มีเรือสินค้าของบริษัทอิตาเลียนได้เข้ามาอาศัยลี้ภัยจอดอยู่ที่ด่าวทุ่งคา 3 ลำ

ในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา เรือใต้น้ำอังกฤษได้เคยโจมตีเรือญี่ปุ่นและเรืออิตาเลียนอยู่หลายครั้ง อันเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้การทำเหมืองแร่ดีบุกอ่าวทุ่งคาได้ชะงักลง

เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาสงบลง เหมืองแร่ต่าง ๆ ในจังหวัดภูเก็ตก็ได้มีการฟื้นฟูบูรณะขึ้น เหมืองแร่ของชาวภูเก็ตเองก็มีการปรับปรุงใช้เครื่องจักรทันสมัย เหมืองแล่นเหมืองหาบหายไป เพราะการทำเหมืองสูบโดยใช้เครื่องยนต์ดีเซลมีประสิทธิภาพสูง จึงเป็นที่นิยม บรรดาเหมืองแร่ของบริษัทอังกฤษก็ได้รับค่าทดแทนตามสัญญาสมบูรณ์แบบ ให้กลับมาเปิดใหม่ มีอยู่ก็แต่เรือขุดของบริษัท ระเงง ทิน เดรดยิง โนไลอาบิลิตี้ของชาวออสเตรเลียที่ท่าแครง ที่เจ้าของไม่พึงประสงค์ที่จะรับกลับ เพราะเรือขุดชำรุดผุพังเนื่องจากอยู่ใกล้น้ำเค็ม และแหล่งแร่ที่เหลืออยู่ก็มีน้อยและไม่สมบูรณ์ ทรัพย์สินต่างๆ จึงตกเป็นของรัฐบาลไทย

ส่วนนายอาเธอร์ ไมลส์ บุตรชายของกัปตันไมลส์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท ปีนังไมนิง คอร์ปอชัน ลิมิเต็ด ก็ได้หาทุนมาสำรวจแหล่งแร่ในทะเล โดยตั้งบริษัท โทรมัสปรอสเปกติง จำกัด ขึ้นใหม่และเมื่อพบว่า มีแหล่งแร่ดีบุกเพียงพอ ก็ได้ก่อตั้งบริษัท อ่าวขามติน จำกัดขึ้น โดยมีรัฐบาลไทยและคนไทยเป็นผู้ถือหุ้นร่วมอยู่ด้วยประมาณร้อยละ 32

นายอาเธอร์ ไมลส์ คงคิดถึงอนาคตว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการร่วมทุนกับเจ้าของประเทศ และยังนำเรือขุดแบบใหม่ซึ่งมีชื่อตามนายกรัฐมนตรีว่า เรือพิบูลมาใช้ เรือลำนี้เป็นเรือบรรทุกน้ำมัน ซึ่งนำมาดัดแปลงติดตั้งเครื่องขุดแบบก้ามปูมาใช้ เรือขุดเก่าของปีนังไมนิง คอร์ปิเรชั่น ลิมิเต็ด นั้นตกเป็นทรัพย์สินของรัฐบาล และต่อมาก็ขายเป็นเศษเหล็กไป เรือขุดลำนี้เป็นปัญหาอยู่นาน เพราะเจ้าหน้าที่ฝ่ายราชการไม่รู้ว่าจอดอยู่ ณ แห่งหนใด แม้แต่คณะกรรมการพิจารณาค่าทดแทนปฏิกรรมสงคราม ก็ต้องสืบสวนส่งผู้เชี่ยวชาญทั้งไทยและอังกฤษลงมาถึงภูเก็ต เพราะทางกรุงเทพหาหลักฐานไม่พบ

หลังจากที่บริษัททุ่งคาฮาเบอร์ ทิน เดรดยิง ลิมิเต็ด และบริษัทชะเทินคินตา คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ได้สำรวจพบแหล่งแร่ดีบุกแหล่งที่สำคัญนอกฝั่งหมู่บ้านน้ำเค็ม ที่ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2506 (ค.ศ.1963) แล้ว บริษัทเหมืองแร่บูรพาเศรษฐกิจ ก็ได้รับสัมปทานพิเศษให้สำรวจแหล่งแร่ในทะเล ตั้งแต่อ่าวพังงา ตลอดไปจนถึงระนอง โดยร่วมมือให้บริษัทยูเนี่ยนคาร์ไบด์ จากสหรัฐอเมริกาเข้ามาดำเนินการ

ถึงแม้ว่าบริษัทยูเนี่ยนคาร์ไบด์ ได้พบแหล่งแร่ในทะเลใหญ่อีกแห่งหนึ่งนอกชายฝั่งจังหวัดพังงา และไม่พบแหล่งแร่สำคัญในจังหวัดภูเก็ต แต่ต่อมาก็ได้สร้างโรงถลุงแร่ดีบุกใหญ่ขึ้นที่ภูเก็ต ในนามของบริษัทไทยแลนด์เมลติ้ง แอนด์ รีไฟนิ่ง จำกัด ที่เรียกย่อ ๆ โดยทั่วไปว่า ไทยซาร์โก้ นับเป็นครั้งแรกที่ภูเก็ตได้มีโรงถลุงแร่ที่ทันสมัยและนับเป็นครั้งแรกที่บริษัทอเมริกาได้เข้ามาตั้งกิจการทำเหมืองแร่และถลุงแร่ดีบุกสำเร็จในประเทศไทย

เมื่อเห็นกลุ่มบริษัทยูเนี่ยนคาร์ไบด์ ได้ประสบผลสำเร็จ บริษัทชาเตอร์ คอนโซลิเดเต็ดของอังกฤษร่วมทุนกับบริษัทเบธเลเฮม สตีลจากสหรัฐอเมริกา และบริษัทอื่นๆ ได้เข้ามาสำรวจแหล่งแร่ในทะเลในจังหวัดภูเก็ต หลังจากที่ได้รับประทานบัตรที่อ่าวป่าตองและอ่าวกะรนแล้ว ก็เกิดการขัดแย้งเพราะบริษัทต้องการรับประทานบัตรทั้งหมด ก่อนเริ่มดำเนินการตามข้อตกลงในการส่งเสริมการลงทุน แต่ทางราชการแสดงท่าทีว่าจะไม่ออกประทานบัตรที่ขอเพิ่มให้ จนกว่าจะต่อเรือขุดแต่อย่างไรก็ดีกลุ่มผู้ลงทุนรายนี้ก็สามารถขายกิจการให้คนไทยได้สำเร็จ โดยไม่ต้องเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งติดตามมาทีหลัง

ก่อนที่จะสิ้นยุดสองร้อยปีที่กล่าวถึงนี้ ยังมีเหตุการณ์ที่สำคัญเกี่ยวกับดีบุกในภูเก็ตอีกด้วย กล่าวคือ เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 ได้มีผู้คนจำนวนมากได้แตกตื่นไปขุดแร่ในทะเลบริเวณอ่าวพันทรี และขยายไปถึงฝั่งหาดสุรินทร์และอ่าวกำมะรา ชั้นแรกใช้คนดำ แต่ต่อมาก็ดัดแปลงมีแพไม้ไผ่เรือหางยาว จนกระทั่งเป็นเรือเหล็กติดเครื่องสูบเป็นเครื่องมือ แต่ในเมื่อการดูดดำแร่ในจังหวัดพังงาได้ผลดีกว่า การดูดดำแร่ในจังหวัดภูเก็ตจึงค่อย ๆ ลดลงและปิดฉากลงในที่สุด

ขณะนี้ที่ดินที่เรือขุด หรือดูดดำแร่ได้เคยดำเนินการอยู่นั้น ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งศาลากลางทุ่งคา หรือชายหาดอ่าวพันทรี กำลังกลายเป็นโรงแรมอันจะดึงดูดนักท่องเที่ยวมาจากทั่วโลก เหมืองแร่ดีบุกต่างๆ ที่เหลืออยู่ในภูเก็ต ก็เป็นของบริษัทไทยทั้งสิ้น นอกจากโรงถลุงและการค้าดีบุกซึ่งยังคงเป็นของบริษัทต่างประเทศอยู่ ภูเก็ตซึ่งเคยดำเนินตามรอยแบบของปีนังมาร่วม 200 ปี ก็กำลังอยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อว่าจะเดินตามแบบอะไรต่อไปในระยะ 200 ปีข้างหน้า แต่ดีบุกกับภูเก็ตก็จะยังคงจะมีความสัมพันธ์กันต่อไปอีก

 

บทความอื่น ๆ เกี่ยวกับเหมืองแร่และ/หรือดีบุก

ดีบุกในภูเก็ตสมัยอยุธยา : ราชัน กาญจนะวณิช

การทำเหมืองแร่ในภูเก็ต

พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่

ปูมการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต : ชาญ วงศ์สัตยนนท์

 

 

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( อาทิตย์, 30 สิงหาคม 2009 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้71
mod_vvisit_counterเมื่อวาน4642
mod_vvisit_counterทั้งหมด11281048