Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
บ้านพระยาวิชิตสงคราม PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
ศุกร์, 01 กุมภาพันธ์ 2008
(จถล. 2302)

บ้านพระยาวิชิตสงคราม

 อยู่ในบริเวณพื้นที่ที่เชื่อมต่อกันกับศาลเจ้าท่าเรือ มีคลองหัวท่าขั้นระหว่างบ้านพระยาวิชิตสงครามกับศาลเจ้าท่าเรือ และอยู่ห่างจากสี่แยกอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทรเพียงเล็กน้อย มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงอยู่ 2 ฉบับ ที่ทำให้ได้ความกระจ่างเกี่ยวกับสถานที่แห่งนี้ได้เป็นอย่างดี คือ หนังสือจดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ.121 ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ และหนังสือจดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ.128 ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ  ทั้ง 2 พระองค์ได้เสด็จสถานที่แห่งนี้ และได้ระบุลักษณะของบ้านหลังนี้ไว้ตรงกันคือ มีกำแพงมั่นคงแข็งแรง และมีป้อมหรือหอรบอยู่ทั้ง 4 ด้าน โดยเฉพาะรัชกาลที่ 6 ทรงเสด็จฯ สถานที่นี้เมื่อวันที่ 27 เมษายน ร.ศ.128 (พ.ศ.2452) พระองค์ท่านระบุว่าสถานที่แห่งนี้ คือ บ้านพระยาวิชิตสงคราม

.
ทรงพระราชทานนามถนนไปถึงกะทู้ว่า
ถนนวิชิสงคราม
เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๔๕๒
.

 

สาเหตุที่ทำให้พระยาวิชิตสงคราม (ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) ต้องมาสร้างบ้านใหม่ขึ้นที่บ้านท่าเรือ ทั้งที่มีบ้านเดิมอยู่ในเมืองภูเก็ต เนื่องจากช่วงปลายรัชกาลที่ 4 ต่อต้นรัชกาลที่ 5 กิจการเหมืองแร่ดีบุกหัวเมืองภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามันเจริญเฟื่องฟูมาก จึงมีคนจีนอพยพเข้ามาทำเหมืองแร่ทั้งที่เข้ามาลงทุนเป็นนายเหมืองและกรรมกรเป็นจำนวนมาก และกลุ่มคนจีนเหล่านี้มีการรวมตัวกันเป็นสมาคมลับ ทำหน้าที่พิทักษ์ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือเป็นนายหน้าหางานให้คนที่มาจากประเทศจีน ทั้งนี้ด้วยเป้าหมายหลักทางการค้าธุรกิจ โดยเรียกกลุ่มพวกนี้ว่า “อั้งยี่” พวกอั้งยี่ได้ก่อจลาจลขึ้นในเมืองภูเก็ตบ่อยครั้ง โดยครั้งที่รุนแรงมากเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2419

 รัชกาลที่ 6 ทรงระบุว่า “...บ้านนี้ท่านพระยาวิชิตสงครามสร้างขึ้น เมื่อครั้งจีนกระทำตั้วเหี่ยขึ้นที่เมืองภูเก็ต ท่านพระยาวิชิตเห็นว่าอยู่ในเมืองภูเก็ตใกล้อันตรายนัก จึงไปสร้างบ้านขึ้นที่ท่าเรือสำหรับเลี่ยงไปอยู่ มีกำแพงแข็งแรงราวกับกำแพงเมือง มีใบเสมาตัดเหลี่ยม มีป้อมวางเป็นระยะ ๆ รอบเตรียมรบเจ็กอย่างแข็งแรง...

จังหวัดภูเก็ตได้เห็นความสำคัญของบ้านพระยาวิชิตสงคราม จึงได้มีคำสั่งเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2525 แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาบริเวณบ้านพระยาวิชิตสงคราม เจ้าเมืองภูเก็จ เนื้อที่ 10 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา ให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเก็บรวบรวมวัตถุทางประวัติศาสตร์ ที่ประชุมมีมติให้ สิริพัณพันธุเสวี เป็นผู้ออกแบบอาคารเพื่อเก็บรักษาโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ อันเป็นแนวความคิดในการเสนอการจัดตั้ง “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติถลาง” ในบริเวณนี้ แต่กองโบราณคดี กรมศิลปากร เห็นว่า สถานที่นี้ยังไม่ได้ตรวจสอบหลักฐานทางโบราณคดี ไม่สมควรสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในที่ดินนี้ จังหวัดภูเก็ตจึงตั้งคณะทำงานพิจารณาที่ดินสร้างพิพิธภัณฑ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2528 กองโบราณคดีจึงได้ตรวจสอบที่ดินบ้านพระยาวิชิตสงครามอย่างจริงจัง และเห็นว่าที่ดินนี้มีความสำคัญแก่แผ่นดิน จึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ

องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตได้สนับสนุนทุนในการก่อสร้างป้ายบอกสถานที่ มอบหมายให้สิริพัณ  พันธุเสวี เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง อันเป็นส่วนหนึ่งของการฉลอง 200 ปี วีรสตรีเมืองถลาง เมื่อปี พ.ศ.2528

และจากการขุดค้นทางโบราณคดีของสำนักงานศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต เมื่อปี พ.ศ.2544 เพื่อตรวจสอบกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทรงบันทึกไว้ปรากฏว่า พบแนวกำแพงที่แบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วน สระน้ำที่ปูพื้นด้วยหิน อาคารในพื้นที่อีก 4 หลัง ช่องประตูทางเข้าทางด้านทิศใต้ หลักฐานที่ได้จากการขุดค้นครั้งนั้นตรงกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์อย่างชัดเจน จากหลักฐานต่าง ๆ พอที่จะได้ข้อสรุปที่สำคัญเกี่ยวกับโบราณสถานแห่งนี้ได้ว่า บ้านพระยาวิชิตสงครามน่าจะสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ.2419

 บ้านพระยาวิชิตสงคราม จึงถือเป็น “หอประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ”ของภูเก็ตในยุคนั้น ซึ่งสามารถบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี และปัจจุบันทางอบจ.ภูเก็ต ได้มีโครงการสร้างบริเวณนี้ให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับ SUFFOLK HOUSE ซึ่งเป็นบ้านสไตล์ยุโรปผสมอินเดีย ที่กำลังสร้างอยู่บนที่ดินของฟรานซิสไลท์ เมื่อ 200 ปีก่อน ที่กรุงปีนัง ประเทศมาเลเซีย.
 
- - - -

รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ผศ.สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์

๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑
- - - - - - - - - - - - - - -

ปี พ.ศ.๒๓๕๒ ชาวเมืองถลางต้องต่อสู่กับศัตรูเพียงลำพังยาวนามถึงเดือนเศษ ข้าวปลาอาหารอัตคัดขัดสน เมืองถลางก็เสียทีแก่พม่า  ชาวถลางหลบลี้หนีภัยไปกราภูงาและเมืองภูเก็จ 

เมื่อเจ้าพระยานครศรีธรรมราชได้ให้เจ๊ะมะหรือเจิมพ่อค้าชาวเมืองมัทราชอินเดียมาเป็นพระถลางเจ้าเมืองถลางที่บ้านท่าเรือ  และได้ให้บุตรชายชื่อ "แก้ว" ไปเป็นพระภูเก็จที่บ้านเก็ตโฮ่  บุตรชายพญาภูเก็จแก้วชื่อ ทัต ไปเป็นพระยาโลหะเกษตรารักษ์ ที่เมืองทุ่งคา และเลื่อนเป็นพระยาวิชิตสงครามในตอนต่อมา ในช่วงปี พ.ศ.๒๔๑๙ ภูเก็ตเกิดจราจลวุ่นจีนอั้งยี่ พระยาวิชิตสงคราม(ทัต) จึงไปสร้างป้อมกำแพงค่ายคูที่บ้านท่าเรือ จนกลายเป็นบ้านพระยาวิชิตสงคราม


รัชกาลที่ ๖ เมื่อดำรงพระอิสริยายศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เสด็จฯภูเก็ต ทรงพระราชทานนามถนนจากเมืองทุ่งคาไปกะทู้(เมืองภูเก็จ)ว่า ถนนวิชิตสงคราม  และทรงพระราชทานนามสกุลให้ทายาทในสายตระกูลนี้ว่า "รัตนดิลก ณ ภูเก็จ"  เมื่อคำ "ภูเก็ต" มีอิทธิพลทางภาษา ภูเก็จ ก็เลือนหายไป


คำที่เกี่ยวเนื่องจากพระยาวิชิตสงครามคือ วัดวิชิตสังฆาราม(วัดควน)  โรงเรียนวิชิตสงคราม  ตำบลวิชิต เป็นต้น

 

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( พฤหัสบดี, 22 มีนาคม 2018 )
 
< ก่อนหน้า

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้661
mod_vvisit_counterเมื่อวาน2500
mod_vvisit_counterทั้งหมด10691294