สภาพเศรษฐกิจในจังหวัดภูเก็ตช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2-พ.ศ. 2530 อัปสร ณ ระนอง ---------------
สืบเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้การประกอบกิจการเหมืองแร่ดีบุกซึ่งเป็นอาชีพหลักซึ่งรองรับราษฎรในจังหวัดอยู่ในสภาวะที่ไม่แน่นอนในด้านการค้าขาย ถึงแม้ว่าด้านการผลิตยังคงสามารถดำเนินไปได้ตามปกติ แต่การที่ราคาของดีบุกนั้นต้องขึ้นลงตามกลไกตลาดโลกประกอบกับการงดรับซื้อสินค้าจากผู้ซื้อรายใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ทำให้การดำเนินการของเหมืองแร่หยุดชะงักลงเนื่องจากขาดเงินทุนหมุนเวียน รัฐบาลจึงสนับสนุนให้มีการพัฒนาอาชีพอื่นมาเสริมให้กับราษฎรนอกจากการทำเหมืองแร่ ดังนั้นนับตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมาได้เกิดการประกอบอาชีพที่หลากหลายมากขึ้นในจังหวัดภูเก็ต เศรษฐกิจในจังหวัดภูเก็ตระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของภูเก็ตในช่วงระยะเวลานี้ยังคงมีกิจการเหมืองแร่ดีบุกเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ ดังนั้นเมื่อเกิดสภาวะสงครามผลกระทบจึงเกิดขึ้นในลักษณะลูกโซ่เพราะการค้าขายดีบุกทั้งด้านราคาและความต้องการล้วนขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกทั้งสิ้น เนื่องจากการผลิตดีบุกของประเทศไทยนั้นมิได้เป็นการผลิตเพื่อค้าภายในประเทศแต่ผลผลิตที่ได้มาทั้งหมดจะถูกส่งออกนอกประเทศทั้งสิ้น
ในช่วงก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของแร่ดีบุกซึ่งเป็นยุทธปัจจัยในการสงครามซึ่งทวีความสำคัญมากขึ้นในช่วงก่อนสงคราม สังเกตได้จากราคาดีบุกซึ่งเดิมมีราคาหาบละไม่เกิน 90 บาท แต่ก่อนเกิดสงครามแค่เพียงหนึ่งปีราคาดีบุกในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับมีราคาสูงขึ้นถึงหาบละกว่า 200 บาท ทั้งที่ในช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงที่ราคาดีบุกต่ำมากแต่ก็ยังสามารถเพิ่มระดับราคาขึ้นมาได้ถึงแม้ว่าจะไม่มากเท่าแต่ก่อน นอกจากนี้รัฐบาลยังตระหนักถึงการลักลอบส่งดีบุกออกสู่ต่างประเทศที่มากขึ้นทุกที ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ได้กระตุ้นให้บรรดานายเหมืองได้ระดมทุนเพิ่มขึ้นตลอดเวลาเพื่อที่จะขยายกิจการและเพิ่มผลผลิต ซึ่งเป็นการเร่งให้รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม หันมาจัดการกับอุตสาหกรรมนี้อย่างเร่งด่วนตามนโยบายชาตินิยมของตนทันทีในปลายปี พ.ศ. 2482 โดยจัดตั้งองค์การเหมืองแร่ขึ้นเป็นครั้งแรกโดยมี เป้าหมายที่จะเข้าควบคุมและปลดแอกการผูกขาดอุตสาหกรรมจากชาวต่างชาติโดยเฉพาะ ชาวจีน[1] ส่วนด้านของตลาดยางพาราในช่วงปี พ.ศ. 2473-2474 ซึ่งราคาการซื้อขายดีบุกได้ตกต่ำลงมากธุรกิจยางพาราจึงถูกดันขึ้นมาโดยสังเกตได้จากพื้นที่การทำสวนยางในประเทศที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วเช่น ในปี พ.ศ. 2460 มีเนื้อที่ทำสวนยางในประเทศรวม 109,000 ไร่ ในระยะเวลาเพียง 11 ปี มีการลงทุนทำสวนยางเพิ่มขึ้นถึง 777,000 ไร่ ถึงแม้ราคายางในตลาดโลกจะขึ้นๆ ลงๆ เหมือนกับดีบุกก็ตามเพราะลักษณะการค้าขายยางก็เช่นเดียวกับดีบุกคือต้องส่งออกนอกประเทศเพียงอย่างเดียวและการกำหนดราคาก็ต้องเป็นไปตามกลไกของตลาดโลก แต่ในส่วนธุรกิจยางพาราในภูเก็ตนั้นอาจเห็นผลกระทบไม่เท่ากับกิจการดีบุกเนื่องจากภูเก็ตไม่ใช้ฐานการผลิตส่วนใหญ่ของยางพาราแต่อยู่ที่หาดใหญ่ แม้กระนั้นก็ตามนายทุนในภูเก็ตบางรายก็ยังได้รับผลกระทบจากราคายางที่ขึ้นๆ ลงๆ ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากนายทุนจีนบางกลุ่มได้ขยายฐานเศรษฐกิจของตนออกจากภูเก็ตสู่จังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ ดังนั้นก็ย่อมที่จะได้รับผลกระทบเช่นกัน นอกจากสินค้าเศรษฐกิจหลักสองชนิดนี้แล้วทางรัฐบาลซึ่งตระหนักถึงราคาที่ไม่แน่นอนต้องพึ่งพิงราคาตลาดโลกจึงได้มีการส่งเสริมอาชีพอื่นเพื่อรองรับเอาไว้ เช่น การทำสวนผลไม้ การปลูกสวนมะพร้าว ซึ่งไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตลาดต่างประเทศก็ได้ โดยเฉพาะมะพร้าวซึ่งขายได้ทั้งในประเทศ และส่งออกยังต่างประเทศ อีกทั้งยังสามารถแปรรูปได้หลากหลายแล้วแต่ว่าในช่วงไหนผลผลิตในรูปแบบใดจะราคาดีกว่ากัน ดังนั้นการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจของภูเก็ตในช่วงนี้จึงมิได้ขึ้นอยู่กับผลผลิตแร่เพียงอย่างเดียวแล้ว ยังมีผลผลิตเสริมอีกหลายอย่างเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ภูเก็ตเองก็ได้รับผลกระทบจากการสงครามเช่นกัน การค้าซึ่งเป็นหัวใจหลักของการเศรษฐกิจก็ชะงัก สินค้าหลักอย่างดีบุกและยางก็กระทบกระเทือนเนื่องจากสถานการณ์ในภูเก็ตเองก็ไม่สู้จะดีนัก เพราะมีชาวต่างชาติทั้งชาวญี่ปุ่นซึ่งเข้ามาอาศัยอยู่ในภูเก็ตก่อนหน้านี้ในลักษณะของพ่อค้า และชาวอังกฤษซึ่งเข้ามาในฐานะของผู้ประกอบธุรกิจเหมืองแร่ คนเหล่านี้เป็นที่รู้จักของทางราชการและพ่อค้าประชาชนชาวภูเก็ตพอสมควร แต่เมื่อ เกิดสงครามขึ้นบุคคลเหล่านี้กลับกลายเป็นนายทหารที่ถูกส่งเข้ามาดูลาดเลาในภูเก็ต นายทหารอังกฤษผู้ซึ่งเข้ามาในคราบของนักอุตสาหกรรมเหมืองแร่ก็ได้ลักลอบนำเอาอาวุธสงครามเข้ามา ในรูปของชิ้นส่วนอุปกรณ์เรือขุดเมื่อเกิดสงครามก็นำออกมาใช้งาน ประกอบกับการที่มีเรือสินค้าของอิตาเลี่ยนเข้ามาอาศัยจอดลี้ภัยอยู่ที่อ่าวทุ่งคา 3 ลำ และโดนเรือดำน้ำของอังกฤษเข้าโจมตีอยู่เรื่อยๆ เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้การทำเหมืองแร่ดีบุกบริเวณอ่าวทุ่งคาต้องหยุดชะงักลง[2] ทำให้เหตุการณ์ในภูเก็ตเองก็วุ่นวายพอสมควรถึงแม้จะไม่ใช่พื้นที่สำคัญที่ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก และในที่สุดไทยก็ประกาศสงครามกับสัมพันธมิตรอย่างเป็นทางการ และประกาศใช้พระราชบัญญัติควบคุมและจัดการกิจการหรือทรัพย์สินของคนต่างด้าวบางจำพวกในภาวะคับขันพุทธศักราช 2484 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เพื่อประโยชน์ในการพิทักษ์ทรัพย์สินและควบคุมบุคคลสัญชาติอังกฤษและอเมริกัน เนื่องจากถ้าไทยไม่ประกาศสงครามอย่างเป็นทางการไทยก็ไม่สามารถริบเอาทรัพย์สินของอังกฤษและอเมริกันซึ่งมีอยู่มากมายในประเทศเข้ามาอารักขาไว้ได้โดยชอบด้วยกฎหมายบุคคลสัญชาติอังกฤษ สัญชาติอเมริกัน และทรัพย์สินของบุคคลทั้งสองสัญชาตินี้ก็จะต้องตกไปอยู่ในความดูแลของญี่ปุ่นทั้งหมด ดังนั้นนโยบายที่ต้องการปลดแอกการผูกขาดอุตสาหกรรมดีบุกจากต่างชาติของรัฐบาลจึงได้ถูกนำมาใช้ในครั้งนี้ โดยรัฐบาลได้เข้ายึดกิจการเหมืองแร่ดีบุกของชาวตะวันตกทั้งหมด และเปิดทำการใหม่ภายใต้การจัดการของคนไทยโดยตั้งขึ้นในรูปของบริษัทจำกัดโดยมีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และในปี พ.ศ. 2484 รัฐบาลได้ตั้งบริษัทแร่และยางไทย จำกัด เพื่อเป็นตัวแทนในการดำเนินธุรกิจเหมืองแร่และยางพารา[3] การที่รัฐเข้ามาควบคุมกลไกทางเศรษฐกิจทั้งหมดนั้นก็เพื่อที่จะสร้างความมั่นใจว่าภัยจากสงครามจะไม่ทำให้ผลผลิตต่างๆ ของประเทศทรุดโทรมลงไปกว่าที่เป็นอยู่ ภาวะสงครามทำให้รัฐบาลสามารถใช้นโยบายควบคุมเศรษฐกิจได้มากเป็นผลให้กิจการของชาวต่างชาติต้องตกเป็นของคนไทยมากขึ้นแต่การที่รัฐบาลเป็นผู้ส่งเสริมการประกอบกิจการและเร่งรัดการผลิต ผู้ประกอบการชาวไทยจึงเป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามคำสั่งและคำแนะนำของรัฐบาลเท่านั้น ในการกีดกันชาวต่างชาตินั้นรัฐบาลอาจยึดกิจการจากชาวตะวันตกได้แต่สำหรับนโยบายกีดกันชาวจีนนั้นไม่สามารถปฏิบัติได้ตามนโยบาย เนื่องจากมีชาวจีนส่วนหนึ่งให้ญาติพี่น้องที่ถือสัญชาติไทยเข้าควบคุมธุรกิจแทน และบางกลุ่มก็ได้เข้าร่วมกับคณะราษฎเพื่อใช้เส้นสายในการดำเนินกิจการต่อไปได้ และมาตรการของรัฐบาลนี้กลับยังทำให้นายทุนต่างชาติหันกลับมาร่วมมือกันเคลื่อนไหวเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางธุรกิจของตนเอาไว้[4] อาจเป็นเพราะเกรงว่าผลจากการประกอบการของรัฐบาลจะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของตน ภาวะสงครามทำให้ภูเก็ตขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นอย่างมากโดยเฉพาะข้าวสารซึ่งต้องสั่งซื้อมาจากกรุงเทพฯ และนครศรีธรรมราช น้ำมันเชื้อเพลิงเองก็ขาดแคลน ยานพาหนะต่างๆ ก็ขาดอุปกรณ์ซ่อมแซม การขนส่งจึงไม่สะดวกเหมือนในภาวะปกติ ชาวภูเก็ตซึ่งเคยทำงานด้านเครื่องจักรกลมาก่อนเนื่องจากเป็นเมืองเหมืองแร่มานานจึงได้ช่วยกันคิดค้นผลิตชิ้นส่วนยวดยานขึ้นใช้เพื่อทดแทนของต่างประเทศ ได้แก่ ยางรถยนต์ และรถจักรยานที่ไม่ต้องใช้ลมสูบอัดเข้าไว้ภายใน ยางรถยนต์เก่าที่นำมาอัดดอกส่วนหน้าเพิ่มขึ้นก็สามารถยืดอายุการใช้งานได้ เชื้อเพลิงก็เปลี่ยนจากการใช้น้ำมันเบนซินมาเป็นก๊าซจากการเผาไหม้ของถ่านไม้ธรรมดาเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนรถยนต์โดยสารและรถยนต์บรรทุก ถึงแม้จะมีแรงม้าอ่อนกว่าธรรมดาแต่ก็สามารถใช้งานได้เช่นกัน ตะเกียงน้ำมันก๊าดก็เปลี่ยนมาใช้น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันที่เคี่ยวยางพาราให้หลอมละลาย ไม้ขีดไฟเองก็ขาดแคลนจนต้องเฉลี่ยหรือปันส่วนจำหน่ายให้กันก็หันมาใช้ตะบันไฟซึ่งทำด้วยเขาสัตว์ ทำให้การดำรงชีพในยามสงครามมีความอยู่รอดได้พอสมควร ส่วนกิจการเหมืองแร่และสวนยางนั้นได้หยุดชะงักลงจนถึงต้องปิดกิจการชั่วคราวเนื่องจากไม่มีตลาดรับซื้อ และไม่มีองค์กรใดที่ใหญ่พอจะกล้าเสียสละเข้าเสี่ยงเพื่อพยุงราคาเนื่องจากตลาดโลกเอง ก็งดรับซื้อผลผลิตเช่นกัน ดังนั้นราคายางและดีบุกจึงตกลงไปจนเรียกได้ว่าไม่มีราคาถึงกับมีผู้เสนอขายยางในราคาเพียงแค่ 30 บาท ต่อร้อยกิโลกรัมซึ่งช่วงก่อนสงครามขายได้ถึง 164 บาท ดีบุกเองก็เช่นกันอัตราขายเริ่มต่ำลงเรื่อยๆ จนเดือนมิถุนายน 2485 ไม่มีการขายแร่เลย ประชาชนในภูเก็ตส่วนหนึ่งก็หันเข้าหาอาชีพทำการเกษตร เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช ทำนา ทำไร่ เพื่อนำผลผลิตมาเลี้ยงชีพ เครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นเช่น ข้าวสาร น้ำตาล ไม้ขีดไฟ นมสำหรับเลี้ยงทารก ก็ต้องจัดสรรปันส่วนจำหน่ายให้ตามจำนวนคน ตามอายุ และตามอาชีพ มากน้อยไม่เท่ากันตามความจำเป็นโดยอาศัยความต้องการในการบริโภคเป็นมาตรฐานในการวัด เครื่องอุปโภคบริโภคเหล่านี้ต้องลำเลียงมาทางเรือกลไฟ เพราะยังไม่มีถนนติดต่อระหว่างภูเก็ต-กรุงเทพฯ ภูเก็ต-ตรัง เหมือนในทุกวันนี้ ยิ่งช่วงสงครามกำลังจะสิ้นสุดอังกฤษได้ส่งเรือดำน้ำเข้ามาก่อกวนเส้นทางเดินเรือกันตัง-ภูเก็ต ยิ่งทำให้ความฝืดเคืองทวีความรุนแรงขึ้น เรือบางลำที่ลำเลียงข้าวสาร น้ำตาล จากฝั่งกันตังมาภูเก็ตถูกเรือของอังกฤษยิงทำลายจนจมลงทะเล[5] และในภาวะสงครามนี้เองได้มีคนอีกกลุ่มหนึ่งได้เปลี่ยนภาวะวิกฤตให้กลายเป็นโอกาส พวกบรรดานายเหมืองชาวจีนบางคนได้หาช่องโหว่ในการหาผลประโยชน์ เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายค้าขายข้าวสาร น้ำตาล ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นและมีราคาอย่างมากในช่วงสงครามนอกจากนี้ยังลักลอบค้าขายดีบุก และทองคำระหว่างภาคใต้และปีนังโดยเรือสำเภาบ้างเรือกลไฟบ้าง ทำให้สามารถสะสมเงินทุนเอาไว้ฟื้นตัวภายหลังภาวะสงครามได้[6] จะเห็นได้ว่าในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการเหมืองแร่ดีบุก ทั้งการยึดโอนกิจการของชนผิวขาวไม่ว่าจะเป็นอังกฤษหรือ ออสเตรเลีย ตามพระราชบัญญัติควบคุมและจัดการกิจการทรัพย์สินคนต่างด้าวบางจำพวกของรัฐบาลไทย ทำให้กิจการเหมืองแร่ของชาวตะวันตกบางส่วนตกมาอยู่ในมือของรัฐบาล ได้แก่[7] บริษัท กำมุนติงทิน เดรดยิง ลิมิเต็ด บริษัท ระเงงทิน โนไลเอบิลิตี้ บริษัท กำมะราทิน เดรดยิง ลิมิเต็ด บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ ทิน เดรดยิง ลิมิเต็ด บริษัท กะทู้ทิน เดรดยิง ลิมิเต็ด บริษัท ภูเก็ตทิน เดรดยิง ลิมิเต็ด บริษัท ทินเลย์ ลิมิเต็ด บริษัท ซะเทินคินตา คอลโวลิเดเต็ด ลิมิเต็ด บริษัท ไทยทินซิดิเกต ลิมิเต็ด บริษัท บางเทาโนไลเอบิลิตี้ กล่าวโดยสรุปแล้ว สถานภาพของภูเก็ตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นแม้จะไม่เป็นพื้นที่สำคัญแต่ก็เกี่ยวข้องไม่น้อยจนได้รับผลกระทบ การทำมาหากินของราษฎรในภูเก็ตก็ต้องหยุดชะงัก เหมืองแร่ในบนบกและในทะเลก็ต้องพักกิจการลงและโอนย้ายมือไปสู่รัฐบาล ชาวบ้านต้องอยู่อย่างขาดแคลน จึงต้องหันมาทำเกษตรแบบเลี้ยงชีพกันภายในเมือง เหตุการณ์ของสงครามแสดงให้เห็นว่าการดำรงอยู่ของประชากรในภูเก็ตส่วนใหญ่ผูกพันอยู่กับการทำเหมืองแร่แทบทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อเกิดสงครามและกิจการเหมืองแร่จำเป็นต้องหยุดพักลงจึงเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชากรส่วนใหญ่ในภูเก็ตอยู่ในภาวะไร้อาชีพจนต้องหันหาการเกษตรเพื่อดำรงชีพ พวกนายเหมืองเองต่างก็หาวิธีการค้าขายอย่างอื่นจนเกิดการลักลอบซื้อขายสิ่งของจำเป็นยามสงคราม จำพวก ข้าว น้ำตาล หรือดีบุก เพื่อสะสมทุนไว้สำหรับฟื้นตัวในช่วงหลังสงคราม ดังนั้นดีบุกยังถือว่ามีบทบาทอยู่แม้ในช่วงการสงคราม ความต้องการเนื่องจากซึ่งเป็นยุทธปัจจัยสงครามประกอบกับการห้ามซื้อขายจึงทำให้เกิดการขายแร่เถื่อนขึ้น จุดนี้เองทำให้เครือขายการทำกิจการเหมืองแร่ดีบุกมีบุคคลจากภายนอกเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องมากขึ้นนอกเหนือไปจากกลุ่มนายทุนในภูเก็ตเอง สภาพการณ์หลังสงครามซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางเศรษฐกิจในจังหวัดภูเก็ต หลังจากสงครามสิ้นสุดลงกิจการหมืองแร่ได้ฟื้นตัวขึ้นในระดับหนึ่ง เหมืองที่ฟื้นตัวส่วนใหญ่จะเป็นเหมืองของชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนเนื่องจากมีการสะสมทุนเอาไว้แล้วในช่วงสงครามแต่สำหรับนายเหมืองชาวไทยต้องประสบกับปัญหาอย่างมากเพราะไม่มีทุนที่จะสั่งซื้ออุปกรณ์ในการทำเหมืองเนื่องจากอุปกรณ์เดิมที่มีได้รับความเสียหายจากช่วงสงคราม แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลก็สนับสนุนให้มีการฟื้นฟูเหมืองแร่ดีบุกอย่างเต็มที่เนื่องจากต้องการรายได้จากการค้าดีบุกเพื่อนำมาบูรณะประเทศโดยเฉพาะมีมาตรการในการช่วยเหลือเรื่องการรับจำนำแร่ซึ่งเป็นผลผลิตที่ตกค้างขายไม่ได้ยามสงครามเพื่อให้เจ้าของเหมืองนำเงินไปลงทุนในกิจการเหมืองโดยจะให้จำนำดีบุกต่อธนาคารในราคาที่สูงกว่าที่ธนาคารรับอยู่อย่างต่ำกิโลกรัมละ 6 บาท และให้ธนาคารคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าที่กำหนดในขณะนั้น ซึ่งในช่วงปี พ.ศ.2489 ธนาคารมณฑลจำกัด สาขาภูเก็ต รับจำนำแร่ดีบุกในราคาหาบละ 200 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี แต่รัฐบาลเห็นว่าดอกเบี้ยสูงเกินไป จึงมีมติให้ลดเหลือร้อยละ 5 ต่อปี ซึ่งช่วยเหลือบรรดานายเหมืองได้มาก นอกจากนี้รัฐบาลได้เห็นว่ายังไม่สามารถส่งดีบุกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้เนื่องจากมีพันธะสัญญากับอังกฤษและรัฐบาลแห่งอินเดียฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2489 ห้ามรัฐบาลไทยส่งดีบุกออกนอกราชอาณาจักรชั่วระยะเวลาหนึ่ง (ไม่เกินวันที่ 1 กันยายน 2490) ทำให้บรรดานายเหมืองพากันเดือดร้อนเพราะไม่มีเงินทุนหมุนเวียนในการทำกิจการได้อย่างเสมอต้นเสมอปลายถึงแม้จะมีธุรกิจอื่นอย่างการทำสวนยางรองรับอยู่เนื่องจากยางเองก็ประสบปัญหาเดียวกันกับดีบุก รัฐบาลจึงต้องจัดตลาดรับซื้อแร่เองโดยให้กรมโลหะกิจรับซื้อไว้โดยยืมทุนรอนจากบริษัทแร่และยางไทยจำกัดโดยตั้งร้านรับซื้อแร่ขึ้นที่ภูเก็ต แต่การรับซื้อแร่ก็ดำเนินไปได้ไม่กี่เดือนเท่านั้นเพราะตั้งแต่เดือนกุมภาพันธุ์ 2490 ทางราชการก็ซื้อแร่ไม่ได้เลยเนื่องจากมีพ่อค้าแร่แย่งซื้อโดยให้ราคาสูงกว่า เพราะมีทางที่จะส่งแร่ออกนอกประเทศได้เนื่องจากมีเครือข่ายที่ลักลอบขายแร่กันมาตั้งแต่ช่วงสงครามยังดำเนินอยู่ บุคคลกลุ่มนี้ก็ได้แก่บรรดานายเหมืองชาวจีนซึ่งอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายและช่องทางตักตวงผลประโยชน์จากการเมืองไทยเข้าไปเป็นบริษัทนายหน้าหรือหุ้นส่วนของบริษัทแร่และยางไทยจำกัด การค้าดีบุกจึงหลบเลี่ยงภาษีทุกรูปแบบและมีการลักลอบขายออกไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะปีนัง พวกพ่อค้าเหล่านี้เมื่อส่งไปขายได้ก็จะได้รับเงินตราต่างประเทศซึ่งจะนำมาขายในตลาดมืดได้ราคาดี นอกจากนี้แล้วการที่ผู้แทนของอังกฤษและอเมริกาเองได้ดำเนินการรับซื้อดีบุกเพื่อส่งออกอีกทางหนึ่ง จึงไม่มีใครนำแร่มาขายให้กับทางรัฐบาล ร้านซื้อขายแร่ของกรมโลหะกิจจึงได้ปิดกิจการลง[8] กิจกรรมการค้าขายดีบุกในภูเก็ตได้เริ่มกระเตื้องขึ้นอีกครั้งในช่วง 2-3 ปีแรกหลังจากสงครามสิ้นสุดลง ถึงแม้โดยภาพรวมแล้วกิจการเหมืองแร่จะฟื้นตัวขึ้นบ้างแต่การขายแร่นั้นกลับไม่คึกคักเท่าในช่วงก่อนหน้านี้ กิจการเหมืองแร่ในภูเก็ตเองถึงแม้จะกลับมาทำการได้ตามปกติแต่ด้วยผลพวงจากภาวะสงครามทำให้พื้นที่ลานแร่ลดน้อยลงไปมาก นายทุนบางคนก็เห็นว่าไม่คุ้มทุนถ้าจะลงทุนเปิดกิจการอีกครั้ง บางคนก็เห็นว่ากิจการเหมืองแร่นั้นมีความเสี่ยงสูงเพราะต้องพึ่งพากลไกของตลาดโลก เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ทำให้การฟื้นฟูเหมืองแร่ไม่ค่อยได้รับความสนใจนอกจากผู้ที่มีทุนมากจริงๆ เป็นเพราะประเทศไทยมีการเก็บค่าภาคหลวงในอัตราก้าวหน้าคือ จากร้อยละ 10 ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเป็นขั้นๆ จนถึงร้อยละ 25-26 และสืบเนื่องจากสงครามไทยได้เข้าร่วมโครงการเศรษฐกิจกับญี่ปุ่นมีผลให้เกิดการลดค่าเงินบาทลงไปเกือบ 6-7 เท่าตัว คือ จากดอลล่าร์ละ 3 บาท ไปถึงดอลล่าร์ละ 20 บาทเศษ และยังเป็นอัตราที่ไม่เสรีต่อการควบคุมการแลกเปลี่ยนซึ่งในตลาดเสรีหรือตลาดมืดอัตราการแลกเปลี่ยนอาจสูงถึง 25-27 บาทต่อดอลล่าร์ ราคาดีบุกในตลาดโลกเมื่อเทียบเป็นเงินไทยจึงพุ่งสูงขึ้นมากซึ่งทำให้ต้องมีการจ่ายค่าภาคหลวงในอัตราสูงสุดถึงร้อยละ 25-26 ยิ่งในปี พ.ศ. 2496 ราคาแร่ดีบุกลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว พ่อค้านายเหมืองต่างก็ได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้าเนื่องจากดีบุกซึ่งเคยมีราคาที่กระเตื้องขึ้นมาแล้วในช่วงหลังสงครามประมาณหาบละ 1,800 บาท ในปี พ.ศ. 2494[9] ได้ลดลงเหลือเพียงประมาณหาบละ 1,300 บาท อย่างกะทันหัน แต่ค่าใช้จ่ายในการผลิต ค่าจ้างแรงงานยังคงอยู่ในอัตราเดิมทำให้นายเหมืองได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมากจนเหมืองที่มีทุนน้อยบางแห่งต้องปิดกิจการลง สาเหตุของราคาดีบุกซึ่งตกต่ำลงเช่นนี้อาจเนื่องมาจากปริมาณดีบุกที่ผลิตได้รวมกับที่ค้างอยู่ในช่วงสงครามมีปริมาณมากเกินความต้องการของตลาดโลกต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 แต่การที่ดีบุกยังคงทรงตัวมาได้นั้นก็เพราะอเมริกาได้ทำการซื้อดีบุกที่เกินความต้องการของตลาดสะสมเอาไว้และการที่ราคาดีบุกตกลงอย่างกะทันหันก็เพราะสหรัฐอเมริกามีนโยบายที่จะลดและเลิกซื้อผลผลิตส่วนเกินดังกล่าวเพื่อที่จะสะสมเอาไว้อีกต่อไป[10] ตาราง ราคาแร่ดีบุกต่อผลผลิตที่ได้ในภูเก็ต พ.ศ. 2488-2500 ปี ผลผลิตดีบุก (หาบ) ราคา (บาท/หาบ) 2488 2,944.11 - 2489 5,642.69 - 2490 4,153.94 - 2491 21,248.68 - 2492 35,489.75 - 2493 39,259.92 1,526.69 2494 40,145.67 1,894.42 2495 47,867.23 1,661.31 2496 51,300.93 1,315.11 2497 54,697.90 1,471.59 2498 54,081.51 1,616.90 2499 48,806.22 1,732.61 2500 55,246.36 1,644.88 ที่มา : สำนักงานสถิติแห่งชาติ, สมุดรายงานสถิติจังหวัดภูเก็ต, (กรุงเทพฯ:สำนักงานสถิติแห่งชาติ,2506), 164-308. อย่างไรก็ตามแม้การฟื้นฟูบูรณะเหมืองจะไม่ได้รับความสนใจจากบรรดาเจ้าของเหมืองเท่าที่ควรดังสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว แต่ด้วยการที่ภูเก็ตมีอาชีพการทำเหมืองแร่เป็นอาชีพหลักของคนในจังหวัดเหมืองแร่จึงถูกฟื้นฟูขึ้นถึงแม้ในช่วงแรกนี้จะไม่เฟื่องฟูเท่าก่อนเกิดสงครามก็ตาม เหมืองแร่ของชาวภูเก็ตเองได้มีการปรับปรุงให้ใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยมากขึ้น เหมืองแล่นและเหมืองหาบหายไปไม่ปรากฏให้เห็นอีกเพราะการทำเหมืองสูบโดยใช้เครื่องยนต์ดีเซลมีประสิทธิภาพสูงกว่าส่งผลให้การฟื้นฟูเหมืองและฐานะทางเศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วกว่าจึงได้รับความนิยม ส่วนเหมืองแร่ของชาวตะวันตกบ้างก็ขอรับค่าชดเชยเป็นเงินตามพระราชบัญญัติควบคุมทรัพย์สินของคนต่างด้าว แล้วไม่เปิดทำการต่อเนื่องจากเห็นว่าไม่คุ้มที่จะทำการฟื้นฟู ทรัพย์สินในเหมืองจึงตกเป็นของรัฐบาลไทย[11] แต่ก็ยังมีบางเหมืองที่มีผู้ยื่นคำร้องอ้างความสัมพันธ์กับชนศัตรูซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินเพื่อขอรับโอนประทานบัตรเหมืองแร่รวมถึงเครื่องจักรและทรัพย์สินเพื่อไม่ให้ประทานบัตรตกอยู่กับรัฐบาลไทย จึงมีบางบริษัทที่รอดจากการถูกริบทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติควบคุมทรัพย์สินของคนต่างด้าวชนชาติศัตรู เช่น ประทานบัตรของบริษัท บางเทาโนไลเอบิลิตี้ ของชนชาติอังกฤษได้ถูกโอนเป็นของ นางเต่เจ้ง แซ่หลิม ซึ่งยื่นคำร้องของจัดการแทน จึงรอดพ้นจากการถูกริบทรัพย์สิน[12] นอกจากนี้ก็ยังมีชาวตะวันตกอื่นๆ ยังสนใจที่จะทำเหมืองแร่ในภูเก็ตอยู่เพราะเชื่อว่าภูเก็ตยังคงมีดีบุกสมบูรณ์อยู่ไม่น้อยโดยเฉพาะในทะเล เช่น นายอาเธอร์ ไมลส์ ซึ่งเป็นบุตรชายของกัปตัน เอดวาร์ด ที ไมลส์ ผู้ที่นำเรือขุดแร่ลำแรกเข้ามาใช้ในภูเก็ตและก่อตั้งบริษัท ปีนังไมนิง คอร์ปอชัน ลิมิเต็ด นายอารเธอร์ได้หาทุนมาสำรวจแหล่งแร่ในทะเลเมื่อเห็นว่าแหล่งแร่บนบกได้รับผลกระทบจากสงคราม โดยเขาได้ตั้งบริษัท โทรมัสปรอสเปกติง จำกัด ขึ้นและพบว่าในทะเลภูเก็ตยังมีแหล่งแร่ดีบุกเพียงพอจึงได้ก่อตั้งบริษัท อ่าวขาม ติน จำกัดขึ้นมาโดยมีรัฐบาลไทยและคนไทยเป็นผู้ถือหุ้นร่วมอยู่ด้วยประมาณร้อยละ 32 ซึ่งนายอาเธอร์เห็นว่าควรมีการร่วมทุนกับเจ้าของประเทศในการทำเหมืองแร่ในทะเลเนื่องจากรัฐบาลในสมัยนั้นยึดนโยบายกีดการชาวต่างชาติการร่วมทุนกับเจ้าของประเทศจึงสามารถเพิ่มความมั่นใจในการลงทุนให้แก่นักลงทุนชาวต่างชาติได้ นอกจากนี้ยังมีการนำเรือขุดแบบใหม่เข้ามาใช้อีกด้วยโดยตั้งชื่อเรือขุดลำนี้ตามชื่อนายกรัฐมนตรีของไทยสมัยนั้น คือ เรือพิบูล เห็นได้ว่าในด้านกิจการเหมืองแร่ดีบุกในภูเก็ตของชาวต่างชาตินั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่งเข้าสู่ยุคการทำเหมืองแร่โดยใช้เงินทุนและเครื่องจักรเป็นหลัก (Capital Intensive Mining Methods) ซึ่งมีความเจริญเติบโตในรูปแบบการผลิตที่แตกต่างกัน ส่งผลให้เศรษฐกิจของภูเก็ตค่อยๆ ฟื้นฟูและเจริญขึ้นอีกครั้งไม่ว่าจะเป็นในเขตชุมชนเมืองหรือชุมชนที่อยู่ห่างไกลออกไปจากตัวเมือง เป็นส่วนช่วยให้เศรษฐกิจของชุมชนนั้นๆ มีการขยายตัวขึ้น[13] เห็นได้ว่านายทุนที่ลงทุนฟื้นฟูเหมืองแร่ดีบุกในช่วงแรกของการสิ้นสุดสงครามของนายทุนชาวตะวันตกที่ทีทุนมากพอจะเบนทิศทางการทำเหมืองแร่ไปสู่การทำเหมืองในทะเล ซึ่งจะเข้ามาร่วมทุนกับรัฐบาลหรือนายทุนพื้นเมืองในภูเก็ตเนื่องจากสภาพของเหมืองแร่บนบกได้รับผลกระทบจากสงครามและสายแร่ก็ลดน้อยลงเนื่องจากการทำเหมืองมาเป็นเวลานาน ด้วยปัญหาในลักษณะนี้ทำให้นายทุนเหล่านี้ตระหนักได้ถึงความไม่มั่นคงของกิจการเหมืองแร่จึงหันไปประกอบธุรกิจอื่นควบคู่กับการทำกิจการเหมืองแร่ด้วยซึ่งได้แก่ การขยายพื้นที่สวนยางพารา การทำสวนผลไม้ และการทำสวนมะพร้าว สวนเงาะ ธุรกิจเหล่านี้เริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้นในภูเก็ต สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงรูป “ทุน” จากฐานการผลิตของกิจการเหมืองแร่ดีบุกมาลงทุนในรูปฐานการผลิตของภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นฐานชีวิตของสังคมไทยเนื่องจากภูมิปัญญาที่เรียนรู้จากความสำเร็จและล้มเหลวของนายเหมืองในอดีต ความไม่มั่นคงในกิจการเหมืองแร่อันเนื่องมาจากความสามารถในการจัดการกิจการเหมือง ทั้งในเรื่องบุคลากร ทรัพยากรธรรมชาติ เทคโนโลยีต่างๆ กับกลไกการตลาดที่กำหนดราคาดีบุกผูกติดอยู่กับตลาดโลกตลอดเวลา[14] นอกจากนี้จากการไปตรวจราชการของจอมพลอากาศ ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี ในช่วงปีพ.ศ. 2499 ได้พบว่ากิจการเหมืองแร่ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักในภูเก็ตมาช้านานนั้นนับวันจะทำได้ยากขึ้น เนื่องจากมีพื้นที่ในการทำเหมืองแร่น้อยลงทุกที อีกทั้งการลงทุนทำเหมืองแร่ในทะเลก็ต้องใช้ทุนจำนวนมาก และคนไทยเองก็ยังไม่มีความสามารถพอ และคงมีชาวต่างชาติไม่มากรายนักที่จะกล้าเสี่ยงลงทุนทั้งที่สถานการณ์ราคาดีบุกยังขึ้นๆ ลงๆ อยู่ในช่วงเวลานั้น จึงพอที่จะคาดการณ์ได้จากในช่วงเวลานั้นว่ากิจการเหมืองแร่ดีบุกคงจะค่อยๆ ลดความสำคัญลงเรื่อยๆ ซึ่งก็จะมีผลกระทบกระเทือนต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพซึ่งก็ได้แก่ประชาชนส่วนใหญ่นั่นเอง เพราะคนกลุ่มนี้เคยแต่ประกอบอาชีพทำเหมืองเพียงอย่างเดียวก็จะไม่ถนัดในการที่จะเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่นด้วยประการทั้งปวง อีกทั้งสภาพทางภูมิศาสตร์ของภูเก็ตเองก็ไม่เหมาะที่จะทำการเกษตรเท่าใดนัก และพื้นที่ซึ่งเคยทำเหมืองแล้วก็ไม่สามารถที่จะใช้เป็นพื้นที่การเกษตรกรรมได้จึงทำให้การแก้ปัญหาเกี่ยวกับการประกอบอาชีพค่อนข้างจะลำบากพอสมควร แต่รัฐก็ยังส่งเสริมการปลูกยางพาราและการเกษตรกรรมอื่นเท่าที่พึงจะส่งเสริมได้ นอกจากนี้ยังเริ่มที่จะมีนโยบายพยายามที่จะจัดให้เกาะภูเก็ตเป็นที่อยู่อาศัยที่สะดวกสบาย และปรับปรุงให้ภูเก็ตเป็นสถานที่ท่องเที่ยวไปด้วยในตัวเพื่อเป็นการรับสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงรวมทั้งรัฐยังมีการสนับสนุนให้บรรดานายเหมืองขยายการลงทุนออกไปยังผืนแผ่นดินด้วย[15] ซึ่งในช่วงเวลานี้ก็มีนายทุนจีนบางกลุ่มได้ขยายกิจการของตนออกไปยังพื้นที่อื่นๆ ในภาคใต้แล้ว เช่นการลงทุนทำธุรกิจสวนยางพาราในหาดใหญ่ การทำเหมืองแร่ในจังหวัดใกล้เคียงทั้ง พังงา ระนอง ตรัง หรือแม้แต่นครศรีธรรมราช โดยเฉพาะในพังงา หลังจากที่บริษัททุ่งคาฮาเบอร์ ทิน เดรดยิง ลิมิเต็ด และ บริษัท ซะเทินคินตา คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ได้สำรวจพบแหล่งแร่ดีบุกที่สำคัญนอกฝั่งหมู่บ้านน้ำเค็ม ตำบลท่าม่วง ในปี พ.ศ. 2506 บริษัทเหมืองแร่บูรพาเศรษฐกิจก็ได้รับสัมปทานพิเศษให้สำรวจแหล่งแร่ในทะเลตั้งแต่อ่าวพังงาตลอดไปจนถึงระนองโดยร่วมกับบริษัทยูเนียนคาร์ไบด์ของอเมริกา เข้ามาดำเนินการ ถึงแม้จะมีการพบแหล่งแร่ใหญ่นอกชายฝั่งพังงาและแหล่งแร่สำคัญในจังหวัดภูเก็ต ในปีเดียวกันบริษัทยูเนียนคาร์ไบด์ได้มีการตั้งโรงถลุงแร่ดีบุกขึ้นในภูเก็ตภายใต้ชื่อ บริษัท ไทยแลนด์สเมลติ้งแอนด์รีไฟนิ่ง จำกัด หรือ ไทยซาร์โก ที่บ้านอ่าวมะขาม ตำบลวิชิตสงคราม เนื่องจากก่อนหน้านี้ไทยจำหน่ายแร่ดิบไปยังต่างประเทศเป็นเหตุให้สูญเสียค่าระวางบบรทุกวัตถุเจือปนอยู่ในเนื้อแร่ซึ่งมีประมาณร้อยละ 25 อยู่ตลอดมา [16] จากภาวะผันผวนของอัตราการผลิตและราคาดีบุกโดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจของเมืองภูเก็ตอย่างเห็นได้ชัด การเปลี่ยนแปลงและขยายรูปแบบของกิจกรรมทางเศรษฐกิจนอกเหนือไปจากกิจการเหมืองแร่นั้นส่วนใหญ่ก็ถือว่าเป็นการแปรรูปทุนมาจากกิจการเหมืองแร่สู่กิจการอื่นๆ ทั้งสวนยางพารา สวนผลไม้ และสวนมะพร้าว การเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางเศรษฐกิจของภูเก็ตนั้นไม่ได้มีเหตุผลมาจากสภาวะความเสี่ยงในกิจการดีบุกเพียงอย่างเดียวเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงการได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลทั้งเรื่องการกีดกันชาวต่างชาติ และนโยบายทุนนิยมโดยรัฐอีกด้วย ปัจจัยที่ส่งผลให้กิจการเหมืองแร่ดีบุกลดบทบาทลง สภาพทางกายภาพในเหมืองแร่ ในช่วงสงครามบรรดานายเหมืองต่างหยุดกิจการไว้ชั่วคราวบ้างก็ถูกโอนย้ายกิจการไปเป็นของรัฐบาลโดยเฉพาะเหมืองของชาวอังกฤษและออสเตรเลีย ถึงแม้คณะกรรมการการฟื้นฟูเหมืองแร่จะทำการส่งมอบเหมืองแร่ของชาวเครือจักรภพอังกฤษและคิดเงินค่าชดเชยความเสียหายให้แก่เหมืองแร่เหล่านั้นให้สามารถกลับมาดำเนินการได้เหมือนก่อนเดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 ซึ่งเท่ากับเหมืองแร่ได้กลับมาอยู่ในมือเอกชนอีกครั้ง แต่เจ้าของเหมืองชาวอังกฤษและออสเตรเลียส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมที่จะรับภาระหน้าที่ดังกล่าว เจ้าของเหมืองจำนวนหนึ่งได้แสดงเจตนาชัดเจนว่าไม่มีความประสงค์ การเมืองและนโยบาลรัฐ การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของนายทุนเป็นอย่างมากโดยเฉพาะนายทุนชาวจีนเนื่องจากนโยบายรัฐชาติในสมัยจอมพล ป. ได้กีดกันบทบาทของชาวต่างชาติในการประกอบธุรกิจในประเทศโดยเฉพาะชาวจีนเพราะเห็นว่าชาวจีนเป็นปัญหาสำคัญมากของประเทศจึงออกพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ในปี พ.ศ. 2480 ถือเป็นการจำกัดหัวใจทางเศรษฐกิจเลยทีเดียว ทำให้ธนาคารที่ไม่เข้าข่ายตามพระราชบัญญัติต้องปิดกิจการลงเหลือสองธนาคารคือ ธนาคารหวั่งหลี และธนาคารตันเปงชุง และคณะราษฎรได้ตั้งธนาคารขึ้นอีกธนาคารเพื่อเข้าควบคุมเครดิตและการเงินการธนาคาร ในภูเก็ตเองมีชาวจีนอาศัยอยู่จำนวนมากและกลุ่มที่ประกอบธุรกิจหลักในภูเก็ตก็ล้วนแต่เป็นชาวจีนแทบทั้งสิ้น โดยในช่วงรอยต่อระหว่างสมัยรัชกาลที่ 6 มาสู่มือคณะราษฎรนั้นการซื้อขายแลกเปลี่ยนทางการค้ากับต่างประเทศในภูเก็ตจำเป็นต้องพึ่งพิงธนาคารต่างประเทศเป็นหลัก ความเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนจีนในระบบแลกเปลี่ยนเงินตราผ่านไปทางธนาคารส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทุนจีนในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพวกคอมปราดอร์หรืออดีตเจ้าภาษีนายอากรทั้งหลาย เป็นกลุ่มทุนที่อิงประโยชน์ในการทำธุรกิจ ธนาคารเหล่านี้จึงกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ทำให้กลุ่มทุนจีนในต่างจังหวัดที่ห่างไกลจากศูนย์กลางเช่น กลุ่มนายเหมืองในภูเก็ต พังงา ไม่ได้รับความสะดวกจากกิจการดังกล่าว ในขณะเดียวกันลักษณะของการประกอบกิจการ ยังพึ่งพิงอยู่กับการค้าขายแลกเปลี่ยนกับตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะปีนัง นายเหมืองและพ่อค้าชาวภูเก็ตต่างใช้บริการโพ้ยก๊วนมาตลอดภายใต้ระบบความเชื่อมั่นของคนจีนเป็นหลักประกัน ทำให้ไม่ค่อยที่จะมีความสัมพันธ์กับระบบธนาคารของทางกรุงเทพฯมากเท่าใดนัก นอกจากนี้อีกช่องทางหนึ่งก็คือ ธนาคารสาขาของต่างประเทศ ได้แก่ “ชาเตอร์แบงค์ของเมืองอินเดีย ออสเตรเลีย และเมืองจีน” (The Chartered Bank of India Australia and China) ซึ่งมาเปิดสาขาย่อยที่ภูเก็ตราวปี พ.ศ. 2450 เป็นธนาคารแห่งแรกและแห่งเดียวที่เปิดให้บริการในภูเก็ต กลุ่มธุรกิจในภูเก็ตต่างก็ใช้บริการของธนาคารนี้ทั้งสิ้นเนื่องจากไม่มีทางเลือกอื่นที่จะเอื้ออำนวยในการโอนเงิน จึงต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูงมาโดยตลอด ด้วยทั้งการที่ถูกกีดกันจากรัฐบาลและการต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูงจึงเป็นแรงกดดันที่ทำให้เกิดการจัดตั้งธนาคารในกลุ่มคนจีนขึ้นเพื่อเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจอย่างครบวงจรถึงแม้ว่าจะมีธนาคารของรัฐเกิดขึ้นใหม่รวมทั้งสิ้นถึง 10 ธนาคาร ตั้งแต่ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ยังไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการของกลุ่มทุนจีนที่อยู่ห่างไกลจากศูนย์อำนาจเนื่องจากธนาคารเหล่านี้อยู่ในส่วนกลางแทบทั้งหมด และผู้เข้าร่วมดำเนินการก่อตั้งล้วนเป็นคนของของคณะราษฎรซึ่งมีนโยบายกีดกันชาวจีน และกลุ่มทุนจีนที่อิงอยู่กับอำนาจรัฐซึ่งมีฐานการเติบโตทางธุรกิจจากกิจการค้าข้าวและโรงสี รวมทั้งกลุ่มนายทุนหน้าจากส่วนกลาง ในขณะที่ภูเก็ตซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าของภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีดีบุกเป็นหัวใจของการค้ากับต่างประเทศโดยเฉพาะกับปีนัง และสิงคโปร์ ชีพจรทางเศรษฐกิจของคนภูเก็ตจึงผูกพันอยู่กับธุรกิจเหมืองแร่และการค้าขายอื่นที่เกี่ยวข้อง มีการเลื่อนไหลของเงินทุน ทุนคน ทุนความรู้ ทุนทางวัฒนธรรม เทคโนโลยีการผลิตหลายอย่างระหว่างภูเก็ต กับปีนังและสิงคโปร์อยู่ตลอด ดังนั้นในส่วนของธนาคารซึ่งเป็นจุดอับของธุรกิจของคนจีนในภูเก็ตซึ่งถูกควบคุมโดยชาวต่างชาติทั้งอัตราแลกเปลี่ยนต่างๆ อัตราดอกเบี้ย รวมทั้งบริการจากการโอนเงินซื้อขายแร่ดีบุก และยางพารากับปีนัง มาเลเซีย และสิงคโปร์ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ของกลุ่มนายทุนเหมืองร่วมกันจัดตั้งธนาคารขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ช่วงยุคเผด็จการที่คณะทหารทำรัฐประหารในช่วงปลายปี พ.ศ. 2490 ซึ่งนำโดยพลโทผิน ชุณหะวัน พันเอกเผ่า ศรียานนท์ และ พันเอกสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ทำให้นโยบายทางเศรษฐกิจได้เปลี่ยนเป็นทุนนิยมโดยรัฐอย่างชัดเจนมากขึ้นโดยพยายามเข้าคุ้มครองธุรกิจของพ่อค้าทำให้พ่อค้าบางกลุ่มต้องการปกป้องและแสวงหาผลประโยชน์ร่วมจากกลุ่มอำนาจที่ตนเองสังกัด โดยเฉพาะสถานการณ์หลังสงครามซึ่งมีการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายเสรีนิยมและฝ่ายคอมมิวนิสต์มากขึ้น จึงมีการสะสมยุทธปัจจัยซึ่งใช้ในสงคราม เช่น ข้าว ดีบุก และยางพารา ซึ่งถึงแม้ว่าในช่วงหลังสงครามใหม่ๆ กิจการของสินค้าเหล่านี้จะยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากในช่วงสงครามซึ่งไม่สามารถซื้อขายสินค้าเหล่านี้ได้ จึงเกิดการคิดค้นวัสดุที่ใช้แทนดีบุกขึ้นในวงการอุตสาหกรรม และการผลิตยางสังเคราะห์ขึ้นมาใช้แทนยางที่ได้จากธรรมชาติ แต่อย่างไรก็ตามในช่วงสงครามเกาหลีในช่วงปี พ.ศ.2492 การค้าขายสินค้าซึ่งเป็นยุทธปัจจัยเหล่านี้ได้ฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งทั้งดีบุกและโดยเฉพาะยางพาราเนื่องจากยางสังเคราะห์ที่ผลิตได้นั้นมีคุณภาพสู้ยางจากธรรมชาติไม่ได้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจอีกครั้งทำให้เกิดธนาคารพาณิชย์ใหม่ถึง 5 ธนาคาร และในช่วงนี้เองกลุ่มชาวจีนในภูเก็ตบางกลุ่มได้ร่วมกันกับพ่อค้าจีน และกลุ่มชนชั้นเจ้าบางส่วนทำการก่อตั้งธนาคารเกษตรจำกัดขึ้นเมื่อ วันที่ 18 พฤษภาคม 2493 ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ธนาคารนี้เกิดขึ้นมาจากกลุ่มทุนท้องถิ่นซึ่งมีสายใยของตระกูลจีนภูเก็ต โดยเฉพาะตระกูลงานทวี และตระกูลหงษ์หยก ซึ่งเติบโตมาจากธุรกิจเหมืองแร่และยังมีสายสัมพันธ์ในการทำธุรกรรมทางธุรกิจอื่นๆ ด้วยเช่น การร่วมลงหุ้นในกลุ่มเครือดุสิตกรุ๊ปจากสายสัมพันธ์ที่มีต่อตระกูลไทวา เรียกว่า “หุ้นเอาเพื่อน” และนำไปสู่สายสัมพันธ์ที่มีต่อกลุ่มธนาคารอื่น เช่น ตระกูลโสภณพานิช ทำให้เกิดมีการร่วมมือกันขึ้นระหว่างกลุ่มนายทุนในท้องที่กับกลุ่มนายทุนจากส่วนกลาง จึงเกิดความสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่นกับศูนย์กลางขึ้นซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในภูเก็ตเนื่องจากภูเก็ตติดต่อทางการค้าและเศรษฐกิจกับต่างชาติมาโดยตลอด ผลจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มนายทุนจีนเนื่องจากเมื่ออิทธิพลของจักรวรรดินิยมที่เคยควบคุมทั้งกิจการเหมืองแร่ ธุรกิจการเงินและอื่นๆ ในประเทศได้เสื่อมสลายลง กลุ่มนายเหมืองได้เล็งเห็นโอกาสที่เกิดจากความขาดแคลนหลังสงครามและความต้องการฟื้นฟูประเทศนำไปสู่การขยายตัวทางการผลิต การค้าขาย และเครดิตกับธนาคาร ในหมู่ชาวจีนโพ้นทะเลด้วยกัน และธนาคารเป็นธุรกิจสำคัญในฐานะเป็นตัวแปรที่จะนำไปสู่ความเชื่อมโยงทางการค้ากับต่างประเทศและธุรกิจอื่นๆ[17] นอกจากตัวแปรทางการเมืองที่ทำให้รูปแบบการดำเนินธุรกิจของนายทุนในภูเก็ตเปลี่ยนรูปแบบแล้ว สาเหตุอีกส่วนหนึ่งก็มาจากตัวแปรทางเศรษฐกิจกิจเอง เนื่องจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงแม้จะมีการฟื้นฟูธุรกิจเหมืองแร่ขึ้นมาได้แต่ราคาแร่ ก็ขึ้นๆ ลงๆ มาโดยตลอดในช่วงปี พ.ศ. 2490-2500 สร้างความเดือดร้อนให้แก่นายเหมืองเป็นอันมากประกอบกับในภูเก็ตเองพื้นที่ลานแร่ก็ลดน้อยลงมากซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะสงคราม ทำให้บรรดานายทุนหันมาประกอบธุรกิจอื่นควบคู่ไปด้วย จึงมีกิจการอื่นเกิดขึ้นอย่างเป็นจริงเป็นจังในภูเก็ตนอกเหนือไปจากกิจการเหมืองแร่ ทำให้ฐานทางเศรษฐกิจของภูเก็ตมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้นเนื่องจากไม่ต้องรอรับรายได้หลักจากการทำกิจการเหมืองแร่เพียงอย่างเดียว แต่สามารถมีรายได้จากหลายๆ กิจการเข้ามาเป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการแต่ละประเภทมากยิ่งขึ้น และสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ การเปลี่ยนแปลงรูปทุนจากฐานการผลิตของกิจการเหมืองมาลงทุนในรูปแบบฐานการผลิตภาคการเกษตรกรรม จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ทางธุรกิจในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ของกลุ่มทุนจีน ในภูเก็ตนั้นจากที่ไม่ค่อยมีความสัมพันธ์ในเชิงธุรกิจกับทางส่วนกลางเลย และมีความสัมพันธ์กับต่างประเทศมาโดยตลอดได้มีการเปลี่ยนรูปแบบไปเริ่มมีความสัมพันธ์กับกลุ่มทุนใหญ่ ในส่วนกลางมากขึ้นเพื่อที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในการเอื้ออำนวยความสะดวกและ ผลประโยชน์ทางการค้ารวมไปถึงอำนาจหนุนทางการเมืองซึ่งเป็นผลดีในการประกอบธุรกิจต่าง ๆ จึงเห็นได้ว่ากลุ่มธุรกิจในภูเก็ตเริ่มขยายกว้างขึ้นเรื่อย ๆ นอกเหนือไปจากกิจการเหมืองแร่และทำสวนยางพารา -------------------------------------------------------------------------------- [1] ภูวดล ทรงประเสริฐ. ทุนสิงคโปร์:การผูกขาดตลาดยางพาราและดีบุกไทย. (กรุงเทพฯ:สถาบัน เอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2535). 30. [2] ราชัน กาญจนะวณิชย์. ดีบุกกับภูเก็ตสมัยรัตนโกสินทร์ [3] พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ และคณะ. เรื่องเดิม. 88-90. และ ภูวดล ทรงประเสริฐ. เรื่องเดิม. 30-31. [4] อัมมาร์ สยามวาลา. “การค้าระหว่างประเทศกับเศรษฐกิจภายในประเทศ (พ.ศ. 2363-2484)” ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยจนถึงปี พ.ศ. 2484. (กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2527). [5] กจช., (2) สร 0201.59/3 บริษัทแร่และยางไทย (16 มกราคม 2485-22 มิถุนายน 2496). และ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ และคณะ. เรื่องเดิม. 91-92. [6] ศุลีมาน นฤมล วงศ์สุภาพ. เรื่องเดิม. 185. [7] กจช. ก.ค.ท.ด. 5 กล่อง1 เรื่องที่ 7 การควบคุมและจัดการกิจการเหมืองแร่ของคนต่างด้าวบางจำพวก (พ.ศ. 2485) บัญชีรายชื่อบริษัทที่ทางการเข้าควบคุมและจัดการกิจการหรือทรัพย์สินในจังหวัดภูเก็ต [8] กจช., (2) สร 0201.60 เรื่อง ตั้งเงินทุนรับซื้อแร่ดีบุกและวุลแฟรมสะสมไว้สำหรับแลกเปลี่ยนสินค้าและเรื่องการรับซื้อและจำนำแร่เพื่อส่งเสริมเหมืองแร่ดีบุก(25 ธันวาคม 2483-12 สิงหาคม 2490) และ ภูวดล ทรงประเสริฐ. เรื่องเดิม. 30. [9] สถิติแห่งชาติ, สนง., สมุดรายงานสถิติจังหวัดภูเก็ต บรรพ24 พ.ศ. 2506, กรุงเทพฯ:สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2515. [10] กจช. (3) สร 0201.35 เรื่องรัฐบาลอเมริกาเสนอทำความตกลงซื้อดีบุกจากประเทศไทย(พ.ศ. 2496-2500). และ กจช. ก/ป7/2497/อก 4.3 บัญชีประมวลข่าวเหตุการณ์สำคัญกรมโลหะกิจ เรื่องการผลิตแร่:ภาวะการณ์ดีบุก(2497). และ ก/ป7/2497/อก 4.3 บัญชีประมวลข่าวเหตุการณ์สำคัญกรมโลหะกิจ เรื่องการผลิตแร่:ดีบุกหนึ่งในสาม(2497). [11] ราชัน กาญจนะวณิชย์, ดีบุกกับภูเก็ตสมัยรัตนโกสินทร์ [12] กจช.,ก.ค.ท.ด. 5/16 เรื่อง นโยบายควบคุมทรัพย์สินของคนต่างด้าว กล่อง 3 (14-19) [13] ราชัน กาญจนะวณิชย์, เรื่องเดียวกัน และ จังหวัดภูเก็ต, อะเมซิ่งภูเก็ต, กรุงเทพฯ:ลีโอ แลนเซ็ท จำกัด, 2003, 89-90. [14] ศุลีมาน นฤมล วงศ์สุภาพ, เรื่องเดียวกัน, 213-214. [15] กจช. (3) สร 0201.22/40 เรื่อง การไปตรวจราชการภาคใต้ของจอมพลอากาศ ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี (19 กุมภาพันธุ์ 2499-19 พฤศจิกายน 2500). [16] พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ และคณะ. เรื่องเดิม. 95-97.และ ราชัน กาญจนะวณิชย์, เรื่องเดิม [17] ศุลีมาน นฤมล วงศ์สุภาพ. เรื่องเดิม. 198-206. |