Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow News arrow มนุษยศาสตร์ arrow ธรรมนูญสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองภูเก็ต
ธรรมนูญสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองภูเก็ต PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พุธ, 29 ธันวาคม 2010

ธรรมนุญสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองภูเก็ต

 

หลักการและเหตุผล


  เบญจภาคีแห่งธรรมนูญนี้  ประกาศเจตนารมณ์ของกลุ่มว่า  เนื่องจากวัฒนธรรมเป็นวิถีชีวิตและวิถีการคิดของชุมชน ประชาชนในท้องถิ่นแต่ละแห่งเป็นเจ้าของวัฒนธรรมของตนเองทุกภูมิภาคของประเทศไทย  มีความอุดมสมบูรณ์มั่งคั่งไปด้วยทรัพยากรทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า   เป็นมรดกตกทอดสั่งสมมาจากบรรพบุรุษหลายยุคหลายสมัย   เป็นสิ่งที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับสังคมไทยและชาวโลกแต่ละสังคมในยุคโลกาภิวัฒน์เช่นปัจจุบัน   มีการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางและรวดเร็วมาก  อิทธิพลของเทคโนโลยี    การคมนาคมที่ก้าวหน้า  ทำให้การติดต่อสื่อสารเป็นไปอย่างไร้พรมแดน  วัฒนธรรมจากโลกภายนอกหลั่งไหลเข้าสู่จังหวัดภูเก็ตอย่างรวดเร็วและรุนแรงยิ่งขึ้นทุกวัน    ทำให้ประชาชนตกอยู่ในภาวะสับสน  การเลือกสรรกลั่นกรองและการปรับปรุงทางวัฒนธรรมไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ  สภาพการดำเนินกิจกรรมทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นอยู่ในสภาพต่างคนต่างทำ ขาดการประสานงาน การร่วมมือ   ตลอดจนขาดการรวมพลังอย่างเป็นระบบ  เป็นเหตุให้ศักยภาพในการดำเนินงานวัฒนธรรมในภาพรวมของอำเภอไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร


  ด้ายเหตุเหล่านี้  เบญจภาคีแห่งธรรมนูญนี้  ซึ่งเชื่อมั่นว่าการมีส่วนร่วมระหว่างกันในระหว่างเครือข่าย  เครือญาติทางวัฒนธรรม  และการรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรชุมชนระดับต่าง ๆ  จะช่วยให้กลุ่มมีความเข้มแข็ง เสริมศักยภาพในการดำเนินงานทางวัฒนธรรมในภาพรวมของอำเภอ  ช่วยให้สามารถตั้งรับและปรับตัวให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาวการณ์ของสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี


  ดังนั้น  เบญจภาคีทั้งหลายจึงก่อตั้งสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองภูเก็ตขึ้น  โดยธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อความมุ่งหมายในอันที่จะเป็นศูนย์กลางในการติดต่อประสานงานระหว่างสมาชิกและการรวมพลังร่วมมือกันปฏิบัติกิจกรรมทางวัฒนธรรม  อีกทั้งจะเป็นเวทีกลางในการส่งเสริมวัฒนธรรมประชาธิปไตยอันจะเป็นการระดมสรรพกำลังในการดำเนินงานทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น โดยท้องถิ่น และเพื่อท้องถิ่นอย่างจริงจัง


หมวด ๑
บททั่วไป


  มาตรา ๑  สภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองภูเก็ต  ตั้งขึ้นโดยอาศัยหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เรื่อง การจัดตั้งสภาวัฒนธรรมจังหวัด อำเภอ ลงวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๓๘ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.๒๔๘๕ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๔๘๖ และมติคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ในคราวประชุมครั้งที่       ๒/๒๕๓๘ เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๓๘ และแก้ไขให้สอดคล้องตามระเบียบกระทรวงวัฒนธรรม ว่าด้วยสภาวัฒนธรรม พ.ศ. ๒๕๔๖     
  มาตรา ๒  สภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองภูเก็ต  ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากองค์กรดังต่อไปนี้
        (๑) กรรมการโดยตำแหน่ง  ได้แก่ ประธานสภาวัฒนธรรมตำบล
          (๒) กรรมการจากผู้แทนองค์กรภาคี  ที่มาจากการเลือกตั้ง จำนวน ๕ ภาคี  ได้แก่  องค์กรภาคธุรกิจ  องค์กรภาคเอกชน  องค์กรชุมชน  องค์กรภาครัฐ  องค์กรวิชาการ
       (๓) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ หรือกรรมการกิตติมศักดิ์  ซึ่งมาจากการสรรหา

  มาตรา ๓  ในธรรมนูญนี้
      สภา   หมายถึง     สภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองภูเก็ต
      ประธานสภา   หมายถึง     ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองภูเก็ต
      เลขาธิการ  หมายถึง     เลขาธิการสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองภูเก็ต
 คณะกรรมการ        หมายถึง     คณะกรรมการบริหารสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองภูเก็ต      
       นายทะเบียน     หมายถึง     บุคคลที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการให้ทำหน้าที่นายทะเบียนของสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองภูเก็ต
  มาตรา ๔  ตราสัญลักษณ์สภาวัฒนธรรม
อำเภอเมืองภูเก็ต เป็นรูปเพชร อยู่บนยอดเขา มีรูปบุคคล
ยืนล้อมรอบจับมือกัน ภายในวงกลม ๒ วง  ด้านบนเขียน
เป็นภาษาไทยว่า สภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองภูเก็ต ด้านล่าง
เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า MUANG PHUKET CULTURAL COUNCIL         
   มาตรา ๕  ที่ทำการสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองภเก็ต     ตั้งอยู่ที่ ณ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต เลขที่ ๗๔/๓๑ ถนนพูนผล ตำบลตลาดเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต
  มาตรา ๖  ให้ใช้ธรรมนูญนี้  ตั้งแต่วันที่ ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบแล้ว
  มาตรา ๗  ให้ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองภูเก็ต  เป็นผู้รักษาการตามธรรมนูญนี้

หมวด ๒
วัตถุประสงค์
  มาตรา ๘  วัตถุประสงค์ของสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองภูเก็ต
       (๑)  เพื่อให้เกิดการรวมตัวจัดตั้งองค์กรชุมชนในท้องถิ่น ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านถึง
ระดับจังหวัด  เพื่อดำเนินกิจกรรมทางวัฒนธรรมให้นำไปสู่การแก่ไขปัญหาและพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง
       (๒) เพื่อให้เกิดการรวมพลังระหว่างองค์กรเครือข่ายเครือญาติทางวัฒนธรรมของ    ชุมชนในท้องถิ่น มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและทรัพยากรต่าง ๆ ในระหว่างเครือข่ายเครือญาติอย่างกว้างขวาง
       (๓)  เพื่อระดมสรรพกำลังในท้องถิ่นให้สามารถดำเนินงานวัฒนธรรม    ได้อย่าง      ต่อเนื่องและยั่งยืนสืบไป
       (๔)  เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมแบบประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นให้เข็มแข็งและนำไปสู่ความมั่นคงของชาติในที่สุด
       (๕)  เพื่อให้มีหน่วยงานทางวัฒนธรรมของประชาชนในท้องถิ่น     ที่สามารถเชื่อมประสานกับหน่วยงานภาครัฐได้อย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพ
หมวด ๓
หน้าที่สภา
  มาตรา ๙  สภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองภูเก็ต  มีหน้าที่ ดังนี้
        (๑)  เสนอข้อคิดเห็น  หรือข้อเสนอแนะต่าง ๆ  ประกอบการจัดทำแผนพัฒนา  การดำเนินงานและการติดตามประเมินผลการดำเนินงานวัฒนธรรม
        (๒)  เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนความรู้   ประสบการณ์  และแนวคิดในการดำเนินงานวัฒนธรรมรวมทั้งเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายการดำเนินงานวัฒนธรรม
        (๓)  ส่งเสริม  สนับสนุน พัฒนาการดำเนินงานวัฒนธรรมร่วมกับองค์กรภาคีและเครือข่ายวัฒนธรรม
      (๔)  ระดมทรัพยากร บุคลากร และสรรพกำลังต่าง ๆ จากหน่วยงานและองค์กร  ต่าง ๆ เพื่อการดำเนินงานวัฒนธรรม
      (๕)  ส่งเสริม สนับสนุนการจัดกิจกรรมขององค์กรภาคีและเครือข่ายวัฒนธรรมต่างๆ เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา สร้างสรรค์ เผยแพร่ แลกเปลี่ยน สืบทอดและเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม
      (๖)  เผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรม    และผลการดำเนินงานขององค์กรภาคีและเครือข่ายวัฒนธรรมต่าง ๆ
      (๗)  ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม จังหวัด กรุงเทพมหานคร    หรือหน่วยงานอื่น ๆ ขอความร่วมมือ

หมวด ๔
สมาชิก และสมาชิกภาพ
  มาตรา ๑๐  สมาชิกมี ๓ ประเภท คือ
        (๑)  สมาชิกสามัญ ได้แก่ บุคคลซึ่งเป็นผู้แทนขององค์กรภาคีของ               สภาวัฒนธรรมที่ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองภูเก็ต
        (๒)  สมาชิกกิตติมศักดิ์   ได้แก่    บุคคลที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ   มีความรู้   ความสามารถ ความเชี่ยวชาญทางวัฒนธรรมที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับของคนในสังคมท้องถิ่น  ซึ่งได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการ และได้ตอบรับเป็นสมาชิกของสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองภูเก็ต
         (๓)  สมาชิกวิสามัญ  ได้แก่  สมาชิกอื่น ๆ นอกจาก (๑) และ (๒)   ที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองภูเก็ต
         สมาชิกภาพ เกิดขึ้นเมื่อสมาชิกยื่นใบสมัครเป็นสมาชิกต่อสภาวัฒนธรรมและ
ได้รับการตอบรับเป็นสมาชิกแล้ว
         ให้นายทะเบียนจัดทำบัญชีรายชื่อ ที่อยู่สมาชิกให้เป็นปัจจุบัน
  มาตรา ๑๑  สมาชิกภาพสิ้นสุดลงเมื่อ
         (๑)  ตาย หรือ องค์กรภาคีที่สมาชิกเป็นผู้แทนยกเลิกองค์กร หรือบุคคลนั้นพ้นจากการเป็นสมาชิกขององค์กร
         (๒)  ลาออก
         (๓)  เป็นบุคคลล้มละลาย
        (๔)  ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก  เว้นแต่เป็นความผิดลหุโทษหรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท
        (๕)  คณะกรรมการพิจารณาให้พ้นจากสมาชิกภาพ โดยมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของคณะกรรมการทั้งหมด


หมวด ๕
สิทธิ  และหน้าที่
  มาตรา ๑๒  สมาชิกสามัญมีสิทธิ
         (๑)  เสนอความคิดเห็น หรือให้คำแนะนำแก่คณะกรรมการในเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานในหน้าที่ของสภาวัฒนธรรม เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของวัฒนธรรม
      (๒)  ขอทราบเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานในหน้าที่ของสภาวัฒนธรรม โดยยื่น
กระทู้ถามเป็นลายลักษณ์อักษรต่อประธาน
         (๓)  เข้าประชุมอภิปราย แสดงความคิดเห็น เสนอญัตติ เสนอตัวเข้ารับเลือกตั้งเป็นกรรมการและลงคะแนนเสียงในการประชุมสภาวัฒนธรรม การดำเนินการของสมาชิกตาม (๑) (๒) และ (๓)  ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในธรรมนูญ
  มาตรา ๑๓  สมาชิกกิตติมศักดิ์และสมาชิกวิสามัญมีสิทธิ
         (๑)  เสนอความคิดเห็น หรือให้คำแนะนำแก่คณะกรรมการในเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานในหน้าที่ของสภาวัฒนธรรม เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของวัฒนธรรม
         (๒) ขอทราบเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานในหน้าที่ของสภาวัฒนธรรม  โดยยื่นกระทู้ถามเป็นลายลักษณ์อักษรต่อประธานสภา
         (๓) เข้าประชุมอภิปรายและแสดงความคิดเห็น
  มาตรา  ๑๔  สมาชิกของสภามีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามธรรมนูญ   และมติของสภาวัฒนธรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย
หมวด ๖
คณะกรรมการบริหารสภา
  มาตรา ๑๕     ให้สภาวัฒนธรรมบริหารงานในรูปคณะกรรมการ โดยมีโครงสร้างของ
คณะกรรมการ  ดังนี้
            (๑)  ประธานสภา
            (๒)  รองประธานสภา
            (๓)  เลขาธิการ
            (๔)  ผู้ช่วยเลขาธิการ
            (๕)  กรรมการฝ่ายอื่น ๆ ตามความเหมาะสม

 

 มาตรา ๑๖  ประเภทและที่มาของกรรมการ
          (๑)  กรรมการโดยตำแหน่ง  ให้ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลเป็นกรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอ ให้ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอเป็นกรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัด
         (๒)  กรรมการที่เป็นผู้แทนจากองค์กรภาคีและกรรมการที่ได้มาจากการสรรหา
         (๓)  กรรมการอื่น ๆ ได้แก่ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ หรือ กรรมการกิตติมศักดิ์ตามที่กำหนดไว้ในธรรมนูญ
                     จำนวนกรรมการ (๒) และ (๓)  ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในธรรมนูญ เว้นแต่กรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรภาคีให้มีสัดส่วนเท่า ๆ กันทุกภาคี รวมแล้วไม่เกิน ๒๕ คน
  มาตรา๑๗   วิธีการได้มาของกรรมการ ตามมาตรา ๑๕  และ มาตรา ๑๖ (๒) และ (๓)   ให้ใช้วิธีการเลือกตั้ง โดยให้มีประธานสภา ๑ คน รองประธานสภา ๒ คน เลขาธิการ ๑ คน และมีผู้ช่วยเลขาธิการ และกรรมการฝ่ายอื่น ๆ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการ
  มาตรา ๑๘  ให้กรรมการทุกประเภทมีวาระในการดำรงตำแหน่งคราวละ ๓ ปี  ในกรณีที่
คณะกรรมการชุดเดิมหมดวาระลง   ให้มีการสรรหาคณะกรรมการชุดใหม่ภายใน ๔๕ วัน     และให้คณะ-กรรมการชุดเดิมรักษาการไปก่อนจนกว่าจะมีคณะกรรมการชุดใหม่
  มาตรา ๑๙  การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ
         (๑)  หมดวาระ
         (๒)  ตาย
         (๓)  ลาออก
         (๔)  เป็นบุคคลล้มละลาย
         (๕)  ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเว้นแต่เป็นความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท
         (๖)  มีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง หรือมีพฤติกรรมที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีงามของท้องถิ่น และคณะกรรมการพิจารณาให้พ้นจากตำแหน่ง โดยมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของคณะกรรมการทั้งหมด
         (๗)  สมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของสมาชิกทั้งหมด ยื่นรายชื่อเพื่อขอให้คณะกรรมการพิจารณาถอดถอนออกจากตำแหน่ง โดยการดำเนินการดังกล่าวให้เป็นไปตาม (๖)
        (๘)  ขาดประชุมติดต่อกันเกิน ๓ ครั้ง โดยไม่มีการลา หรือไม่ส่งผู้แทนเข้าประชุมและไม่มีเหตุผลอันสมควร  โดยคณะกรรมการลงมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการที่มาประชุม
                   ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งตาม (๒) ถึง (๘)   ให้สำนักงานเลขาธิการแจ้งให้คณะกรรมการทราบและดำเนินการสรรหากรรมการแทน ภายใน ๓๐ วัน  เว้นแต่มีวาระคงเหลือไม่เกิน ๙๐ วัน ทั้งนี้ ให้กรรมการดังกล่าวอยู่ในวาระเท่ากับกรรมการที่ตนแทน
  มาตรา ๒๐  ให้คณะกรรมการมีหน้าที่  ดังนี้
         (๑)  กำหนดนโยบาย แผนงาน และแนวทางดำเนินงานวัฒนธรรมในท้องถิ่น
         (๒)  ประสานงานและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านวัฒนธรรม
ในท้องถิ่น
         (๓)  กำหนดมาตรการในการดำเนินงานให้ครอบคลุมความหมายและขอบข่าย
งานวัฒนธรรม
         (๔)  ให้ความเห็นชอบโครงการและอนุมัติงบประมาณเพื่ออุดหนุนและสนับสนุนกิจกรรมทางวัฒนธรรมในท้องถิ่น
         (๕)  ส่งเสริมและกระตุ้นให้องค์กรในท้องถิ่นมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการ
ดำเนินงานวัฒนธรรมในรูปการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมและรูปแบบอื่น ๆ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
         (๖)  ส่งเสริมให้มีการระดมทุนจากหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานวัฒนธรรม
         (๗)  ส่งเสริมสนับสนุนให้องค์กรภาคีและเครือข่ายวัฒนธรรมมีการประสานสัมพันธ์กันในระบบเครือข่ายทางวัฒนธรรม
         (๘)  ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการศึกษาและวิจัยวัฒนธรรมในท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง
และกว้างขวาง
         (๙)  ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการพัฒนาทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น  รวมถึงให้มีการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง
       (๑๐)  ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างท้องถิ่นและระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง
       (๑๑)  พิจารณาให้ความเห็นชอบการจัดตั้งสภาวัฒนธรรมและการขออนุญาต
จัดตั้งสมาคม มูลนิธิ ที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับวัฒนธรรมในท้องถิ่นก่อนนำเสนอขออนุมัติจัดตั้งจาก
ผู้มีอำนาจอนุญาตจัดตั้ง
      (๑๒)  แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อดำเนินการใด ๆ ในกิจการ
ของสภาวัฒนธรรม
      (๑๓)  ปฏิบัติงานอื่นใดที่ได้รับมอบหมายจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร

  มาตรา ๒๑  ให้กรรมการมีสิทธิดังนี้
          (๑)  ได้รับค่าตอบแทนหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดตามสมควรจากสภาวัฒนธรรม
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติกำหนด
          (๒)  ได้รับการประกาศเกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดที่สำนักงานคณะ-  กรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ หรือกระทรวงวัฒนธรรม หรือหน่วยงานอื่น ๆ พิจารณาเห็นสมควร

หมวด ๗
การดำเนินงานของสภาวัฒนธรรม
มาตรา ๒๒  การบริหารจัดการและการดำเนินงานต่าง ๆ ของคณะกรรมการและสำนักงานเลขาธิการให้เป็นไปตามธรรมนูญ นี้        
มาตรา ๒๓  สภาวัฒนธรรมอำเภอ  มีสำนักงานเลขาธิการ ตั้งอยู่ ณ สำนักงานวัฒนธรรมอำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เพื่อทำหน้าที่ในด้านธุรการของคณะกรรมการ โดยมีเลขาธิการเป็นหัวหน้า  สำนักงาน มีเจ้าหน้าที่ได้ตามจำนวนที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นเหมาะสม
  มาตรา ๒๔  การบริหารจัดการของสำนักงานเลขาธิการให้ดำเนินการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ  ดังนี้
            (๑)  บริหารสำนักงานและอำนวยการ จัดหาบุคลากรเพื่อการดำเนินงานของ สภาวัฒนธรรม ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
         (๒) บริหารงบประมาณ การเงิน การบัญชีและพัสดุครุภัณฑ์ของสภา-       วัฒนธรรม
         (๓) จัดการประชุมสภาตามธรรมนูญสภา
         (๔) บริหารข้อมูลข่าวสาร เพื่อเป็นศูนย์สารสนเทศ และการประชาสัมพันธ์
         (๕)  ประสานและจัดทำแผนพัฒนาและแผนปฏิบัติการดำเนินงานด้าน     วัฒนธรรมในท้องถิ่น
            (๖)  ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตาม (๓)
            (๗)  ประสานและเชื่อมโยงการดำเนินงานขององค์กรภาคีและเครือข่าย
วัฒนธรรม
         (๘)  หน้าที่อื่นใดตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้หรือในธรรมนูญ     หรือคณะกรรมการมอบหมาย
  มาตรา ๒๕  ให้คณะกรรมการจัดทำแผนการดำเนินงานวัฒนธรรมประจำปี  โดยถือปีงบประมาณเป็นหลักทุกปี   การจัดทำแผนดังกล่าวให้คำนึงถึงความสอดคล้องกับแผนพัฒนาวัฒนธรรมแห่งชาตินโยบายของรัฐบาล  นโยบาย กระทรวงวัฒนธรรม  และปัญหาหรือความต้องการทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นเป็นสำคัญ
ให้สำนักงานเลขาธิการแจ้งแผนการดำเนินงานตามวรรคแรกต่อหน่วยงานที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กำหนด ภายในเดือนตุลาคมของทุกปี
  มาตรา ๒๖ ให้คณะกรรมการมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามผลการดำเนินงานของสภาวัฒนธรรมอย่างน้อยปีละ  ๒  ครั้ง  โดยให้สมาชิกมีส่วนร่วมเป็นอนุกรรมการไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของคณะอนุกรรมการ    และให้สำนักงานเลขาธิการรายงานผลการติดตามประเมินผลดังกล่าว ต่อสภา-
วัฒนธรรมหน่วยงานหรือองค์กรที่สนับสนุนทุนในการดำเนินงานและสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ดังนี้
              (๑)  ครั้งที่  ๑  รายงานผลการดำเนินงานระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนมีนาคมโดยรายงานภายในเดือนเมษายน ทุกปี
              (๒)  ครั้งที่  ๒  รายงานผลการดำเนินงานระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนกันยายน   โดยรายงานภายในเดือนตุลาคม ทุกปี
หมวด ๘
การประชุม
 มาตรา  ๒๗  ให้มีการประชุมสภาสมัยสามัญปีละครั้ง เพื่อแถลงการบริหารงานงบประมาณและผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา รวมทั้งแผนงานดำเนินงานประจำปีให้ที่ประชุมทราบ    และกำหนดนโยบายแผนงานหลักของสภา  และพิจารณาโครงการต่าง ๆ ที่เสนอโดยคณะกรรมการบริหาร ตลอดถึงรับ
รายงานต่าง ๆ จากสมาชิก
 มาตรา ๒๘  คณะกรรมการอาจมีมติให้เรียกประชุมสมัยวิสามัญ หรือสมาชิกรวมกันไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๕ ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ทำคำร้องยื่นต่อประธานสภาขอให้เรียกประขุมสมัยวิสามัญก็ได้ ในกรณีหลัง ประธานสภาจะต้องเรียกประชุมภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องของสมาชิก
 มาตรา ๒๙  การประชุมสภา หากประธานสภาไม่มา หรือไม่อยู่ในที่ประชุม  ให้รองประธานที่ได้รับแต่งตั้งตามลำดับทำหน้าที่แทน  และหากรองประธานสภาไม่มาหรือไม่อยู่ในที่ประชุม ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนใดคนหนึ่งในที่ประชุมทำหน้าที่ประธานการประชุมคราวนั้น
  มาตรา ๓๐  การประชุมคณะกรรกมการทุกครั้ง ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะครบองค์ประชุม
  มาตรา  ๓๑  การแสดงความคิดเห็น และออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมเป็นสิทธิเฉพาะสมาชิก  ซึ่งจะลงคะแนนเสียงโดยวิธีเปิดเผยหรือวิธีลับก็ได้
       การลงมติใด ๆ ให้ถือเสียงข้างมาก สมาชิกแต่ละคนมีเสียงหนึ่งเสียงในการลงคะแนน หากเสียงเท่ากันให้ประธานที่ประชุมออกเสียงขี้ขาด
  มาตรา ๓๒  ให้มีการประชุมคณะกรรมการอย่างน้อยปีละ สามครั้ง

หมวด ๙
  มาตรา ๓๓  สภาอาจมีรายได้ ดังนี้
         (๑) เงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน
         (๒) ดอกผลจากเงินกองทุนส่งเสริมวัฒนธรรม
         (๓) เงินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีผู้มอบให้
         (๔) รายได้อื่น ๆ
      การรับ – จ่ายเงินสภาวัฒนธรรม ให้มีการจัดทำบัญชีรายรับ - จ่าย และมี
ใบสำคัญรับเงิน หรือหลักฐานอื่นใดที่สามารถตรวจสอบได้
มาตรา ๓๔  ให้ประธานสภา มีอำนาจการอนุมัติและสั่งจ่ายเงินของสภาได้ไม่เกินวงเงินครั้งละ ๓๐,๐๐๐ บาท หากเกินวงเงินนี้ ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหารสภาวัฒนธรรม   

หมวด  ๑๐
การแก้ไขเพิ่มเติมธรรมนูญและการยุบเลิกสภา
  มาตรา ๓๕  การแก้ไขเพิ่มเติมธรรมนูญจะกระทำได้โดยคณะกรรมการหรือสมาชิกรวมกันไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๕ ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด  เสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมและที่ประชุมสภาลงมติด้วยคะแนนเสียงใม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มาประชุม  
  มาตรา ๓๖  หากสภาจะต้องยุบเลิกเพระเหตุใดก็ตาม  ให้คณะกรรมการร่วมกันรับผิดชอบการชำระบัญชีแล้วหากมีทรัพย์สินอยู่เท่าใดก็ตามให้โอนให้แก่องค์การสาธารณกุศลแห่งใดแห่งหนึ่งหรือหลายแห่งตามมติที่ประชุมสภา


บทเฉพาะกาล
  มาตรา ๓๗  ในระยะเริ่มต้นของการดำเนินงาน ให้กรรมการที่ได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิกที่มาประชุมก่อตั้งครั้งแรกเป็นคณะกรรมการบริหารสภาตามธรรมนูญนี้  และให้นักวิชาการวัฒนธรรมที่ได้รับ มอบหมายเป็นผู้ช่วยเลขาธิการสภา  จนกว่าสภาจะมีความพร้อมทางด้านการจัดการด้านงบประมาณและด้านวิชาการ  ทั้งนี้ ตำแหน่งดังกล่าวให้รวมอยู่ในกลุ่มคณะกรรมการบริหารสภาด้วย

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( พฤหัสบดี, 30 ธันวาคม 2010 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

News

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้164
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1659
mod_vvisit_counterทั้งหมด10719423