Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow News arrow PHUKETDATA arrow มทศ.จห.23
มทศ.จห.23 PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
จันทร์, 27 ธันวาคม 2010

จดหมายเหตุเมืองถลางและหัวเมืองปักษ์ใต้
ต้นฉบับของศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต (ศวภ.)


ประสิทธิ  ชิณการณ์ : อ่านและวิเคราะห์

 

Click at the image to view full size
ฝากรูป

มทศ.จห.๒๓ (ใช้หมายเลขตรงกับ ฉบับ ศวภ ๒๓) 


คำอ่าน ๐ หนังสือท่านเจ้าเมืองภูเก็จ ผู้เป็นพระยาทุกรราช ให้มายังท่านพระยาราชกปิตัน ด้วยท่านพระยาราชกปิตันให้กปิตันสิน ทุกข้าวสารมาจำหน่ายให้แก่เจ้าคุณมารดาบ้างนั้น คุณของท่านพระยาอยู่แก่ข้าเจ้ามากหาที่สุดมิได้อยู่แล้ว ๆ ข้าพเจ้าเข้าไปเฝ้าของหลวง ณ เมืองสงขลาครั้งนี้ ไปโดยขัดสน หาทีของซึ่งจะเอาไปถวายเป็นอันมากไม่ ข้าพเจ้าได้แต่ดินอีหรอบไปถวายหีบหนึ่งกับปืนสุตัน

แปดกระบอก แล้วข้าพเจ้าอดษากราบทูลด้วยเงินหลวง ซึ่งค้างอยู่แก่เจ้าคุณผู้ตายและภาษีดีบุก ซึ่งให้เรียกภาราชั่งนั้น ก็โปรดให้ขายเหมือนแต่ก่อน จึงมีรับสั่งว่าแก่ข้าพเจ้าว่าให้เป็นพระยาทุกรราชออกไปก่อนเถิด เข้ามาครั้งหลังจึงจะให้เป็นพระยาถลางออกไปนั้น ในหลวงวังหน้า เห็นดูข้าพเจ้าเป็นอันมากอยู่ และ ณ เดือนสามข้างแรมข้าพเจ้ากับเจ้าคุณมารดาจะเข้าไปเฝ้าของหลวง ณ กรุง และจะไปทางเกาะตะลิโบง ให้โตกพระยาท่านช่วยเห็นดูจัดเรือใหญ่ ให้มารับสักลำ จะได้ให้เจ้าคุณมารดาขี่ไปแล้วตัวข้าพเจ้าจะไปกราบเท้าโตกพระยาท่านให้เถิง  เกาะเหล้าปีนังให้โตกพระยาท่านช่วยจัดปืน และของจะได้เอาไปถวาย เพราะบุญของโตกพระยาท่านข้าพเจ้าก็จะได้เป็นใหญ่ต่อไป และอนึ่ง ณ เมืองถลางทุกวันนี้ข้าพเจ้ากับเจ้าพะยาถลางก็วิวาทกัน หาปกติกันไม่ และข้าพเจ้าแต่งให้นายเพชร นายทองแก้ว นายทิดพรม มากราบท่านช่วยจัดปืนน้อยอย่างดี ข้าพเจ้าจะถือยิงเองมาให้ด้วยสักบอกหนึ่ง แล้วถ้าข้าพเจ้าเข้าไปบางเกาะครั้งนี้เจ้านายโปรดสมความคิดออกมา เถิงมาตรว่าโตกท่านจะต้องการดีบุกเมืองถลางมากน้อยเท่าใดข้าพเจ้าไม่ให้ขัดสน ปรานีบัติมา ณ วัน (อ่านไม่ได้) ปีมะเมีย อัฐศกฯ 


วิเคราะห์ ๐ จดหมายเหตุฉบับนี้ อาจารย์สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ ได้ทำบทปริวรรตไว้แล้วในการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกโดยศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต เมื่อ ๑๓ มีนาคม ๒๕๒๕ "พระยาทุกรราช" ต้นฉบับเขียน "พระยาทุกรราช" ซึ่งความหมายไม่ชัดเจน บางท่าน (โดยเฉพาะสุนัย ราชภัณฑารักษ์) จึงเขียนเป็น "พระยาทุกข์ราษฎร" ซึ่งมีความหมายชัดเจนขึ้น แต่ไม่เป็นที่ดีแก่ผู้มีนามเช่นนั้น ผู้วิเคราะห์เห็นว่านามนี้น่าจะมีที่มาจากรากศัพท์บาลี "ทุกกร" และ "ราช" แล้วเขียนลดรูปเป็น "ทุกรราช" และ  "ทุกราช" ตามความนิยมของคนสมัยก่อนที่มักสะกดตามเสียงอ่านมากกว่าที่จะคำนึงถึงอักขรวิธีที่ถูกต้อง ในที่นี้จึงเขียน "ทุกรราช" โดยตลอด เพื่อโยงถึงรากศัพท์ไว้ 


 ข้อความตอนหนึ่งที่ว่า "...และอนึ่ง ณ เมืองถลางทุกวันนี้ ข้าพเจ้ากับเจ้าพระยาถลาง ก็วิวาทกันหาปกติกันไม่..." เป้นที่สงสัยกันว่า "เจ้าพระยาถลาง" ในจดหมายฉบับนี้ หมายถึงท่านผู้ใด บางท่านสันนิษฐานว่าเป็นพระยาธรรมไตรโลก บางท่านตีความว่าเป็นเจ้าพระยาสุรินทราชาซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝั่งตะวันตก แต่ผู้วิเคราะห์เห็นว่าไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจาก พระยาธรรมไตรโลก ผู้มีอาญาสิทธิ์จากกรุงเทพฯ ให้มาจัดการเมืองถลางใน พ.ศ. ๒๓๒๗ ก็ถึงแก่อนิจกรรมเนื่องจากสงครามพม่าใน พ.ศ. ๒๓๒๘ แล้วส่วนเจ้าพระยาสุรินทราชาซึ่งออกมาเป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝั่งตะวันตกตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๒๙ ต้นปีก็ปรากฏภายหลังว่า เป็นผู้ที่สนับสนุน พระยาทุกรราชเป็นอย่างดี จนมอบหมายหน้าที่การงาน ให้เป็นผู้ช่วยผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝั่งตะวันตก ในโอกาสที่ท่านชราลง และบุตรชายของเจ้าพระยาสุรินทราชา ชื่อ "เริกษ์" ก็สมรสกับ "ทุ่ม" บุตรสาวของพระยาทุกรราช ในเวลาต่อมาอีกด้วย


 ขุนนรภัยพิจารณ์ "ไวย์ ณ ถลาง" ได้เขียนไว้ในหนังสือ "ตระกูล ร ถลาง" สรุปในความตอนหนึ่งได้ว่า หลังสงครามพม่าได้สงบลงแล้ว ทายาทขุนนางเมืองถลางชื่อ "ทองพูน" ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาถลาง มีตราตั้งเป็นคนแรกของขุนนางเมืองถลาง ซึ่งสอดรับกับพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุญนาค) ฉบับหอสมุดแห่งชาติที่ได้กล่าวถึง เหตุการณ์สงครามเมืองถลางไว้สรุปใจความได้ว่าเมื่อสงครามสิ้นสุดลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้มีความดีความชอบ ในการสงครามได้รับยศถาบรรดาศักดิ์ตามสมควรแก่ความดีความชอบทั่วกัน และได้แต่งตั้งเจ้าเมืองถลางขึ้นใหม่
 จากหลักฐานเอกสารสองแห่งนี้ ก็พอตีความได้ว่า "เจ้าพระยาถลาง" ในเอกสารฉบับนี้ คือ พระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ (ทองพูน ณ ถลาง) ขุนนางเมืองถลางเชื้อผู้ดีสาย "บ้านดอน" บุตรชาย "จอมเฒ่า" บ้านดอน ตามที่ปรากฏนาม ในพงศาวดารเมืองถลางฉบับหอสมุดแห่งชาติและหนังสือตระกูล ณ ถลาง ของขุนนรภัยพิจารณ์ (ไวย์ ณ ถลาง) ดังที่ได้อ้างอิงกันมาแล้วก่อนจะพบเอกสารจดหมายเหตุเมืองถลางฯ ที่กำลังศึกษาและวิเคราะห์กันอยู่


 เหตุที่มีการวิวาทกันระหว่างเจ้าพระยาถลาง (ทองพูน) กับพระยาทุกรราชนั้น จดหมายเหตุฉบับนี้พอจะบ่งบอกนัยแห่งเรื่องราวได้ค่อนข้างจะชัดเจนตามข้อความตอนหนึ่งว่า
 ...จึงมีรับสั่งว่าแก่ข้าพเจ้าว่า ให้เป้นพระยาทุกรราชออกไปก่อนเถิด เข้ามาครั้งหลังจึงจะให้เป็นพระยาถลางออกไป…
 กับข้อความอีกตอนหนึ่งว่า


 ...แล้วถ้าข้าพเจ้าเข้าไปบางเกาะครั้งนี้ เจ้านายโปรดสมความคิดออกมา เถิงมาตรว่า โตกท่านจะต้องการดีบุกเมืองถลางมากน้อยเท่าใด ข้าพเจ้าไม่ให้ขัดสน...


 ดังนี้ ก็ตีความได้ว่าตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองถลาง คือชนวนแห่งการไม่ปกติกัน ระหว่างคนทั้งสองอย่างไม่ต้องสงสัยอย่างใดอีก

 

ปาณิศรา(นก) ชูผล : บันทึก

ผช.หมายเหตุรักษ์ มทศ.

มทศ.จห.23

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( อังคาร, 01 มีนาคม 2011 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

News

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้1494
mod_vvisit_counterเมื่อวาน2580
mod_vvisit_counterทั้งหมด10706239