Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow News arrow ภาษาและวรรณกรรม arrow จดหมายเหตุ มทศ.จห.
จดหมายเหตุ มทศ.จห. PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
เสาร์, 25 ธันวาคม 2010

จดหมายเหตุ มทศ.จห.

กรทิชาต์ วัฒนพันธุ์ เลขานุการมูลนิธิท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทรมีเอกสารลายลักษณ์จำนวนมากได้เสนอที่ประชุม มทศ.ให้จัดทำจดหมายเหตุของมูลนิธิท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร ผศ.สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์อาสาเป็นผู้อำนวยการหมายเหตุรักษ์ มทศ. มอบหมายให้ปาณิศรา(นก) ชูผลเป็นผู้ช่วยหมายเหตุรักษ์ ร่วมด้วยช่วยกันให้มีจดหมายเหตุลายลักษณ์ไว้เป็นเอกสารอ้างอิงในการดำเนินงานของ มทศ. และเป็นประโยชน์แก่นักวิจัย นักเรียนนักศึกษาและผู้สนใจงานทางด้านนี้ ปี พ.ศ.๒๕๕๓ มทศ.มุ่งเป้าไปสู่จดหมายเหตุที่ช่วยงานอนุสรณ์สถานเมืองถลาง และด้วยเหตุที่เมืองถลางมีประวัติยาวนานจาก พ.ศ.๗๐๐ ที่ปรากฏ JUNK CEYLON ในแผนที่การเดินเรือของคลอดิอุส ปโตเลมี เปลี่ยนมาเป็น SILAN ตามคำเรียกของพระภิกษุจีนอี้จิง และเปลี่ยนเป็นสลาง ฉลาง จนคนทั่วไปรู้จักถลาง  มีประวัติวีรสตรีท้าวเทพกระษัตรี(ท่านผู้หญิงจัน) ท้าวศรีสุนทร(คุณมุก) แม่ปราง พญาถลางเทียน ประทีป ณ ถลาง(อดีตเจ้าเมืองภูเก็จ) และเหล่าวีรชนเมืองถลางแห่งศึกเมืองถลางที่เป็น ๑ ในศึก ๙ ทัพต้นกรุงรัตนโกสินทร์  จนชาวภูเก็จภูเก็ตมีวันถลางชนะศึกในวันที่ ๑๓ มีนาคมของทุกปี

ประวัติหอจดหมายเหตุในถลางภูเก็จภูเก็ต

๑. กลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ ใช้ระบบ Kong System

๒. หอจดหมายเหตุ ห้องภาพกิจปฐมเหตุ ในอังมอเหลานายหัวเหมือง พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ภูเก็ต ใช้ รหัส ดังนี้

พมร.จห. (ar)

พมร.รูป (pho)เช่น นามสกุล

พมร.ภาพ (pic)

พมร.โสต (cd) เช่น สึนามิเกาะราชา สวดมนต์อินเดีย ดนตรีอินเดีย อัษฎางคประดิษฐ์

๓. หอจดหมายเหตุถลาง ในห้องสมุด อบจ.ภูเก็ต หน้าโรงเรียนถลางพระนางสร้าง รหัส pic

๔. หอจดหมายเหตุ มทศ.จห. ใช้ Runing No.

๕. หอจดหมายเหตุ มรภ.ภูเก็ต ณ บ้านพักอธิการ วค.ภูเก็ต ในมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

 

ตัวอย่างจดหมายเหตุ มทศ.จห. 

ฉบับ  มทศ.จห.๑๕ (เดิมคือศวภ ๑๕)


คำอ่าน ๐ หนังสือท่านผู้หญิงมาเถิงลาโตก ด้วยมีหนังสือไปนั้น ได้แจ้งแล้ว ครั้นจะเอาหนังสือเรียนแก่พระยาถลาง พระยาถลางป่วยหนักอยู่และซึ่งว่ามาค้าขาย ณ เมืองถลางขาดทุนหนักหนาช้านานแล้วนั้นเห็นธุระของลาโตกอยู่ แต่หากว่าลาโตกเมตตาเห็นดู ข้าเจ้าจึงเปลืองทุนเป็นอันมาก ทนระมานอยู่ด้วยความเห็นดู แลซึ่งว่าแต่งกำปั่นแล้วจะลากลับไป แลมีราวข่าวว่า พม่าจะมาตีเมืองถลาง ท่านพระยาถลางเจ็บหนักอยู่ ถ้าพม่ายกมาจริง ข้าเจ้าจะได้พึ่งลาโตกเป็นหลักที่ยุดต่อไป แลซึ่งว่าจะเอาดีบุกค่าผ้านั้น ท่านพระยาถลางยังเจ็บหนัก มิได้ปรึกษาว่ากล่าว ถ้าท่านพระยาถลางคลายป่วยแล้ว จะได้ปรึกษาว่ากล่าว จักเตือนให้ ซึ่งว่าเจ้ารัดจะไปเยี่ยม ขุ่นท่ามิให้ไปนั้น ข้าเจ้าจะให้ไปว่าหลวงยุกบัตร  และขุนท่า ไม่ให้ยุดหน่วงไว้ ครั้นข้าเจ้าจะลงมาให้พบลาโตกเอง เจ้าคุณยังเจ็บหนักอยู่ จึงให้เมืองภูเก็จลงมา ลาโตกได้เห็นดูงดอยู่ก่อนถ้าเจ้าคุณค่อยคลายขึ้นข้าเจ้าจะลงมาให้พบลาโตก และขันนั้นไม่แจ้งว่าเป็นขันอะไรให้บอก๊ไปแก่เมืองภูเก็จให้แจ้ง ข้าเจ้าจะเอาลงมาให้ อนึ่งคนซึ่งรักษาบ้านเฝ้าค่ายนั้น ขัดสนด้วยยาฝิ่นที่จะกินให้ลาโตกช่วยว่ากปิตันอีกสะกัดให้ ๆ ยาฝิ่นขึ้นมาสักเก้าแท่นสิบแท่น แล้วถ้าพ่อลาโตกจะขึ้นมาได้ ให้ขี่ชื่นมาสักที หนังสือมา ณ วันอังคาร เดือนอ้าย ขึ้น ๕ ค่ำ ปีมะเส็งสัพศก 


วิเคราะห์ ๐ เอกสารฉบับนี้ อาจารย์สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ ได้ทำบทปริวรรตไว้แล้วในการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก โดยกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๒๕ ด้วยความร่วมมือสนับสนุนของศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต ผู้สนใจควรจะดูบทปริวรรตที่อ้างถึงนี้ประกอบด้วย
 เอกสารฉบับนี้เป็นจดหมายตอบจดหมายของพระยาราชกปิตัน (ฟรานซิส ไลท์) ซึ่งมีถึงท่านผู้หญิงจันและพระยาถลางพิมลอัยาขัน ทวงเงินค่าสินค้าที่ทางเมืองถลางรับซื้อไว้โดยยังมิได้ชำระมูลค่า น่าเสียดายที่เอกสารฉบับนี้และฉบับอื่น ๆ อันเป็นจดหมายติดต่อการค้าของนายสำเภาชาวอังกฤษผู้นี้มีถึงเจ้าเมืองถลางนั้นสูญหายไปสิ้น ไม่มีเหลือไว้ให้ได้ศึกษาอีกเลยอาจถูกเผาไหม้ไปในครั้งพม่ามาตีเมืองถลาง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๒ หรือ สูญหายไปเนื่องจากระบบการจัดเก็บรักษาเอกสารของบ้านเมืองยังไม่รัดกุมก็ไม่อาจจะวิเคราะห์ได้


 กัปตัน ฟรานซิส ไลท์ หรือพระยาราชกปิตัน ผู้นี้ตั้งบ้านและสำนักงานตลอดจนคลังสินค้าอยู่บริเวณบ้านท่าเรือ ซึ่งอยู่ใกล้ลำคลองใหญ่ออกอ่าวภูเก็จ เป็นความสะดวกในการขนส่งสินค้าเข้าและขนแร่ดีบุกออก นันทา วรเนติวงศ์ กล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง "พระยาราชกปิตัน (ฟรานซิส ไลท์) "(พิมพ์โดยกรมศิลปากร พ.ศ. ๒๕๑๗ หน้า ๕) ว่า กับตัน ไลท์ ไปตั้งรกรากอยู่บนเกาะถลางในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๑๕ (ค.ศ. ๑๗๗๒)" ซึ่งเมื่อนำมาประสานเข้ากับเอกสารอันเป็นจดหมายของทานผู้หญิงจันฉบับนี้ ที่ได้กล่าวถึงการเตรียมตัวของพระยาราชกปิตัน เพื่อที่จะย้ายกิจการค้าออกจากเมืองถลางไปในปี จุลศักราช ๑๑๔๗ (พ.ศ. ๒๓๒๘) ก็รวมเวลาที่พ่อค้าอังกฤษผู้นี้ตั้งบ้านและสำนักงานค้าขายอยู่บนเกาะถลางนานประมาณ ๑๓ ปี


 สาเหตุที่กัปตัน ฟรานซิส ไลท์ ย้ายสถานประกอบการค้าออกจาเมืองถลางนั้น นอกจากจะเนื่องจากการค้าขายขาดทุน เพราะ ฟรานซิส ไลท์ มีมิตรสหายและบริวารในเมืองถลางมาก และต้องทำนุบำรุงมิตรสหายบริวารเหล่านั้นไว้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง คือความมุ่งหมายที่จะเข้ายึดครองเกาะถลางไว้เป็นอาณานิคมของอังกฤษ หากโอกาสเปิดให้ ค่าใช้จ่ายนากรนี้เป็รายจ่ายผ่านทางสินค้าต่าง ๆที่ ฟรานซิส ไลท์ ขายเงินเชื่อแล้วเรียกเก็บไม่ได้ รวมทั้งมอบให้เป็นของกำนับแก่บุคคลชั้นสูงอีกทางหนึ่งด้วย การลงทุนเพื่อเก็งกำไรทางด้านการเมืองของ ไลท์ จึงขาดทุน


 อีกประการหนึ่งที่เป็นสาเหตุให้ ไลท์ ต้องการถอนตัวออกจากเมืองถลาง ก็คือ ในขณะนั้น ไลท์ ได้ไปเจรจาขอซื้อเกาะปีนังจากพระยาไทรบุรีเป็นผลสำเร็จซึ่งอันที่จริงแล้ว เกาะปีนังนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของพระยาไทรบุรีแต่เมืองไทรบุรีเป็นเมืองในพระราขอาณาจักรของไทย การที่พระยาไทรบุรีไปทำสัญญาขายเกาะปีนังให้แก่ ฟรานซิส ไลท์ เป็นการลุแก่อำนาจต่ออาณาจักรไทย ภายหลังพระยาไทยบุรีคิดตกใจกลัวก็พยายามจะเอาเกาะปีนังคืนจากไลท์ แต่ไม่สามารถช่วงชิงมาได้ แม้จะทำการรุนแรงโดยส่งกองทัพเข้ายึดเอาดื้อ ๆ แต่ก็ถูกกองทหารของ กัปตัน ฟรานซิส ไลท์ต่อสู้ขับไล่ถอยกลับไป


 ไลท์ มีอำนาจเด็ดขาดในเกาะปีนังภายใต้ร่มธงอังกฤษ จึงพอใจในการไปตั้งสำนักงานค้าขายที่เกาะปีนังมากกว่าที่จะอยู่เกาะถลาง


 ประจวบกับได้ข่าวว่าพม่ากำลังเตรียมทัพจะยกมาตีเมืองถลาง ซึ่งถ้าไลท์อยู่เกาะถลางต่อไปก็เกรงว่าทรัพย์สมบัติจะสูญเสีย ทั้งอาจจะต้องรับภาระช่วยเมืองถลางรบพม่าไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เนื่องจากมีความสนิทสนมกับท่านผู้หญิงจันอยู่มาก และท่านผู้หญิงก็แสดงความประสงค์ขอให้ช่วยในการทำสงครามกับพม่าอย่างชัดเจน ฟรานซิส ไลท์ เห็นว่าประโยชน์ที่จะได้จากรบพม่านั้น สู้ถอยออกไปให้พ้นเขตสงครามไม่ได้ จึงรีบร้อนถอนตัวออกไปโดยเร็ว ละทิ้งหนี้สินมูลค่าสินค้าที่ชาวถลางค้างอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน


 ในการถอนตัวจากเกาะถลางครั้งนี้มีผู้หญิงชาวถลางคนหนึ่งจะติดสอยห้อยตามไปด้วย คือ เจ้ารัด ที่จะหมายของท่านผู้หญิงเอ่ยชื่อถึง นัยว่าผู้หญิงคนนี้เป็นทาสเรือนเบี้ยของหลวง         ยุกบัตร หรือ ขุนท่า คนหนึ่งคนใด ยังหาหลักฐานไม่ได้ชัดเจนนัก กัปตัน ฟรานซิส ไลท์  ได้ขอไถ่หนี้ของเจ้ารัดจากนายเงิน ซึ่งตามรูปการแล้ว น่าจะสันนิษฐานว่า เป็นหลวงยุกบัตร แต่การเจรจาคงจะมีอะไรอย่างหนึ่งอย่างใดผิดพลาด เมื่อเจ้ารัดจะออกจากที่อยู่เดิม(คือบ้านตะเคียน) ลงไปหาพระยาราชกปิตัน ที่บ้านท่าเรือในฐานะเจ้าเงินคนใหม่ หลวงยุกบัตร และขุนท่า (ขุนท่า คือกรมการเมืองดูแลธุรกิจการค้าของเมืองถลางกับพ่อค้าต่างประเทศ) จึงขัดขวางไว้ เป็นกรณีพิพาทที่พระยาราชกปิตัน ร้องทุกข์ให้ท่านผู้หญิงเข้าไปจัดการแก้ไข
 ผู้หญิงเมืองถลางหลายคน ทั้งที่เป็นทาสเรือนเบี้ยของขุนนาง หรือผู้ดีเมืองถลาง หรือภรรยาของชาวบ้านที่สามีใฝ่หาความมั่งมี ถูกขายให้ไปกับพ่อค้าชาวต่างประเทศอย่างไม่ผิดกฎหมาย ดังปรากฏหลักฐานตามเอกสารเมืองถลางชุดนี้หลายฉบับ นับเป็นเรื่องน่าพิศวงสำหรับนักศึกษาเรื่องสิทธิของสตรีอยู่มาก


 ในคำอ่านฉบับนี้ ได้อ่านบรรทัดสุดท้าย ในข้อความที่ว่า ".....พ่อลาโตกจะขึ้นมาได้ ให้ขี่ชื่น ขึ้นมาสักที...." ซึ่งในฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๕ อ่านว่า ".....ให้เชิญขึ้นมาสักที..." แตกต่างกันอยู่


 ความแตกต่างนี้ เกิดขึ้นเนื่องจาก สุนัย ราชภัณฑารักษ์(เรื่องภูเก็ต พิมพ์ พ.ศ.๒๕๑๗ หน้า ๑๔๕) กล่าวไว้มีใจความสรุปว่า บ้านพระยาถลางอยู่ห่างกับบ้านท่าเรือประมาณ ๗ ไมล์ การเดินทางไปมาติดต่อระหว่างกันใช้ช้างเป็นพาหนะ และท่านผู้เขียนคนเดียวกันนี้ยังได้กล่าวไว้ในเรื่อง "ท้าวเทพกระษัตรี" ของท่าน (อ้างเอกสารประกอบการสัมมนาประวัติศาสตร์ถลาง ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๓๙ หน้า ๖๕) ว่า ช้างที่เจ้าเมืองถลางใช้ประจำอยู่น่าจะชื่อชื่น จึงเป็นช้างที่ท่านผู้หญิงจันแนะนำให้พระยาราชกปิตัน ขึ้นขี่ไปยังจวนเจ้าเมืองเพื่อพบปะกันสักครั้งหนึ่ง ตามเอกสารฉบับดังกล่าวนี้ เห็นว่าลายมือเขียนและคำวิเคราะห์ตีความของท่าน สุนัย ราชภัณฑารักษ์ พอรับฟังได้ จึงได้แก้ไขคำอ่านให้ตรงกัน

 

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( เสาร์, 25 ธันวาคม 2010 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

News

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้1777
mod_vvisit_counterเมื่อวาน2500
mod_vvisit_counterทั้งหมด10692410