จดหมายเหตุเมืองถลางและหัวเมืองปักษ์ใต้ ต้นฉบับของศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต (ศวภ.) ประสิทธิ ชิณการณ์ : อ่านและวิเคราะห์
Click at the image to view full size

มทศ.จห.๒๐ (ใช้หมายเลขตรงกับ ฉบับ ศวภ ๒๐) คำอ่าน ๐ หนังสือท่านออกพระพลภักดีศรีพิไชยสงคราม บอกมายังท่านพระยาราชกปิตัน ให้แจ้งด้วยราษฎรหัวเมืองถลางอดข้าวทรอกโทรลงเป็นอันมากอยู่แล้ว หากพระยาราชกปิตันจะเห็นดูข้าพเจ้าและราษฎรพลเมืองนั้น ได้แต่งตั้งให้กปิตันสุหลาดบรรทุกข้าวสารสักสองพันสามพันกุหนี เอามาจำหน่ายแก่ราษฎรพลเมืองจักรอดจากความตายด้วยบุญของท่านพระยาราชกปิตัน ซึ่งท่านใช้ให้กปิตันลิกีเอากำปั่นมาค้าขายเมืองถลาง กปิตันลิกีไม่รู้จักภาษากันจะซื้อขายนั้นเป็นที่ขัดสน ขอบอกปราณีมาวันอาทิตย์ เดือนสิบเอ็ด ขึ้นเก้าค่ำ ปีมะเมียอัฐศกฯ
วิเคราะห์ ๐ ออกพระพลภักดีศรีพิไชยสงคราม เจ้าของจดหมายฉบับนี้ ไม่ได้บอกตำแหน่งกรมการเมืองถลางไว้ในจดหมาย แต่สันนิษฐานว่าคงจะเป็นยกกระบัตรเมืองถลางผู้รับผิดชอบดูแลทุกข์สุขของราษฎรและสเบียนอาหารของกองทัพในสมัยนั้น มากกว่าจะเป็นตำแหน่งอื่น
คำที่ควรวิเคราะห์ในจดหมายนี้ คือคำว่า "ทรอกโทร" ซึ่งอ่านว่า "ซอกโซ" มาจากคำว่า "ซอก" ตามพจนานุกรมฯราชบัณฑิตยสถาน หมายถึงความคับแคบของช่องทาง และ "โซ" ตามพจนานุกรมฯ หมายถึง การอดอยากยากจน รวมเข้า ๒ คำ ก็เป็นความอดอยากยากแค้นแสนสาหัส แต่อักขรวิธีของคนสมัยโบราณมักชอบใช้ ทร ปะปนกับ ซ อยู่เสมอ ๆ จึงเขียน "ทรอก-โทร"
อีกคำหนึ่งคือ "กุหนี" นั้น ได้วิเคราะห์มาแล้วในจดหมายฉบับก่อน ๆ
ประการสุดท้ายที่น่าวิเคราะห์ก็คือ จดหมายนี้เขียนเมื่อวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะเมียจุลศักราช ๑๑๔๘ หรือ พ.ศ. ๒๓๒๙ ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังสงครามพม่าแล้ว ประมาณ ๗ เดือน แต่ภาวะความอดอยากยากแค้นในเมืองถลางยังคงมีอยู่ไม่ผ่อนคลายลง จดหมายอ้างถึงกัปตันชื่อ "ลิกี" ซึ่งพระยาราชกปิตันสั่งให้เข้ามาค้าขายกับเมืองถลางว่ากัปตันผู้นี้ไม่รู้จักภาษากัน คือ คงจะไม่เข้าภาษาไทยพอจะทำการค้าขายกันได้ ออกพระพลภักดีจึงท้วงติง ไปยังพระยาราชกปิตัน ซึ่งในขณะนั้นได้ไปเช่าเกาะปีนัง และเข้าถือสิทธิปกครองไว้เรียบร้อยแล้วจึงไม่ออกเรือมาค้าขายกับเมืองถลางโดยตนเองเช่นที่เคยเป็นมาแต่ก่อนเพียงแต่ส่งตัวแทนเข้ามาเท่านั้น
ปาณิศรา(นก) ชูผล : บันทึก ผช.หมายเหตุรักษ์ มทศ. มห.ภูเก็จ มทศ.จห.20 |