Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow News arrow PHUKETDATA arrow มทศ.จห.2
มทศ.จห.2 PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อังคาร, 21 ธันวาคม 2010

จดหมายเหตุเมืองถลางและหัวเมืองปักษ์ใต้
ต้นฉบับของศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต (ศวภ.)


ประสิทธิ  ชิณการณ์ : อ่านและวิเคราะห์

Click at the image to view full size
ฝากรูป

มทศ.จห. ๒ (ใช้หมายเลขตรงกับ ฉบับ ศวภ ๒ 


คำอ่าน  ๐ กฎหมายให้แก่ กปิตันมังกู ด้วยกปิตันเหล็ก ให้กปิตันมังกู อยู่รับดีบุก ในจำนวนพระราชทานร้อยภารา ค่าปืนหกร้อยยี่สิบหกบอกร้อยภาราแล้วให้กปิตันมังกู คุมเอาปืนเก้าร้อยยี่สิบหกบอกเข้าไปส่ง ณ กรุงเทพมหานคร และบัดนี้ กปิตันมังกูมีน้ำใจรับเอาปืนและพรรณผ้าแพรซึ่งข้าหลวงกรมการจัดซื้อเข้ามาส่งด้วย เป็นปืนชาติเจะรอมัด เก้าร้อยบอกเข้ากับปืนชาติสุตันเก้าร้อยยี่สิบหกบอก เป็นปืนพันแปดร้อยยี่สิบหกบอกกับพรรณผ้าและแพร (ต้นฉบับมีร้อยดวงตราตำแหน่งกรมการเมืองประทับอ่านไม่ได้)- พับได้ส่งให้กปิตันมังกูบรรทุกกำปั่นเข้าไปยังกรุงเทพมหานครและดีบุกค่าผ้า/ค่าปืน ซึ่งข้าหลวงกรมการซื้อทั้งนี้ได้จัดดีบุก ค่าผ้า/ค่าปืนให้แก่เจ้าผ้า/เจ้าปืน ณ เมืองถลาง ตามรัดรายราคาอยู่แล้ว กฎหมายให้ไว้ ณ วันศุกร์ เดือนแปด ทุตวิยลาด ขึ้นเจ็ดค่ำ ปีระกา นพศก. 


วิเคราะห์ ๐  เป็นที่น่าสังเกตว่า ในสมัย ๒๐๐ ปีเศษ มาแล้ว เมืองถลางถือกันว่า หนังสือเอกสารทางราชการที่เป็นบันทึกรับรอง หรือบันทึกหลักฐานต่างๆอันเป็นเอกสารสำคัญนั้น เป็น "กฎหมาย" ซึ่งคงมีนัยเป็นที่เข้าใจว่า เป็นกฎเกณฑ์อันพึงหมาย พึงจดจำ เป็นเรื่องเป็นราวเฉพาะเรื่องไป มิได้หมายความว่าเป็นกฎเกณฑ์ทั่วไปที่ทุกคนจะพึงรับและยึดปฏิบัติ ดังนัยความหมายของ "กฎหมาย" ในปัจจุบันนี้ ฉะนั้นเอกสารซึ่งน่าจะเป็นเพียง หนังสือนำส่งสินค้าและแนะนำตัวผู้นำส่งสินค้า ดังเอกสารฉบับนี้ จึงใช้คำว่า "กฎหมาย"  


 ชื่อของพ่อค้าอังกฤษในเอกสารฉบับนี้มีอยู่ ๒ คน คือ กปิตันมังกู ซึ่งเป็นชื่อคนอังกฤษ ที่คนไทยเมืองถลางสมัยนั้นเรียก เพี้ยนไป
 กปิตัน "มังกู" นี้ ในเอกสารเจ้าพระยาถลางพิมลขัน(เอกสาร ศวภ ๓ เรียกเพี้ยนเป็นกปิตัน "บังแกน"


 จึงพอจะตีความได้ว่า ชื่อจริงๆของพ่อค้าคนนี้น่าจะเป็น "มอร์แกน" เป็นแน่ พ่อค้าอีกคนหนึ่ง คือ "กปิตันเหล็ก" ซึ่งอันที่จริงนั้นตัวอักษรในเอกสารต้นฉบับจืดจางอ่านเอาความไม่ถนัด แต่เดาเอาว่าเป็น "กปิตันเหล็ก" ซึ่งหมายถึง กัปตันฟรานซิส ไลท์ ผู้ควบคุมการค้าฝ่ายอังกฤษในเมืองถลางอยู่ในสมัยนั้นและชาวถลางบางคนก็เรียกชื่อของฟรานซิส ไลทื ว่ากปิตันเหล็ก


 เนื้อความในเอกสารฉบับนี้ มีนัยว่าพระมหากษัตริย์ไทย (คือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานดีบุกให้แก่พ่อค้าชาวอังกฤษไปก่อนจำนวนหนึ่งร้อยภารา เพื่อจัดซื้อปืนไว้ใช้ในราชการป้องกันพระราชอาเขต ซึ่งกำลังมีภาวะสงครามกับพม่าอยู่ไม่ค่อยจะว่างเว้น


 ปืนที่จัดซื้อมาได้ตามเอกสารฉบับนี้มีอยู่ ๒ชนิดคือ "ปืนชาติเจะรอมัด" ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกขานกันเพี้ยนจากภาษายุโรปในสมัยนั้น ในเอกสารฉบับต่อมา (ศวภ ๓ ) พระยาถลางเรียกว่า  "ปืนชาติตุระหมัด" ซึ่งท่านผู้รู้ได้อธิบายว่า คือ ปืนของเยอรมัน


 ปืนอีกชนิดหนึ่งคือ "ปืนสุตัน" ตีความว่าคงจะเพี้ยนจากคำว่า "ปิสตอล"(Pistol) ในภาษาอังกฤษซึ่งหมายถึงปืนพก ใช้คำ "ทุตวิยลาด" นี้ในความหมายของคำบาลีว่า "ทุติยาสาฬห" หากแต่การสะกดคำผิดเพี้ยนไปโดยอาลักษณ์ หรือ เป็นเพราะคนสมัยนั้นใช้คำ "ทุตวิยลาด" เป็นพื้น หมายถึงเดือนแปดหลัง ก็ยังเป็นเรื่องที่น่าสงสัยอยู่ เพราะเป็นเรื่องการเกิด และการตาย ของภาษาที่ต้องศึกษากันอีกทางหนึ่ง
 เอกสารนี้เขียนเมื่อวันศุกรเดือนแปดหลัง ซึ่งผู้เขียนใช้คำ "ทุติวิลาด"
 ปีระกา นพศก คือ จุลศักราช ๑๑๓๙ ตรงกับพ.ศ. ๒๓๒๐ เป็นสมัยที่เมืองถลางมีพระยาถลางพิมลขันเป็นเจ้าเมืองอยู่ และเป็นรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตากสิน

 

ปาณิศรา(นก) ชูผล : บันทึก

ผช.หมายเหตุรักษ์ มทศ.

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( จันทร์, 27 ธันวาคม 2010 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

News

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้1122
mod_vvisit_counterเมื่อวาน2580
mod_vvisit_counterทั้งหมด10705867