Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow News arrow PHUKETDATA arrow มทศ.จห.16
มทศ.จห.16 PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อังคาร, 21 ธันวาคม 2010

จดหมายเหตุเมืองถลางและหัวเมืองปักษ์ใต้
ต้นฉบับของศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต (ศวภ.)


ประสิทธิ  ชิณการณ์ : อ่านและวิเคราะห์

 

Click at the image to view full size
ฝากรูป

มทศ.จห.๑๖ (ใช้หมายเลขตรงกับ ฉบับ ศวภ ๑๖) 


คำอ่าน ๐ หนังสือท่านเจ้าพระยาสุรินทราชา ผู้สำเร็จราชการเมืองถลางบางคลีทั้งแปดหัวเมืองมาเถิงพระยาราชกปิตัน ด้วยพม่ายกกองทัพมาตีเมืองถลางครั้งนี้ เดชะพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปกเกล้าปกกระหม่อมและทแกล้วทหารชาวเมืองถลางได้รบพุ่งต้านต่อด้วยพม่า รั้งรากันอยู่เถิงประมาณเดือนหนึ่ง ฝ่ายพม่าล้มตายเจ็บป่วยลงประมาณ ๓๐๐ - ๔๐๐ คน พม่ายกเลิกแตกไปแต่ ณ วันจันทร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีมะเส็งสัปตศก(สัพศก)นั้น แต่บัดนี้ฝ่ายชาวเมืองตะกั่วทุ่งบางคลีเป็นเมืองเชิงทรงบ้านเรือนเรี่ยรายกันอยู่ พม่าเผาข้าวเสียเป็นอันมากข้าวขัดสนเห็นไม่พอเลี้ยงบ้านเมืองไปจนจะได้ข้าวในไร่ในนาให้พระยาราชกปิตันเห็นแก่การแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวสืบไป ให้ช่วยจัดแจงนายเรือและสลุปลูกค้าบรรทุกสินค้าและข้าวมาจำหน่าย ณ แขวงเมืองตะกั่วทุ่งบางคลีแต่พอจะได้เจือจ่ายไปแก่ราษฎร ๆ จะได้ทำไร่นาสืบไป ครั้นปิดตราตำแหน่งที่ซึ่งเคยปิดไปมาแต่ก่อน มิได้เอามา เอาตรารูปคนปิดมาเป็นสำคัญ หนังสือมา ณ วันพุธ เดือน ๕ ขึ้นสิบสี่ค่ำ ปีมะเมียอัฏฐศก  


วิเคราะห์ ๐ อาจารย์สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ ได้ทำบทปริวรรตเอกสารฉบับนี้ไว้แล้ว เช่นเดียวกับเอกสาร มทศ.จห.๑๕ (ใช้หมายเลขตรงกับ ฉบับ ศวภ ๑๕ ควรดูประกอบด้วย)


เจ้าพระยาสุรินทราชา นามเดิม จัน จันทโรจวงศ์ เป็นชาวอยุธยา รับราชการในช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ต่อมาเมื่อเสียกรุง พ.ศ. ๒๓๑๐ ได้ย้ายมาเป็นมหาอุปราชของเจ้าพระยานครหนู เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีรวมเอานครศรีธรรมราชไว้ได้ ก็นำตัวมหาอุปราชจันเข้าไปไว้ ณ กรุงธนบุรีด้วย ครั้นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปราบดาภิเษกขึ้นครองกรุงเทพมหานครได้ตั้งให้มหาอุปราชจันเป็นที่พระยาราชวังเมืองในกรมช้างเลื่อนเป็นพระยาสุรินทราชานราบดีศรีสุริยศักดิ์สมุหคชบาล


 เมื่อเกิดศึกพม่าตีเมืองถลาง พระยาธรรมไตรโลกแม่ทัพใหญ่จากกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับอาญาสิทธิ์ให้มาจัดการเรื่องเมืองถลาง ต้องเสียชีวิตลง แล้วท่านผู้หญิงจันพร้อมด้วยพระยาทุกรราช(ทองพูน) บุตรจอมเฒ่าบ้านดอนซึ่งเคยมีตำแหน่งเป็นกรมการเมืองถลางในฐานะพระยาปลัดของเจ้าเมืองถลางพระยาพิมลขัน(พญาถลางพิมลอัยาขัน)และได้รับแต่งตั้งจากพระยาธรรมไตรโลกขึ้นเป็นผู้ว่าราชการเมืองถลางแทนพระยาถลางพิมลขัน(พญาถลางพิมลอัยาขัน) ซึ่งถึงแก่อนิจกรรมลงในระยะนั้น ได้ร่วมมือกันต่อสู้ขับไล่พม่าถอยกลับไป สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(ทั้งสองพระองค์) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรินทราชา(จัน)เชิญสารตราออกมาแต่งตั้งให้พระยาทุกรราช (ทองพูน) ขึ้นเป็นพระยาถลางเจียดทอง และแต่งตั้งท่านผู้หญิงจันเป็นท้าวเทพกระษัตรี แต่งตั้งคุณมุกเป็นท้าวศรีสุนทร แต่งตั้งเมืองภูเก็จ(เทียน) เป็นพระยาทุกรราช แทนพระยาทองพูน ที่เลื่อนเป็นพระยาถลาง  แล้วให้เจ้าพระยาสุรินทราชา(จัน)รับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝ่ายตะวันตก ๘ หัวเมือง ในโอกาสนั้นด้วย


เจ้าพระยาสุรินทราชา(จัน) สมัยที่ดำรงตำแหน่งอุปราชนครศรีธรรมราชนั้น เคยพบปะคุ้นเคยกับกัปตัน ฟรานซิส ไลท์(พญาราชกปิตัน)มาก่อนแล้ว วิเคราะห์ตามจดหมายฉบับนี้จะเห็นว่า เคยมีจดหมายติดต่อกันมาก่อนและใช้ตราประจำตำแหน่งมหาอุปราชเมืองนครศรีธรรมราชเป็นสัญลักษณ์สำคัญ คราวนี้ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝ่ายตะวันตกซึ่งมีตราตำแหน่งอีกแบบหนึ่งต่างหาก และไม่พร้อมที่จะใช้กับจดหมายฉบับนี้ ซึ่งเขียนขึ้นในวาระรีบร้อนเป็นการฉุกเฉินจึงใช้ดวงตรารูปคน อันเป็นดวงตราระดับเจ้าเมืองหรือกรมการเมืองคนใดคนหนึ่งประทับลงในจดหมายแทน และต้องอธิบายให้พระยาราชกปิตัน(กัปตันฟรานซิส ไลท์)ทราบถึงความจำเป็นที่ต้องใช้ตราสัญลักษณ์นี้ มิฉะนั้น ความเชื่อถือก็จะไม่มีเพราะคนสมัยนั้น ไม่มีธรรมเนียมการเซ็นชื่อ แต่มีธรรมเนียมการยึดถือดวงตราประจำตำแหน่งเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวแทนลายเซ็น

 

***

มห.ภูเก็จ

สารานุกรม มทศ.จห.16

ปาณิศรา(นก) ชูผล : บันทึก

ผช.หมายเหตุรักษ์ มทศ.

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( พฤหัสบดี, 03 มีนาคม 2011 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

News

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้1212
mod_vvisit_counterเมื่อวาน2580
mod_vvisit_counterทั้งหมด10705957