Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
มทศ.จห.๑ PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
จันทร์, 20 ธันวาคม 2010

  จดหมายเหตุเมืองถลางและหัวเมืองปักษ์ใต้ 
  ต้นฉบับของศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต (ศวภ.) 
  ประสิทธิ  ชิณการณ์ : อ่านและวิเคราะห์ 

  มทศ.จห.๑ (ใช้หมายเลขตรงกับ ฉบับ ศวภ.๑) 

  คำอ่าน ๐ วัน (ต้นฉบับชำรุดอ่านไม่ได้) ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๗ ปีวอก อัฐศก ข้าพเจ้านายญวงผู้ผัว อำแดง จิกผู้เมีย ทำหนังสือมารับผ้าขาว ๓ หัว ผ้ามะลิลา ๔ หัว ยาฝิ่น ๒ ชั่ง ค่าเป็นดีบุก ๔ แผ่น สัญญาถึงเดือน ๕/๖ จะเอาดีบุก ๔ แผ่น มาส่งให้แก่ท่านราชโตะเมื่อนั้น ถ้ามิได้ส่งให้ไซร้ ขอให้เกาะจำเร่งรัดเอาตามหนังสือนี้เถิด ข้าพเจ้าขีดแกงไดให้ไว้เป็นสำคัญ 
  วิเคราะห์ ๐ วันขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๗ ปีวอก อัฐศก อยู่ในปีจุลศักราช ๑๑๓๘ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๑๙ ก่อนเกิดสงครามพม่ากับถลาง ๙ ปี 
            นายญวงเจ้าของหนังสือฉบับนี้ คงจะต้องเป็นคหบดีสำคัญคนหนึ่งของเมืองถลางในยุคนั้น จึงได้รับอนุญาตจากเจ้าเมืองถลางให้รับช่วงทำการค้าขายกับพ่อค้าต่างประเทศได้ 
   สินค้าที่นายญวงต้องการ นอกจากผ้าขาวแล้ว ยังมีผ้ามะลิลา (ซึ่งจะเป็นผ้าประเภทใดนั้น จะต้องศึกษาค้นคว้าต่อไป) แล้วยังมียาฝิ่นอีกด้วย
   เอกสารฉบับนี้แสดงให้เห็นว่า สมัยนั้นเมืองถลางมีการค้าฝิ่นโดยมีอังกฤษเป็นผู้ค้าส่งอยู่ประจำแล้ว ส่วนนายญวงจะซื้อฝิ่น ๒ ชั่ง มาเพื่อบริโภค (คือสูบ)เองหรือจำหน่ายขายต่อนั้น ไม่อาจทราบได้
   สมัยนั้นมีการค้าขายโดยแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งกันและกัน โดยนำสินค้ามาคำนวณราคาเทียบกันแล้วจัดดีบุกตอบแทนให้ตามมูลค่าสินค้า
   ดีบุกตามนัยแห่งสัญญาฉบับนี้มีรูปลักษณะเป็น "แผ่น" ตีความว่าสมัยนั้นการหลอมดีบุกของเมืองถลางคงจะหลอมออกมาเป็นแผ่น คล้าย ๆ แผ่นอิฐ แผ่นกระเบื้องกระมัง แต่ละแผ่นคงจะมีน้ำหนักจำกัด โดยเทียบกับมาตราหลวงที่ทำการซื้อขายดีบุกซึ่งเรียกว่า "ภารา" โดยน้ำหนัก ๑ ภารา คิดเป็นหาบจีนได้เท่ากับ ๔ หาบจีน หรือ ๒๐๐ ชั่ง (คุณอุษณีย์ ฉวีกุลรัตน์กล่าวไว้ในหนังสือ "ระบบเหมาเมืองในหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตก" พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๙ มหาวิทยาลัยศิลปากร ว่า ๑ ภารา เท่ากับ ๓๕๐ ชั่ง) แต่จะมีอัตรากี่แผ่นต่อหนึ่งภารายังค้นหาไม่พบ
   หนังสือสัญญาฉบับนี้อ้างถึงผู้รับสัญญาว่า "ท่านราชโตะ"  ซึ่งตีความว่าคงเป็นพระยาราชกปิตัน (กัปตันฟรานซิส ไลท์) เนื่องจากบุคคลผู้ใกล้ชิดเจ้าเมืองถลางขณะนั้น มักจะเอ่ยสรรพนามบุคคลผู้นี้ว่า "ดาโต๊ะ" หรือ "ลาโตก" หรือ "ราชโตะ" ทำนองนี้ ในเอกสารหลายฉบับที่รวบรวมไว้เป็นชุดเดียวกันนี้
   หนังสือสัญญานี้เป็น "สัญญาซื้อขาย" ซึ่งพ่อค้าเมืองถลาง ทำขึ้นไว้กับพ่อค้าชาวอังกฤษ นายญวงผู้ทำสัญญานี้ คงจะได้เขียนสัญญาด้วยลายมือของตนเองจึงลงท้ายสัญญาว่า "ข้าพเจ้าได้ขีดแกงไดให้ไว้เป็นสำคัญ" เนื่องจากสมัยนั้นไม่มีกฎหมายว่าด้วยการประทับลายนิ้วมือหรือการเซ็นชื่อเป็นลายเซ็นเฉพาะตัวเพียงแต่ยึดถือกันว่าการทำเครื่องหมายขีดข่วนไว้อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเรียกเครื่องหมาย "แกงได" ก็ยึดถือกันว่าเป็นการถูกต้องยอมรับกันได้แล้ว
   ชาวถลางซื้อยาฝิ่นจากพ่อค้าอังกฤษ ซึ่งเป็นเจ้าจำนำใหญ่ในการค้าฝิ่นเนื่องจากอังกฤษได้เข้าไปมีอิทธิพลทางการค้าเหนือประเทศอินเดียตอนใต้เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๐๐ และมีฝิ่นเป็นสินค้าสำคัญที่นำออกจำหน่ายในตลาดย่านเอเชียอย่างเป็นล่ำเป็นสันจนเกิดข้อพิพาทกับประเทศจีนโดยรัฐบาลจีนสั่งเผาทำลายสินค้ายาฝิ่นของอังกฤษจำนวนมาก จึงเกิดสงครามขึ้นระหว่างจีนกับอังกฤษใน พ.ศ.๒๓๘๓ เป็นผลให้จีนต้องเสียเปรียบอังกฤษสืบต่อมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๙ จึงมีการผ่อนคลายลงเนื่องจากจีนได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สองใน พ.ศ. ๒๔๘๓ ช่วยให้อังกฤษมีชัยชนะเหนือประเทศญี่ปุ่นได้ในครั้งนั้น
   มูลค่าสินค้าที่ซื้อขายใช้การแลกเปลี่ยนต่อกันโดยฝ่ายไทยมีดีบุกเป็นสินค้าแลกเปลี่ยน ดีบุกตามนัยแห่งสัญญาซื้อขายฉบับนี้มีรูปลักษณะตามภาพพจน์เป็น "แผ่น" คงมีการหลอมดีบุกให้เป็นแผ่นคล้ายๆแผ่นอิฐ หรือแผ่นดินเผาเพื่อสะดวกในการขนถ่ายและนำขึ้นตาชั่งพิกัดน้ำหนักดีบุกเมืองถลางสมัยนั้นเรียกเป็น "ภารา" เศษของ "ภารา" เรียก "แผ่น" และ "บาท" กับ "สลึง" ซึ่งจะได้พบในเอกสารฉบับต่อไป

  "ภารา คืออะไร ในจดหมายเมืองถลางหลายฉบับ ได้กล่าวถึงน้ำหนักดีบุกด้วยพิกัดการคิดออกเป็น ภารา"" ซึ่งได้มีท่านผู้รู้รุ่นหลังพยายามอธิบายคำว่า ""ภารา"" ออกมาแตกต่างกัน หาความชัดเจนได้โดยอยาก เช่น"   
  ๑ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานฯอธิบายว่า ภารา ๑. น. ชื่อมาตราชั่งน้ำหนักมคธ ๒๐ ตุลา เป็น ๑ ภารา (๒๕๒๕หน้า ๖๑๖)  
  ตุลา (แบบ) น.คันชั่ง, ตราชู, ชื่อมาตราวัดน้ำหนักมคธเท่ากับ ๑๐๐ ปละ (ป.ส.) (หน้า๓๕๖)   
  ปละ ๑(ปะละ) น.ชื่อมาตราน้ำหนักมคธ ๑๐๐ ปละเป็น ๑ตุลา ๒๐ ตุลา เป็น ๑ ภาระ(ป.ส.)   
  ซึ่งคนรุ่นใหม่ก็อยากที่จะเข้าใจว่าในที่สุดแล้ว ๑ ภารานั้นควรจะเทียบได้กับน้ำหนักในพิกัดมาตราน้ำหนักแบบปัจจุบันได้เท่ากับกี่ชั่ง, กี่หาบ, หรือกี่กิโลกรัม   
  ๒.สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถานเล่ม ๑๐ พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๔ หมวด ช.ชั่ง (หน้า ๖๑๑๐) อธิบายว่า ฯลฯ                          ฯลฯ   
   ๒ เฟื้อง  เท่ากับ
   ๔ สลึง  เท่ากับ
   ๔ บาท  เท่ากับ
   ๒๐ ตำลึง เท่ากับ 
   ๒๐ ชั่ง  เท่ากับ
   ๒๐ ตุล  เท่ากับ
  ดังนี้ ก็พอจะคำนวณออกมาได้ว่า ๑ ภารา เทียบได้กับ ๔๐๐ ชั่ง ซึ่งเรื่องก็น่าจะยุติลงเพียงนี้ ถ้าหากไม่มีข้อความต่อไปในสารานุกรมฉบับเดียวกันนี้ หน้า ๖๑๑๑ ความตอนหนึ่งว่า   
   ชื่อมาตรา ตุล" กับ "ภารา" มาจากมาตราชั่งของอินเดีย "ภารา" เป็นคำของอินเดียแขกอาหรับเอาไปเรียกเพี้ยนเป็น "บาฮาร์" ในสมัยศรีอยุธยาซึ่งมีการค้าติดต่อกับต่างประเทศมาก ใช้ชั่งน้ำหนักสินค้าเป็น "พารา" หรือ "บาฮาร์" กันทั่วไป ภารา หรือ พารา หรือ บาฮาร์ มีน้ำหนักเท่ากับ ๓ หาบ  
   มาตราชั่งของเก่าเปลี่ยนแปลงมาหลายแบบ แบบท้ายที่สุดเป็นดังนี้  
   ๒ เมล็ดข้าว เท่ากับ ๑ กล่อม 
   ๒ กล่อม เท่ากับ ๑ กล่ำ 
   ๒ กล่ำ  เท่ากับ ๑ ไพ
   ๔ ไพ  เท่ากับ ๑ เฟื้อง
   ๒ เฟื้อง  เท่ากับ ๑ สลึง
   ๔ สลึง  เท่ากับ ๑ บาท
   ๔ บาท  เท่ากับ ๑ ตำลึง
   ๒๐ ตำลึง เท่ากับ ๑ชั่ง 
   ๕๐ ชั่ง  เท่ากับ ๑ หาบ"
  ดังนี้ ก็จะเห็นว่า ๑ ภารา (๓ หาบ ) เท่ากับ ๑๕๐ ชั่ง ไม่ใช่ ๔๐๐ ชั่ง อย่างที่คำนวณได้จากพิกัดที่กล่าวไว้ในวรรคแรก   
  ฉะนั้น ๑ ภารา ควรจะมีน้ำหนัก ๔๐๐ ชั่ง หรือ ๑๕๐ ชั่ง หรือ ๒๐๐ ชั่ง จึงต้องอาศัยเหตุผลอื่นประกอบเข้ามาอีกทางหนึ่งด้วย   

   น้ำหนัก ๑ ภารา บางแห่งเทียบว่าเท่ากับ ๓ หาบ หรือ ๓๐๐ชั่ง (พิกัดอย่างเก่านับ ๑๐๐ ชั่งเป็น ๑ หาบ ) บางแห่งก็เทียบเอา ๑๕๐ ชั่ง (พิกัดต่อมานับ๕๐ ชั่ง เป็น ๑ หาบ ) ลักลั่นกันอยู่คงจะต้องอาศัย "ช่วงเวลา" ที่ขายกันนั้นว่าอยู่ในระยะที่ใช้พิกัดอย่างไหน จึงจะคำนวณได้ถูกต้องว่า ๑ ภารา ควรจะเป็น "กี่หาบ หรือ กี่ชั่ง กันแน่ (โปรดดูในผนวกเรื่อง "ภาราคืออะไร")  
   นายญวง เขียนสัญญานี้ด้วยลายมือตนเองและได้ "ขีดแกงได" ไว้ให้เป็นสำคัญ "แกงได" เป็นเครื่องหมายแทนลงลายมือชื่อของคนโบราณ ที่ไม่มีตราประจำตำแหน่ง  

 

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้1068
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1309
mod_vvisit_counterทั้งหมด10730676