Skip to content

Phuketdata

default color
Home
โปท้องโพถ้อง : รถสองแถวไม้ PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
เสาร์, 11 กันยายน 2010

วิวัฒนาการการสัญจรจากแรงคน

สู่เครื่องยนต์นาม “โพถ้อง

 

วิวัฒนาการสัญจรไปมาของคนภูเก็ตในยุคเริ่มแรกของการสัญจรทางบกด้วยการใช้ช้างเป็นพาหนะ  เมื่อมีการลากจูงจะใช้สัตว์ลาก เช่น ใช้ม้าลากเรียกว่า  "แบ้เชี้ย”(รถม้า)   ใช้ควายหรือวัวลากเรียก "หงูเชี้ย” และการใช้คนลากคือ "หล่างเชี้ย”

รถโปท้อง


ปี พ.ศ. ๒๔๙๐-๒๕๑๐ ยังมีการใช้เชี้ย(เกวียน)เทียมวัวและควายให้เห็นอยู่ เชี้ยของภูเก็ตไม่สวยงามเท่าของภาคเหนือและภาคอีสาน แต่มีความทนทานในการใช้งานเพื่อการบรรทุกสิ่งของในการทำนาเช่นบรรทุกกล้า ข้าวเปลือก รวงข้าว ข้าวสารถุง ไม้ฟืน ไม่นิยมใช้โดยสารเพราะชาวภูเก็ตนิยมใช้รถโพถ้อง ส่วนแบ๊เชี้ยใช้ในเมืองภูเก็ตระหว่างบ้านบางเหนียวไปยังบันซ้านใกล้วัดขจรรังสรรค์ ไปสิ้นสุดที่เฉี่ยโบ้ย (ห่างหลังอ๊ามจุ้ยตุ่ยประมาณ ๑๐๐ เมตร)  ถนนหนทางเดิมเป็นหลุมเป็นบ่อโคลน พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯได้ขอให้นายหัวเหมืองช่วยสร้างเสริมถนนให้รถยนต์รุ่นแรกใช้ในภูเก็ต  นายหัวเหมืองได้นำขี้กราง (ตะกรันจากการถลุงแร่ดีบุกในโรงกลวง ยังมีแทนทาลั่มมูลค่าราคาสูงปนอยู่) ถมถนนในเมืองทุ่งคา โดยจงใจให้เป็นถนนชั้นดี แต่บังเอิญที่มีแทนทาลั่มราคาสูงยิ่งกว่าทองถมเป็นถนนเมืองภูเก็ตให้มีค่ายิ่งกว่าถนนในตัวเมืองใด ๆ


สมเด็จฯพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมารทรงพระราชทานนามถนนสายแรกว่า ถนนเทพกระษัตรี เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๔๕๒ วันถัดไปทรงเปิดถนน ๒ สายได้พระราชทานนามว่า ถนนภูเก็จ (ใช้ตรงกับที่ทรงบันทึกในพระราชหัตถเลขา) และถนนวิชิตสงครามเชื่อมต่อไปถึงเมืองภูเก็ตเก่าที่บ้านเก็ตโฮ่ – ในทู - ทุ่งทอง  เมื่อภูเก็ตมีถนนจึงสะดวกที่จะสัญจรด้วยรถยนต์ทั้งรถส่วนตัวเป็นรถเก๋งและรถบรรทุกขนาดเล็กกับขนาดกลางเรียกรถลอรี่ ช่างได้พัฒนารถลอรี่ให้มีหลังคาจึงได้กลายเป็นรถโพถ้อง ส่วนหล่างเชี้ยก็ลดจำนวนลง แต่ใช้รถถีบสามล้อพ่วงข้างซ้ายเพิ่มมากขึ้น


 หลังจากนั้นไม่นาน นายหัวรถชาวภูเก็ตจึงสร้างรถโพถ้องเพิ่มขึ้นเพื่อรับส่งผู้โดยสารเข้าเมืองทุ่งคา  โดยรถประเภทนี้ได้ขนส่งทางเรือผ่านต่อมาจากปีนังซึ่งมีเพียงตัวถังที่เป็นเหล็กและมีล้อให้ขับเคลื่อนที่ได้เองเพราะยังไม่มีรถบรรทุกขนาดใหญ่บรรทุกดังปัจจุบัน  ส่วนประกอบเหนือตัวถังเหล็กเป็นไม้ปูพื้น  มีเสาไม้เป็นโครงขึ้นไปถึงหลังคา  ทางขึ้นลงเป็นบันไดอยู่ด้านหลัง ใช้ไม้กระดานแผ่นใหญ่และหนาเป็นที่นั่ง๒ แผ่นขนานไปกับตัวรถซึ่งอยู่เหนือล้อหลังไปจรดแนวหลังคนขับ  ช่างได้สร้างเสริมม้านั่งยาวสูงเท่าที่นั่งถาวรวางไว้กลางรถ ทำให้มีที่นั่งเพิ่มมากขึ้น  ใช้พลาสติกผืนใหญ่ม้วนติดข้างรถไว้คลี่ออกกันฝน  ช่างที่มีความสามารถได้ประดิษฐ์ไม้เสริมตกแต่งรถโพถ้อง เพิ่มความสวยงามในภาพรวมให้เป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น เป็นยานพาหนะที่ได้รับใช้ปวงชนขับเคลื่อนวิถีชีวิต สืบต่อถ่ายทอดวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่นมาเป็นเวลาเกือบ ๑๐๐ ปี  ผู้มาเยือนภูเก็ตมีโอกาสสัมผัสเสน่ห์รถโพถ้องด้วยความประทับจิตตราบกาลนิรันดร

หมายเหตุ

ภูเก็ตมีคำยืมจีนฮกเกี้ยน พัฒนาเสียงกลายพันธุ์มาเป็นภาษาถิ่นภูเก็ต  เสียงจึงไม่เหมือนกับคำจีนฮกเกี้ยนในแผ่นดินพญามังกรต้นฉบับ  ชาวอำเภอถลางออกเสียงคำยืมจีนฮกเกี้ยนแตกต่างไปจากชาวในทู  และทั้ง

ชาวในทูและชาวถลางก็ออกเสียงคำเดียวกันไม่เหมือนกับชาวทุ่งคา  ทั้งชาวทุ่งคา – ชาวในทู – ชาวถลาง ก็ออกเสียงต่างกับภาษาถิ่นใต้อื่น ๆ เพิ่มเข้ามาอีก เช่น ปู่ - สะดือ - ดี – เช็ด - ปู ชาวใต้อื่นออกเสียงเป็น โป – ดือ – ดี – เฉ็ด - ปู  แต่ชาวภูเก็ตออกเสียง ปูว – ดีย – ดีย – แฉ็ด - ปูว

การเขียนรูปแบบคำที่นิยมกันคือพยายามให้ใกล้เคียงกับเสียงต้นแบบในแต่ละท้องถิ่นที่ใช้อยู่  แต่เพราะภาษาถิ่นภูเก็ตมีระดับเสียง(วรรณยุกต์) ๘ ระดับ  มากกว่าภาษากลาง ๓ ระดับ เช่นคำที่หมายถึง นา ป่า ป้า จะไม่สามารถใช้รูปแบบวรรณยุกต์ที่มีใช้อยู่กำกับคำให้ตรงระดับเสียงได้  จำเป็นต้องเขียน นา ป่า ป้า ตามรูปแบบคำภาษาไทยมาตรฐาน

รูปแบบอักษรภาษาไทย  ก ข ค ง ... อ ฮ  อักษรหลายตัวมีเสียงเดียวกัน เช่นเสียง ขอ-คอ มีกลุ่มอักษรที่แทนเสียง ขอ-คอ ได้คือ ข ฃ ค ฅ ฆ (นิยมใช้ ข กับ ค), เสียง พอ มีกลุ่มอักษร พ ภ ผ (นิยมใช้  พ กับ ผ),  เสียง ถอ-ทอ มีกลุ่มอักษร ฐ ฑ ฒ ถ ท ธ (นิยมใช้ ท กับ ถ)

คำ “โพ - ถ้อง” มีปัญหาในการเขียนรูปแบบคำทั้งพยางค์หน้าและพยางค์หลัง  พยางค์หน้าเคยมีใช้เป็น โพ โพ้ โป พ้อ ยังไม่ยุติว่าจะเขียนรูปแบบใด พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ภูเก็ตกำหนดใช้ โป; พยางค์หลังมีใช้เป็น ท้อง กับ ถ้อง  รูปแบบคำและเสียงตรงกับเสียง ท้อง  พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ภูเก็ตจึงตัดสินใจใช้ โปท้อง  ส่วน อบจ.ภูเก็ต ใช้ โพถ้อง

 


สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์

ปรับปรุงคำพอให้ได้มีความ
๙ กันยายน ๒๕๕๓

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( เสาร์, 11 กันยายน 2010 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Polls

ชื่อใด (หรือคำใด) สื่อได้ชัดคม รู้เป้าหมายได้มากกว่า
 

Who's Online

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้102
mod_vvisit_counterเมื่อวาน4642
mod_vvisit_counterทั้งหมด11281079