Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
หมี่ฮกเกี้ยน... หร็อยหร็อย PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
ศุกร์, 11 มิถุนายน 2010

หมี่ฮกเกี้ยน... หร็อยหร็อย                         

สรวิชญ์ ศรีอารยา

1……….

ความเอร็ดอร่อยของหมี่ฮกเกี้ยน ทำให้ผมต้องแลบลิ้นเลียเศษอาหาร ที่ติดตามใบตองจนไม่เหลือคราบ  ถ้าผมโตแล้วทำงาน มีเงินมากกว่านี้ ผมจะสั่งหมี่ฮกเกี้ยน มากินหลายชามให้พุงกางไปเลย แต่เนื่องจากตอนนั้น... ผมมีอายุประมาณหกเจ็ดขวบ กำลังอยู่ในวัยกำลังกินกำลังนอนทีเดียว ชอบเล่นสนุกไปวัน ๆ ผมทำได้ดีที่สุด       ก็แค่ฝันกลางวันเท่านั้นเอง! เมื่อกินไม่อิ่มท้อง ก็อดที่จะบ่นพึมพำไปตามประสาเด็กไม่ได้ ประกอบด้วยฐานะทางครอบครัวก็ยังย่ำแย่ ผมจึงไม่สามารถเรียกร้องขอสิ่งที่ตัวเอง ต้องการได้ตามใจปรารถนา ขืนเอาแต่ใจตัวเองบ่อย ๆ อาจถูกทำโทษได้ง่าย ๆ เพราะธรรมเนียมในสังคมคนจีน ผู้น้อยต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่เสมอมีแค่ไหนก็กินไปเท่านั้น เป็นเด็กเป็นเล็กกินอะไรมากมาย ผู้ใหญ่เขาทำงาน ยังกินไม่เยอะเท่าอ๋อยเลย       อี๋ฉ้ายเลี้ยงไม่ไหว เดี๋ยวก็พาไปปล่อยวัดหรอก


“มีแค่ไหนก็กินไปเท่านั้น เป็นเด็กเป็นเล็กกินอะไรมากมาย ผู้ใหญ่เขาทำงาน ยังกินไม่เยอะเท่าอ๋อยเลย       อี๋ฉ้ายเลี้ยงไม่ไหว เดี๋ยวก็พาไปปล่อยวัดหรอก”

น้าสาวของผมกล่าวตำหนิ ขณะที่ใช้มือตัวเองกำลังเกลี่ยหมี่ ที่ซื้อมาในห่อใบตอง แบ่งใส่ลงในจาน      ให้ครบตามจำนวนผู้ที่มาเล่นไพ่จ็อด(นกแดง)ภายในบ้านของอาม่า (ย่า)
“ทำงานอะไร? ล่ะอี๋ เห็นเล่นไพ่ทั้งวันเลย ไม่เหมือนอาป๋าที่ต้องไปก่อสร้าง” ผมหยิบ1โอ๋วเอ๋ว อีกชิ้นหนึ่งเข้าปาก เคี้ยวเสียแก้มตุ่ย จนถูกผู้ใหญ่หยิกเข้าที่ต้นแขน ทำเอาน้ำตาผมแทบเล็ด ต้องยกมือลูบต้นแขนบ่อย ๆ เพื่อบรรเทาอาการปวด
----------------------------------------------------------
1โอ๋วเอ๋ว หมายถึง ขนมที่มีลักษณะเป็นวุ้นใส ไม่มีสีทำจากกล้วย กินกับน้ำแข็งใส ใส่ถั่วแดงต้มหรือวุ้นดำ ราดน้ำเชื่อม หรือน้ำแดงและน้ำนมแมว เป็นของหวาน ที่ชาวภูเก็ตนิยมรับประทานกันในเวลาบ่าย
   “ทำอะไรล่ามข้วน (ตะกละ) ขนาดนั้น อ๋อยยกถาดมาให้อี๋ ถ้าช่วยงานมาก เดี๋ยวอี๋ให้กินมากกว่านี้ รีบยกของไปให้เขากินเร็ว อย่าให้ผู้ใหญ่ต้องรอ”
     ทันทีที่ผมและอี๋ยกจานหมี่ฮกเกี้ยน ไปเสิร์ฟต่อหน้าผู้เล่นไพ่ หญิงวัยกลางคนคนหนึ่งในวงไพ่ใส่ชุดผ้าลูกไม้  กำลังใช้ความคิดกับไพ่ในมือ แต่เมื่อเอา2ไม้จั่วไพ่นกแดง ที่กองอยู่ตรงกลางวง กวาดเข้าหาตัวรวมกับไพ่ของตัวเอง ถึงกับอุทานลั่นด้วยความดีใจ
“ล็อค(ชนะ) แล้ว จ่ายมาซะดี อย่าโย้กโย้ หลายตา (รอบ) แล้ว เพิ่งจะมาได้ นึกว่า...จะหมดตูดแล้วกู”
ด้วยความเคร่งเครียดที่เกิดจากการเล่นไพ่ แล้วพ่ายแพ้ติดต่อกันหลายชั่วโมง เมื่อชัยชนะเกิดขึ้นในรอบสุดท้าย หล่อนดีอกดีใจ ถึงกับกินอะไรไม่ลง จึงปฏิเสธหมี่ฮกเกี้ยนจานนั้น โดยยกให้ผมเอาไปกินฟรีๆ
“หลานจี้ฮุ่ย (อาม่าของผม)คนนี้น่าเอ็นดู ตัวแค่นี้ทำงานได้แล้ว โป๋ (ยาย) ยกให้หนุ่ย (หนู) นะ”
ผมยกมือไหว้ขอบคุณ แล้วรีบยกจานหมี่กลับลงมาข้างล่าง กลัวขาไพ่ของอาม่าจะเปลี่ยนใจ ผมกินหมี่ฮกเกี้ยนด้วยความเอร็ดอร่อยอีกครั้ง ใช้ลิ้นเลียคราบอาหาร ที่ติดอยู่ตามซอกจานจนสะอาดเกลี้ยงเกลา
จู่ ๆ ผมก็ได้ยินเสียงเคาะประตูเหล็กบานพับ เมื่อไปเปิดประตู ก็พบพ่อหิ้วหมี่มาอีกห่อ พร้อมกาแฟเย็นในกระป๋องนม ตาผมลุกวาวด้วยความดีใจ ที่จะได้กินหมี่ฮกเกี้ยนเป็นครั้งที่สาม คาดไม่ถึงว่า วันนี้จะโชคดีได้กินหมี่หลายรอบ เพราะตามปกติแล้ว เด็กอย่างผมจะได้กินอาหาร ก็ต้องเป็นของเหลือต่อจากผู้ใหญ่ หรือไม่ผู้ใหญ่แบ่งให้เท่านั้น
………………………………………………………………………………………

2……….
 “สิบบาทมาหลายเดือนแล้ว ขนาดผัดไทย ไม่มีเหลี่ยว (เนื้อสัตว์) ใส่แต่ไข่อย่างเดียว มันยังขึ้นสิบบาท ของเราใส่เหลี่ยวเยอะ ถ้าไม่ขึ้นก็ขายไม่ไหว”
---------------------------------------------------------------------------------------------------------
2ไม้จั่วไผ่ มีลักษณะเป็นไม้ไผ่อันเล็ก ยาวขนาด 2 ฟุต ตรงปลายใช้ยางวงมัดที่ปลายไม้ สำหรับใช้เกาะไพ่ เข้าหาตัวผู้เล่น ส่วนใหญ่ใช้ไม้จั่วไผ่แบบนี้กับไพ่นกขาว และไพ่นกแดง


เจ้าของร้านหมี่ฮกเกี้ยนบอกเหตุผล ในการขอขึ้นราคาเท่าหนึ่ง หลังจากที่แม่ของผมบอกให้อีกฝ่ายคิดเงิน แม่ควักเงินขึ้นมาจ่ายค่าหมี่ของเราทั้งสามคนแม่ลูก ที่กินไปวันนี้ รู้สึกว่า แพงกว่าครั้งก่อน ๆ มาก
 “อาทิตย์หน้า เราไปกินโอ๋วเอ๋ว ถูกกว่าตั้งเยอะนะมะนะ” โอ๋น้องสาวผมออกความเห็น เมื่อลอบสังเกตว่า แม่ไม่ค่อยมีสีหน้าสบายใจนัก ที่วันนี้ทำให้สูญเสียรายได้ ซึ่งเกิดจากการต้องเลี้ยงหมี่ฮกเกี้ยน ของคนในครอบครัวไปมากพอสมควร
 “ไม่ต้องกินอะไรเป็นดีที่สุด โอ๋วเอ๋วก็แพงเหมือนกันนั่นแหละ” ผมแย้งขึ้น
 “กินแล้วอย่าไปคิดอะไรมาก แข็บ ๆ (รีบ ๆ ) เข้า เดี๋ยวมะ (แม่) ต้องกลับไปทำขนมหล้าว (อีก) ” แม่ตัดบท ไม่ต้องการให้ลูกทั้งสองคนมีปากเสียงต่อ เพราะรู้ดีว่าเราสองพี่น้องเมื่อทะเลาะกันแล้ว ยากจะยุติได้
 “ไปกินหมี่เดือนสาม (เทศกาลตรุษจีน) ที่บ้านอาม่าก็ได้ มะไม่ต้องเสียเงินเลี้ยงหมี่เราอีก” น้องสาวพูดเหมือนหาทางประหยัดให้แม่สบายใจ
ผมได้แต่คิดในใจเล่น ๆ ว่า ถ้าให้อาม่าผัดหมี่เลี้ยงเรา สู้ให้แม่ผัด ยังอร่อยกว่าอีกเยอะ เพราะแม่เป็นคน  ใจป้ำ ใส่เครื่องประกอบมากมาย ทั้ง กุ้ง หมึก ลูกชิ้นปลา หอยติบ (หอยนางรมตัวเล็ก) และหมูเนื้อแดงไม่ติดมัน ไม่เหมือนอาม่าขี้เหนียว ใส่แต่หมูสามชั้นและผักกวางตุ้งเท่านั้น ยังไม่ทันจะกล่าวอะไร แม่ก็ชิงพูดออกมาเสียก่อนเหมือนรู้ใจผมว่า
 “บ้านอาม่ามีหลานหลายคน เดี๋ยวก็กินไม่อิ่มหรอก เดี๋ยวมะผัดให้กินเองจะดีกว่า”
 เหตุผลที่แม่รีบออกปากว่า จะผัดหมี่ให้ผมและน้องสาวกิน เพราะเราเพิ่งจะมาทราบภายหลังว่า แม่และอาม่าเพิ่งจะทะเลาะกันเมื่อไม่นานมานี้ ตามประสาแม่ผัวและลูกสะใภ้ ที่ไม่ค่อยลงรอยเท่าไหร่ ด้วยเหตุกลัวเรื่องจะบานปลายไปใหญ่โต จนมองหน้าไม่ติดในวันข้างหน้า พ่อผมซึ่งเป็นคนกลาง จำต้องย้ายครอบครัวออกมาจากกงสี พลอยทำให้ผมและโอ๋ ถูกเกลียดหน้าจากอาม่าไปด้วย ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ความผิดของเราแม้แต่นิดเดียว
 ในเย็นวันที่แม่ผัดหมี่ให้กิน ผมกับน้องสาวกินกัน ไม่ต่ำกว่าคนละสองสามจานจนพุงกาง เนื่องจากแม่ลงทุนต้มน้ำซุปกระดูกหมูเอง เพื่อนำไปปรุงรสชาติให้เข้มข้น เหมือนร้านเจ้าประจำที่เราไปกินอยู่บ่อย ๆ แม่ดีใจที่เห็นพวกเรากินหมี่กันจนอิ่มหน่ำสำราญ
“ถ้ามีเวลามะจะผัดหมี่ให้กินอีกหลาว ยังเหลืออีกนิด ... อย่าให้เหลือติดกระทะ ของยิ่งแพง ๆ อยู่ด้วย” สองคนพี่น้อง จำต้องฝืนกินหมี่ต่อจนหมด ทำให้เบื่อหมี่ฮกเกี้ยนไปอีกหลายวันทีเดียว
 ปากบ่นว่า เบื่อหมี่ไปอย่างนั้นเอง หลังจากนั้นไม่นาน ผมก็ร้องขอให้แม่พาผมและน้องสาว ไปกินที่ร้านแป๊ะ...เจ้าเก่าอีก ตอนอยู่ชั้นประถม มันก็ไม่น่าเกลียดนัก แต่เมื่อเลื่อนชั้นมาเรียนมัธยมปลาย แม่จัดสรรเงินค่าขนมให้พวกเราเป็นรายสัปดาห์ ผมไม่มีสิทธิ์ออดอ้อน ให้แม่พาไปกินหมี่เหมือนตอนเป็นเด็กได้อีก ต้องทะยอยเก็บเงินให้ครบ เพื่อจะได้เอาไปซื้อหมี่ฮกเกี้ยน กินที่ร้านทุกวันอาทิตย์เสียครั้งหนึ่ง  แต่ช่วงหลังไม่ค่อยมีเงินเหลือเก็บ เพราะผมมักจะสะสมเงิน ไปซื้อคู่มือตำราเตรียมตัวสอบเอนทรานซ์มากกว่า
 ………………………………………………………………………………………

3……….
 เกือบสองปีเต็ม ๆ ที่ลิ้นของผม ไม่ได้สัมผัสความอร่อยของรสหมี่ฮกเกี้ยนนานพอสมควร เพราะต้องไปเรียนที่ต่างจังหวัด ทุกครั้งที่กลับมา ถ้าไม่เป็นอาม่าก็เป็นแม่ ที่จะพาผมไปกินหมี่ฮกเกี้ยนที่ร้านเดิมเสมอ
 “ปีหน้า...ก็จะกลับมาทำงานที่ภูเก็ตแล้ว ที่บ้านค้าขายก็อยากให้หลานชายรับราชการบ้าง”
 อาม่าอวดตำแหน่งหน้าที่ทางราชการของผม ให้ฟังต่อหน้าเมียเจ้าของร้านหมี่ ด้วยความภาคภูมิใจที่ผมสอบชิงทุนหลวงได้ เป็นหน้าเป็นตาของวงศ์ตระกูลอย่างมาก
 “หลานชายหน้าสวยเหมือนแม่เขานะ โก้จู๋ (อาก๋งของผม) ช่วงหลังนี้ไม่เห็นฉ้ายมาสั่งหมี่ไปกินเลย ไม่สบายเหรอไง ? ”
เมียเจ้าของร้าน ถามถึงเหตุผลทำไมระยะหลัง น้าฉ้ายจึงไม่มาซื้อหมี่ฮกเกี้ยน กลับไปให้อาก๋งกินที่บ้าน เพราะเมื่อก่อนอาก๋งจะต้องสั่งให้น้าสาวของผมมาซื้อหมี่ผัด ไปกินตอนบ่ายสองโมงเกือบทุกวัน
 “โก้จู๋เป็นโรคความดัน หมอสั่งไม่ให้กินของมัน ๆ ฉันเองตอนนี้ก็กินมากไม่ได้ ท้องอืดบ่อยไม่ค่อยย่อย เหมือนตอนสาว ๆ  เดี๋ยวสั่งแบบนี้ให้หลานชายอีกชาม ที่โน้น...มีหมี่ผัดแบบนี้ขายมั้ยล่ะอ๋อย? ”
 เหมือนรู้ความต้องการของผม ที่จะกินหมี่ฮกเกี้ยนให้หายอยาก อาม่าจึงสั่งหมี่ให้ผมเพิ่มอีกถ้วย ที่อื่นใด ในจังหวัดภาคใต้ ซึ่งผมไปฝึกงานภาคสนาม ไม่มีที่แห่งไหนผัดหมี่ฮกเกี้ยน ได้อร่อยเท่าที่จังหวัดภูเก็ต
“เคยสั่งมากิน แต่เขากลับทำเป็นหมี่ราดหน้ามาให้ เขาผัดไม่อร่อยเหมือนบ้านเรา  อย่างของยะลาคนส่วนมากเป็นแขก เขาผัดไม่ใส่หมู ใส่แต่ปลา แต่กุ้ง”
ผมตอบพร้อมแลบลิ้นไปด้วยความเผ็ด เนื่องจากโรยพริกไทยและพริกแดงป่นมากเกินไป จนกลายเป็นละอองแดงเต็มผิวหน้าหมี่ผัด
นับตั้งแต่วันนั้น!...รสชาติของหมี่ฮกเกี้ยนหลายเจ้า ลดระดับความอร่อยลงไปมาก สาเหตุคงเป็นเพราะบางร้านผัดไว้จำนวนมาก ใส่ในหม้อใบใหญ่ ๆ รอการตักใส่บริการให้แก่ลูกค้า ไม่ได้ผัดหนึ่งกระทะต่อหนึ่งลูกค้าสั่งเหมือนเมื่อก่อน เพื่อให้ได้ทันความต้องการของลูกค้าในเวลาอันรวดเร็ว ผมจึงไม่ค่อยนิยมไปกินเท่าไร มีเพียงร้านหมี่ของแป๊ะ...เพียงเจ้าเดียวเท่านั้น ที่ยังรักษาการผัดแบบเดิมๆ อยู่ อย่างเช่นการใช้ถ่านไม้เป็นเชื้อเพลิงแทนการใช้แก๊สหุงต้ม อย่างที่เห็นกันดาษดื่นในร้านอาหารทั่วไป ดังนั้นผมจึงไปอุดหนุนร้านของแป๊ะ...เป็นประจำ
เมื่อกลับมาบรรจุรับราชการที่บ้านเกิด  มีเงินเดือนเลี้ยงตัวเองได้แล้ว ส่วนใหญ่หลังจากเลิกงานตอนเย็น  ผมมักจะแวะไปกินหมี่ฮกเกี้ยนร้านเดิมอยู่บ่อย ๆ ด้วยติดใจในรสชาติที่ชอบมาตั้งแต่วัยเยาว์ ให้สมอยาก ทดแทนในช่วงเด็กที่ไม่ค่อยได้กิน จนทำให้ถูกแม่ต่อว่า
“รู้อยู่แล้ว...ตอนเย็นต้องกลับมากินข้าวบ้าน ก็ยังไปกินหมี่อีก ทำให้ข้าวที่บ้านเหลือ ไม่ต้องกลัวร้านหมี่มันเจ๊งหรอก”
เมื่อถูกตำหนิหลายครั้งเข้า ผมค่อย ๆ เลิกราไม่ไปกินอีก ประกอบกับช่วงหลัง ตัวเองเริ่มมีน้ำหนักมากขึ้น ตั้งใจจะลดน้ำหนัก โดยการลดจำนวนครั้ง ในการกินหมี่ให้น้อยลงจากเมื่อก่อน จึงห่างหน้าหายตาไปจากเจ้าของร้านนานหลายเดือน ทำให้ไม่ทราบว่า ร้านเจ้าที่กินประจำ ได้ปิดกิจการไปแล้ว เพราะอายุของแป๊ะ...ชราภาพมากเหลือเกิน จนผัดหมี่ไม่ไหว แต่แกก็ได้ถ่ายทอดสูตรการผัดหมี่ฮกเกี้ยน ให้แก่ผู้เป็นหลานรับช่วงต่อ รสชาติยังอร่อยเหมือนเดิม แต่ปริมาณจากชามโตเมื่อก่อน ก็ลดลงแทบจะไม่พออิ่มในชามเดียว
ทุกครั้งที่ “โอ๋” น้องสาวของผมกลับจากกรุงเทพฯ ต้องรบเร้าให้ผมพาไปกินหมี่เจ้าใหม่นี้ทุกครั้ง
“กินเจ้าไหนก็ไม่อร่อยเท่าของแป๊ะ....เมื่อก่อนกินเก็ด (คู่) กับผักกาดขาว แต่ตอนนี้แทบเปลี่ยนมาเป็น   ใบกุ๊ยช่ายและหอมแดงแทน ก็แก้เลี่ยนไปอีกแบบ”
น้องบอกสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป แต่เก้าอี้และโต๊ะยังใช้ตัวเก่าตัวเดิม ที่ผมเคยเห็นเมื่อตอนเยาว์วัย
“เดี๋ยวโก้อ๋อยสั่งให้โอ๋กินอีกถ้วย โก้...เอาหมี่หุ้นใส่ไข่อีกถ้วย เอาไข่แดงเป็นยางมะตูม ไม่ต้องใส่อ๋วน (ลูกชิ้นปลา) น่ะ”
ผมเปลี่ยนจากหมี่เหลืองเป็นหมี่ขาว มาแบ่งกินกับน้องสาวอีกถ้วย ไม่อยากจะกินมากกว่านี้ หลังจากที่ตัวเองงดอาหารเย็น จนน้ำหนักลดลงได้สองกิโล
ระหว่างที่รอเขาผัดหมี่ให้อีกถ้วย ผมอดหวนระลึกถึงการกินหมี่ฮกเกี้ยน เมื่อตอนเราเป็นเด็กทั้งคู่ไม่ได้ บางครั้งก็ต้องทะเลาะ เพื่อให้ได้กินหมี่ในจำนวนที่มากกว่า ฐานะครอบครัวของผมไม่ถึงอดอยาก แต่ก็ไม่ฟุ่มเฟือยถึงกับกินทิ้งกินขว้าง พวกเราเติบโตมาในครอบครัวของคนจีน ที่สอนให้ลูกหลานใช้จ่ายอย่างประหยัด บางครั้งอาจจะถึงขั้นตระหนี่เสียด้วยซ้ำ
………………………………………………………………………………………
4……….
ร้านหมี่ผัดฮกเกี้ยนของแป๊ะ...ถูกเปลี่ยนมือเป็นของโก้....ซึ่งได้ย้ายมาขายอยู่ที่แห่งใหม่ กลายเป็นเมนูอาหารพื้นเมืองลำดับต้น ๆ ที่ใช้เลี้ยงรับรองแก่เพื่อนฝูงของโอ๋ ซึ่งมาจากต่างจังหวัดอยู่บ่อยครั้ง
“ที่นี่เขาไม่มีน้ำปลาเหรอ โก้อ๋อย ?  อาโก้ขอน้ำปลาหน่อยซิคะ”
ตั๊กแตนเพื่อนที่ทำงานของโอ๋ร้องถามขึ้นมา เมื่อต้องการจะปรุงรสเค็มตามที่ตัวเองชอบ
“อ้อ! ลืมบอกเธอไป คนภูเก็ตเขาไม่ใส่น้ำปลาปรุงอาหารหรอก เพราะเหม็นคาว เขาใช้จิ้วเช้ง (ซีอิ้วขาว) แทนย่ะหล่อน”
โอ๋หยิบขวดกลมสีชา ใกล้กับพวงเหล็กใส่กระปุกเครื่องปรุงส่งให้ ทำเอาเจ้าของร้านที่กำลังยุ่งกับการผัดหมี่ในกระทะด้านหน้าร้าน หันมามองหน้าอีกฝ่ายด้วยความไม่พอใจ เพื่อนของน้องสาวได้แต่หลบตา     ก้มลงพูดกระซิบกระซาบข้างหูโอ๋เบา ๆ ด้วยความเกรงใจว่า
“ทำไม? เจ้าของร้าน เขามองลูกค้าไม่เป็นมิตรอย่างนั้นล่ะ โก้อ๋อย ไม่เห็นจะต้อนรับพวกเราสักเท่าไหร่เลย”
“พ่อค้าแม่ขายคนภูเก็ต เป็นคนนิสัยก่อคูด หน้าฮาวหลามปิ่น อย่างนี้แหละ ไม่หมือนพ่อค้าชาวแต้จิ๋วภาคกลางหรอกครับ”
ผมเผลอหลุดศัพท์จีนฮกเกี้ยนออกมาสองสามคำ จนเพื่อนน้องสาวถาม คำเหล่านี้มีความหมายว่าอะไรบ้าง
“ขอโทษที...ตั๊กแตนเป็นคนภาคกลาง ฟังคำพวกนี้ไม่รู้เรื่อง โก้อ๋อยลืมไป ก่อคูด แปลว่า หยิ่ง ไม่สนใจไม่แคร์ใคร ส่วนหน้าฮาวหลามปิ่น แปลว่า หน้าบูด หน้าบึ้ง ไม่ค่อยเป็นมิตรกับใคร พ่อค้าแม่ขายคนภูเก็ตเขาไม่ค่อยแคร์ลูกค้าหรอก ถือคติว่า...มึงซื้อกูขายก็เท่านั้นแหละ โดยเฉพาะร้านที่ทำอาหารอร่อยๆล่ะก็ ยิ่งไม่สนใจลูกค้าใหญ่เลย”
ทันทีที่ถ้วยกระเบื้องลายไก่ใส่หมี่ มาตั้งบนโต๊ะพร้อมผักเคียง เพื่อนสาวของโอ๋ก็ได้เห็นหน้าตาที่แท้จริงของหมี่ฮกเกี้ยนว่า เส้นหมี่ที่ผัดนั้นมีขนาดอวบอ้วนกว่าเส้นหมี่ทั่วไป มีน้ำดำขลุกขลิก พอแฉะๆ ไม่แห้งร่วนเหมือนผัดไทยหรือหมี่ผัดซีอิ้ว และไม่มีน้ำเจิ่งนองเหมือนก๋วยเตี๋ยวราดหน้า แต่ส่งกลิ่นหอมฉุนเรียกน้ำลายสอของลูกค้า นับจากเวลาที่เจ้าของร้านหมี่ อวดฝีมือการผัดตั้งแต่ตอนแรกสั่งแล้ว
“เมื่อก่อนหนูคิดว่า...หมี่ฮกเกี้ยนเหมือนเส้นก๋วยเตี๋ยวแห้ง ๆ กรอบ ๆ ของเมืองจันทน์ ที่นำไปใส่ถุงขายเหมือนของที่ระลึก แต่เดี๋ยวนี้รู้แล้วว่า หมี่ฮกเกี้ยนผัดแล้วต้องกินเลย”
“ถ้าจะอร่อยมากกว่านี้ ต้องกินคู่กับกากหมู หรือไม่ก็ถั่วทอด”
ผมเอาใจเพื่อนน้องสาว โดยการฉีกซองพลาสติกที่บรรจุกากหมู โรยหน้าหมี่ในถ้วยของอีกฝ่าย ตั๊กแตนตักหอยนางรมตัวเล็กให้ผมดู แล้วถามว่าเป็นหอยอะไร ผมก็อธิบายให้ฟังต่อว่า
“หอยติบ นอกจากจะผัดใส่หมี่แล้ว หอยนี่ยังเอาไปทำแกงจืด3หมี่ซั่ว และไข่เจียวไข่ได้อีกด้วย”
 -------------------------------------------------------------------------------------------------------------
3หมี่ซั่ว หมายถึง เส้นหมี่ขนาดเล็ก ทำจากแป้งสาลี นิยมทำเป็นแกงจืดใส่หมูสับและผักต่าง ๆ
หลังจากกินเสร็จ ก็เรียกเจ้าของร้านมาเก็บเงิน
“ทั้งหมด 93 บาท” ตั๊กแตนรีบควักแบงก์ร้อยชิงจ่ายเงินตัดหน้าผมก่อน
แต่เมื่อได้รับเงินทอน เป็นจำนวนเต็มไม่ได้มีเศษสตางค์
“เขารู้ว่าโก้อ๋อยมากินประจำเลย จึงไม่คิดค่าน้ำแข็งแก้วละบาท” ทำให้เพื่อนของน้องสาว ค่อนข้างจะทำหน้าแปลกใจ ที่เจ้าของร้านไม่ได้มีนิสัยเสีย ตามที่ผมตำหนิไว้แต่ต้น
………………………………………………………………………………………
5……….
บ่อยครั้งที่ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ ผมมักจะพาจี๊ดจี๊ด หลานสาวตัวเล็ก ลูกของโอ๋น้องสาว อายุห้าขวบ     ซึ่งถูกยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของผมตั้งแต่เล็ก มากินหมี่ฮกเกี้ยนที่ร้านขาประจำ
“หมี่นี้กินหร็อย (อร่อย) นะป๋าอ๋อย เสาร์หน้า พาจี๊ดจี๊ดมากินใหม่หล้าว (อีก) นะ”
หลานสาวตัวน้อย ยกช้อนตักน้ำที่เหลือในถ้วย กินจนหมดเกลี้ยงด้วยความอร่อย ขณะที่กำลังรอตัวเองและหลานกินอยู่นั้น ผมเองก็ไม่วายสั่งหมี่ฮกเกี้ยน กลับไปฝากพ่อและแม่ที่บ้านด้วย
“หมี่หุ้น (หมี่ขาว) ผัดเปียกๆอีกห่อนะโก้ ไม่ใส่หมี่เจ้ง (ผงชูรส) อย่าลืมเอาหัวหอม (หอมแดง) ใส่ไปด้วย ป๋า (พ่อ) แกชอบน้ำเยอะ ๆ ”
ถ้าไม่บอกรสชาติตามใจชอบของคนสั่ง เจ้าของร้านจะผัดตามสูตรที่ชาวภูเก็ตนิยม คือ หมี่เหลืองผัดเปียก หมี่หุ้น (หมี่ขาว) ผัดแห้ง เหตุที่ต้องเปลี่ยนหมี่เหลืองมาเป็นหมี่ขาว เพราะพ่อและแม่เป็นโรคเบาหวานและ    ความดันโลหิตสูงทั้งคู่ หมอจึงสั่งห้าม เนื่องจากหมี่เหลืองแสลงต่อโรคดังกล่าว
“เอาอีกชามมั้ยจี๊ดจี๊ด?” ผมถาม ขณะที่เห็นหลานสาวเจริญอาหารได้ และอยู่ในวิสัยมีเงินพอจะจ่ายค่าอาหารได้โดยไม่ลำบาก ไม่อยากให้จี๊ดจี๊ดต้องอดอยาก เหมือนผมเมื่อตอนเป็นเด็ก ที่อยากกินแต่ไม่ได้กิน
“อิ่มแล้ว กินมากเดี๋ยวไม่ได้เป็นนางสาวไทย” ความแก่แดดของหลานสาว ทำให้ผมอดอมยิ้มไม่ได้
“จี๊ดจี๊ด...อะไรเอ่ย? ตัวยาวเป็นวา ทาสีเหลือง คนทั้งเมืองชอบกิน” ผมตั้งปริศนาให้หลานสาวทายเล่น ๆ ขณะที่รอให้โก้...ผัดหมี่อีกสองห่อ
“หมี่! ถูกไหมมั้ย? ป๋าอ๋อย” หลานสาวตอบถูก เพราะนึกขึ้นได้ว่า เป็นหมี่ฮกเกี้ยนที่กินผ่านไปเมื่อครู่นี้
“ตัวนิดเดียวกินหมดชามเลยนะ ที่บ้านหลู้ (คุณ) ขาวทุกคน ทำไมหลานออกมาดำ ถึงหนุ่ย (หนู) ดำ    ก็ดำขำน่ะ  เดือนหน้าหยุดสองอาทิตย์ โก้จะไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ”
เจ้าของร้านบอกกับผม ขณะใช้กระบวยเหล็ก และตะหลิวเหล็กผัดเส้นหมี่ไปด้วยความคล่องแคล่วชำนาญ
กลิ่นหอมจากกระเทียมที่สับจนละเอียดโชยกรุ่น ผสมกับละอองไอน้ำมัน กระจายไปทั่วรอบ ๆ บริเวณเตาไฟ  ทิ้งคราบน้ำมันให้ติดจับตามโต๊ะกลมหินอ่อน ซึ่งบ่งบอกให้ทราบว่า ข้าวของเครื่องใช้ภายในร้านนี้ ผัดขายหมี่ฮกเกี้ยนไม่ต่ำกว่าห้าสิบปี
บรรยากาศเก่า ๆ ในร้านยังคงเหมือนเดิม ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมากนัก เพิ่มเข้ามาก็มีภาพขาวดำของแป๊ะ...ที่เพิ่งตายด้วยโรคหัวใจวาย เมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งโก้...นำมาแขวนข้างฝาผนัง  บอกให้รู้ว่า ร้านนี้เป็นต้นตำรับดั้งเดิมของหมี่ฮกเกี้ยน ที่ผมชื่นชอบฝีมือการผัดหมี่ของแกมาตั้งแต่เด็ก
วันเวลาได้มอบความชราภาพและมรณะภัย ให้แก่ทุกคนที่ยังมีชีวิตบนโลกใบนี้ อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งรวมทั้งผมด้วย คาดไม่ถึงว่า ตัวเองจะมีอายุล่วงเลย เข้ามาถึงวัยกลางคน ภายในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้...
………………………………………………………………………………………
ข้อมูลอ้างอิง
ภาษาถิ่นภูเก็ต นพดล กิตติกุล (หน้า 163-169) หนังสือที่ระลึก 100 ปี ภูเก็ตวิทยาลัย
ฮกเกี้ยนหมี่ หยี่อี๋ (หน้า 40-41) นิตยสารภูเก็ตบูลเลทิน VOL 5 NO.3

นายสายัณท์ ตันติกิจ
เจ้าของนามปากกา “สรวิทย์ ศรีอารยา”
เขียนเสร็จเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2553


นายสายัณห์      ตันติกิจ
เลขที่บัตรประชาชน 3-8399-00124-42-9 ตำแหน่ง นักวิชาการสาธารณสุข ชำนาญการ
บ้านพัก     ที่ทำงาน
6/8 ถนนศักดิเดช ซอยเสาเข็ม หมู่ 9  งานประกันสุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต
ตำบลวิชิต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต  ถ.นริศร ต.ตลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต 83000
83000 โทรศัพท์มือถือ 086-2726965  โทร (076) 212297, 211330 ต่อ 307, 308
E-mail : TANTIKIT2512 @ HOTMAIL.COM โทรสาร (076) 222915

 

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( ศุกร์, 11 มิถุนายน 2010 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้684
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1659
mod_vvisit_counterทั้งหมด10719943