Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow News arrow มนุษยศาสตร์ arrow ปฏิทินโลกจากดวงดาว
ปฏิทินโลกจากดวงดาว PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อาทิตย์, 06 มิถุนายน 2010
"ดวงดาว...กำเนิดปฏิทินโลก" นวัตกรรมการบอกวันเวลาที่มีมาแต่โบราณ
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์2 มีนาคม 2553 01:07 น.

"ปฏิทิน" เครื่องมือบอกวันเดือนปี และบอกเล่าเรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมยุคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี


คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
อาจารย์สิทธิชัย จันทรศิลปิน

อาจารย์สิทธิชัย จันทรศิลปิน ขณะบรรยายพิเศษเรื่อง "ดวงดาว...กำเนิดปฏิทินโลก สู่ปฏิทินไทย"

ปฏิทินแขวนที่พบเห็นได้ทั่วไปตามสถานที่ต่างๆ แต่บางชิ้นให้ข้อมูลดีๆ แก่เราด้วย เช่น ปฏิทิน 50 ปี เทคโนโลยีเลเซอร์

ปฏิทินตั้งโต๊ะหลากหลายรูปแบบ

ปฏิทินสมุดบันทึก นอกจากบอกวันเวลา ยังให้เราสามารถบันทึกเหตุการณ์ที่น่าจดจำในแต่ละวันลงไปได้ด้วย

ดูปฏิทินให้ดีๆ นอกจากรู้วันเวลาแล้ว เรายังอาจได้ความรู้เพิ่มเติมจากปฏิทินด้วย

ลองนึกดูกันเล่นๆ ว่า ถ้าทุกวันนี้เรายังไม่มี "ปฏิทิน" ไว้ใช้งาน ชีวิตของเราจะยุ่งยากสักแค่ไหน หากต้องคอยสังเกตดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาว เพื่อคำนวณวันเวลาสำหรับวางแผนทำกิจกรรมในแต่ละวัน แล้วใครกันหนอที่ช่างคิดช่างทำ นำวิถีการโคจรของวัตถุท้องฟ้าบรรจุลงบนวัสดุบางอย่างเพื่อเป็นเครื่องมือบอกให้รู้วัน เดือน ปี อย่างง่ายดาย
       
       ดวงดาว...กำเนิดปฏิทินโลก
       
       "คนยุคโบราณใช้ดวงดาวบนท้องฟ้าเป็นเครื่องกำหนดนับวันเดือนปี" อาจารย์สิทธิชัย จันทรศิลปิน หัวหน้าฝ่ายท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ เริ่มต้นย้อนอดีตการกำเนิดปฏิทินโลก และเล่าต่อว่า เดิมทีมนุษย์ดำรงชีวิตตามสัญชาตญาณ แต่เมื่อเกิดภัยธรรมชาติที่รบกวนวิถีชีวิตปกติ ทำให้มนุษย์เริ่มสังเกตสิ่งรอบตัว รวมทั้งท้องฟ้าและดวงดาว กระทั่งพบว่าบางครั้งภัยธรรมชาติมาพร้อมกับดาวบางดวงบนฟ้า จึงเริ่มสนใจสิ่งที่อยู่บนฟ้า และนำมาเทียบเคียงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของพวกเขา ซึ่งมีทั้งที่ตรงและไม่ตรง แต่สิ่งที่ตรงตามการคาดคะเนก็ถูกจดจำต่อเนื่องเรื่อยมา จนกระทั่งรู้การครบรอบของสิ่งที่อยู่บนฟ้า เช่น การครบรอบของดวงจันทร์ข้างขึ้นข้างแรม
       
       ต่อมาในยุคเมโสโปเตเมีย เมื่อประมาณ 5,000 ปีที่แล้ว คนในสมัยนั้นเริ่มใช้ดวงจันทร์เป็นเครื่องกำหนดนับช่วงระยะเวลาที่ปัจจุบันเราเรียกว่า "เดือน" ซึ่งง่ายกว่าการสังเกตดวงอาทิตย์ ที่สามารถนับได้เหมือนกัน แต่บอกช่วงเวลายาวนานเป็นรอบปี โดยมีชาวบาบิโลเนียเป็นชนชาติแรกที่กำหนดนับวันโดยวัดระยะเชิงมุมของดวงอาทิตย์ ซึ่งในแต่ละวันดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่ไปประมาณ 1 องศา และครบรอบ 360 องศา ในระเวลา 1 ปี
       
       เมื่อ 4,000 ปีก่อน ชาวอียิปต์โบราณใช้ปฏิทินจันทรคติสังเกตดาว "ซิริอุส" (Sirius) ที่สว่างสุดบนฟ้าในเวลากลางคืนเป็นเครื่องบอกเวลา เช่น หากเมื่อใดเห็นดาวซิริอุสอยู่บนท้องฟ้าด้านทิศตะวันออกก่อนพระอาทิตย์ขึ้น แสดงว่าแม่น้ำไนล์จะเริ่มเอ่อล้น และเป็นเวลาเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูก แต่หากช่วงไหนไม่เป็นดาวซิริอุสบนฟ้าในยามค่ำคืน แสดงว่าช่วงนั้นคือฤดูร้อน
       
       กระทั่งพบว่า ทุกๆ 4 ปี ดาวซิริอุสจะปรากฏในตำแหน่งเดิมช้าไป 1 วัน ทำให้รู้ว่าโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบ 1 รอบ เป็นเวลา 365 วัน และอีก 1/4 วัน และนำมาปรับใช้กันปฏิทินจันทรคติ
       
       ส่วนปฏิทินของชาวมายาได้ชื่อว่าเป็นปฏิทินที่มีความละเอียดสูงมากกว่าอารยธรรมอื่นๆ เพราะใช้ทั้งดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวฤกษ์ และดาวศุกร์ เป็นเครื่องกำหนดเวลา และปฏิทินของชาวมายายังมีหลายรูปแบบ ใช้ประโยชน์แตกต่างกันไป เช่น ปฏิทินสำหรับการประกอบพิธีกรรม, ปฏิทินการปกครอง และปฏิทินทางศาสนา แต่หลักๆ ใช้ปฏิทินที่มีลักษณะเป็นวงกลมหลายๆ วงซ้อนกัน มีหลายละเอียดสูง และมีการแบ่งช่วงเวลาเป็นยุคสมัยต่างๆ รวมแล้วเป็นระยะเวลา 5126 ปี
       
       โรมัน...กำเนิดปฏิทินยุคปัจจุบัน
       

       อาจารย์สิทธิชัย บอกว่าปฏิทินที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน มีที่มาจากปฏิทินของชาวโรมันเมื่อประมาณ 800 ปีก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งเป็นปฏิทินแบบสุริยคติ โดยชาวโรมันประยุกต์มาจากปฏิทินของอารยธรรมอื่นอีกทีหนึ่ง กษัตริย์โรมันในยุคแรกกำหนดให้ปฏิทินมี 10 เดือน สันนิษฐานว่าอิงตามเลขฐาน 10 โดยให้เดือน มี.ค. (March) เป็น เดือน 1 ทั้งนี้ เพราะชาวโรมันให้ความเคารพ "มาร์ส" (Mars) เทพเจ้าแห่งสงครามมากเป็นพิเศษ และในแต่ละเดือนจะมี 30 หรือ 31 วัน สลับกันไป ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับปฏิทินจันทรคติ เรื่อยไปจนถึงเดือนสุดท้ายคือเดือน ธ.ค. (December) รวมแล้วมีทั้งหมด 304 วัน
       
       ทว่าเมื่อชาวโรมันใช้ปฏิทินดังกล่าวไปเรื่อยๆ ปรากฏว่าฤดูกาลเริ่มไม่ตรงตามปฏิทิน จนในสมัยกษัตริย์นูมา ปอมปิเลียส (Numa Pompilius) (700 ปี ก่อนคริสต์ศักราช) กำหนดให้เพิ่มเดือนเข้าไปอีก 2 เดือน คือเดือน ม.ค. (January) และ ก.พ. (February) รวมแล้วมีทั้งสิ้น 355 วัน
       
       กระทั่งในสมัยกษัตริย์จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) (45 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ปรับเปลี่ยนวันในแต่ละเดือนเสียใหม่ ให้เดือน มี.ค. มี 31 วัน เดือนต่อๆ ไปมี 30 และ 31 วันสลับกันเรื่อยๆ จนถึงเดือนสุดท้ายคือ ก.พ. ให้มี 29 วัน รวมเป็น 365 วัน แต่ถ้าปีไหนเป็นปีอธิกสุรทิน ซึ่งมี 366 วัน ให้เดือน ก.พ. มี 30 วัน พร้อมทั้งเปลี่ยนให้เดือน ม.ค. ซึ่งตั้งชื่อเดือนตามเทพเจ้า "เจนัส" (Janus) ผู้มีสองพักตร์ และมีหน้าที่เฝ้าประตูสวรรค์ ให้เป็นเดือนแรกของปี และเรียกปฏิทินนี้ว่า "ปฏิทินจูเลียน" (Julian calendar) รวมถึงเปลี่ยนชื่อเดือนที่ 5 (เดือน ก.ค. เมื่อนับเดือน มี.ค. เป็นเดือน 1) จาก "ควินติลิส" (Quintilis) เป็น "จูไล" (July) ตามชื่อของจูเลียส ซีซาร์
       
       ต่อมากษัตริย์ออกัสตุส ซีซาร์ (Augustus Caesar) ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของจูเลียส ซีซาร์ ต้องการให้มีชื่อตัวเองในปฏิทินเหมือนผู้เป็นบิดาบุญธรรม จึงเปลี่ยนชื่อเดือนที่ 6 (เดือน ส.ค. เมื่อนับเดือน มี.ค. เป็นเดือน 1) จาก "เซกติลิส" (Sextilis) เป็น "ออกัส" (August) และเพิ่มวันให้มี 31 วัน เท่ากับเดือนของพ่อด้วย โดยไปลดเดือน ก.พ. ให้เหลือ 28 วัน ในปีปกติ และเหลือ 29 วันในปีอธิกสุรทิน และนี่คือที่มาของปฏิทินที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ โดยได้มีการเพิ่มเติมรายละเอียดต่างๆ ในสมัยต่อมา แต่ได้มีการชำระปฏิทินในสมัยพระสันตปาปาเกรกอรีที่ 13 (Gregory XIII) เมื่อประมาณปี 1582 เนื่องจากวันในปฏิทินเริ่มเกินไปจากความเป็นจริง และเรียกว่า "ปฏิทินจูเลียน-เกรกอเรียน" ที่ใช้กันมาจนถึงทุกวันนี้
       
       ปฏิทินโลก สู่ปฏิทินไทย
       

       ประเทศไทยเริ่มนำปฏิทินจูเลียน-เกรกอเรียน เข้ามาใช้อย่างเป็นทางการในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี 1888 (พ.ศ.2431) โดยนำมาปรับใช้ร่วมกับปฏิทินจันทรคติที่ใช้กันมาแต่เดิม ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาของอินเดียในการใช้ดวงจันทร์เป็นเครื่องกำหนดเวลาและประกอบพิธีทางศาสนาและประเพณีต่างๆ โดยยึดเอาวันมหาสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 หรือประมาณช่วงกลางเดือน เม.ย.
       
       ในปี พ.ศ.2432 รัชกาลที่ 5 ทรงเปลี่ยนให้วันที่ 1 เม.ย. เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับปฏิทินสุริยคติที่เริ่มนำมาใช้กัน และต่อมาจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนให้วันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 ม.ค. ตามแบบสากล โดยเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. พ.ศ.2484 เป็นต้นมา
       
       อย่างไรก็ดี การพิมพ์ปฏิทินครั้งแรกในประเทศไทยมีขึ้นเมื่อวันที่ 14 ม.ค. พ.ศ. 2385 ตรงกับปลายสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งไม่ได้ระบุว่าใครเป็นผู้พิมพ์ แต่คาดว่าน่าจะเป็นหมอบรัดเลย์ ซึ่งเป็นเจ้าของโรงพิมพ์
       
       ทั้งนี้ ปฏิทินสุริยคติ เป็นปฏิทินบอกฤดูกาลจากการสังเกตดวงอาทิตย์ โดยมีกลุ่มดาวจักรราศีเป็นตัวช่วยในการกำหนดนับ ซึ่งเมื่อเห็นดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวใด ก็จะรู้ได้ว่าเดือนนั้นเป็นเดือนอะไร และดวงอาทิตย์จะกลับมาปรากฏที่ตรงตำแหน่งเดิมบนท้องฟ้าทุกๆ 1 ปี และจากการที่ดวงอาทิตย์ให้พลังงานแก่โลก และแกนสมมติของโลกเอียงทำมุมกับดวงอาทิตย์ ทำให้ภูมิอากาศในแต่ละเดือนแตกต่างกัน จึงเกิดเป็นฤดูกาลต่างๆ
       
       ส่วนปฏิทินจันทรคติ มีที่มาจากการสังเกตดวงจันทร์ โดยเทียบเคียงกับกลุ่มดาวจักรราศีเช่นกัน แม้จะบอกฤดูกาลได้ไม่ตรง แต่มีความเกี่ยวเนื่องกับการประกอบประเพณีและพิธีทางศาสนาต่างๆ มาตั้งแต่อินเดียสมัยโบราณ จึงใช้ปฏิทินจันทรคติเพื่อบ่งบอกเทศกาลและวันสำคัญต่างๆ เช่น วันสำคัญทางศาสนา วันลอยกระทง เป็นต้น
       
       ปฏิทินในปัจจุบันมีหลายรูปแบบ เช่น ปฏิทินแขวน ปฏิทินตั้งโต๊ะ ปฏิทินโปสเตอร์ ปฏิทินพก และปฏิทินสมุดบันทึก ซึ่งปฏิทินไม่ใช่เพียงแค่เครื่องมือบอกวันเดือนปีแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นสื่อที่บอกเล่าเรื่องราวได้อย่างหลากหลายให้ผู้คนในสังคมได้รับรู้ รวมทั้งสะท้อนให้เห็นวิวัฒนาการและความเป็นไปของสังคมในยุคสมัยต่างๆ ได้เป็นอย่างดี และอาจบอกได้ว่า ปฏิทินคือสิ่งหนึ่งที่มีคุณค่าเหนือกาลเวลา
       
       (ที่มา การบรรยายพิเศษเรื่อง "ดวงดาว...กำเนิดปฏิทินโลก สู่ปฏิทินไทย" โดยอาจารย์สิทธิชัย จันทรศิลปิน หัวหน้าฝ่ายท้องฟ้าจำลอง กรุงเทพฯ ในงานเสวนา "ปฏิทินโลก ปฏิทินไทย" สู่เส้นทางชีวิต : 3 ทศวรรษรางวัลสุริยศศิธรวันที่ 25 ม.ค. 53 ณ ห้องประชุมเอนกประสงค์ อาคารหอประชุม กรมประชาสัมพันธ์)

ข่าวล่าสุด ในหมวด
10 ภาพลวงที่คุณไม่ควรเชื่อสายตาตัวเอง
มหัศจรรย์แห่งธรรมชาติ ต้นแบบเทคโนโลยีเพื่ออนาคต
p -“พาย” อัศจรรย์การค้นหาตำแหน่งสุดท้ายร่วม 3,500 ปี
"ดวงดาว...กำเนิดปฏิทินโลก" นวัตกรรมการบอกวันเวลาที่มีมาแต่โบราณ
บทเรียน “จีที 200” แบบทดสอบ “สังคมวิทยาศาสตร์”

 

อ้างอิง

http://www.norsorpor.com/ข่าว/n2041607/10%20ภาพลวงที่คุณไม่ควรเชื่อสายตาตัวเอง

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

News

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้832
mod_vvisit_counterเมื่อวาน2096
mod_vvisit_counterทั้งหมด10718432