Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
การรักษาโรคของคนภูเก็ต PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อาทิตย์, 27 มกราคม 2008

การรักษาโรคของคนภูเก็ต

 

เลียบ ชนะศึก และอรุณรัตน์ สรรเพ็ชร

 --- ------------------------------------------------

คนภูเก็ตสมัยก่อน  อยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นคณะในที่ที่มีน้ำท่า ที่ทำกิน  และอาหารอุดมสมบูรณ์  สิ่งที่คนสมัยก่อนกลัวมากที่สุดคือ การไม่มีข้าวกิน  เพราะความกลัวนี้เองจึงต้องปลูกบ้านในที่ราบลุ่ม  เพื่อจะได้ทำนาปลูกข้าวได้  และความกลัวอีกประการหนึ่งคือ กลัวการเจ็บไข้ได้ป่วย  จากความกลัวเรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วยนี่เอง  ทำให้คนภูเก็ตในอดีตคิดหาวิธีแก้ปัญหา ป้องกัน  และรักษาความเจ็บป่วยด้วยการอาศัยธรรมชาติเป็นหลัก  อาศัยการทดลอง  เรียนรู้  สังเกต ผ่านการปฏิบัติซ้ำ จนกระทั่งแน่ใจว่ารักษาได้  จึงเผยแพร่ให้คนอื่นได้รู้    เช่น หมอสมุนไพรบางราย จะให้ผู้ป่วยไปเก็บยาสมุนไพรเอง โดยหมอเป็นผู้บอกตัวยาให้  การกระทำเช่นนี้เป็นการทำให้ผู้ป่วยได้รู้จักกับสมุนไพรเหล่านั้นโดยตรง  ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยเองในแง่ของการได้รู้จักตัวยา  เป็นต้น

 การรักษาโรคแบบพื้นบ้านของคนภูเก็ต ถือเป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นที่ควรแก่การศึกษา  เพราะในปัจจุบันเทคโนโลยีและความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมถึงภูมิปัญญาพลัดถิ่น ได้ทยอยและถาโถมเข้ามาสู่ภูเก็ตอย่างไม่ขาดสาย ทำให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นหลายสิ่งหลายอย่างกำลังเลือนหายไป  รวมถึงการบำบัดรักษาโรคแบบพื้นบ้าน ที่กำลังสูญหายไปเช่นเดียวกัน  ซึ่ง  เลียบ  ชนะศึก หมอพื้นบ้านในตำบลเทพกระษัตรี  อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ได้กล่าวถึงการรักษาโรคของคนภูเก็ต สรุปได้ว่า สุขภาพโดยทั่วไปของชาวบ้านอยู่ในเกณฑ์ดี  เพราะชาวบ้านออกกำลังกายอยู่เป็นประจำ ด้วยการทำงานหนักและเบาทั้งวัน เช่น ไถนา ทำสวน หาบหาม เป็นต้น  พอมีเวลาว่างจากงานก็หัดมวย หัดกาหยง(ปัญจะสีละ) ทำให้มีเหงื่อออกเลยทำให้ระบบการไหลเวียนของโลหิตดี ในส่วนของอาหารการกินชาวบ้านไม่ค่อยได้กินถูกหลักโภชนาการนัก สารอาหารบางอย่างได้รับน้อยไป  เช่น รสเปรี้ยว เป็นต้น คนภูเก็ตสมัยก่อนมักจะปวดเอว ปวดหลัง เพราะต้องตรากตรำทำงานหนัก พออายุประมาณ ๕๐ ปีกว่า ๆ จะเดินตัวแข็ง หลังเริ่มงอ ความรู้สึกทางเพศเสื่อมถอย  (เลียบ  ชนะศึก  เป็นผู้ให้สัมภาษณ์  อรุณรัตน์  สรรเพ็ชร  เป็นผู้สัมภาษณ์  ที่บ้านเลขที่ ๑๓๙ บ้านเหรียง  ตำบลเทพกระษัตรี  อำเภอถลาง  จังหวัดภูเก็ต  เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๔๒ )


วิธีการรักษาโรคแบบพื้นบ้านของคนภูเก็ต  สามารถจำแนกได้เป็น ๔ วิธี ดังนี้
๑. การรักษาด้วยเวชบำบัด
๒. การรักษาด้วยจิตบำบัด
๓. การรักษาด้วยกายบำบัด
๔. การปฏิบัติตามข้อห้าม

๑. การรักษาด้วยเวชบำบัด


เป็นการรักษาด้วยสมุนไพร  ซึ่งหมอจะวินิจฉัยโรคให้ผู้ป่วยแล้วจัดยาสมุนไพรรักษาให้ตามอาการของโรค  ในการรักษาโรคจะมียาที่ใช้รักษาแตกต่างกันไป  ได้แก่


๑.๑  ยากิน  มีสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคต่าง ๆ โดยการกิน  เช่น  ผู้หญิงที่คลอดบุตรใหม่ ๆ ให้กินตับค่าง ยาร้อน และสุรา  เพื่อป้องกันโลหิตกระพือขึ้น  หรือยาครรภ์รักษา (บำรุงครรภ์)  ใช้ยารสหอมหวาน ประกอบสมุนไพรจันทร์แดงจันทร์ขาว ต้มรวมกัน, ปวดท้อง  ใช้พริกไทย นำมาต้ม, เหน็บชา  ใช้หัวยาจีน ข้าวกล้อง ต้มรวมกัน, เป็นไข้  ใช้ลูกสมอ ต้มน้ำ  (เป็นยาระบายเหงื่อ), โรคกษัยไตพิการ ใช้รากกระดูกไก่  ขี้เหล็กแก่น  ต้นตำเสา เถาวัลย์เปรียง  ขมิ้นอ้อย  บอระเพ็ด  ทนดี ยาหนูต้น ชะงอ  นำมาต้มกิน  จนอาการทุเลา, โรคลม  ใช้กะเพรา  รากชะพลู  ดีปลีเชือก  พริก  นำมาต้มรวมกัน ให้ผู้ป่วยกิน, ท้องผูก ใช้ใบชุมเห็ด ต้ม หรือ ใช้สลอด มัสกา ราชพฤกษ์ มะขามเทศ ชุมเห็ด  ผสมกับยาทุกชนิด, โรคในเด็ก อายุ ๑-๒ เดือน หากมีอาการอาเจียน และสะอึก ให้ใช้ลูกมะตูม  ผักเสี้ยนผี  ใบคนพิสอ  ต้มรวมกัน,   โรคตาลขโมย ท้องขึ้นผอมแห้ง  ให้ใช้ มะกา รากสะแก เปลือกต้นไข่เน่า  เปลือกมะเกลือ  กะเพราทั้ง ๕ แมงลักทั้ง ๕  แห้วหมู  ชะพลู  สะค้าน  เจตมูลเพลิง  เปลือกมะตูมอ่อน  ใบเทียน  ใบทับทิม  เปลือกทุเรียน อ้อย ๗ แว่น บอระเพ็ด ๗ แว่น พริกไทย ๗ เม็ด ดีปลีเชือก ๗ ดอก หัวยาจีน ๓ แว่น มะพร้าวอ่อน ๑ ผล  ต้มรวมกัน, ยาบำรุงเลือดสำหรับสตรีที่คลอดบุตรใหม่ ๆ   ยาดำ การบูร น้ำประสานทอง ดินประสิว สารส้ม ฝาง พริกไทย ดีปลีเชือก ขิง มะกรูด มะนาว  ต้มรวมกัน, ยาบำรุงธาตุ และเจริญอาหารสำหรับผู้สูงอายุ ใช้ พริก กระเทียม แฝกหอม แห้วหมู ชะงอ สะตัน อบเชย บดรวมกันให้เป็นผง ละลายกับน้ำผึ้งรวง     ปวดท้อง  ให้เคี้ยวใบท่อม เป็นต้น
๑.๒ ยาทา  มียาสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคต่าง ๆ    โดยการทา  เช่น  ไข้ทรพิษ  ให้ผู้ป่วยนอนบนใบตอง ใช้ใบเล็บครุฑลูบตามร่างกายของผู้ป่วย  แล้วทาด้วยน้ำซาวข้าว, ถูกสัตว์มีพิษกัดต่อย  ใช้หัวไม้ขีดละลายกับน้ำมะนาว ทาบริเวณที่ถูกสัตว์มีพิษกัดต่อย  หรือใช้ใบไม้ที่มีรสฝาด  นำมาขยี้ ทา, โรคผิวหนัง  ใช้เปลือกต้นข่อย  นำมาขยี้  หรือใบและเมล็ดของน้อยหน่า ตำให้ละเอียด  ทาบริเวณที่เป็น  โรคเชื้อราบนศีรษะ โรคชันนะตุ  ใช้ผลมะคำดีควายทุบให้พอแตก แช่น้ำ นำน้ำมาทาบนหนังศีรษะหรือสระผม แผลสด  ใช้ขมิ้นกับปูนขยี้รวมกับใบฝรั่ง  แผลเปื่อย  ใช้น้ำมะนาวผสมหอระดาน  บวม ใช้ปูนขาวกับเปลือกมะม่วง ตำให้เข้ากัน   ทาบริเวณที่มีอาการบวม  มะเร็งผิวหนัง ใช้สุพรรณถัน ทาบริเวณที่เป็น  เป็นหิด ใช้สุพรรณถัน ละลายกับน้ำมันมะพร้าว ทาบริเวณที่เป็นหิด   เป็นต้น


 ๑.๓ ยาพอก มียาสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคต่าง ๆ   โดยการพอก  เช่น เด็กเป็นไข้  ใช้ร่มดำ  ใบกระดูกไก่  เผาไฟรวมกัน มาละลายน้ำ พอกกระหม่อมเด็ก, ปวดหัว ใช้กล้วยดิบหั่นเป็นแว่นบาง ๆ พอกที่ขมับทั้งสองข้าง  หนามตำ ใช้ใบสาบแร้งสาบกา เคี้ยวกับหมากพลู พอกบริเวณที่เป็นแผล เด็กเป็นไข้ ใช้ใบท่อม พอกกระหม่อมเด็ก  เด็กเป็นตาลโขมย ใช้ข้าวเหนียวที่ยังเป็นข้าวเปลือกคั่วให้เป็นข้าวตอก ตำรวมกับน้ำมันมะพร้าว พอกกระหม่อมเด็ก  เป็นต้น


 ๑.๔ ยาหยอด  มียาสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคต่าง ๆ   โดยการหยอด เช่น  ปวดฟัน ใช้กระดูกควาย ฝนให้เป็นผงละลายกับน้ำมะนาว  หยอดในฟันที่เป็นรู  เจ็บตา ใช้น้ำจากเยื่ออ่อนของลูกตาลโตนด หยอดตาเมื่อหายเจ็บแล้วให้ใช้ไข่ขาวของไข่ไก่ชุบสำลี ปิดตาไว้ เป็นต้น


๑.๕ ยาป้าย มีสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคต่าง ๆ โดยการป้าย เช่น เด็กเป็นไข้ใช้ร่มดำ  ใบกระดูกไก่  เผาไฟรวมกัน มาละลายน้ำ ป้ายที่ลิ้น,  เด็กไอ  เป็นซางในปากในลิ้น ใช้ลูกมะกอกเผาแล้วบดให้เป็นผง ละลายด้วยน้ำสะอาด ป้ายในปากและคอ เป็นต้น

 


๒. การรักษาด้วยจิตบำบัด  


เป็นการบำบัดรักษาด้วยวิธีการทางไสยศาสตร์  โดยการใช้เวทย์มนตร์  คาถา ทำน้ำมนต์ การเข้าทรง  การขอขมา ทำสมาธิ  และการสะเดาะเคราะห์ เพื่อขับไล่และป้องกันภูติผีปีศาจที่ถือว่าเป็นเสนียดจัญไรไม่ให้มารบกวน  ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของจิตใจที่ทำให้ผู้ป่วยมีความเชื่อมั่นว่าวิธีการเหล่านี้เป็นวิธีการที่ดี  เป็นการรักษาทั้งทางกาย ใจ ถือเป็นการรักษาแบบองค์รวม เช่น ผู้ป่วยบางคนเจ็บป่วยหาสาเหตุไม่พบ  รักษาด้วยยาหลายชนิด อาการก็ไม่ดีขึ้น  แต่เมื่อมารักษากับหมอพื้นบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่หมอพื้นบ้านจะมีจิตวิทยาในการรักษาอยู่ในตัวแทบทุกคน   หมอจะใช้หลักจิตบำบัดรักษาจนผู้ป่วยหายได้  ซึ่งถ้ามองถึงอาการป่วยที่ไม่ทราบสาเหตุ  อาจจะเนื่องมาจากผู้ป่วยมีจิตใจอ่อนแอ  หมอก็จะใช้วิธีการพูดจา  ปลอบโยนให้ผู้ป่วยคลายกังวล แล้วทำพิธีปัดรังควานวิญญาณชั่วร้าย   ซึ่งทำให้ผู้ป่วย
รู้สึกคลายกังวล จนอาการป่วยเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ  และอาจจะสืบเนื่องมาจากผู้ป่วยมีความเชื่อ ความศรัทธา เช่น เมื่อหมอจัดยาให้ผู้ป่วยกิน  หมอจะต้มยาในหม้อซึ่งปิดปากหม้อด้วยผ้าขาว หม้อยาปิดทอง น้ำที่นำมาใช้ต้มยาเป็นน้ำที่กล่าวกันว่าเป็นน้ำจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ และหม้อต้มยาต้องวางไว้ที่สูง เป็นต้น  ซึ่งวิธีการรักษาเหล่านี้เป็นที่นิยมกันมากทั้งในชนบทและในเมือง
คาถาที่ใช้ป้องกันโรคและอันตรายทุกชนิด หมออาจจะปลุกเสกบนสมุนไพร น้ำ หรือเป่าลงบนกระหม่อมเด็ก   คาถามีดังนี้ “สัพเพเทวา ปิสาเจวะ อาวะฬะกาหะ โยปิจะ ตาลุ ปัต ตัง ทิสะวา สัพพะเพ ยักขา พะลายันติ”   หรือคาถาว่า “กิลยะเค ลงยันต์ ปลายันติ” เสกลงบนด้ายที่ใช้ผูกข้อมือเด็ก ป้องกันได้สารพัดโรค หรือคาถาว่า “วิทธะคา โมมะหาราชา กุมภัณฑยักโข มหาราชา ภูต์ตะปิสาจะยักข์ณาเทลา อาคัจฉันตุเอหิเอหิ ฝนยาทากุมารทั้งปวงสุขสบายแล” และคาถาว่า “สักกัตตะวา” “อะสังวิสุโล ปุสนุพุพะ”
คาถาในการบำบัดรักษาแผลทุกชนิด  มีดังนี้  “บุพพะมะโทปิ มะสะรัง สะเรนิ โยนิเน บำราบ พยัญชะนะ”
คาถาสำหรับเคี่ยวสมุนไพรทำน้ำมันไว้ทาแผล  มีตัวยาดังนี้ ขมิ้นอ้อย  กระเทียม ข้าวสุก ใส่ลงในกะทะ ตั้งไฟ พร้อมว่าคาถาดังนี้ “จัตตาโร  ยะถาแก้โกปัตโตอฐิถา”
คาถาเข้าเฝือกประสานกระดูก มีดังนี้  “เอ็นหดเอ็นหู่  เอ็นคู้  กระดูกแตกเป็นธุลี พระฤาษีท่านมประสม  พระพรหมท่านประสาน  พระเพ็ชร์ฉลูกรรณ์  ประสิทธิเม”       

 

๓ การรักษาด้วยกายบำบัด


การรักษาด้วยกายบำบัด  เป็นการรักษาด้วยการบีบนวด ประคบ และออกกำลังกาย วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับชนิดและอาการของโรค  เช่น  การประคบ  ผู้หญิงที่คลอดบุตรใหม่ ๆ ให้ใช้ก้อนเส้า (ก้อนหิน) เผาไฟ ให้ร้อน แล้วห่อผ้าใช้ประคบบริเวณท้องจะช่วยให้โลหิตไหลเวียนดี,  เป็นลม ใช้อิฐเผาไฟ นำมาห่อผ้าประคบตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า หน้าท้อง,   และอาการฟกช้ำ ใช้ขวดใส่น้ำร้อนห่อนผ้า ประคบบริเวณที่มีอาการฟกช้ำ  เป็นต้น
การบีบนวด ใช้รักษาโรคลมชัก  อัมพาต และปวดเมื่อยตามร่างกาย


 
๔. การปฏิบัติตามข้อห้าม


ในการรักษาโรคต่าง ๆ นอกจากจะรับการบำบัดรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  ในการรักษาโรคบางโรคยังมีข้อห้ามบางประการควบคู่ไปกับการรักษาด้วย  เช่น ห้ามกินของแสลง เพราะจะทำให้โรคกำเริบ ของแสลงเหล่านั้น ได้แก่ มะพร้าวอ่อน ขนมจีน แกงกะทิ เห็ด หน่อไม้ หอย ปู   สำหรับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จะห้าม กระโดด ห้ามโกรธ เมื่อคลอดแล้วห้ามกินของที่มีรสเย็นเพราะกลัวโลหิตจะกระพือขึ้นเบื้องสูง (ความดันโลหิตสูง) ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต  ส่วนอาหารสำหรับคนไข้ ได้แก่ ปลาเค็มแห้ง (ปลาเสียด) ให้ย่างกินกับน้ำข้าวต้มจนหายป่วย ถ้ารักษาด้วยกายบำบัด (การบีบนวด) ของแสลงที่คนไข้ต้องงดเว้น ได้แก่ ของดอง และของมึนเมาทุกชนิด  เป็นต้น

ข้อปฏิบัติของหมอพื้นบ้านในการรักษาโรค.
๑. ไม่รับประทานข้าวบ้านคนป่วย
๒. ไม่ห่วงความไข้ (ไม่เลี้ยงไข้)
๓. ไม่เป็นหมอช้างแก้ช้าง (รู้วิธีรักษาโรคแต่ไม่ยอมรักษาให้หาย)
๔. ไม่เอาเงินค่ารักษาจากผู้ป่วย ถ้ารักษาโรคไม่หาย

ข้อปฏิบัติของผู้ป่วยที่มีต่อหมอพื้นบ้านตั้งค่ายาไว้ให้หมอเมื่อหมอรักษาหายแล้ว  เรียกว่า ค่าราด

การรักษาโรคแบบพื้นบ้านของชาวภูเก็ตเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ และเรียนรู้ มาเป็นระยะเวลานาน เป็นความรอบรู้ เป็นองค์ความรู้ของชาวบ้าน ที่นำมาใช้แก้ปัญหาทางด้านสุขภาพโดยอาศัยศักยภาพที่มีอยู่ในตัวเองมาใช้เพื่อสามารถจะดำเนินชีวิตได้ในท้องถิ่นอย่างสมสมัย  ดังนั้นจึงควรรังสรรค์ สืบทอด ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่คู่ท้องถิ่นตลอดไปโดยไม่ปล่อยให้กระแสภูมิปัญญาจากต่างถิ่นเข้ามาเป็นแบบอย่างแทนที่ภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้าน ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาเพราะไม่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตและการดำเนินชีวิตแบบเก่าของท้องถิ่น  สำหรับการรักษาโรคแบบพื้นบ้านของคนภูเก็ตหลายอย่างยังคงปฏิบัติอยู่ในชีวิตประจำวัน และหลายอย่างกำลังเลือนหายไปตามความเจริญของสังคมและการแพทย์แผนปัจจุบันมากขึ้น.

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้1195
mod_vvisit_counterเมื่อวาน2221
mod_vvisit_counterทั้งหมด10648563