Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow ปฏิทินเหตุการณ์
เบี้ยหอย PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
เสาร์, 30 มกราคม 2010
เบี้ยหอย....ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราแรกๆของโลก หอยเบี้ยถูกใช้เป็นเครื่องประดับและเป็นสิ่งของเพื่อแลกเปลี่ยนตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสาตร์ ได้มีการขุดค้นพบตามหลุมศพต่างๆ หอยถูกตีค่าในความหมายของเครื่องประดับที่มีค่า วัสดุอันทรงพลัง มีคุณค่า ต่อมานำมาใช้แลกเปลี่ยนเพื่อซื้อสิ่งของระหว่างกัน

วัฒนธรรมการใช้หอยแลกเปลี่ยนสินค้าแทนเงินพบได้ใน จีน อินเดีย ยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง ซึ่งก็อยู่ในเส้นทางการค้าขายทางเรือนั่นเอง โดยประเทศที่ทำการส่งออกหอยเบี้ยคือ หมู่เกาะมัลดิลฟ์ ซึ่งพ่อค้าชาวอาหรับได้ทำการซื้อขายหอยเบี้ย นานกว่า 4,000 ปีมาแล้ว ตามด้วยพ่อค้าชาวยุโรป ซึ่งมีหลักฐานการค้าทาสของฝรั่งเศสกับอังกฤษ มีการซื้อขายทาสกับหอยเบี้ย

ในคริสศตวรรษที่ 17 มีเรือพ่อค้าไปติดต่อซื้อหอยเบี้ยที่หมู่เกาะมัลดิลฟ์ถึง 30-40 ลำต่อเดือน และนำหอยเบี้ยไปขายทำกำไรบนแผ่นดินใหญ่ อีกทอดหนึ่ง หากปีไหนได้หอยเบี้ยมาก อัตราการแลกเงินกับหอยเบี้ยก็มีจำนวนมาก เข้าหลักการของอุปสงค์และอุปทาน

ภาพ การเก็บหอยเบี้ย เพื่อเตรียมการซื้อ-ขาย  
 
 

จากคุณ : หนุ่มรัตนะ - [ 25 ธ.ค. 51 15:50:58 ]

 

    ความคิดเห็นที่ 1

    หลักฐานการใช้เบี้ยในดินแดนไทย มีมานานมากและขุดค้นพบในแหล่งโบราณสถานได้เสมอๆ
    สมัยสุโชทัยมีหลักฐานการใช้หอยเบี้ย คือ
    จารึกสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท ระบุว่า พระองค์ทรงผนวชที่วัดป่ามะม่วง “…คิดพระราชทานทรัพย์ คือ ทอง(หมื่นหนึ่ง) เงินหมื่นหนึ่ง เบี้ย 10 ล้าน หมาก 2 ล้าน จีวร 400 เมตร หมอนนั่ง หมอนนอน เสื่อ... เท่านั้น และเครื่องกระยาทานทั้งหลาย ยังมีอเนกประการซึ่งคณามิได้...”
    สมัยสุโขทัยมีอัตราแลกเปลี่ยน 800 เบี้ยต่อเฟื้อง (6,400 เบี้ยต่อบาท)


    สมัยกรุงศรีอยุธยา
    “โยสเซาเต็น” พ่อค้าชาวฮอลันดาในสมัยของพระเจ้าทรงธรรม และพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งได้เข้ามาตั้งห้างร้านค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ได้กล่าวถึงเบี้ยว่า “เงินตราที่ใช้ในการค้าขายในกรุงศรีอยุธยานั้นทำด้วยเงินแท้ มีรูปช้างกลมและเครื่องหมายของพระเจ้าแผ่นดินประทับ มีอยู่ 3 ชนิด คือ เงินบาท เงินสลึง และเงินเฟื้อง คือ 4 สลึง เท่ากับ 8 เฟื้อง หรือ 1 บาท แต่เพื่อสะดวกในการชำระเงินสำหรับราษฎรสามัญทั่วๆไป ยังมีเงินตราอีกชนิดหนึ่งคือ เบี้ย ซึ่งเป็นหอยทะเลที่มาจากมะนิลา หรือเกาะบอร์เนียว เบี้ยดังกล่าวจำนวน 800 หรือ 900 เบี้ย มีราคาเท่ากับ 1 เฟื้อง และกล่าวว่าพกเบี้ยไปจ่ายตลาดเพียง 5 เบี้ย 10 เบี้ย หรืออย่างมาก 20 เบี้ยก็เพียงพอแล้ว”

    ประมาณช่วงปลายอยุธยา สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เบี้ยหอยขาดแคลนมาก จึงนิยมใช้ ประกับดินเผาที่ทำจากดินเป็นรูปต่างๆ เช่น ดอกบัว, กระต่าย, ไก่ เป็นต้น ใช้แทนเบี้ยหอยในชั่ว ระยะหนึ่ง แต่เนื่องจากชำรุดง่าย จึงใช้เป็นช่วงสั้นๆเท่านั้น

    สมัยกรุงธนบุรี อยู่ในภาวะสงคราม อัตราแลกเปลี่ยน 200 เบี้ยต่อเฟื้อง (1,600 เบี้ยต่อบาท) ในขณะที่สภาพสังคมการใช้เบี้ยในวันๆหนึ่งเพียง 3-4 เบี้ยก็พอซื้อของกินได้ ชี้ให้เห็นว่าเบี้ยมีมูลค่าสูงขึ้น

    สมัยรัชกาลที่ 1 มีพระบรมราชโองการกำหนดโทษผู้ที่ขายเบี้ยมากกว่า 400 เบี้ยต่อเฟื้อง

    สมัยรัชกาลที่ 3 มีการค้าขายมากมาย พ่อค้านำหอยเข้ามามาก เศรษฐกิจดี ทำให้เกิดภาวะเบี้ยเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน 1,300 เบี้ยต่อเฟื้อง (10,400 เบี้ยต่อบาท) รัชกาลนี้มีการเปลี่ยนแปลงที่สำตัญคือ มีพระราชดำริที่จะยกเลิกการใช้หอยเบี้ย โดยดำริเห็นว่า หอยเป็นสัตว์ เป็นการทารุน เป็นบาป จึงโปรดให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) หาทางแก้ไข และทรงเห็นว่า เมืองสิงคโปร์ ใช้เบี้ยโลหะ จึงพระราชทานให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ปรึกษามิสเตอร์หันแตร ที่บ้านกุฎีจีน สั่งทำแบบเหรียญโลหะแทนเบี้ย จากประเทศวิลาศ(อังกฤษ) คือเหรียญดอกบัว และเหรียญรูปช้าง สั่งทำแบบละ 500 เหรียญ แต่ไม่ทรงโปรดเนื่องด้วยเป็นยี่ห้อกรมท่า (เหรียญดอกบัว) และเหมือนลังกา (เหรียญช้าง) ไม่สื่อถึงประเทศ จึงมีพระราชดำริอีกครั้งให้ทำเหรียญรูปปราสาท สั่งไปยังเจ้าวิลาศ แต่สิ้นรัชกาลเสียก่อน

    สมัยรัชกาลที่ 4 ระบุว่า “..กินอาหารมื้อหนึ่งใช้เบี้ยถึง 100 เบี้ย ก็ไม่เต็มอิ่ม...”
    จนเมื่อการทำสนธิสัญญาการค้ากับต่างประเทศ ทำให้ประเทศมีอัตราการใช้เงินอย่างมาก เงินพดด้วงไม่พอใช้และยังมีปลอมอีกมาก ประกอบกับได้รับบรรณาการเครื่องจักรผลิตเหรียญมาแล้วจากอังกฤษ จึงมีการผลิตเหรียญดีบุกและทองแดงแทนเบี้ยหอย ทำให้ระบบการใช้หอยเบี้ยยกเลิกไปในที่สุด อีกทั้งภาวะสินค้าเริ่มมีมูลค่าสูงขึ้นในตัว เงินระบบย่อยก็หมดความหมายลง แก้ไขเมื่อ 25 ธ.ค. 51 21:34:25


    จากคุณ : หนุ่มรัตนะ - [ 25 ธ.ค. 51 15:51:50 ]

     

 
 
    ความคิดเห็นที่ 2

    รูป เบี้ย นิยมเจียนหลังเบี้ยออก เพื่อทำการร้อยด้วยเชื่อกเป็นพวง สะดวกในการพกพา บางครั้งยังมีการนำตะกั่วมาเทใส่ใสตัวหอยก็มี เพื่อถ่วงน้ำหนัก
     
     


    จากคุณ : หนุ่มรัตนะ - [ 25 ธ.ค. 51 15:56:24 ]

     

 
 
    ความคิดเห็นที่ 3

    เงินเบี้ยในประเทศต่างๆ
    ประเทศอียิปต์ ขุดค้นพบหอยเบี้ยในหลุมจำนวนมาก ใช้เป็นเครื่องราง เครื่องประดับ และใช้แทนเงิน
    ประเทศอินเดีย คริสศตวรรษที่ 17 อัตราแลกเปลี่ยนที่ 12,000 เบี้ยต่อ 1.5 รูปี
    ประเทศจีน มีการขุดหอยเบี้ยร้อยเป็นพวง ในหลุมศพสมัยราชวงศ์ชาง และมีการนำหินมาสลักเป็นรูปหอย หรือใช้ดินเหนียวทำเป็นรูปหอยเพื่อค้าขาย ต่อมามีการนำเอาโลหะหลอมในตัวหอย ทำให้เกิดแนวคิดการใช้โลหะมาใช้ในการแลกเปลี่ยนเป็นครั้งแรกของโลก

    ภาพประกอบเป็นหอยเบี้ยที่ขุดพบได้ในหลุมฝังศพสมัยราชวงศ์ชาง
     
     


    จากคุณ : หนุ่มรัตนะ - [ 25 ธ.ค. 51 15:57:57 ]

     

 
 
    ความคิดเห็นที่ 4

    พัฒนาการด้านการเงินของจีน ยุคแรกๆ ทำจากกระดูกสัตว์ หรือ ดินเผา แต่ยังคงเน้นรูปแบบฟอร์มของหอยเบี้ยอยู่ สองชิ้นนี้สมัยราชวงศ์โจว
     
     


    จากคุณ : หนุ่มรัตนะ - [ 25 ธ.ค. 51 16:02:50 ]

     

 
 
    ความคิดเห็นที่ 5

    ทำไมต้องเป็นหอยเบี้ยด้วยคับ
    หอยอย่างอื่นๆใช้ไม่ได้หรอ


    จากคุณ : หริปรียา - [ 25 ธ.ค. 51 16:05:33 A:202.28.27.5 X: TicketID:197397 ]

     

 
 
    ความคิดเห็นที่ 6

    เบี้ยโลหะ ยุคแรกของจีน ยังคงไม่หลีกจากความเป็นหอยเท่าไรนัก
     
     


    จากคุณ : หนุ่มรัตนะ - [ 25 ธ.ค. 51 16:09:30 ]

     

 
 
    ความคิดเห็นที่ 7

    ตอบคุณหริปรียา
    อาจจะเป็นด้วยขนาดที่กำลังเหมาะมือ มีรอยหยักนูนด้านบน ทำให้นับง่ายและมีจำนวนมากให้เลือกซื้อ หอยมีความหนาพอสมควร จึงนิยม เบี้ยขนาดใหญ่ก็มีใช้แลกเปลี่ยนของได้ ยังพบหอยขนาดใหญ่ในสุสานจีน

    ส่วนเบี้ยพันธุ์อื่นๆก็มีใช้บ้างแต่ไม่นิยม ถ้าเบี้ยใหญ่หน่อยขนาดอุ้งมือ ก็จับกรอกปรอท ถักลวดหุ้มรักปิดทอง เป็นเบี้ยแก้ เลยครับ


    จากคุณ : หนุ่มรัตนะ - [ 25 ธ.ค. 51 16:15:14 ]

     

 
 
    ความคิดเห็นที่ 8

    ยอดเยี่ยมครับ
    ท่านว่า ยิ่งอ่านหนังสือมากเท่าไรยิ่งรู้น้อยลง
    เป็นจริงอย่างท่านว่า  ยิ่งอ่านยิ่งรู้ว่าเรารู้น้อย เพราะอันนั้นก็เพิ่งรู้ อันนี้ก็เพิ่งรู้


    จากคุณ : กัมม์ - [ 25 ธ.ค. 51 19:03:43 ]

     

 
 
    ความคิดเห็นที่ 9

    ก่อนสมัยรัชกาลที่ ๔ เงินค่าต่ำที่สุดคือ เบี้ย ซึ่งเป็นหอยทะเล ดูเหมือนจะเรียกกันว่าเบี้ยจั่น เมื่อยังเด็ก ๆ เขาเลิกใช้เบี้ยกันแล้ว แต่ก็เคยเห็นพวกผู้ใหญ่เล่นไพ่ตอง ใช้หอยเบี้ยแทนเงิน หอยที่ใช้เป็นเบี้ยนี้ เป็นหอยนำเข้าจากฟิลิปปินส์ ราคาซื้อ ๘๐๐ เบี้ย ต่อ ๑ เฟื้อง มาตราเงินโบราณ ก่อนรัชกาลที่ ๔ มีอัตราเทียบ ดังนี้

        ๘๐๐ เบี้ย = ๑ เฟื้อง (๑๒ สตางค์ครึ่ง)
        ๒ เฟื้อง   = ๑ สลึง (๒๕ สตางค์)
        ๔ สลึง    = ๑ บาท
        ๔ บาท    = ๑ ตำลึง
        ๒๐ ตำลึง = ๑ ชั่ง

    เงินนอกจากเบี้ยล้วนเป็นเงินที่เรียกกันว่า 'พดด้วง'


    ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ โปรดฯให้เลิกใช้เบี้ยนำดีบุกมาทำเป็น 'อัฐ' ๑ อัฐิ = ๑๐๐ เบี้ย มาตรเงินจึงเป็น

       ๑๐๐ เบี้ย = ๑ อัฐ
       ๒ อัฐ      = ๑ ไพ
       ๔ ไพ     = ๑ เฟื้อง
       ๒ เฟื้อง   = ๑ สลึง
       ๔ สลึง    = ๑ บาท
       ๔ บาท    = ๑ ตำลึง
       ๒๐ ตำลึง = ๑ ชั่ง

    ยังมีเงินอีกอย่างหนึ่งคือ 'โสฬส' อัตราต่ำกว่า 'อัฐ' ๑ อัฐ = ๑๐๐ เบี้ย แต่ 'โสฬส' มีค่า = ๕๐ เบี้ยเท่านั้น ๑ อัฐ จึง = ๒ โสฬส


    จากเรื่องสนทนากับคนขอทาน โดย  จุลลดา ภักดีภูมินทร์
    นิตยสารสกุลไทย ฉบับที่ ๒๖๙๖ ปีที่  ๕๒ ประจำวัน  อังคาร ที่  ๒๐ มิถุนายน  ๒๕๔๙

    http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp?stcolumnid=4778&stissueid=2696&stcolcatid=2&stauthorid=13


    จากคุณ : เพ็ญชมพู - [ 25 ธ.ค. 51 19:26:15 ]

     

 
 
    ความคิดเห็นที่ 10

    ตำนานเงินตรา

                       เมื่อรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์ได้มีการเปลี่ยนแบบอย่างเงินตราที่ให้ในประเทศสยามนี้ นับว่าเป็นการสำคัญในพงศาวดารเรื่องหนึ่ง จึงได้ตรวจเก็บเนื้อความเรื่องเปลี่ยนเงินตราในครั้งนั้น อันมีปรากฏอยู่ในหนังสือต่างๆ คือ ประกาศเป็นต้น มาเรียบเรียงอธิบายให้ผู้อ่านรู้เรื่องและเหตุการณ์ที่มีมา

                       ในประเทศสยามนี้ใช้เงินกับเบี้ย(หอย) เป็นเครื่องแลกมนการซื้อขายมาแต่ก่อนสมัยกรุงสุโขทัย เงินนั้นหาตัวโลหะมาแต่ต่างประเทศเอามาหล่อหลอมทำเป็นเงินตราในประเทศสยามนี้เอง แต่ส่วนเบี้ยนั้นอาศัยพวกชาวต่างประเทศเที่ยวเสาะหาตามชายทะเล แล้วพามาขายในประเทศนี้ รับซื้อไว้ใช้สอยเป็นเครื่องแลกในการซื้อขาย ประเพณีเช่นนี้คงใช้มาจนตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีเหตุปรากฏให้ปูมครั้งหนึ่ง เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๒๘๗ ในรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ ว่า "ใช้ประกับต่างเบี้ย" ดังนี้ เดิมไม่ทราบว่าประกับเป็นอย่างไร จนพระยาโบราณราชธานินทร์ขุดตรวจที่ในพระราชวังหลวงที่กรุงศรีอยุธยา พบดินเผาตีตราต่างๆขนาดเท่าเงินเหรียญ ๕๐ สตางค์ฝังไว้เป็นอันมาก จึงเข้าใจว่านั่นเองเรียกว่าประกับ คงจะเป็นด้วยขาดคราวต่างประเทศเอาเบี้ยเข้ามาขาย จึงทำประกับขึ้นใช้แทนชั่วคราว พอมีเบี้ยเข้ามาขายก็เลิก จึงมิได้ใช้ประกับต่อมา

                       เงินตราครั้งกรุงศรีอยุธยาทำเป็นเงินพดด้วง (คือรูปสัณฐานกลม) ประทับตราเป็นสำคัญ ๒ ดวง ดวงหนึ่งมักเป็นรูปจักร คงจะหมายความว่ากรุงศรีอยุธยาอันเป็นที่สถิตย์ของสมเด็จพระรามาธิบดี อีดดวงหนึ่ง มีใช้รูปแปลกๆกัน เป็นสังข์บ้าง เป็นตรีบ้าง เป็นเครื่องหมายรัชกาล(แต่พิเคราะห์ดูเห็นดวงตราที่ต่างกันมีน้อยกว่าจำนวนพระเจ้าแผ่นดินที่ครองกรุงศรีอยุธยามากนัก จึงสันนิษฐานอีกนัยหนึ่งว่าจะไม่เปลี่ยนตราทุกรัชกาล ใช้ตราอย่างเดียวกันเรื่อยไปจนมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นเกิดเงินปลอมมากขึ้นเป็นต้น พระเจ้าแผ่นดินจึงมีพระราชดำรัสสั่งให้เปลี่ยนตราเสียครั้งหนึ่ง) เงินตราครั้งกรุงศรีอยุธยามี ๔ ขนาด คือ

                       ขนาดบาท ๑
                       ขนาดครึ่งบาท (เรียกว่า ๒ สลึง อย่างนี้ชะรอยคนจะไม่ใคร่ชอบใช้จึงมีน้อย)
                       ขนาด ๑/๔ ของบาท เรียกว่า ๑ สลึง
                       ขนาด ๑/๘ ของบาท เรียกว่า ๑ เฟื้อง

                       รองลงมาถึงเบี้ย มีอัตรา ๔๐๐๐ เบี้ย เป็นราคาเฟื้อง ๑ แต่ว่าไม่เป็นราคตามกฏหมาย สุดแต่มีเบี้ยเข้ามาขายในท้องตลาดมากหรือน้อย ในเวลาเบี้ยในท้องตลาดมีมาก ราคาเบี้ยตกถึง ๑๐๐๐ เบี้ยต่อเฟื้องก็มี แต่ราษฎรซื้อขายเครื่องบริโภคกันในท้องตลาดมักใช้เบี้ยเป็นพื้น

                       ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนก่อนรัชกาลที่ ๔ คงใช้เงินตราตามแบบอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นแต่เปลี่ยนตราตามรัชกาล รัชกาลที่ ๑ ใช้ตราบัวอุณาโลม รัชกาลที่ ๒ ใช้ตราครุฑ รัชกาลที่ ๓ ใช้ตรทาปราสาท รัชกาลที่ ๔ ใช้ตรามงกุฎ ส่วนตราอีกดวง ๑ ซึ่งบอกนามประเทศคงใช้ตราจักรเหมือนกันทั้ง ๔ รัชกาล

                       เป็นเช่นนั้นมาจนในรัชกาลที่ ๔ ตั้งต้นทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี เปิดการค้าขายกับฝรั่งต่างประเทศ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ การค้าขายในกรุงเทพฯเจริญรวดเร็วเกินคาดหมาย เช่นแต่ก่อนมามีเรือกำปั่นฝรั่งเข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯเพียงราวปีละ ๑๒ ลำ ตั้งแต่ทำหนังสือสัญญาแล้ว ก็มีเรือกำปั่นฝรั่งเข้ามาค้าขายถึงปีละ ๒๐๐ ลำ(๑) พวกพ่อค้าเอาเงินเหรียญดอลล่าร์ ซึ่งใช้ในการซื้อขายทางเมืองจีนเข้ามาซื้อสินค้าราษฎร ไทยไม่ยอมรับ ฝรั่งจึงเอาเงินเหรียญดอลล่าร์มาขอแลกเงินบาทจากรัฐบาล

                       ก็เงินบาทพดด้วงนั้นช่างหลวงทำที่พระคลังมหาสมบัติ เตาหนึ่งหนึ่งทำได้ราววันละ ๒๔๐ บาท เพราะทำแต่ด้วยเครื่องมือ มิได้ใช้เครื่องจักร เตาหลวงมี ๑๐ เตา ระดมกันทำเงินพดด้วงได้แต่วันละ ๒๔๐๐ บาทเป็นอย่างมาก ไม่พอให้ฝรั่งแลกตามปรารถนา พวกกงสุลพากันร้องทุกข์ว่าเป็นการเสียประโยชน์ของพวกชาวต่างประเทศที่มาค้าขาย พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระราชดำริจะเปลี่ยนรูปเงินตราสยามจากเงินพดด้วงเป็นเงินเหรียญ (เรียกในครั้งนั้นว่า "เงินแปะ") ให้ทำได้มากด้วยใช้เครื่องจักร

                       และในเมื่อกำลังสั่งเครื่องจักรนั้น โปรดฯให้ประกาศพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ราษฎรรับเงินเหรียญดอลลาร์จากชาวต่างประเทศ แล้วเอามาแลกเงินบาทที่พระคลังมหาสมบัติได้ โดยอัตรา ๓ เหรียญดอลลาร์ต่อ ๕ บาท ราษฎรก็ยังไม่พอใจจะรับเงินดอลลาร์ จึงทรงพระราชดำริแก้ไขให้เอาตราพระมหามงกุฎและตราจักร ซึ่งสำหรับตีเงินพดด้วง ตีลงเป็นสำคัญในเหรียญดอลลาร์ให้ใช้ไปพลาง(๒) ราษฎรก็ยังมิใคร่พอใจจะใช้

                       ครั้นถึงปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓ การสร้างโรงกระษาปณ์สำเร็จ(๓) ทำเงินตราสยามเป็ยเหรียญมีตราพระมหามงกุฎกับฉัตรสองข้าง หมายถึงรัชกาลด้าน ๑ ตรทาช้างเผือกอยู่ในวงจักรหมายประเทศด้าน ๑ เป็นเหรียญเงิน ๔ ขนาด คือ บาทหนึ่ง กึ่งบาท สลึ่งหนึ่ง(๔) และโปรดให้ทำเหรียญทองคำราคาเหรียญละ ๑๐ สลึง(ตรงกับตำลึงจีน)ด้วยอีกอย่างหนึ่ง เมื่อประกาศให้ใช้เงินตราอย่างเหรียญแล้ว เงินพดด้วงก็ยังโปรดฯอนุญาตให้ใช้อยู่เป็นแต่ไม่ทำเพิ่มเติมขึ้น

                       ต่อมาอีก ๒ ปี ถึงปีจอ พ.ศ. ๒๔๐๕ โปรดฯให้โรงกระษาปณ์ทำเหรียญดีบุกขึ้นเป็นเครื่องแลกใช้แทนเบี้ยหอย เหรียญดีบุกนั้นก็มีตราพระมหามงกุฎกับฉัตรและตราช้างในวงจักรทำนองเดียวกับตราเงินเหรียญ ทำเป็น ๒ ขนาด ขนาดให้ให้เรียกว่า "อัฐ" ราคา ๘ อันเฟื้อง เท่ากับอันละ ๑๐๐ เบี้ย ขนาดเล็กให้เรียกว่า "โสฬศ" ราคา ๑๖ อันเฟื้อง เท่ากับอันละ ๕๐ เบี้ย การใช้หอยเบี้ยก็เป็นอันเลิกแต่นั้นมา

                       ถึงปีกุน พ.ศ. ๒๔๐๖ พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริให้สร้างเหรียญทองคำมีตราทำนองเดียวกันกับเงินเหรียญขึ้น สำหรับใช้เป็นเครื่องแลก ๓ ขนาด ขนาดใหญ่ให้เรียกว่า "ทศ" ราคา ๑๐ อันต่อชั่งหนึ่ง คืออันละ ๘ บาท (เท่าราคาทองปอนด์อังกฤษในสมัยนั้น) ขนาดกลางให้เรียกว่า "พิศ" ราคาอันละ ๔ บาท ขนาดเล็ก (คือเหรียญทองที่ได้สร้างขึ้นแต่แรก)ให้เรียกว่า "พัดดึงส์" ราคาอันละ ๑๐ สลึง เท่ากับตำลึงจีน

                       ดูเหมือนจะเป็นคราวเดียวกับที่ทรงสร้างเหรียญทองเป็นเครื่องแลกนี้เอง พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริสร้าง (ธนบัตร) เครื่องแลกทำด้วยกระดาษ มีตัวอักษรพิมพ์และประทับพระราชลัญจกร ๓ ดวงเป็นสำคัญทุกใบขึ้นอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า "หมาย" มีราคาต่างๆกันตั้งแต่ใบละบาท ๑ เป็นลำดับลงมาจนใบละเฟื้อง ๑ และทรงพระราชดำริสร้าง (เชค) ใบ "พระราชทานเงินตรา" อีกอย่าง ๑ ขนาดแผ่นกระดาษใหญ่กว่า "หมาย" มีตัวอักษรพิมพ์และประทับพระราชลัญจกรด้วยชาด ๒ ดวง ด้วยครามดวง ๑ เป็นลายดุนดวง ๑ เป็นสำคัญทุกใบ มีราคาต่างกัน (ว่าตามตัวอย่างที่มีอยู่เมื่อแต่งหนังสือนี้) ตั้งแต่ "พระราชทานเงินตราชั่งสิบตำลึง" ลงมาจนใบละ ๗ ตำลึง (สันนิษฐานว่าเห็นจะมีต่อลงไปจนใบละตำลึงหนึ่งเป็นอย่างต่ำ) กระดาษทั้ง ๒ อย่างนี้ ใครได้เห็นจะเอาไปขึ้นเงินที่พระคลังมหาสมบัติในไม่ช้า เพราะยังไม่แลเห็นประโยชน์ในการใช้กระดาษเป็นเครื่องแลกในสมัยนั้น จึงมิได้แพร่หลาย

                       ครั้นถึงปีฉลู พ.ศ. ๒๔๐๘ พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้โรงกระษาปณ์สร้างเหรียญทองแดงมีตราทำนองเดียวกันกับเหรียญดีบุกเป็นเครื่องแลกอีก ๒ ขนาด มีราคาในระหว่างเหรียญเงินกับเหรียญดีบุก ขนาดใหญ่ให้เรียกว่า "ซีก" ราคา ๒ อันเฟื้อง ขนาดเล็กให้เรียกว่า "เสี้ยว" ราคา ๔ อันเฟื้อง(๕)

                       เงินตราสยามซึ่งพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริสร้างขึ้นเป็นเหรียญนั้น ที่เป็นเงินและทองแดงได้ใช้ต่อมาดังพระราชประสงค์ แต่ที่เป็นทองคำและดีบุกเกิดเหตุขัดข้อง ด้วยเหรียญทองคำนั้นชอบเมืองชอบเอาไปเก็บเสียอย่างทองรูปพรรณ หรือมิฉะนั้นก็เอาไปทำเครื่องแต่งตัวเสีย ไม่ชอบใช้เป็นเครื่องแลกในการซื้อขาย เหรียญทองเป็นของมีน้อยก็เลยหมดไป ส่วนดีบุกนั้นเมื่อแรกสร้างขึ้นก็ได้ทรงปรารภว่า เป็นของสึกหรอและอาจทำปลอมง่าย จึงโปรดฯให้เจือทองแดงและดีบุกดำลงในเนื้อดีบุกที่ทำเหรียญให้แข็งผิดกับดีบุกสามัญ ถึงกระนั้นพอใช้เหรียญดีบุกกันแพร่หลาย ไม่ช้าก็มีพวกจีนคิดทำปลอม ครั้นตรวจจับในกรุงเทพฯแข็งแรง พวกผู้ร้ายก็หลบลงไปซ่อนทำทางหัวเมืองปักษ์ใต้ แล้วลอบส่งเข้ามาจำหน่ายในกรุงเทพฯ เกิดมีเหรียญดีบุกปลอมในท้องตลาดมากขึ้นทุกทีจนราษฎรรังเกียจการที่จะรับใช้เหรียญดีบุก ด้วยไม่รู้จะเลือกว่าไหนเป็นของหลวงและไหนเป็นของปลอม จะกลับใช้เบี้ยหอยก็หาไม่ได้ ด้วยเลิกใช้มาหลายปีเสียแล้ว


    จากคุณ : กัมม์ - [ 25 ธ.ค. 51 20:09:02 ]

     

 
 
    ความคิดเห็นที่ 11

    น่าสนใจมากค่ะ  ปัญหา  "เบี้ยเฟ้อ" นี่เอง ทำให้การใช้เบี้ยถูกยกเลิกไป...


    ไม่เช่นนั้นเราคงได้มีโอกาสใช้เบี้ยหอยกันบ้าง


    เพิ่งทราบนะคะว่า  "อัฐฬส"   คืออะไร


    ขอบคุณค่ะ
     
     


    จากคุณ : พุดเดิ้ลเล่ - [ 25 ธ.ค. 51 20:10:24 ]

     

 
 
    ความคิดเห็นที่ 12

    (ต่อ)

                       เมื่อเริ่มรัชกาลที่ ๕ เป็นเวลากำลังเกิดการปั่นป่วนด้วยราษฎรไม่พอใจรับเหรียญดีบุก นัยถึงตลาดในกรุงเทพฯแทบจะหยุดการซื้อขายอยู่หลายวัน รัฐบาลจึงต้องรีบวินิจฉัยแล้วออกประกาศเมื่อเดือน ๑๑ แรม ๑๒ ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ (เป็นวันที่ ๑๓ ในรัชกาลที่ ๕) สั่งให้คนทั้งหลายนำเหรียญทองแดงและเหรียญดีบุกของหลวงมาขึ้นเอาเงิน จะยอมให้เต็มราคภายใน ๑๕ วัน เมื่อพ้นกำหนดนั้นไปแล้ว ให้ใช้ลดราคาลง เหรียญทองแดงอย่างซีกคงราคาแต่อันละอัฐ ๑ (๘ อันเฟื้อง) อย่างเสี้ยวคงราคาแต่อันละ ๒๐ เบี้ย (๔๐ อันเฟื้อง) อย่างโสฬศคงราคาแต่อันละ ๑๐ เบี้ย (๘๐ อันเฟื้อง) แม้รัฐบาลประกาศอัตราราคาอย่างนั้นแล้ว ราษฎรก็ยังลดราคากันโดยลำพังต่อลงไปอีก ใช้อัฐดีบุกเดิมในท้องตลาดเพียงราคาอันละ ๑๐ เบี้ย (๘๐ อันเฟื้อง) โสฬศดีบุกก็ลดราคาลงไปตามกันเป็นอันละ ๕ เบี้ย (๑๖๐ อันต่อเฟื้อง) คำซึ่งเคยเรียกอัฐและโสฬศก็เรียกกันว่า "เก๊" แต่ใช้กันต่อมาอีกหลายปี

                       เพราะเกิดลำบากด้วยเรื่องเงินตราดังกล่าวมารัฐบาลจึงได้ตกลงแต่เเรกขึ้นรัชกาลที่ ๕ ว่าจะสร้างโรงกระษาปณ์ใหม่ให้ใหญ่โตและดีขึ้นกว่าเก่า(๖) แต่การที่สร้างกว่าจะสำเร็จหลายปี ในชั้นแรกจะต้องทำเงินตราประจำรัชกาลที่ ๕ ขึ้นตามประเพณีเปลี่ยนรัชกาลใหม่ จึงให้ทำที่โรงกระษาปณ์เดิมไปพลาง เงินเหรียญตรารัชกาลที่ ๕ ซึ่งสร้างขึ้นชั้นแรกนั้น ด้านหนึ่งเป็นตราพระเกี้ยวยอดมีพานรองสองชั้นและฉัตรสองข้าง อีกด้านหนึ่งคงใช้รูปช้างเผือกอยู่ในวงจักรเหมือนรัชกาลที่ ๔ แต่ทำเพียง ๓ ขนาด ที่คนทั้งหลายชอบใช้ คือเหรียญบาท เหรียญสลึง และเหรียญเฟื้อง ในคราวนั้นยังไม่ได้ทำเหรียญทองแดงสำหรับรัชกาลที่ ๕ (ด้วยรัฐบาลทราบว่าสั่งให้ทำในประเทศอื่นถูกกว่าทำเอง แต่จะให้ทำในอินเดียหรือในยุโรปยังไม่ตกลงเป็นยุติ) ทำแต่เหรียญดีบุกขึ้นใหม่อย่างหนึ่ง ดวงตราทำนองเดียวกัยเหรียญเงิน ขนาดเขื่องกว่าอัฐดีบุกรัชกาลที่ ๔ สักหน่อยหนึ่ง แต่ให้ใช้ราคาเพียงโสฬศ ๑ คือ ๑๖ อันเฟื้อง เรื่องเงินตราก็เป็นอันเรียบร้อยไปได้คราวหนึ่ง

                       แต่ต่อมาเมื่อราคาทองแดงและดีบุกสูงขึ้นมีผู้รู้ว่าราคาเหรียญทองแดง และเหรียญดีบุกที่ใช้กันที่ท้องตลาดกรุงเทพฯต่ำกว่าราคาเนื้อทองแดงและดีบุกซึ่งซื้อขายกันในประเทศอื่น ก็พากันเอาเหรียญทองแดงและเหรียญดีบุกหลอมส่งไปขายเสียประเทศอื่นเป็นอันมาก เป็นเหตุให้เหรียญทองแดงและเหรียญดีบุกมีใช้ในท้องตลาดน้อยลง ก็เกิดการใช้ปี้กระเบื้องกันขึ้นแพร่หลาย ปี้กระเบื้องนั้นเดิมเป็นแต่คะแนนสำหรับเล่นเบี้ยในโรงบ่อน จีนเจ้าของบ่อนคิดทำขึ้นเพื่อให้ใช้ขอลากบนเสื่อสะดวกกว่าเงินตรา เวลาคนเล่นเบี้ย ให้เอาเงินแลกปี้มาเล่น ครั้นเลิกแล้วก็ให้คืนปี้แลกเอาเงินกลับไป เป็นประเพณีดังนี้ ใครเป็นนายอากรบ่อนเบี้ยในตำบลไหน ก็คิดทำปี้มีเครื่องหมายของตนเป็นคะแนนราคาต่างๆ สำหรับเล่นเบี้ยในบ่อนตำบลนั้น การที่เกิดใช้ปี้เป็นเครื่องแลกแทนเงินตรา เดิมเกิดขึ้นแต่นักเลงเล่นเบี้ยที่มักง่าย เอาปี้ซื้อของกินตามร้านที่หน้าโรงบ่อน ผู้ขายก็ยอมรับด้วยอาจจะเอากลับเข้าไปแลกเป็นเงินได้ที่ในโรงบ่อนโดยง่าย จึงใช้ปี้กระเบื้องกันในบริเวณโรงบ่อนขึ้นก่อน ครั้นเมื่อหาเหรียญทองแดงเหรียญดีบุกของหลวงใช้ยากเข้า ก็ใช้ปี้เป็นเครื่องแลกแพร่หลายห่างบ่อนออกไปทุกที เพราะคนเชื่อว่าอาจจะเอาไปขึ้นเป็นเงินเมื่อใดก็ได้

                       ฝ่ายนายบ่อนเบี้ยเมื่อจำหน่ายปี้ได้เงินมากขึ้น เห็นได้เปรียบก็คิดสั่งปี้กระเบื้องจากเมืองจีนเข้ามาเพิ่มเติม ทำเป็นรูปและราคาต่างๆให้คนชอบ ตั้งแต่อันละโสฬศ อันละไพ สองไพ(๗) จนถึงอันละเฟื้อง สลึง สองสลึง เป็นอย่างสูง มีทุกบ่อนไป ก็แต่ลักษณะอากรบ่อนเบี้ยนั้นต้องว่าประมูลกันใหม่ทุกปี เมื่อสิ้นปีลงนายบ่อนคนไหนไม่ได้ทำอากรต่อไปก็ให้กำหนดเวลาให้คนเอาปี้บ่อนของตนไปแลกคืนภายใน ๑๕ วัน พ้นกำหนดไปไม่ยอมรับ การอันนี้กลายเป็นทางที่เกิดกำไรเพิ่มผลประโยชน์แก่นายอากรบ่อนเบี้ยอีกทางหนึ่ง ฝ่ายราษฎรถึงเสียเปรียบก็มิสู่รู้สึกเดือดร้อน ด้วยได้ใช้ปี้เป็นเครื่องแลกกันในการซื้อขายแทนเหรียญทองแดงและดีบุกซึ่งหายาก ก็ไม่มีใครร้องทุกข์ เป็นเข่นนี้มาปีกุน พ.ศ. ๒๔๑๘ รัฐบาลจึงต้องประกาศห้ามมิให้นายอากรบ่อนเบี้ยทำปี้(๘) แต่ในเวลานั้นเหรียญทองแดงซึ่งสั่งให้ทำในยุโรปยังไม่สำเร็จ ต้องออกธนบัตรราคาใบละอัฐ ๑ ให้ใช้กันในท้องตลาดอยู่คราวหนึ่ง จึงได้จำหน่ายเหรียญทองแดงประจำรัชกาลที่ ๕ ให้ใช้กันในบ้านเมือง ทำเป็น ๓ ขนาด คือ เสี้ยว อัฐ โสฬศ มีตราพระจุลมงกุฎอยู่บนอักษรพระนาม จ.ป.ร. ด้าน ๑ อักษรบอกราคด้าน ๑ เหมือนกันหมดทุกขนาด



    (ความต่อไปนี้ พระพินิจวรรณการ แต่งต่อ)

                       ส่วนเงินเหรียญนั้น เมื่อได้สั่งเครื่องจักรจากเมืองอังกฤษตั้งเป็นโรงกระษาปณ์ขึ้นใหม่แล้ว ก็ได้เริ่มทำเงินหรียญออกจำหน่ายเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ เงินเหรียญที่ทำคราวนี้ทำเป็น ๓ ขนาดคือ เหรียญบาท เหรียญสลึง เหรียญเฟื้อง พิกัดอัตราอย่างเดียวกับที่ได้ทำมาแต่ก่อน แต่ดวงตราที่ประจำเงินนั้น ด้านหนึ่งเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครึ่งพระองค์ มีหนังสืออยู่รอบพระบรมรูปว่า"สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" ด้านหนึ่งมีตราอาร์มแผ่นดินซึ่งคิดผูกขึ้นในรัชกาลที่ ๕ มีหนังสือในพื้นเงินดวงตราว่า"กรุงสยามรัชกาลที่ ๕" และบอก "ราคา ๑ บาท" เหรียญสลึงและเหรียญเฟื้องก็มีลักษณะอย่างเดียวกัน แต่ตราแผ่นดินนั้นเป็นอย่างย่อขนาดน้อยมีบอกราคา ๑ สลึง๑ เฟื้อง เงินตรา ๓ ขนาดนี้ได้ใช้ต่อมา

                       ในปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ นั้น โปรดฯให้สร้างเหรียญทองแดงซีกขึ้นอีกอย่าง ๑ ด้วยขุนพัฒน์นายบ่อนร้องว่า ทองแดงเสี้ยว อัฐ โสฬศ เล็กบางให้ขอเกี่ยวไม่ถนัด ลักษณะทองแดงซีกก็เหมือนกับทองแดงเสี้ยว อัฐ โสฬศ ที่ทำเมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๔๑๘ นั้น เหรียญทองแดงชนิดนี้จึงมี ๔ ขนาดด้วยกัน ใช้อยู่อย่างนี้จนถึงปีกุน พ.ศ. ๒๔๓๐ จึงโปรดเกล้าฯให้สร้างเหรียญทองแดงเสี้ยว อัฐ โสฬศ ขึ้นใหม่ พิกัดอัตราเท่ากับทองแดงเสี้ยว อัฐ โสฬศ เดิม เป็นแต่เปลี่ยนตราใหม่คือ หน้าหนึ่งตรงกลางมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอักษรโดยรอบว่า "จุฬาลงกรณ์ ป.ร. พระจุลจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม" อีกด้านหนึ่งตรงกลางมีรูปพระสยามเทวาธิราช ถือพระแสงธารพระกรนั่งบนโล่ห์วางบนแท่น โล่ห์นั้นกั้นเป็นสามห้อง ห้องบนมีรูปช้าง ๓ เศียร ด้านขวารูปช้างยืน ด้านซ้ายรูปกริชไขว้กัน ๒ เล่ม มีอักษรบอกหนึ่งเสี้ยว หนึ่งอัฐ หนึ่งโสฬศ ตามขนาด เหรียญทองแดงทั้ง ๓ ขนาดนี้คงใช้กันมาควบกับเหรียญทองแดงอย่างเก่าตลอดมา จนถึงปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๓๔ เหรียญทองแดงสูญหายเบาบางลง จึงโปรดฯให้สร้างเหรียญทองแดง เสี้ยว อัฐ โสฬศ เพิ่มเติมขึ้น ลักษณะอย่างเดียวกับเหรียญทองแดงเสี้ยว อัฐ โสฬศซึ่งสร้างเมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๔๓๐ แปลกแต่ตราพระบรมรูปและตราพระสยามเทวาธิราชไม่กลับกันอย่างของเดิม เบื้องบนและเบื้องล่างตรงไปทางเดียวกัน กับเปลี่ยนเลขประจำปีที่สร้างเท่านั้น

                       ถึงปีจอ พ.ศ. ๒๔๔๑ รัฐบาลคิดเห็นว่าลักษณะการทำบัญชีเงินแต่เดิมนั้นมีช่องบอกว่าชั่ง บาท อัฐ เมื่อพ้นชั่งขึ้นไปจึงนับเป็นเรือนร้อยเรือนพัน บัญชีมักไขว้กันไม่สะดวกจึงคิดทำเหรียญทองขาวขึ้นใช้เรียกว่าสตางค์ (ส่วนของร้อย)(๙) คือ ๑๐๐ สตางค์ เป็น ๑ บาท เพื่อง่ายแก่การบัญชี มีช่องแต่เพียงบาทกับสตางค์เท่านั้น เงินจะมากน้อยเท่าใดก็ต่อตัวเลขขึ้นไปเป็สิบเป็นร้อย ไม่ต้องหักต้องทอน เป็นการง่ายรวดเร็วกว่าของเดิม สตางค์ที่สร้างขึ้นคราวนี้สร้างด้วยทองขาวเป็น ๔ ขนาด ขนาดที่ ๑ ด้านหน้ามีตัวอักษรว่า "ยี่สิบสตางค์" และมีเลข "๒๐" ตัวใหญ่อยู่ตรงกลาง เป็นราคา ๒๐ สตางค์ ใช้ ๕ อันเป็น ๑ บาท ขนาดที่ ๒ มีตัวอักษรว่า "สิบสตางค์" มีเลข "๑๐" ตัวใหญ่อยู่กลางราคา ๑๐ สตางค์ใช้ ๑๐ อันเป็น ๑ บาท ขนาดที่ ๓ มีตัวอักษรว่า "ห้าสตางค์" มีเลข "๕" ตัวใหญ่อยู่กลาง ราคา ๕ สตางค์ใช้ ๒๐ อันเป็น ๑ บาท ขนาดที่ ๔ มีตัวอักษร "สองสตางค์กึ่ง" มีเลข "๒ ๑/๒" ตัวใหญ่อยู่กลาง ราคา ๒ สตางค์กึ่งใช้ ๔๐ อันเป็น ๑ บาท

                       สตางค์ทองขาวที่สร้างขึ้นใหม่นี้ใช่รวมไปกับเหรียญทองแดงเสี้ยว อัฐ และโสฬศเก่าทั้ง ๒ ชนิด จนประกาศใช้พระราชบัญญัติมาตราทองคำ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ จึงเลิกใช้เปลี่ยนเป็นเหรียญกระษาปณ์ทองขาวและทองแดง ๓ ชนิด คือทองขาวราคา ๑๐ สตางค์ ทองขาวราคา ๕ สตางค์ ทองแดงราคา ๑ สตางค์ ด้านหน้ามีอุณาโลม อักษรจารึกว่า "ยามรัฐ" และราคาด้านหลังมีรูปจักรและศักราช เจาะวงตรงกลาง อย่างที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้



    ....................................................................................................................................................

    (๑) ข้อนี้กล่าวไว้ในหนังสือบางกอกคาเลนดาของหมอบรัดเล เล่ม ค.ศ. ๑๘๖๙

    (๒) เหรียญดอลลาร์ตีตราพระมหามงกุฎกับตราจักรยังมีเหลืออยู่บ้าง แต่เดี๋ยวนี้หายาก

    (๓) โรงกระษาปณ์ที่กล่าวนี้ตัวตึกยังอยู่ข้างฟากตะวันออกถนนประตูสุวรรณบริบาล เดี๋ยวนี้ใช้เป็นคลังชาวที่ สร้างขึ้นตรงโรงทำเงินพดด้วงของเดิม การสร้างโรงกระษาปณ์มีเรื่องปรากฎว่า สั่งเครื่องจักรมาจากเมืองเบอมิงฮัม ประเทศอังกฤษ และเรียกช่างอังกฤษเข้ามาสำหรับตั้งเครื่องจักรด้วย แต่ช่างคนนั้นมาตายลงก่อนตั้งเครื่องจักร พระวิสูตรโยธามาตย์(โหมด อมาตยกุล) รับอาสาตั้งเครื่องจักรโรงกระษาปณ์ได้โดยลำพัง จึงโปรดฯให้เป็นเจ้ากรมโรงกระษาปณ์ต่อมา

    (๔) ยังมีเงินเหรียญขนาดตำลึง (๔ ตำลึง) ขนาดกึ่งตำลึงและขนาดกึ่งเฟื้อง แต่มิได้ใช้เป็นเครื่องแลกเปลี่ยน

    (๕) เหรียญซีกและเสี้ยวเดิมทำหนา พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรยทาน เหรียญซีกไปถูกศีรษะคนแตก จึงโปรดฯให้ทำบางลง

    (๖) คือตึกที่อยู่ทางตะวันตกแห่งประตูสุวรรณบริบาลบัดนี้

    (๗) คำว่า "ไพ" มาแต่จีนเรียกว่า "ไพปา" ราคาไพ ๑ เท่ากับ ๒ อัฐ

    (๘) มีผู้ได้ลองรวบรวมตัวอย่างปี้กระเบื้องต่างๆ ซึ่งพวกจีนนายบ่อนคิดทำขึ้น ได้มากกว่า ๒,๐๐๐ อย่าง

    (๙) "สตางค์" แปลว่า "๑ ส่วน ๑๐๐"




    ชุมนุมพระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
    ตำนานเงินตรา


    จากคุณ : กัมม์ - [ 25 ธ.ค. 51 20:23:59 ]

     

 
 
    ความคิดเห็นที่ 13

    กระทู้นี้ดีมากๆครับ
    เรื่องเงินตราสมัยโบราณเป็นเรื่องที่ผมสงสัยมานานแล้วครับ
    ขอบคุณที่นำมาเผยแพร่นะครับ

    ปล.เกี่ยวกับเรื่องการใช้หอยเบี้ยเป็นเงินตรา ยังเหลือร่องรอยอยู่ในภาษาใต้
    ด้วยครับ เช่น"ม่ายเบี้ย"(ไม่มีเงิน),"ยังเบี้ยเถ่าไหร?"(มีเงินอยู่กี่บาท)

    ปล๒.เคยอ่านเจอเรื่องนี้มา เห็นว่าตลกดี เลยขอเล่าสู่กันฟังหน่อยนะครับ
    เกี่ยวกับการใช้เบี้ยนี่แหละ
    ......นานมาแล้ว ในสมัยโบราณ อ้ายคลิ้ง ชายยากจน ยึดอาชีพชาวประมง
    จับปลาจับกุ้งจับปูไปขายเลี้ยงชีพ ให้พออยู่พอกินไปวันหนึ่งๆ เท่านั้น
    แม้จะยากจน แต่อ้ายคลิ้งก็ตั้งใจเสมอว่าตนจะต้องร่ำรวยเป็นเศรษฐีให้เร็วที่สุด

    วันหนึ่ง เขาได้ไปแถวท่าเรือ เห็นเรือสำเภาบรรทุกหอยเบี้ยมามากมาย
    เมื่อสอบถามกับไต้ก๋งเรือ จึงได้รู้ว่าหอยเบี้ยเหล่านี้ ถูกขนส่งมาจากเกาะ
    "มะละดิบ"กลางเวิ้งสมุทร อ้ายคลิ้งพบช่องทางรวยแล้ว....
    อ้ายคลิ้งอยากรวย เอ้ย..อยากเป็นเศรษฐี จึงแอบลงเรือลำนั้น หวังจะเดินทาง
    ไปยังเกาะมะละดิบ เพื่อกอบโกยหอยเบี้ยจากที่นั่นกลับมาบ้านให้ได้มากที่สุด
    จะได้กลับมาเป็นเศรษฐีที่เมืองสยาม
    แต่ทว่า เมื่อไปถึงที่เกาะแห่งนั้น คลิ้งกลับถูกปล่อยเกาะ ตกเป็นทาสคนพื้นเมือง
    ถูกโขกสับใช้งานอย่างสาหัส แต่อ้ายคลิ้งก็ไม่ท้อต่อชะตากรรม พยายามเก็บ
    สะสมหอยเบี้ยที่มีอยู่มากมายบนเกาะ เก็บใส่กระสอบได้ราวๆสิบใบ
    จนเวลาผ่านไปสิบปี อ้ายคลิ้งจึงได้หนีกลับสู่สยาม(พร้อมหอยเบี้ยสิบกระสอบ)

    เมื่อกลับมาถึงสยาม อ้ายคลิ้งก็ได้พบว่า..........
    ..........................................
    ............................................
    ............................................
    เขาหันมาใช้เงินพดด้วงโลหะกันแล้ว.......


    จากคุณ : กุมารสยาม - [ 27 ธ.ค. 51 12:40:11 ]

     

 
 
    ความคิดเห็นที่ 14

    เห็นด้วยครับ กระทู้มีสาระมากๆ
    เคยจำได้ว่า ไปเยี่ยมบ้านยาย แล้วยายเอาเงินสตางค์ร้อยเป็นพวงมาผูกแขน ตอนนั้นประมาณสิบสามสิบสี่ขวบ ไม่แน่ใจ
    แต่ว่า ยังยืนยันว่าตอนนี้ยังเด็กอยู่ ไปเที่ยวอาซีเอ ทุกวีกเอ็นด์


    จากคุณ : MA<O>MiYA - [ วันสิ้นปี 00:35:42 ]

     

 
 
    ความคิดเห็นที่ 15

    อยากทราบว่าสนนราคาในปัจจุบัน เขาซื้อขายกันแบบของสะสม เบี้ยละเท่าไหร่ครับ
    ผมมีอยู่จำนวนหนึ่ง อิอิ


    จากคุณ : หนุ่มไทยไร้นาม - [ วันสิ้นปี 15:52:18 ]

     

 

อ้างอิง

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2008/12/K7358722/K7358722.html

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้1138
mod_vvisit_counterเมื่อวาน4522
mod_vvisit_counterทั้งหมด11401871