ลูกเสือหมายเลข9
วันจันทร์ ที่ 18 มกราคม 2553 ภูเก็ต...บ้านของ บ้าบ๋า-ยาหยา
สาวภูเก็ตในชุดยาหยา |
ผม"คุ้นเคย"กับภูเก็ตพอประมาณ เพราะมีช่วงหนึ่งที่เดินทางไปภูเก็ตทุกเดือน และคุณนายก็เคยเปิดมินิมาร์ตที่ภูเก็ต แถวถนนเจ้าฟ้า ผมไม่รู้มากนักว่าครอบครัวเรา"ผูกพัน"หรือเชื่อมโยงกับภูเก็ตแค่ไหน เคยถามคุณพ่อก็ไม่ได้คำตอบว่ามี"ญาติ"อยู่ที่ภูเก็ต แต่ปู่ที่มาจากเมืองจีนมี "เพื่อน" จำนวนมากในภูเก็ต มากในระดับที่พ่อบอกว่าหากผมไปภูเก็ต ให้ไปถามหาคนโน้นคนนี้ได้เลย..และมี"คนดัง"บางคนในภูเก็ตเคยไปพักที่ปีนังด้วยกันสมัยลุงและอา ไปเรียนหนังสือที่ปีนัง นอกจากคุ้นเคยแล้ว สิ่งที่เหมือนกันอย่างหนึ่งของผมกับคนภูเก็ตก็คือการเป็น"ลูกครึ่ง" ลูกครึ่งที่เราเป็นนั้น ตั้งแต่เด็กๆเราถูกเรียกว่า"บ้าบ๋า" ซึ่งในพจนนานุกรม เขาเขียนไว้ว่า ....บ้าบ๋า น. เรียกชายที่เป็นลูกครึ่งจีนกับมลายูที่เกิดในมลายูและอินโดนีเซียว่า บ้าบ๋า คู่กับ ย่าหยา ซึ่งหมายถึงหญิงลูกครึ่งจีนกับมลายูที่เกิดในมลายูและอินโดนีเซีย พูดง่ายๆก็คือ บ้าบ๋า หมายถึงคุณผู้ชาย ส่วน ย่าหยา หมายถึงคุณผู้หญิง..เตอนเด็กๆผมจึงเป็น"นายน้อย" เพราะเป็น"บ้าบ๋า" สาวภูเก็ตในชุดยาหยา แล้วบ้าบ๋า..จริงๆคือใคร ? ผมไม่แน่ใจว่าวันนี้ คนเมืองตรังยังใช้คำว่า"บ้าบ๋า"กันมากน้อยแค่ไหน แต่ที่ภูเก็ต คำนี้ยังรู้จักกันดี เพราะคนภูเก็ตรู้ดีว่า"บ้าบ๋า" หมายถึงหญิงหรือชายที่เป็นลูกผสมระหว่างคนจีนกับคนพื้นเมือง ซึ่งต่างจากความหมายในมาเลเซียและอินโดนีเซีย เพราะใน 2 ประเทศนี้ เขาหมายถึง"ผู้ชาย" ที่เป็นลูกผสมระหว่างคนจีนกับคน พื้นเมือง ถ้าเป็นลูกผสมเพศหญิงเรียกว่า ยองยา โนนยา หรือย่าหยา สำหรับคนภูเก็ต นอกจากใช้คำ"บ้าบ๋า" เรียกกลุ่มลูกผสมกลุ่มนี้แล้ว ยังนำคำว่า"ย่าหยา"มาเรียกชุดแต่งกายของหญิงชาวบ้าบ๋าด้วย โดย"ชุดย่าหยา" คือการนุ่งผ้าถุงปาเต๊ะ ใส่เสื้อที่ตัดเย็บแบบเข้ารูป โดยชายเสื้อด้านหน้ายาวแบบเสื้อของสตรีมุสลิม ไปภูเก็ต หากไม่เดินเล่นเฉพาะหาดป่าตอง ผมเชื่อว่าคุณจะเห็นภาพผู้หญิงสวมชุดย่าหยางดงามแน่ๆ สาวภูเก็ตในชุดยาหยา วิกิพีเดีย..อธิบายเรื่องนี้โดยผมขอสรุปมาสั้นๆได้ใจความว่า .. "บ้าบ๋า"และ"ย่าหยา" เป็นชาว"เปอรานากัน" (Peranakans) ซึ่งเป็นกลุ่มชาวจีนฮกเกี้ยนที่มีเชื้อสายมลายูหลังมาตั้งหลักปักฐานในเมืองมะละกา ประเทศมาเลเซีย เมื่อต้นทศวรรษที่ 14 แล้วแต่งงานกับชาวมาเลย์ท้องถิ่น จากนั้น เมื่อมีทายาท สายเลือดผสมระหว่างชายชาวจีนกับหญิงมาเลย์ หากเป็นชายจะเรียกขานว่า บาบ๋า หรือบ้าบ๋า (Baba) เป็นคำที่ภาษามาเลย์ที่ยืมมาจากภาษาเปอร์เซีย ส่วนผู้หญิงจะเรียกว่า โนนยา (Nyonya) เป็นคำภาษาชวาที่ยืมมาจากภาษาดัทช์ คำว่า Dona หมายถึงผู้หญิงต่างประเทศแต่งงาน อาหารของเปอรานากัน มีลักษณะผสมระหว่างสองวัฒนธรรม ซึ่งหารับประทานได้ในประเทศมาเลเซีย และประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผลพวงจากการแต่งงานข้ามเชื้อชาติ เหล่าสาวโนนยาจึงนำส่วนดีที่สุดของอาหารสองชาติมารวมกัน โดยนำส่วนประกอบของอาหารจีน เช่น หมู ซีอิ๋ว เต้าหู้ยี้ มาปรุงกับเริมปะห์ (Rempah) เครื่องผัดของชาวมลายู กะทิ และอาจใส่น้ำมะขาม และมีหมูเป็นส่วนประกอบของอาหารด้วย อาหารที่นิยมได้แก่ แกงหมูน้ำมะขาม (บาบีอาซัม) และหมูสะเต๊ะ ที่มีน้ำจิ้มถั่วลิสงใส่สับปะรดเพื่อเพิ่มรสชาติ ภาษาของชาวเปอรานากันคือภาษาบาบ๋ามาเลย์ (Bahasa Melayu Baba) ถือเป็นภาษาถิ่นหนึ่งของภาษามาเลย์ (Bahasa Melayu) โดยมีการยืมคำในภาษาฮกเกี้ยน ค่อนข้างมาก แต่ปัจจุบันเป็นภาษาที่ใกล้ตาย และใช้กันในกลุ่มคนรุ่นเก่า ในขณะที่คนรุ่นใหม่หันไปพูดภาษาอังกฤษกัน พอจะเข้าใจคำว่า"บ้าบ๋า"กันหรือยังครับ... สาวภูเก็ตในชุดยาหยา ทุกวันนี้ ภาษาบ้าบ๋าหรือฮกเกี้ยน ยังคงใช้ในภูเก็ตครับ ทั้งนี้ วัฒนธรรมภาษาไทยถิ่นภูเก็ตมีความหลากหลายเป็นมรดกภาษาของกลุ่มชนนั้นๆ ซึ่งแต่ละกลุ่มยืมคำจากภาษาอื่น ซึ่งอาจเป็นคำยืมโดยตรงจากภาษานั้นหรือคำยืมมาจากภาษาอื่นอีกทอดหนึ่ง ภูเก็ตก็เหมือนตรังอย่างหนึ่งคือมีชาวจีนฮกเกี้ยนอยู่มาก และเมื่อชาวฮกเกี้ยนออกเสียงคำที่ยืมมาจากภาษาอื่น เช่น ภาษามลายู หรือภาษาอังกฤษ ก็จะเพี้ยนไปจากภาษาเดิม แต่สุดท้าย คำศัพท์เหล่านั้นได้แพร่หลายกลายมาเป็นคำภาษาถิ่นภูเก็ต ซึ่งเป็นภาษาถิ่นไทยใต้ที่มีเอกลักษณ์โดยเฉพาะและไม่เหมือนใครมีและไม่มีใครเหมือน มีหลายคำที่ผม"คุ้นเคย" แต่คนนอกอาจจะไม่รู้ ตัวอย่างเช่น คำยืมภาษามลายู เช่นคำว่า ชันชี มาจากภาษามลายูคือ Janji แปลว่า สัญญา หรือ นัดหมาย หรือแม้แต่คำว่า "ยานัด" ที่ใช้เรียกสับปะรด ก็มาจากภาษามลายูคือ Nanas ส่วนคำที่มาจากภาษาจีนฮกเกี้ยนปนอังกฤษก็มี เช่น ..จูลูด ที่หมายถึง บุหรี่มวนโตมวน ก็มาจากคำว่า Cheroot , คำว่า ตาเบ๊ะ ที่หมายถึง วันทยาหัตถ์ ก็มาจากคำว่า Tabek , โกปี หรือกาแฟ นี่ก็มาจาก Kopi เช่นเดียวกับที่สั่งคู่กัน คือ เส่ล้อง ที่หมายถึง ชาฝรั่งหรือ ชาซีลอน ก็มาจากคำว่า Ceylon ขณะที่คำว่า กู่หลี้ ที่หมายถึง กุลี หรือ กรรมกร ก็คือ Kuli แต่อีกไม่นาน..คำพวกนี้ก็คงหายไปจากภูเก็ต เมื่อคนรุ่นใหม่ใช้ภาษาไทยกลางมากขึ้น The Little Nyonya The Little Nyonya ผมไม่ได้ไปภูเก็ตมาเกือบ 2 ปี ..ทำไมผมเขียนเรื่องนี้ เหตุผลก็คือ ผมเห็นโฆษณาของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ว่าตั้งแต่วันที่ 20 มกราคมนี้ ในเวลา 20.20 น. จะฉายภาพยนตร์ชุดใหม่คือ The Little Nyonya โดยใช้ชื่อภาษาไทยว่า "บ้าบ๋า ย่าหยา...รักยิ่งใหญ่จากใจดวงน้อย" ภาพยนตร์ชุดนี้ เป็นภาพยนตร์ของสิงคโปร์..ซึ่งก็เป็น"จีนฮกเกี้ยน" เหมือนตรังและภูเก็ต The Little Nyonya เป็นละครซีรีส์ประวัติศาสตร์ที่ถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ เป็นเรื่องราวของชาวบ้าบ๋า ย่าหยา ซึ่งถูกกลืนหายไปกับสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยนำเสนอเกี่ยวกับความรักและการต่อสู้ชีวิตอย่างไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อโชคชะตาของสาวน้อยผู้อาภัพ ที่ถูกปลูกฝังคุณธรรมและวัฒนธรรมที่ดีงามมาจากบรรพบุรุษ แต่ชีวิตเธอกลับถูกกำหนดด้วยจารีตประเพณีที่เป็นขวากหนามยากเกินกว่าจะฝ่าฟัน ภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นละครที่มีเรตติ้งสูงที่สุดของช่อง 8 สิงคโปร์ ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา โดยมีผู้ติดตามชมเฉลี่ย 993,000 คนต่อวัน ยกเว้นในตอนจบที่มีผู้ชมมากถึง 1,672,000 คน หรือคิดเป็น 33.85 % ของผู้ชมทีวีในสิงคโปร์ และไทยเป็น 1 ใน 7 ประเทศที่นำภาพยนตร์เรื่องนี้มาฉาย ผมไม่รู้ว่าละครเรื่องนี้ดีแค่ไหน แต่ผมก็อยากรู้เรื่อง"บ้าบ๋า-ย่าหยา" จึงต้องรอชมครับ อ้างอิง http://www.oknation.net/blog/chai/2010/01/18/entry-1 |