Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
คิดวิเคราะห์ นอกห้องเรียน PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พฤหัสบดี, 14 มกราคม 2010
เด็กไทยจะเก่งขึ้น! "จุรินทร์" รื้อระบบท่องจำสู่คิดวิเคราะห์-เรียนนอกห้อง เริ่มปี'53
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์14 มกราคม 2553 15:52 น.
       ศธ.ปรับหลักสูตรเรียนรู้ทั้งระบบเน้นคิดวิเคราะห์แก้ปัญหาเด็กท่องจำ ตัดหลักสูตรซ้ำซ้อนออก 30 เปอร์เซ็นต์หวังเด็กเรียนนอกห้องมากขึ้น ประสานมือเครือข่าย 25 มหาวิทยาลัยเร่งเครื่อง คาดเริ่มพร้อมกันทั้งประเทศปีการศึกษา 53 นี้ โวเด็กไทยกำลังจะเก่งขึ้น ระบุหากคิดวิเคราะห์เป็นแก้ปัญหาส่วนตัว สังคมได้ เผยเตรียมแจกไอโอดีนเม็ดแม่ตั้งครรภ์จนเด็กอายุ 5 ขวบ
       
       นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมการเรียนรู้สู่ความฉลาดรอบด้าน" ว่า ศธ.มีนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านการส่งเสริมการอ่าน โดยมีโครงการทศวรรษแห่งการอ่าน ปี 2552-2561 เพื่อนำการเรียนรู้สู่กระบวนการคิดวิเคราะห์ ไม่เน้นการท่องจำ ส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน รวมทั้งสิ่งต่าง ๆ รอบตัว โดยปรับหลักสูตรการเรียนรู้ทั้งระบบตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยเริ่มเปิดภาคเรียน 2553 นี้เป็นต้นไป ถือเป็นการปฏิวัติรูปแบบกระบวนการเรียนรู้ทั้งระบบ ตั้งแต่ ป.1-ม.6 เน้นการสอนคิดวิเคราะห์เป็นมากกว่าการท่องจำ โดยเริ่มจากการปรับหลักสูตรตัดเนื้อหาที่ซ้ำช้อน ร้อยละ 30 ออกไป จะช่วยให้เด็กมีเวลาเรียนนอกห้องเรียนเพิ่มขึ้น ไม่ต้องจมอยู่ในห้องเรียน ออกไปเรียนตามแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ เช่น อุทยานประวัติศาสตร์ ปราชญ์ชาวบ้าน แหล่งเรียนรู้อื่นด้านศาสนา วัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เด็กเฉลียวฉลาดมากขึ้น เพราะได้เรียนรู้จากโลกความจริง
       
       “นับจากนี้ไป เด็กของเราจะเก่งขึ้น เรียนรู้อย่างเป็นระบบ คิดวิเคราะห์เป็นมากขึ้น ไม่ใช้วิธีการท่องจำอย่างเดียว โดยจะเริ่มทำพร้อมกันทั่วประเทศ” นายจุรินทร์ กล่าวและว่า การเรียนแบบท่องจำ มีจุดอ่อนตรงที่ยังไม่มีศักยภาพการคิดวิเคราะห์ หากเด็กคิดวิเคราะห์ได้ ก็สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัดสินใจได้ด้วยตนเอง ดังนั้น การคิดวิเคราะห์ที่จะสอนนั้น จะมี 2 ระดับ การคิดวิเคราะห์พื้นฐาน จะสอนตั้งแต่ ป.1-6 อย่างน้อยเด็กที่จบ ป.6 ต้องเป็นเด็กช่างสังเกต แยกความแตกต่างได้ อธิบายเหตุผลต่างๆ ได้ สำหรับ ขั้นสูง จะสอนตั้งแต่ ม.1-6 จะต้องสังเคราะห์เป็น แก้ปัญหาได้ คิดวิเคราะห์แบบสร้างสรรค์ รวมทั้งนำความรู้คิดวิเคราะห์ไปแก้ปัญหาได้ จะช่วยให้เด็กเก่ง เพราะการท่องจำเพียงอย่างเดียว ที่สุดไม่รู้ที่มาที่ไปแล้วไม่สามารถแก้ปัญหาส่วนตัว ส่วนรวม และสังคมได้
       
       สำหรับกระบวนการเรียนการสอนให้เด็กคิดวิเคราะห์ เริ่มต้นจากการฝึกอบรมครู ขณะนี้ สพฐ. สสวท. เครือข่ายมหาวิทยาลัย 25 แห่งทั่วประเทศ ที่มีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ประสานงาน จะอบรมครูช่วงมีนาคม-เมษายนนี้ พร้อมจัดทำคู่มือครู และได้เตรียมตำราเรียนใหม่ที่จะนำไปสู่การคิดวิเคราะห์ จัดทำสื่อให้ครูเพื่อนำกลับไปสอนที่โรงเรียนตามแนวทางคิดวิเคราะห์ ให้ทันก่อนเปิดเทอม
       

       จากนั้น นายจุรินทร์ กล่าวถึงเด็กปฐมวัยว่า ศธ.จะส่งเสริมให้เด็กมีโอกาสให้เด็กเรียนกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง มีโครงการส่งเสริมการอ่าน หนังสือเล่มแรก ขณะนี้ได้เริ่มต้นดำเนินการแล้ว เพียงแต่ว่ากระบวนการที่จะต้องทำให้อนาคต ทำทั้งขบวนการรอบด้าน ไม่ใช่แจกหนังสือเพียงอย่างเดียวแล้วจบ ดังนั้น เมื่อแจกหนังสือให้แก่ผู้ปกครองเพื่อนำไปอ่านให้เด็กฟังแล้ว ต้องมีกระบวนการอบรมพ่อแม่ ผู้ปกครองอ่านหนังสือให้เด็กฟัง และวิธีการอ่านหนังสืออย่างไร มีขบวนการสอบ ขบวนการวัดผล
       
       รมว.ศธ. กล่าวด้วยว่า รัฐบาลมีขบวนการส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาด้านสมอง ร่างกาย โดยจะมอบไอโอดีนเม็ดให้ฟรี ตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์จนถึงคลอด หลังคลอดแล้วจะแจกต่อเนื่องจนถึง 5 ขวบ โดยแจกไอโอดีนผ่านศูนย์เด็กเล็ก สถานีอนามัย ผ่าน อสม. โรงพยาบาล ขึ้นอยู่กับว่าสะดวกไปรับไอโอดีนที่ไหน

อ้างอิง

http://www.norsorpor.com/ข่าว/n1851972/เด็กไทยจะเก่งขึ้น!%20%20จุรินทร์%20%20รื้อระบบท่องจำสู่คิดวิเคราะห์-เรียนนอกห้อง%20เริ่มปี

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้464
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1111
mod_vvisit_counterทั้งหมด10731182