Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow News arrow มนุษยศาสตร์ arrow ความคิดสร้างสรรค์
ความคิดสร้างสรรค์ PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อาทิตย์, 10 มกราคม 2010
วันที่ 10 มกราคม 2553 04:00

ปั้นเด็กช่างคิด ป้อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ครีเอทีฟ อีโคโนมี
ในระยะยาว ครีเอทีฟ อีโคโนมี ต้องเข้าไปอยู่ในหลักสูตรการศึกษา มีการสนับสนุนทุนวิจัย เวิร์คช้อป ศูนย์บ่มเพาะ เพื่อให้เด็กๆ คิดเป็น ทำเป็น
ปี 2552 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศนโนบายเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (Creative Economy)โดยมีที่ปรึกษานายกฯ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ และกำหนดเป้าหมาย ผลักดันเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เป็นแกนหลักของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ซึ่งจะเริ่มต้นในปี 2555

ประเทศสก็อตแลนด์ เริ่มนำไอเดียนี้มาใช้ตั้งแต่ ค.ศ.1994 และในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบดีไซน์ (TCDC) สังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) หรือ OKMD ก็เริ่มเดินเครื่องให้ความรู้เรื่องครีเอทีฟ อีโคโนมีกับทุกภาคส่วน เริ่มจากการถ่ายทอดองค์ความรู้ออกสู่ประชาชน ผ่านการจัดนิทรรศการ สัมมนา หนังสือ การทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ เวิร์คช้อป และกระจายความรู้ออกสู่ภูมิภาคในนาม mini TCDC ออกไปยังมหาวิทยาลัยตามหัวเมือง เช่น ขอนแก่น เชียงใหม่ เชียงราย กำแพงเพชร เป็นต้น

ภาคการศึกษาเป็นอีกส่วนที่น่าจับตา เพราะนอกจากเสียงขานรับ ยังเริ่มออกสตาร์ทแล้วในส่วนของภาคปฏิบัติในฐานะ "ผู้ผลิต"  เด็กรุ่นใหม่ "หัวคิดดี ๆ" ออกสู่สังคมครีเอทีฟ อีโคโนมี ในอนาคต

รศ.สุขุมาล เล็กสวัสดิ์ หัวหน้าภาควิชานฤมิตศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยทิศทางการศึกษากับแนวนโยบายครีเอทีฟ อีโคโนมี ว่า การที่รัฐบาลจัดงบประมาณเพื่อสนับสนุนในด้านนี้ ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่จะทำอย่างไรให้งบประมาณดังกล่าวส่งถึงมือคนที่ต้องการทำงานจริงๆ ตรงกับหมวดที่ขาดแคลน และได้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าที่สุด

โดยมองว่าการจะสนับสนุนแนวคิดนี้ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมต้องมีหลายปัจจัยสนับสนุน ทั้งการประชาสัมพันธ์โครงการและติดตามผลงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเปิดโอกาสให้อาจารย์และนิสิตสามารถทำงานได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

"การทำงานด้านนี้ นอกจากจะมีใจ มีสมองแล้ว จะต้องมีเงินและมีคนเข้าใจ และพร้อมให้การสนับสนุนในระยะยาว"

สำหรับภาควิชานฤมิตศิลป์ ที่ รศ.สุขุมาล บริหารจัดการนั้น ส่วนโครงสร้างและหลักสูตรของภาควิชาเป็นอีกส่วนงานที่ตอบสนองแนวความคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในภาพใหญ่

ในส่วนภาควิชาแบ่งออกเป็น 4 วิชาเอก ประกอบด้วย มัณฑนศิลป์ (การออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ) เรขศิลป์ (กราฟิคดีไซน์) หัตถศิลป์ (เซรามิกส์) และนิทรรศการศิลป์  ทั้ง 4 วิชาเอกนี้ จะเน้นด้านการออกแบบสร้างสรรค์อิงกับการตลาด คือนิสิตจะต้องสำรวจกลุ่มเป้าหมายและแนวโน้มการตลาดก่อนทำการออกแบบ เพื่อให้งานที่ออกมาตอบโจทย์ด้านการตลาดและความคิดสร้างสรรค์"  

ตัวอย่างเช่น การออกแบบแฟชั่น จะต้องเรียนรู้ถึงการตลาด แนวโน้มของการออกแบบและเรื่องสี แล้วมาผนวกแรงบันดาลใจ  เช่นเดียวกับงานเซรามิก 

ส่วนหนึ่งที่สำคัญของหลักสูตรนี้คือ การจัดการแสดงผลงานหรือนิทรรศการ เพื่อประเมินผลงานนิสิตในสายตาของผู้บริโภคว่าผลงานตรงความต้องการลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายหรือไม่ ซึ่งจะสร้างการเรียนรู้และประสบการณ์ที่ดีให้กับนิสิตก่อนก้าวสู่ตลาดแรงงานจริงในอนาคต

"นิสิตชั้นปีที่ 4 จะต้องเรียนวิชาวิจัย 2 วิชา เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายและขั้นตอนการออกแบบ จนได้แนวทางและผลสรุป เพื่อนำมาผลิตเป็นชิ้นงานจริงในภาคเรียนสุดท้าย ซึ่งหัวข้อวิจัยในแต่ละปีนั้น ต้องคำนึงถึงแนวโน้มและสภาพแวดล้อมทางตลาดและสังคมประกอบด้วย เพื่อให้มีความทันสมัยที่สุด และผลงานสามารถใช้งานได้จริง ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีความโดดเด่นในด้านความคิดสร้างสรรค์และความงาม"

เช่นเดียวกับ ธนาทร เจียรกุล คณบดี คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร บอกว่า เห็นด้วยกับนโยบาย ครีเอทีฟ อีโคโนมี เพราะช่วยให้ประเทศสามารถแข่งขันกับตลาดโลกในอนาคตได้ แต่อยากให้รัฐหันมามองความสำคัญในระดับ "ต้นน้ำ" นั่นก็คือภาคการศึกษา ควบคู่กับ "ปลายน้ำ" หรือผู้ผลิต องค์กร หน่วยงาน ซึ่งรัฐพยายายใช้หลายมาตรการกระตุ้นเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

"หากรัฐบาลต้องการสร้างความยั่งยื่นต้องมองในระยะยาว ในอีก 5 ปี ต้องกลับไปดูแล้วว่าจะจัดการอย่างไร ต้องมีหลักสูตรอะไร อย่างไรบ้าง จะมีการลงทุนอย่างไร  เพื่อผลิตคนออกไปแข่งขันกับตลาดโลก ซึ่งศาสตร์ ครีเอทีฟ อีโคโนมี มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มหาวิทยาลัยจะเป็นแหล่งผลิตบุคลากรป้อนตลาดแรงงาน"

ดังนั้นหากจะพัฒนา ครีเอทีฟ อีโคโนมี อย่างยั่งยืน ต้องเริ่มที่การพัฒนา "คน" เป็นลำดับแรก 

เมื่อกลับมามองธุรกิจเพลงในบ้านเรา ตอนนี้ธุรกิจแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ โดยเฉพาะ ฮอลลีวูด ได้จ้างนักแต่งเพลงจากแถบยุโรปตะวันออก เพราะค่าจ้างถูก ซึ่งหากประเทศไทยสามารถเข้าไปแชร์ตลาดตรงนี้ได้จะเป็นอีกช่องทางดึงเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ประเทศ

"หากเราดึงหนังมาผลิต หรือถ่ายทำที่บ้านเราได้ ก็น่าจะทำดนตรีประกอบได้ เรียกว่าทำแบบครบวงจร มีคนไทยเก่งๆ ที่ไปเป็นนักแต่งเพลงที่อเมริกา รายได้ดีมาก เด็กศิลปากรที่จบออกไปทำเพลงประกอบก็มีเยอะ หรือจะเป็นวงออเคสต้า จากเดิมที่มีงานปีละไม่กี่ครั้ง และมีผู้ฟังจำกัดเพียงแค่ตลาดบน หากสามารถเจาะเข้าถึงตลาดดังกล่าวได้ น่าจะสร้างเม็ดเงินมหาศาลให้กับประเทศ"

 ในประเทศอังกฤษ มีการสนับสนุนแนวคิดครีเอทีฟ อีโคโนมีอย่างจริงจัง เริ่มกันตั้งแต่ต้นน้ำ ยกตัวอย่าง มหาวิทยาลัย Kingston กรุงลอนดอน ที่เปิดสอนหลักสูตร Music and The Creative Economy จนถึงระดับปริญญาโท ในหลายวิชา เช่น ครีเอทีฟ อีโคโนมี การบริหารจัดการ ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ผู้นำทางความคิดสร้างสรรค์ ประเด็นร่วมสมัย การแสดงดนตรี การวิเคราะห์ดนตรี การศึกษาด้านดนตรี สัมมนาเชิงวิจัย  ประวัติศาสตร์ดนตรีประกอบหนัง ดนตรี ศิลปะ และสังคม

แต่สำหรับในไทย ครีเอทีฟ อีโคโนมีในแง่ของธุรกิจดนตรี ยังไม่เข้มข้นเท่าศาสตร์แขนงอื่นๆ

"หากมองระยะยาวต้องมีหน่วยงานเจ้าภาพ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม เพิ่งให้แนวคิด ครีเอทีฟ อีโคโนมี เข้าไปอยู่ในหลักสูตรการศึกษา มีการสนับสนุนทุนวิจัย เวิร์คช้อป ศูนย์บ่มเพาะ เพื่อให้เด็กๆ ได้เห็นสถานการณ์จริง คิด เป็น ทำเป็น"

ในส่วนของ คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ค่อยๆ เจือแนวคิดด้านครีเอทีฟ อีโคโนมี เข้าไปเพื่อให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การเพิ่มแขนงวิชาดนตรีเชิงพาณิชย์เข้าไปในหลักสูตร เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โดยหวังที่จะผลิตบัณฑิตด้านดนตรีที่มีความรู้ด้านการตลาด และการบริหารจัดการ อันเป็นองค์ความรู้ที่นำไปใช้ประโยชน์เพื่อการขยายช่องทางการทำธุรกิจได้อย่างครบวงจร  

"เราต้องการสร้างเด็กที่จบออกไปสามารถเป็นโปรดิวเซอร์ที่มีหัวครีเอทีฟ ต้องเข้าใจบทบาทของสื่อและเทคโนโลยีในอนาคต เช่น มือถือ และ 3 จี ถือเป็นตลาดใหม่ เราจึงเน้นการสอนแบบบูรณาการ ต้องรู้เรื่องการตลาด จึงได้เพิ่มรายวิชาเชิงพาณิชย์เข้าไป เช่น ทำเพลงประกอบหนัง มิวสิคแมนเนจเม้นท์  เสริมด้วยการเรียนกราฟฟิคดีไซน์ เพราะบางครั้งต้องทำรูป วีดีโอ ประกอบเพลง  และเพิ่มวิชา Music and WWW. เพื่อสอนให้เด็กสามารถทำเพลงสำหรับขายผ่านออนไลน์"

เมื่อ "ต้นน้ำ" ของ ครีเอทีฟ อีโคโนมี คือการศึกษา รัฐจึงเป็นกลไกสำคัญที่จะเข้ามาบริหารจัดการ หากต้องการพัฒนาประเทศด้วยความคิดสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

 

อ้างอิง

http://www.norsorpor.com/ข่าว/n1845136/ปั้นเด็กช่างคิด%20ป้อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

News

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้257
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1980
mod_vvisit_counterทั้งหมด10696523