Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
อาหารการกินของชาวภูเก็ต PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อังคาร, 15 มกราคม 2008

การกินอยู่ของชาวภูเก็ต


รศ.จิรา ธีระสุวรรณจักร
------------------------


 ชาวภูเก็ตไม่นิยมรับประทานข้าวในตอนเช้า  อาหารเช้าส่วนใหญ่จะเป็น  กาแฟ  และขนม สำหรับกาแฟ  นิยมดื่มกาแฟดำพื้นเมืองชงแบบถุงกาแฟ  ปัจจุบันนิยมเนสกาแฟมากขึ้น  เพราะสะดวกมากกว่า  นอกจากนี้ก็มีชา หรือ เซล้อง (สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า ชาซีลอน คือชาจากศรีลังกา)  ขนมที่ชาวภูเก็ตนิยมรับประทานในขณะดื่มกาแฟ  เช่น ปาท่องโก๋  ข้าวเหนียวปิ้ง  ป่าวล้าง    ข้าวเหนียวสังขยา    ข้าวเหนียวหน้ามะพร้าว(หน้าฉีก)  โก้ยตาล๊าม  ขนมชั้น  กี่จ่าง  ฮวดโก้ย  บักถ่องโก้  ข้าวเหนียวหีบ ฯลฯ 
ลักษณะขนมของภูเก็ตจะมีลักษณะคล้ายขนมพื้นเมืองแถบปีนัง       ขนมส่วนมากประกอบขึ้นจากข้าวเหนียว   เช่น   ป่าวลั้ง    ชาวปีนังเรียกว่า Pulut Udong โก้ยต่าล้าม  (Kuiey Talam)  และอั้งกู๊(Ang Koo=ขนมเต่าแดง)  เป็นต้น น้ำตาลแดง มะพร้าว ใบตอง ใบเตยหอม นอกจากน้ำชา กาแฟ และขนมแล้ว ยังนิยม รับประทานขนมจีนเป็นอาหารเช้า   ขนมจีนจึงเป็นอาหารยอดนิยมที่แขกหรือนักท่องเที่ยวที่มา  ภูเก็ตจะต้องหาโอกาสทานขนมจีนภูเก็ต ซึ่งมีรสชาดแตกต่างจากจังหวัดอื่น    ปัจจุบันเป็นอาหารที่หารับประทานได้ง่าย      มีร้านขายทั่วไป และขายตลอดวัน
 ในระหว่างอาหารมื้อกลางวัน กับ มื้อเย็น ประมาณ  บ่าย ๒  โมง - ๓  โมงเย็น  ชาวภูเก็ตนิยมดื่ม  น้ำชา หรือกาแฟ  พร้อมขนมหรืออาหารว่างอีกครั้ง   อาทิ   หมี่ไทย   ฮูแช้   ปลาแนม   ปอเปี๊ยะ  โอต้าว  หมี่ไทย  โอเอ๋ว  สำหรับอาหารค่ำของชาวภูเก็ตถือว่าเป็นมื้อหนักจะเริ่มประมาณทุ่มถึง ๒ ทุ่ม
 วัฒนธรรมในการกินนั้น   ชาวภูเก็ตมีมารยาทที่ดีของการรับประทานอาหาร ที่แสดงออกถึงความเคารพต่อผู้ใหญ่ หรือการฝึกให้มีความเอื้อเฟื้อ  เผื่อแผ่  ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือ   ผลไม้ ใด ๆ   ก็ตามเด็ก ๆ   จะได้รับส่วนแบ่งสำหรับตัวเอง เท่า ๆ  กัน   ที่เหลือจะเป็นของผู้ใหญ่   เด็กจะรับประทานเฉพาะส่วนของตนเท่านั้น จะกินอาหารหรือผลไม้นั้นหมดโดยไม่แบ่งไว้ให้ผู้ใหญ่ไม่ได้เด็ดขาด


อาหารที่เป็นอาหารพื้นเมืองของชาวภูเก็ต มีทั้งที่เป็นอาหารจานเดียว อาหารที่เป็นกับข้าว อาหารว่าง  และขนม


อาหารจานเดียว


ขนมจีน

 เป็นอาหารจานเดียวที่คนภูเก็ตนิยมรับประทานตลอดทั้งวัน  ลัษณะของน้ำยา จะต้องข้นกะทิไม่แตกมัน ปลาที่ใช้ควรเป็นปลาแดง ปลากระพง  ปลามง  โดยนำปลาไปนึ่ง แกะเอาเฉพาะเนื้อไปโขลกกับ เครื่องแกง  นำไปคั่วกับหัวกะทิให้หอมแล้วจึงเติมกะทิที่เหลือลงไปละลายต่อ เครื่องแกงประกอบด้วย พริกขี้หนูแห้  พริกใหญ่พริกแห้ง  หอม  กระเทียม  ตะไคร้  ข่า  ขมิ้น  เกลือ

การรับประท่านขนมจีน  ผู้ท่านจะได้ กะปิ มีโอกาสทานผักมากกว่าอาหารอื่น ๆ มีผักเกล็ดทางผักสด  ผักลวก  ผักดอง  บางแห่ง มีปลาฉิ้งฉ้างแกล้มด้วย และนิยมเสริฟคู่กับ ห่อหมก  ปาท่องโก๋ และไข่ต้ม นิยมเสริฟคู่กันผักเกล็ด ห่อหมก  ปลาท่องโก๋  และไข่ต้ม


หมี่ไทยภูเก็ต

 นิยมใช้รับประทานเป็นอาหารว่างตอนบ่าย   ปรุงจาก  หมี่หุน  (ปีหุน หรือเส้นหมี่)  ที่ผ่านการแช่น้ำให้นุ่มแล้วเอามาเคล้ากับซีอิ้วดำ และน้ำตาลที่เคี่ยวจนข้น 
วิธีปรุงเอากะทิ  เคี่ยวจนแตกมัน  แล้วตักขี้มันขึ้นไว้สำหรับโรยหน้าหมี่ไทย  เอาหมี่หุน  ลงผัดในน้ำมัน ใส่ถั่วงอก  กุยฉ่าย ลงผัด อย่าให้ถั่วงอกเหี่ยว  การรับประทาน  จะปรุงรสด้วย  เต้าเจี้ยว  น้ำส้มหรือน้ำมะนาว  น้ำตาลทราย ถั่วลิสงป่น พริกขี้หนูป่น และแต่งหน้าหมี่ไทย ด้วยกุ้งลวก ขี้มัน เต้าหู้ทอด พริกเขียว-แดง นิยมทานกับถั่วงอกและกุยฉ่ายสด


ข้าวยำภูเก็ต

 นิยมรับประทานเป็นอาหารมื้อเที่ยง  แบบอาหารจานเดียวในปัจจุบัน  รสชาติแตกต่างไปจากข้าวยำปักษ์ใต้  คือ  ข้าวยำภูเก็ต  จะไม่ใส่น้ำบูดู  และมีรสเผ็ดของพริกไทยอยู่ด้วย เครื่องปรุงที่จะใช้คลุกกับข้าวสวย ได้แก่   พริกขี้หนูแห้ง   หอมแดง   กะปิ   พริกไทยเม็ด  ปลาชิ้งช้าง     และกุ้งแห้ง  เมื่อนำเครื่องปรุงมาโขลกให้เข้ากันแล้ว นำมาคลุกกับข้าวสวย  ใบมะกรูด   และใบกระพังโหมหั่นเป็นเส้นบาง ๆ   ปรุงรสด้วย  น้ำตาล   น้ำปลา  ให้มีรสเผ็ดนำเล็กน้อย    และรับประทานกับถั่วงอก แตงกวา และถั่วฝักยาว


หมี่ซั่ว

นิยมใช้เป็นอาหารจานเดียวมื้อเช้า หรือสำหรับเด็กและคนป่วย
หมี่ซั่วทำจากแป้งข้าวเจ้า ตากจนแห้ง มีรสเค็มนำมาใช้ปรุงเป็นแกงจีดหมี่ซั่วการปรุงจะให้มีรสชาติดี หลังจากใส่  เนื้อหมู   ตับหมู  ใส้หมู  เครื่องปรุงลงไปแล้ว จึงจะใส่หมี่ซั่วหลังสุด และรีบยกทันที  มิฉะนั้นเส้นจะเปื่อย  โรยด้วยกระเทียมเจียว  คื่นฉ่าย  และต้นหอม


ประเภทกับข้าว


หมูฮ้อง

 มีลักษณะคล้ายกับหมูพะโล้  แต่น้ำของหมูฮ้องจะมีลักษณะข้น การปรุงหมูฮ้องให้อร่อยจะต้องมีเครื่องเทศ โดยเฉพาะโปยกั้ก  ผงพะโล้  และมีหมูเนื้อแดงติดมัน กระเทียม  พริกไทย นำไปผัดให้หอม  ใส่ซีอิ้วดำ  ซีอิ้วขาว  ใส่น้ำตั้งเคี่ยวให้หมูสุกเปื่อย  บางครั้งอาจจะใส่ไข่ต้ม หรือไข่นกกระทะ  น้ำของหมูฮ้องจะต้อง มีรสชาติจัด


ผักกาเป๊ก

 เป็นกับข้าวที่ใช้รับประทานกับข้าวสวย  กาเป็ก  หรือเรียกอีกอย่างว่า หน่อไม้น้ำ การผัดกาเป็กให้มีรสชาดดีขึ้นอยู่กับกาเป็กมีความสด  และต้นอ่อนไม่แก่จนเกินไป ส่วนประกอบในการผัดกาเป็ก  จะมี  เนื้อหมู,  กุ้ง,  เต้าหู้เหลือง  ซีอิ้วขาว  หอม  กระเทียม  และจะมีแป้งมันนิดหน่อย  เพื่อให้น้ำของผักมีลักษณะข้นเล็กน้อย

ผัดมันแกว (ผักบังก๊วน)

 นิยมรับประทานกับข้าวสวยใช้เป็นอาหารมื้อเที่ยง-เย็น อาหารชนิดนี้จะอร่อย หรือไม่ขึ้นอยู่กับ หัวมันแกว มีความสด เนื้อแน่น และมีกุ้งสด  หมูสามชั้น  ปลาหมึกแห้งแช่น้ำก่อน  จิ้นฉ่าย  หอมเจียว  กระเทียม  และน้ำมัน  น้ำตาล  ซีอิ้วดำ-ขาว  การผัดจะต้องใช้ไฟแรง  ระยะเวลานานพอควรเพื่อให้มันแกวนิ่ม และสุกน้ำของผักจะต้องมีลักษณะขลุกขลิกข้นเล็กน้อย  บางคนนำมาห่อเป็นคำด้วยผักกาดหอม ราดด้วยพริกน้ำส้ม


แกงจืดเต้าหู้ปลาเค็ม (ทึ้งเกี่ยมหูกับเต้าหู้)

 เป็นอาหารจำพวกแกงจืดจัดอยู่ในประเภทแกงจืดรสเดียว  ใช้รับประทานเป็นอาหารมื้อเที่ยง-เย็น  ส่วนประกอบของทึ้งเกี่ยมหูกับเต้าหู้ มี  ปลาเค็มสีเสียด  หมูสามชั้น เต้าหู้ขาวนำมาทอด  พริกไทย  ขิงทุบ  กระเทียม  ต้นหอม  ซีอิ้วขาว  เกลือเล็กน้อย  รสชาดของทึ้งเกี่ยมหูกับเต้าหู้  จะออกเค็มเล็กน้อย  และมีความมัน  และหอมของหมูสามชั้น  และเต้าหู้ขาวที่ทอดจนสุกกรอบ  นำไปใส่ในน้ำแกงจืด แล้วโรยด้วยต้นหอม


แกงตู้มี้


 เป็นอาหารจำพวกแกงเผ็ด  และมีการนำเอาเครื่องเทศ  ลูกผักชี  หยี่หร่า  พริกไทย  ซาลาเป้า  เข้ามาเป็นส่วนประกอบ  และเครื่องเทศจะต้องมีการคั่วให้มีกลิ่นหอม  ส่วนหอมกระเทียมก็นำมาเผา  ซึ่งลักษณะการทำคล้ายกับแกงมัสหมั่นแต่การนำน้ำพริกไปผัดกะทิ  จะต้องเคี่ยวให้แตกมัน  จนเกือบจะเป็นขี้ไล้  แล้วจึงจะใส่น้ำเปล่าลงไป  เมื่อน้ำแกงเดือด  จึงจะใส่ปลาลงไป โดยเฉพาะปลานั้นจะต้องเป็นปลาตัวใหญ่  และมีความสด เช่น  ปลากระพงแดง - ขาว ปลามง ฯลฯ  จึงปรุงรสด้วย น้ำมะขามเปียก  น้ำปลา  น้ำตาลปี้บ  ส่วนผักที่ใช้ใส่มีถั่วลา  หรือแตงกวาก็ใช้ได้


อาหารว่าง


โก่ต้าว (โอต้าว)

 เป็นอาหารว่างตอนบ่าย หรือ ตอนดึก และนิยมใช้เลี้ยงแขกในวันเคลื่อนย้ายศพไปฝังหรือเผาเพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ลูกหลานและผู้ไปร่วมงาน   เครื่งปรุง  มี   หอยติบ  (หอยนางรมเล็ก) หัวเผือก กากหมูทอด แป้งมัน แป้งสาลี  ไข่ไก่  ต้นหอมซอย  พริกแห้งใหญ่  กระเทียม น้ำสมสายชู น้ำมัน   เกลือ  น้ำตาล   ซีอิ้วขาว   พริกไทยป่น   การปรุงต้องละลายแป้งกับน้ำ  น้ำตาล   และโรยต้นหอมซอย  ส่วนการทอดจะใช้กะทะแบนใส่น้ำมันพอสมควร พอน้ำมันร้อนตักแป้งใส่    โรยเผือก หอยติบ  ไข่ไก่  ปรุงรสด้วยซีอิ้วขาว  น้ำส้ม  พริกไทยป่น  และใส่พริกกับกระเทียมที่ตำไว้ด้วย หากต้องการให้เผ็ด จากนั้นใช้ตะหลิวสับให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ  แล้วกลับ  ผัด ให้เข้ากัน  โรยหน้าด้วยกากหมู รับประทานกับถั่วงอก กุยฉ่าย หรือต้นหอม


ปอเปี๊ยะสด

 สำหรับปอเปี้ยสดของภูเก็ตจะแตกต่างจากจังหวัดอื่น ๆ คือ ใส้จะใช้มันแกวนำไปผัดกับหมู ซีอิ้วดำ-ขาว   น้ำตาล  ผัดให้น้ำขลุกขลิก  วิธีห่อแป้งวางแผ่นแป้งบนเขียง  ปูด้วยผักกาดหอม  ถั่วงอกวางบนตักมันแกวที่ผัดแล้ว แต่งหน้าด้วยหมูแดง หมูต้ม กุ้ง ปู  เต้าหู้เหลือง กากหมูเคล้าหอมเจียว  ทาด้วยพริกน้ำส้ม  ตีเจียว ห่อนับหัวน้ำ  ๒  แล้วม้วนให้กลม


เบื่อทอด

 ลักษณะคล้ายใบผักและกุ้งชุบแป้งทอด   นิยมใช้รับประทานเป็นอาหารว่าง     หรือเป็นกับแกล้ม  ใบผักที่ใช้  ได้แก่  ใบชะพลู  ใบเล็บครุฑ  หรือ  หญ้าช้อง  ชุบแป้งที่ปรุงด้วย  พริกแห้งใหญ่ ตะไคร้ ข่า หอม กระเทียม ขมิ้น พริกไทย กะปิ เกลือ ไข่  กะทิ แป้งข้าวเจ้า และน้ำปูนใส ลงทอดในน้ำมันร้อน  ตักกุ้งตัวเล็ก ๆ ไม่ต้องปอกเปลือก เพียงแต่ตัดส่วนหัวและหนวดออก  ชุบแป้งแล้ววางเรียงบนใบพืช  ทอดจนเหลืองกรอบ  นำมารับประทานด้วยน้ำจิ้ม  ที่ปรุงด้วยพริกชี้ฟ้าสด กระเทียม  เกลือ  น้ำตาล  และน้ำส้มสายชู

ฮูแช้

 ลักษณะคล้ายสลัดผักหรือสลัดแขก   นิยมทานเป็นอาหารว่างตอนบ่าย    อาหารชนิดนี้จะอร่อยหรือไม่ขึ้นอยู่กับน้ำปรุง ที่ทำมาจาก พริกแห้งใหญ่ กระเทียม เกลือ ซีอิ้วขาว ซอสจีน (ตีเจียว) น้ำมะขามเปียก น้ำตาล มะนาว ถั่วลิสงคั่ว งาขาวคั่วแล้วทุบให้แตก  นำเครื่องปรุงทั้งหมดมาผสมกันแล้วเติมแป้งนิดหน่อย  ตั้งไฟ  พอเดือดยกลง  ชิมให้ได้รส  หวาน  เค็ม  เปรี้ยว และเผ็กเล็กน้อย นำน้ำปรุงราดบนผัก   ไข่ต้ม    เส้นหมี่หุนทอด    โดยเฉพาะผักจะต้องมี     มันแกวหั่นเป็นเส้นฝอย  แตงกวาหั่นเป็นเส้นหยาบ  ผักกาดหอม  ผักบุ้งลวก  และถั่วงอกลวก


น้ำชุบหยำ

 เป็นน้ำพริกชนิดหนึ่ง  ซึ่งวิธีปรุงใช้นิ้วมือขยำเครื่องปรุงทั้งหมดให้เข้ากัน  เครื่องปรุง  ได้แก่ กุ้งแห้ง  กุ้งสด  หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ  ปลาย่าง  หรือปลาชิ้งช้าง   หอมแดงซอย  กะปิเผา  มะนาวปอกผิวใช้ เนื้อมะนาว  ระกำหั่นเนื้อบาง ๆ  และส้มเก็ดด้า  พริกขี้หนู น้ำตาลทราย  เกลือ นำเครื่องปรุงรวมในชามใบใหญ่  ขยำให้เข้ากัน  ถ้าข้นเกินไปก็เติมน้ำต้มสุก  ชิมให้ได้รส เผ็ด เปรี้ยว เค็ม หวาน รับประทานกับผักสด  เช่น  แตงกวา  สะตอ  ลูกเนียง ลูกเหรียง ใบมะม่วงหิมพานต์  และผักลวกกะทิได้แก่ผักกูด ผักบุ้ง และถั่วลา (ผลกระเจี๊ยบ)


ของหวาน


โกสุ้ย

 เป็นขนมหวานคล้ายขนมถ้วยตะไล แต่ปรุงด้วยน้ำตาลทรายแดง และทรายขาว จึงมีสีน้ำตาลแดง   การละลายแป้งข้าวเจ้าและแป้งมันจะละลายกับน้ำเย็น   ผสมน้ำตาล  ที่เคี่ยวและผ่านการกรองแล้ว   เติมน้ำด่าง (กี้)  เล็กน้อย   เพื่อให้มีความเหนียว   ตั้งลังถึงนึ่งถ้วยตะไลให้ร้อนเสียก่อนจึงตักแป้งใส่  ทุกครั้งที่ตักแป้งต้องคนให้แป้งเข้ากันดี  นึ่งประมาณ ๒๐ นาที  จะสุก  เวลารับประทานจะจิ้มกับมะพร้าวขูดที่ใส่เกลือเล็กน้อยพอมีรสเค็ม


โอเอ๋ว

 ขนมหวานคล้ายวุ้นขาว  โดยการนำกล้วยน้ำว้ามาสับให้ละเอียด  ผสมกับเมล็ดพืชชนิดหนึ่ง เป็นเมล็ดเล็ก ๆ สีขาว ต้มรวมกันกับกล้วย  แล้วนำมากรองด้วยผ้าขาวบางจึงนำน้ำที่ได้ไปเคี่ยวต่อผสมวุ้นเล็กน้อย  เพื่อให้จับตัวเป็นก้อน  ทานกับน้ำเชื่อม  ถั่วแดงและน้ำแข็งใส


กันโต้ง

 ขนมหวานชนิดหนึ่งที่ทำจากเมล็ดพืชมีลักษณะคล้ายลูกเดือย  มีสีเหลืองอ่อน  รูปรี  และเม็ดเล็กกว่าลูกเดือย  นำมาต้มกับหางกะทิ  ใส่น้ำตาลทราย  แล้วจึงเติมด้วยหัวกะทิ


ขนมอี๋

 ขนมหวานชนิดหนึ่งลักษณะแป้งเป็นรูปกลม  ส่วนผสมของขนมอี๋ จะมีแป้งข้าวเหนียว ซึ่งนำมานวดกับน้ำ  ให้นุ่มปั้นเป็นก้อนกลม  นำไปลอยในน้ำเดือดตักขึ้นแช่น้ำเย็น  แล้วต้มน้ำตาลกับขิงทุบ  เมื่อน้ำตาลเดือดดีแล้ว  จึงใส่แป้งลงไปใช้รับประทานแก้ร้อนใน


ปลาแนม

 เป็นอาหารว่างในช่วงบ่าย  ปลาแนมจะมีรสชาดอร่อยขึ้นอยู่กับกรรมวิธีในการปรุงไทย  นำมะพร้าวคั่วให้อม  ผสมกับเนื้อปลาที่นึ่งแกะเอาแต่เนื้อ  หนังหมูต้ม  ปรุงรสด้วยน้ำมะขามเปียก  ข่า  กะปิ  น้ำเกลือ  ข้าวคั่ว   เคล้ารวมกันโรยถั่วลิสงใส่หอมซอย  พริกแดงหั่นฝอย  รับประทานกับผัก  ใบชะพลู  ใบทองหลาง  ผักกาดหอม

เกี่ยมโก้ย (ขนมถ้วยเค็ม)

 ขนมที่ใช้รับประทานตอนเช้า ซึ่งในสมัยก่อนจะใช้แป้งโม่ปัจจุบันใช้แป้งข้าวเจ้าแห้ง  ละลายกับน้ำเย็น น้ำร้อน  ใส่เกลือลงไปนิดหน่อยนำไปนึ่งให้สุก  แป้งจะมีลักษณะขาวใส  และมีรอยบุ๋มตรงกลางเล็กน้อย  เมื่อเย็นดีแล้วจึงโรยด้วยหอมเจียว ต้นหอม  กุ้งแห้งโขลกพอหยาบแล้วนำไปผัดกับน้ำมันให้หอม  รับประทานกับน้ำจิ้ม


ผักลิ้นห่าน

 เป็นพืชที่ขึ้นบริเวณชายหาดริมทะเล มีมากในหน้าฝน และหน้าหนาว ใช้ส่วนใบมารับประทาน  อาจรับประทานสดกับน้ำพริกต่าง ๆ หรือนำมาแกงเลียงทั้งชนิดที่ใส่กะทิ และไม่ใส่กะทิ แกงพอสุกจะอร่อย


อังกู้

 ขนมที่ใช้รับประทานกับน้ำชา  กาแฟ  และในพิธีเทศกาลตรุษจีน เช่งเม้ง   ไหว้เทวดา  งานครอบเดือนเด็กแรกเกิด  และในพิธีการฝังศพแบบจีน  เพื่อความเป็นศิริมงคล ส่วนประกอบในการทำขนมอังกู้  นำแป้งข้าวเหนียว  นวดกับน้ำ  น้ำมันพืช  น้ำตาล  สีผสมอาหารโดยเฉพาะสีแดง  นวดให้เข้ากันและนิ่ม  ส่วนผสมไส้  มีถั่วเขียวเจาะเปลือกแล้วต้มกับกะทิจนถั่วเขียวเปื่อย  จึงนำไปกวนจนแห้ง    แล้วจึงนำมาห่อกับแป้งข้าวเหนียว   นำไปราดลงในพิมพ์   ลักษณะตัวเต่า
เรียกว่า  อังกู้  ลักษณะลูกท้อ  เรียกว่า  อังโก   ลักษณะตัวขาว  เรียกว่า  อั่งก้าน  และลักษณะกลม  เรียกว่า  อังอี๋


เป่าลั้ง  (เป่าหล้าง)

 ขนมที่ใช้วิธีการปิ้ง หรือ ย่างให้สุกหอม  ส่วนผสมจะประกอบด้วยข้าวเหนียวซาวแช่น้ำ  ๑ คืน  ล้างให้สะอาดนึ่งให้สุก  แล้วนำกะทิ  น้ำตาลทราย   เกลือ  คนให้ละลาย  ปนกันกับข้าวเหนียวที่นึ่งขณะที่ยังร้อนอยู่  ส่วนของไส้ขนมใช้กุ้งแห้งป่นผัดในน้ำมันร้อน  ใส่มะพร้าวผัดให้เข้ากัน ปรุงรสด้วย   น้ำตาล  น้ำปลา  และหางกะทิ  ลักษณะเกือบแห้ง  ห่อด้วยใบตอง  ให้มีลักษณะกลมแล้วกลัดด้วยไม้กลัด  นำไปปิ้งบนตะแกรงใช้เตาถ่านขนมจะมีกลิ่นหอม


รังนก

 รังนกนางแอ่นที่คนนำมารับประทาน คือ  นกนางแอ่นชนิด  สวอลโลว์  Swallo  อยู่ทางตอนใต้ของประเทศไทย  และตอนใต้ของจีน  ประเทศมาเลเซีย  อินโดนีเซีย  รังนกที่ดีจะต้องมีสีขาวไม่มีสีเจือปน  ราคาจะสูงมาก  เนื่องจากการเก็บที่เสี่ยงอันตรายและมีจำนวนจำกัด  ส่วนใหญ่จะอยู่ตามหน้าผา และถ้ำ  จะเก็บรังนกในเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม  นกนางแอ่นจะสร้างรังในตอนกลางคืน   เป็นรูปตัวยู   เมื่อน้ำลายที่ทำรังแห้ง   และแข็งตัวจะมีลักษณะคล้าย
เยลาติน  ชาวจีนถือว่ารังนกเป็นอาหารเสริมที่ใครได้รับประทานแล้วจะทำให้ร่างกายแข็งแรง   หรือเป็นยาบำรุงกำลัง  จัดเป็นอาหารที่มีคุณค่าสูง เช่นเดียวกับโสม  ปลิงทะเล  เขากวางอ่อน  หูฉลาม
รังนกเป็นอาหารที่มีโปรตีนที่ไม่สมบูรณ์   ๖๐.๙๐%  น้ำ ๕.๑๑%  ฟอสฟอรัส  ๐.๗๓%  แคลเซี่ยม  ๐.๘๕%   และโปรตัสเซี่ยม   ๐.๐๓% นิยมรังนกมาประกอบเป็นของหวานโดยนำมาตุ๋นกับน้ำตาลกรวด


ปลาฉิ่งฉ้าง (ปลากะตัก)

เป็นปลาที่อาศัยอยู่บริเวณทะเลระดับน้ำความลึกประมาณ ๒๐-๓๐ เมตร และตามแนวชายฝั่ง  จะอาศัยอยู่กันเป็นฝูงหรือกลุ่ม  มีขนาดเล็ก - กลาง - ใหญ่  มีรูปร่างกลม และแบนสีขาว  หรือสีขาวแถบข้างลำตัวสีเทา  จะมีมากในช่วงมรสุมตะวันออก   ระหว่างเดือน ต.ค.- เม.ย. สำหรับเดือน ก.พ. - เม.ย. ช่วงฤดูวางไข่ การทำปลาฉิ้งฉ้าง โดยการล้างปลาด้วยน้ำทะเล  แล้วนำไปต้มให้สุกในน้ำเกลือเมื่อเย็นนำไปตากแดดจนแห้งสนิท
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( อังคาร, 15 มกราคม 2008 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้828
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1233
mod_vvisit_counterทั้งหมด10682165