Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
คฤหาสน์ชินประชา PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
เสาร์, 14 พฤศจิกายน 2009

บ้านชินประชา อดีตมีชีวิต

ภาพประกอบข่าว

 

น้ำทะเลสีฟ้าใสกับหาดทรายขาวนวลชวนมอง มักปรากฏเป็นภาพแรกเมื่อเอ่ยถึง "ภูเก็ต" ทว่า ความน่าสนใจของที่นี่ไม่ได้มีแค่ทะเล

  เพราะหากลองได้กวาดตามองไปรอบๆ เมือง จะพบว่าอาคารบ้านเรือนของชาวภูเก็ต ช่างมีเสน่ห์เย้ายวนชวนให้ไปเยี่ยมไปเยือนนัก โดยเฉพาะเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมแบบที่เรียกว่า "ชิโน-โปรตุกีส"

 บนถนนกระบี่ บ้านหลังใหญ่แทรกตัวอยู่ท่ามกลางแมกไม้เขียวขจี แม้วันนี้หน้าบ้านจะถูกบดบังทัศนียภาพด้วยอาคารพาณิชย์หลายชั้น แต่ความวิจิตรงดงามและความเก่าแก่ของตัวบ้าน ก็มีน้ำหนักพอที่จะดึงดูดให้ผู้คนที่สนใจเข้าไปเยี่ยมชม

 บ้านชินประชา  เป็นบ้านหลังแรกในภูเก็ต ที่ก่อสร้างโดยใช้สถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส (Sino-Portuguese Architecture) ซึ่งเป็นการผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบจีนและโปรตุกีสเข้าด้วยกัน ในช่วงปี พ.ศ.2411-2468 หรือระหว่างสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงปลายสมัยรัชกาลที่ 6 เศรษฐีภูเก็ตเชื้อสายจีนจะนิยมสร้างบ้านรูปแบบนี้กันมาก เพราะเป็นช่วงที่กิจการเหมืองแร่ดีบุกได้รับความสนใจ กอปรกับชาวโปรตุเกสเป็นชาติแรกในยุโรปที่เดินทางมาเกาะภูเก็ต และนำรูปแบบสถาปัตยกรรมมาเผยแพร่ ทำให้เกิดศิลปะผสมผสานที่งดงามแปลกตา

 ตรอกเล็กๆ ที่อยู่ข้างอาคารพาณิชย์ทันสมัยคือทางเชื่อมที่จะพาทุกคนไปยังบ้านชินประชาอายุ 106 ปี บ้านหลังนี้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2446 โดยพระพิทักษ์ชินประชา (ตันม่าเสียง) เจ้าของเหมืองแร่ดีบุกบนเกาะภูเก็ต และพ่อค้าสินค้าแบรนด์ "เหลียนบี้" ในเกาะปีนัง

 จรูญรัตน์ ตัณฑวณิช หรือ ป้าแดง ภรรยาคุณประชา ตัณฑวณิช ทายาทรุ่นที่ 4 (ถึงแก่กรรมแล้ว) เล่าว่า พระพิทักษ์ชินประชา เป็นลูกชายหลวงบำรุงประเทศ (ตันเนียวยี่) ชาวมณฑลฮกเกี้ยน ที่เดินทางมาประกอบธุรกิจในประเทศไทยและเกาะปีนัง จนร่ำรวยถึงขั้นเศรษฐี และให้กำเนิดลูกชายคนโต คือ พระพิทักษ์ชินประชา ที่จังหวัดภูเก็ต

 เมื่ออายุได้ 20 ปี พระพิทักษ์ชินประชาเริ่มสร้างบ้านหลังนี้ตามรูปแบบชิโน-โปรตุกีส เป็นหลังแรกของจังหวัดภูเก็ต หรือที่เรียกกันว่า "อังม่อเหลา" ด้วยตั้งใจว่าจะใช้เป็นเรือนหอ ใช้เวลาสร้างกว่า 2 ปีจึงแล้วเสร็จ ทว่า ภรรยากลับไม่ยอมย้ายมาอยู่ เนื่องจากสมัยนั้นบ้านหลังนี้อยู่ห่างไกลจากตัวเมือง ทั้งยังเป็นป่ารก พระพิทักษ์ชินประชาจึงเปิดบ้านนี้ไว้รับแขกและเพื่อนๆ ที่มาจากต่างจังหวัด

 พระพิทักษ์ชินประชา เป็นนายเหมืองผู้สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับภูเก็ตมาก และด้วยตระหนักถึงความสำคัญด้านการศึกษา จึงบริจาคทุนทรัพย์ส่วนตัวสร้างโรงเรียนสตรีให้ชาวภูเก็ต ซึ่งล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 พระราชทานนามว่า "โรงเรียนสตรีตัณฑวณิชวิทยาคม" เป็นอนุสรณ์แห่งคุณงามความดีที่ปรากฏมาถึงทุกวันนี้ ส่วนบ้านชินประชานั้นเป็นมรดกตกทอดชิ้นสำคัญที่ลูกหลานยังคงรักษาไว้ คล้ายเป็นที่ระลึกแห่งความทรงจำ

 อักษรภาษาจีนที่อยู่เหนือประตูบ้านสลักคำว่า "เหลียนบี้" ซึ่งเป็นชื่อยี่ห้อสินค้าของหลวงบำรุงประเทศ ป้าแดง บอกว่า เหลียนบี้ แปลว่า ภูเขาดอกบัว เหตุที่นำอักษรสลักมาติดไว้ที่ประตูก็เพื่อเตือนใจให้รำลึกถึงความเหนื่อยยากของบรรพบุรุษที่ต่อสู้มาจนมีวันนี้

 ลักษณะบ้านชินประชาเป็นบ้านไม้ 2 ชั้น ทางเข้ามีมุขยื่นออกมา หลังคาจั่ว ทาสีบ้านเป็นสีขาว ที่ประหน้าต่างทาสีเทา สีฟ้า ส่วนประตูหน้าสลักลวดลายและลงรักปิดทอง สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนในความเป็นชิโน-โปรตุกีส หรือศิลปะผสมผสานของชาติตะวันออกกับตะวันตกของบ้านชินประชา คือ ซุ้มประตูมีลวดลายแบบโปรตุกีส หน้าต่างโปร่งเป็นแบบดัตช์ แต่ด้านข้างและด้านบนหน้าต่างมีลวดลายสวยงามตามอย่างฝรั่งเศส ส่วนลวดลายแกะสลักลงรักปิดทองสวยงามตามรูปแบบจีน ฯลฯ

 สังเกตที่ประตูข้างบ้าน มีรถลากประดับด้วยผ้าแพรสีสันสวยงามจอดอยู่ ป้าแดง บอกว่า บ้านชินประชาเป็นสถานที่จำลองการจัดงานแต่งงานแบบจีนโบราณผสมผสานรูปแบบพื้นเมืองภูเก็ตที่เรียกว่า "บาบ๋า" ซึ่งเมื่อถึงบ้านชินประชาก็จะเปิดรับคู่รักคู่แต่งงานที่ประสงค์จะถ่ายภาพร่วมกัน ณ เคหสถานแห่งนี้

 เมื่อเปิดประตูผ่านเข้าไปในตัวบ้าน สิ่งแรกที่สร้างความแปลกตาให้กับผู้พบเห็นก็คือ "ซิมแจ้" หรือ บ่อน้ำกลางบ้าน ป้าแดงบอกว่า ซิมแจ้ เป็นเอกลักษณ์หนึ่งของบ้านชินประชา ซึ่งนอกจากจะช่วยระบายอากาศ ทำให้บ้านไม่ร้อนแล้ว ยังถูกหลักฮวงจุ้ยด้วย

 สีสวยๆ ของกระเบื้องปูพื้น เป็นอีกหนึ่งความสนใจที่จะพลาดชมไม่ได้ เพราะพื้นหินอ่อนลายๆ แบบนี้สั่งมาโดยตรงจากประเทศอิตาลี วัสดุที่มาพร้อมๆ กัน คือรั้วบ้านจากฮอลแลนด์ เป็นรั้วเหล็กที่สั่งหล่อพิเศษเป็นรูปดอกไม้ ปัจจุบันไม่มีให้ชมแล้ว เพราะการปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ทำให้มีการทุบทิ้งโบราณวัตถุที่เป็นสมบัติของประเทศชิ้นนี้ไป

 เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่เป็นมรดกตกทอดที่หลวงบำรุงประเทศนำมาจากเมืองจีน อย่างเก้าอี้มุขกับเครื่องกังไสก็เป็นอุปกรณ์ถ่วงน้ำหนักเรือ ในคราวที่อพยพมาเมืองไทยด้วยเรือสำเภา นอกจากนี้ยังมีเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ ที่โดยมากซื้อหามาจากเกาะปีนัง ด้วยสมัยนั้นการซื้อขายทางเรือผ่านเกาะปีนังสะดวกกว่าเดินทางเข้ามาเมืองหลวงมาก ซึ่งเฟอร์นิเจอร์ที่มีจำหน่ายบนเกาะปีนังก็มักจะเป็นสินค้าจากประเทศตะวันตก เจ้าของบ้านจึงหาซื้อมาใช้สอยเพื่อความสะดวกสบายตามแบบฉบับเจ้าสัวกิจการเหมืองแร่ ซึ่งร่องรอยความทันสมัยในยุคนั้นที่ผ่านมาถึงยุคนี้ ได้แก่ นาฬิกาผู้หญิงถือโคมไฟมาจากฝรั่งเศส เตียงนอนทรงหรูจากอังกฤษ พัดลมใช้น้ำมันก๊าดจากอเมริกา ชุดเฟอร์นิเจอร์ไม้จากปีนัง ฯลฯ

 เจ้าของบ้านคนปัจจุบัน บอกว่า บ้านหลังนี้เคยใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ไทย และต่างประเทศมาแล้วหลายเรื่อง หากใครอยากเห็นว่าสวยงามอย่างไร แวะเข้าไปชมได้ทุกวัน เปิดให้ชมเวลา 11.30 - 14.00 น. เท่านั้น สอบถามก่อนเยี่ยมชมได้ที่ 0-7621-1281, 0-7621-1167

 

 

***

หมายเหตุภูเก็จ

สารานุกรม มทศ.

อ้างอิง

การช่างฝีมือ3วัฒน์ สถาปัตยกรรม
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( พฤหัสบดี, 22 มีนาคม 2018 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้475
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1286
mod_vvisit_counterทั้งหมด10735981