Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
ชาดาร์จีลิง PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อังคาร, 20 ตุลาคม 2009

สิกขิม ตอนที่3 เที่ยวดินแดนแห่งพรรณไม้และชิมชาที่ดีที่สุดในโลก

 
วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2552
การเดินทางสู่ตอนเหนือของประเทศอินเดียในครั้งนี้ ทำให้เราได้ทราบว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของสิกขิมมีมูลค่ามากถึง 60-70%

 

จากรายได้ทั้งหมดของรัฐนี้ โดยมีเมืองกังต๊อกเป็นศูนย์กลางการปกครอง และยังเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของนักท่องเที่ยวที่จะไปค้นหาประสบการณ์ในดินแดนแถบนี้อีกด้วย

เหตุผลสำคัญของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังภูมิภาคนี้ คือการได้สัมผัสธรรมชาติที่บริสุทธิ์ มองไปทางไหนก็เห็นแต่ความเขียวชอุ่ม ภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ สัมผัสกับประสบการณ์ในการขับรถ ลัดเลาะไปตามป่าเขาลำเนาไพร ได้ยินเสียงนกร้อง เสียงน้ำไหล มองเห็นลำธาร และน้ำตกเล็กๆ ตลอดเส้นทาง รวมถึงสายหมอกที่ดูเหมือนกับกำลังวิ่งเล่นอยู่บนยอดเขาที่สลับซับซ้อน เป็นภาพที่สร้างความประทับใจได้อย่างไม่รู้ลืมเลยทีเดียว

นักท่องเที่ยวที่เลือกจะเดินทางไปยังสิกขิม มักจะเลือกเดินทางไปยังเมืองใกล้ๆ กันด้วย คือ กาลิมปง และดาร์จีลิง ของรัฐ West Bengal เพราะมีลักษณะภูมิประเทศ ศิลปวัฒนธรรม รวมถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนคล้ายคลึงกัน แต่ในขณะเดียวกัน แต่ละเมืองก็มีจุดเด่นเป็นเอกลักษณ์ที่ดึงดูด นักท่องเที่ยวแตกต่างกันไปด้วย

เมืองกาลิมปง ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหน้าด่านเชิงเขาก่อนเข้าสู่ดาร์จีลิงและสิกขิม ชื่อเสียงของกาลิมปงที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ไม้ที่สำคัญของประเทศอินเดีย ซึ่งส่งออกไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกา รายได้หลักประมาณ 60% ของกาลิมปงจึงมาจากการส่งออกกล้วยไม้ ดอกไม้ และพันธุ์ไม้ชนิดต่างๆ สาเหตุที่ทำให้กาลิมปงสามารถเพาะพันธุ์ไม้ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เพราะว่าเป็นภูมิภาคที่มีดินดี และสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม ที่เรียกกันว่า Semi-Tropical ซึ่งว่ากันว่าวัฒนธรรมของการปลูกไม้ดอกไม้ประดับเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ได้รับอิทธิพลมาจากชาวอังกฤษในช่วงที่เข้ามามีบทบาทและปกครองดินแดนแถบนี้นั่นเอง

สถานที่สำคัญของกาลิมปงที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวคือ Delo Hill ซึ่งเป็นจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นตัวเมืองทั้งหมดของกาลิมปงได้ทั้ง 360 องศา รวมถึงยังมีดอกไม้นานาชนิด หลากหลายสีสัน บานสะพรั่งคอยต้อนรับนักท่องเที่ยวในทุกฤดูกาล นอกจากนี้แล้วที่ Delo Hill ยังมีที่พักไว้คอยบริการนักท่องเที่ยวที่อยากขึ้นไปค้างคืนในจุดที่อยู่สูงที่สุดของเมืองกาลิมปงอีกด้วย

นอกจาก Delo Hill แล้ว นักท่องเที่ยวยังสามารถสัมผัสวิถีชีวิตของผู้คนแถบนี้ได้ที่ตลาดกาลิมปง ซึ่งอยู่กลางตัวเมือง สามารถเลือกซื้อหาสินค้าพื้นเมือง และของฝากได้ในราคาย่อมเยา ตลาดกาลิมปงมีขนาดไม่ใหญ่มาก คล้ายๆ กับตลาดนัดในต่างจังหวัด แต่มีสินค้านานาชนิด ทั้งสิ่งของ เครื่องใช้ เสื้อผ้า เครื่องประดับ รวมไปถึงอาหารพื้นเมืองให้ลอง ลิ้มชิมรสกันในราคาสบายกระเป๋า ผู้นำคณะซึ่งเป็นคนท้องถิ่นได้ยังแนะนำให้ทีมงานโลก 360 องศา ชิมนมจามรีแห้ง ลักษณะเป็นแท่งสี่เหลี่ยมคล้ายลูกเต๋าไว้สำหรับเคี้ยวเล่น ว่ากันว่าเป็น Bubble Gum หรือหมากฝรั่งของแถบนี้

นอกจากเมืองกาลิมปงซึ่งอยู่ในรัฐ West Bengal อันเป็นสถานที่หนึ่งที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปแล้ว เมืองดาร์จีลิง นับเป็นอีกหนึ่งจุดหมายที่อยู่ในเส้นทางท่องเที่ยวสิกขิมเช่นกัน จุดเด่นของดาร์จีลิงเมื่อเดินทางไปถึง สิ่งแรกที่ปรากฏต่อสายตาและรู้ได้ทันทีว่าได้เข้าเขตดาร์จีลิงแล้วนั่นคือ ไร่ชาสุดลูกหูลูกตา ซึ่งนอกเหนือจากการเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของเมืองนี้แล้ว ยังเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวนิยมมามากที่สุดในภูมิภาคนี้อีกด้วย

เมืองดาร์จีลิงนั้น เป็นเมืองหนึ่งในรัฐ West Bengal อยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเมือง กังต๊อก เมืองหลวงของสิกขิม และอยู่ห่างจากกาลิมปง ประมาณ 50 กิโลเมตร ชื่อเสียงของดาร์จีลิงนั้น เป็นที่รู้จักกันดีไปทั่วโลกว่า เป็นแหล่งปลูกและผลิตชาที่ดีที่สุดในโลก ก่อนที่อินเดียจะได้รับเอกราชจากอังกฤษนั้น ดาร์จีลิงเป็นรัฐอิสระที่ยังไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย และเคยตกอยู่ภายใต้การดูแลของสิกขิมและอังกฤษ โดยอังกฤษได้พัฒนาดาร์จีลิงให้เป็นเมืองตากอากาศ และเมืองศูนย์กลางการค้าอีกแห่งหนึ่งในทำการค้าขายกับทิเบต

ความสำคัญของดาร์จีลิงที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ คือการเป็นแหล่งปลูกชาที่ดีที่สุดในโลก สืบเนื่องจากที่อังกฤษถูกยกเลิกเอกสิทธิ์การนำเข้าชาจากประเทศจีน บริษัทอีสต์อินเดียจึงได้ทำการบุกเบิกในการทำไร่ชาในประเทศอินเดีย เนื่องจากพบว่ามีการปลูกชาในรัฐอัสสัม ราวปี 1840 ดร.แคมเบลล์ ได้ทำการทดลองปลูกชาพันธุ์ Camellia sinensis ซึ่งลักลอบนำเข้ามาจากประเทศจีน และเป็นสายพันธุ์เดียวกับชาอู่หลง ผลปรากฏว่าชาที่ทดลองปลูกและผลิตในดาร์จีลิงนั้นมีคุณภาพดีเทียบเท่ากับชาจีน ทำให้มีการขยายพื้นที่ในการปลูกชาให้มากยิ่งขึ้น จนกระทั่งส่งผลให้อินเดียนั้นสามารถที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตและส่งออกชารายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลกในเวลาต่อมา

นอกจากจะประสบผลสำเร็จเรื่องการปลูกชาในดาร์จีลิงแล้ว ยังมีการคิดค้นกรรมวิธีในการผลิตชาที่เรียกกันว่า Orthodox Method ซึ่งเป็นกรรมวิธีที่ค่อนข้างสลับซับซ้อน ทั้งในเรื่องของการเลือกเก็บเฉพาะยอดใบชาอ่อน ในช่วงระยะเวลาที่ดีที่สุดของปี จนกระทั่งกระบวนในการบ่มชา การคัดแยกในขั้นสุดท้าย เพื่อให้ได้ชาที่มีคุณภาพดีที่สุด ในเมือง ดาร์จีลิงนั้นมีโรงงานผลิตชากระบวนการ Orthodox Method อยู่หลายสิบโรงงาน และถือเป็นความ เชี่ยวชาญเฉพาะทางของคนที่นี่ รวมถึงยังส่งออกไปจำหน่ายในประเทศต่างๆ ทั่วโลก นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังดาร์จีลิงสามารถเข้าชมกระบวนการผลิตต่างๆ ของโรงงานเหล่านี้ ซึ่งจะทำให้เห็นถึงความพิถีพิถันในทุกขั้นตอนการผลิต และถึงขนาดพูดกันว่าหากเดินทางถึงดาร์จีลิงแล้ว ยังไม่ได้ชิมชาของที่นี่ก็เหมือนกับมาไม่ถึงดาร์จีลิงเลยทีเดียว

สีสันสวยงามของพรรณไม้นานาชนิดในกาลิมปงน่าประทับใจอย่างไร รสชาติของชาดาร์จีลิงที่กล่าวขานกันว่าเป็นแชมเปญในโลกของชาจะหอมกรุ่นเพียงใด ความอุดมสมบูรณ์ของดินแดนแถบนี้ยังมีอะไรให้ค้นหาอีกบ้าง ติดตามชมได้ทางรายการ โลก 360 องศา วันเสาร์ 21.30-22.00 น. ทางททบ.5 ค่ะ

 

อ้างอิง

http://www.norsorpor.com/ข่าว/n1726057/สิกขิม%20ตอนที่3%20เที่ยวดินแดนแห่งพรรณไม้และชิมชาที่ดีที่สุดในโลก

วัฒนธรรม5คหกรรมศิลป์ เครื่องดื่ม

เสียงนกกรงหัวจุก

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( เสาร์, 13 สิงหาคม 2011 )
 
< ก่อนหน้า

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้1901
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1238
mod_vvisit_counterทั้งหมด10733858