Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
ปูมการท่องเที่ยวภูเก็ต PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
จันทร์, 12 ตุลาคม 2009

(มห.ภูเก็จ ๒๓๐๕) 

ปูมการท่องเที่ยว

ของจังหวัดภูเก็ต

                                    

 

ชาญ วงศ์สัตยนนท์

อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปเพื่ออ่านมันได้

โทร. ๐๘๑ ๘๒๑๓๒๑๓

โทรสาร ๐๗๖ ๒๓๖๗๗๑ 

 

เกริ่นนำ

 

                 การท่องเที่ยวเริ่มต้นที่ไหน? เมื่อไร? วิวัฒนาการมาอย่างไร? คงไม่มีใครบอกกล่าวได้อย่างชัดเจน แต่พอจะเป็นที่เข้าใจได้ว่า เป็นการพัฒนาการอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาอย่างยาวนาน จากการเดินทางเพื่อการค้า  เพื่อการแสวงหาวัตถุดิบและสินค้า เพื่อเยี่ยมเยือนญาติหรือเพื่อนสนิทมิตรสหาย รวมถึงท่องเที่ยวไปเพื่อการเรียนรู้สภาพแวดล้อมที่แตกต่าง การเดินทางจากสถานที่หนึ่งไปยังสถานที่หนึ่ง จะด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตาม ย่อมจะเป็นการเดินทางไปในสถานที่และมีผู้คนที่แตกต่าง และในการเดินทางแต่ละครั้งนั้น จะพบว่าเป็นการเยี่ยมเยือน ซึ่งพบปะกันนั่นแฝงไว้ด้วยไมตรีจิตของผู้คน ที่ให้การต้อนรับ ไม่ว่าเป็นการเยี่ยมเยือนของชนชั้นระดับใดก็ตาม มีการให้เกียรติซึ่งกันและกันระหว่างผู้เหย้าและผู้เยือน ด้วยการแลกเปลี่ยนเล่าเรื่องราวสู่กันฟัง แสดงน้ำใจด้วยของฝากและของระลึกระหว่างกัน ก่อให้เกิดวัฒนธรรมที่ดีต่อกัน ในการแสดงออกซึ่งน้ำใจ นับว่าเป็นความสุขของทั้งผู้ที่เดินทางไปเยี่ยมหา และความเปรมปรีดาของผู้ให้การต้อนรับอย่างแท้จริง พอจะที่กล่าวได้ว่า การท่องเที่ยวนั้นได้ซ่อนความดีงาม นำความสุข ให้กับผู้คนที่เกี่ยวข้อง และหากจะมองให้ลึกลงไปอีกยังจะพบอีกว่า นอกเหนือจากความสุขจากการท่องเที่ยวและเยี่ยมเยือนกันด้วยน้ำใสไมตรีแล้วนั้น ลึกลงไปจะพบว่ามีการเคารพ และการยอมรับ ในประเพณี ศาสนา วัฒนธรรม ปรัชญาความคิด และวิถีชีวิตของชุมชนที่แตกต่างระหว่างกันอีกด้วย


                 ครั้นเมื่อการคมนาคมขนส่งทั้งทางน้ำ ทางบก ทางอากาศได้มีการพัฒนาก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น ได้มีการประดิษฐ์คิดค้นยานพาหนะเรื่อยมานับตั้งแต่เรือใบ รถม้า รถยนต์ เรือยนต์ รถไฟ ตลอดจนเครื่องบิน ในขนาดและรูปร่างต่าง ๆ ทำให้การเดินทางไปมาหาสู่มีความรวดเร็วและสะดวกสบายมากขึ้น มีผู้เดินทางเพื่อการท่องเที่ยวมากขึ้น การเยี่ยมเยือนเหล่านี้จึงวิวัฒน์เป็นรูปแบบธุรกิจการท่องเที่ยวมากขึ้น ขยายผลครอบคลุมไปยังการประกอบการอื่น ๆ ได้แก่ ที่พัก ร้านอาหาร การท่องเที่ยว การเยี่ยมชมสถานที่ต่าง ๆ  และอื่น ๆ  ที่สามารถพัฒนาเป็นสิ่งที่จะรองรับการเยี่ยมเยือนในลักษณะต่าง ๆ  การพัฒนาการการท่องเที่ยวของโลกในปัจจุบัน ในทุกประเทศต่างต้องการที่จะมีการพัฒนาการทางการท่องเที่ยว พบว่าการท่องเที่ยวในระดับโลกเติบโตเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่โตมากขึ้น จากสถิติที่มีการบันทึกโดยองค์กรการท่องเที่ยวโลก (World Tourism Organization) ในปีพ.ศ.๒๔๙๓ มีจำนวนนักท่องเที่ยวของโลกประมาณ ๒๕ ล้านคน และมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มเป็น ๙๒๔ ล้านคน ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑
                    ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความนิยมในระบอบเสรีนิยม ประชาธิปไตย ได้เปิดประตูรับนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยความยินดี  และพยายามผ่อนคลายข้อจำกัดเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย จนกระทั่งในปัจจุบันการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยมีความสะดวกสบายเป็นอย่างมาก ด้วยนโยบายของรัฐในการส่งเสริมการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวปัจจุบันจึงมีบทบาทต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดย เฉพาะอย่างยิ่งทางด้านเศรษฐกิจ ด้วยในระยะ ๓๐ ปีที่ผ่านมา ทุกรัฐบาลได้ใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ เพราะสามารถแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และการกระจายรายได้ของประเทศไปสู่พื้นที่ที่ห่างไกลได้
                    อย่างไรก็ตาม แม้การท่องเที่ยวได้ส่งผลดีต่อมิติทางเศรษฐกิจของชุมชนได้เป็นอย่างดี แต่ในเวลาเดียวกันได้ส่งผลกระทบต่อมิติทางสังคมด้วยเช่นกัน อันได้แก่สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต วัฒนธรรม และปรัชญาความคิด ของคนในแต่ละชุมชน ผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ตลอดระยะเวลา ๕๐ ปีที่ผ่านมานั้นย่อมเกิดทั้งผลดีและผลเสีย ซึ่งผลกระทบเหล่านี้ในอดีตที่ผ่านมายังไม่ได้มีการบันทึกและทำการวิเคราะห์ว่าวิวัฒนาการทางการท่องเที่ยวจากอดีตจนถึงปัจจุบันเป็นไปอย่างไร ได้ส่งผลกระทบต่อสังคมในแต่ละด้านอย่างไร ผู้เขียนมีความเห็นว่า สมควรที่จะทำการศึกษาวิเคราะห์ว่า การพัฒนานั้นเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่อย่างไร และควรพัฒนาปรับปรุงให้เป็นไปในแนวทางที่ดีเป็นประโยชน์ต่อสังคมนั้น ๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้อย่างไร
                      ผู้เขียนมีความคิดว่าหากได้มีการบันทึกการพัฒนาการเหล่านี้ไว้ ย่อมสามารถที่จะเป็นข้อมูล และเป็นแนวทางในการวิเคราะห์ ขยายผลให้รู้ถึงจุดแข็ง(Strength)  จุดอ่อน (Weakness) โอกาส (Opportunity) และอุปสรรค (Threats) ต่อพัฒนาการการท่องเที่ยวได้ไม่มากก็น้อย ในฐานะที่ผู้เขียนเองได้มีโอกาสสัมผัส และคลุกคลีกับการพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตมาระยะหนึ่ง คิดว่าหากทำการบันทึกพัฒนาการที่ผ่านมาขึ้น โดยคาดหวังว่าข้อมูลเหล่านี้อาจเป็นข้อสังเกตที่นำมาใช้เป็นแนวทางในการศึกษา พัฒนาการท่องเที่ยวในระดับต่อ ๆ ไปได้ จึงได้บันทึกเรียบเรียงเหตุการณ์ พร้อมนำเสนอบทวิเคราะห์ ตลอดจนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ มา ณ โอกาสนี้ด้วย

หมายเหตุ
                 ผู้เขียนได้บันทึกเรียบเรียง ปูมการท่องเที่ยวนี้ขึ้น จากความทรงจำและประสบการณ์ในอดีต  เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อการพัฒนาการทางการท่องเที่ยวของภูเก็ต  หากข้อมูลหรือเงื่อนเวลามีความคลาดเคลื่อนไปบ้าง ผู้เขียนใคร่ขออภัยมา ณ โอกาสนี้
               หากบทวิเคราะห์นี้มีส่วนดีมีคุณค่าและมีประโยชน์ ผู้เขียนขอมอบให้บุคคลต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากจนไม่สามารถระบุได้

 

ยุคเหมืองแร่


พ.ศ. ๒๒๒๘ การติดต่อกับต่างชาติของภูเก็ตในระยะแรก

                        ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประเทศฮอลันดามีอิทธิพลในเอเซียเป็นอย่างมากได้สร้างเมือง Batavia (เมืองปัตตาเวียเป็นเมืองเก่าตั้งอยู่ทางทิศเหนือของกรุงจาการ์ต้าในเกาะชวาของประเทศอินโดนิเซียในปัจจุบัน) มีการค้าที่ความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก และได้ขยายอิทธิพลมาถึงกรุงสยาม ดังนั้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเจริญราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ กับพระสันตะปาปาของฝรั่งเศส เพื่อช่วยเหลือให้กรุงสยามพ้นภัยคุกคามจากฮอลันดา ในขณะเดียวกันพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ก็ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะโค่นอำนาจทางการค้าของฮอลันดาในตะวันออก ส่วนพระสันตะปาปามีพระราชประสงค์ที่จะเผยแพร่คริสตจักรมายังตะวันออกเช่นกัน จึงได้ส่งคณะทูตโดยมีเชอวาเลีย เดอ ซามอง (เชอวาลิเอร์ เดอ โชมองต์)เป็นราชทูต เพื่อที่ฝรั่งเศสสามารถที่จะร่วมกับไทยต่อสู้ฮอลันดา ท่านราชทูตเชอวาเลีย เดอ ซามอง จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสร้างเมืองสงขลาเพื่อต่อสู้ทางการค้ากับเมืองปัตตาเวีย และขอรับสิทธิทางการค้าผูกขาดค้าขายแร่ดีบุกที่ภูเก็ตแต่ผู้เดียว โดยจัดตั้งคลังสินค้ารับซื้อดีบุกโดยมีเรือจาก "คลอรามันเดล" แล่นรับส่งสินค้า เดินทางมายังภูเก็ตปีละ ๑ ลำประจำทุกปี [หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ http://haab.catholic.or.th/churchbkk/belief.html หัวข้อ ๑.๔ ทูตฝรั่งเศสคณะแรกมายังกรุงศรีอยุธยา]


พ.ศ. ๒๓๒๘ การค้าดีบุกกับต่างชาติ


                       ในยุคสมัยท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร พระยาราชกปิตันเหล็กหรือกัปตันฟรานซิส ไล้ท์ (Captain Francis Light) แห่งเมืองซัฟฟอร์ค ประเทศอังกฤษ เป็นนายทหารเรือยศเรือโท ประจำอยู่ในเรือแอโรเก้น (H.M.S. Arrogant)ได้ลาออกจากราชการ และผันแปรตนเองเป็นพ่อค้าวานิช อยู่ในสังกัดบริษัท อีสต์อินเดียของอังกฤษ ได้เช่าเกาะหมาก(เกาะปีนัง)จากเจ้าเมืองไทรบุรี พร้อมสถาปนาตนเองเป็นเจ้าเมือง และด้วยความเป็นกัปตันเรือ จึงได้เดินเรือค้าขายระหว่างอินเดียกับชายฝั่งตลอดแหลมมลายู เช่น เมืองตะนาวศรี มะริด เมืองถลาง เมืองไทรบุรี ปีนัง และมะละกา เป็นต้น ระหว่างที่จอดเรือตามเมืองท่าต่าง ๆ  นั้น  ก็จะนำสินค้าจากอังกฤษและยุโรปมาขาย ในขณะเดียวกันจะรับซื้อสินค้าพื้นเมืองกลับไปขายที่อังกฤษและยุโรปเช่นกัน เมื่อเรือมาถึงเกาะภูเก็ต(เมืองถลาง) ได้ติดต่อค้าขายกับท่านผู้หญิงจัน (ท้าวเทพกระษัตรี) ด้วยการนำเสื้อผ้าแพรพรรณ อาวุธและฝิ่นมาขาย ในขณะเดียวกันได้รับซื้อดีบุก ไข่มุก งาช้าง หนังสัตว์ และสมุนไพร กลับไป
                        การเดินทางไปในท้องทะเลอันดามันอยู่ตลอดเวลา กัปตันฟรานซิส ไล้ท์จึงเป็นผู้หนึ่งที่เตือนท่านผู้หญิงจันให้รู้ว่าพม่ากำลังเดินทางมาเข้าตีเมืองถลาง ทำให้ท่านผู้หญิงจัน(ท้าวเทพกระษัตรี)  คุณมุก(ท้าวศรีสุนทร) เตรียมตัวป้องกันและตีทัพพม่าแตกพ่ายไปในวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๓๒๘ [www.phuketdata.net]

พ.ศ. ๒๔๕๐ การทำเหมืองแร่ในทะเล
          ในยุคสมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ( คอซิมบี้ ณ ระนอง ) และเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมของประเทศอังกฤษ ทำให้แร่ธาตุต่าง ๆ  เป็นที่ต้องการอย่างมาก มีชาวอังกฤษเดินทางออกแสวงหาแร่ต่าง ๆ  โดยเฉพาะแร่ดีบุกเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมาก ด้วยความสมบูรณ์ของแร่ดีบุกในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ การทำเหมืองแร่ดีบุกบนบกเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ในทุกพื้นที่ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ นับตั้งแต่เกาะบอร์เนียว สิงคโปร์ มะละกา ปีนัง ตลอดแนวจนถึงพังงาและภูเก็ต การทำเหมืองแร่ดีบุกบนบกนั้นมีความต้องการใช้แรงงานเป็นอย่างมาก  จึงมีชาวจีนอพยพผ่านปีนังเข้าภูเก็ตเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นแรงงานในเหมืองแร่
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ พบว่าแร่ดีบุกมีอยู่ในทะเลเป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถนำขึ้นมาได้ ชาวออสเตรเลีย Captain Edward Thomas Miles เกิดที่เมืองโฮบาต (Hobart), เกาะทัสมาเนีย(Tasmania) ภายหลังเติบโตในรัฐวิคตอเรีย (Victoria), ประเทศออสเตรเลีย (Australia)  ได้เดินทางมาที่จังหวัดภูเก็ต และได้รับสัมปทานการทำเหมืองแร่ จัดตั้งบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ขึ้นและนำหุ้นออกขายที่เมืองโฮบาต (Hobart) โดย Captain Edward Thomas Miles ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการทั่วไปของบริษัทฯ ต่อมา Captain Edward Thomas Miles ได้คิดประดิษฐ์เรือขุดแร่ในทะเล (Tin Dredge) ลำแรกของโลก โดย Captain Edward Thomas Miles ออกแบบและก่อสร้างขึ้นในสกอตแลนด์ แล้วนำมาประกอบขึ้นที่เกาะปีนังประเทศมาเลเซีย การใช้เรือขุดแร่สามารถผลิตปริมาณดีบุกได้เป็นจำนวนมาก การทำเหมืองแร่ในเขตจังหวัดพังงา ตะกั่วป่าและภูเก็ตเป็นไปอย่างกว้างขวางทั่วทุกพื้นที่ทั้งบนบกและในทะเล เศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตเติบโตและเฟื่องฟูด้วยธุรกิจเหมืองแร่ดีบุกตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา[http://adbonline.anu.edu.au/biogs/ A๑๐๐๔๘๗ b.htm]

 

เข้าสู่ยุคการท่องเที่ยว
พ.ศ. ๒๕๑๒ เริ่มต้นการท่องเที่ยวของภูเก็ต


              การถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องเจมส์บอนด์ ตอนเทพบุตรปืนทอง(James Bond - The Man with The Golden Gun) นำแสดงโดยโรเจอร์ มัวร์ ซึ่งรับแสดงบทเป็นเจมส์ บอนด์ เป็นการรับบทครั้งแรกต่อจากฌอน คอนเนอรี่ ในภาพยนตร์ชุด “เจมส์ บอนด์ พยัคฆ์ร้าย ๐๐๗” ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่มีความโด่งดังเป็นอย่างมากในเวลานั้น เป็นที่ปรากฏว่าสถานที่ใดที่ได้ใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้มักจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในเวลาต่อมา ดังนั้นภายหลังภาพยนตร์เรื่องนี้ได้นำออกฉายตามโรงภาพยนตร์อย่างแพร่หลายและโด่งดังไปทั่วโลก ทำให้หมู่เกาะพังงา เขาพิงกันและเกาะตะปู ในอ่าวพังงา เผยแพร่ออกไปเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในระดับโลก จูงใจให้นักท่องเที่ยวสนใจเข้ามาท่องเที่ยว และมีความนิยมชมชอบบอกกล่าวเล่าต่อกัน จนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความนิยมเป็นอย่างมาก จึงพอจะยึดถือได้ว่าการท่องเที่ยวของภูเก็ตได้เริ่มต้น ณ บัดนั้นเป็นต้นมา ในระยะแรก ๆ นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยว มีลักษณะใส่กระเป๋าสะพายหลัง (Backpacker) เข้าพักอาศัยโรงแรมในเมือง ส่วนที่พักตามบริเวณชายหาด มีการก่อสร้างเป็นแบบบังกะโลอย่างง่าย ๆ  พักค้างคืนในอัตราค่าห้องคืนละ ๖๐-๑๐๐ บาท
พ.ศ. ๒๕๑๗ - ๒๕๒๒ การลงทุนทางการท่องเที่ยวของภูเก็ตในระยะแรก
                         ความมีชื่อเสียงของหมู่เกาะพังงา โดยภาพยนตร์ James Bond ทำให้เขาพิงกันและเกาะตะปู เริ่มเป็นที่รู้จักกันและเรียกขานว่า  James Bond Island ปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีการสร้างโรงแรมระดับชั้นหนึ่ง (First Class Hotel) เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้แก่โรงแรมภูเก็ตไอส์แลนด์รีสอร์ท (พ.ศ. ๒๕๑๔ โรงแรมดิเอเวซอนในปัจจุบัน) โรงแรมเพิร์ล (พ.ศ.๒๕๑๒) โรงแรมป่าตองบีช (พ.ศ. ๒๕๑๑) โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน (พ.ศ.๒๕๒๒) และโรงแรมพันทรี (พ.ศ. ๒๕๒๔ โรงแรมเดอะเจดีย์ในปัจจุบัน) ตามลำดับ ราคาห้องพักอยู่ในระดับอัตรา ๒๔๐ – ๓๒๐ บาทต่อคืน สามารถทำรายได้เข้าสู่จังหวัดปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ ล้านบาท


พ.ศ. ๒๕๒๑ – ๒๕๒๔ การท่องเที่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่ต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ราคาน้ำมัน                                             
                        ในขณะที่ภาคเอกชนมีความตื่นตัวในเรื่องการท่องเที่ยว มีการลงทุนสร้างโรงแรมเกิดขึ้นตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ  ได้แก่ พัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ต มีจำนวนห้องพักเพิ่มมากขึ้นในทุกแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ แต่จำนวนนักท่องเที่ยว ไม่ได้เพิ่มขึ้นในอัตราหรือปริมาณที่สอดคล้องกับจำนวนห้องพักของโรงแรมที่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
                         ในปีนี้ผู้ประกอบการทางการท่องเที่ยว จังหวัดภูเก็ต ได้รวมตัวกันก่อตั้งสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต โดยมีนายวิจิตร ณ ระนองเป็นนายกสมาคมฯ ในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๑
                   แม้องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว (อ.ส.ท.) ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่ในระยะแรกยังไม่ได้รับการสนับสนุนทางด้านงบประมาณเท่าที่ควร ตลอดระยะเวลา ๒๐ ปีที่ผ่านมาการท่องเที่ยวได้มีการขยายตัวโดยภาคเอกชน ภาครัฐจะสนับสนุนในการทำประชาสัมพันธ์เท่านั้น เพราะรัฐยังให้ความสำคัญในการพัฒนาการเกษตร และการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมมากกว่า ด้วยการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว รัฐบาลเริ่มพบเห็นความสำคัญของการท่องเที่ยว และเริ่มบรรจุการท่องเที่ยวไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๑๐ – ๒๕๑๔) ซึ่งระบุไว้เพียงว่า “ขยายงานโฆษณาและงานเผยแพร่ในต่างประเทศให้กว้างขวางยิ่งขึ้น และปรับปรุงระเบียบการและพิธีการต่าง ๆ  เพื่อจะอำนวยบริการและให้ความสะดวกทุกด้านแก่นักทัศนาจร ในการเดินทางเข้าออกทั้งภายในและต่างประเทศ” และเริ่มมีรายละเอียดมากขึ้น ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๑๕ – ๒๕๑๙) แต่ก็ยังอยู่ในแนวทางการพัฒนาเช่นเดียวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๒ เพียงเพิ่มเติมเรื่องการตกแต่งพื้นที่สาธารณะให้สวยงามและการรักษาความสะอาด กับการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการของสถานประกอบการ จนเข้าสู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๔ (ระหว่างปีพ.ศ. ๒๕๒๐-๒๕๒๔) มีปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นจำนวนมากหลาย ๆ ด้านที่ต้องเร่งแก้ไข ที่ระบุไว้ในแผนพัฒนาฉบับนี้ คือ

- ปัญหาการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว
- ปัญหาการก่อสร้างโรงแรม และที่พักอาศัย ที่ทำลายสภาพแวดล้อม และปล่อยของเสียลงสู่ที่สาธารณะ
- ปัญหาการควบคุมมาตรฐาน และจัดระเบียบธุรกิจท่องเที่ยว 
- ปัญหาการยกระดับมาตรฐานกำลังคนในธุรกิจโรงแรม 
- ปัญหาเรื่องความปลอดภัย เกี่ยวกับชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว
- ปัญหาหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวของรัฐ ขาดความเอาใจใส่ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และขาดความรับผิดชอบ
โดยวางแนวทางในการแก้ไขปัญหาข้างต้น ด้วยแผนงานดังต่อไปนี้ คือส่งเสริมการท่องเที่ยว พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว จัดรูปธุรกิจต่าง ๆ  ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ยกมาตรฐานกำลังคนในธุรกิจท่องเที่ยว  โดยตั้งเป้าหมาย  “ให้เพิ่มนักท่องเที่ยว จาก ๑.๔ ล้านคนในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็น ๒.๒ ล้านคน ในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ ๑๑ เพิ่มจาก ๔.๙ วัน เป็น ๕.๕ วัน ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวแต่ละคนในหนึ่งวันเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ ๕ หรือเพิ่มขึ้นจาก ๘๐๐ บาท เป็น ๙๖๖ บาท ทำให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวซึ่งจะกระจายไปยังธุรกิจต่าง ๆ  เพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยร้อยละ ๑๙ หรือเพิ่มขึ้นจาก ๕,๕๐๐ ล้านบาท เป็น ๑๑,๗๐๐ ล้านบาท” [ http:// www.nesdb.go.th/Default. aspx?tabid=๘๖ บทที่ ๔ การส่งออก การนำเข้า และการส่งเสริมการท่องเที่ยว หน้า ๒๔๐ ถึง ๒๔๕ ข้อ ๕ การส่งเสริมการท่องเที่ยว]
                จากที่คาดว่านักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นตามที่ระบุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๔ แต่ปรากฏว่าได้เกิดความขัดแย้งในตะวันออกกลางขึ้น จนในที่สุดสงครามระหว่างอิรักและอิหร่าน อุบัติขึ้นเป็นเหตุให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้น จากเดิม ๑๔-๑๕ เหรียญต่อบาร์เรลในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ พุ่งขึ้นเป็น ๔๐ เหรียญ ต่อบาร์เรลในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ จนกระทั่งราคาน้ำมันได้พุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ราคา ๖๘ – ๖๙ เหรียญ ต่อบาร์เรล ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๒ – ๒๕๒๔ การขึ้นราคาน้ำมันทำให้ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาซึ่งต้องอาศัยการนำเข้าน้ำมันเพื่อการผลิตและพัฒนาประเทศ ทำให้ดุลการค้าขาดดุลมากยิ่งขึ้น ประเทศประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว การเติบโตทางการท่องเที่ยวขยายตัวเพียงร้อยละ ๘ ไม่ได้เป็นไปในอัตราร้อยละ ๑๑ ตามที่คาดหมาย ธุรกิจโรงแรมประสบภาวะขาดทุนกันเป็นส่วนมาก
 
(ดูรายละเอียดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ ๑ ถึง ฉบับที่ ๑๐ ด้านท่องเที่ยวได้ในภาคผนวกท้ายเล่ม)
พ.ศ. ๒๕๒๔    ความขัดแย้งในการทำเหมืองแร่ กับ ธุรกิจการท่องเที่ยว
                            ในระหว่างที่รัฐบาลสนับสนุนส่งเสริมการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวกำลังเติบโต นักท่องเที่ยวเพิ่มจำนวนมากขึ้น มีคนสนใจในการลงทุนด้านโรงแรมมากขึ้น ในช่วงเวลาดังกล่าวรัฐบาลที่มีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์  เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมี พล ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อนุมัติให้ฟูคุนหลอง นักธุรกิจชาวมาเลเซียได้รับประทานบัตรในการทำเหมืองเร่ในทะเล ณ บริเวณหาดป่าตอง แต่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวรวมตัวกันคัดค้าน เพราะเกรงว่าการทำเหมืองแร่ในทะเลจะส่งผลกระทบต่อสภาพ แวดล้อมและความงดงามของท้องทะเลที่หาดป่าตอง ข่าวการคัดค้านการทำเหมืองในทะเล เป็นที่สนใจแก่ประชาชนทั่วไป การคัดค้านต่อต้านปรากฏในสื่อต่าง ๆ  ทำให้รัฐบาลต้องทบทวนนโยบาย พรรคประชาธิปัตย์โดยนายชวน หลีกภัย เดินทางไปยังหาดป่าตองเพื่อรับทราบข้อมูล ได้รวบรวมความคิดเห็นของผู้ประกอบการท่องเที่ยว มีการสรุปความคิดเห็นว่าสมควรส่งเสริมการท่องเที่ยวเพราะมีการกระจายรายได้มากกว่า ในที่สุด รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มีมติส่งเสริมการท่องเที่ยว และยกเลิกสัมปทานเหมืองแร่ของบริษัทฟูคุนหลองในเวลาต่อมา  
 
พ.ศ. ๒๕๒๔ - ๒๕๒๖ วิกฤติเศรษฐกิจกับการวางแผนพัฒนาท่องเที่ยวภูเก็ต
                            เพื่อแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจ ในเดือนมิถุนายน ๒๕๒๔ รัฐบาลทำการกู้เงินจาก IMF (Inter- national Monetary Fund) จำนวน ๘๑๔.๕ ล้าน SDR (Special Drawing Rights) แต่เบิกถอนจริงจำนวน ๓๔๕ ล้าน SDR [http://www.bot. or.th/Thai/AboutBOT/index/Pages/IMF_index.aspx]
                     ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๒๕ รัฐบาลทำการกู้เงินจาก IMF เพิ่มอีกจำนวน ๒๗๑.๕ ล้าน SDR (๑ SDR เท่ากับประมาณ ๑.๓ USD และ ๑ USD เท่ากับ ๒๓ บาท)
                           ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงมีนโยบายในการส่งเสริมการท่องเที่ยว รัฐบาลได้มอบให้ อ.ส.ท. (องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว) ติดต่อกู้เงินจาก OECF (The Overseas Economic Cooperation Fund) เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นโครงการช่วยเหลือของรัฐบาลญี่ปุ่น ในการให้กู้ยืมเงิน ทาง OECF ได้มอบให้ JICA (Japan International Cooperation Agency) มาทำการศึกษาจัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ผลการศึกษาสามารถสรุปเป็นแผนพัฒนาขึ้น ๓ เล่ม และได้นำแผนพัฒนาดังกล่าวนำเสนอชักชวนให้ผู้ลงทุนชาวต่างประเทศเข้ามาลงทุนก่อสร้างโรงแรมในจังหวัดภูเก็ต แผนพัฒนาทั้ง ๓ เล่ม ได้แก่
                           ๑. Greater Phuket
                                      ๒. Phuket - Phang Nga - Krabi
                                      ๓. Southern Thailand
ผลจากการศึกษา ได้เป็นแนวทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวของ จังหวัดภูเก็ตในระยะแรก ชักนำให้ผู้ลงทุนจากต่างประเทศสนใจเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมากในระยะเวลาต่อมา
พ.ศ. ๒๕๒๖ - ๒๕๓๒ การลงทุนจากต่างชาติสร้างโรงแรม และสนามกอล์ฟ                         
             ผลการศึกษาของ JICA พบว่าภูเก็ตมีศักยภาพสูงทางการท่องเที่ยว บริษัทต่างชาติจึงได้มีการลงทุนสร้างโรงแรมขึ้นอย่างมากมาย อาทิเช่น Club Mediterranean จากประเทศฝรั่งเศส, Amanpuri โดยการร่วมทุนจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่นและอินโดนิเซีย, Le Meridien จากประเทศสิงคโปร์, Holiday Inn โดยบริษัท Lam Chang ประเทศสิงคโปร์, Phuket Yacht Club จากประเทศสิงคโปร์, Dusit Laguna, Laguna Beach Club, Sheraton Grand Laguna Beach, Banyan Tree และAllamanda โดยบริษัทไทยวา ภายใต้การลงทุนของบริษัท Wah Chang ประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น
              ส่วนผู้ประกอบการท้องถิ่นได้มีการสร้างโรงแรม Patong Merlin (๒๕๒๘), โรงแรม Coral Beach โดยบริษัทอิตาเลี่ยนไทย (๒๕๒๘ ปัจจุบัน Amari Coral Beach), โรงแรมบ้านไทย (๒๕๒๙), โรงแรม Club Andaman (๒๕๓๑) โรงแรม Patong Resort (๒๕๓๑)
           สนามกอล์ฟ Phuket Country Club (๒๕๓๑), Blue Canyon (๒๕๓๓) และCentury Country Club (๒๕๓๓ ปัจจุบัน Loch Palm Golf Club)                     

พ.ศ. ๒๕๒๖  เที่ยวบินระหว่างประเทศเริ่มบินตรงเข้าภูเก็ต  
                 บริษัท การบินไทย จำกัด ได้ศึกษาหาข้อมูล และพิจารณาจัดทำแผน การบินที่จังหวัดภูเก็ต สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตเสนอและผลักดันให้บริษัท การบินไทย จำกัด เปิดเส้นทางการบินระหว่างประเทศ ในเวลาต่อมา บริษัทการบินไทย จำกัดได้เริ่มเส้นทางการบิน สิงคโปร์ - ภูเก็ต เป็นครั้งแรก เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๒๖ โดยเริ่มสัปดาห์ละ ๒ เที่ยวบิน ได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี จึงได้เพิ่มเที่ยวบินเป็นสัปดาห์ละ ๓ และ ๔ เที่ยวในเวลาต่อมา นับเป็นเส้นทางการบินระหว่างประเทศ ที่ทำการบินโดยตรงเข้าสู่ภูมิภาคโดยไม่ผ่านกรุงเทพเช่นในอดีตที่ผ่าน ๆ มา                                  
พ.ศ. ๒๕๒๗  รัฐบาลประกาศลดค่าเงินบาท
                              จากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ - ๒๕๒๖ ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๒๗ รัฐบาลโดยนายสมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศลดค่าเงินบาท จากอัตราแลกเปลี่ยน ๑ USD = ๒๓ บาท เป็น ๑ USD = ๒๗ บาท และรัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ พบว่าประเทศมีดุลการค้า(Balance of Trade) ขาดดุลมาโดยตลอด เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา ยังไม่สามารถผลิตสินค้าเองได้ จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๔ ได้กำหนดเป้าหมายที่จะพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศอุตสาหกรรม ดังนั้นจึงต้องนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องจักร วัตถุดิบ น้ำมัน และอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปรากฏว่าสินค้าและเครื่องจักรที่นำเข้ามีมูลค่ามากกว่ามูลค่าของสินค้าที่ส่งออก ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศขาดดุลมาโดยตลอด จากความพยายามในการหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ได้พบว่าแม้ว่าดุลการค้าจะขาดดุลมาโดยตลอด  แต่ปรากฏว่า ดุลการชำระเงิน (Balance of Payment) กลับเกินดุลมาโดยตลอดเช่นกัน และยังพบอีกว่า เหตุที่ดุลการชำระเงินที่เกินดุลนั้น เนื่องมาจากรายได้ที่เกิดขึ้นจากภาคบริการ คือ การขนส่งและการท่องเที่ยว รัฐบาลจึงมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว และเพิ่มงบประมาณในการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวไปยังหน่วยงานต่าง ๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพิ่มงบประมาณทางการตลาดให้กับองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว (อ.ส.ท.) ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ท.ท.ท.) อย่างก้าวกระโดด


ปีงบประมาณ        ๒๕๒๗     ๒๕๒๘     ๒๕๒๙     ๒๕๓๐ ………. ปัจจุบัน
งบประมาณการตลาด ท.ท.ท.  หน่วย : ล้านบาท     ๓๐         ๗๐        ๑๐๐      ๓๐๐ ………. ๔,๔๘๑.๖

พ.ศ. ๒๕๒๗ - ๒๕๒๙   การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบพหุภาคีอย่างต่อเนื่อง
              เศรษฐกิจของประเทศยังไม่ดีขึ้นเท่าใดนัก ในเดือนมิถุนายน ๒๕๒๘ รัฐบาลยังต้องกู้เงินจาก  IMF อีกจำนวน ๔๐๐ ล้าน SDR (แต่เบิกถอนจริงจำนวน ๒๖๐ ล้าน SDR) [http:// www.bot.or.th/Thai/AboutBOT /index/Pages/IMF_index.aspx]                
              ด้วยนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว บริษัทการบินไทย จำกัดได้เปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศตรงเข้าจังหวัดภูเก็ต ภายหลังการเปิดน่านฟ้าทำการบินตรงเข้าสู่ต่างจังหวัด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับบริษัทการบินไทย จำกัด และภาคเอกชนในจังหวัดภูเก็ต ได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยร่วมกันเป็นเจ้าภาพในการเชิญบรรดานักเขียน เจ้าหน้าที่บริษัทนำเที่ยวในทุกระดับ สื่อมวลชนจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เดินทางมาประเทศไทย โดยเฉพาะที่จังหวัดภูเก็ต มีการเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมากเนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ การเดินทางเข้ามาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น โดยค่าโดยสารได้รับการอนุเคราะห์จากบริษัทการบินไทย จำกัด บริษัทเดินอากาศไทย จำกัด(บ.ด.ท.) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ส่วนค่าที่พัก ค่าขนส่งและค่าอาหาร อนุเคราะห์โดยผู้ประกอบการในท้องถิ่น ได้แก่โรงแรมเพิร์ล โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน โรงแรมภูเก็ตไอส์แลนด์รีสอร์ท  โรงแรมป่าตองบีช โรงแรมภูเก็ตคาบาน่า  โรงแรมพันทรี บริษัท ภูเก็ตทราเวลแอนด์ทัวร์  ร้านอาหารทุ่งคากาแฟ ตลอดระยะเวลา ๔ ปี (พ.ศ. ๒๕๒๗ – ๒๕๒๙) ได้มีการต้อนรับและให้การอนุเคราะห์ไปไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ คน ประเมินเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า ๕๐ ล้านบาท
พ.ศ. ๒๕๒๙ ประชามติของชาวภูเก็ตเรื่อง การท่องเที่ยว กับ โรงงานแทนทาลั่ม
                               ในเดือนมิถุนายน ๒๕๒๙ เกิดกรณีเผาโรงงานแทนทาลั่ม เนื่องจากชาวภูเก็ตเห็นว่าเป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อม มีการต่อต้าน คัดค้านการเปิดโรงงานแทนทาลั่ม ด้วยนักวิชาการได้จัดนิทรรศการ ณ บริเวณสะพานหิน เพื่อเผยแพร่ชี้แจงให้เห็นภัยจากโรงแรมแทนทาลั่ม โดยแสดงให้เห็นว่าโรงงานดังกล่าวใช้กรดซัลฟูริค (กรดกัดแก้ว) ในการผลิตแร่แทนทาลั่ม หลังการผลิตจะปล่อยน้ำเสียจากโรงงานทิ้งลงสู่ใต้ดิน การเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว ทำให้ประชาชนมีความหวาดกลัวในเรื่องสิ่งแวดล้อม และพิษภัยของกรดดังกล่าวที่ปล่อยลงสู่ใต้ดิน ซึ่งในระยะเวลานั้นประชาชนโดยทั่วไปอาศัยน้ำจากใต้ดินใช้ในการบริโภค อุปโภค ต่างเกรงว่าจะกระทบถึงสุขภาพ อนามัย ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของชาวภูเก็ตในอนาคต ความหวาดกลัวได้แพร่กระจายไปทั่วทั้งจังหวัดภูเก็ต ประชาชนนับหมื่นคนรวมตัวกันคัดค้านการเปิดโรงงานดังกล่าว
                                  นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  เดินทางมายังจังหวัดภูเก็ต เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่เกิดเหตุการณ์ประท้วงและเดินขบวน ณ บริเวณสนามบินและบริเวณอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร ทำให้นายสนอง รอดโพธิ์ทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เกรงว่ารัฐมนตรีไม่ได้รับความปลอดภัย จึงเปลี่ยนกำหนดการที่จะไปรับฟังความคิดเห็นที่บริเวณชุมนุม ณ ศาลากลางจังหวัด ให้เชิญผู้นำชุมนุมทั้ง ๘ คนไปพบที่โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน เพื่อรับฟังความคิดเห็นและเจรจาหาข้อยุติในการชุมนุมคัดค้านกับรัฐมนตรี ครั้นต่อมารัฐมนตรีเกรงว่า หากผู้ชุมนุมทราบว่ามีการพบปะหารือ ณ โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน ผู้ชุมนุมจะย้ายการชุมนุมมาที่โรงแรม เนื่องจากสถานที่ที่ชุมนุมอยู่ห่างจากโรงแรมภูเก็ตเมอร์ลินเพียง ๒-๓ กิโลเมตรเท่านั้น จึงมีดำริให้ย้ายสถานที่พบปะกับผู้นำการชุมนุมทั้ง ๘ ไปยังจังหวัดพังงาแทน ดังนั้นเมื่อผู้นำกลุ่มชุมนุมเดินทางมาถึง รับแจ้งว่าให้ติดตามไปยังจังหวัดพังงาด้วย อย่างไรก็ตามการย้ายสถานที่ประชุม ตามที่รัฐมนตรีหวั่นเกรงไว้สถานการณ์หาได้คลี่คลายไปได้ ด้วยมีการประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงให้ผู้ชุมนุมได้รับทราบว่ามีการพบปะหารือกันระหว่างผู้นำกลุ่มชุมนุมกับรัฐมนตรีจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน ผู้ชุมนุมจึงย้ายการชุมนุมโดยเดินขบวนไปยังโรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน จากที่ได้รับฟังมาว่าเป็นสถานที่ที่มีการประชุมของรัฐมนตรีกับผู้นำการชุมนุมทั้ง ๘ แต่เมื่อไปถึงกลับไม่พบผู้ใด ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมเกิดความไม่พอใจ เกิดการขยายผลไปสู่การเผาโรงงานแทนทาลั่ม และโรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน
                                    ในขณะที่จังหวัดภูเก็ตยังคงมีความขัดแย้งในการพัฒนาทางการท่องเที่ยว กับการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เหตุการณ์เผาโรงงานแทนทาลั่มจึงเสมือนเป็นการประกาศเจตนารมณ์ของชาวภูเก็ตต่อสิ่งแวดล้อม กับธุรกิจเหมืองแร่ดีบุก ประจวบกับ ณ เวลานั้นอนาคตของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ไม่มีความสดใสเท่าใดนัก ด้วยราคาแร่ดีบุกมีราคาที่ตกต่ำลงอย่างมากไม่คุ้มค่าต่อการประกอบการ จากเหตุการณ์เผาโรงงานแทนทาลั่ม จึงขยายผลบ่งชี้ให้มีทิศทางการพัฒนาของจังหวัดภูเก็ตให้เป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างชัดเจนขึ้น ภายหลังเหตุการณ์สงบรัฐบาลจึงมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณทุกด้านให้กับจังหวัดภูเก็ตให้เป็นเมืองท่องเที่ยวนานาชาติ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ได้สิ้นสุดลง ๒-๓ ปีในภายหลังจากที่จังหวัดภูเก็ตเดินทางเข้าสู่เส้นทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยว
พ.ศ. ๒๕๓๐ เฉลิมฉลองปีท่องเที่ยวไทย Visit Thailand Year กับ เหตุการณ์เครื่องบินของบริษัท เดินอากาศไทย จำกัด ตกที่อ่าวปอ
                                การแก้ไขเศรษฐกิจโดยใช้ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว เริ่มประสบผลให้เห็นเป็นรูปธรรม ความตื่นตัวของภาคเอกชนในทุกจังหวัด และส่วนราชการทุกจังหวัด ด้วยการค้นหาศักยภาพทางการท่องเที่ยวของจังหวัดของตนเอง  ประจวบกับในปี ๒๕๓๐ ซึ่งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนม์มายุครบรอบ ๖๐ พรรษา รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณทางการตลาด เพิ่มขึ้น ๓ เท่าตัว จาก ๑๐๐ ล้านบาทเป็น ๓๐๐ ล้านบาท และเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสดังกล่าวด้วยโครงการ ปีท่องเที่ยวไทย (Visit Thailand Year) ในปีนี้เป็นครั้งแรกที่ประชาชนชาวไทยได้มีโอกาสพบเห็นว่าทั่วประเทศไทยในแต่ละภาค แต่ละจังหวัด มีประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิต สินค้าหัตถกรรม การประกอบอาชีพ ที่แตกต่างมากมายหลากหลาย แบบไม่เคยประสบพบเห็นมาก่อน เป็นที่ตื่นตาตื่นใจต่อผู้พบเห็น นับเป็นการค้นพบทรัพยากรทางการท่องเที่ยวของไทยที่มีคุณค่าเป็นอย่างมาก การค้นพบและนำเสนอทรัพยากรที่มีคุณค่าเหล่านี้ ดำเนินการโดยกระทรวงมหาดไทย และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ขยายผลให้การตลาดของการท่องเที่ยวไทยขยายตัวไปสู่ระดับภูมิภาค สามารถพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ แข่งขันกับสิงคโปร์ และฮ่องกง ซึ่งได้มีการพัฒนาการท่องเที่ยวและเติบโตและเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของเอเซียมาก่อน
                
                                  ในเดือนสิงหาคม ๒๕๓๐ เครื่องบินของบริษัทเดินอากาศไทย จำกัด (บ.ด.ท.) เดินทางจากหาดใหญ่มุ่งหน้าไปยังจังหวัดภูเก็ต จากความสับสนในการให้ข้อมูลของเจ้าหน้าที่วิทยุการบิน ระหว่างนักบินของสายการบินดรากอนแอร์ และนักบินของบริษัทเดินอากาศไทย จำกัด ที่ลงจอดในเวลาใกล้เคียงกัน ไม่ชัดเจนว่าจะให้เครื่องบินลำใดนำเครื่องบินลงก่อน ทำให้เครื่องบินของบริษัท เดินอากาศไทย จำกัด ตกลงในท้องทะเลบริเวณอ่าวปอขณะกำลังร่อนลงสนามบินภูเก็ต มีผู้เสียชีวิตทั้งลำ รวมจำนวนทั้งสิ้น ๘๓ คน เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การบินของประเทศที่มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก รัฐบาลจึงมีนโยบายปรับปรุง และเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องมือเครื่องใช้ของสนามบินภูเก็ตให้มีความทันสมัย โดยมีการติดตั้งเครื่องมือนำร่อง (ILS – Instrumental Landing System) ที่ทันสมัยในเวลาต่อมา

พ.ศ. ๒๕๓๑-๒๕๓๓ นโยบายเปิดน่านฟ้าให้สายการบินต่างชาติบินตรงเข้าภูเก็ต กับ การขยายท่าอากาศยานจังหวัดภูเก็ต
ด้วยนโยบายเปิดน่านฟ้า (Open Sky Policy) มีสายการบินจากประเทศใกล้เคียง ทำการบินเข้าจังหวัดภูเก็ต โดย                          
     สายการบิน Dragon Air เริ่มบินตรงฮ่องกง - ภูเก็ต เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐
       สายการบิน Malaysia Airlines เริ่มบินตรง กัวลาลัมเปอร์ - ภูเก็ต เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑
      สายการบิน Silk Air เริ่มบินตรง สิงคโปร์ - ภูเก็ต เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒
    และติดตามด้วยสายการบินอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก เช่น China Airlines บินตรงจากไต้หวัน, Asiana บินตรงจากเกาหลี, และสายการบิน Charter flights บินตรงจากยุโรปอีกจำนวนมาก เช่น เยอรมันนี,  เนเทอร์แลนด์, ฝรั่งเศส  ฯลฯ เป็นต้น            
              ในวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ รัฐบาลได้โอนท่าอากาศยานภูเก็ตซึ่งเดิมอยู่ในความดูแลของกรมการบินพาณิชย์ให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยบริหารจัดการ และทำการขยายท่าอากาศยานให้สามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ขึ้น-ลงได้ พร้อมปรับปรุงขยายอาคารผู้โดยสาร สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง ๒.๕ ล้านคนต่อปี และ ๕ ล้านคนในปี พ.ศ. ๒๕๓๙
พ.ศ. ๒๕๓๑-๒๕๓๕    ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากร
                      จากการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยภาครัฐ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บริษัทการบินไทยจำกัด สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว จังหวัดภูเก็ต โดยผู้ประกอบการโรงแรม และบริษัทนำเที่ยว (ในระหว่างปีพ.ศ. ๒๕๒๖ - พ.ศ. ๒๕๒๙) ทำให้จังหวัดภูเก็ตกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว และขยายตัวเป็นอย่างมาก จากจำนวนห้องพัก ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ซึ่งแต่เดิมมีอยู่เพียง ๓,๐๐๐ ห้อง แต่ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๖ -๒๕๓๒ ได้มีการลงทุนก่อสร้างโรงแรมมีโรงแรมเกิดขึ้นอย่างมากมาย จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๔ มีจำนวนห้องพักรวมทั้งสิ้นประมาณ ๑๕,๐๐๐ ห้องโดยเฉลี่ยจำนวนห้องพักเพิ่มขึ้นปีละ ๒,๐๐๐ ห้อง หรือ๑๐,๐๐๐ ห้องในเวลาเพียง ๕-๖ ปี จึงเกิดปัญหาเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ปัญหาการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว ไม่มีถนนเข้าสู่ชายหาดต่าง ๆ (Accessibility) ดังนั้น โดยองค์กรเอกชนสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว หอการค้าจังหวัดภูเก็ต และผู้ประกอบการภาคเอกชน ได้ร่วมคิด ร่วมกันเสนอ และผลักดันให้มีการพัฒนาปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ  ได้แก่การสร้างถนน น้ำ ไฟฟ้า เข้าสู่ชายหาด รวมถึงการเตรียมการป้องกันสภาพแวดล้อมเสียหาย ดังนั้น ระบบบำบัดน้ำเสียที่หาดป่าตองจึงได้มีขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๒                                         
                                           จากการสร้างโรงแรมตามชายหาดต่าง ๆ  แม้ว่ามีการแก้ไขปัญหาในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยการพัฒนาการเข้าถึงชายหาดและแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งอาศัยงบประมาณจากภาครัฐ แต่ยังมีปัญหาที่ติดตามมาแม้จะไม่ต้องอาศัยงบประมาณที่สูงมากนักแต่ต้องใช้เวลา ความรู้ความเข้าใจ และความอุตสาหะเป็นอย่างมากในการพัฒนาแก้ไข นั่นคือ ปัญหาบุคลากรที่ขาดแคลนอย่างรุนแรง สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว หอการค้า ผู้ประกอบการโรงแรม จึงได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษา อาทิเช่น วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต วิทยาลัยครูภูเก็ต(ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต) วิทยาลัยชุมชนภูเก็ต (ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะการจัดการโรงแรมและท่องเที่ยว) ในการผลิตนักศึกษาให้เพียงพอเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของตลาด โดยพัฒนาหลักสูตรในชั้นเรียนควบคู่ไปกับการส่งนักศึกษาไปฝึกงานในสถานประกอบการ เป็นการเริ่มต้นไปสู่การศึกษาในระบบทวิภาคี (Dual Vocational Training)
                                         นอกจากการพัฒนาบุคลากรในสถาบันการศึกษา ได้มีการพัฒนาบุคลากรที่อยู่นอกสถาบันการศึกษา คือพนักงานที่ทำงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้พัฒนาความรู้ความสามารถให้มากขึ้น โดยสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตส่งเสริมและสนับสนุนให้ชมรมอาหารและเครื่องดื่ม ชมรมพ่อครัว จัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ  เพื่อเป็นการพัฒนาฝีมือและอาชีพ ได้แก่ การจัดงานเทศกาลอาหารทะเล  การแข่งขันการผสมเครื่องดื่ม การแข่งขันการจัดดอกไม้ การแข่งขันการจัดโต๊ะอาหาร การแข่งขันการจัดปูที่นอน เป็นต้น
พ.ศ. ๒๕๓๐ - ๒๕๓๘ บทบาทขององค์กรภาคเอกชนในการส่งเสริมการท่องเที่ยว
                              ในระหว่างปี ๒๕๓๐ ต่อเนื่อง ถึงปี ๒๕๓๘ องค์กรภาคเอกชนได้มีบทบาทในการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตเป็นอย่างมาก องค์กรดังกล่าวได้แก่ หอการค้าจังหวัด สมาคมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ชมรมอาหารและเครื่องดื่ม ชมรมพ่อครัว จัดกิจกรรมเพื่อการประชาสัมพันธ์ อันเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเช่น เทศกาลอาหารทะเล  การประกวดมิสภูเก็ต กิจกรรมส่งเสริมให้ภูเก็ตเป็นสถานที่เก็บตัวผู้เข้าร่วมประกวดนางสาวไทย มิสไทยแลนด์เวิลด์ บุฟเฟต์ชายหาดยาวที่สุดในโลก การจัดทำกิจกรรมเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ แสดงถึงศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยว และความมุ่งมั่นในการพัฒนาให้เป็นเมืองท่องเที่ยวชั้นนำของโลก
                        ด้านกีฬา สมาคมเรือใบแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บริษัท Johnnie Walker บริษัทการบินไทย จำกัด บริษัท ลากูน่าดีเวลลอปเม้นท์ จำกัดร่วมกันจัดการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ  อาทิเช่น การแข่งขันเรือใบ King Cup Regatta ณ โรงแรมภูเก็ตยอช์ทคลับ การแข่งขันกอล์ฟ Johny Walker Classic ณ สนามกอล์ฟ Blue Canyon Country Club การแข่งขันไตรกีฬา ณ Laguna Phuket เป็นต้น
                                                                 การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ที่นับว่ามีผลในระดับนานาชาติเป็นอย่างมาก เมื่อมีการนำผู้สร้างภาพยนตร์จากต่างประเทศ เข้ามาเลือกใช้ภูเก็ตเป็นสถานที่ในการถ่ายทำภาพยนตร์ออกฉายในโรงภาพยนตร์ในระดับนานาประเทศ อาทิเช่น ภาพยนตร์เรื่อง Killing Field, Good Morning Vietnam, Casualties of War เป็นต้น
                                                                 นับตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ มูลนิธิท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทรร่วมกับกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์ภูเก็จ ได้รื้อฟื้นสถานที่ประวัติศาสตร์ เพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนใจให้ชาวภูเก็ต และบุคคลทั่วไปให้ตระหนักถึงประวัติความเป็นมาของจังหวัดภูเก็ต และพัฒนาขึ้นเป็นอนุสรณ์สถานเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมต่ออนุชนรุ่นต่อไป ในขณะเดียวกันเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เป็นการรองรับนักท่องเที่ยวอีกกลุ่มหนึ่งที่สนใจในเรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม  จึงได้มีการหยิบยกสถานที่ประวัติศาสตร์ ขึ้นมาพิจารณาบูรณะ รื้อฟื้นหลายโครงการ อาทิเช่น วัดม่วง(บูรณะปรับปรุงแล้วใช้ชื่อว่า สวนพระพุทธศาสนาวัดม่วงโกมารภัจจ์) โคกชนะพม่า(ปรับปรุงพื้นที่ ในชื่อโครงการ อนุสรณ์สถานถลางชนะศึก) และยังมีอีกกว่า ๑๐ โครงการ ซึ่งอยู่ภายใต้การพัฒนาปรับปรุงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้เร่งรัดดำเนินการเท่าที่ควร)
พ.ศ. ๒๕๓๐ – ๒๕๓๙ โครงการช่วยเหลือภูเก็ตจากองค์กรระหว่างประเทศ
                 ระหว่างปี ๒๕๓๐ - ๒๕๓๔ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยองค์กร United States Agency for International Development (USAID) ได้เสนอให้ความช่วยเหลือประเทศไทยผ่านสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และได้เลือกจังหวัดภูเก็ตเป็นตัวอย่างในการศึกษาในเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีการเจริญเติบโตทางการท่องเที่ยวอย่างรวดเร็ว ได้มีการก่อสร้างโรงแรมเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และกำลังเริ่มส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อทรัพยากรชายฝั่งทะเล เนื่องจากตะกอนดินจากการก่อสร้างตามแนวชายฝั่งทะเลได้ไหลลงสู่ทะเล ทำลายแนวปะการัง หากปล่อยให้มีการก่อสร้างโดยไม่มีมาตรการที่ป้องกันที่ดี จะส่งผลให้ปะการังตายหมด ความใสสะอาดของทะเลรอบเกาะภูเก็ตจะสูญหายไป ศักยภาพทางการท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มายังภูมิภาคนี้ก็จะหมดไป
                            โครงการช่วยเหลือจาก USAID นี้ภายใต้ชื่อโครงการว่า Coastal Resource Management Project (CRMP) ผลจากการศึกษาพบว่า การจัดการในเรื่องสิ่งแวดล้อม มีอยู่ ๔ เรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการให้เกิดขึ้น ได้แก่
๑. การสร้างจิตสำนึกของประชาชน ของผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย ช่วยกันอนุรักษ์รักษาสิ่งแวดล้อม
๒. การมีกฎหมายเพื่อปกปักษ์รักษาทรัพยากร และคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
๓. การจัดสรรงบประมาณ เพื่อจัดการรักษาคุ้มครองสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ และ
๔. การบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้การคุ้มครองรักษาสิ่งแวดล้อม สัมฤทธิ์ผล
                              ระหว่างปี ๒๕๓๕ - ๒๕๓๘ GTZ (Deutsche Gesellschaft für Technische Zusammenarbeit) จากประเทศเยอรมันนี ให้ความช่วยเหลือในการศึกษาเรื่อง การพัฒนาเมือง (Urban Development) เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาเมืองในเขตเทศบาลเมืองภูเก็ต
                               ระหว่างปี ๒๕๓๖ - ๒๕๓๙ ICSC (International Ceter for Sustainable City)  จากประเทศคานาดา ให้ความช่วยเหลือในการศึกษา เรื่อง การบริหารจัดการขยะและน้ำเสีย (Solid Waste and Waste Water Management) และได้จัดตั้ง กลุ่มไข่มุกขาว (White Pearl Group) ขึ้น เพื่อรณรงค์ให้ประชาชน องค์กรรัฐ และเอกชน รู้จักการจัดการขยะในเรื่อง ๓ R ได้แก่ Reduce, Reuse, Recycle ส่งเสริมให้มีธุรกิจรับซื้อขยะและของเก่า เกิดกระบวนการระบายของเสียที่เกิดจากธุรกิจโรงแรมเข้าสู่กระบวนการ ๓R ธุรกิจรับซื้อขยะและของเก่าขยายตัวมากขึ้นเพื่อรองรับการจัดการขยะ 
 หมายเหตุ  ภายหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนขาดความเอาใจใส่ หรือให้ความสำคัญมากนัก
พ.ศ. ๒๕๓๑ - ปัจจุบัน การอนุญาตเที่ยวบินจากประเทศต่าง ๆ ในลักษณะเช่าเหมาลำ (Chartered Flights)
        ภายหลังจากการปรับปรุงท่าอากาศยานภูเก็ต และรัฐบาลโดยกรมการบินพาณิชย์ มีนโยบายเปิดน่านฟ้า (Open Sky Policy) มีสายการบินต่างชาติในรูปแบบเช่าเหมาลำ (Chartered Flights) เกิดขึ้นมากมายอย่างต่อเนื่อง บินตรงเข้าจังหวัดภูเก็ต อาทิเช่น
                               
                       พ.ศ. ๒๕๓๑ สายการบิน LTU จาก ดุสเซลดอล์ฟบินตรงเข้าภูเก็ต
                       พ.ศ. ๒๕๓๒ สายการบิน Condor จากแฟรงเฟริต บินตรงเข้าภุเก็ต
                       พ.ศ. ๒๕๓๔ สายการบิน Martin Air จากเนเทอร์แลนด์ บินตรงเข้าภูเก็ต
                           และสายการบินอื่น ๆ  อีกเป็นจำนวนมากเพิ่มขึ้นในแต่ละปี    
พ.ศ. ๒๕๓๓    เศรษฐกิจเฟื่องฟูด้วยนโยบายเสรีทางการเงิน BIBF (Bangkok International Banking Facilities)
                  นับตั้งแต่เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๔ – ๒๕๒๖ รัฐบาลโดย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยอาศัยรายได้จากการท่องเที่ยว และส่งเสริมการส่งออก จนกระทั่ง ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑รัฐบาลโดย พลตรี ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยเศรษฐกิจของประเทศมีความเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีฐานะทางเศรษฐกิจมั่นคงมากขึ้นในระยะเวลา ๓-๔ ปีที่ผ่านมา จึงมีนโยบายเปลี่ยนสนามรบ เป็นสนามการค้า และมีความมั่นใจว่าประเทศไทยมีศักยภาพสูงเพียงพอที่จะสามารถแข่งขันกันนานาประเทศได้ มีเป้าหมายพัฒนาให้ประเทศไทย เข้าอยู่ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NICs – Newly Industrialized Countries) โดยคาดหวังที่จะเป็นเสือตัวที่ ๕ แห่งเอเซีย (ในขณะนั้นมีเสือทางเศรษฐกิจแล้ว ๔ ตัวได้แก่ เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง)
                ประจวบกับเศรษฐกิจของโลกดีขึ้นภายหลังจากวิกฤตการณ์น้ำมันผ่านพ้นไป การค้าระหว่างประเทศมีความเจริญเติบโตมากขึ้น ทำให้การเจรจาของแกตต์  (GATT – General Agreement on Tariffs & Trade) ซึ่งองค์การการค้าโลก (WTO – World Trade Organization) ได้จัดตั้งขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒  เพื่อทำการเจรจาระหว่างประเทศในเรื่องการลดอัตราภาษีระหว่างกันในการส่งเสริมการค้าเสรีระหว่างกัน ได้มีความพยายามที่จะบรรลุข้อตกลงมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่ไม่ประสบผล เพราะยังมีความแตกต่างกันระหว่างประเทศพัฒนา และกำลังพัฒนาเป็นอย่างมาก แต่เมื่อการค้า อุตสาหกรรม ของแต่ละประเทศได้พัฒนาก้าวหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนา มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ดังนั้นการเจรจาของแกตต์ในรอบอุรุกวัยจึงบรรลุถึงข้อตกลง เพราะมีจำนวนประเทศเข้าร่วมลงนามในข้อตกลงถึง ๑๒๓ ประเทศ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่จะสนับสนุนส่งเสริมในความเป็นเสรีในรูปแบบต่าง ๆ  เช่น การค้าเสรี (Free Trade กำหนดให้บรรลุเป้าหมายภายในปี ค.ศ. ๒๐๑๐ หรือ พ.ศ. ๒๕๕๓) การลงทุนเสรี (Free Investment กำหนดให้บรรลุเป้าหมายภายในปี ค.ศ. ๒๐๒๐ หรือ พ.ศ. ๒๕๖๓)
                     การที่รัฐบาลได้เข้าร่วมลงนามในข้อตกลงนโยบายเสรีทางการค้าของ แกตต์ (GATT) รัฐบาลโดย ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ประกาศใช้นโยบายการเงินเสรี (Free Finance) เป็นอันดับแรก โดยให้มีความเป็นเสรีในการนำเงินเข้า และส่งเงินออกจากประเทศ ซึ่งแต่เดิมการนำเงินเข้าประเทศ หรือส่งออกจากประเทศนั้นจะต้องส่งเรื่องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาอนุญาตก่อน ดังนั้นเมื่อการนำเงินเข้าและส่งเงินออกเป็นไปอย่างเสรี สามารถส่งเสริมการค้าให้มีความคล่องตัวมากขึ้น เป็นโยบายที่จะให้กรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางตลาดการเงินของโลก BIBF (Bangkok International Banking Facilities) เฉกเช่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ ซึ่งประสบความสำเร็จในการเป็นศูนย์การเงินแห่งภูมิภาคเอเชีย
                      นโยบายนี้ต่อมาได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมไทยอย่างใหญ่หลวงในเวลาต่อมาและส่งผลต่อเนื่องถึงปัญหาในทางเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม และปัญหาทางการเมืองของประเทศในปัจจุบัน
พ.ศ. ๒๕๓๔ พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม และพ.ร.บ. ธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ คลอดในยุค รสช.
                   ด้วยรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งสื่อมวลชนให้ฉายาว่า “บุฟเฟต์คาบิเนต” ใช้เปรียบเปรยกับการการกระทำของบรรดารัฐมนตรีทั้งหลายในรัฐบาลชุดนี้ ที่สามารถร่วมกันทำการทุจริตได้โดยสะดวก เหมือนกับการรับประทานอาหารบุฟเฟ่ต์ ที่จะตักอาหารขึ้นมารับประทานได้สะดวกในปริมาณเท่าใดก็ได้ เพราะปรากฏเป็นข่าวเกี่ยวกับการทุจริตเกิดขึ้นมากมายในคณะรัฐมนตรีชุดนี้ ที่รัฐมนตรีหลายท่านเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการทุจริตและประพฤติมิชอบ สร้างความเคลือบแคลงใจให้กับประชาชนและสื่อมวลชนเป็นอย่างมาก ดังนั้นในวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์  คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) โดย พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก, พลเอกอิสระพงษ์ หนุนภักดี และพลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศได้ยึดอำนาจจากรัฐบาล โดยให้เหตุผลหลักว่า มีการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างหนักในรัฐบาล และรัฐบาลพยายามทำลายสถาบันทหาร โดยหลังจากยึดอำนาจ คณะ รสช. ได้เลือก นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ มีการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้น รวมทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๐ คน เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่
                         ผลจากการศึกษาตามโครงการ CRMP เป็นระยะเวลา ๔ ปี ตามที่ได้รับการสนับสนุนจากยูเสด (USAID) ได้มีผลสรุปและนำเสนอให้ตราขึ้นเป็นกฎหมาย ชื่อ “พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๓๕” โดยอาศัยโอกาสนำเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในยุคสมัย รสช. ซึ่งมีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะย่อมมีความสะดวกในการผ่านกฎหมายมากกว่าสภาผู้แทนราษฎรที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้ง  เนื่องจากกฎหมายที่จะผ่านสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งนั้นมีน้อยมากหรือเกือบจะไม่มีเสียเลย ด้วยจังหวัดภูเก็ตกำลังมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยว และเติบโตอย่างรวดเร็ว ประกอบกับประเทศมีเศรษฐกิจที่ดีด้วยนโยบายการเงินเสรี จากโครงการ BIBF การเงินโดยทั่วไปมีสภาพคล่องสูงมาก ทำให้มีการซื้อขายที่ดิน มีโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นโดยทั่วไปอย่างมากมาย และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้จึงได้นำไปใช้บังคับที่จังหวัดภูเก็ตทันที
                         การท่องเที่ยวได้เติบโตเป็นอย่างมาก ด้วยอัตราเร่งที่รัฐบาลได้พยายามส่งเสริม ตลอดระยะเวลา ๑๐ ปีที่ผ่านมา ธุรกิจโรงแรมที่รองรับนักท่องเที่ยวเติบโตเพิ่มจำนวนห้องพักเป็นอย่างมากในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะที่จังหวัดภูเก็ต ในขณะเดียวกันกับที่จำนวนโรงแรมเพิ่มมากขึ้น แต่ยังมีธุรกิจอื่นเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากด้วย แต่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร นั่นคือ ธุรกิจนำเที่ยว และอาชีพมัคคุเทศก์ เนื่องจากไม่สามารถเห็นภาพได้ชัดเจน ในเรื่องการลงทุนหรือการจ้างแรงงาน แต่เป็นกลุ่มธุรกิจและบุคลากรที่มีความใกล้ชิดนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ด้วยการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาเท่าที่ควร บุคลากรจึงขาดความรู้ความเข้าใจ การดำเนินธุรกิจจึงไม่มีมาตรฐานดีพอในการประกอบการ ส่งผลให้เกิดภาพพจน์ในทางลบในหลาย ๆ ด้านอาทิเช่น ความไม่เป็นมาตรฐาน การให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง การหาผลประโยชน์ที่ขาดจริยธรรมเข้าลักษณะการหลอกลวง  ด้วยผลที่เกิดขึ้นจึงมีการออกกฎหมายเพื่อการกำหนดมาตรฐานและจัดระเบียบ ดังนั้นรัฐบาลในยุคสมัย รสช. โดยนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ตรา “พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. ๒๕๓๕” ขึ้น ด้วยเหตุผลที่ว่า การประกอบธุรกิจนำเที่ยวและอาชีพมัคคุเทศก์ได้มีการขยายตัวเป็นอันมาก จึงกำหนดให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยทำหน้าที่ส่งเสริมและควบคุมการประกอบธุรกิจนำเที่ยวและอาชีพมัคคุเทศก์ ให้เป็นระเบียบ และได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด   อย่างไรก็ตามแม้จะมีพ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ฯเกิดขึ้นแล้วก็ตาม แต่เป็นกฎหมายที่ขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เนื่องจากกฎหมายให้ความสำคัญในเรื่องการจดทะเบียนและการวางหลักประกันเป็นสำคัญ โดยใช้บังคับให้ธุรกิจนำเที่ยวไปจดทะเบียนไว้กับนายทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ และกำหนดให้ธุรกิจนำเที่ยวมีหลักประกันวางไว้กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเพื่อคุ้มครองนักท่องเที่ยว และเป็นหลักประกันในการชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ไม่ครอบคลุมไปถึงการวางมาตรฐาน วิธีการปฏิบัติงาน การกำหนดคุณสมบัติที่เหมาะสม การฝึกอบรม ส่วนมัคคุเทศก์ดำเนินการฝึกอบรมเพียงระยะสั้น ๆ  เพื่อให้ได้รับใบอนุญาตในการประกอบอาชีพเท่านั้น(สำหรับต่างประเทศแม้แต่ในประเทศใกล้เคียงหรือไม่ได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวมากเท่าประเทศไทย การฝึกอบรมเป็นระยะเวลาอย่างน้อย ๖ เดือน ถึง ๓ ปี) ดังนั้นปัญหาการควบคุมมาตรฐาน และจัดระเบียบธุรกิจท่องเที่ยว จึงยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตามเจตนารมณ์

พ.ศ. ๒๕๓๕    เศร้าสลดไปการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยกับเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ในขณะที่จังหวัดภูเก็ตถูกประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ
                        ในเดือนพฤษภาคม ระหว่างวันที่ ๑๗-๒๐ พฤษภาคม เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “พฤษภาทมิฬ” เนื่องจากได้มีการเสนอชื่อ พลเอก สุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เกิดความไม่พอใจของประชาชนในวงกว้าง เนื่องจากก่อนหน้านี้ พลเอกสุจินดา คราประยูร ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ตนและสมาชิกในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) จะไม่รับตำแหน่งทางการเมือง ใด ๆ แต่กลับรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลในการรับตำแหน่งครั้งนี้ด้วยประโยคที่ว่า  "เสียสัตย์เพื่อชาติ” ด้วยประโยคดังกล่าวจึงนำไปสู่การเคลื่อนไหวคัดค้านต่าง ๆ ของประชาชน โดยพลตรีจำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรม สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย พรรคการเมืองฝ่ายค้าน ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคความหวังใหม่ และพรรคเอกภาพ โดยมีข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง และเสนอว่าผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง จนกระทั่งเหตุการณ์ได้บานปลาย รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานคร ทหารเข้าสลายการชุมนุม มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน ด้วยมาตรการที่ใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง นักธุรกิจ หรือบุคคลวัยทำงาน และพกพาโทรศัพท์มือถือกันเป็นส่วนมาก เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่งเข้ามาในประเทศไทย และใช้ในการติดต่อสื่อสารในการชุมนุม จึงเรียกว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเหล่านี้ว่า “ม็อบมือถือ”
                       จากเหตุโศกนาฏกรรมในการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง ในวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้พลเอกสุจินดา คราประยูรและพลตรี จำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้า และได้มีกระแสพระราชดำรัส พระราชทานแก่พลเอกสุจินดา คราประยูร และพลตรีจำลอง ศรีเมือง ต่อมาในวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พลเอกสุจินดาได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปพลางก่อน เหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวที่กรุงเทพเป็นอย่างมาก แต่เพียงระยะ ๒ เดือนก็กลับคืนสู่ปกติเพราะเหตุการณ์สงบลงอย่างรวดเร็ว ส่วนที่จังหวัดภูเก็ตนับว่าไม่กระทบกระเทือนเท่าใดนัก เพราะเป็นช่วง low season ของจังหวัดภูเก็ต
                       จากนโยบายการเงินเสรีด้วย BIBF ธนาคารต่าง ๆ เล็งเห็นผลประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยภายนอกประเทศมีอัตราที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศมาก ดังนั้นในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๔ – ๒๕๓๙ บรรดาธนาคารจึงได้นำเงินเข้าประเทศเป็นจำนวนมหาศาลในรูปแบบของเงินกู้ เพื่อนำมาปล่อยกู้ให้กับธุรกิจและประชาชนในประเทศ โดยหากำไรจากส่วนต่างของดอกเบี้ย ปริมาณเงินกู้ที่นำเข้าอย่างมากจึงเกิดสภาพเงินล้นตลาด ธนาคารและบริษัทการเงินต่างแข่งขันในการปล่อยเงินกู้ มีการกู้เงินอย่างมากมายที่ไม่มีการตรวจสอบหลักประกัน ไม่มีความเข้มงวดในการตรวจสอบความสามารถในการชำระคืน การศึกษาความเป็นไปได้ทำขึ้นโดยปราศจากข้อเท็จจริง รวมไปถึงการหาผลประโยชน์อันไม่ชอบธรรมในการปล่อยเงินกู้ระหว่างผู้ให้กู้กับผู้กู้ มีการกู้ยืมเพื่อซื้อขายที่ดิน และก่อสร้างอาคารมากมาย สำหรับจังหวัดภูเก็ต ด้วยการกู้เงินที่ง่าย สภาพคล่องสูง อาคารบ้านจัดสรร การก่อสร้างโรงแรมที่พัก เกิดขึ้นอย่างทั่วไป เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก การขุดตักดิน ตัดต้นไม้ตามไหล่เขา เกิดตะกอนดินชะไหลลงทะเล ทำให้ปะการังตายส่งผลให้น้ำทะเลขุ่นมัวไม่ใสสะอาดดังที่เคยมีมาในอดีต 
                              ในวันที่ ๗ สิงหาคม นายอนันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม ประกาศให้จังหวัดภูเก็ตเป็นเขตควบคุมมลพิษ และออกประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ควบคุมการก่อสร้างทั้งเกาะ โดยการก่อสร้างอาคารต้องมีความสูงไม่เกิน ๑๒ เมตร ตลอดแนวชายฝั่งทะเลและพื้นที่ทั้งหมดของเกาะภูเก็ต อย่างไรก็ตามการออกประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อควบคุมการก่อสร้างไม่ให้มีความสูงเกิน ๑๒ เมตรทั่วทั้งเกาะภูเก็ต เกิดความไม่พอใจต่อผู้ประกอบการในธุรกิจการซื้อขายที่ดิน ธุรกิจก่อสร้างหรือผู้ถือครองที่ดินเพราะเกรงว่าที่ดินของตนจะไม่สามารถขายได้ราคา เนื่องจำกัดความสูงไปในทุกพื้นที่ของเกาะภูเก็ต หอการค้าจังหวัดภูเก็ตและภาคเอกชนได้ทำการคัดค้านและโต้แย้งต่อประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯที่กำหนดความสูง ๑๒ เมตรทั่วทุกพื้นที่ สมควรพิจารณากำหนดความสูงของสิ่งปลูกสร้างในแต่ละพื้นที่ที่มีการใช้ที่ดินที่ต่างกัน มีหลักเกณฑ์ที่ต่างกัน เช่น บริเวณใกล้ชายหาดสมควรกำหนดความสูง เพื่อเป็นการรักษาสภาพแวดล้อม ส่วนในเขตพื้นที่เมืองหรือบริเวณชั้นในที่ไม่กระทบกับทัศนียภาพสามารถมีความสูงได้โดยพิจารณาจำกัดความสูงในแต่ละพื้นที่ ๆ ไป ในที่สุดได้มีการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ  ในระยะเวลาต่อมาจึงมีการปรับแก้ไขประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯโดยมีการพิจารณาผ่อนปรนในบางพื้นที่ เพื่อคงไว้ซึ่งการเคารพกฎหมายและเกิดผลในทางปฏิบัติ อย่างไรก็ตามในระหว่างการคัดค้าน และการผ่อนปรนข้อจำกัด ธุรกิจการซื้อขายที่ดินและการลงทุนก่อสร้างโรงแรม อาคารและบ้านจัดสรร โดยหลีกเลี่ยงข้อกฎหมายยังคงดำเนินอยู่เป็นปรกติ พบเห็นได้จากคดีความ และคำสั่งรื้อถอนการก่อสร้างในหลาย ๆ โครงการ ความขัดแย้งในการใช้ที่ดิน และปัญหาการครอบครองที่ดินขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง มีคดีความเข้าสู่ศาลเป็นจำนวนมาก


พ.ศ. ๒๕๓๖ – ๒๕๓๙ เศรษฐกิจเฟื่องฟู สดใส ธุรกิจท่าเรือมารีน่าเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม
                                  ด้วยนโยบายการเงินเสรี ธนาคารพาณิชย์ได้กู้เงินจากต่างประเทศ เพื่อนำเงินเข้ามาปล่อยกู้ในประเทศยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมากขึ้นตามลำดับตามความต้องการ เนื่องจากมีส่วนต่างของดอกเบี้ยที่สูงสามารถทำกำไรได้ดี การปล่อยเงินให้กู้ง่าย และไม่ระมัดระวัง หรือให้ความสำคัญในเรื่องการพิจารณาความเสี่ยง เพียงจัดทำโครงการเพื่อขอกู้ แม้เอกสารจะถูกต้องหรือไม่ หรือมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเพียงพอหรือไม่ก็ตาม ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการกู้เงินแต่อย่างใด บางรายของการซื้อขายที่ดินผู้ซื้อยังไม่ทราบว่าที่ดินอยู่ตรงบริเวณไหน หรือถูกต้องตามเอกสารหรือไม่ก็ตาม ไม่ได้เป็นสาระที่ต้องสนใจ ถึงขั้นที่ว่าสถาบันการเงินบางสถาบันจะพิจารณาให้กู้เงินที่มีจำนวนมาก ๆ เท่านั้น เช่นการกู้เงินต้องไม่ต่ำกว่า ๕ ล้านบาทเป็นต้น หรือเป็นโครงการขนาดใหญ่ได้รับการพิจารณาสนับสนุนเป็นพิเศษ การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเป็นที่นิยมและจัดทำขึ้นอย่างแพร่หลาย เนื่องจากการพิจารณาให้กู้เงินโดยมีการศึกษาความเป็นไปได้ประกอบนั้นนับว่าสะดวกยิ่งนัก ทำให้สภาพเศรษฐกิจเติบโตเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก การซื้อขายที่ดินมีขึ้นทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ ธุรกิจเก็งกำไรแพร่กระจายขยายตัวไปทั่วประเทศ แม้แต่ที่นาว่างเปล่า ที่ดินบนภูเขา การซื้อขายเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว ที่ดินทั่วไปมีการซื้อขายเปลี่ยนมืออย่างมากมาย ถึงขั้นที่มีกล่าวกันว่า “ซื้อที่ดินกันในตอนเช้าและขายต่อได้ในตอนเย็น”
                                 สำหรับจังหวัดภูเก็ตผลของนโยบายของการเงินเสรี ธุรกิจบ้านจัดสรรขยายตัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการอพยพย้ายถิ่น ของคนต่างพื้นที่เข้ามาทำงาน และทำมาหากินในจังหวัดภูเก็ต การปล่อยเงินกู้เพื่อซื้อบ้านค่อนข้างง่าย คนท้องถิ่น คนต่างถิ่น ส่วนชาวต่างชาติเห็นโอกาสทางธุรกิจ ได้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่อาศัยเป็นอย่างมาก มีการทำเอกสารเพื่อการลงทุน การทำงาน ทำเรื่องขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit)  เพื่อให้อาศัยอยู่ในประเทศได้อย่างถูกกฎหมาย ธุรกิจที่เกี่ยวข้องชาวต่างชาติ ในเรื่อง การจดทะเบียน และกฎหมายด้านต่าง ๆ   เป็นที่นิยมและใช้บริการกันอย่างกว้างขวาง ที่ดินยังคงมีการซื้อขาย เปลี่ยนมือกันไปมาแทบทุกพื้นที่ ทุกแปลง ทำให้การเงินสะพัดทั่วไป การพัฒนาพื้นที่ได้แก่การก่อสร้างโรงแรมอาคารที่อยู่อาศัย เกิดขึ้นอย่างมากมาย โดยไม่ได้พิจารณาศึกษาว่าจะมีตลาดรองรับหรือมีลูกค้าเพียงพอหรือไม่ก็ตาม นับว่าเป็นช่วงเวลาที่มีการจับจ่ายใช้เงินอย่างคล่องตัวเป็นประวัติการณ์ของประเทศ เป็นที่พึงพอใจก่อให้เกิดความสุขแก่นักธุรกิจ และประชาชนไปทั่วทั้งประเทศ ต่างมีความสุขในการจับจ่ายใช้สอย เพราะด้วยมีกำลังซื้อกันอย่างทั่วหน้า  ด้วยกำลังซื้อจากการกู้เงินที่สะดวกก่อให้เกิดอุปสงค์ จึงมีโครงการต่าง ๆ ขึ้นรองรับอุปสงค์ดังกล่าว การก่อสร้าง การขุดตักที่ดิน การไม่เคารพกฎหมาย โดยไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯจึงมีมากขึ้น โครงการเหล่านี้เริ่มส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นแบบอย่างให้ปฏิบัติตามมากขึ้น  การหยิบยกเรื่องอนุรักษ์มาเป็นประเด็นจะถูกกล่าวหากันอย่างกว้างขวางว่า การอนุรักษ์เป็นอุปสรรคของการพัฒนา (ความจริงแล้วสมควรกล่าวว่า “การอนุรักษ์สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ“การพัฒนาที่ยั่งยืนจำต้องมีการอนุรักษ์เป็นปัจจัย” )
                                    การพัฒนาที่ดินบริเวณชายฝั่งได้เกิดขึ้น จากเดิมทีท่าเรืออ่าวฉลองได้รองรับเรือที่เดินทางไปยังเกาะต่าง ๆ รอบ ๆ เกาะภูเก็ต และบรรดาเรือยอช์ทได้อาศัยจอดกัน ด้วยอาศัยเกาะโหลนบังลมมรสุม จึงเปรียบเสมือนเป็นท่าเรือมารีน่า เพียงแต่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น การเติมน้ำมัน การนำเรือขึ้นบกเพื่อซ่อมแซม  การทำความสะอาด การดูแลรักษาเรือที่เป็นระบบมาตรฐานสากลฯลฯ ปริมาณเรือเพิ่มจำนวนเข้าจอดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ในที่สุดการพัฒนาท่าเรือเรือยอช์ท (Marina) ได้พัฒนาให้เห็นเป็นรูปธรรมเป็นแห่งแรก ที่ตำบลเกาะแก้ว ชื่อโครงการว่า Boat Lagoon ท่าเรือมารีน่า ทำให้ภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวอีกรูปแบบหนึ่งขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
พ.ศ. ๒๕๓๘ เข้าสู่ยุคที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์ (Globalization)
                      ในปีนี้ เป็นปีที่โลกมีความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง ด้วยวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีครั้งยิ่งใหญ่ของโลก ด้วยบริษัทไมโครซอฟท์ (Microsoft) โดยนายบิล เกตต์ (Bill Gate) ได้สามารถพัฒนา ซอฟท์แวร์(Software) ระบบปฏิบัติการที่ชื่อว่าวินโดวส์ ๙๕ (Windows ๙๕) ได้รับการต้อนรับจากประชาคมโลกอย่างรวดเร็ว คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือที่นิยมใช้กันทั่วไปในสำนักงานไม่ว่าขนาดใด ๆ ก็ตาม ธุรกิจทุกประเภทได้นำคอมพิวเตอร์ที่มีระบบปฏิบัติการ Windows ๙๕ มาใช้งาน ภายหลังที่ Window ๙๕ ได้รับการตอบรับอย่างแพร่หลายไปทั่วโลกจึงมีการพัฒนาซอฟท์แวร์ ต่าง ๆ  เพื่อมาใช้กับระบบปฏิบัติการของ Windows ๙๕ ทำให้  เทคโนลียีสารสนเทศได้เข้ามามีผลต่อวิถีชีวิตของคนในชีวิตประจำวันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
                       ในขณะที่คอมพิวเตอร์เริ่มใช้กันแพร่หลายในต่างประเทศ แต่ในประเทศไทยยังมีใช้อยู่ในวงจำกัด เพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่ยังไม่มีการสอนในสถานศึกษา ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย และมีการบริหารการจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ ด้วยความสะดวกและรวดเร็ว และด้วยระบบปฏิบัติการ Windows พร้อม ๆ ไปกับการพัฒนาซอฟท์แวร์ ที่รองรับกับ เทคโนโลยีที่ใช้ในการสื่อสารได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว นั่นคือ อินเตอร์เน็ต (Internet) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการสื่อสาร และพัฒนามาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เพียงแต่เริ่มต้นใช้ในการสื่อสารภายในมหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกา และขยายผลใช้ในหน่วยงานของรัฐ เท่านั้น
                     ครั้นเมื่อคอมพิวเตอร์ได้มีการพัฒนาให้มีขนาดเล็กลง และราคาไม่สูง จนครัวเรือนหรือสำนักงานทั่วไป สามารถมีเครื่องคอมพิวเตอร์ไว้ใช้งานได้ ดังนั้นเมื่ออินเตอร์เน็ตได้พัฒนาเข้าเชื่อมต่อเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ในครัวเรือน และสำนักงานได้ทำให้การใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตเป็นที่นิยมแพร่หลายอย่างรวดเร็ว
                     พรัอม ๆ กับระบบปฏิบัติการ Windows ๙๕ ได้เกิดขึ้นมานั้น รูปแบบของคอมพิวเตอร์รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Notebook หรือLaptop ได้ถูกออกแบบและพัฒนาขึ้นมาใช้ และเป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายเพราะสามารถพกพาไปในที่ต่าง ๆ ได้ง่าย
                 คอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ตเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศจึงเป็นไปอย่างไร้ขีดจำกัด มีการพัฒนาซอฟท์แวร์เกิดขึ้นมาอย่างมากมาย อาทิเช่น E-mail, Website, Internet Explorer, Microsoft office, ฯลฯ นับเป็นนวัตกรรมที่มีผลต่อรูปแบบการทำงานแบบใหม่ในยุคแห่งโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เพราะการท่องเที่ยวจะเติบโตสัมพันธ์กับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง
                  ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศแบบใหม่ได้ก่อให้เกิดการสำรองห้องพักในรูปแบบใหม่ผ่านเครือข่าย อินเตอร์เน็ต เกิดขึ้นเป็นแห่งแรกในจังหวัดภูเก็ต และของประเทศชื่อว่า www.phuket.com ซึ่งเป็นธุรกิจที่ดำเนินงานโดยชาวต่างประเทศ ด้วยในระยะแรกในประเทศไทย ยังไม่มีผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ISP - Internet Service Provider) ดังนั้นในระยะแรก www.phuket.com จึงต้องใช้วิธีออนไลน์โดยตรงกับประเทศสหรัฐอเมริกา
พ.ศ. ๒๕๓๙ Website ของบริษัททัวร์แห่งแรก กับ การคืบคลานเข้ามาของวิกฤติเศรษฐกิจ
                         ครั้นเมื่อประเทศไทยเริ่มมี ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ISP ในประเทศ ในวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๓๙ ปรากฏ เว็บไซต์ (Website) ของบริษัทนำเที่ยวซึ่งดำเนินงานโดยคนไทยเป็นครั้งแรกในจังหวัดภูเก็ต ชื่อว่า www.phuketjettour.com เพื่อเป็นการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยว ให้คนทั่ว ๆ ไปสามารถได้รับข้อมูลได้สะดวก ซึ่งเดิมทีการเผยแพร่ข้อมูลทางการท่องเที่ยว คือสิ่งพิมพ์ ซึ่งมีข้อจำกัดทั้งในเรื่อง ปริมาณในการผลิต ค่าใช้จ่ายในการผลิต ระยะเวลาในการผลิต รวมถึงการจัดส่งสิ่งพิมพ์ ข้อจำกัดเหล่านี้ ทำให้การเผยแพร่ข้อมูลไม่สามารถทำได้รวดเร็ว และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ดังนั้น ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารด้วยอินเตอร์เน็ต และเว็บไซต์ ได้สลายข้อจำกัดข้างต้นลงไปอย่างสิ้นเชิง เว็บไซต์และเทคโนโลยีการสื่อสารจึงเข้ามามีบทบาทต่อธุรกิจท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก และใช้กันอย่างแพร่หลาย ในระยะเวลาต่อมาเริ่มส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวที่ดำเนินงานที่ปราศจากเทคโนโลยี (Manual) และทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวเริ่มเปลี่ยนไปสู่ธุรกิจนำเที่ยวที่ดำเนินงานโดยชาวต่างประเทศมากขึ้น (ด้วยข้อจำกัดในเรื่องภาษา และความรู้ความสามารถทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้สามารถมีราคาขายที่ต่ำเนื่องจากได้ทั้งราคาค่าห้องจากโรงแรมที่ต่ำกว่า และยังมีต้นทุนในการประกอบการที่ต่ำกว่าอีกด้วย)
                           ในราวกลางปี ๒๕๓๙ ความสุขของคนไทยในรอบ ๕ ปีที่ผ่านมาเริ่มเปลี่ยนไป การชำระหนี้เงินกู้ต่าง ๆ ของภาครัฐ(รัฐวิสาหกิจ) ภาคเอกชน และประชาชนเริ่มประสบปัญหา โครงการต่าง ๆ ประสบปัญหาเงินทุนหมุนเวียนขาดผู้ซื้อ หนี้ที่ไม่สามารถชำระคืนได้ตรงตามเวลาเป็นจำนวนมากขึ้น (NPL – Non Performing Loan) เนื่องจากยุคของการเก็งกำไรได้สิ้นสุดลง ความต้องการจริงและกำลังซื้อจริงของตลาดเริ่มปรากฏให้เห็นชัดขึ้น ส่งผลต่อภาคการผลิตเพราะมีการผลิตขึ้นมามากเกินความต้องการจนล้นตลาดอย่างชัดเจน ธนาคารพาณิชย์เริ่มประสบปัญหาในการชำระเงินคืนให้กับสถาบันการเงินในต่างประเทศ เศรษฐกิจที่เติบโตที่ไม่แท้จริงดุจคำเปรียบเปรยที่ว่า “ฟองสบู่เศรษฐกิจ” (Bubble Economy) เริ่มปรากฏลอยขึ้นให้เห็นอย่างชัดเจน                 
พ.ศ. ๒๕๔๐   ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง”
                ในที่สุดฟองสบู่เศรษฐกิจถึงจุดที่ต้องแตกสลาย  เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๐ รัฐบาล โดยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท เนื่องจากโดนการเก็งกำไรค่าเงินบาทจากตลาดการเงินในต่างประเทศ เพราะเห็นว่าเงินบาทมีค่าแข็งเกินความเป็นจริง รัฐบาลต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาท พบว่าค่าเงินบาท นั้นอ่อนตัวลงมากกว่าเท่าตัว มีผลให้สถาบันการเงินมีหนี้สินเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว (อัตราแลกเปลี่ยนจาก ๑ USD@๒๕.๐๐บาท เป็น ๑USD@๕๖.๐๐บาท) เมื่อปริมาณหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นมาก และส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะสั้น ในที่สุดรัฐบาลต้องเข้าพึ่ง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือIMF (International Monetary Fund) โดยในวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๐ รัฐบาลได้กู้เงินจำนวน ๒,๙๐๐ ล้าน SDR(Special Drawing Rights) หรือเท่ากับ ๔,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (๑SDR = ๑.๔ US Dollars)ในลักษณะ Standby Arrangement ซึ่งกำหนดให้เบิกถอน ๒ ปี ๑๐ เดือน แต่มีเงื่อนไขให้รัฐบาลไทยออกกฎหมาย ๑๑ ฉบับ *
(หมายเหตุ การกู้เงินในรูปแบบ Standby Arrangement เป็นการเบิกถอนเงินกู้แต่ละเดือน การกู้เงินครั้งนี้จาก IMF จำนวน ๒,๙๐๐ ล้าน SDR ใช้เวลาเบิกถอนเป็นระยะเวลา ๒ ปี ๑๐ เดือน แต่รัฐบาลโดยนายชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรี ได้เบิกถอนเพียง ๑ ปี ๑๐ เดือน ไม่เบิกถอนทั้งหมด เบิกถอนเพียง ๒,๕๐๐ ล้าน SDR เพราะเห็นว่าดุลการค้า และดุลการชำระเงินของประเทศดีขึ้นมากแล้ว จึงไม่เบิกถอนเพิ่ม เพราะสามารถจ่ายคืนเงินกู้ได้แล้ว และด้วยดุลการชำระเงินดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต่อมารัฐบาลโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี จึงขอชำระคืนเงินกู้ให้ IMF ก่อนกำหนด ๒ ปี [http://www.bot.or.th/ Thai/AboutBOT/index /Pages /IMF_index.aspx]
* กฎหมาย ๑๑ ฉบับได้แก่
กลุ่ม ๑ มี ๕ ฉบับ คือ กฎหมายล้มละลาย กฎหมายจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย กฎหมายแก้ไขวิธีพิจารณาความแพ่งในคดีมโนสาเร่ กฎหมายแก้ไขวิธีพิจารณาความแพ่งในกรณีขาดนัด และกฎหมายแก้ไขวิธีพิจารณาความแพ่งในการบังคับคดี
กลุ่มที่ ๒ มี ๓ ฉบับ คือ กฎหมายที่ดิน กฎหมายการเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่กำหนดให้เป็นทรัพย์สิทธิ์ และกฎหมายอาคารชุด
กลุ่ม ๓ มี ๑ ฉบับ คือ กฎหมายประกอบธุรกิจคนต่างด้าว
กลุ่ม ๔ มี ๑ ฉบับ คือ กฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจ
กลุ่ม ๕ มี ๑ ฉบับ คือ กฎหมายประกันสังคม
กฎหมายแต่ละกลุ่ม เป็นการเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติสามารถลงทุน หรือประกอบธุรกิจในประเทศได้สดวกขึ้น นับว่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และสังคมไทย ต่อวิถีชีวิตในเวลาต่อมา)
                  ในเดือนตุลาคมรัฐบาลสั่งปิด ๕๖ สถาบันการเงินเป็นการชั่วคราวเพื่อตรวจสอบหนี้สินต่าง ๆ  เศรษฐกิจของประเทศเผชิญหน้ากับวิกฤตอย่างรุนแรงที่สุดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ มีการปิดกิจการ การเลิกจ้างงานขยายวงกระทบออกไปอย่างกว้างขวาง
         ในที่สุดพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
         ในเดือนพฤศจิกายน รัฐบาลโดยนายชวน หลีกภัย ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีนายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๔๐ มีคำสั่งปิด ๕๖ สถาบันการเงินเป็นการถาวร จาก ๕๘ สถาบันการเงินที่มีปัญหาหนี้เสีย และรัฐบาลได้จัดตั้งองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้เสียที่เกิดขึ้น  แต่ไม่ได้สามารถแก้ไขปัญหาได้มากนัก จะด้วยองค์กรดังกล่าวขาดซึ่งประสบการณ์ หรืออาจเพราะไร้ความสามารถ หรือด้วยมีกระบวนการที่ไร้จริยธรรมประพฤติมิชอบในการฉวยโอกาส หรือด้วยมีบริษัทต่างชาติที่มีประสบการณ์ที่เชี่ยวชาญ  จึงทำให้มีการซื้อขายหนี้เสียได้ในราคาที่ต่ำมากทำให้รัฐไม่สามารถขายหนี้เสียได้ในราคาที่ดี รัฐต้องสูญเสียงบประมาณเป็นอย่างมาก ผลจากการปิดสถาบันการเงินส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อเนื่องไปอีกไปทั่วประเทศ ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ขยายผลกระทบไปยังธุรกิจประเภทอื่น ๆ อย่างต่อเนื่องและกว้างขวาง ธุรกิจเป็นจำนวนมากต้องปิดตัวลง เกิดภาวะว่างงานไปทั่ว ทุกครัวเรือนประสบปัญหาทางการเงินในทุกระดับ
           อย่างไรก็ตาม ด้วยค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงอย่างมาก แม้ทำให้ประเทศมีมูลค่าหนี้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว แต่ในทางกลับกัน ค่าเงินบาทช่วยให้การท่องเที่ยวและธุรกิจส่งออกดีขึ้น เป็นอย่างมากเช่นกัน เนื่องจากค่าของเงินบาทที่ถูกลงอย่างมากเมื่อเทียบกับเงินตราต่างประเทศ การสั่งซื้อสินค้าจากประเทศไทย และการมาเที่ยวประเทศไทยนั้นกลับมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าปกติมาก ส่งผลดีต่อนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ การท่องเที่ยวโดยรวมทั้งในระดับประเทศ และการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตจึงเติบโตและขยายตัวอย่างมากและต่อเนื่อง หาได้สะดุดหยุดชะงักเช่นธุรกิจอื่น ๆ           

พ.ศ. ๒๕๔๑ อัตราค่าห้องพักของโรงแรมปรับราคาสูงขึ้น ตามค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง
                                    จากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงถึงเท่าตัว เมื่อเทียบกับเงินสกุลต่างประเทศทำให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตมากขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ลงทุนโรงแรมชาวต่างชาติเห็นว่ากำไรที่ได้รับมีมูลค่าที่ต่ำลง เนื่องจากเมื่อนำกำไรที่เป็นเงินบาทนั้นไปแลกกลับเป็นสกุลเงินดอลลาร์แล้วมีมูลค่าที่ต่ำลง จึงเป็นครั้งแรกที่มีการใช้ราคาขายในสกุลดอลลาร์แทนการใช้ราคาขายด้วยสกุลเงินบาท โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรมที่เรียกว่า Chain Hotel ส่วนโรงแรมอื่น ๆ ที่เจ้าของเป็นคนไทย หรือบริหารงานโดยคนไทย พยายามรักษาค่าเงินบาท จึงยังคงขายในราคาเงินบาท แต่ได้ปรับราคาขายเพิ่มขึ้นอีก ๒๐ - ๔๐% ผลจากการปรับราคาสูงขึ้นอย่างมากได้ขยายผลไปยังบรรดาร้านค้าร้านอาหารที่ติดต่อค้าขายกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยปรับราคาสินค้า และค่าบริการขึ้นอีก ๒๐-๒๕%  จากราคาขายที่สูงขึ้นทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนมากขึ้นและสามารถคืนทุนได้ในระยะเวลาอันสั้น จึงเป็นที่สนใจต่อผู้จะลงทุนในธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร หรือธุรกิจที่ติดต่อกับนักท่องเที่ยวมากขึ้น เพราะต่างเห็นว่า ธุรกิจโรงแรมมีความสดใส โดยเฉพาะที่ภูเก็ตเป็นจังหวัดเดียวที่ธุรกิจยังสามารถดำเนินการและยังมีอนาคตที่สดใสเติบโตได้อีก เป็นการลงทุนที่สามารถคืนทุนได้ในระยะเวลาอันสั้นด้วยมีราคาขายที่สูง สวนทางกับเศรษฐกิจในภาคอื่นๆ  หรือจังหวัดอื่น ๆ   ดังนั้นทั้งผู้ลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต่างเข้ามาแสวงหาที่ดิน โดยเฉพาะที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อลงทุนด้านโรงแรม ธุรกิจบ้านจัดสรร ธุรกิจก่อสร้างจึงเติบโตเป็นอย่างมาก สภาพการใช้พื้นที่ดินเริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก มีการเข้าไปพัฒนาในที่ดินในที่ต่าง ๆ ทั่วทุกบริเวณ ไม่ว่าจะเป็นชายหาดใด บนภูเขาลูกใด หรือเกาะใด ๆ ในทะเล เริ่มมีความหนาแน่นของประชากรในแต่ละพื้นที่ สังคมเริ่มเปลี่ยนแปลงจากสังคมที่เคยสงบสุข ไปสู่ความเป็นเมืองเศรษฐกิจ
                                    ในขณะที่จังหวัดอื่น ๆ  ได้รับผลกระทบจากปัญหาทางเศรษฐกิจ อันเนื่องจากหนี้เสียที่เกิดจากการปล่อยเงินกู้ของสถาบันการเงิน และรัฐบาลสั่งปิดสถาบันการเงินทั้งหมด ๕๖ แห่ง ได้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวาง ธุรกิจปิดกิจการเป็นจำนวนมาก เกิดภาวะว่างงานไปทั่ว แต่ที่จังหวัดภูเก็ตกลับมีความเจริญเติบโต จึงมีการย้ายถิ่นฐานเข้ามาประกอบอาชีพเพื่อความอยู่รอด บ้างเปลี่ยนอาชีพเข้าสู่ภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจท่องเที่ยวเฟื่องฟู มีการก่อสร้างบ้านจัดสรรทั่วไปรองรับการย้ายถิ่นเข้าจังหวัดภูเก็ต

พ.ศ.๒๕๔๒  การขยายตัวของการก่อสร้างกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
ปีนี้มีแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างอุบัติขึ้น (Man Made Attraction)
                                   ประหนึ่งว่าจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดเดียวที่ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ และกลับมีสภาพเศรษฐกิจที่ดีเนื่องจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า  เพราะมีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก โรงแรมต่างมีอัตราการเข้าพักและค่าห้องพักอยู่ในเกณฑ์ที่สูง จึงมีทั้งผู้ลงทุนเดิมขยายกิจการ และมีผู้ลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาแสวงหาที่ดิน  เพื่อสร้างบ้านขายโดยเฉพาะอย่างยิ่งตามไหล่เขา มีการก่อสร้างโรงแรม และบ้านอยู่อาศัย โดยทั่วไปอย่างมากมาย ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน แรงงานต่างชาติจึงหลั่งไหลเข้ามาอยู่ในจังหวัดภูเก็ตเป็นจำนวนมาก เกิดปัญหาด้านสาธารณสุข และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในเรื่อง ตะกอนดินที่ชะล้างไหลลงทะเล ทำให้เกิดตะกอนขุ่น  การใช้ที่ดินและพัฒนาไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ปัญหาขยะ ปัญหาน้ำเสีย ปัญหาการจราจร ปัญหาสาธารณสุข และปัญหาความไม่ปลอดภัยในทรัพย์สิน เพิ่มมากขึ้น แต่ดูเสมือนว่าสังคมโดยทั่วไปไม่ได้รู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวกำลังกระทบต่อวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของตนเองในระยะยาว ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ดี การเงินสะพัด ทุกคนต่างได้รับประโยชน์อย่างถ้วนหน้า ปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตจึงหาใช่เรื่องที่ต้องคำนึงถึงไม่ ด้วยคิดว่าเป็นปัญหาของภาครัฐซึ่งมีหน้าที่ในการแก้ไข ภาษีต่างได้ชำระให้แล้ว จึงควรนำภาษีเหล่านั้นไปดำเนินการ (ความจริงแล้วปัญหานั้นคงหาใช่ปัญหาของรัฐไม่ แต่เป็นปัญหาของผู้ประกอบการและประชาชนเอง ที่จะมีผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของผู้ประกอบการและความเป็นอยู่ของประชาชน)
                                      ในราวปลายปีโครงการภูเก็ตแฟนตาซี (Phuket Fantasea) ได้ผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจ สามารถหาเงินทุนจากต่างประเทศมาดำเนินการก่อสร้างต่อ จนสามารถเปิดดำเนินการได้ นับเป็น Tourist Attraction ที่เป็นแบบมนุษย์สร้างขึ้น เพราะโดยปกติแหล่งท่องเที่ยว (Tourist Attraction) ของภูเก็ต และของประเทศ ส่วนมากจะเป็นสิ่งที่มีอยู่แต่เดิมตามธรรมชาติ แล้วนำเสนอให้นักท่องเที่ยวเยี่ยมชม หรือทำให้มีคมนาคมเข้าถึงเพื่อสามารถเข้าชมได้

พ.ศ.๒๕๔๓ การลงทุนจากชาวต่างชาติหลั่งไหลเข้าภูเก็ต การลงทุนภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
                                     เศรษฐกิจโดยรวมของภูเก็ตยังคงดีอยู่และมีท่าทีสดใสมากขึ้น นักท่องเที่ยวยังคงเพิ่มขึ้น ชาวต่างชาติสนใจที่จะมาลงทุนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการลงทุนก่อสร้างบ้านใกล้ชายทะเลมีการเปิดพื้นที่ที่เคยเป็นที่หวงแหนเพื่อการก่อสร้างโรงแรมและบ้านพักอาศัย  เช่นการก่อสร้างบนไหล่เขาริมทะเล เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในเรื่องตะกอนดิน น้ำเสีย และเกิดน้ำท่วมในบางแห่ง เช่นหาดป่าตอง จาการตักดินเพื่อขาย การถมที่เพื่อสร้างอาคาร การตัดต้นไม้บนภูเขา เพื่อการตัดถนนขึ้นภูเขา เพื่อสร้างโรงแรมและบ้านพักอาศัย การสร้างปางช้าง บนไหล่เขา  เป็นต้น ค่าแรงงานถีบตัวสูงขึ้น ค่าครองชีพเริ่มสูงขึ้น การอพยพย้ายถิ่นจากคนไทยภาคต่าง ๆ  และแรงงานต่างชาติยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อเข้ามาทำการค้า และรับจ้างขายแรงงาน ในปีนี้ชาวภูเก็ตบางคนเริ่มรู้สึกถึงความเป็นอยู่ที่เคยสงบสุขเช่นในอดีตลดน้อยลง ชาวต่างชาติย้ายถิ่นฐานเข้ามามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อการลงทุนและแสวงโชค ความเป็นอยู่อย่างแปลกหน้าต่อกันเริ่มปรากฏมากขึ้น
                     การเติบโตทางการท่องเที่ยวไม่มีทีท่าว่าจะหยุดเพียงเท่านั้น ปรากฏว่ายังมีปัจจัยที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับภูเก็ต และภูมิภาคนี้เติบโตเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง เมื่อเกาะพีพี ซึ่งมีรูปลักษณ์ของเกาะที่แปลกและสวยงาม มีชื่อเสียงสำหรับนักดำน้ำ และนักท่องเที่ยว เป็นอย่างดี ได้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกเมื่อมีการถ่ายทำภาพยนตร์ เรื่อง The Beach ซึ่งแสดงนำโดย ลีโอนาโด ดิคาปริโอ (Leonardo Dicaprio) ในระยะแรกการถ่ายทำถูกกระแสคัดค้าน ด้วยเกรงว่าการปรับแต่งภูมิทัศน์จะทำให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในที่สุดการถ่ายทำภาพยนตร์ สามารถดำเนินไปด้วยดี และสามารถนำออกฉายทั่วโลก ทำให้เกาะพีพีเป็นที่รู้จักและสร้างความนิยมอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น จังหวัดกระบี่และจังหวัดภูเก็ตจึงมีนักท่องเที่ยวเพิ่มจำนวนมากขึ้นทั้งสองจังหวัด เพราะสามารถเดินทางไปยังเกาะพีพี ได้ทั้ง ๒ เส้นทาง ปริมาณที่เดินทางเข้าเกาะพีพี จึงเพิ่มจำนวนเป็นอย่างมากและต่อเนื่อง ในขณะที่ยังไม่มีการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุดที่เกาะพีพีสามารถรองรับได้ หรือมาตรการรองรับกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ทำให้เกาะพีพีในปัจจุบันมีความหนาแน่นเป็นอย่างยิ่ง ชายหาดที่สวยงามของ ๒ หาดที่โค้งเว้าเข้าหากันกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
พ.ศ. ๒๕๔๔ ผลกระทบจากผู้ก่อการร้ายนำเครื่องบินชนตึก World Trade Center
                                      วันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๔๔ ผู้ก่อการร้ายได้นำเครื่องบินพุ่งชนตึก World Trade Center ทำให้ตึกแฝดพังทลายลง มีคนตายกว่า ๓,๐๐๐ คน บาดเจ็บกว่า ๖,๐๐๐ คน ได้ส่งผลกระทบต่อ การท่องเที่ยวของโลก จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางน้อยลง ในกลุ่มให้รางวัล (Incentive) กลุ่มประชุมสัมมนา (Meeting) มีการยกเลิกเป็นจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับจังหวัดภูเก็ต ผลกระทบต่อการท่องเที่ยวภูเก็ตนั้นมีบ้างแต่ยังอยู่ในอัตราที่ยังต่ำ เพราะนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังภูเก็ตเป็นชาวยุโรปที่เป็นกลุ่ม ครอบครัว และการพักผ่อน เป็นส่วนใหญ่ กลุ่มประชุมสัมมนายังมีไม่มากนัก และภูมิภาคเอเชียเป็นภูมิภาคที่มีความสงบ ปราศจากความรุนแรง แต่อย่างไรก็ตามได้เริ่มส่งผลกระทบในเรื่องความสะดวกสบายในการเดินทาง ด้วยมีการตรวจค้นอาวุธที่เพิ่มวิธีการต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ  โดยเฉพาะในสถานที่ที่เป็นสาธารณะ เช่น สนามบิน โรงแรม เป็นต้น
พ.ศ. ๒๕๔๕ เหตุระเบิดที่บาหลี อัตราการเข้าพักโรงแรมในภูเก็ตเริ่มลดลง
                                     ผลกระทบจากเครื่องบินพุ่งชนตึก World Trade Center ที่นิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้เป็นที่หวาดประหวั่นไปทั่วโลก เพราะเป็นความรุนแรงและเสียหายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้โลกตื่นตะลึง และยกเลิกการเดินทางไประยะหนึ่ง อย่างไรก็ตามแม้จังหวัดภูเก็ตจะไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ๙๑๑ (Nine-One-One)เท่าใดนัก เพราะนักท่องเที่ยวยังคงเดินทางเข้าภูเก็ต แต่ส่วนหนึ่งเริ่มเปลี่ยนเส้นทางไปยังจังหวัดใกล้เคียงคือพังงาและกระบี่ เนื่องจากภูเก็ตเริ่มมีความหนาแน่นและภูมิทัศน์ที่สวยงามเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ด้วยมีสิ่งปลูกสร้างบดบังภูมิทัศน์มากขึ้น ทำให้อัตราเข้าพักของโรงแรมในจังหวัดภูเก็ตลดลง ในขณะที่เขาหลัก จังหวัดพังงา และอ่าวนาง จังหวัดกระบี่ เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น
        ในวันที่  ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๕ เกิดระเบิดในไนต์คลับ บนหาดกุตะ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนิเซีย ทำให้นักท่องเที่ยวตาย ๒๐๒ คน และบาดเจ็บ ๒๐๙ คน
          สามวันต่อมาเกิดระเบิดในห้างสรรพสินค้าบนเกาะแห่งหนึ่งในฟิลิปปินส์ รัฐบาลในประเทศตะวันตก รวมถึงออสเตรเลีย เข้าใจว่าการก่อร้ายได้ขยายผลมายังภูมิภาคนี้ ประกาศเตือนประชาชนให้ระมัดระวังในการเดินทางมายังภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลกระทบทำให้นักท่องเที่ยวลดลงอย่างมากระยะหนึ่ง
                            ในปีนี้ได้มีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยตราพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. ๒๕๔๕ ขึ้น เพื่อแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ โดยให้เพิ่มจำนวนและมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์ทางธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์รวมอยู่ด้วย อย่างไรก็ตามหาได้มีผลในการบังคับใช้แต่อย่างใด
พ.ศ. ๒๕๔๖ โรคระบาดไข้หวัดมรณะซาร์ส (SARS) ไปทั่วเอเซีย กระทบการท่องเที่ยว                                  
                                     ในราวกลางปีเกิดโรคหวัด SARS ขึ้นในประเทศจีน ฮ่องกง และสิงคโปร์ ทำให้นักท่องเที่ยวชาวยุโรปหวาดเกรงในการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเซีย แม้แต่ประเทศไทยยังเกิดโรคระบาดในบางจังหวัด แต่กระทรวงสาธารณสุขได้ทำการแก้ไขป้องกันอย่างทันท่วงที สามารถสกัดกั้นการแพร่กระจายของโรคได้ สร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยว จึงทำให้การท่องเที่ยวชะลอตัวลงเล็กน้อยเพียงระยะเวลา ๒-๓ เดือน จึงกลับเป็นปกติ นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตอย่างต่อเนื่อง อัตราการเข้าพักอยู่ในอัตราที่สูง เฉลี่ยทั้งปีอัตราการเข้าพัก ประมาณ ร้อยละ ๗๐ ทำให้มีการลงทุนก่อสร้างโรงแรมเพิ่มขึ้น และขยายพื้นที่ทางการท่องเที่ยวไปยังจังหวัดพังงา โดยเฉพาะบริเวณเขาหลัก ได้มีการก่อสร้างโรงแรมระดับ ๔-๕ ดาวเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเปิดดำเนินการในราวปลายปี ๒๕๔๗
                                    ในปลายปี ๒๕๔๖ ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใด ๆ  เกิดขึ้น แม้จะได้รับผลกระทบบ้างแต่ก็เป็นไปในระยะสั้น นักท่องเที่ยวไปท่องเที่ยวที่บาหลีน้อยลงเป็นอย่างมาก เพราะนักท่องเที่ยวเปลี่ยนเส้นทางมาเที่ยวจังหวัดภูเก็ตแทน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลีย ทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตมีความสดใสมาก
                  
เข้าสู่ยุคการท่องเที่ยวระดับ World Class

พ.ศ. ๒๕๔๗ การท่องเที่ยว ชะงักงัน ด้วยโรคไข้หวัดนก (Bird Flu)            
                      จังหวัดภูเก็ตประกาศพัฒนาตนสู่ระดับเวิลด์คลาส (World Class)
                      กลับส่งท้ายปีเก่าด้วยธรณีพิบัติภัย สึนามิ (Tsunami)
                 ในเดือนมกราคมเกิดโรคไข้หวัดนกระบาด (Bird Flu) ทำให้กระทบต่อการท่องเที่ยวอยู่ระยะหนึ่ง แต่เมื่อได้มีมาตรการสกัดกั้นอย่างเต็มที่ โดยเผาทำลายสัตว์ปีกทั้งหมดในจังหวัดต่าง ๆ ที่มีการพบว่ามีไข้หวัดนกระบาด ทำให้สามารถสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคได้ การท่องเที่ยวกลับฟื้นสู่สภาพปกติ
                 หลังจากนั้นไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ ที่กระทบต่อการท่องเที่ยว ทำให้มีบรรยากาศที่สดใสอย่างต่อเนื่อง แม้จะล่วงเข้านอกฤดูกาลท่องเที่ยว (พฤษภาคม – ตุลาคม) แต่อัตราการเข้าพักก็ไม่ได้ต่ำกว่าในช่วงฤดูกาลเท่าใดนัก เมื่อไม่ได้มีเหตุการณ์ใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอีก ทำให้การท่องเที่ยวมีความสดใสเป็นอย่างมาก ในปีนี้จังหวัดภูเก็ตประกาศ ที่จะพัฒนาตนเองให้เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับ World Class
                    จนกระทั่ง ในวันที่ ๒๖ ธันวาคม เกิดธรณีพิบัติภัย คลื่นยักษ์สึนามิ เข้าถล่มชายฝั่งอันดามัน เนื่องจากเกิดแผ่นดินไหวที่ระดับความสั่นสะเทือน ๘.๙ ริคเตอร์ใต้ทะเล บริเวณเหนือเกาะสุมาตรา ทำให้เกิดคลื่นใต้น้ำไปทั่วมหาสมุทรอินเดีย ความรุนแรงของคลื่นยักษ์ที่เรียกว่า “สึนามิ (Tsunami)” มีอานุภาพรุนแรง มีแรงกระเพื่อมของคลื่นเดินทางไปจนถึงชายฝั่งทวีปอัฟริกา คลื่นยักษ์สึนามินี้สร้างความเสียหายเป็นอย่างมากที่จังหวัดพังงา บริเวณเขาหลัก มีผู้เสียชีวิตและสูญหายกว่า ๖,๐๐๐ คน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ส่วนจังหวัดภูเก็ตที่หาดกมลา และป่าตอง มีผู้เสียชีวิตและสูญหาย กว่า ๖๐๐ คน ส่วนจังหวัดอื่น ๆ ในทะเลอันดามันเสียหายมากเช่นกัน แต่มีผู้เสียชีวิต ไม่มากนัก
                                กรณีธรณีพิบัติภัยสึนามิ ครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลก เพราะประมาณว่ามีผู้เสียชีวิตกว่า ๒๒๐,๐๐๐ คน เพียงเกาะสุมาตราแห่งเดียวมีผู้เสียชีวิต กว่า ๑๗๓,๐๐๐ คน
พ.ศ. ๒๕๔๘ วิกฤตทางการท่องเที่ยวของภูเก็ตภายหลังธรณีพิบัติภัยสึนามิ กับ พลังของความร่วมมือของทุกภาคส่วน
                                ธรณีพิบัติภัยสึนามิส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว อย่างรุนแรงอย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อนในประวัติศาสตร์การท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต ความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เป็นข่าวโศกนาฏกรรมที่แพร่ขยายกระจายไปทั่วโลก เป็นที่ตกตลึงและเสียขวัญต่อชาวโลก ความเสียหาย สูญหาย ทั้งชีวิต และทรัพย์สิน มีรายงานเพิ่มขึ้นจากทุกพื้นที่ที่คลื่นสึนามิพัดพาไปถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดภูเก็ตมีข่าวลงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะคณะค้นหา หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เดินทางย่อมต้องเดินทางมาที่จังหวัดภูเก็ต เพราะเป็นศูนย์ปฏิบัติการในหลาย ๆ ด้าน แม้ความเสียหายจะไม่มากนัก เพราะความรุนแรงเกิดขึ้นที่บริเวณเขาหลักก็ตาม แต่เนื่องจากภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง และข่าวกิจกรรมที่จังหวัดภูเก็ตอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นข่าวแพร่สพัดไปทั่วโลกว่านักท่องเที่ยวเสียชีวิต และหายสาบสูญ ไปเป็นจำนวนมากที่จังหวัดภูเก็ต
                                ภายหลังเหตุการณ์ผ่านไปได้ ๓ เดือนนับแต่คลื่นยักษ์สึนามิเข้าทำลายชีวิตและทรัพย์สิน การช่วยเหลือ การค้นหาผู้สูญหายยังคงดำเนินอยู่ ในขณะที่นักท่องเที่ยวได้ลดลงเป็นจำนวนมาก รัฐบาลใช้งบประมาณเป็นอย่างมาก ในการฟื้นฟู ปรับปรุงภูมิทัศน์ ส่วนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้พยายามส่งเสริม และจัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ  อาทิเช่น การแสดงดนตรี การมาเยี่ยมชมของคณะต่าง ๆ  โดยนำบริษัทนำเที่ยว สื่อมวลชนจากต่างประเทศมายังภูเก็ต เพื่อทำการประชาสัมพันธ์ ให้เห็นว่าได้มีการพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์ และแหล่งท่องเที่ยวกลับคืนสู่สภาพเดิมแล้ว อย่างไรก็ตามปรากฏว่าจำนวนผู้เดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง
                                 ๖ เดือนนับจากคลื่นยักษ์สึนามิซัดกระหน่ำชายฝั่งทะเลอันดามัน นักท่องเที่ยวได้ลดลงจนกระทั่งโรงแรมมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยเหลือเพียงร้อยละ ๑๐ ไม่เว้นแม้แต่ร้านค้าทั่วไปที่ไม่ได้ติดต่อค้าขายกับนักท่องเที่ยวก็ตาม ขายสินค้าไม่ได้ การขายลดลงกว่า ๘๐% เช่น ร้านข้าวมันไก่ เดิมขายไก่ได้วันละ ๑๓-๑๔ ตัว ภายหลังเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิขายไก่ได้เพียง ๒ ตัว เป็นต้น จากการวิเคราะห์พบความเป็นจริงว่าตลอดระยะเวลา ๔ – ๕ เดือนแรกภายหลังเกิดธรณีพิบัติภัยสึนามินั้น ผู้เดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ เจ้าหน้าที่ของรัฐบาล ข้าราชการ ญาติของผู้เสียชีวิตหรือผู้สูญหาย ผู้เดินทางมาทำกิจกรรมต่าง ๆ  เช่น กิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยว กิจกรรมปรับปรุงภูมิทัศน์ การสำรวจค้นหา การจัดการศพของผู้เสียชีวิต คณะผู้ช่วยเหลือผู้เดือดร้อนต่าง ๆ  ซึ่งบุคคลเหล่านี้ได้พำนักตามโรงแรมต่าง ๆ  จึงทำให้เข้าใจว่าโรงแรมยังมีนักท่องเที่ยวเข้าพักอยู่เพียงแต่มีจำนวนน้อย ครั้นเมื่อบุคคลเหล่านี้ได้เสร็จสิ้นภารกิจและทยอยกลับไปแล้ว ความจริงจึงปรากฏให้เห็นชัดเจนว่า นับตั้งแต่เกิดธรณีพิบัติภัยสึนามิไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในบริเวณพื้นที่ภูเก็ต และชายฝั่งทะเลอันดามันอีกเลย ผลกระทบแสดงให้เห็นชัดเจนในหลายรูปแบบ นับตั้งแต่มีการปิดกิจการ การเลิกจ้าง การลดค่าแรง การย้ายถิ่นทำมาหากิน โดยเฉพาะการโยกย้ายด้านแรงงานของโรงแรม บริษัทนำเที่ยว ร้านอาหาร ร้านขายสินค้า และอื่น ๆ  อย่างมากมาย เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวชาติใดสนใจที่จะมาท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้อีก ด้วยเข้าใจว่าเสียหายไปหมดแล้ว บ้างเกรงว่าจะพบภาพที่ไม่พึงประสงค์ หรือบ้างเชื่อในเรื่องภูติผีปีศาจ บริษัทนำเที่ยวในต่างประเทศหยุดการขาย และเปลี่ยนเส้นทางในการขาย ไปยังภูมิภาคอื่นแทน ทำให้ภูมิภาคอื่น ๆ  กลับมีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น เกาะสมุย เกาะช้าง พัทยา ชะอำ หัวหิน และประเทศข้างเคียง เป็นต้น
                                 ในเดือนมิถุนายนพบว่าสายการบินต่าง ๆ ที่บินเข้าภูเก็ตลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเที่ยวบินระหว่างประเทศได้มีการยกเลิก ไปกว่าร้อยละ ๙๐ ของเที่ยวบินที่เคยทำการบินอยู่ คงเหลือเพียงสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ และซิลค์แอร์ เท่านั้น แต่ได้ลดเที่ยวบินลงเป็นระยะ จากเดิมวันละ ๒-๓ เที่ยวบิน เหลือเพียงวันละหนึ่งเที่ยวบิน และกำลังพิจารณาลดเที่ยวบินให้เหลือเพียงสัปดาห์ละ ๓ เที่ยวบิน หรือยกเลิกเที่ยวบิน
                                  ชมรมไทยบริการท่องเที่ยวภาคใต้ตอนบน ทราบถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของเที่ยวบินต่าง ๆ  เห็นว่าหากสายการบินเลิกเที่ยวบินหมด การจะเริ่มต้นทำการบินใหม่คงจะมีปัญหาในเรื่องการเข้าถึง (Accessibility) และจะกระทบต่อการตลาดเป็นอย่างมาก จึงร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยภาคใต้เขต ๔ จัดให้มีการระดมสมอง (Brain Storming) นำเสนอข้อมูล และรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น จากทุกภาคส่วนของธุรกิจการท่องเที่ยว ได้แก่ สายการบินต่าง ๆ ที่เคยบินเข้าภูเก็ต (Airlines) บริษัทนำเที่ยวที่ทำตลาดกับต่างประเทศโดยตรง (Inbound Tour Operator) ฝ่ายการตลาดของโรงแรม (Hotel Marketing) และผู้อำนวยการของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในภาคพื้นต่าง ๆ  (TAT Directors) เพื่อค้นหาสาเหตุที่นักท่องเที่ยวไม่เดินทางเข้ามาภูเก็ตอีกเลย เพราะสาเหตุใดบ้าง การที่ไม่มีผู้โดยสารเดินทางจนทำให้สายบินต้องลดเที่ยวบินจนกระทั่งยกเลิกเที่ยวบินไปในที่สุด เพราะเหตุใด ผลจากการระดมความคิด ได้ข้อมูลและข้อคิดเห็นเป็นอย่างมาก ที่ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนนำไปพิจารณาดำเนินการ
                         ระหว่างเดือนสิงหาคม – ตุลาคม ผู้ประกอบการท่องเที่ยวใน ๓ จังหวัดชายฝั่งอันดามัน เริ่มดำเนินโครงการ “สนุกทั้งเกาะ ลดทั้งเมือง” เป็นโครงการแรก เพื่อเป็นการแสดงพลังของความร่วมมือในการแก้ปัญหาร่วมกัน เพื่อให้มีพลังในการขับเคลื่อนในการฟื้นฟูการท่องเที่ยว โดยได้รับความร่วมมือจากสายการบินภายในประเทศ (การบินไทย บางกอกแอร์เวย์ โอเรียนไทย แอร์เอเซีย) โรงแรมรวมนับร้อยโรงแรมจาก ๓ จังหวัด บริษัทนำเที่ยวต่าง ๆ  องค์กรการท่องเที่ยวทั้งส่วนกลาง (ได้แก่ TTAA สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว, ATTA สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว, ITA สมาคมผู้จำหน่ายบัตรโดยสาร, TDA สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ) สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวส่วนท้องถิ่น ( เช่น TTAA Upper South Chapter ชมรมไทยบริการท่องเที่ยวภาคใต้ตอนบน, PTA Phuket Tourist Association สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภูเก็ต, PNTA สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวพังงา, KTA สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวกระบี่) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
                                   ต่อมาภายหลังโรงแรมแต่ละโรงแรมได้คิดทำโครงการโดยร่วมมือกับเอเย่นต์ที่ต่างมีสายสัมพันธ์กันอยู่ในแต่ละประเทศในแต่ละตลาด ร่วมมือกันในการส่งเสริมการท่องเที่ยว มีการร่วมมือระหว่างสายการบินกับบริษัทนำเที่ยวในต่างประเทศในการลดราคาเพื่อกระตุ้นตลาด การบินไทยเริ่มทำการบินในบางตลาดที่สายการบินอื่นได้ยกเลิกและยังไม่เริ่มต้นทำการบินใหม่ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่เข้าถึงผู้ซื้อโดยตรงโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และยังได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการทำตลาดในต่างประเทศของสายการบินต่าง ๆ  กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวของประเทศนั้น ๆ  บ้างออกเดินทางไปทำตลาดในต่างประเทศในลักษณะ Road Show การผนึกกำลังความสามารถร่วมกันเคลื่อนไหวของทุก ๆ ฝ่ายได้ก่อให้เกิดพลังในการกระตุ้นตลาด ตลาดมีความตื่นตัว และเริ่มเคลื่อนไหว ปลายปีนั้นการท่องเที่ยวกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย                    
พ.ศ. ๒๕๔๙ การท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวแต่ไม่เทียบเท่ากับการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 
                    องค์กรต่าง ๆ  ทั้งภาครัฐ และเอกชน ยังคงทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ข้อมูลเข้าถึง นักท่องเที่ยวให้มากที่สุด มีการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ เชิญบริษัทนำเที่ยวเดินทางเข้ามายังประเทศ และผู้ประกอบการโรงแรม และบริษัทนำเที่ยวเดินทางออกไปยังต่างประเทศ  มีการทำการตลาดกันอย่างกว้างขวาง ในทุก ๆ ประเทศ ตลาดบางประเทศกลับคืนเป็นปกติ ได้แก่กลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ออสเตรเลีย แต่ยังมีบางประเทศยังไม่กลับคืนเช่นปกติ ได้แก่ ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน
      แม้จังหวัดภูเก็ตจะประสบภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิ ได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตเป็นอย่างมาก แต่กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งส่วนมากเป็นชาวต่างชาติกลับเล็งเห็นว่า เป็นโอกาสอันดีสำหรับธุรกิจบ้านที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่บนภูเขา และชายทะเลทั่วไป สามารถซื้อหาที่ดินได้ในราคาที่ถูก นำมาพัฒนาและขายได้ในราคาที่สูง ดังนั้นนับตั้งแต่เกิดคลื่นยักษ์สึนามิเรื่อยมาจนถึงปีนี้ ธุรกิจซื้อขายที่ดินกลับเติบโตอย่างกว้างขวาง มีอาชีพนายหน้าขายที่ดินเกิดขึ้นอย่างมากมาย ทำการติดต่อซื้อขายทั้งที่เป็นที่ดินที่มีเอกสารถูกต้องตามกฎหมาย และอาจไม่ถูกต้อง ในบางพื้นที่อาจขัดกับ พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อมฯ หรือทำลายสภาพแวดล้อม นอกจากนี้ด้วยช่องว่างทางกฎหมายที่สามารถมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินในรูปของบริษัท ดังนั้นการถือหุ้นด้วยคนไทยในลักษณะตัวแทน (Nominee) มีขึ้นอย่างแพร่หลาย พร้อมด้วยกระแสของเศรษฐกิจที่เปิดรับอย่างเต็มที่ ด้วยยังเข้าใจว่าเศรษฐกิจจะดำเนินไปด้วยดีนั้นต้องอาศัยเงินลงทุนจากต่างชาติและยึดถือเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมาโดยตลอดระยะเวลา ๓๐-๔๐ ปีที่ผ่านมา ทำให้ต่างพยายามส่งเสริมให้มีการนำเงินทุนจากต่างประเทศเข้าประเทศ แม้เงินทุนนั้นจะมีที่มาอย่างไรก็ไม่ได้มีการตรวจสอบกันเท่าใดนัก ในขณะที่ประชาชนทั่วไปไม่ได้แสดงความวิตกต่อความเสียหายทางสังคม และสิ่งแวดล้อมที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะต่างประกอบอาชีพเพื่อความอยู่รอดจากความเสียหายที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิ จึงสนใจเพียงการกระตุ้นเศรษฐกิจของตนเอง จึงมองไม่เห็นถึงปัญหาที่กำลังคืบคลานเข้ามา อันจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของตนเองในระยะยาว
                    จากวิกฤตเศรษฐกิจในปีพ.ศ. ๒๕๔๐ ต่างคาดหวังให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจด้วยความรวดเร็ว ดังนั้นจึงมีการเปลี่ยนรัฐบาลที่มีนโยบายในรูปแบบของโครงการต่าง ๆ  ไม่ใช่นโยบายกว้าง ๆ เช่นในอดีตที่ผ่าน ๆ มา ปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากประชาชนทั่วประเทศเป็นอย่างดี เพราะต่างเห็นว่ารัฐบาลที่มีความซื่อสัตย์แต่แก้ไขปัญหาไม่รวดเร็วทันใจ ขอให้มีรัฐบาลที่มีความสามารถแม้จะโกงกินบ้างก็ไม่เป็นไร จึงมีนิยามให้กับรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ว่า “ชวนเชื่องช้า” พร้อม ๆ กับการเกิดกระแสความคิดที่ขยายตัวไปอย่างรวดเร็วว่า โกงบ้างไม่เป็นไร ขอให้มีผลงานเป็นใช้ได้ ดังนั้น ตลอดระยะเวลา ๓-๔ ปีที่ผ่านมาจึงมีโครงการต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งหนึ่งในโครงการนั้นมีโครงการขนาดใหญ่โดยมีเป้าหมายที่จะให้มีจำนวนนักท่องเที่ยว ๒๐ ล้านในอีก ๕ ปีข้างหน้า (ปีพ.ศ. ๒๕๕๒) โครงการนั้นคือการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งมีการเร่งดำเนินการก่อสร้างเพื่อสามารถเปิดใช้บริการในปลายปีนี้ โครงการสนามบินสุวรรณภูมิจึงมีข่าวคราวเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นเป็นอย่างมาก จากโครงการหลาย ๆ โครงการในปีนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ประกอบการในเรื่องการกระทำอันทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งภาคการเมืองและราชการที่เพิ่มมากขึ้นอย่างกว้างขวางทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ  ประชาชนทั่วไปเริ่มจับตามองพฤติกรรมของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล
                      ในราวปลายปี ๒๕๔๘ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ขายธุรกิจของตนเองให้กับกองทุนทามาเซคประเทศสิงคโปร์ โดยทำการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ ด้วยมีการโอนการซื้อการขายเป็นไปอย่างซับซ้อน มีการโอนหุ้นไปมาในระหว่างคนในครอบครัว คนใกล้ชิด และเครือญาติ โอนจากบริษัทนั้นไปยังบริษัทนี้ บางบริษัทมีที่ตั้งอยู่ในเกาะบริติชเวอร์จินส์ไอส์แลนด์ (British Virgin Islands) ซึ่งเป็นหมู่เกาะที่กล่าวขานว่าเป็นแหล่งฟอกเงินที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เป็นพฤติกรรมที่ส่อให้เห็นว่าการซื้อขายบริษัทครั้งนี้เป็นไปอย่างมีเงื่อนงำ และเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยว่าการซื้อขายครั้งนี้มีการจงใจที่จะหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ทำให้การเมืองเข้าสู่ภาวะวิกฤต ประชาชนไม่พอใจกับจริยธรรมของผู้นำประเทศ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก มีการชุมนุมขับไล่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในที่สุดนายกรัฐมนตรีแก้ปัญหาด้วยการยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่     ในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรใหม่ในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙  อย่างไรก็ตามแม้จะได้รัฐบาลชุดใหม่ การชุมนุมคัดค้านและขับไล่นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลยังคงดำเนินต่อไป และส่อเค้าของความรุนแรงไปสู่การเผชิญหน้าของประชาชน ๒ ฝ่ายที่ สนับสนุน และต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในที่สุดพลเอกสนธิ บุณยรัตกลินทำการรัฐประหารในวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ แต่ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเหมือนในอดีต เช่น ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ หรือ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ หรือ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๓๕ กลับเป็นบรรยากาศที่ประชาชนให้การสนับสนุน ด้วยการมอบดอกไม้เป็นการแสดงความยินดีให้กับเหล่าทหารที่ยืนประจำการในที่ต่าง ๆ  เสมือนประชาชนมีความรู้สึกพอใจที่ทหารได้เข้ามาคลี่คลายสถานการณ์ สามารถลดความตึงเครียดได้ ภาพพจน์ที่เกิดขึ้นจึงไม่มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวแต่อย่างใด
                          ในวันที่ ๒๘ กันยายน สนามบินสุวรรณภูมิเปิดให้บริการ พร้อม ๆ กับปัญหาความไม่เรียบร้อยในหลาย ๆ เรื่อง แต่ปลายปีนี้สำหรับจังหวัดภูเก็ตการท่องเที่ยวดีขึ้นมากอย่างที่ไม่ได้คาดการณ์มาก่อน ด้วยมีบางตลาดที่นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ได้แก่ สแกนดิเนเวีย รัสเซีย และออสเตรเลีย เพราะมีการเพิ่มเที่ยวบินเช่าเหมาลำเป็นจำนวนมาก เช่นรัสเซีย ในอดีตหลายปีที่ผ่านมามีเที่ยวบินเช่าเหมาลำเพียง ๓-๔ เที่ยวบินเท่านั้น แต่ในปีนี้ มีเที่ยวบินเหมาลำสัปดาห์ละ ๑ เที่ยวบิน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๙ ถึง เดือนมีนาคม ๒๕๕๐ และบางช่วงเสริมด้วย เที่ยวบิน ๗๔๗ รวมอีก ๔-๕ เที่ยวบิน อัตราการเข้าพักจึงสูงมากผิดความคาดหมาย ก่อให้เกิดปัญหากับนักท่องเที่ยว ที่เข้าพักของโรงแรมต่าง ๆ เกินจำนวนห้องพักที่มีอยู่ ต้องย้ายจัดหาที่พักกันอย่างวุ่นวาย

พ.ศ. ๒๕๕๐ อัตราการเข้าพัก ดีกว่า ก่อนเกิดเหตุการณ์สึนามิ
                                    นับจากปลายปี ๒๕๔๙ ต่อเนื่องต้นปี ๒๕๕๐ อัตราการเข้าพักสูงเกินความคาดหมาย มีปัญหาในการรับนักท่องเที่ยวเข้าพักของโรงแรมต่าง ๆ  เกินจำนวนห้องพักที่มีอยู่ ด้วยการท่องเที่ยวกลับคืนสู่จังหวัดภูเก็ตอย่างรวดเร็ว และมากกว่าที่ประมาณการไว้ ทำให้เกิดปัญหาห้องพักไม่เพียงพอ โรงแรมต่าง ๆ ต้องบริหารจัดการเรื่องห้องพักในการย้ายที่พักกันตลอดเวลาเกือบตลอดช่วงของฤดูกาลท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาความขาดแคลนแรงงานทีมีฝีมือเป็นจำนวนมาก เพราะในช่วงปี ๒๕๔๘ ภายหลังธรณีพิบัติภัยสึนามิ แรงงานที่มีฝีมือมีความสามารถได้อพยพย้ายถิ่นไปทำมาหากินในแหล่งท่องเที่ยวอื่นเป็นจำนวนมาก
                                    ขณะที่การท่องเที่ยวที่กลับสู่สภาวะที่ดีขึ้นอย่างมาก เช่นเดียวกันธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้เติบโตอย่างมากเช่นกัน ประกอบกับภูเก็ตเพิ่งผ่านพ้นเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิ จึงไม่มีผู้ใด หรือมีข้อจำกัดใด ๆ ที่จะเป็นการสกัดกั้นเงินทุนไหลเข้าจังหวัด การเปิดพื้นที่เพื่อโครงการต่าง ๆ เป็นไปอย่างไร้ข้อจำกัด การพัฒนาเป็นไปอย่างไม่คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือปัญหาสังคมที่จะติดตามมา หรือแม้กระทั่งการเตรียมการในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารการจัดการที่จะรองรับกับความเปลี่ยนแปลงที่จะติดตามมาในอนาคต ธุรกิจส่วนใหญ่ลงทุนในด้านอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหาร และอื่น ๆ   และเป็นชาวต่างชาติเป็นส่วนมาก ทำให้สัดส่วนของผู้ประกอบการ ที่เป็นชาวต่างชาติ และต่างถิ่นมากขึ้น มีการหลั่งไหลแรงงานต่างถิ่นและชาวต่างชาติย้ายถิ่นเข้ามามากนับเป็นเท่าตัว จากที่เคยได้เคยอพยพหลั่งไหลเข้าอย่างต่อเนื่องในรอบ ๑๐ ปีที่ผ่าน มีการลงทุนโดยชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น มีการซื้อขายที่ดินกันในทุกพื้นที่ ที่ดินได้เปลี่ยนมือเป็นของชาวต่างชาติ และต่างถิ่นอย่างมากมาย การสร้างอาคารที่พักบนภูเขาสามารถพบเห็นได้โดยทั่วไป แม้ไม่ได้มีการสำรวจตัวเลขกันอย่างชัดเจน แต่ประมาณการว่าผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดภูเก็ตกว่าครึ่งเป็นของชาวต่างชาติ และคนต่างถิ่น
                             ในวันที่ ๑๖ กันยายน สายการบิน One Two Go จากกรุงเทพ มุ่งหน้าไปยังจังหวัดภูเก็ต ระหว่างที่ลงจอดบริเวณท่าอากาศยานภูเก็ต ทันทีที่แตะพื้นรันเวย์ เกิดกระแสลมเปลี่ยนทิศทางกระทันหัน (Wind Shear) เครื่องบินเสียการทรงตัว ลื่นไถลออกนอกรันเวย์ไปชนกับกำแพงดินซึ่งเป็นคันดินลาดเชิงเขา พร้อมเกิดระเบิดติดตามมา ๒ ครั้ง ทำให้เครื่องบินหักเป็น ๒ ท่อน และมีไฟลุกไหม้ มีผู้บาดเจ็บ ๔๒ คน และมีผู้เสียชีวิต ๘๙ คน นับเป็นอุบัติเหตุที่ร้ายแรงที่เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ ๒ ที่สนามบินนานาชาติ ภูเก็ต แต่ด้วยความพร้อมจากการฝึกซ้อม ทำให้สนามบินภูเก็ตสามารถเปิดได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง จึงไม่ทำให้กระทบต่อการท่องเที่ยวแต่อย่างใด
                                      จากการปฏิรูประบบราชการของกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ  มีการจัดตั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาขึ้น ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ จึงได้มีการปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยว พ.ศ. ๒๕๓๕ และพ.ศ.๒๕๔๕ ในโอกาสที่รัฐบาลที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (ค.ม.ช.) กำลังจะสิ้นสุดลงจึงได้เร่งนำร่างพ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. ๒๕๕๑ เข้าสภาเพื่อผ่านมติของสภา กำหนดให้สำนักพัฒนาท่องเที่ยวรับผิดชอบดำเนินการแทนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย แต่ดูเหมือนว่ามีการแก้ไขกฎหมายถึง ๒ ครั้ง ปัญหาเรื่องมาตรฐานและการจัดระเบียบตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ยังไม่ได้รับการดูแลแก้ไขอยู่นั่นเอง
                                     ในปีนี้อัตราค่าห้องพักสูงขึ้นกว่า ๓๐% เนื่องจากได้มีการปรับค่าห้องพักเพิ่มขึ้น และในขณะเดียวกันค่าเงินบาทมีค่าแข็งขึ้นกว่า ๒๐% เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ พร้อม ๆ กันไปกับสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นจุดขายทางการท่องเที่ยวของภูเก็ตได้มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก ปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมในหลาย ๆ ด้าน มีมากขึ้นและกำลังเข้าสู่ระดับวิกฤต ได้แก่ ปัญหาขยะ น้ำเสีย สาธารณสุข การก่อสร้างที่ทำให้ภูมิทัศน์ที่สวยงามทางธรรมชาติเปลี่ยนไป ปัญหาด้านสังคม ความไม่ปลอดภัย ปัญหาคุณภาพของบุคลากร ดูเสมือนว่าปัจจุบันสังคมขาดภูมิคุ้มกัน  การพัฒนาเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง
                                 
พ.ศ. ๒๕๕๑   วิกฤตการณ์ราคาน้ำมัน ตามติดด้วยวิกฤตการณ์ทางการเงินโลก              และซ้ำเติมด้วยปัญหาการเมืองไทยเข้าสู่ขั้นวิกฤต ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวทั่วประเทศ
                                    จากอัตราค่าห้องที่โรงแรมได้ปรับตัวสูงขึ้นเพราะอัตราการเข้าพักในปี ๒๕๔๙ ที่สูงเกินความคาดหมาย ผนวกกับค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น ทำให้ค่าห้องพักเพิ่มขึ้นกว่า ๓๐% เริ่มส่งผลให้การท่องเที่ยวไม่หนาแน่นเท่าปลายปี ๒๕๔๙ และต้นปี ๒๕๕๐
                                    ในขณะที่ตั้งแต่เดือนมีนาคม ต่อเนื่องถึงเดือนมิถุนายน ราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้นกว่า ๖๐% ทำให้สายการบินมีการบวกราคาน้ำมันเข้าไปค่าตั๋วเครื่องบินที่สูงมากขึ้น ดังนั้นค่าเดินทางจึงสูงขึ้นมาก ผนวกกับค่าห้องพักที่มีราคาเพิ่มขึ้น เริ่มมีสัญญาณส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ด้วยมีอัตรานักท่องเที่ยวที่ลดลงตามลำดับ
                           วันที่ ๒๖ สิงหาคม เกิดปรากฏการณ์ทางการเมือง อย่างไม่สามารถคาดคิดมาก่อน ด้วยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเข้ายึดตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาล
                                    ในวันที่ ๒๙-๓๑ สิงหาคม กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจังหวัดภูเก็ตเข้าปิดล้อมสนามบินนานาชาติภูเก็ต การปิดล้อมเป็นระยะเวลา ๒ วัน ทำให้เที่ยวบินที่ขึ้นและลงในแต่ละวันที่มีจำนวน ๑๑๘ เที่ยวบิน ไม่สามารถเดินทางเข้าภูเก็ต และออกจากภูเก็ตได้ ข่าวการปิดล้อมสนามบินที่ภูเก็ตทำให้มีการยกเลิกการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าภูเก็ตเป็นจำนวนมาก
                                     ในเดือนกันยายน ผลของหนี้เสียที่เกิดขึ้นกับเงินกู้ที่ปล่อยให้กับลูกหนี้ที่ด้อยคุณภาพ (Sub-Prime Loan) ในสหรัฐอเมริกา เริ่มปรากฏผลของภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำของสหรัฐอเมริกา และขยายผลต่อเนื่องไปยังประเทศต่าง ๆ  ในทวีปยุโรป เช่น อังกฤษ ไอซ์แลนด์ เยอรมัน บริษัทใหญ่ ๆ มีนโยบายในการลดการว่าจ้างแรงงานลง ๒๐-๓๐%
                            ในวันที่ ๗ ตุลาคม นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ภายหลังขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เคลื่อนขบวนเข้าปิดล้อมรัฐสภา เพื่อไม่ให้สามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ แต่นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภายังคงยืนยันที่จะให้มีการประชุม ดังนั้นในเช้าวันนั้นจึงมีการสลายการชุมนุม ในที่สุดโศกนาฏกรรมของการเมืองไทยได้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เช่นเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖, ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ และพฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕ มีผู้คนล้มตายและบาดเจ็บ เป็นจำนวนมาก
                                      วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เข้าปิดล้อมสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ เพื่อรอรับการกลับมาของนายกรัฐมนตรี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่เดินทางกลับจากการประชุม ASEM (The Asia-Europe Meeting) ที่ประเทศเปรู ทำให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยประกาศปิดสนามบิน นักท่องเที่ยวตกค้างอยู่ที่สนามบินนับหมื่นคน และอีก ๒ วันต่อมาในเช้าวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน กลุ่มพันธมิตรฯได้ปิดล้อมสนามบินดอนเมืองเพิ่มอีกแห่งหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้คณะรัฐมนตรีเดินทางไปประชุมกับนายกรัฐมนตรี ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งการปิดล้อมสนามบินทั้งสองสนามบิน ได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง ทำให้นักท่องเที่ยวลดจำนวนลงกว่า ๖๐% มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรงชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การท่องเที่ยวไทย
                                      รัฐบาลได้มีมติประกาศใช้ พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉิน ใน ๒ พื้นที่คือ สนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อเข้าเคลียร์พื้นที่
                            วันที่ ๒ ธันวาคม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีมติยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ตัดสิทธิ์ทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา ๕ ปี ทำให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี วันต่อมากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สลายการชุมนุมที่สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง และทำเนียบรัฐบาล ทำให้บรรยากาศความตึงเครียดทางการเมืองคลี่คลายลง สายการบินต่าง ๆ เริ่มดำเนินการบินกลับมาเช่นเดิม
                                      ในเดือนธันวาคมปัญหาลูกหนี้ด้อยคุณภาพ (Sub-Prime Loan) ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ได้ขยายผลไปสู่ประเทศในยุโรป อังกฤษ ไอซ์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมันนี ญี่ปุ่น เกาหลี เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินไปทั่วโลก เนื่องจากความเกี่ยวโยง การค้าขายซึ่งกันและกันในยุคของโลกาภิวัตน์ เกิดภาวะว่างงานเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ  ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เพราะนักท่องเที่ยวชาวยุโรปเป็นนักท่องเที่ยวหลัก ที่เดินทางมาท่องเที่ยว จังหวัดภูเก็ต ทำให้มีนักท่องเที่ยวในเดือนพฤศจิกายนลดลงร้อยละ ๓๐ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา รวมกับผลกระทบจากการปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้การท่องเที่ยวในฤดูกาลท่องเที่ยว (High Season) ซึ่งในอดีตเดือนธันวาคมตามเหตุการณ์ปกติที่ผ่านมาอัตราการเข้าพักเฉลี่ยในแต่ละปีอยู่ในระดับ ๘๐-๙๐% แต่ผลจากการปิดสนามบิน และเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ทำให้ในพื้นที่กรุงเทพ อัตราการเข้าพักของโรงแรมเฉลี่ยเหลือเพียง ๔๐ - ๕๐% เท่านั้น ส่วนภูเก็ตเนื่องจากมีเที่ยวบินเช่าเหมาลำ ทำให้อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ ๖๐ -๗๐%
พ.ศ. ๒๕๕๒ การเมืองที่ยุ่งเหยิง การเรียกร้องที่ทำเกินขอบเขตของเสรีภาพ อย่างผิดกฎหมาย ประเทศไทยเสียภาพลักษณ์ เศรษฐกิจ การค้า และการท่องเที่ยวเสียหายอย่างใหญ่หลวง
                                 นับตั้งแต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะขึ้นดำรงตำแหน่ง เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๑ ในขณะที่มีพรรคใหม่เกิดขึ้น คือ พรรคเพื่อไทย เพื่อรองรับสมาชิกพรรคการเมืองที่ถูกยุบ พร้อม ๆ กันไปกับผู้จัดรายการ “ความจริงวันนี้” ได้จัดตั้งกลุ่มเสื้อแดง เพื่อชุมนุมขับไล่นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยเรียกร้องให้ลาออก และยุบสภา  การชุมนุมเริ่มขยายตัวไปยังจังหวัดต่าง ๆ  โดยที่อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้โทรศัพท์จากต่างประเทศ เข้ามาในที่ชุมนุมต่าง ๆ  โจมตีรัฐบาลในเรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และโจมตีพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี พลเอก สุรยุทธ จุลานนท์ องคมนตรี ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการปฏิวัติรัฐประหารในวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙
                          ในเดือนเมษายน ด้วยการชุมนุมที่ไม่สามารถทำให้เกิดมีการเปลี่ยนแปลง ในที่สุดกลุ่มเสื้อแดง จึงเคลื่อนไหวให้มีผลกระทบต่อประชาชน ให้มีความเดือดร้อน เพื่อเป็นการกดดันรัฐบาลว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เป็นการลดความน่าเชื่อถือ หากรัฐบาลแก้ไขด้วยการสลายการชุมนุม แล้วสามารถขยายผลไปสู่ความรุนแรงได้ ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีความชอบธรรมในการบริหาร การกดดันจึงเริ่มตั้งแต่การเข้าปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล จากนั้นเข้าปิดถนน ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อก่อให้เกิดการจราจรติดขัด ทำให้ประชาชนไม่พอใจที่กลุ่มเสื้อแดงก่อความเดือดร้อน กลุ่มผู้ชุมนุมจึงต้องยกเลิกการปิดถนน ในขณะเดียวกันรัฐบาลแก้ไขปัญหาโดยประกาศให้มีวันหยุดเพิ่มขึ้น เนื่องจากใกล้เทศกาลวันสงกรานต์ เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมไม่สามารถทำให้ประชาชนเดือดร้อนได้ พ.ต.อ.ทักษิณ ชินวัตร ได้โทรศัพท์เข้ามาในที่ชุมนุมให้ขัดขวางการประชุม ASEAN Summit ดังนั้นกลุ่มคนเสื้อแดงส่วนหนึ่งจึงได้มุ่งหน้าไปยังเมืองพัทยาเพื่อทำการขัดขวางการประชุม ASEAN Summit ณ โรงแรมรอยัลคลิพบีชรีสอร์ท ในที่สุดกลุ่มคนเสื้อแดงได้ บุกทะลวงเข้าไปยังในสถานที่ประชุม ทำให้รัฐบาลต้องยกเลิกการประชุม และประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตพื้นที่พัทยา และต้องอพยพผู้นำประเทศที่เข้าร่วมประชุมออกจากโรงแรม เพื่อเดินทางกลับประเทศของผู้นำแต่ละประเทศ นำความเสื่อมเสียต่อภาพลักษณ์ในเรื่องการรักษาความปลอดภัยในระดับประเทศเป็นอย่างมาก
                                     หลังจากที่มีประชุม ครม.สัญจร ที่โรงแรม รอยัลคลิฟ บีช รีสอร์ท พัทยา ซึ่งภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายรัฐมนตรี ได้ออกจากห้องประชุม ในระหว่างเดินทางกลับ รถยนต์ของนายกรัฐมนตรีถูกกลุ่มคนเสื้อแดงเข้าห้อมล้อมและทุบตี แต่สามารถหลุดรอดจากวงล้อมไปได้ นับว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยต่อชาวโลก ที่แสดงให้เห็นถึงความไม่มีศักยภาพของรัฐในเรื่องความปลอดภัย ที่ไม่สามารถให้ความคุ้มครองป้องกันผู้นำประเทศของตนเอง และไม่สามารถดำเนินการให้การประชุมระดับชาติเป็นไปด้วยความเรียบร้อยได้ เป็นภาพลักษณ์ที่กระทบต่อศักยภาพการท่องเที่ยวในระดับพื้นฐาน คือ ความปลอดภัย (Safety)
                                       ในวันที่ ๑๒ เมษายน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศให้เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลเป็นเขตพื้นที่ในการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยทำการประกาศ ณ กระทรวงมหาดไทย ภายหลังการประกาศในขณะที่นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะจะเดินทางกลับออกจากกระทรวงมหาดไทย กลุ่มคนเสื้อแดงได้เข้าบุกกระทรวงมหาดไทยห้อมล้อมรถยนต์นายกรัฐมนตรี และทุบตีรถเสียหายทั้งคัน แต่นายกรัฐมนตรีสามารถหลุดรอดไปได้ แต่นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้รับบาดเจ็บ และถูกพาตัวไปเข้ารักษาที่โรงพยาบาล เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ไร้คุณภาพอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากไม่สามารถป้องกันเหตุร้ายได้แม้แต่ในสถานที่ราชการ
                                        เช้าวันที่ ๑๓ เมษายน รัฐบาลมีมาตรการในการสลายการชุมนุม เริ่มตั้งแต่บริเวณ สามเหลี่ยมดินแดง กลุ่มผู้ชุมนุมได้นำรถแก๊สมาขวางถนน ในที่สุดทหารสามารถเข้ายึดพื้นที่ได้ ในเวลาต่อมาที่บริเวณนางเลิ้ง ชุมชนผู้อยู่อาศัยในบริเวณนั้นได้รวมตัวกันขัดขวางกลุ่มคนเสื้อแดง ด้วยเกรงว่าจะมาเผาบ้านเรือนของตนเอง และติดตามด้วยบริเวณถนนเพชรบุรีซอย ๕ และซอย ๗ชุมชนออกมาต่อต้านกลุ่มคนเสื้อแดงเช่นกัน ในบ่ายวันเดียวกันนายวีระ มุสิกพงศ์ นายณัฐวุฒิ ใสเกื้อ และนายแพทย์เหวง โตจิราการ แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงเข้ามอบตัว การชุมนุมสลายตัว ต่างแยกย้ายกันกลับต่างจังหวัดของตน
                                          ภายหลังเหตุการณ์ผ่านพ้นไป วันรุ่งขึ้นประชาชนออกมาเล่นน้ำในเทศกาลสงกรานต์ กันอย่างสนุกสนานในทุกพื้นที่ นับเป็นภาพที่สร้างความประหลาดใจแก่ชาวโลกเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงด้วยบรรยากาศที่ตรงกันข้ามแบบวันต่อวันที่เกิดขึ้น
                                        แม้ว่าเหตุการณ์จะสงบลง แต่ทว่าได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างใหญ่หลวง การท่องเที่ยวซบเซาไปทั่วประเทศ นักท่องเที่ยวได้เปลี่ยนจุดหมายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ แทน และคาดว่าจะมีผลต่อไปอย่างยาวนาน เนื่องจากการเมืองยังไม่ได้มีท่าทีว่าจะสงบลง วิกฤตการณ์ทางการเมืองเป็นภาพลักษณ์ที่แสดงออกไปยังสื่อต่าง ๆ
                               ภายหลังสงกรานต์วิปโยคผ่านพ้นไปเพียง ๓ – ๔ วัน มีปรากฏการณ์ไข้หวัดหมู แต่ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อใหม่ เรียกว่าไข้หวัด ๒๐๐๙ ซึ่งเป็นไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นในประเทศเม็กซิโก และระบาดไปยังประเทศต่าง ๆ  เพียง ไม่เกิน ๒ สัปดาห์ระบาดไปถึง ๔ ทวีป ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ยุโรป อัฟริกา ออสเตรเลีย และราวปลายเดือนได้ระบาดถึงเอเซีย ในระยะเวลาเพียง ๒ เดือนเศษ ระบาดไปถึง ๑๓๐ ประเทศ สำหรับทวีปเอเซียการระบาดเริ่มที่ ฮ่องกง และเกาหลี ที่ฮ่องกงมีมาตรการที่รวดเร็วโดยกักบริเวณแขกที่พักโรงแรมดังกล่าวเป็นระยะเวลา ๑ สัปดาห์ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการแพร่เชื้อโรค ภายหลังจากนั้นไม่นานได้ระบาดถึงประเทศไทย
                                        การระบาดของไข้หวัด ๒๐๐๙ สายพันธุ์ใหม่ ได้เป็นไปอย่างรวดเร็ว มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการยกเลิกการเดินทางอย่างต่อเนื่อง เมื่อข่าวการติดเชื้อ และมีจำนวนผู้ตายด้วยโรคไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราการเข้าพักโรงแรมลดลงอย่างน่าวิตก บางโรงแรมในกรุงเทพมหานครมีอัตราการเข้าพักไม่ถึง ๑๐% ส่วนจังหวัดภูเก็ตมีอัตราการเข้าพัก ๒๐-๓๐%
                              รัฐบาลพยายามแก้ไขภาพลักษณ์ในเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัยโดยจัดให้มีการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน และประเทศคู่ค้า รวมทั้งสิ้น ๒๖ ประเทศที่จังหวัดในระหว่างวันที่ ๑๘ – ๒๔ กรกฎาคม โดยมีมาตรการ และอัตรากำลังเจ้าหน้าที่เป็นจำนวนมาก ปรากฏว่าการประชุมได้ผ่านพ้นไปด้วยดี ในระหว่างการประชุม พื้นที่และโรงแรมที่มีการประชุมมีความคึกคัก แต่บริเวณอื่นที่ไม่ได้รองรับการประชุม ยังคงมีบรรยากาศที่ซบเซา
                                        ด้วยเหตุการณ์หลาย ๆ เหตุการณ์ได้ส่งผลกระทบทำให้การท่องเที่ยวซบเซาเป็นอย่างมากอัตราการเข้าพักในบางพื้นที่มีตัวเลขเพียงหลักเดียว พื้นที่ที่มีอัตราการเข้าพักดีที่สุดอยู่ในอัตราเฉลี่ย ๔๐% และยังไม่มีท่าทีว่ากลับคืนสภาพได้ดั่งเดิมเมื่อใด หรือจะแก้ไข รื้อฟื้นให้ดีขึ้นได้อย่างไร เสมือนหนึ่งว่าการท่องเที่ยวของประเทศไทย ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ กับ การประกาศของรัฐบาลให้“การท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ”
บทสรุป

วิวัฒนาการการท่องเที่ยวของภูเก็ตตลอดระยะ ๔๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๑๐ – ๒๕๕๐) ที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความรวดเร็วนั้น ในระยะแรกเริ่ม ด้วยศักยภาพของจังหวัดภูเก็ตเองเป็นพื้นฐาน และมีปัจจัยส่งเสริมสนับสนุนให้การท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยส่งเสริมและสนับสนุนตามนโยบายของรัฐ สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น ความร่วมมือระหว่าง ภาครัฐ และภาคเอกชนเป็นไปอย่างมีเอกภาพ นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์สำคัญหลาย ๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เสริมส่ง ผลักดัน ขยายผลให้การท่องเที่ยวของภูเก็ตเติบโตเป็นอย่างมาก โดยแบ่งเป็นระยะเวลาแห่งการพัฒนาการท่องเที่ยวเป็น ๔ ระยะ ดังนี้
         ระยะรุ่งอรุณของการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ระยะ ๑๐ ปีแรก (พ.ศ. ๒๕๑๑ – พ.ศ. ๒๕๒๐) ความงดงามทางธรรมชาติที่มีมาแต่ดั้งเดิม และยังมีน้อยคนนักที่จะเข้าถึง และสัมผัสชม ได้นำไปปรากฏแพร่ภาพให้ชาวโลกได้เห็นในภาพยนตร์ กระตุ้นให้ผู้แสวงหา โดยเฉพาะผู้บุกเบิกการท่องเที่ยว (Backpacker) ทยอยเดินทางมายังภูเก็ต การสร้างที่พัก โรงแรมเพื่อเป็นการรองรับจึงเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ  และต่อเนื่อง
         ระยะ ๑๐ ปีที่สอง (พ.ศ. ๒๕๒๑ – พ.ศ. ๒๕๓๐) เป็นระยะเวลาแห่งการเริ่มต้นพัฒนาการท่องเที่ยว และเปลี่ยนถ่ายจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุก เข้าสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยอาศัยศักยภาพทางการท่องเที่ยว(Potential) ที่มีความสมบูรณ์ กล่าวคือ ความสวยงามทางธรรมชาติที่มีอยู่ ด้วยน้ำทะเลที่อุ่นมีสีที่สวยสดใสงดงาม หาดทรายที่ขาวสะอาด วัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ สังคมมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ประชาชนมีไมตรีจิต แล้วดำเนินการให้มีการส่งเสริม (Promotion) กับ พัฒนาการในการเข้าถึง (Accessibility) ผนวกกับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ (Policy) ด้วยการทำการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ การตลาด (Marketing) ทำให้ภูเก็ตเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ภูเก็ตจึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว(Popular Destination) พร้อม ๆ กันไปกับการสลายข้อจำกัดหรืออุปสรรคที่มีอยู่ (Threats) ด้วยการพัฒนาการเข้าถึง (Accessibility) และอำนวยความสะดวก (Facilities) อันได้แก่ การคมนาคมขนส่ง สนามบิน ท่าเรือ ถนน ไฟฟ้า โทรศัพท์ โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร การบริการ ทำให้การท่องเที่ยวเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยศักยภาพที่ดีจากธรรมชาติ และสังคม ที่อยู่แต่เดิม และแต่งเติมเสริมแต่งให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นทางการท่องเที่ยว
         ระยะ ๑๐ ปีที่สาม (พ.ศ. ๒๕๓๑ – พ.ศ. ๒๕๔๐) ผลจากการส่งเสริมการตลาดอย่างจริงจังในราวปลายทศวรรษแรกระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๗ - ๒๕๓๐ ควบคู่กันไปกับ การพัฒนาศักยภาพทางการท่องเที่ยว ได้แก่โรงแรมที่พัก บริษัทนำเที่ยว การคมนาคม ไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ  ส่งผลให้การท่องเที่ยวมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องประสพกับปัญหาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ มากมาย (Infra Structure) จึงต้องเร่งแก้ไขปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคให้สามารถรองรับการท่องเที่ยว เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกสบายให้กับนักท่องเที่ยว อันได้แก่ ท่าเรือ ถนน น้ำ ไฟฟ้า โทรศัพท์ และการบริการ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้มีความรู้ความสามารถในการให้บริการ  (Education & Training)  ในขณะที่การตลาดกับประเทศใหม่ ๆ ยังคงดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง พร้อม ๆ กันไปกับการจัดทำกิจกรรมต่าง ๆ  (Events) เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์(Public Relations) ให้เห็นถึงศักยภาพ ได้แก่ การจัดเทศกาลอาหารทะเล (Seafood Festival) การแข่งขันการผสมเครื่องดื่ม (Bartender Contest) การแข่งขันกีฬาต่าง ๆ อาทิเช่น การแข่งขันเรือใบ (King Cup Regatta) การแข่งขันกอล์ฟระดับโลก(Johnnie Walker Classic) การแข่งขันไตรกีฬา (Laguna Triathlon)  การเก็บตัวผู้ร่วมประกวดนางสาวไทย (Miss Thailand) มิสไทยแลนด์เวิลด์ (Miss Thailand World) การจัดบุฟเฟต์ชายหาดยาวที่สุดในโลก (World Longest Beach Buffet) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่แสดงถึงศักยภาพ และสิ่งอำนวยความสะดวกในการรองรับตลาด MICE (Meeting, Incentive, Convention & Exhibition) ได้แก่ การประชุมสัมมนาในระดับภูมิภาค และระดับประเทศ เช่น การประชุมหอการค้าทั่วประเทศ นอกจากนี้ การถ่ายทำภาพยนตร์จากประเทศผู้ผลิตภาพยนตร์ชั้นนำในภาคพื้นเอเชีย เช่น ฮ่องกง เกาหลี ไต้หวัน เป็นต้น ไปจนถึง ระดับฮอลลีวู้ด (Hollywood) เป็นการเผยแพร่ที่สร้างความนิยมให้เกิดขึ้นในแต่ละประเทศได้เป็นอย่างดี นอกเหนือไปจากนั้นภูเก็ตได้ถูกกำหนดให้เป็นห้องรับแขกของประเทศ  มีผู้นำประเทศมหาอำนาจหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย ฯลฯได้เดินทางมาเยี่ยมเยือนและพักผ่อน เป็นปัจจัยเสริมส่งให้มีการพัฒนาขีดความสามารถในการรองรับตลาดนักท่องเที่ยวระดับสูงอีกด้วย
         ระยะ ๑๐ ปีที่สี่ (พ.ศ. ๒๕๔๑ – ๒๕๕๐) ในระยะปลายของระยะ ๑๐ ปีที่สาม การพัฒนาการการท่องเที่ยวเป็นไปตามแผน และมีทิศทางในการพัฒนา ที่สามารถบริหารและจัดการได้ แต่ด้วยผลกระทบจากโลกาภิวัตน์ (Globalization) ด้วยศักยภาพของประเทศยังไม่สามารถรองรับกับกระแสของโลกาภิวฒน์ได้ดีเพียงพอ ส่งผลให้ปลายทศวรรษที่ผ่านมา ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐  เกิดสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ(Economy Crisis) รัฐบาลแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ด้วยการกระตุ้นส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อนำเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศให้มากที่สุด ด้วยวิกฤตเศรษฐกิจทำให้ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าเป็นอย่างมาก นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากเพราะเที่ยวประเทศไทยได้ในราคาที่ถูกลง ผลของการเร่งให้มีปริมาณนักท่องเที่ยวให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยไม่ได้มีมาตรการรองรับที่ดี หรือตระหนักถึงปริมาณนักท่องเที่ยวที่มากเกินไป จึงส่งผลกระทบในระยะยาว ได้แก่ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาความสามารถในการรองรับของแต่ละพื้นที่ในเรื่องการบริหารการจัดการ(Carrying Capacity)  ปัญหาคุณภาพบุคคลากร (Human Resource) ปัญหาไม่มีระเบียบขาดกติกา (Rules and Regulations) ที่จะสนับสนุนการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพ  นอกจากนี้การเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติอย่างไร้ข้อจำกัด ด้วยทุกรัฐบาลไม่เคยเปลี่ยนแปลงนโยบายการแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีการลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังปีพ.ศ.๒๕๔๐ ผู้ประกอบการคนไทยมีความอ่อนแอเป็นอย่างมาก ทำให้มีนักลงทุนจากต่างชาติเป็นจำนวนมากในทุกพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว นอกจากนี้การลงทุนที่เพิ่มขึ้นทำให้มีการไหลบ่าของแรงงานต่างชาติในระดับต่าง ๆ  ย้ายถิ่นเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยปราศจากการควบคุมและจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ  ในขณะที่กระแสของโลกาภิวัตน์ที่รุกขยายไปทั่วโลก ธุรกิจการท่องเที่ยวที่มีการบริหาร การจัดการ การตลาด ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) มีบทบาทมากขึ้น เป็นตัวเร่งให้การท่องเที่ยวเติบโตเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมากขึ้น ซ้ำร้ายยังเกิดเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิที่รุนแรง (Disaster) ก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจคุกคามวิถีชีวิตความเป็นอยู่ จำต้องแก้ไขปัญหาที่เผชิญหน้าก่อน จากปัญหาหลายประการที่ได้สะสมมากขึ้น ที่รุนแรงไปกว่านั้นเมื่อศักยภาพในการแก้ไขปัญหาต่ำลง เมื่อมีปัญหาการทุจริต คอรัปชั่น เป็นที่ยอมรับอย่างไม่ละอายขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง ก่อให้เกิดปัญหาทางการเมืองที่ยุ่งเหยิง (Politic Turmoil) ทั้งในระดับประเทศ  และระดับท้องถิ่น ทั้งในองค์กรการท่องเที่ยวของภาครัฐ และองค์กรภาคเอกชน กระจายออกไปในทุกระดับ ความขัดแย้งเหล่านี้ทำให้สังคมขาดความเป็นเอกภาพ (Unity) เกิดความเสียหายที่รุนแรงมากขึ้น คือ สังคมขาดภูมิคุ้มกัน (Immunity) สังคมไม่มีเอกภาพเพียงพอที่จะก่อให้เกิดวิสัยทัศน์(Vision)ที่ชัดเจนในการพัฒนาเมือง มีลักษณะต่างคนต่างอยู่ ต่างแสวงหาประโยชน์ของตน วัฒนธรรมในการเสียสละเพื่อส่วนรวม (Culture of Sacrifice) ซึ่งนับเป็นทรัพยากรอันมีค่าสูญหายไป สังคมมีความเปลี่ยนแปลง ซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อศักยภาพของจังหวัดภูเก็ต และของประเทศในทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และกระทบต่อวิถีชีวิตให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงในระยะยาว
          ในทศวรรษนี้นับเป็นยุคของการสั่งสมปัญหาในเชิงลบ สืบเนื่องมาจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศในปี ๒๕๔๐ ผนวกด้วยปัญหาต่าง ๆ  นับตั้งแต่ การก่อการร้าย โรคภัยต่าง ๆ  และภัยพิบัติ แต่สิ่งที่ทำให้ประเทศชาติและสังคมมีความอ่อนแอมากยิ่งขึ้นไปอีก คือ ความขัดแย้งทางการเมือง ด้วยการเมืองที่มีมาตรฐานต่ำ ทำให้ปัญหาที่มีอยู่ประสบความยุ่งยากในการแก้ไขมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นเหตุให้สังคมขาดความเป็นเอกภาพ ที่จะกำหนดวิสัยทัศน์ในการแก้ไขปัญหา   นอกจากนี้สังคมมีความแตกแยกในทุกระดับ ส่งผลให้คนไทยโดยทั่วไปมีความระแวงต่อกัน ทำให้รอยยิ้มที่เป็นเอกลักษณ์ของคนไทยที่ทำความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวซึ่งเป็นปัจจัยอันสำคัญยิ่งของการท่องเที่ยวหายไป ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ของความไม่ปลอดภัยของประเทศ และภาพลักษณ์ของความโอบอ้อมอารีย์มีน้ำใจของคนไทยที่มีมาแต่กาลก่อน เปลี่ยนแปลงเป็นภาพลักษณ์ที่มีความก้าวร้าวรุนแรง ประจวบกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกส่งแรงกระเพื่อมมา พร้อมกับโรคระบาดไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ ส่งผลให้การท่องเที่ยวเสียหายและตกต่ำไปทั่วประเทศ
           การที่รัฐบาลได้ประกาศให้ การท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ นั้น จึงนับว่าเป็นโอกาสอันดีที่การท่องเที่ยวในทุกภาคส่วนได้ใช้โอกาสนี้ ร่วมกันทำความเข้าใจถึงต้นเหตุของปัญหา และทำการแก้ไขปัญหาที่ได้สั่งสมมาอย่างยาวนาน เพื่อทำให้การท่องเที่ยวมีการพัฒนาการอย่างมีมาตรฐานที่ยั่งยืน แต่หากเป็นเพียงเพื่อการประชาสัมพันธ์ เพื่อการแก้ไขให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในระยะสั้น นับเป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง กับโอกาสที่จะเป็นวาระอันจะทำให้การท่องเที่ยวมีการพัฒนาอย่างมีคุณภาพ สู่ระดับมาตรฐานสากล และมีความยั่งยืน สามารถเป็นเครื่องมือที่ดีในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะยาวตลอดไป
 
บทวิเคราะห์

การเติบโตทางการท่องเที่ยวของภูเก็ตนั้น อาจกล่าวได้ว่า
               ในระยะแรกของการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต เป็นไปด้วยศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวของท้องถิ่นเอง ได้เผยแพร่ในหลากหลายรูปแบบให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายออกไปยังนานาประเทศ สร้างความนิยมในการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดภูเก็ตและแถบท้องทะเลอันดามัน ประกอบกับการวางแผนในการพัฒนาของภาครัฐ ร่วมกับภาคเอกชนในท้องถิ่น ทำให้การพัฒนาการท่องเที่ยวมีความเจริญเติบโตเป็นอย่างมาก กล่าวคือ
จุดแข็ง (Strength)  และโอกาส (Opportunity) ได้แก่
1. มีภูมิทัศน์อันสวยงามตามธรรมชาติ น้ำทะเลอุ่นใสสะอาด หาดทราย เกาะแก่ง ท้องทะเลสวยงามเป็นที่ประทับใจต่อผู้ที่พบเห็น และสัมผัส (Products)
2. รัฐใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ จึงมีนโยบายส่งเสริมและงบประมาณสนับสนุนเป็นอย่างมาก (Policies)
3. ประชาชนในท้องถิ่นมีไมตรีจิต มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการท่องเที่ยว และมีความเป็นเอกภาพที่ผลักดันให้การพัฒนาเป็นไปอย่างมีทิศทาง (Local People & Unity)
4. ต่างชาติให้ความสำคัญและให้การสนับสนุน เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวให้เป็นไปในทิศทางที่ยั่งยืน (Sustainable Development)
5. มีเหตุการณ์สำคัญ (Movies & Events) หลาย ๆ เหตุการณ์ที่เป็นปัจจัยส่งเสริมให้จังหวัดเป็นที่รู้จัก และสร้างความนิยมให้กับนักท่องเที่ยว ได้แก่ การถ่ายทำภาพยนตร์ เหตุการณ์สำคัญ ๆ  เช่น การต่อสู้เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  การเยี่ยมเยือนของผู้นำประเทศหรือผู้มีชื่อเสียง การแข่งขันกีฬาในระดับนานาชาติ เป็นต้น
           หลังจาก ๒ ทศวรรษของการพัฒนาทางการท่องเที่ยว (พ.ศ. ๒๕๒๐ – ๒๕๔๐) ผ่านไป จังหวัดภูเก็ตกลายเป็นเป้าหมายทางเศรษฐกิจของทุก ๆ คน ไม่ว่ารัฐบาล คนท้องถิ่น คนต่างถิ่น คนต่างชาติ ที่หลั่งไหลเข้าจังหวัดภูเก็ตอย่างไม่มีข้อจำกัด ทำให้มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประชากรที่เพิ่มขึ้นมีความแตกต่างกันในหลาย ๆ ด้าน ในด้าน เชื้อชาติ วัฒนธรรม  ปรัชญาความคิด วิธีการคิดที่แตกต่าง มีทั้งที่มีและไม่มีความรู้ความเข้าใจ ทางการท่องเที่ยว จุดประสงค์ที่แตกต่าง เพื่อแสวงโชคอย่างถูกต้อง และผิดกฎหมาย ส่งผลให้สังคมเริ่มมีความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น กระทบต่อการพัฒนาที่ไม่สามารถกำหนดทิศทางได้
               เมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๔๑ – ๒๕๕๐) วิกฤตเศรษฐกิจของปี ๒๕๔๐ การก่อการร้าย การแพร่ของโรคระบาด และธรณีพิบัติภัย การเมืองที่ล้มเหลวในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ขยายผลเข้าไปในองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ก่อให้เกิดความแตกแยก ส่งผลให้มีจุดอ่อน (Weakness) และอุปสรรค (Threats) ในการกำหนดทิศทางการพัฒนา เสมือนหนึ่ง “เรือที่ไม่มีหางเสือ”
จุดอ่อน (Weakness) 


1. สังคมไม่มีเอกภาพ (Unity) ประชาชนไม่สนใจที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไม่สามารถกำหนดทิศทางที่ชัดเจนในการพัฒนา สืบเนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งรุนแรงเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ภาคการเมือง นำเรื่องปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจเป็นประเด็นในการหาเสียง เพื่อต้องการมีเสียงข้างมาก การแบ่งแยกฝ่าย ด้วยความคิดเห็นที่แตกต่าง ด้วยวัฒนธรรมและปรัชญาทางความคิดของแต่ละชุมชนที่แตกต่างกัน ขยายผลไปสู่ความแตกแยกในสังคม นักการเมืองที่ขาดคุณธรรม  ขาดจริยธรรม หวังเพียงเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่ม การกระทำการทุจริต คอรัปชั่นทำให้สังคมไม่เชื่อถือ เคียดแค้นชิงชัง ขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ประชาชนไม่สนใจที่จะมีส่วนร่วม ส่งผลให้สังคมมีความอ่อนแอและขาดภูมิคุ้มกัน


2. ภาครัฐยังไม่ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยวในระยะยาว เพียงมุ่งเน้นใช้งบประมาณสำหรับแผนงานระยะสั้น ในการจัดกิจกรรมเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวเพียงด้านเดียวเท่านั้น ไม่ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของการท่องเที่ยวของภูเก็ตให้ดี มีคุณภาพมากขึ้น ในหลักการที่ว่า ให้สินค้าสามารถขายได้ด้วยตัวของมันเอง (Products sell itself) ทำให้ต้องมีงบประมาณเพื่อทำการกระตุ้นตลาดอย่างมาก และต้องทำอย่างสม่ำเสมอ หากสินค้ามีคุณภาพและขายได้ด้วยตัวของมันเองแล้ว การกระตุ้นตลาด สามารถกระทำเพียงครั้งคราวที่สำคัญ ๆ เท่านั้น


3. ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Travel Industry/Stakeholder) ไม่ได้ให้ความสนใจ หรือมีส่วนร่วมต่อการแก้ไขปัญหาสาธารณะ ซึ่งเป็นสินค้าของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยส่วนรวม เพียงมีส่วนร่วมในการรับผลประโยชน์เท่านั้น และนำเสนอปัญหาเท่านั้น แต่ไม่มีส่วนร่วมในการพิทักษ์ รักษา พัฒนา ให้สินค้าทางอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและมีความยั่งยืน


4. แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืนบนพื้นฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficient Economy) และความสุขแบบมวลรวม (Gross National Happiness) ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ยังไม่อยู่ในจิตสำนึกของคนที่อยู่ในจังหวัดภูเก็ต
               หากพิจารณาถึงศักยภาพและแผนงานของผู้ประกอบการ องค์กรเอกชน และภาครัฐในอดีตแล้ว อีกทั้งงบประมาณในการสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ จากภาครัฐ ภูเก็ตสมควรที่จะได้รับการพัฒนาไปสู่เมืองที่สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีในการพัฒนาได้ แต่ในทศวรรษล่าสุด รูปแบบการพัฒนาเป็นไปในลักษณะที่เรียกว่าเป็นการแก้ปัญหาตามหลัง  หาใช่การพัฒนาเพื่อรองรับกับปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระยะยาว ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะส่งผลให้การท่องเที่ยวของภูเก็ตไม่อาจเป็นไปอย่างยั่งยืนได้ หรือไม่สามารถพัฒนาให้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีคุณภาพในระดับ World Class ได้ตามที่มีเจตนารมณ์ทั้งภาครัฐ และท้องถิ่น

ปัญหาหรือปัจจัยเสี่ยงที่คาดว่าจะมีผลกระทบในระยะยาว เป็นปัญหาหรืออุปสรรค (Threats) ในการพัฒนาในระดับต่อไป

อุปสรรค (Threats)
-     ปัญหาทางการเมือง นักการเมืองที่ขาดจริยธรรม เพื่อประโยชน์ของกลุ่มเป็นที่ตั้ง ก่อให้ความขัดแย้ง ขยายผลลงลึกไปถึงสังคม ทำให้ประชาชนแตกแยกแบ่งกลุ่ม ไปถึงระดับท้องถิ่น นักการเมืองท้องถิ่นเพียงเพื่อเอาชนะในคะแนนเสียง เพื่อให้ตนเองมีชื่อเสียง และเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง หรือปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่ม การฉวยโอกาสเพื่อการช่วงชิงคะแนนเสียงด้วยวิธีการที่ขาดจริยธรรม ทำให้สังคมแตกแยก ขาดความเป็นเอกภาพทางความคิดในการพัฒนาเมือง หาใช่นักการเมืองที่แท้จริงที่ควรเสียสละเพื่อสังคม การต่อสู้ของนักการเมืองดังกล่าวก่อให้เกิดความสับสนแก่ประชาชน และเกิดความเบื่อหน่าย ประชาชนไม่สนใจต่อความเป็นไปของเมือง การพัฒนาเมืองประสบอุปสรรคในการพัฒนาอย่างใหญ่หลวง
-  ปัญหาการบริหารการจัดการ   ทั้งในระดับภูมิภาค  ระดับท้องถิ่น และการมีส่วนร่วม ของ ประชาชนในท้องถิ่น ยังขาดความเป็นเอกภาพในการร่วมกันพัฒนา เพื่อทิศทางที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมือง การบริหารราชการยังคงเป็นการรองรับนโยบายจากส่วนกลาง ในการวางแผนในการพัฒนาและการจัดการ ซึ่งไม่ทันกับการเจริญเติบโตและพัฒนาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในระดับสากล ในการวิเคราะห์ วางแผน การบริหารและการจัดการ การบริหารการจัดการเพียงเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อคะแนนเสียง จึงไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ ความไม่เป็นระเบียบจึงขยายตัวมากขึ้นและส่งผลให้การจัดระเบียบในอนาคตมีความยากลำบากมากยิ่งขึ้น         
   -  ปัญหาจราจรและอุบัติเหตุ
      ด้วยจำนวนประชากรทั้งจากคนท้องถิ่น คนต่างถิ่น คนต่างชาติ และนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น อย่างรวดเร็ว การเพิ่มขึ้นเป็นไปอย่างไร้ขีดจำกัด การพัฒนาที่มีเป้าหมายเพียงการเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยว และเศรษฐกิจที่เติบโต โดยไม่ได้พิจารณาถึงภาพรวม อันได้แก่ ความสามารถของพื้นที่ ความสามารถของบุคลากรในการรองรับและพัฒนา หรือคำนึงถึงการพัฒนาที่ดีเพื่อก่อให้เกิดความสงบสุขในทุกด้านของสังคม จำนวนนักท่องเที่ยวและประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างไร้ขีดจำกัดและปราศจากการวางแผน ทำให้มีการใช้ยานพาหนะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากและรวดเร็วเกินความสามารถที่จะรองรับได้ หากคำนวณพื้นผิวจราจรที่มีอยู่อย่างจำกัดกับปริมาณยานพาหนะที่เพิ่มขึ้น ย่อมก่อให้เกิดการจราจรที่แออัด และพร้อมที่จะเกิดอุบัติเหตุ ด้วยปริมาณจราจรและอุบัติเหตุที่เพิ่มขึ้น สังคมที่ดีมีสงบสุขหายไป ในที่สุดศักยภาพของความเป็นเมืองท่องเที่ยว ที่มีความสงบเหมาะสมกับการพักผ่อนจะขาดหายไป
   -  ปัญหาน้ำไม่เพียงพอ
        ภูเก็ตมีสภาพเป็นเกาะ ปัจจุบันแหล่งน้ำมีอยู่อย่างจำกัด ด้วยจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา การบริโภคจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ขาดการวางแผนปฏิบัติการที่ดีในการควบคุมการเพิ่มจำนวนประชากร และไม่มีการเตรียมการในเรื่องทรัพยากรน้ำให้เพียงพอต่อการใช้สอย ปัญหาน้ำขาดแคลนกำลังจะเข้ามาเผชิญหน้าอย่างรุนแรงในอนาคตอันใกล้
   -  ปัญหาสาธารณสุข การบริหารจัดการขยะและน้ำเสีย
       นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นตามปริมาณของห้องพัก ปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากปริมาณของประชากรที่ย้ายถิ่นฐานเพิ่มขึ้นตลอดเวลา นับตั้งแต่ผู้ย้ายถิ่นฐานจากจังหวัดต่าง ๆ  ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน ทำงานหรือเข้ามาอยู่อาศัย แรงงานต่างชาติที่เปลี่ยนสถานะแรงงานชั่วคราวเป็นการอยู่ถาวรมากขึ้น ซึ่งขาดการมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบในการแก้ปัญหาขยะ น้ำเสีย ประมาณว่ามีประชากรรวมนักท่องเที่ยวในแต่ละวัน มีจำนวน ๖๕๐,๐๐๐ คน ที่ก่อให้เกิดขยะ ในจำนวนนี้มีนักท่องเที่ยวประมาณ ๕๐,๐๐๐ คนต่อวัน (โดยเฉลี่ยประชากร ๑คน ก่อให้เกิดขยะประมาณ ๑ กิโลกรัมต่อคนต่อวัน) แต่สำมะโนประชากรมีเพียง ๓๐๐,๐๐๐ คน เท่านั้น และจำนวนประชากรยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยที่ยังไม่มีมาตรการใด ๆ ที่จะควบคุมให้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นในระดับที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการขยะและน้ำเสีย เพราะปัญหาความสะอาดและสาธารณสุขจะมีผลต่อศักยภาพทางการท่องเที่ยวของภูเก็ตในอนาคต
   -  ปัญหาสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมจากการใช้ที่ดินอย่างไม่ถูกต้อง
       การเปิดพื้นที่ดินเพื่อการพัฒนาอย่างไม่จำกัด เพื่อผลประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มเป็นหลัก ไม่ได้คำนึงถึงว่าพื้นที่ใดควรมีความเหมาะสมในการพัฒนาอย่างไร การพัฒนาแต่ละโครงการมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมข้างเคียงหรือไม่ โดยไม่ตระหนักว่าอาจจะเกิดความเสียหายจากภัยพิบัติดินถล่ม หรือผลกระทบต่อภูมิทัศน์ อันจะกระทบต่อศักยภาพทางการท่องเที่ยวในที่สุด
       ภาครัฐควรใช้ความสามารถในการบังคับใช้กฎหมาย การละเลย ละเว้นการปฏิบัติ หรือแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เป็นการทำลายสังคมในระยะยาวที่แก้ไขกลับคืนได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูเก็ตเป็นเมืองที่อาศัยการท่องเที่ยวเป็นเศรษฐกิจหลักของจังหวัดนับว่ามีความเสี่ยงต่ออนาคตที่ไม่สดใสเป็นอย่างมาก
   -  ปัญหาวัฒนธรรมท้องถิ่นสูญสลาย
       ปรัชญาความคิดที่คำนึงเพียงมิติทางเศรษฐกิจด้านเดียว ก่อให้เกิดค่านิยมทางวัตถุมากขึ้น ย่อมทำให้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่ดีในการอยู่ร่วมกันสูญสลายหายไป การเคารพนับถือผู้มีฐานะแม้จะไม่ทราบว่าได้ทรัพย์สินมาอย่างไรได้รับการยอมรับมากกว่าผู้ประพฤติดีมีคุณธรรมมีมากขึ้น ส่งผลให้วิถีชีวิตเป็นไปในลักษณะต่างคนต่างอยู่ วัฒนธรรมเป็นเพียงรูปแบบของประเพณี และจัดแสดงให้มีขึ้นเป็นครั้งคราว เพื่อแสดงให้ปรากฏว่าวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์นั้นยังคงหลงเหลืออยู่ การเมืองแบบฉาบฉวย และฉกฉวยประโยชน์กำลังขยายตัวมากขึ้น พร้อม ๆ ไปกับวัฒนธรรมในการมีส่วนร่วมไม่ได้รับการส่งเสริม เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลกับการเมืองในรูปแบบการฉกฉวยผลประโยชน์เฉพาะตนหรือเฉพาะกลุ่ม  
    -  ปัญหาการประกอบการแข่งขันกับชาวต่างชาติ
           ศักยภาพของบุคลากรในท้องถิ่นที่ไม่สามารถแข่งขันกับชาวต่างชาติ ในหลาย ๆ ด้าน ได้แก่การลงทุน ความรู้ความสามารถทางด้านเทคโนโลยี การประกอบมีความเป็นสากลในด้านกติกาทางการค้า และจริยธรรมในการประกอบการ ภาคธุรกิจเอกชนขาดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาร่วมกับภาครัฐ ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาของท้องถิ่นในพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ ในการกำหนดกติกาทางการค้า และจริยธรรมในการประกอบการ เพื่อการประกอบการมีแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานในระดับสากล ในขณะที่ชาวต่างชาติเพิ่มจำนวนมากขึ้น มีการรวมตัวกันมากขึ้น ดังนั้นด้วยประกอบการที่มีความเป็นสากลมากกว่า มีเงินทุน ความรู้ความสามารถทางด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ มากกว่าผู้ประกอบการท้องถิ่น ย่อมส่งผลให้ในอนาคตการประกอบการของผู้ประกอบการท้องถิ่นไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในที่สุด และในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวโดยภาพรวม ด้วยขาดผู้ประกอบการที่มีดีมีคุณภาพที่จะสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว การมาท่องเที่ยวประเทศไทยจะไม่น่าสนใจอีกต่อไป

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

           จุดอ่อนและปัญหาที่เผชิญอยู่ ได้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการประกาศให้จังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับ World Class ดังนั้นหากยังปล่อยให้ปัญหา และการเติบโตเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง อาจส่งผลให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่สะสมเหล่านี้ได้ การเป็นเมืองท่องเที่ยวในระดับ World Class ย่อมไม่สามารถเป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดภูเก็ตได้เลือกทิศทางของเมืองเป็นเมืองเศรษฐกิจการท่องเที่ยว และได้มีการพัฒนาเกือบทุกพื้นที่เป็นกิจกรรมทางการท่องเที่ยว ดังนั้นหากปัญหาที่สะสมมากขึ้นทุกวันและไม่ได้รับการแก้ไข หรือวางแผนการพัฒนา และสามารถปฏิบัติให้ดีขึ้นได้แล้ว นับว่าเป็นความเสี่ยงต่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนของจังหวัดภูเก็ตเป็นอย่างยิ่ง จึงสมควรดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้


1. ความเสียสละของนักการเมือง (Politicians’ sacrifice)
               นักการเมืองเป็นผู้ประกาศเจตนารมณ์ว่าเป็นผู้เสียสละจึงก้าวเข้าสู่ภาคการเมือง ดังนั้น ในสภาวการณ์ที่ประเทศเสียหายเป็นอย่างมากเพราะภาคการเมืองเป็นเหตุ พรรคการเมือง นักการเมือง นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นจึงควรเป็นผู้รับผิดชอบในการเริ่มต้น ที่จะเสียสละตนเอง ยึดถือการช่วยเหลือประเทศและสังคมเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ของพรรคหรือกลุ่มของตน หรือผลประโยชน์ของตนเองเป็นที่ตั้ง ย่อมก่อให้เกิดสังคมมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีและเป็นไปอย่างคุ้มค่ากับความเสียหายในรอบหลายปีที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อนานาชาติว่า ภายหลังจากความขัดแย้งอย่างยาวนาน และเกิดความรุนแรงสร้างความเสียหายแก่ประเทศเป็นอย่างมากนั้น ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้เกิดภาพลักษณ์ในทางที่เป็นบวก มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ไปในทิศทางที่ดีงามและสร้างสรรค์ ได้แก่ เรื่องสมานฉันท์ในประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง ลดความขัดแย้งแต่ใช้การตรวจสอบการทำงานอย่างเป็นเหตุและผลมากกว่าการกล่าวหาซึ่งกันและกัน เป็นนักการเมืองที่มีคุณภาพในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง ซื่อสัตย์สุจริต มีเมตตาธรรม มีวิสัยทัศน์ที่ดี มีสัมมาวาจา (เพื่อลดความขัดแย้ง จากถ้อยคำที่เสียดสี รุนแรงว่ากล่าวต่อกัน) ยึดหลักในการพัฒนาประเทศและท้องถิ่นเพื่อประชาชนเป็นที่ตั้ง วิสัยทัศน์ในการพัฒนาเมืองจะมีความเป็นเอกภาพและเดินหน้าในการดำเนินงานได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
                 ลำดับต่อไปขยายผลให้ประชาชนแต่ละกลุ่มแต่ละเหล่าวิชาชีพ อาทิเช่น ข้าราชการ นักวิชาการ สื่อมวลชน องค์กรภาคเอกชนด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านวิชาชีพ ฯลฯ ยึดถือแนวทางดังกล่าว เพื่อขยายผลต่อไปยังชุมชนและประชาชน ก่อให้เกิดความสมานฉันท์ มีวิสัยทัศน์ร่วมกันในการพัฒนาเมือง เพื่อให้รอยยิ้มของคนไทยกลับคืนมาเช่นดังเดิม
                หากยังคงมีมิจฉาทิฐิที่จะยังประพฤติปฏิบัติตนแบบเดิม ๆ เช่นอดีตที่ผ่านมา ย่อมเป็นนักการเมืองที่ทำลายเมืองอย่างแท้จริง


2. การบริหารการจัดการ (Administrative and Management)
         ในลักษณะบูรณาการความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคม สร้างเสริมให้ทุกภาคีมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง เพื่อกำหนดทิศทางในการพัฒนาเมือง วิวัฒนาการไปสู่การบริหารและการจัดการเมืองด้วยตนเองในรูปแบบของ “คณะกรรมการเมือง” โดยมีโครงสร้าง และองค์ประกอบ ที่ประกอบขึ้นจากภาคส่วนต่าง ๆ ให้มากที่สุด ได้แก่ ภาคีการเมืองทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ภาคีราชการส่วนภูมิภาค ภาคีราชการส่วนท้องถิ่น ภาคีเอกชนทางเศรษฐกิจจากสาขาธุรกิจ หรืออาชีพต่าง ๆ  ภาคีเอกชนทางสังคม ภาคีวิชาการ ภาคีสื่อสารมวลชน โดยมีสัดส่วนของภาคการเมืองและราชการในอัตราส่วนที่น้อยกว่าภาคอื่น ๆ รวมกัน (เช่นอัตรา ๔:๑๐ เพื่อให้ได้รับข้อมูล ข่าวสาร ความคิดเห็นจากภาคประชาชนให้มากที่สุด) และมีจำนวนองค์คณะที่เหมาะสม  สำหรับวิธีการพิจารณาสรรหา หรือคัดเลือกกรรมการจากแต่ละภาคี ให้ได้ผู้ที่มีศักยภาพความรู้ความสามารถและมีอุดมการณ์ ซึ่งกรรมการจังหวัดในปัจจุบันนั้นประกอบด้วยภาคราชาการอาจจะเป็นผู้กำหนด หรืออาจจะมีคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งเพื่อพิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะก็ย่อมได้ ทั้งนี้กำหนดให้คณะกรรมการเมืองในระยะแรก อาจกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าคณะ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ในการสำรวจ รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ ประเมินผล (Research) และสรุปประเด็นปัญหา กำหนดวิสัยทัศน์ เสนอแนวทางการพัฒนา (Development) ในแต่ละช่วงเวลา โดยข้อมูล ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่แต่ละภาคีนำเข้าเสนอต่อคณะกรรมการเมืองนั้นให้มีที่มาอย่างเป็นระบบ เช่น จากการประชุมของสมาชิกในแต่ละภาคีนั้น ๆ ที่สม่ำเสมอ เป็นข้อคิดเห็นที่ได้ผ่านกระบวนการวิพากษ์วิจารณ์และหาข้อสรุปของภาคีนั้น ๆ แล้ว เป็นต้น  เพื่อกลั่นกรองให้ข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะนั้นสามารถพิจารณามอบหมายให้แต่ละหน่วยงานนำไปปฏิบัติได้ และประชาสัมพันธ์ให้สังคมได้รับทราบ สร้างการมีส่วนร่วมในการรับรู้ และติดตามการปฏิบัติ  การตรวจสอบ และสะท้อนผล นำเข้าพิจารณาใน “คณะกรรมการเมือง” ต่อไป ย่อมเป็นการส่งเสริมการพัฒนาการเมืองภาคประชาชนให้มีมากขึ้นอย่างเป็นระบบ อีกทั้งเป็นการถ่วงดุลกับภาคีการเมืองที่ไม่สร้างสรรค์ ตรวจสอบการปฏิบัติงานของข้าราชการที่ทุจริตประพฤติมิชอบ และปฏิบัติงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบในการพัฒนาเมือง เหมาะสมกับการเป็นประชากรที่ดีของเมือง ทั้งนี้การบริหารการจัดการที่ดีควรให้มีการประเมินผลแผนปฏิบัติการร่วมกับภาคีต่าง ๆ  ว่าได้ปฏิบัติและดำเนินการตามแผนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นประจำทุกระยะ เพื่อการรับรู้ถึงผลสัมฤทธิ์ ในความโปร่งใส และรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เพื่อการพัฒนาปรับปรุงแผนปฏิบัติการในปีต่อ ๆ ไป และพัฒนาการไปสู่การบริหารการจัดการด้วยตนเองในอนาคตอันเหมาะสม
            ข้าราชการที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม นับเป็นกลุ่มบุคคลที่สำคัญที่สุดในช่วงเวลาที่สังคมยังมีความแตกแยก ที่จะประพฤติปฏิบัติ ในหลักการของ "ความเท่าเทียมในการบังคับใช้กฎหมาย" และ"ส่งเสริมคุณธรรมยับยั้งการทุจริต"


๓. ระดมความคิดจาก “การท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ” เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ และจัดทำแผนปฏิบัติการ “ภูเก็ตเมืองท่องเที่ยวระดับโลก” (Phuket’s World Class Destination)
 จากปัญหาทางการท่องเที่ยวที่ได้สะสมปัญหาต่าง ๆ มาอย่างยาวนาน ประกอบกับ ปัญหาทางการเมือง ที่ทำให้ประเทศถึงจุดตกต่ำที่สุดของการท่องเที่ยวไทย รัฐบาลได้ประกาศให้การท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ นั้นจึงสมควรที่จะดำเนินการอย่างจริงจัง ไม่ใช่เป็นเพียงวลีที่ฟังไพเราะ หรือเพียงเพื่อเป็นกลยุทธ์ทางการเมือง หรือเพียงเพื่อให้ได้งบประมาณเพื่อกระตุ้นการตลาดให้ฟื้นคืนกลับมาดังเดิมเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จังหวัดภูเก็ตในขณะนี้ได้กลายสภาพเป็นเมืองที่พึ่งพาเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเพียงด้านเดียว ดังนั้น การคงอยู่ในการเป็นเมืองท่องเที่ยว นั้นจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง จำต้องยกระดับให้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสามารถขายได้อย่างยั่งยืนในระดับโลก (World Class Destination) แต่การยกระดับให้เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก (World Class Destiantion) นั้น ต้องมีองค์ประกอบหรือปัจจัยใดบ้าง และมีแผนปฏิบัติที่จะมีองค์ประกอบเหล่านั้นให้ครบถ้วนได้อย่างไร การจัดทำแผนนั้นให้อยู่ในแนวทางของ "การพัฒนาอย่างยั่งยืน" (Sustainable Development) โดยมีดรรชนีชี้วัดความสุขมวลรวม(Gross National Happiness) เป็นแนวทางในการจัดทำแผนปฏิบัติเพื่อพัฒนาเมือง เพื่อให้สังคมและเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตมีความเจริญ มั่นคงและยั่งยืนที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้บังเกิดผลในทางปฏิบัติให้มากที่สุดจึงควรทำการระดมความคิด จัดสัมมนาอย่างเป็นระบบกับสังคมในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในทุกประเภท ทุกระดับ ทุกองค์กรและภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการรับฟังปัญหา แนวความคิด วิธีการแก้ไขและพัฒนาขับเคลื่อนไปสู่เมืองท่องเที่ยวที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน


             ๔. การจัดการระบบการจราจรขนส่ง (Mass Transit or Public Transport) ด้วยพื้นที่ของจังหวัดภูเก็ตมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด เพราะเป็นพื้นที่ภูเขาประมาณ ๗๐% พื้นที่ราบเพียง ๓๐% ดังนั้นโอกาสที่เกิดความหนาแน่นในการจราจรค่อนข้างสูง พื้นที่สาธารณะเพื่อการสร้างถนนใหม่ค่อนข้างจำกัด แต่ปริมาณของประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างไร้ขีดจำกัดยังคงดำเนินอยู่ ทำให้ยานพาหนะเพิ่มขึ้นอยู่ทุกวัน ดังนั้นการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งอย่างทั่วถึงในจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียง (รวมถึงการเชื่อมโยงกับโครงการศูนย์การประชุมและแสดงสินค้านานาชาติที่คาดว่าจะมีขึ้นในอนาคต) จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการใช้ระบบขนส่งประเภทรางหรือรถไฟฟ้า เพื่อลดปริมาณยานพาหนะและคงไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่ดี มีความสะดวกสบาย ความปลอดภัย ทำให้คงสภาพความเป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยวต่อไป นอกจากนี้ระบบขนส่งมวลชนที่ดีสามารถช่วยเหลือแบ่งเบาภาระทางเศรษฐกิจ ความสะดวก ความปลอดภัย ของประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ห่างไกลจากตัวเมืองได้ด้วย ในขณะเดียวกันอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวอีกโสตหนึ่งด้วย


             ๕. การจัดการทรัพยากรน้ำ และสาธารณูปโภค (Water Resourse & Infra Structure)
การพัฒนาเมืองย่อมดำเนินไปอย่างต่อเนื่องไม่หยุดนิ่ง การใช้ทรัพยากรย่อมเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทรัพยากรน้ำจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกระทบต่อการพัฒนาการท่องเที่ยว ความขาดแคลนจะส่งผลกระทบโดยรวมต่อการค้าและสังคม การวางแผนการจัดการทรัพยากรน้ำ และปฏิบัติการให้สัมฤทธิ์ผลอย่างมีระบบและแบบแผนที่ชัดเจนไม่อาจที่จะหลีกเลี่ยงได้ การนำน้ำจากขุมเหมืองเก่าก็ดี หรือที่มีโดยธรรมชาติก็ดี เพื่อนำมาบริหารจัดการนั้นนับว่าเป็นก้าวแรกที่สำคัญ ของความร่วมมือที่ดีของผู้เป็นเจ้าของสถานที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาการจัดการทรัพยากรน้ำในระยะแรก อย่างไรก็ตามหากการเจริญเติบโตเป็นไปในอัตราความเจริญเช่นปัจจุบัน การลงทุนขนาดใหญ่สมควรที่จะได้มีการวางแผนเพื่อการนี้ด้วยเช่นกัน
6 เทศบัญญัติ และการบังคับใช้ (Law and Enforcement)


                 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือออกเทศบัญญัติใหม่ ๆ  เพื่อให้มีผลบังคับใช้ให้การเติบโต หรือการขยายตัวของพื้นที่ในการพัฒนา สัมพันธ์และสอดคล้องไปกับความสามารถในการรองรับ (Carrying Capacity) โดยพิจารณาในเงื่อนไขของปริมาณควบคู่ไปกับพื้นที่ และคุณภาพขององค์กรหรือบุคคลากรที่รองรับในแต่ละพื้นที่นั้น ๆ  ย่อมทำให้การท่องเที่ยว และการพัฒนาของเมืองและสังคม เป็นไปอย่างมีคุณภาพ เหมาะสมกับ World Class Destination ที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้ หรือเป็นไปตามที่ประชาชนโดยทั่วไปทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศคาดหวังโดยสมควรดำเนินการ


                            ๖.๑ ศึกษาและคำนวณ ความสามารถในการรองรับเพื่อกำหนด การใช้ที่ดิน การพัฒนา และกิจกรรมที่พึงมีในแต่ละพื้นที่ ผังเมืองเฉพาะ(Zoning) อย่างเร่งด่วนโดยผู้เชี่ยวชาญในการวางผัง และมีผลในการบังคับใช้ เพื่อการพัฒนาเมืองอย่างมีคุณภาพ แม้ว่าการจัดทำผังเมืองเฉพาะ และการบังคับใช้จะเป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ เพราะจะกระทบกับการมีส่วนได้ส่วนเสียของผู้ครอบครองสิทธิในที่ดิน แต่อย่างไรก็ตามผังเมืองย่อมเป็นแนวทางที่สำคัญที่ใช้ยึดถือในการพัฒนาเมืองให้มีคุณภาพ ศิลปะและความสามารถในการบริหารจัดการของหน่วยงานที่รับผิดชอบในการบังคับใช้ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่ทุกหน่วยงาน ซึ่งสังคมต้องให้การส่งเสริม และสนับสนุน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของตนเองและสังคมของตนเองในระยะยาว


                      ๖.๒ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ออกเทศบัญญัติ เพื่อควบคุมให้การเติบโต เป็นตามผังเมือง และสอดคล้องกับความสามารถในการรองรับ เช่น งบประมาณ อัตรากำลังเจ้าหน้าที่ ข้อบัญญัติต่าง ๆ  เป็นต้น พัฒนาขีดความสามารถ และส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกองค์กรอย่างเร่งด่วนในการบริหารการจัดการ และงานบริการให้มีความซื่อสัตย์และมีประสิทธิภาพ ปราศจากการกระทำที่ทุจริตประพฤติมิชอบ


      ๖.๓ขยายผลให้ประชาชนมีความรู้เข้าใจและคาดหวังการพัฒนาในลักษณะที่นำมาซึ่งความสุขของคนส่วนใหญ่ในระยะยาว คำนึงถึงความสุขมวลรวม (Gross National Happiness) เป็นภูมิคุ้มกันโดยใช้ดัชนีชี้วัดความสุขมวลรวมเป็นแนวทางในการพัฒนาเมือง ไม่ให้เป็นไปตามกระแสของการพัฒนาทางเศรษฐกิจเพียงมิติเดียว และทำความเข้าใจกับปรัชญาความคิดที่ว่าหากเศรษฐกิจดีย่อมทำให้ทุกอย่างดีขึ้นนั้นเป็นปรัชญาความคิดที่ถูกต้องจริงหรือไม่ โดยพิจาณาผลของการพัฒนาในแนวทางดังกล่าวที่เป็นอยู่ และสิ่งที่ได้ประสบพบเห็นอยู่ในปัจจุบันว่าเหมาะสมอย่างไร เพื่อทำความเข้าใจให้ขยายผลต่อไปว่าการทำให้สังคมมีคุณภาพที่ดีในด้านต่าง ๆ ได้นั้น หรือกล่าวในอีกนัยหนึ่งว่า การทำให้สังคมมีจิตวิญญาณของความสงบสุขนั้น นอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจ แล้วมีเรื่องใด ๆ อีกบ้าง


       ๖.๔ ควบคุมและกำกับให้การเติบโต มีอัตราการเติบโตอยู่ในระดับที่สามารถรองรับ และบริหารจัดการได้ โดยการบังคับใช้กฎหมายของทุกหน่วยงาน ให้มีประสิทธิภาพและคงไว้ซึ่งความศักดิสิทธิ์ของกฎหมาย  อันจะนำมาซึ่งการเติบโตของเมืองอย่างมีคุณภาพ


ก. พัฒนาคุณภาพของบุคคลากร เพื่อสามารถรองรับกับการพัฒนาในทิศทางที่ได้กำหนดไว้ในแผน หรือยุทธศาสตร์ที่ได้วางไว้ โดยให้ภาคประชาสังคมและนักท่องเที่ยวเป็นผู้ประเมินผลการปฏิบัติงานของภาครัฐ และการประกอบการของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนา ปรับปรุง นำไปสู่การฝึกอบรมให้มีความรู้ความสามารถทางการท่องเที่ยว การดูงานมีวิธีการที่ดีมีมาตรฐานสามารถนำกลับมาใช้ในการพัฒนาได้ มิใช่เป็นเพียงเพื่อสำหรับการท่องเที่ยวหาความสำราญดุจดั่งเป็นรางวัลเช่นในอดีตที่ผ่านมา   


ข. สังคมมีส่วนร่วม และสนับสนุนในการบังคับใช้เทศบัญญัติให้มีประสิทธิภาพ


            ๗.  สังคมต้องมีจิตสำนึกสาธารณะที่ดี (Public Consciousness) เมืองที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วประกอบด้วยคนหลากหลายเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ การอยู่ร่วมกันในมิติทางเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว เป็นการอยู่ร่วมกันที่เป็นไปในลักษณะที่เปราะบาง มีโอกาสที่จะเกิดความขัดแย้ง การแบ่งแยกกลุ่มและชนชั้น เพราะทัศนคติโดยยึดถือวัตถุนิยมในการครองชีวิตมีมากขึ้น สังคมจะขาดจริยธรรมที่ดีในการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น การส่งเสริมสร้างสรรค์ให้สังคมมีบรรทัดฐานที่ดีในเรื่องวิธีคิด วิธีปฏิบัติ ไปสู่วัฒนธรรมทางความคิด ปฏิบัติลงลึกสู่วิถีชีวิต การสนับสนุนงานประเพณี วัฒนธรรม งานท้องถิ่น กิจกรรมที่ต้องมีส่วนร่วมในลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้คนในสังคมมีจิตสำนึกสาธารณะในการมีส่วนร่วมต่อสังคม ห่วงใย และประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อให้สังคมมีบรรทัดฐานที่ดีในการครองตน ย่อมเป็นภูมิคุ้มกันมิให้วัฒนธรรมท้องถิ่นที่ดีงามสูญสลายหายไป และพยายามส่งเสริมเพื่อผดุงรักษาไว้ซึ่งบรรทัดฐานที่ดีของสังคม อันจะเป็นวัฒนธรรมที่ดีของการอยู่ร่วมกันนี้ขยายผลถึงประชากรที่อพยพย้ายถิ่นเข้ามาอยู่อาศัยได้มีส่วนร่วม และประพฤติปฏิบัติเช่นกัน ย่อมสามารถดำรงไว้ซึ่งสังคมโดยรวมมีคุณภาพที่ดีต่อไปได้อย่างยั่งยืนถาวร ซึ่งทุกภาคีสมควรมีส่วนเรื่องในการรณรงค์ และมีส่วนร่วมในเรื่องนี้


             ๘. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource) เพื่อพัฒนาบุคคลากรให้มีความรู้ความสามารถที่จะรองรับและสอดคล้องไปกับทิศทางของการพัฒนา ในระยะสั้นและระยะปานกลาง การพัฒนาความรู้ความสามารถในการรองรับกับโครงการต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เช่น การบริหารการปฏิบัติงานด้านการขนส่งในรูปแบบต่าง ๆ  การบริหารการจัดการการปฏิบัติงานในศูนย์ประชุมและนิทรรศการนานาชาติ การพัฒนาเทคโนโลยีและเทคโนโลยีสารสนเทศ ความรู้ความสามารถในภาษาต่างประเทศ เพื่อแข่งขันกับกับการประกอบการของชาวต่างชาติได้ เป็นต้น
                        โดยเฉพาะการศึกษาในสถาบันการศึกษาให้มีมาตรฐานเท่าเทียมกับมาตรฐานการศึกษาในระดับนานาชาติ วิธีการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาการศึกษาและวิธีคิดที่มีจริยธรรมอย่างเป็นระบบ แสวงหาหลักสูตรที่เป็นมาตรฐานสามารถพัฒนาความรู้ความสามารถนำไปปฏิบัติได้ดี ให้มีแหล่งเรียนรู้ที่สามารถอำนวยให้นักเรียนนักศึกษาได้เรียนรู้ มีทักษะมากขึ้นด้วยการค้นหาความรู้และปฏิบัติด้วยตนเองมากขึ้น  โดยทุกองค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ ต้องมีส่วนร่วม ให้ความเอาใจใส่ และเร่งรัดการพัฒนาการศึกษา ให้มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่เป็นภาระของสถานศึกษาแต่เพียงฝ่ายเดียว
                    สรุปโดยรวม การสร้างคนคือการสร้างชาติ หาใช่การสร้างอาคารสิ่งปลูกสร้าง เพราะว่าหากคนไม่มีคุณภาพ ประเทศชาติย่อมอ่อนแอ เป็นอุปสรรคในการพัฒนาในระยะยาว หากพัฒนาเศรษฐกิจโดยอาศัยเม็ดเงินจากต่างชาติในการลงทุนอย่างตลอดเวลา ย่อมไม่มีความยั่งยืน ไม่สามารถยืนอยู่บนขาตัวเองได้ การลงทุนจากต่างชาติ ย่อมจะถอนทุนหรือย้ายฐานการลงทุนเมื่อไรก็ได้เช่นกัน เพราะเมื่อเห็นว่าความสามารถในการทำกำไรไม่ดีเพียงพอ ดังนั้น การลงทุนจากต่างชาติเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเพื่อการสร้างงานนั้น ให้ควรยึดถืออยู่ในแผนระยะสั้นและระยะกลาง ส่วนในแผนระยะยาวควรให้คนในชาติสามารถยืนอยู่ด้วยลำแข้งของตนเอง ทั้งด้านการลงทุน และแรงงาน หากยังยึดถือนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยการลงทุนจากต่างชาติเช่น ๔๐-๕๐ ปีที่ผ่านมาโดยไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้คนในชาติอ่อนแอ ความสามารถต่ำ ย่อมก่อให้เกิดการนำเข้าแรงงานในระดับบริหารจนถึงแรงงานไร้ฝีมือเพื่อทดแทนแรงงานในประเทศอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดผลประโยชน์อาจเป็นเพียงภาพมายาเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงอาจไม่ได้รับประโยชน์ทั้งส่วนของการลงทุน และส่วนของการจ้างงาน ในที่สุดคนในท้องถิ่นไม่สามารถดำรงอยู่ได้


            ๙.    ภาคเอกชน (Private Organization) องค์กรภาคเอกชนพัฒนาบทบาทของตนเองในการพัฒนาความรู้ความสามารถของผู้ประกอบการ พัฒนาคุณภาพของแรงงาน การแก้ไขปัญหา และการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของกลุ่มอาชีพ ในการกำหนดกติกาการค้า จริยธรรมทางการค้า และมาตรฐานการปฏิบัติระหว่างกันในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว  เพื่อใช้ระหว่างกันในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว มิใช่เพียงเป็นองค์กรเพื่อเสนอปัญหาให้ภาครัฐแก้ไข หรือเป็นหน่วยงานประชาสัมพันธ์เท่านั้น สมควรที่กำหนดภารกิจ หรือบทบาทของตนเองให้ชัดเจนว่า เรื่องใดเป็นภาระรับผิดชอบของภาครัฐที่ควรรวบรวมนำเสนอพร้อมข้อคิดเห็น เรื่องใดเป็นความรับผิดชอบของผู้ประกอบการที่ควรประสานงานและบริหารจัดการกันเองในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น การกำหนดกติกาทางการค้า (Rules & Regulations of Trade) การพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ (Products Development)  การพัฒนาและฝึกอบรมบุคลากร(Human Resource Development) การกำหนดวิธีปฏิบัติงานของตนเองและระหว่างกันเพื่อมาตรฐานที่ดี (Procedures & Standards) มีความรู้ความสามารถในเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) นอกจากนี้ในส่วนที่สำคัญที่สุด องค์กรภาคเอกชน และธุรกิจเอกชนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวควรมีความเข้มแข็ง ในการปกป้องพิทักษ์รักษาสินค้าทางการท่องเที่ยวซึ่งเป็นสินค้าของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยส่วนรวม และตระหนักถึงผลกระทบในเชิงลบที่จะเกิดขึ้นในชุมชนที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเข้าไปมีบทบาท การบริหารจัดการและบทบาทดังกล่าวย่อมทำให้ภาคธุรกิจเอกชนมีความเข้มแข็งที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้มีคุณภาพ มีจริยธรรม มีมาตรฐาน เพื่อเป็นภูมิคุ้มกัน ที่จะทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตมีคุณภาพสูง และเป็นไปได้อย่างยั่งยืน


                ๑๐.   ภาควิชาการ (Academic) ในช่วงเวลาแห่งสังคมที่ขาดความเป็นเอกภาพทางความคิด และปฏิบัติ ภาควิชาการเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญในการนำเสนอ ดังนั้นสถาบันการศึกษาทั้งหมด ในฐานะภาคีภาควิชาการที่ไม่ยึดติดในผลประโยชน์ สมควรที่จะร่วมมือระหว่างกันที่จะร่วมกัน รวบรวมข้อมูล ความคิดเห็น วิเคราะห์ สรุปผล เพื่อเสนอแนะ วิสัยทัศน์ ทางเลือก แนวทางปฏิบัติ วิธีการ ตามหลักวิชาการ เป็นการกระตุ้นเตือนผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนได้ความรู้ความคิด กระตุ้นจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมของสังคม ด้วยประเด็นสาธารณะต่าง ๆ  ไปสู่ความเคลื่อนไหวของสังคม ก่อให้เกิดความตระหนักถึงความรับผิดชอบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ  การพัฒนาจะมีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น สังคมรับรู้และมีส่วนร่วมคิดพิจารณาในการพัฒนาไปสู่เป้าหมาย

บทส่งท้ายของผู้เขียน 

               
               ข้อคิดเห็นที่ผู้เขียนได้นำเสนอข้างต้นทราบดีว่าทุกสิ่งย่อมมีอายุขัยของตนเอง แต่หากการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตซึ่งกำลังเป็นเศรษฐกิจหลักเพียงหนึ่งเดียว หากมีอายุขัยที่สั้นกว่าที่ควรย่อมเป็นที่น่าเสียดายยิ่ง ผู้เขียนจึงเพียงคาดหวังในการจุดประกายทางความคิด ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคมได้พิจารณา แตกหน่อต่อยอดทางความคิด ลงลึกไปสู่แผนปฏิบัติ ขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมอย่างมีกระบวนการ เพื่อให้การท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตมีความยั่งยืนให้มากที่สุดเท่าที่กระทำได้ ดังนั้นเนื่องในโอกาสที่การท่องเที่ยวของประเทศไทย ได้เดินทางมาเป็นระยะเวลาครึ่งศตวรรษ จึงสมควรที่จะทำการทบทวน ประเมินผลของการพัฒนาการท่องเที่ยวในอดีตที่ผ่านมา ว่าการพัฒนาที่ผ่านมานั้นมีจุดอ่อน หรือขาดความรู้ความเข้าใจ หรือละเลยในเรื่องใด ๆ บ้าง เพื่อสามารถวางแผนพัฒนาการท่องเที่ยวให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพที่ยั่งยืน มีความเข้มแข็ง เดินทางไปสู่การก้าวพ้นสภาวะของการเรียนผิดเรียนถูก เติบใหญ่อย่างมีคุณภาพ เพราะการเรียนผิดในบางครั้งอาจก่อความเสียหายอย่างมาก และยากลำบากในการแก้ไขให้กลับคืนได้ เช่น สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตในสังคม ดังนั้นหวังว่าการบันทึกการเรียบเรียงปูมการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต คงจะมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย กับ “การท่องเที่ยวที่จะเป็นวาระแห่งชาติ”

 

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( พฤหัสบดี, 22 มีนาคม 2018 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้132
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1537
mod_vvisit_counterทั้งหมด10723595