Skip to content

Phuketdata

default color
Home
มูลกิ้งกือมีค่า PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พฤหัสบดี, 08 ตุลาคม 2009

"มูลกิ้งกือ" หนึ่งในขุมทรัพย์ล้ำค่า

ที่คนไทยมองไม่เห็น

 

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์7 ตุลาคม 2552 16:38 น.
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา กับโมเดลกิ้งกือ ซึ่งสาธิตการทำงานและวงจรการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากการถ่ายมูล

มูลกิ้งกือของจริง (กิ้งกือตัวปลอม) ที่มีธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืช

นางวันเชิญ โพธาเจริญ กับแบบจำลองยีสต์ผลิตขนมปังและไวน์ที่ขยายใหญ่กว่าสนเท่า

ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กับแบบจำลองผลิตสาหร่ายเพื่อบำรุงดิน

ผศ.ดร.อำมร อิทร์สังข์ (ซ้าย) และ นายจรงศักดิ์ พุมนวม จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งศึกษาไรฝุ่นจนต่อยอดสู่การผลิตสเปรย์กำจัดไรฝุ่น

ศ.ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้

ขุมทรัพย์ใต้ดินที่คนไทยมองข้าม ทั้งกิ้งกือ-ไส้เดือน โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ธรรมชาติ ที่ไม่ต้องใช้พลังงานให้สิ้นเปลือง แค่ทิ้งเศษผักเน่าให้กินก็ได้ปุ๋ยสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งยังมีสาหร่ายบำรุงดิน สารพัดยีสต์จุลินทรีย์กินได้พบในขนมปัง ไวน์ เบียร์ สเปรย์ฆ่าไรฝุ่น BRT เตรียมขนขึ้นไปโชว์ที่เชียงใหม่ในงานประชุมวิชาการ 12-14 ต.ค.นี้
       
       โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในเมืองไทย หรือ BRT จัดงานประชุมวิชาการครั้งที่ 13 ภายใต้หัวข้อ "จากงานวิจัยพื้นฐานสู่องค์ความรู้" (From Basic Research to Knowledge) ระหว่างวันที่ 12-14 ต.ค.52 ณ โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ จ.เชียงใหม่ โดยภายในงานนอกจากการนำเสนอผลงานวิชาการแล้ว ยังจะนำเสนองานวิจัยพื้นฐานที่ได้รับการต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์แล้วในหลายผลงาน
       
       ก่อนงานประชุมจริง BRT ได้ขนตัวอย่างผลงานวิจัยที่จะนำเสนอภายในการประชุมวิชาการมาแสดงภายในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 6 ต.ค.52 ณ อาคารสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถนนโยธี กรุงเทพฯ ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ได้เข้าร่วมด้วย อาทิ นิทรรศการ "พันขามหาสมบัติ" เป็นนิทรรศการที่ต่อยอดงานวิจัยพื้นฐานเกี่ยวกับกิ้งกือซึ่งนักวิจัยในโครงการ BRT ได้เริ่มศึกษาตั้งแต่ปี 2549
       
       ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการศึกษากิ้งกือได้กล่าวว่า คนยังมีความเกลียดกลัวกิ้งกือและมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสัตว์ชนิดนี้อยู่มาก ซึ่งจากที่มีข่าวกิ้งกือระบาดในหลายพื้นที่ แล้วชาวบ้านทำลายกิ้งกือนับหมื่นๆ ตัว โดยจับใส่ถุงแขนบนต้นไม้ หรือเอาไปโยนทิ้งแม่น้ำโขงบ้าง เหล่านี้เป็นที่น่าเสียอย่างยิ่ง เพราะจริงๆ แล้วกิ้งกือเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์
       
       “กิ้งกือเป็นเหมือน “เทศบาล” ในธรรมชาติ ที่จะคอยกัดกินซากผัก-ผลไม้ที่ตกหล่น อาจจะเป็นภาพที่ไม่น่าดู แต่หลังจากกินอาหารแล้วเขาจะถ่ายมูลออกมาเป็นเม็ดๆ ซึ่งเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชั้นดี และจากการส่งวิเคราะห์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่ามูลกิ้งกือมีธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืช ทั้งไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม และเขาก็เป็น “โรงงานผลิตปุ๋ยอัตโนมัติ” ที่กินแล้วถ่ายมูลออกมาเป็นปุ๋ย โดยที่เราไม่ต้องเสียพลังงาน ตรงนี้คือ “ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ” ที่ปู่ย่าตายายบอกไว้ แต่คนไทยดีไม่แตก” ศ.ดร.สมศักดิ์กล่าว
       
       ทั้งนี้ทีมวิจัยของ ศ.ดร.สมศักดิ์ ได้ออกให้ความรู้แก่ชาวบ้านในถิ่นที่มีกิ้งกือระบาดและทำลายกิ้งกือทิ้งอย่างอย่างน่าเสียดายทั้งใน จ.อยุธยา และ จ.มุกดาหาร โดยแนะนำให้พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ด้วยการกั้นคอกเพื่อเลี้ยงกิ้งกือแล้วให้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ออกมา ซึ่งระยะหลังชาวบ้านเริ่มเข้าใจและมีทรรศนะคติที่ดีต่อกิ้งกือมากขึ้น เชื่อว่าอนาคตจะดียิ่งขึ้นไปอีก
       
       “ยีสต์” เป็นอีกขุมทรัพย์ที่มีอยู่ทั่วไปทั้งในน้ำ ในอากาศ โดย นางวันเชิญ โพธาเจริญ ผู้จัดการธนาคารจุลินทรีย์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ซึ่งเก็บรวบรวมยีสต์กว่า 2,000 ชนิด ได้ยกตัวอย่างยีสต์สายพันธุ์แซคคาโรมายซีส ซีรีวิเซีย (Saccharomyces cerevisiae) ซึ่งเป็นยีสต์ที่ใช้ประโยชน์ในการผลิตขนมปัง เบียร์และไวน์ ทั้งนี้ยีสต์เป็นจุลินทรีย์มีชีวิตที่เรากินได้โดยไม่เกิดโทษ
       
       “สมัยโบราณเมื่อ 6,000-7,000 ปี การผลิตขนมปัง ไวน์จากผลไม้ ซึ่งทั้งหมดคิดว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่พระเจ้าให้มา โดยเวลานวดแป้งแล้วให้ทิ้งไว้จนแป้งฟองก่อนนำไปอบ จะได้ขนมปังที่นุ่ม แต่ถ้ายวดแล้วอบเลยจะได้ขนมปังแข็ง ส่วนการผลิตไวน์ก็ต้องนำไวน์เก่าผสมลงไป ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีใครรู้ว่าเพราะอะไร จนเมื่อ 300 ปีที่แล้วมีพ่อค้าชาวดัตช์ผลิตกล้องจุลทรรศน์ จึงรู้ว่าโลกนี้มีจุลินทรีย์ และเมื่อ 100-200 ปีที่ผ่านมาจึงรู้ว่ายีสต์เป็นสาเหตุให้เราผลิตขนมปังและไวน์ได้” นางวันเชิญกล่าว
       
       นอกจากนี้ยังมีการนำเสนองานวิจัยพื้นฐานอื่นๆ ด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่ได้นำไปต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์แล้ว อาทิ งานวิจัยพื้นฐานด้านไรฝุ่นที่ต่อยอดสู่สเปรย์จำกัดไรฝุ่นในรูปสเปรย์ยี่ห้อ “ไมท์เฟียร์” (Mite Fear) งานวิจัยเกี่ยวกับสาหร่ายในดินสายพันธุ์นอสตอค (Nostoc) ซึ่งต่อยอดเป็นวัสดุบำรุงดิน โดยสารเมือกหรือโพลีแซคคาไรด์ที่สาหร่ายผลิตออกมานั้นจะช่วยเก็บความชุ่มชื้นในดิน ปั้นให้เม็ดดินเป็นก้อนช่วยให้อากาศและน้ำถ่ายเทได้ และลดปริมารการใช้สารเคมีได้ 50% โดยที่ผลผลิตเท่าเดิม
       
       งานวิจัยต่างๆ ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นนั้น ศ.ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ ผู้อำนวยการโครงการ BRT กล่าวว่าเป็นผลพวงจากงานวิจัยพื้นฐานที่ได้ต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ ซึ่งในเมืองไทยยังมีขุมทรัพย์ทางด้านความหลากลหายชีวภาพที่รอการต่อยอดอีกมาก แต่คนไทยมองไม่เห็น และเศรษฐกิจกระแสหลักก็มองข้าม ซึ่งอนาคตจะเป็นยุคของการแย่งทรัพยากร และอีก 50 ปีเราจะโหยหาสิ่งที่มีอยู่
       
       “เชื้อรา จุลินทรีย์ เป็นสิ่งมีชีวิตเริ่มต้นที่นำพลังงานแสงอาทิตย์มาเปลี่ยนเป็นพลังงานเคมี เรามีสิ่งมีชีวิตจำพวก จุลินทรีย์ สาหร่ายที่นำมาต่อยอดได้อีกมากมาย งานที่อาจารย์ 4-5 ท่านนำมาเล่าให้ฟังนั้นกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา ยังมีเชื้อเพลิงชีวภาพอีกเยอะ มีกิ้งกือ ไส้เดือนอีกมากที่เราเอามาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้โดยที่เราไม่ต้องเสียพลังงานและสตางค์ ซึ่งจะทำเช่นนี้ได้เราต้องอาศัยงานวิจัยพื้นฐาน ผู้บริหารต้องมองเห็นตรงนี้ด้วย ไม่ใช่แค่คิดแต่เรื่องการใช้ประโยชน์ๆ แต่ละเลยงานวิจัยพื้นฐาน” ศ.ดร.วิสุทธิ์กล่าว
       
       ทั้งนี้ผู้อำนวยการ BRT กล่าวว่า ไทยมี “ทุน” เป็นฐานทรัพยากรธรรมชาติที่หาซื้อไม่ได้ เมืองไทยมีกินตลอดเวลา แต่เสียดายที่เรากำลังทุนทางธรรมชาติที่มีอยู่ ซึ่งเหมือนเรากำลังทุบหม้อข้าวตัวเอง และแม้จะพูดถึงความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ พูดกันแค่เรื่องสมุนไพรซึ่งเป็นเพียงส่วนน้อยของความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งนี้เป็นจุดอ่อนของบ้านเราที่มองไม่เห็นสมบัติที่มีอยู่
       
       สำหรับงานประชุมประจำปีโครงการ BRT ครั้งที่ 13 นี้ ได้เวียนไปจัดที่เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 12-14 ต.ค.52 โดยรวบรวมงานวิจัยเด่นๆ ของโครงการในรอบปีมานำเสนอ พร้อมเสวนาต่อยอดงานวิจัยพื้นฐานสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และประกวดสิ่งประดิษฐ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งผู้สนใจสามารถลงทะเบียนได้ที่ http://www.brtprogram.com/2009

อ้างอิง

http://www.norsorpor.com/ข่าว/n1711675/มูลกิ้งกือ%20%20หนึ่งในขุมทรัพย์ล้ำค่าที่คนไทยมองไม่เห็น
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Polls

ชื่อใด (หรือคำใด) สื่อได้ชัดคม รู้เป้าหมายได้มากกว่า
 

Who's Online

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้2483
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1355
mod_vvisit_counterทั้งหมด10690616