Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
ย่างเท้าก้าวสู่เมืองภูเก็จ PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พฤหัสบดี, 08 ตุลาคม 2009

 Life Style : ท่องเที่ยว

วันที่ 3 ตุลาคม 2552 01:00

ทอดน่องท่องเมืองเก่าภูเก็ต

สายไฟรกรุงรังหน้าธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด จุดที่ใครๆ นิยมมาถ่ายรูป

โรงแรมออนออน โรงแรมแห่งแรกของภูเก็ต อายุกว่า 80 ปี เคยใช้เป็นฉากในหนังเรื่อง The Beach

ภาพประกอบข่าว

 

โครงการ ‘บินไป บินกลับ ขับรถเที่ยว’ หลายคนคงเคยได้ยินมาบ้าง เขาจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการภาคเอกชน

ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหลายราย เป็นโครงการที่ชวนคนไทยให้ไปท่องเที่ยวในช่วงโลว์ซีซัน เที่ยวเมืองไทยทั้งที อย่าให้เงินทองต้องกระเด็นออกนอกประเทศจะดีกว่า ว่าไหม? ผมเลือกไปภาคใต้ จุดหมายอยู่ที่เกาะภูเก็ตครับ

 ที่จริงแล้ว ภูเก็ตไม่ใช่มีแต่ทะเลสักหน่อย ป่าก็มี น้ำตกก็มี แถมในเขตตัวเมืองที่เป็นชุมชนแรกเริ่มของเกาะนี้ก็มีเรื่องราวหลายแหล่ที่น่าสนใจ อย่างในบริเวณย่านกลางเมืองภูเก็ตนั้น มีถนนอยู่ 3 - 4 เส้นที่สองข้างเป็นตึกแถวโบราณและบ้านเก่ามากมาย  อายุไม่หนี 80 ปี หลายหลังเก่ากว่าร้อยปีด้วยซ้ำ ความงามของเมืองเก่าภูเก็ตบ้านเรา ไม่แพ้ปีนังหรือเมืองมะละกาของมาเลเซีย วันนี้มะละกาเป็นเมืองมรดกโลกไปแล้ว ส่วนภูเก็ตของเราปวดเศียรเวียนเกล้ากับสายไฟที่พะรุงพะรังไปทั่วทุกถนนในย่านเมืองเก่า แต่มาวันนี้โครงการเดินสายไฟใต้ดินได้เริ่มขึ้นแล้ว โดยเริ่มที่ถนนถลางก่อนเป็นที่แรก หากสำเร็จได้ภูเก็ตของเราต้องน่าดูขึ้นอีกเป็นกอง ลองคิดดูเล่นๆ หาดทรายชายทะเลก็สวยสุดๆ เมืองเก่าคลาสสิคน่าเดินเล่น แถมประวัติศาสตร์เก่าแก่น่าสนใจก็มี ภูเก็ตสู้เมืองไหนก็ได้ สบายมาก

 หากมีโอกาสอยากให้ไป พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว ที่นี่เดิมทีเป็นโรงเรียนสอนภาษาจีนแห่งแรกในจังหวัดภูเก็ต ชาวจีนฮกเกี้ยนบรรพบุรุษชาวรุ่นแรกที่อพยพมาอยู่ภูเก็ตได้ร่วมกันก่อตั้งขึ้น  ตัวอาคารแบบชิโนโปรตุกีสที่เห็นในปัจจุบันนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2477 บนหน้าจั่วมีปูนปั้นรูปค้างคาว ซึ่งตามความเชื่อของชาวจีนถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของโชคดีอันยิ่งใหญ่ 

 เข้าไปดูข้างในเป็นห้องนิทรรศการแสดงความเป็นมาของชาวจีนที่ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่ภูเก็ต เรื่องราวของบุคคลผู้มีส่วนในการบุกเบิกภูเก็ต เรื่องของชุดแต่งกายประจำถิ่น อาหารพื้นเมือง เทศกาลงานประเพณี สถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีส และภาพถ่ายเก่าแก่ที่แสดงความเป็นมาของภูเก็ตตั้งแต่ยุคเหมืองแร่ การทำสวนยางพารา จนมาถึงการท่องเที่ยวในปัจจุบัน หากอยากรู้จัก อยากเข้าใจภูเก็ต ผมขอให้เข้ามาชมที่นี่ก่อน แล้วจะรู้ว่าภูเก็ตไม่ได้เติบโตขึ้นมาจากหาดทรายหรือสายลม

 ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัวยังไม่เก็บค่าเข้าชม นัยว่าจะรอให้ห้องจัดแสดงในชั้นที่สองเรียบร้อยเสียก่อน ทุกวันนี้ใครไปชมก็ช่วยกันบริจาคหยอดสตางค์ใส่กล่องด้านหน้าอาคารบ้างก็ดีครับ

 จากตัวเมืองต่อไปที่อำเภอกะทู้ แนะนำให้ไปดูพิพิธภัณฑ์ใหม่ของเมืองภูเก็ต นั่นคือ พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ โครงการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เทศบาลตำบลกะทู้ เป็นคนริเริ่ม

ทางไปพิพิธภัณฑ์นั้นหายากพอสมควรหากไม่ได้เป็นคนพื้นที่ คงต้องถามทางชาวบ้านเขาพอสมควร รูปทรงอาคารภายนอกของพิพิธภัณฑ์ ออกแบบเป็นอาคารสไตล์ชิโน-โปรตุกีส  มีลานกว้างอยู่ตรงกลางที่เรียกว่า ‘จิ่มแจ้’ ตกแต่งลายปูนปั้น ซุ้มโค้งแบน สะท้อนความงามผสมผสานระหว่างจีนกับตะวันตก ชาวภูเก็ตเรียกอาคารแบบนี้ว่า "อังมอหลาวนายหัวเหมือง"

 ภูเก็ตเป็นเมืองที่เติบโตมาจากการทำเหมืองแร่ดีบุก ซึ่งทำกันมากว่า 500 ปี จึงทำให้ชาวยุโรปทั้งโปรตุเกส ฮอลันดา ฝรั่งเศสและอังกฤษ กับชาวจีนฮกเกี้ยน ทั้งที่ผ่านมาจากสิงคโปร์และปีนังหรือมาจากมณฑลฮกเกี้ยนโดยตรง ต่างหลั่งไหลเข้ามาทำเหมือง แสวงโชคกับทรัพย์ในดินและตั้งหลักแหล่งในเกาะแห่งนี้ จนทำให้เกิดวัฒนธรรมผสมผสานไทย ยุโรปและจีน กลายเป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น ที่ไม่เหมือนที่ไหนในเมืองไทย แม้แต่ในภาคใต้ด้วยกันเอง

 มาเที่ยวที่นี่หากโชคดีอาจได้เจอกับอาจารย์ สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ หัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ในการจัดทำเนื้อหาและนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์นี้ ท่านเป็นผู้ออกแบบวางแนวคิดการจัดแสดงให้ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ที่สามารถเรียนรู้ สัมผัส จับต้อง และลงมือปฏิบัติด้วยตนเองได้ในบางจุด

 อาจารย์นำชมนิทรรศการภายในอาคารที่ใช้ชื่อว่า "เปิดลับแลม่านฟ้าเกาะพญามังกรทอง"  ซึ่งมีห้องแสดงต่อกันไปโดยต้องดูตามลำดับ จะเข้าใจเนื้อหาได้ดีขึ้น ตั้งแต่ โปท้องหง่อก่ากี่, ชินวิถี, อัญมณีนายหัวเหมือง, เรืองดารากร ว่าด้วยกำเนิดโลก กำเนิดแร่ กำเนิดชีวิต กำเนิดคน คนแสวงหาแร่, สายแร่แห่งชีวิต อธิบายการทำเหมืองประเภทต่าง ๆ ทั้งเหมืองแล่น เหมืองครา เหมืองปล่อง เหมืองรู เหมืองอุโมงค์ เหมืองหาบ เหมืองสูบ เหมืองฉีด เหมืองเรือขุด; นิรมิตเล่นแร่แปรธาตุ, ฉลาดนาวาชีวิต, ลิขิตปรัชญ์สืบสาน, บันซ้านบางเหนียว, เก่วเกี้ยวในทู, หลงผิดเสพ, เทพาภรณ์, คฤหปตนินท์, บาบ๋าสินสมรส, ฉายาบทนฤมิต, ภาพกิจปฐมเหตุ และวรรณวิเศษปัญญภูมิ

 ถ้าเดินชมเองที่นี่ใช้เวลาสัก 20 นาทีก็หมด แต่ถ้าเดินตามอาจารย์สมหมาย ใช้เวลาไปชั่วโมงกว่า ๆ แถมยังรวบรัดเสียด้วย อาจารย์สมหมาย เกิดที่สงขลา แต่มาเล่าเรียนศึกษาและเติบโตที่ภูเก็ต จนได้ทำงานเป็นครูบาอาจารย์ ตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ในมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ความรักในภูเก็ตของท่านพิสูจน์ได้จากการทำพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่นี่แหละครับ

 บอกไว้เลยว่าอาจารย์มาที่พิพิธภัณฑ์เกือบทุกวัน  ยกเว้นวันที่มีนัดที่อื่น แต่ถ้าใครมาแล้วไม่เจออาจารย์ถือว่าโชคร้ายสุดๆ และการชมพิพิธภัณฑ์จะขาดอรรถรสไปพอสมควร เพราะอาจารย์เล่าเรื่องได้อย่างสนุก เล่าบางอย่างที่สูญหายไปแล้วให้กลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาได้ และดูเหมือนไม่เคยเหนื่อยหน่ายหมดแรงในการเล่าเรื่องราวของที่นี่เลย  ไม่ว่าคุณจะเป็นใครใหญ่โตมาจากไหน หรือคนธรรมดาสามัญ อาจารย์จะให้ข้อมูลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน คือให้กันหมดสุดๆ หมดไส้หมดพุงก็ว่าได้

 บินไป บินกลับ ขับรถยังไม่ทันรอบเกาะ พื้นที่หมดเสียแล้ว เอาเป็นว่า ภูเก็ตไม่ได้มีแต่ทะเลแล้วกัน สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ Fly & Drive Call Center  โทรศัพท์ 0-2250-4580-83 และ 0 -2250-4530  หรือที่ ททท.เบอร์เดียวเที่ยวทั่วไทย โทร. 1672

Tags : ทอดน่องท่องเมืองเก่าภูเก็ต

 

 

อ้างอิง

 

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/travel/20091003/78607/%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%87%E0%B8%95.html#
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้814
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1980
mod_vvisit_counterทั้งหมด10697080