Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
ทรัพยากรในภูเก็ต PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อังคาร, 15 มกราคม 2008

ทรัพยากรธรรมชาติ


มานะ สามเมือง

---------------------
 
 เนื่องจากลักษณะทางธรณีวิทยาและสภาพทางภูมิศาสตร์ทำให้ภูเก็ตมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ จนกลายเป็นที่หมายปองเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากกลุ่มชนต่าง ๆ ตลอดมา ทรัพยากร ธรรมชาติที่สำคัญของจังหวัดภูเก็ตมีดังนี้

1. ทรัพยากรดิน


 เกาะภูเก็ตประกอบด้วยพื้นที่ลาดชันแบบภูเขา ที่ราบเชิงเขาและบริเวณที่ราบ สภาพดินเกิดจากการสลายตัวของหิน กรวดและศิลาแลง  ดินดังกล่าวปกคลุมทั่วทั้งบริเวณพื้นที่เชิงเขาและชายฝั่ง อันเกิดจากการพัดพาทับถมกระแสน้ำและคลื่นลม
 ทางด้านตะวันตกและตอนกลางของเกาะเป็นพื้นที่ราบต่ำกว่าบริเวณอื่น ๆ จึงถูกทับถมด้วยดินและตะกอนใหม่ ซึ่งเกิดจากการพัดพามาทับถมโดยกระแสน้ำ บริเวณชายหาดเกิดจากการทับถมโดยการกระทำของคลื่นลม ชายหาดมีสภาพเป็นหาดทรายขาวสวยงาม ทางตะวันออกเป็นที่ราบลุ่มมีการทับถมของตะกอนดินโคลน สภาพโดยทั่วไปของดินในภูเก็ตเป็นดินที่มีการระบายน้ำได้ดี แต่ขาดประสิทธิภาพในการอุ้มน้ำ สลายตัวได้ง่าย เหมาะแก่การปลูกยางพารา และสับปะรด โดยเฉพาะสับปะรดภูเก็ตพันธุ์พื้นเมือง

2. แร่ธาตุ


 เนื่องจากสภาพทางธรณีวิทยาของภูเก็ตประกอบด้วยหิน 3 ชนิด คือ หินชั้น หินแปร และหินอัคนี หินทั้ง 3 ชนิดนี้ หินอัคนี เป็นหินที่มีแร่ดีบุก
 หินอัคนีที่พบเป็นประเภทหินแกรนิต ซึ่งพบมากทางตอนกลางและตะวันตกของเกาะภูเก็ต
 มีการพบดีบุกในภูเก็ตเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ภูเก็ตจึงกลายเป็นแหล่งแร่ดีบุกที่สำคัญ มีการสัมปทานแร่ทั้งบนบกและในทะเล แร่ดีบุกเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดฐานะทางเศรษฐกิจของคนภูเก็ตมาโดยตลอด จนกระทั่งปัจจุบันจำนวนแร่ดีบุกลดน้อยลงและราคาแร่ดีบุกตกต่ำ การทำเหมืองแร่ดีบุกจึงหมดความสำคัญลงไป ในขณะเดียวกันความสวยงามทางธรรมชาติของเกาะภูเก็ตได้เข้ามามีบทบาททดแทน กลายเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวที่สำคัญและสร้างรายได้หลักให้ชาวภูเก็ตในปัจจุบัน

3.  ทรัพยากรป่าไม้


 ทรัพยากรป่าไม้ในจังหวัดภูเก็ต มีความแตกต่างกันไปตามสภาพภูมิศาสตร์ของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งพอสรุปได้ 3 ลักษณะ ดังนี้
 3.1 ป่าไม้เขตร้อนชื้น มีลักษณะเป็นป่ารกทึบ ซึ่งปรากฏบริเวณภูเขา เช่น  เขาบางดุก เขานาคเกิด เขาพระแทว แต่ปัจจุบัน สภาพป่าไม้ส่วนใหญ่ถูกบุกรุกทำลายเป็นจำนวนมาก เพื่อกิจกรรมต่าง ๆ เช่น  เพื่อสร้างโรงแรมและรีสอร์ทต่าง ๆ การสร้างสนามกอล์ฟ รวมถึงการบุกรุกเพื่อการปลูกยางพาราและพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ  ทั้งในพื้นที่ป่าทั่วไป และในเขตป่าสงวน การบุกรุกเพื่อการทำสวนยางเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ลดพื้นที่ลงจำนวนมาก
 3.2  ป่าชายหาด  เป็นป่าโปร่งไม่ผลัดใบ ขึ้นอยู่ทั่วไปบริเวณชายหาดทะเลน้ำท่วมไม่ถึง และบริเวณเชิงเขาริมทะเล  พันธุ์ไม้ที่ปรากฏ เช่น สนทะเล หูกวาง โพธิ์ทะเล ปอทะเล ตีนเป็ดทะเล หยีน้ำ จิกทะเล ผักบุ้งทะเล เป็นต้น  พื้นที่ป่าชายหาดที่ปรากฏในจังหวัดภูเก็ต เช่น บริเวณหาดในยาง ท่าฉัตรไชย และตลอดแนวชายฝั่งตะวันออกของเกาะภูเก็ต
(ภาพป่าชายหาด)

 ป่าชายหาดเป็นพื้นที่ที่ได้รับความสนใจน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับป่าประเภท   อื่น เช่นป่าชายเลนหรือป่าไม้ทั่วไป  ด้วยเหตุนี้ป่าชายหาด จึงถูกบุกรุกแปรสภาพเพื่อกิจกรรม  ต่าง ๆ มากมาย เช่น เพื่อสร้างโรงแรมและรีสอร์ทต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งตะวันตกของเกาะภูเก็ต นอกจากนี้บริเวณชายฝั่งตะวันออก ป่าชายหาดได้รับความเสียหายจากการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง โดยเฉพาะพื้นที่ด้านหลังป่าชายเลน
  3.3 ป่าชายเลน  ป่าชายเลนเป็นป่าในเขตร้อนชื้น เป็นป่าไม่ผลัดใบ ป่าชายเลนมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “ป่าโกงกาง” ซึ่งเรียกตามต้นไม้ที่มีมากและมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศป่าชายเลน  ชาวภูเก็ตเรียกป่าชายเลนว่า “ป่าพังกา”  

(ภาพป่าชายเลน)

 ป่าชายเลนในประเทศไทยกระจัดกระจายอยู่ตามชายฝั่งทะเลทั้งในภาคกลางภาคตะวันออกและภาคใต้   สำหรับจังหวัดภูเก็ตพบมากบริเวณชายฝั่งตะวันออกตั้งแต่ตอนเหนือสุดคือบริเวณ      ท่าฉัตรไชยจนถึงตอนใต้คือบริเวณอ่าวภูเก็ต  พื้นที่ป่าชายเลนที่สำคัญในภูเก็ต เช่น ป่าชายเลนคลองอู่ตะเภา  ป่าชายเลนคลองท่ามะพร้าว  ป่าชายเลนคลองพารา  ป่าชายเลนคลองบางโรง ป่าชายเลนคลองท่าเรือ  ป่าชายเลนคลองบางชีเหล้า และป่าชายเลนคลองท่าจีน
 พันธุ์ไม้ป่าชายเลนเช่น ไม้โกงกาง  แสม ลำพู  ตะบูน ตาตุ่ม ปรงทะเล เป้ง เหงือกปลาหมอ เป็นต้น
 3.4 ป่าพรุ  อาจารย์ฤดี  ภูมิภูถาวร กล่าวถึงป่าพรุว่า “เป็นคำปักษ์ใต้ บางท้องถิ่นเรียกว่า โพละ  หมายถึงพื้นที่ลุ่ม น้ำแช่ขัง ลักษณะคล้ายมาบในภาคตะวันออก”
 ป่าพรุ เป็นป่าที่มีน้ำแช่ขัง เป็นเหตุให้ต้นไม้ในป่าพรุต้องปรับตัวเองให้อยู่รอด โดยสร้างรากโผล่พ้นผิวดิน  เพื่อระบายอากาศ รากเหล่านี้เรียกว่า รากหายใจ 
 พรุในเกาะภูเก็ตเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของชายฝั่งทะเลในอดีต โดยการเกิดสันทรายในทะเลห่างฝั่งเล็กน้อย ต่อมาสันทรายเหล่านี้จะสูงขึ้นจนปิดกั้นทะเลภายนอก และเกิดแอ่งน้ำเค็มขึ้น     ต่อมาน้ำเค็มในแอ่งค่อย ๆ จืดลง พืชจำพวกกกและหญ้าต่าง ๆ เริ่มเจริญงอกงามขึ้น  จากนั้นพืชชนิดอื่น ๆ

(ภาพป่าพรุ)
และต้นไม้ใหญ่ก็เติบโตและปรับสภาพเข้าสู่ความเป็นพรุ    พันธุ์ไม้ที่พบในป่าพรุของภูเก็ต เช่น ผักกูด ลำเพ็ง หม้อข้าวหม้อแกงลิง กำแพงเจ็ดชั้น จูด เสม็ดหญ้างวงช้าง   หวาย  ตีนเป็ดทะเล บุกเบา เป็นต้น
 พรุในภูเก็ตมีพื้นที่กระจัดกระจายอยู่บริเวณชายฝั่งตะวันตกของเกาะ พรุที่ยังคงสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ในอดีต คือ พรุบริเวณหาดไม้ขาว เช่น พรุทับเคย พรุยายรัตน์ พรุจืด พรุยาว พรุจิก พรุไม้ขาว พรุเจ๊ะสัน  ปัจจุบันพรุเหล่านี้ถูกถมเกือบหมด เนื่องจากการสร้างสนามบิน นอกจากนี้ยังมีการขุดลอกพรุเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งเก็บน้ำ  ปัจจุบันจึงยังคงเหลือพรุจิก  คาดว่าในอนาคตพรุในจังหวัดภูเก็ตอาจหมดไปอย่างแน่นอน

4. ทรัพยากรแหล่งน้ำ


 แหล่งน้ำเป็นทรัพยากรที่สำคัญทั้งในด้านการรักษาคุณภาพน้ำ สภาพแวดล้อมและการวางแผนพัฒนา ภูเก็ตมีพื้นที่แหล่งน้ำทั้งสิ้น 24 แหล่ง 
 คลองบางใหญ่เป็นสายน้ำแห่งเดียวในภูเก็ตที่มีน้ำไหลตลอดทั้งปีและยังมีลำธารต่างๆ  ที่ไม่ไหลตลอดทั้งปีอีก 118 สาย อ่างเก็บน้ำบางวาดเป็นอ่างเก็บน้ำที่สำคัญเพียงแห่งเดียวของภูเก็ต จึงส่งผลให้ภูเก็ตขาดแคลนแหล่งนำจืดที่มีคุณภาพสูงที่นำมาใช้บริโภครวมทั้งเพื่อการพัฒนาจังหวัดภูเก็ต
หนังสืออ้างอิง
โครงการความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน , ข้อมูลพื้นฐานเพื่อการจัดการ ทรัพยากรชายฝั่งและสนับสนุนการพัฒนาองค์กรชุมชนประมงพื้นบ้านพังงา

โครงการวางแผนการพัฒนาและจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลทั่วประเทศ, สารสนเทศทรัพยากรจังหวัดภูเก็ต,1990(2533)

ฤดี  ภูมิภูถาวร,  ท้องถิ่นของเรา 1 ,ภูเก็ต  :  2536
ศิลปากร, กรม ถลาง ภูเก็ตและชายฝั่งทะเลอันดามัน : 2532

สำนักงานจังหวัดภูเก็ต, รายงานประจำปี  2537
 
< ก่อนหน้า

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้1140
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1233
mod_vvisit_counterทั้งหมด10682477