Skip to content

Phuketdata

default color
Home
สภาพภูมิศาสตร์ภูเก็ต PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
เสาร์, 12 มกราคม 2008

สภาพภูมิศาสตร์

 

ที่ตั้ง 


 จังหวัดภูเก็ต มีลักษณะเป็นเกาะ ตั้งอยู่ภาคใต้ชายฝั่งตะวันตกของไทยในทะเลอันดามัน  มหาสมุทอินเดีย ห่างจากกรุงเทพมหานคร 890 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพถึงภูเก็ตประมาณ 14 ชั่วโมง โดยทางรถยนต์ และประมาณ 1 ชั่วโมงโดยทางเครื่องบิน ภูเก็ตเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีเกาะบริวาร 36 เกาะ ประกอบด้วย เกาะบอน เกาะโหลน เกาะทะนาน เกาะตะเภาใหญ่ เกาะตะเภาน้อย เกาะดอกไม้ เกาะมะพร้าว เกาะมะพร้าวน้อย เกาะรังใหญ่ เกาะรังน้อย เกาะยามู เกาะแพ เกาะนาคาน้อย เกาะนาคาใหญ่ เกาะแรด เกาะฮี เกาะปายู เกาะงาม เกาะละวะน้อย เกาะละวะใหญ่ เกาะกะลา เกาะนก เกาะรายาใหญ่ เกาะรายาน้อย เกาะเฮ เกาะไม้ท่อน เกาะไข่นอก เกาะไข่ใน เกาะแอว เกาะสิเหร่ เกาะแวะ เกาะทะ เกาะปู เกาะมัน เกาะแก้วใหญ่ และเกาะแก้วน้อยรวมทั้งพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 570 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 339,396 ไร่ ความยาวจากเหนือจดใต้ 48.7 กิโลเมตร ความกว้างจากตะวันออกถึงตะวันตก 21.3 กิโลเมตร จังหวัดภูเก็ตนับว่าเป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็กที่สุดใน 14 จังหวัดภาคใต้ของไทย

ภูเก็ตเคยมีผลกระทบกับคลื่นสึนามิ เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ คลื่นสึนามิถล่มหาดกะรน หาดป่าตอง หาดกมลา

อาณาเขตติดต่อ


ทิศเหนือ   ติดต่อกับจังหวัดพังงาบริเวณช่องปากพระโดยมีสะพานสารสินและสะพานท้าวเทพกระษัตรีเชื่อมต่อกับกิ่งอำเภอโคกกลอย จังหวัดพังงา
ทิศใต้และทิศตะวันตก ติดต่อกับทะเลอันดามัน
ทิศตะวันออก ติดต่อกับทะเลภูเก็ตและอ่าวพังงา


---------------------------------------------------------------
แผนที่จังหวัดภูเก็ต
----------------------------------------------------------------


ลักษณะภูมิประเทศ


 ภูมิประเทศของภูเก็ต    มีลักษณะเป็นภูเขาสลับซับซ้อน ทอดตัวในแนวเหนือใต้ ภูเขาส่วนใหญ่อยู่ทางทิศตะวันตก คิดเป็นพื้นที่ประมาณ  ร้อยละ 70 ของเกาะ  เป็นที่ราบประมาณ ร้อยละ 30 ของเกาะ  ที่ราบส่วนใหญ่อยู่บริเวณตอนกลาง  ฝั่งตะวันออก และ บริเวณชายฝั่งตะวันตกของเกาะ  ชายฝั่งด้านตะวันออกมีสภาพเป็นหาดโคลนและป่าชายเลน เช่น หาดสะปำ  หาดป่าคลอก  หาดอ่าวปอ เป็นต้น  ส่วนทางตะวันตกชายหาดมีลักษณะเป็นหาดทรายขาวสวยงาม เช่น หาดในยาง  หาดป่าตอง  หาดกะตะ  หาดกะรน  หาดทรายแก้ว  หาดไม้ขาว  หาดในทอน หาดเลพัง หาดบางเทา หาดสุรินทร์ หาดกมลา  หาดในหาน เป็นต้น 


 การวางตัวของภูเขาทางทิศตะวันตกของเกาะเป็นเกราะกำบังลมและฝน  ทำให้ภูเก็ตปลอดภัยจากลมพายุที่รุนแรง ภูเขาที่สูงที่สุดในจังหวัดภูเก็ต คือภูเขาไม้เท้าสิบสอง มีความสูง 529 เมตร อยู่ในเขตตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้


 ภูเก็ตไม่มีแม่น้ำสายสำคัญ     มีแต่คลองขนาดเล็กสายสั้น ๆ เช่น คลองท่าจีน คลองบางชีเหล้า คลองบางโรง คลองกมลา คลองบางใหญ่ คลองท่ามะพร้าว คลองพม่าหลง คลองโคกโตนด คลองกะลา คลองท่าเรือ เป็นต้น  ลำคลองเหล่านี้เคยมีสภาพเป็นคลองลึกและกว้าง จนเรือสำเภาขนาดใหญ่ใช้เป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าเข้าออกเมืองภูเก็ตในสมัยโบราณ  แต่บัดนี้ได้กลายเป็นคลองที่ตื้นเขินและแคบลง ทั้งนี้เนื่องจากการทำเหมืองแร่ทำให้มีตะกอนดินไหลมาทับถมจนตื้นเขินทำให้คลองบางสายไม่เหลือสภาพเดิมให้เห็นและบางสายมีแต่เพียงชื่อเรียกขานเท่านั้น


 สภาพทางภูมิศาสตร์ของภูเก็ตได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ทั้งนี้เกิดจากปัจจัยหลายประการ ทั้งสภาพทางธรณีวิทยาและสภาพทางภูมิศาสตร์ด้านอื่น ๆ ซึ่งสามารถแบ่งลักษณะภูมิประเทศออกเป็น 3 บริเวณ คือ


 1. บริเวณที่เป็นภูเขาสูงชัน ส่วนใหญ่อยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะ ภูเขาส่วนใหญ่มีระดับความสูงมากกว่า 100 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล มีหินรองรับ คือ หินแกรนิต อันเกิดจากแมกม่าที่ดันตัวขึ้นมาเป็นมวลขนาดใหญ่จากภายในโลก ไม่มีแนวตัดมากจึงคงทนต่อการผุกร่อนทำลาย  บริเวณภูเขาสูงเหล่านี้จะกินพื้นที่มากกว่าบริเวณอื่น ๆ พืชพรรณธรรมชาติเป็นป่าไม้เขตร้อนชื้น เช่น บริเวณภูเขาในเขตตำบลกมลา ป่าตอง กะตะ กะรน รวมถึงเขาพระแทวในเขตอำเภอถลาง
 2. บริเวณที่เป็นลอนลูกคลื่น เป็นบริเวณที่เชื่อมต่อกับที่สูงชัน เป็นพื้นที่ราบระหว่างหุบเขา บางส่วนเป็นหินแกรนิต รวมไปถึงหินชั้นและหินแปรด้วย บริเวณนี้มักพบทางน้ำไหลผ่านหรือเกิดแหล่งน้ำในบริเวณใกล้เคียง ทำให้มีความเหมาะสมในการทำการเกษตร เช่น บริเวณบ้านบางทอง บ้านตะเคียน  บ้านลิพอน  บ้านคลอง  บ้านดอน เป็นต้น
 3. บริเวณที่ราบต่ำ  พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ใกล้ชายฝั่ง เกิดจากสาเหตุต่าง ๆ กันไป คือ
 3.1 เกิดจากการกัดเซาะของแม่น้ำลำธาร พื้นที่เหล่านี้มักอยู่บริเวณปากแม่น้ำหรือบริเวณหุบเขากว้าง อันเกิดจากการทับถมของตะกอนที่แม่น้ำพัดพามา
 3.2 เกิดจากการกัดเซาะและการทับถมของตะกอน โดยการกระทำของคลื่นลม ส่วนใหญ่อยู่ทางตะวันตกของเกาะ ทั้งนี้เพราะลมประจำถิ่นทางทิศตะวันตก มีอิทธิพลในการช่วยกัดเซาะ ทำให้ชายฝั่งตะวันตกของเกาะเป็นหาดทรายสีขาวสะอาด เพราะเกิดจากการทับถมของทรายที่เป็นแร่ควอทซ์ (Quartz) บางแห่งมีซากแตกหักของเปลือกหอยและปะการัง เช่น บริเวณป่าตอง กะรน กะตะ เป็นต้น
3.3 เกิดจากอิทธิพลของน้ำขึ้นน้ำลง จนเกิดเป็นบริเวณน้ำท่วมถึงและที่ราบต่ำน้ำกร่อย จะพบบริเวณชายฝั่งทางทิศตะวันออกของเกาะ  เป็นบริเวณที่ได้รับอิทธิพลทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม จัดอยู่ในระบบนิเวศน์วิทยาแบบน้ำกร่อย (Estuarine Ecology) บางแห่งเป็นที่ลุ่มน้ำขัง (Swamp) ดินตะกอนที่ถูกพัดพาจะมีลักษณะเป็นเลนโคลน เนื่องจากบริเวณทิศตะวันออกของเกาะภูเก็ตมีลมสงบ  พืชพรรณธรรมชาติเป็นป่าชายเลน พันธุ์ไม้ที่พบเห็น เช่น จาก แสม โกงกาง เป็นต้น

 

ลักษณะภูมิอากาศ


 ภูเก็ตมีลักษณะอากาศเป็นภูมิอากาศเขตศูนย์สูตร มีอุณหภูมิเกือบจะคงที่ตลอดทั้งปี ความ ความแตกต่างของอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 16.9 ถึง  35.4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงในเดือน มีนาคมและเมษายน และลดลงเล็กน้อยในเดือนธันวาคม


 ภูเก็ตได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ส่งผลให้มีลักษณะอากาศชุ่มชื้นตลอดปี ปรากฏฤดูกาลเพียง 2 ฤดู คือ ฤดูฝนและฤดูร้อน  ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน ถึงปลายเดือนพฤศจิกายน ส่วนฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม อัตราเฉลี่ยฝนตกประมาณ 170 วัน ต่อปี  ฝนตกชุกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม และแล้งที่สุดระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม
 


อ้างอิง
โครงการวางแผนการพัฒนาและจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลทั่วประเทศ,
รายงานสัมมนาประวัติศาสตร์เมืองถลาง (๒๕๒๘) ภูเก็ต : องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต
ฤดี  ภูมิภูถาวร, (๒๕๓๖)  ท้องถิ่นของเรา 1, ภูเก็ต  :  โรงเรียนสตรีภูเก็ต
ศิลปากร, กรม (๒๕๓๓) ถลาง ภูเก็ตและชายฝั่งทะเลอันดามัน  ภูเก็ต : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง 2532
สนเทศทรัพยากรจังหวัดภูเก็ต 1990

 

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( อาทิตย์, 13 มกราคม 2008 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Polls

ชื่อใด (หรือคำใด) สื่อได้ชัดคม รู้เป้าหมายได้มากกว่า
 

Who's Online

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้1055
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1874
mod_vvisit_counterทั้งหมด10695341