Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
แก้ปัญหาทักษะการคิดวิเคราะห์ PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
เสาร์, 12 กันยายน 2009

ศธ.ระดมกึ๋นพัฒนาการศึกษาทั้งระบบ “จุรินทร์” วางกรอบ

แก้ปัญหาทักษะการคิดวิเคราะห์

ของเด็กไทย

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์11 กันยายน 2552 16:34 น.
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศธ.

       ศธ.ตั้งวงระดมกึ๋นวางยุทธศาสตร์พัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ “จุรินทร์” วางกรอบ แก้ปัญหาทักษะการคิดวิเคราะห์ของเด็กไทย “รศ.ดร.สมพงษ์” ชี้ กระจายต้องอำนาจจากส่วนกลางสู่โรงเรียน ปรับแนวทางพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง สับเด็กได้คะแนนสอบต่ำเหตุออกข้อสอบไม่ตรงตามตำราที่เรียน
       
       วันนี้ (11 ก.ย.) ที่ห้องนภาลัย บอลรูม โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวในการประชุมเชิงนโยบายเพื่อระดมความคิด หัวข้อการพัฒนาการศึกษาทั้งระบบเพื่อพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนไทย โดยมีผู้บริหาร ศธ.ทุกหน่วยงาน นักวิชาการ และภาคเอกชนเข้าร่วมกว่า 150 คน ว่า เป้าหมายการจัดประชุมครั้งนี้ เพื่อระดมความคิดเห็นมาพัฒนาการศึกษาทั้งระบบ ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอน การวัดประเมินผล การคัดเลือกเข้าศึกษาต่อและการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของภาคเศรษฐกิจ ทั้งนี้คาดหวังว่าที่ประชุมจะสามารถระดมความเห็นเพื่อหาคำตอบใน 6 ประเด็นที่กำลังเป็นปัญหาของการศึกษาไทยในขณะนี้ คือ

1.การจัดการเรียนการสอนในปัจจุบันสอนให้เด็กท่องจำหรือคิดวิเคราะห์ ทิศทางที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร การจัดการเรียนการสอนสอดคล้องกับหลักสูตรหรือไม่

2.การออกข้อสอบทั้งแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐานหรือโอเน็ต การทดสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และการทดสอบความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ (PAT) สอดคล้องกับที่สอนหรือไม่

3.เด็กไทยเรียนในห้องเรียนมากเกินไปหรือไม่ และจะทำอย่างไรให้เด็กเรียนในห้องเรียนน้อยลงแล้วมีเวลาทำกิจกรรมนอกห้องเรียนเพิ่มขึ้น

4.ระบบการคัดเลือกเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษา มีความเหมาะสมหรือยัง สอดคล้องกับสิ่งที่ควรจะเป็นหรือไม่

5.สถาบันอุดมศึกษาผลิตผู้เรียนที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของประเทศหรือยัง

และ

6.ระบบการประเมินการวัดผล หรือการประเมินสถานศึกษาเที่ยงตรงถูกต้องเหมาะสมหรือไม่
       
       
รศ.ดร.สมพงษ์ จิตรระดับ
อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การจะปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนให้เด็กไทยเรียนแบบคิดวิเคราะห์ได้ ศธ.ต้องกระจายอำนาจให้โรงเรียนให้ครูมีอิสระทางวิชาการ ปราศจากการครอบงำอำนาจจากส่วนกลาง นอกจากนี้ ต้องปรับวิธีการพัฒนาครูทั้งระบบ ไม่ใช่แค่อบรมให้รู้วิธีการสอนแนวคิดวิเคราะห์แบบชั่วครั้งชั่วคราว แต่ต้องกำหนดไปเลยว่าจะใช้เวลา 3 ปี พัฒนาครูให้มีทักษะสอนเชิงคิดวิเคราะห์ โดยให้แต่ละเขตพื้นที่เป็นเจ้าภาพในการทำเรื่องนี้ และดึงสถาบันอุดมศึกษาที่กระจายอยู่ในแต่ละเขตพื้นที่มาช่วยทำแผนการพัฒนาครู ตั้งแต่เรื่องทำแผนการสอน จัดทำสื่อส่งเสริมการสอน จัดตารางสอนในโรงเรียนแต่ละแห่งให้มีวันพิเศษสัปดาห์ละ 2 วันที่ให้เด็กเรียนครึ่งวันทำกิจกรรมครึ่งวัน
       
       นอกจากนี้ หลักสูตรการเรียนการสอนในปัจจุบันถือว่ามีความยืดหยุ่น เด็กไม่ตั้งใจสอบโอเน็ต ก็เลยไม่รู้ว่ามีอะไรที่สำคัญกับชีวิตของเขา ทางสพฐ.ก็ต้องคิดว่า จะเอามาใช้อย่างไรถึงจะมีความสำคัญ ส่วนอีกข้อที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องของแบบเรียน ซึ่งหลักสูตรมีมาตรฐาน หนังสือกลับถูกอัดแน่นด้วยเนื้อหา แต่ข้อสอบที่ออกกลับยึดหนังสือทั้งหมด ออกข้อสอบวิเคราะห์ตามตำรา แต่การเรียนการสอนกลับไม่ได้ออกข้อสอบจากทุกเล่ม ทำให้เวลาวัดผลก็จะพบว่าเด็กได้คะแนนอ่อนเพราะข้อสอบมีเนื้อหาจากตำราเรียนไม่ถึงครึ่ง
       
       คุณหญิงสุชาดา กีระนันท์ อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หากจะทำให้เด็กประสบความสำเร็จในการเรียนรู้เชิงคิดวิเคราะห์มากขึ้น หลักสูตรของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต้องเน้นหนักเรื่องการทำให้เด็กเรียนรู้ทางด้านภาษาทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษอย่างมีคุณภาพก่อน เพราะทักษะทางภาษาจะนำพาเด็กไปสู่ระบบการคิดวิเคราะห์ได้ดี ดังนั้นหากแก้ปัญหาส่วนนี้ไม่ได้ทักษะการคิดวิเคราะห์ก็ไม่เกิด ซึ่งทุกวันนี้สถานศึกษาให้ความสนใจกับทักษะทางภาษาน้อยมาก และข้อสอบวัดประเมินผลเด็กก็จะเน้นแต่ข้อสอบปรนัย ส่งผลให้เด็กไทยมีทักษะคิดวิเคราะห์ต่ำ
       
       คุณหญิงสุชาดา กล่าวอีกว่า เมื่อพิจารณาหลักสูตรการเรียนการสอนในปัจจุบันถือว่าเขียนได้ดี ใช้ได้ แต่มีประเด็นที่น่ากังวลคือ มีสาระ เนื้อหาแน่นเกินไป จนมีคำถามว่าจะทำให้เด็กขาดกระบวนการคิดวิเคราะห์หรือไม่นั้น โรงเรียนก็มีหลายรูปแบบ ซึ่งต้องยอมรับว่าเด็กเองก็เรียนในห้องมากเกินไป และเรียนนอกห้องมากเกินไปเช่นกัน แต่เป็นการกวดวิชา อย่างไรก็ตามสำหรับวัตถุประสงค์ในการสร้างคนของสถานศึกษาในทุกวันนี้นั้น มุ่งเพื่อส่งต่อให้สามารถเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยชื่อดังให้ได้ ซึ่งถือเป็นจุดวิกฤตของการศึกษาไทย ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจึงต้องไล่ทั้งระบบ
       
       “การแก้ปัญหาด้านการศึกษาไทยนั้น เป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ปัญหาให้กับโรงเรียนทั้งประเทศ ซึ่งมีอยู่ทุกระดับ ต้องไล่ตั้งแต่นโยบายระดับสูง และอีกปัญหาหนึ่ง คือ ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลเปลี่ยนบ่อย รัฐมนตรีว่ากการกระทรวงศึกษาธิการก็เปลี่ยนบ่อย นโยบายก็เปลี่ยนตาม ดังนั้นจึงควรยกให้การศึกษากลายเป็นวาระแห่งชาติ” อดีตอธิการบดี จุฬาฯ กล่าว
       
       คุณหญิงสุชาดา กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการเลือกผู้บริหารโรงเรียนนั้นก็มีความสำคัญ เพราะจะเป็นผู้กำกับบทบาทหน้าที่ทุกอย่างภายในโรงเรียน อีกทั้งต้องพยายามดึงโรงเรียนที่เห็นว่าพอไปได้ขึ้นมา แล้วร่วมกันหาแนวร่วม สร้างเครือข่ายในกลุ่มโรงเรียนเพื่อให้ช่วยกัน
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงบ่ายภายหลังจากมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในประเด็นต่างๆ นั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้มี 5 เรื่องที่ต้องตอบโจทย์ คือ 1.เรื่องครู ที่คงเห็นตรงกันว่าต้องทำพร้อมกันทั้งสองส่วน คือทั้งท่องจำ และการคิดวิเคราะห์ไปด้วยกัน แต่ต้องเพิ่มเนื้อหาในเรื่องของการคิดวิเคราะห์ให้เข้มข้นขึ้น ทั้งนี้ก็ต้องเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาครู เพื่อนำไปสู่การสอนคิดวิเคราะห์ ให้เกิดความเข้าใจในแนวทางปฏิบัติร่วมกัน อย่างไรก็ตามในโครงการอบรมพัฒนาครูทั่วประเทศ 5 แสนคนนั้น เร็วๆ นี้ จะมีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาหารือถึงรูปแบบการอบรมต่อไป นอกจากนี้ในเรื่องหลักสูตร นั้นยังขาดเรื่องของการส่งเสริมประชาธิปไตย ภัยเยาวชน เช่น เรื่องยาเสพติด 2.เรื่องเนื้อหาแต่ละวิชา ไม่ว่าจะเป็นของ สพฐ.อาชีวะ อยากให้พิจารณาว่าสาระใดที่เกินความจำเป็น ก็ให้ตัดออก โดยเอาเวลาที่เหลือมาเน้นในเรื่องของการคิดวิเคราะห์มากขึ้น
       
       นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า 3.เรื่องตารางสอน ตรงนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องไปช่วยดูว่าจะปรับตารางสอนอย่างไร การจะให้เรียนอกห้องมากขึ้นนั้นรูปแบบจะออกมาอย่างไร เอาที่ปฏิบัติได้ เช่น แบ่งเวลา 10 เปอร์เซ็นต์ ในแต่ละสัปดาห์ให้เด็กมีโอกาสเรียนนอกห้อง ทัศนศึกษาด้วย 4.กระบวนการเรียนการสอน ที่จะเน้นแม่ข่ายมหาวิทยาลัยมาช่วยส่งเสริม ให้เด็กมีการส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ 5.เรื่องข้อสอบ ต้องกลับไปดูว่าสัดส่วน ของเนื้อหาข้อสอบที่มีการแบ่งการจำ การคิดวิเคราะห์ และอื่นๆ สูตรสำเร็จต้องมีหรือไม่ มีแล้วต้องเป็นอย่างไร ผู้ออกข้อสอบจำเป็นที่ต้องไปดูว่าที่ผ่านมาเหมาะสม ได้มาตรฐาน หรือต้องปรับปรุงอย่างไร

 

อ้างอิง

http://www.norsorpor.com/ข่าว/n1669827/ศธ.ระดมกึ๋นพัฒนาการศึกษาทั้งระบบ%20%20จุรินทร์%20%20วางกรอบ%20แก้ปัญหาทักษะการคิดวิเคราะห์
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้2250
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1238
mod_vvisit_counterทั้งหมด10734207