Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
ไซอิ๋วกี่บนเส้นทางสายไหม PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อังคาร, 08 กันยายน 2009

เมื่อราวกลางปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ได้เกิดเรื่องราวสะเทือนใจต่อพุทธศาสนิกชนทั่วโลก  เมื่อรัฐบาลอิสลามิคตอลีบัน ตัดสินใจทำลายพระพุทธรูปประทับยืนขนาดใหญ่ ๒ องค์ ความสูง ๕๓ เมตร และ ๓๘ เมตร ที่เมืองบาเมี่ยน ( Bamian ) หรือเมืองบามิยาน ( Bamiyan ) บนหน้าผาหินทรายที่ยาวกกว่า ๑.๓ กิโลเมตร สูงจากระดับน้ำทะเล ๒,๕๕๐ เมตร  ห่างจากนครคาบูล เมืองหลวงของประเทศอัฟกานิสถาน ไปทางตะวันตกประมาณ ๓๓๐  กิโลเมตร

         องค์พระพุทธรูปยืนขนาดมหึมาอายุกว่า ๑,๗๐๐ ปี พังทลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ด้วยแรงระเบิดที่เจาะฝังอยู่ตามจุดต่าง ๆ ขององค์พระ  รวมทั้งจากการระดมยิงด้วยเครื่องยิงระเบิดเข้าใส่พร้อม ๆ กัน ...แต่เรื่องราวและตำนานของหุบเขาแห่งพระเจ้า และรูปยืนเสมือนของมหาบุรุษเหนือโลกุตระที่คูหาถ้ำแห่งนี้ ไม่ได้จบสิ้นไปพร้อมกับการทำลายในครั้งนั้น กลุ่มคนที่เข้าทำลายต่างหาก ที่กำลังจะจบสิ้นไปพร้อมกับตราบาปและคำประณาม ที่โลกกำลังจะจารึกไว้ให้ ในความทรงจำตลอดไป...

         พระพุทธรูปยืนที่เมืองบามิยาน ถูกกล่าวถึงเป็นครั้งแรกในบันทึกของพระถังซัมจั๋ง  ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๒  ( นอกจากชื่อพระถังซัมจั๋งแล้ว ยังมีชื่อเรียกในเอกสารต่าง ๆ  คือ  พระซานจั๋ง หลวงจีนสวานจั้ง  หลวงจีนเ***้ยนจัง  หลวงจีนยวนฉางหรือซวนชาง ( Yaun Chwang  ) หลวงจีนฮวนซัง ( Hsuan tsang  ) ซึ่งทั้งหมดก็คือชื่อของพระถังซัมจั๋งที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง )  เรื่องราวของการเดินทางไกล จากซีอาน นครหลวงของราชวงศ์ถัง มาสู่ดินแดนแคว้นมคธราฐและพุทธสถานของพระพุทธองค์เป็นเวลายาวนานกว่า ๑๗ ปีถูกบันทึกไว้ใน ไซอิ๋วกี่ ที่แปลความหมายว่า “ บันทึกเกี่ยวกับประเทศฝ่ายตะวันตก”  แต่ที่เรามักจะจำได้และคุ้นเคยกับคำว่าไซอิ๋วกี่นี้ กลับเป็นนิยายการผจญภัยและการปราบปีศาจร้ายตามรายทางของเห้งเจียหรือซุนหงอคง (ลิง) ตือโป้วก่าย ( หมู ) และซัวเจ๋ง ( เต่า ) ลูกศิษย์ผู้ติดตามพระถังซัมจั๋งไปยังชมพูทวีป เพื่อไปอัญเชิญพระไตรปิฎกกลับมาสู่ประเทศจีน

ภาพลายเส้น พระพุทธรูปยืนที่บามิยานโดยชาวยุโรปในศตวรรษที่ 18

 

 
  คำสั่ง โหวต
4 คะแนน โดย sleepwalks เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว
please try again

พระถังซัมจั๋งเกิดที่เมืองเจียวจื้อ ในมณฑลเหอหนาน บิดาชื่อ ไหวย ชื่อเดิมของพระถังซัมจั๋งคือซานจั๋ง เมื่ออายุได้ ๑๓ ปี จึงบวชเป็นสามเณรที่เมืองลกเอี๋ยง สามเณรซานจั๋งมีสิติปัญญาที่เฉลียวฉลาดในการศึกษาพระธรรม ได้แสดงความเป็นอัจฉริยะภาพ เมื่อสามารถศึกษาทำความเข้าใจและอธิบายคัมภีร์มหายาน สัมปริคหะศาสตร์ รวมทั้งความหมายของนิพพานในคัมภีร์พุทธศาสนาอื่น ๆ จนหมดสิ้น เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ด้วยความสามารถและสติปัญญาในพุทธศาสนาและวิธีการแสดงธรรมเทศนาสั่งสอนที่เข้าใจง่าย จึงเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าถังไทจง  จักรพรรดิ์พระองค์ที่สองของราชวงศ์ถัง ( พ.ศ. ๑๑๗๐ – พ.ศ. ๑๑๙๓ )

         แต่ถึงแม้ว่าจะได้รับความชื่นชมยินดี และเกียรติยศที่ยิ่งใหญ่จากราชสำนักสักปานใด พระซานจั๋งก็ยังรู้สึกตนเสมอว่า สิ่งที่ตนเรียนรู้ ท่องสวดภาวนา ปฏิบัติและได้นำมาเทศนาสั่งสอนแก่ผู้คนทั้งหลายนั้น คือสิ่งที่ถูกต้องทั้งสิ้นแล้วหรือ คือคำสอนที่เป็นพุทธวัจนะอย่างแน่นอนหรือไม่ หรือเป็นคัมภีร์ที่มีตัวบทบัญญัติแตกต่างจากที่สำนักสถานแห่งอื่นอย่างไร ความคิดรุ่มร้อนในจิตใจจึงเกิดขึ้น หากมิได้เดินทางไปพบเห็นหรือได้เรียนรู้พระพุทธศาสนาจากต้นกำเนิดในชมพูทวีปอย่างแท้จริงแล้ว จะถือตนเทศนาสั่งสอนในธรรมะที่ยังไม่สมบูรณ์นี้ได้อย่างไร และเนื่องจากพระเจ้าถังไทจงไม่มีพระราชานุญาตให้ซานจั๋งและคณะเดินทางไปอินเดีย เมื่ออายุได้ ๒๖ ปี พระซานจั๋งจึงได้ตัดสินใจหลบหนีออกจากนครซีอาน เดินทางตามเส้นทางสายผ้าไหมทางตะวันตก ในปี พ.ศ. ๑๑๗๒

  คำสั่ง โหวต
2 คะแนน โดย sleepwalks เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว
please try again

เส้นทางสายไหม ( Silk Road ) คือเส้นทางการค้าของโลกยุคโบราณ ในช่วงที่เทคโนโลยีการเดินเรือสินค้ายังไม่พัฒนาเท่าใดนัก เส้นทางสายผ้าไหมเป็นเส้นเดินทางภาคพื้นดินของพ่อค้า กองคาราวานสินค้า นักบวช  นักจาริกแสวงบุญ ทูต นักแสดง และผู้คนหลากหลายอาชีพ ต่างวัฒนธรรมและชนชาติ เชื่อมต่อระหว่างจีนกับกรุงโรม เริ่มต้นจากนครซีอานหรือฉางอาน ในเขตลุ่มแม่น้ำฮวงโห ผ่านตรงไปทางทิศตะวันตกเข้าสู่นครตุงหวาง เส้นทางผ่านทะเลทรายทากลิมากัน ที่เมืองโคทานและเมืองกุจจะ ทางแยกใหญ่อยู่ที่เมืองคาชการ์ ( Khaksar ) และทุ่งเฟอร์กาน่า ( Ferghana ) ใจกลางทวีปเอเชียพอดิบพอดี เส้นทางแยกตะวันตกไปสู่นครซามาร์คานด์ ( Samarkand ประเทศอุซเบกีสถานในปัจจุบัน)  นครเมิร์ฟ ใช้เส้นทางเลียบทะเลสาปแคสเปี้ยน เข้าสู่นครฮามาดัน ปาล์ไมล่า ในเปอร์เซียโบราณ ไปสู่เมืองท่าอันติโอค ดามัสกัสและเมืองท่าไทร์ที่ซีเรีย ก่อนจะลงทะเลเมดิเตอริเนียนเดินทางไปสู่กรุงโรม

       
เส้นทางสายผ้าไหมอีกเส้นทางหนึ่ง แยกจากคาชการ์ ใจกลางทวีปเอเชีย ลงมายังนครบุคคาล่า ( Bukhara ) เส้นทางนี้เป็นเส้นทางผ้าไหมสายย่อยทางทิศใต้ เดินทางจากบุคคาล่าลงมาสู่นครเบคเตรีย ( Bactria ) นครกปิศะหรือเมืองเบคราม ในลุ่มแม่น้ำคาบูล ( Kapisa - Bagram  ประเทศอัฟกานิสถานในปัจจุบัน) เข้าสู่เมืองบามิยาน ( Bamian )   นครกปิศะและบามิยาน ในแคว้นคันธารราฐ ( Gandhara ) เป็นจุดแวะพักถ่ายสินค้า ตลาดแลกเปลี่ยนสินค้า จุดพักแรม และทางสามแยกอีกจุดหนึ่งระหว่าง อินเดีย จีนและโรม ทางแยกตะวันตกจะเดินทางไปสู่นครเฮรัต ( Herat ) ไปเชื่อมกับเส้นทางไหมในเปอร์เซีย ส่วนทางทิศตะวันออกของนครบามิยานและนครกปิศะ เส้นทางสายผ้าไหม จะตัดผ่านช่องเข้าไคเบอร์ ( Kyber Pass) ไปยังนครบุรุษบุรี ปุรุชาปุระหรือนครเปษวาร์ ( Peshawar ประเทศปากีสถานในปัจจุบัน) เข้าสู่นครตักศิลา ( Taxila ) นครแห่งวิทยาการและมหาวิทยาลัยในเขตลุ่มแม่น้ำสินธุ

         
เส้นสายผ้าไหมที่นครตักศิลา จะแยกออกเป็นสองเส้นทาง เส้นทางตะวันออกจะมุ่งหน้าเข้าสู่แคว้นปัญจาบ เข้าสู่นครมถุราในลุ่มน้ำยมุนาและ เมืองต่าง ๆ ในลุ่มน้ำคงคา ออกสู่อ่าวเบงกอลที่แคว้นกามรูป(พิหาร) อีกเส้นทางหนึ่งจะเดินทางลงสู่ทิศใต้ ตามลำน้ำสินธุออกสู่ทะเลอาหรับ เป็นเส้นทางกองคาราวานการค้าทางน้ำสู่แคว้นทางทิศตะวันตกของคาบสมุทรอินเดีย เช่น แคว้นคุชราต เสาราษฏร์ และมหาราษฏร์ เป็นต้น

  คำสั่ง โหวต
2 คะแนน โดย sleepwalks เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว
please try again

เส้นทางสายผ้าไหม เริ่มต้นขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๔  ในรัชสมัยของพระเจ้าฮั่นวู่ตี่ แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ตรงกับราชวงศ์ศกะ ปาเที่ยน ( Saka – Pathain ) ที่ปรากฏอิทธิพลอยู่ในแคว้นคันธารราฐ ส่วนทางเมดิเตอริเนียน จักรวรรดิกรีกที่เคยยิ่งใหญ่แตกสลายกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโรมันที่กำลังรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็ว

         
การสำรวจเส้นทางตะวันตกในครั้งแรก ๆ ของราชวงศ์ฮั่น เกิดขึ้นจากการรุกรานของพวกฉงนู ( Xiongnu )ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือ เข้าไปในใจกลางทวีป เผ่าฉงนูเป็นเผ่าขนาดใหญ่สามารถปราบปรามชนเผ่าเร่ร่อนเผ่าอื่น ๆ หลายเผ่าได้เป็นผลสำเร็จ และเริ่มหันกลับเข้ามารุกรานจีน จนทำให้ชายแดนตะวันตกสั่นคลอน จักรพรรดิ์ฮั่นวู่ตี้ จึงใช้นโยบายการทูตผสมผสานกับการทำสงคราม โดยสร้างความสัมพันธ์อันดีกับเผ่ายุชชิ ( Yuch – chi ) คูซาน ( Kushan ) หรือที่เรียกในภาษาสันสกฤตว่า ชาวกุษาณะ ที่ต่อมาได้เข้าครอบครองคันธารราฐและอินเดียเหนือ ( ราวพุทธศตวรรษที่ ๖) รวมทั้งใช้กำลังทหารทำสงครามปราบปรามพวกฉงนู เป็นผลสำเร็จในช่วงเวลาต่อมา เมื่อตะวันตกมีเสถียรภาพ และความปลอดภัย จักรพรรดิ์ฮั่นจึงส่งราชทูตและนักสำรวจ เดินทางไปสู่อาณาจักรปาเที่ยน เปอร์เซีย ซีเรีย ไปจนถึงกรุงโรม ความสัมพันธ์และการติดต่อกันระหว่างฮั่นกับโรมัน ทำให้เส้นการเดินทางที่เคยสำรวจไว้ในช่วงของสงครามกับชาวฉงนู ถูกเปิดใช้ขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยมีอาณาจักรศกะ - ปาเที่ยนในเอเชียกลางและแคว้นคันธารราฐ เป็นคนกลางของการติดต่อค้าขาย

       
ในพุทธศตวรรษที่ ๕ เส้นทางสายผ้าไหมประสบปัญหาขาดเสถียรภาพจากสงครามระหว่างโรมันและอาณาจักรศกะ - ปาเที่ยน จนล่วงเข้าถึงพุทธศตวรรษที่ ๖ - ๗ ชาวกุษาณะหรือชนเผ่ายุชชิ จากทางภาคเหนือจึงแผ่อิทธิพลเข้าครอบครองทุ่งเฟอร์กาน่า ซามาร์คานด์ แคว้นคันธารราฐ ขยายอิทธิพลไปจนถึงแคว้นปัญจาบ และแคว้นมคธราฐในลุ่มแม่น้ำคงคาแทนอาณาจักรชาวปาเที่ยน เส้นทางสายผ้าไหมเริ่มมีเสถียรภาพขึ้นอีกครั้งหลังจากที่พระเจ้ากนิษกะ ( Kanishka ) ผู้เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา สร้างความมั่งคงและมั่งคั่งให้กับจักรวรรดิของชาวกุษาณะ    
     
         
ในรัชสมัยของพระเจ้าฮั่นเม่งตี่ ( พ.ศ. ๖๐๑ ๖๐๙ ) พุทธวัฒนธรรมและศิลปวิทยาการจากอินเดียเริ่มเดินทางเข้าสู่ประเทศจีน มีการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาจีนเป็นครั้งแรก วัฒนธรรมจีนดั่งเดิมโดยเฉพาะลัทธิขงจื้อและลัทธิเต๋า ต่างยอมรับและผสมผสานกับพุทธศาสนาที่แผ่อิทธิพลเข้ามาได้อย่างลงตัว ในสมัยต่อมาจึงเริ่มปรากฏงานศิลปกรรมและพุทธสถานมากมายในเมืองโบราณที่ตั้งอยู่ตามเส้นทางสายผ้าไหม เช่นหมู่ถ้ำสหัสพุทธ หมู่ถ้ำโม่เกา เมืองโบราณเกาชาง เมืองโบราณเจียวเหอ หมู่ถ้ำย่งกัง ถ้ำหลงเหมิน เมืองโบราณตุงหวาง ฯลฯ

           
ในช่วงพุทธศตวรรษที่  ๙ ๑๑ เส้นทางสายผ้าไหมทางแคว้นคันธารราฐ ยังคงเป็นเส้นทางสายหลักที่สำคัญในการเดินทางติดต่อค้าขาย และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างภูมิภาค อินเดียและจีน แต่ในบางครั้งก็ประสบปัญหาความปลอดภัยจนเส้นทางต้องปิดตัวลง เนื่องจากความวุ่นวายทางการเมืองภายในและสงครามระหว่างอาณาจักรของบ้านเมืองตามรายทาง บางครั้งเส้นแยกทางตะวันออกของบามิยานก็ถูกตัดขาดจาก ตักสิลาและแคว้นปัญจาบ เมื่อชาวเอฟทาไลต์ ( Ephthalite ) หรือชาวฮั่นขาว  ( White Huns ) เผ่าเร่ร่อนขนาดใหญ่จากทางตะวันตกเฉียงเหนือ บุกลงมายึดครองและทำลายบ้านเมืองในอินเดียเหนือ บางอาณาจักรก็รอดพ้นจากการทำลายล้าง บางอาณาจักร บ้านเมืองคงเหลือแต่ซากปรักหักพัง แต่เส้นทางผ้าไหมสายใต้ก็ยังคงถูกใช้งานอยู่เสมอ ๆในเวลาต่อมา โดยมีราชวงศ์คุปตะของอินเดีย อาณาจักรปาเที่ยน กุษาณะ ศกะ ซินเถียน ต่างผลัดกันเข้าครอบครองแคว้นคันธารราฐ ที่เป็นเสมือนจุดกึ่งกลางของเส้นทางสายผ้าไหมทางทิศใต้นี้เป็นคนกลาง

         
ในยุคสมัยที่การค้าเฟื่องฟู ผู้คนจากหลากหลายเผ่าพันธุ์ ต่างภาษาและวัฒนธรรม เดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกันบนตามเส้นทางสายผ้าไหมที่เชี่อมโลกในยุคโบราณเข้าหากัน พ่อค้าวานิชจำนวนมากนำกองคาราวานสินค้าจากจีน โรมัน เอเชียกลาง อินเดีย ออกมาค้าขายแลกเปลี่ยนกับโลกภายนอก นอกจากพ่อค้าแล้ว เส้นทางสายผ้าไหม ยังคลาคล่ำไปด้วยผู้คนในหลากหลายชนชั้นและอาชีพ สินค้ามากมายจากแดนไกลเป็นที่ต้องการและแสวงหา เพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนและนำกลับไปใช้ในบ้านเมืองของตน สินค้าที่สำคัญที่พ่อค้าต้องจากจากจีนได้แก่ ไหมดิบ ผ้าแพรไหม ผ้าไหมปัก เครื่องปั้นดินเผา ใบชา เครื่องดินเผา เครื่องเขิน น้ำตาล เหล็ก  พ่อค้าจีนจะนิยมซื้อม้าคุณภาพดีจากเอเชียกลางมาใช้ในราชการสงครามและการติดต่อสื่อสาร แทนม้าพันธุ์พื้นเมืองที่มีขนาดเล็กและเตี้ย นอกจากนี้ยังมีความนิยมสินค้าประเภทเครื่องเทศ เครื่องหอม ของป่า อะเกต  อัญมณี  เครื่องประดับที่แปลกตา เครื่องเงิน เครื่องทอง เครื่องแก้ว ผ้าแพรพรรณจากกรุงโรม ซีเรียและอียิปต์  หินรัตนชาติ งาช้าง ไข่มุก ผ้าขนสัตว์ ( จากแคชเมียร์ ) ทับทิม หิน มูลนกการะเวก จากแคว้นคันธารราฐ และอินเดียเหนือ

         
เส้นทางสายผ้าไหมยังก่อให้เกิดปรากฏการณ์แลกเปลี่ยน ถ่ายทอด รับส่งและผสมผสานทางวัฒนธรรม ศาสนา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ความก้าวหน้าหลายด้านของจีนถูกส่งไปยังโลกตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นการถลุงเหล็ก การทำเครื่องเคลือบ การหล่อสำริด ระบบปฏิทินจีน ความรู้ด้านยาแผนโบราณ ในขณะที่จีนเองก็ได้รับสิ่งแปลกใหม่ เช่น พืชพรรณจำพวกลูกพีช ลูกแพร์จากยุโรป องุ่น งา แครอท วอลนัท การละเล่นและดนตรีจากเอเชียตะวันตก รวมทั้งศิลปะวิทยาการอีกมากมาย เช่นการสร้างรูปเคารพ ประติมากรรมทางศาสนา ดาราศาสตร์และระบบไปรษณีย์ ฯลฯ จากเปอร์เซียและอินเดีย

ภาพ เมืองโบราณตุงหวาง ชายแดนตะวันตกจุดเริ่มต้นของเส้นทางไหม นอกอาณาจักรฮั่น

  คำสั่ง โหวต
2 คะแนน โดย sleepwalks เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว
please try again

ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๒ จักรพรรดิถังไทจง แห่งราชวงศ์ถัง ได้ทำสงครามกับพวกเตอร์ก ตาตาร์ (ตาด )ที่รุกคืบมาจากบริเวณทะเลสาบแคชเปี้ยน รวมทั้งทำสงครามกับชนเผ่าฮั่นขาวจนได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด ในขณะที่แคว้นคันธารราฐ มีการปกครองแยกเป็นส่วน ๆ  โดยชาวกุษาณะ ชาวปาเที่ยน ที่นับถือศรัทธาในนิกายมหายาน ชาวศกะ ซินเถียนในราชวงศ์ไมตรกะที่นับถือศาสนาพุทธนิกายสางมิตียะ รวมกับอิทธิพลของแคว้นมคธราฐ ลุ่มแม่น้ำคงคาในรัชสมัยของพระเจ้าหรรษะวรรธนะ ( ศีลาทิตย์ พ.ศ. ๑๑๔๙ -  ๑๑๙๐) ราชวงศ์โมขรีส แห่งนครธเนศวรที่ประสบความสำเร็จในการสถาปนาจักรวรรดิ์ขึ้นใหม่ปกครองอินเดียเหนือหลังจากที่ราชวงศ์คุปตะเสื่อมถอยลง พระเจ้าหรรษะวรรธนะทรงมีความศรัทราในพุทธศาสนนิกายมหายาน  เมื่อความมั่นคง เสถียรภาพและความสงบสุขกลับคืนมาสู่ภูมิภาค เส้นทางสายผ้าไหม เส้นทางแห่งอารยธรรมจึงกลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

           
เมื่อพระถังซัมจั๋งหรือหลวงจีนฮวนซังเดินทางเข้ามาสืบพระพุทธศาสนายังประเทศอินเดีย ท่านได้เดินทางตามเส้นทางสายผ้าไหมเข้ามาสู่แคว้นแคชเมียร์ ( กัษมีร์ )  ณ ที่แคว้นนี้ พระถังซัมจั๋งได้รับการต้อนรับจากกษัตริย์แห่งแคว้นกัษมีร์ให้พำนัก และอนุญาตให้คัดลอกคัมภีร์ทางพุทธศาสนานานกว่า ๒ ปี หลังจากนั้นท่านจึงได้เดินทางต่อมายังแคว้นปัญจาบ เข้าสู่อินเดียเหนือ ตามเส้นทางไปสู่มืองมถุรา และเมืองต่าง ๆ ในลุ่มแม่น้ำคงคา ที่ปรากฏในพุทธประวัติ หลวงจีนฮวนซัง ได้ไปเยี่ยมสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ลุมพินี สาวัตถี กุสินารา พาราณสี พุทธคยา ปาฏลีบุตร(ปัตนะ) ราชคฤห์ และเข้าศึกษาพระธรรมคำสอนเพิ่มเติมในมหาวิทยาลัยนาลันทา เป็นเวลา ๕ ปี หลังจากนั้น หลวงจีนฮวนซังจึงได้เดินทางไปทางภาคใต้เพื่อข้ามไปยังเกาะลังกา แต่เกิดเหตุความวุ่นวาย โรคระบาดและสงครามกลางเมืองขึ้นเสียก่อน หลวงจีนฮวนซังจึงเปลี่ยนเส้นการเดินทางไปเยือนแคว้นคุชราตทางตะวันตกและเดินทางเข้าสู่แคว้นคันธาราฐ ผ่านตักศิลา เข้าสู่นครกปิศะและเมืองบามิยาน  จากนั้นจึงเดินทางกลับมาพำนักจำพรรษา ที่มหาวิทยาลัยนาลันทาอีกครั้งหนึ่ง ความสามารถในการเทศนาธรรมและความรู้สติปัญญาที่ชาญฉลาดในการแก้ปัญหาพระพุทธศาสนาและความขัดแย้งระหว่างนิกายต่าง  ทำให้หลวงจีนฮวนซังเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าหรรษะวรรธนะองค์อุปถัมภกนิกายมหายานที่นาลันทาเป็นอย่างมาก  เมื่อหลวงจีนฮวนซังปรารภว่าจะเดินทางกลับ พระองค์ก็ทรงพยายามเหนี่ยวรั้งมิให้ท่านเดินทางกลับสู่ประเทสจีนหลายต่อหลายครั้ง จนในที่สุดก็จำต้องอนุญาต หลวงจีนฮวนซังหรือพระถังซัมจั๋งเดินทางกลับมาถึงซีอานในปีพ.ศ. ๑๑๘๘ รวมระยะเวลาเดินทาง ๑๗ ปี ระยะทางทั้งสิ้นกว่า ๑๕,๐๐๐ ไมล์

           
ไซอิ๋วกี่บันทึกขึ้นหลังจากการกลับมาสู่แผ่นดินจีน จักรพรรดิ์ถังไทจงโปรดให้หลวงจีนฮวนซังบันทึกเรื่องราวของประเทศอินเดียและการเดินทางไปในที่ต่าง ๆ  บันทึกของพระถังซัมจั๋งได้รับการยกย่องว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีที่มีคุณค่ามากที่สุดฉบับหนึ่งของโลก  ข้อความในบันทึกของไซอิ๋วกี่ เป็นหลักฐานพยานสำคัญที่เก่าแก่ที่สุดในการบอกเล่าเรื่องราวของพระพุทธรูปยืนที่เมืองบามิยาน รวมทั้งเรื่องราวของพระพุทธศาสนาและผู้คนในแคว้นคันธารฐ  อีกทั้งดินแดนต่าง ๆ ในชมพูทวีป

ภาพ ผู้คนหลากชาติพันธุ์บนเส้นทางไหม

  คำสั่ง โหวต
3 คะแนน โดย sleepwalks เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว
please try again

บันทึกของพระถังซัมจั๋งเก็บความได้ว่า  ”...  ศูนย์กลางของพุทธศาสนานิกายมหายาน เจริญรุ่งเรืองอยู่ที่เมืองสารนาถ พุทธคยา และนาลันทา ที่เมืองพุทธคยานั้นมีทั้งพระสงฆ์นิกายหินยานของลังกาและพระสงฆ์ในนิกายมหายานของอินเดีย นิกายสางมิตียะซึ่งเป็นนิกายย่อยแตกออกมาจากนิกายเถรวาท เจริญรุ่งเรืองอยู่ในแคว้นคุชราต พระสงฆ์ในนิกายนี้มีบทบาทที่สำคัญในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา ไปยังสารนาทและศราวัสตีทางทิศตะวันออก ชาวพุทธทั้งมหายานและหินยานในอินเดีย นอกจากจะมีความนิยมในการสร้างวัดเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปแล้ว การสร้างสถูปขนาดใหญ่เพื่อบรรจุพระสารีริกธาตุก็ยังคงเป็นที่นิยมของชาวพุทธอยู่เสมอ ๆ  แต่เนื่องจากที่พระสารีริกธาตุของพระพุทธองค์เริ่มหาได้ยากมากขึ้น ชาวพุทธจึงนิยมบรรจุหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า คาถาเยธมา และพระพุทธรูปไว้ในสถูป และแม้ว่าจะมีการสร้างวัดกลางแจ้งขึ้นเป็นจำนวนมากแล้วก็ตาม ความนิยมในการสร้างวัดด้วยการเจาะถ้ำเป็นคูหาและสร้างวิหารครอบไว้ด้านหน้า ก็ยังคงเป็นที่นิยมของพุทธศาสนิกชนนิกายมหายาน เช่นที่ถ้ำอชันตา ถ้ำเอลโลร่า  ถ้ำการ์ลี ถ้ำกันเหริ  นอกจากนี้ ในบันทึกยังกล่าวว่า เมืองสารนาถเป็นศูนย์กลางของประติมากรรม มีกุฏิพระสงฆ์ในนิกายสางมิตียะเรียงรายกันอยู่ถึง ๑,๕๐๐ หลัง นอกจากนี้ยังพบพระสงฆ์นิกายนี้ที่เมืองศราวัตติในอินเดียภาคเหนืออีกด้วย ถ้ำอชันตาทางตะวันออกเป็นศูนย์กลางของงานจิตรกรรม ซึ่งส่งอิทธิพลให้กับพระพุทธศาสนาในแคว้นคันธารราฐและเกาะลังกา    อาณาจักรวัลภีแห่งแคว้นคุรชราตทางตะวันตก มีวัดทางพุทธศาสนามากกว่า ๑๐๐ แห่ง มีพระสงฆ์นิกายสางมิตียะประมาณ ๖,๐๐๐ รูป

  คำสั่ง โหวต
2 คะแนน โดย sleepwalks เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว
please try again

           ชาวพุทธในชมพูทวีปในเวลานั้น นิยมที่จะสร้างพระธาตุเจดีย์เพื่อบรรจุพระสารีริกธาตุและอุเทศิกเจดีย์หรือสถูปจำลองขนาดเล็ก ที่นิยมสร้างโดยนักจาริกแสวงบุญ นักบวช ที่เดินทางไปนมัสการสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือพุทธสถานตามพุทธประวัติ โดยมักนิยมสร้างด้วยหิน ดินเผา หรือโลหะ ประดิษฐานไว้ในสถานที่นั้น ๆ เพื่อเป็นการอุทิศให้กับพระศาสนา นักจาริกแสวงบุญชาวพุทธไม่ว่าคนรวยหรือคนยากจน ที่ร่วมเดินทางไปยังศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ จะต้องแสดงถึงความศรัทธาเลื่อมใสที่ตนมีต่อพระพุทธศาสนา โดยการสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อเป็นที่ระลึกถึงการเดินทางแสวงบุญในแต่ละครั้ง หากเป็นคนร่ำรวยก็มักที่จะสร้างสถูปจำลอง ผู้แสวงบุญที่ยากจน มักจะสร้างเผาดินเผาที่มีจารึกด้วยคาถาเย ธมมา ...

         “...
บามิยานเป็นเมืองสำคัญทางพุทธศาสนาสายมาหายาน ที่มีความงดงามโรแมนติกเป็นอย่างมาก วัดวาอารามที่เมืองบามิยานทุกวัดจะสร้างโดยการเจาะเข้าไปในหน้าผาหินทรายที่มีความยาวเป็นไมล์ โดยทำเป็นคูหาเรียงรายกันเป็นแถวดูเหมือนรังผึ้ง ภายนอกสร้างวิหารครอบไว้ด้านหน้า ภายในคูหานอกจากภาพสลักรูปพระพุทธเจ้าแล้ว ที่ผนังคูหาเหล่านี้ยังมีภาพจิตรกรรมแบบเดียวกับจิตรกรรมในถ้ำอชันตา    

         
         
ในบรรดาคูหาที่เป็นโบสถ์วิหารและกุฏิเหล่านี้มีอยู่ ๒ คูหาที่มีขนาดใหญ่มาก ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำขนาดใหญ่ ที่มีความสวยงามและสมบูรณ์ หล่อขึ้นจากสำริด ขนาดสูง ๑๒๐ ฟุต และ ๑๗๕ ฟุตตามลำดับ...


         
บามิยาน เป็นจุดพักแรมของพ่อค้า กองคาราวานสินค้าและนักจาริกแสวงบุญ มีฝูงชนมากมายแออัดตามตลาดนัด มีสินค้าที่หลากหลายให้เลือกซื้อหากลับไปยังบ้านเมืองของตน มีนักเล่านิทานจำอวด ผู้คนที่สนุกสนานและมีความสงบสุข...

  คำสั่ง โหวต
0 คะแนน โดย sleepwalks เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว
please try again

             เชื่อกันว่าบันทึกของหลวงจีนฮวนซัง น่าจะเข้าใจผิดเรื่องพระพุทธรูปยืนที่เมืองบามิยาน ว่าถูกสร้างขึ้นจากโลหะสำริดปิดทับด้วยทองคำ แต่แท้ที่จริงแล้ว พระยืนทั้งสองถูกสร้างขึ้นจากการแกะสลักโครงร่าง( โกลน ) คร่าว ๆ บนหน้าผาหินทราย ภายใต้ริ้วจีวรสามารถมองเห็นรูขนาดเล็กที่ถูกเจาะรูเป็นแถวเป็นแนวจำนวนมาก ไว้สำหรับสอดแกนไม้และร้อยเชือกเพื่อยึดเหนี่ยววัสดุประเภทดินโคลนผสมหญ้าแห้ง ปั้นพอกทับแกนหินทรายให้ได้รูปร่างขององค์พระตลอดจนเก็บรายละเอียดของริ้วจีวร ปิดทับด้วยปูน ทาสี แล้วปิดทองคำเปลวประดับลงไปขั้นสุดท้าย

             
ในคูหาถ้ำทางด้านล่างตรงพระบาทขององค์พระ เป็นที่พำนักของพระภิกษุสงฆ์ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอยู่ภายใน เป็นภาพพระโพธิสัตว์ในคติมหายาน ภาพแสดงปางปรินิพพาน ภาพพระพุทธเจ้าพันองค์ ภาพสุริยประภาและจันทรประภา ภาพเทวดาและนางฟ้า


  คำสั่ง โหวต
1 คะแนน โดย sleepwalks เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว
please try again

         พระพุทธรูปยืนปางแสดงมหาปาฏิหาริย์ที่หน้าผาบามิยาน แสดงให้เห็นการผสมผสานระหว่างศิลปะ อินเดีย เปอร์เซียและเอเชียกลาง รวมทั้งรูปแบบการทำริ้วจีวรเป็นริ้วผ้าแบบธรรมชาติที่เป็นอิทธิพลของของศิลปะแบบโรมัน มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๘ ๙ เชื่อกันว่าเริ่มสร้างในสมัยราชวงศ์กุษาณะ ในศิลปะแบบคันธารระ ได้รับการบูรณะต่อเติมในสมัยราชวงศ์คุปตะ ถูกทำลายอย่างยับเยินโดยชนเผ่าอิสลามิคเตอร์ก ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒

  คำสั่ง โหวต
0 คะแนน โดย sleepwalks เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว
please try again

พระพุทธรูปที่บามิยาน สร้างตามคติความเชื่อทางพุทธศาสนาในนิกายมหายาน ที่ต้องการแสดงให้เห็นภาพของพระพุทธองค์มีขนาดใหญ่เหนือกว่าคนธรรมดา เป็นการแสดงถึงสถานภาพของพระองค์ว่าอยู่เหนือมนุษย์ทั่วไป ทรงเป็นมหาบุรุษผู้อยู่เหนือโลก ( โลกุตระ ) นอกจากพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ทั้งสององค์นี้แล้ว คูหาถ้ำบนหน้าผาบามิยานยังมีร่องรอยรูปสลักพระพุทธรูปท่าประทับนั่งขนาดใหญ่อีกสามคูหา รูปเคารพของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ รวมทั้งคูหาที่พักของพระภิกษุสงฆ์อีกเป็นจำนวนมาก จนได้รับสมญาว่าเป็น หุบเขาแห่งพระเจ้า แต่ก็ถูกทำลายไปจนเกือบหมดสิ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน

  คำสั่ง โหวต
1 คะแนน โดย sleepwalks เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว
please try again

และเมื่อเร็ว ๆ นี้ นิตยสารไทม์ได้รายงานข่าวสำคัญเกี่ยวกับร่องรอยที่สูญหายของบามิยาน ฮุสเซน หนึ่งในทีมระเบิดพระยืนได้บอกกับไทม์ว่า บรรพบุรุษของเขาได้เล่าสืบทอดต่อกันมาถึงเรื่องราวของพระพุทธรูปปางปรินิพพานขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อยู่ห่างจากองค์พระพุทธรูปยืนไปประมาณ ๘๐๐ เมตร องค์พระมีความยาวกว่า ๒๐๐ เมตร  ซึ่งไทม์ได้พยายามค้นคว้าจากไซอิ๋วกี่แล้วพบว่า หลวงจีนฮวนซังได้กล่าวถึงไว้ในบันทึกด้วย พระพุทธรูปนอนขนาดใหญ่ที่กล่าวถึงนี้ อาจจะจมอยู่ใต้เชิงผาตรงส่วนใดส่วนหนึ่งในระดับพื้นราบ อาจถูกปิดทับด้วยแผ่นดินไหวหรือการพังทลายของหน้าผาหินทราย รวมทั้งอาจจะเกิดจากการทำลายในยุคสมัยต่อ ๆ มา ......ข่าวสำคัญนี้ พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก กำลังรอฟังด้วยใจระทึก......อย่างแน่นอน

  คำสั่ง โหวต
1 คะแนน โดย sleepwalks เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว
please try again

    

  คำสั่ง โหวต
1 คะแนน โดย sleepwalks เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว
please try again

อีกภาพของเส้นทางสายไหม

  คำสั่ง โหวต
1 คะแนน โดย sleepwalks เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว
please try again

ทางเดินที่ทอดไป จนสุดลูกหูลูกตา

  คำสั่ง โหวต
0 คะแนน โดย sleepwalks เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว
please try again

อีกบรรยากาศของเส้นทางสายไหม

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้932
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1659
mod_vvisit_counterทั้งหมด10720191