Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
เจิ้งเหอ : วิกีพีเดีย PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อาทิตย์, 06 กันยายน 2009

เจิ้งเหอ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รูปวาดเจิ้งเหอในจินตนาการของศิลปินที่ไม่ทราบชื่อ

เจิ้งเหอ (จีน: 郑和 ; พินอิน: Zhèng Hé ; แต้จิ๋ว: แต้ฮั้ว) เป็นผู้บัญชาการทหารเรือจีนในยุคราชวงศ์หมิง (明 ; Ming)

มีบันทึกว่าเจิ้งเหอเริ่มเดินทางรอบโลกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1421 และเคยติดต่อกับอาณาจักรอยุธยาด้วย มีผู้เสนอทฤษฎีว่า เจิ้งเหอน่าจะค้นพบทวีปอเมริกาก่อนคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส

[แก้] ประวัติ

เดิมทีนั้นเจิ้งเหอมีชื่อว่า "ซานเป่า" , "แซ่หม่า" เกิดที่มณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นเขตแดนของมองโกลทางตอนใต้ของประเทศจีน เมื่อปี ค.ศ. 1371 มีชื่อมุสลิมเป็นภาษาอาหรับว่า มูฮัมมัด อับดุลญับบารฺ เกิดในตระกูลขุนนางมุสลิม เซมูร์ และเป็นลูกหลานชนชั้นที่หกของ ซัยยิด อัจญาล ชัมสุดดีน อุมัร ผู้ปกครองมณฑลยูนนานผู้ลือนาม จากบุคอรอ ในอุซเบกิสถาน แซ่หม่า มาจาก มาสูฮฺ (มาสีหฺ) บุครคนที่ 5 ของ ซัยยิด อัจญาล ชัมสุดดีน อุมัร บิดาของเจิ้งเหอมีนามว่า มีร ตะกีน และปู่มีนามว่า กะรอมุดดีน ได้ไปทำพิธีฮัจญ์ในมักกะหฺ จึงได้พบเห็นผู้คนจากทุกสารทิศ และต้องเล่าเรื่องนี้ให้แก่เจิ้งเหออย่างแน่นอน

แต่ก่อนแซ่หม่าเรียกว่าหม่าเหอ เจิ้งเหอมีพี่น้อง 5 คนเป็นชาย 1 คน หญิง 4 คน เมื่อหม่าเหออายุได้ 12 ปี ตรงกับช่วงที่กองทัพของจักรพรรดิหงหวู่หรือจูหยวนจาง ปฐมราชวงศ์หมิงนำกำลังทัพเข้ามาขับไล่พวกมองโกลที่มาตั้งราชวงศ์หยวนออกจากประเทศจีน ทำการยึดครองยูนานเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรหมิงได้สำเร็จ ในเวลานั้นหม่าเหอได้ถูกจับตอนเป็นขันทีมีหน้าที่รับใช้เจ้าชายจูตี้ จนได้รับความไว้วางใจอย่างสูง ช่วงสงครามแย่งชิงบัลลังก์ระหว่างเอี้ยนหวังจูตี้กับหมิงฮุ่ยตี้ กษัตริย์ที่สืบราชบัลลังก์ต่อจากหมิงไท่จู่ เจิ้งเหอมีส่วนสำคัญช่วยให้จูตี้ได้รับชัยชนะขึ้นสู่บัลลังก์เป็นจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ มีชื่อรัชกาลว่า "หย่งเล่อ" และได้รับการสนับสนุนเป็นหัวหน้าขันที ต่อมาได้รับพระราชทานแซ่เจิ้ง จึงเรียกขานว่า "เจิ้งเหอ" แต่ชื่อที่รู้จักกันดีก็คือ "ซันเป่ากง" หรือ "ซำปอกง" (三寶公/三宝公).

[แก้] การเดินทางสำรวจ

รูปวาดยีราฟ ที่เจิ้งเหอนำกลับมาถวายจักรพรรดิหย่งเล่อ ในปีที่ 12 ของการครองราชย์

การเดินเรือสำรวจทางทะเลในระยะเวลา 28 ปี กองเรือของเจิ้งเหอออกสำรวจทางทะเลรวม 7 ครั้ง เดินทางมากกว่า 50,000 กิโลเมตร ท่องต่างแดนมากกว่า 37 ประเทศ เริ่มต้นเป็นครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1405 (พ.ศ. 1948) ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระรามราชาธิราชแห่งราชวงศ์อู่ทองปกครองกรุงศรีอยุธยา เจิ้งเหอทำหน้าที่ผู้บังคับกองเรือสำเภาขนาดใหญ่ เรียกว่า "เป่าฉวน" แปลว่า "เรือมหาสมบัติ" ต่อขึ้นที่เมืองนานกิง อดีตเมืองหลวงอันเก่าแก่ของจีนเป็นอีกสถานที่หนึ่งซึ่งเป็นที่ตั้งของ "อู่ต่อเรือ" ใช้ในการเดินเรือของเจิ้งเหอ เรือมหาสมบัติของเจิ้งเหอยาว 400 ฟุต ขนาดใหญ่กว่าเรือ ซานตา มาเรีย ของโคลัมบัสที่ยาวเพียง 85 ฟุต ถึง 5 เท่า

การเดินทะเลในครั้งแรกมีเรือขนาดใหญ่ตามไปด้วย 60 ลำ ขนาดเล็ก 255 ลำ มีลูกเรือทั้งหมด 27,870 คน แล่นเลียบชายฝั่งฟุเกี้ยน ผ่านไปยังอาณาจักรจามปา ชวา มะละกา สมุทรา (เซมูเดรา) และแลมบรีทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา จากนั้นเดินทางต่อไปยังเกาะลังกา กาลิกัต ขากลับได้นำคณะทูตจากเมืองเหล่านี้มาเข้าเฝ้าฯ จักรพรรดิหย่งเล่อ

ในการเดินเรือแต่ละครั้ง ขากลับจะนำเครื่องบรรณาการจากเมืองต่าง ๆ มาถวายจักรพรรดิหย่งเล่อ โดยเฉพาะสัตว์จากหลาย ๆ เมืองที่ผ่าน อย่างเช่นขากลับจากการเดินเรือทางทะเลในครั้งที่ 5 เจิ้งเหอได้นำสิงโต เสือดาว นกกระจอกเทศ ม้าลาย และยีราฟ (โดยบอกว่าเป็น กิเลน) กลับไปถวายแด่จักรพรรดิหย่งเล่อ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบมาก และกลายเป็นของแปลกและน่าตื่นเต้นสำหรับชาวจีนที่พบเห็นเป็นครั้งแรก

ต้นปีถัดมาเจิ้งเหอก็เริ่มออกเดินทางในครั้งที่ 2 เวลานั้นอายุ 36 ปี ครั้งที่ 3 อายุ 38 ปี ครั้งที่ 4 อายุ 42 ปี ครั้งที่ 5 อายุ 46 ปี ครั้งที่ 6 อายุ 50 ปี ครั้งที่ 7 อายุ 60 ปี โดยครั้งสุดท้ายมีจำนวนลูกเรือ 27,550 คน ไปไกลถึงทวีปแอฟริกา

เจิ้งเหอได้เข้าเยี่ยมสุสานศาสนทูตมุฮัมมัดในมะดีนะหฺและประกอบพิธีฮัจญ์ในมักกะหฺ นอกจากนั้นเจิ้งเหอได้ผ่านเข้าไปในเปอร์เซีย อ่าวเปอร์เซีย อารเบีย ทะเลแดง และอียิปต์

ภายหลังการเดินเรือทางทะเลในครั้งที่ 7 สิ้นสุดลง จากนั้นจีนก็หยุดดำเนินการสำรวจทางทะเล ส่วนเจิ้งเหอเสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1432 ที่อินเดีย แต่มีการสร้างหลุมฝังศพจำลองของเขาอยู่บนภูเขาในเมืองนานกิง ไม่มีศพอยู่ในนั้น มีเพียงเส้นผมและเสื้อผ้าที่เคยใช้เท่านั้น ก่อสร้างตามแบบประเพณีมุสลิม เรียกว่า เจิ้งเหอมู่ หรือ สุสานเจิ้งเหอ ซึ่งได้รับการบูรณะใหม่ในปี ค.ศ. 1985 บนสุสานมีคำว่า อัลลอหุ อักบัร แปลว่า อัลลอหฺใหญ่ยิ่ง

[แก้] เจิ้งเหอและประเทศไทย

ในประเทศไทย เจิ้งเหอเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "เจ้าพ่อซำปอกง" (ซานเป่ากง). วัดซำปอกง หรือชื่อทางการ วัดพนัญเชิงวรวิหาร ตั้งอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สาเหตุที่ชาวจีนมาเซ่นไหว้วิญญาณซำปอกงที่วัดกัลยาณมิตรเป็นเพราะความเข้าใจผิด กล่าวคือ ชาวจีนผู้นับถือพุทธศาสนากลุ่มหนึ่งได้นมัสการหลวงพ่อโตที่วัดกัลยาณมิตร แล้วเกิดความเลื่อมใส จึงได้เขียนหนังสือจีนไว้ที่หน้าวิหารว่า 'ซำปอฮุดกง' ซึ่งแปลว่าพระเจ้า 3 พระองค์ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ชาวจีนกลุ่มที่นับถือซำปอกง อ่านเห็นเป็น 'ซำปอกง' จึงคิดว่าเป็นสถานที่เซ่นไหว้วิญญาณของซำปอกง และได้มาเซ่นไหว้ซำปอกงเรื่อยมา ด้วยเหตุนี้มีนักเขียนไทยบางคนคิดว่า เจิ้งเหอได้เปลี่ยนศาสนามาถือพุทธ

ทว่าการที่เจิ้งเหอทำฮัจญ์และมีสุสานแบบมุสลิมแสดงว่าเจิ้งเหอเป็นมุสลิมจนถึงแก่กรรม แม้ว่าเจิ้งเหอจะไม่มีลูก เพราะถูกตอนเป็นขันทีตั้งแต่เด็ก หากแต่หม่าเหวินหมิงพี่ชายได้ยกลูกชายหญิงให้กับเจิ้งเหอ ทายาทของเจิ้งเหอบางส่วนอาศัยอยู่ในประเทศไทย ใช้นามสกุล วงศ์ลือเกียรติ อันเป็นนามสกุลที่เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าเชียงใหม่ ได้ประทานให้ เจิ้งชงหลิ่ง ผู้ซึ่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ "ขุนชวงเลียงฦๅเกียรติ" จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เจิ้งชงหลิ่งอพยพเข้าเมืองไทยในปี 2448 คนในตระกูลวงศ์ลือเกียรติเป็นมุสลิม เมื่อนักประพันธ์ชื่อดัง เควิน เมนซีส์ ได้แต่งหนังสือชื่อ 1421 : The Year China Discovered the World ขึ้น โดยมีการอ้างอิงทฤษฎีว่า นายพลเรือผู้กล้าหาญชาวจีนผู้หนึ่งได้ล่องเรือสำเภาไม้ขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในโลก เดินทางมาถึงอเมริกาก่อนหน้าคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส จะค้นพบถึง 71 ปี

เควิน เมนซีส์ ไม่ได้ตั้งใจที่จะมานั่งลบล้างประวัติศาสตร์ที่สืบทอดกันมายาวนาน แต่เขาเกิดไปเจอข้อมูลบางอย่างเข้าโดยบังเอิญขณะเดินทางไปฉลองครบรอบแต่งงาน 25 ปีที่เมืองจีน เมนซีส์ได้รับการบอกเล่าเรื่องราวของกองเรือขนาดใหญ่ ที่นำพาเจ้าผู้ครองนครจากดินแดนต่างๆ ทั่วโลกมาร่วมในงานเฉลิมฉลองการสถาปนาพระราชวังต้องห้าม ในวันปีใหม่เมื่อปี ค.ศ.1421 และนั่นทำให้เขาฉุกคิดขึ้นมาได้ว่าเหตุใดจึงมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นหากว่าไม่ได้มีการติดต่อสื่อสารกับนานาประเทศมาก่อน

ก่อนที่หนังสือจะตีพิมพ์เมนซีส์ได้มีโอกาสเห็นแผนที่ซึ่งจำลองพื้นที่ในแถบทะเลแคริบเบียนและหมู่เกาะต่างๆ นอกชายฝั่งอเมริกา ซึ่งถูกตีพิมพ์ก่อนหน้าที่โคลัมบัสจะออกเดินทางสำรวจโลก 70 ปี การที่ได้เห็นเปอร์โตริโกและกัวลาลูปนั้นทำให้เมนซีส์เชื่อว่าผู้ที่มาถึงก่อนโคลัมบัสก็คือพวกโปรตุเกส ซึ่งมีการส่งเรือออกไปค้นหาเกาะซึ่งปรากฏอยู่ในแผนภูมิแม่บทของโลกในเวลาต่อมา

ไม่เพียงโปรตุเกสที่ยืนยันว่าแผนภูมิแม่บทฉบับนี้มีหลักฐานเชื่อมโยงไปถึงชาวจีนเท่านั้น แต่ชาวยุโรปพวกแรกที่ไปอเมริกาก็พบว่ามีชาวจีนอยู่ที่นั่นแล้วถึง 38 คณะไม่ว่าจะเป็นคณะของวาสเควซ, โคโรนาโด เฟเรลโล, เมเจอร์ เพาเวอร์ส, เปโดร เมเนนเดซ หรืออวิลเลส เวอร์ราซาโน

หลังจากหนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ออกมา เรื่องราวการเดินทางของโคลัมบัส นักเดินทางผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้ก็มีอันต้องแปดเปื้อน และกลายเป็นที่ถกเถียงถึงประวัติศาสตร์ที่อาจผิดเพี้ยนไป เพราะเมนซีส์ไม่เพียงชี้ชัดลงไปว่า นายพลเช็งฮีและกองเรือของเขาซึ่งบรรทุกสิ่งของมีค่าตามพระราชโองการของจักรพรรดิจูตี้ แห่งราชวงศ์หมิง เมื่อราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นผู้ค้นพบทวีปนี้ก่อนเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้รวบรวมอเมริกาให้เป็นเมืองขึ้นของจีนก่อนที่โคลัมบัสจะมาถึงด้วย

“ข้อโต้แย้งที่ผมต้องการจะบอกก็คือ กองเรือของจีนได้เดินทางรอบโลกและได้ทำแผนภูมิการเดินเรือขึ้นก่อนชาวยุโรป และชาวยุโรปได้ค้นพบโลกใหม่โดยใช้แผนภูมิที่คนจีนทำขึ้น นักสำรวจผู้ยิ่งใหญ่ของยุโรปทุกคนล้วนออกเดินทางโดยใช้แผนภูมิในการบอกทางที่พวกเขาจะไปทั้งสิ้น” เจ้าของผลงานพลิกประวัติศาสตร์โลกย้ำ

เพราะขณะที่กัปตันคุกมีแผนที่ของออสเตรเลีย โคลัมบัสมีแผนที่ของแคริบเบียน และแม็คเจลแลนมีแผนที่ของแปซิฟิกนั้น แผนที่ทั้งหมดล้วนมาจากแผนภูมิแม่บทของโลก (Master Chart) ที่ชาวจีนเป็นผู้ทำขึ้น เควิน เมนซีส์ ผู้เขียนซึ่งเป็นอดีตผู้บัญชาการเรือดำน้ำชาวอังกฤษ ทุ่มเทเวลากว่า 9 ปี ในการพิสูจน์ทฤษฎีนี้ จนได้หลักฐานและข้อมูลใหม่ๆ จนทำให้เชื่อได้ว่าทฤษฎีที่เขาค้นพบนี้เป็นความจริง

ชาวโปรตุเกสอ้างว่าพวกเขามีแผนภูมิแม่บท ของโลกในราวปี ค.ศ.1420 ซึ่งเป็นแผนภูมิแม่บทของโลกที่เมนซีส์ค้นพบในเวลาต่อมาเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยัน เช่นเดียวกับเหตุผลที่ว่าทำไมมีคนจีนไปอาศัยอยู่บนแผ่นดินเหล่านั้นก่อนที่ชาวยุโรปจะไปถึง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มีการพบดีเอ็นเอของชาวจีนอยู่ในสายเลือดของชาวยุโรป

ที่น่าตกใจไปมากกว่านั้นก็คือ ไม่นานมานี้ได้มีการค้นพบภาพใบหน้าของเช็งฮีในอเมริกาเหนือโดยสถาปนิกผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง และนี่จะเป็นข้อพิสูจน์สำคัญที่ว่า กองเรือของนายพลเช็งฮีได้เดินทางมายังชายฝั่งทั้งด้านแอตแลนติกและแปซิฟิกของทวีปอเมริกาเหนือและใต้จริง

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้1289
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1659
mod_vvisit_counterทั้งหมด10720548