Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
เจิ้งเหอมหาขันทีนาวีจีน PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อาทิตย์, 06 กันยายน 2009

เจิ้งเหอ

(郑和)(1)

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์18 พฤษภาคม 2548 18:07 น.


คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
รูปปั้น “เจิ้งเหอ”

เมืองท่าโบราณของจีน

จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ (หย่งเล่อ) แห่งราชวงศ์หมิง ครองราชย์ระหว่างปี 1403 – 1424


สวนสาธารณะเจิ้งเหอที่คุนหยาง มณฑลยูนนาน บ้านเกิดของเจิ้งเหอ

เรือใบฟีนิกส์ หนึ่งในกิจกรรมตามรอยเส้นทางการเดินเรือของเจิ้งเหอ ที่เริ่มออกเดินทางเมื่อปีที่แล้ว โดย phoenixtv

(ซ้าย) คุณลุงช่างไม้วัย 81 ใช้เวลา 7 ปีฝากฝีมือทำกองเรือเจิ้งเหอจำลองขนาดจิ๋ว (บนกลาง) ผลงาน (ซ้าย) แสตมป์ที่ระลึกเจิ้งเหอ

เมื่อ 600 ปีก่อน จักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิงได้สืบทอดความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรจีนต่อจากราชวงศ์ถัง ด้วยวิทยาการความรู้ อารยธรรมที่สั่งสมมานับพันปี การเดินทางของเจิ้งเหอ ในเวลานั้นได้แสดงถึงแสนยานุภาพทางทะเลของจีนที่ได้ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุด ทั้งในด้านวิทยาการด้านการเดินเรือ การทูต การทหาร ตลอดจนการค้าทางทะเล ซึ่งได้เผยแพร่ไกลออกไปสู่ซีกโลกตะวันตก ภายใต้แนวทางในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ด้วยวิถีแห่งราชันย์ ไม่ใช่วิถีแห่งทรราชย์ ที่ได้มาด้วยการเข่นฆ่าและช่วงชิง...ยึดครองดินแดนผู้อื่น
       
       ขบวนเรือของจีนภายใต้แม่ทัพใหญ่ผู้ทรงพรสวรรค์เจิ้งเหอ พร้อมด้วยเรือกว่า 200 ลำ ลูกเรือไม่ต่ำกว่า 27,000 คน ได้ยาตรารอบโลกถึง 7 ครั้ง โดยเริ่มลงทะเลครั้งแรกเมื่อปีค.ศ.1405 ผลกระทบที่น่าสนใจของการเดินทางของเจิ้งเหอ ที่ใกล้ตัวชาวไทยได้แก่ การท่องสมุทรครั้งที่สอง ได้มีส่วนในการปรับเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองภายในของกรุงศรีอยุธยาครั้งสำคัญ นอกจากนี้ ยังได้ทิ้งปริศนาที่ยิ่งใหญ่แก่โลก ได้แก่ ขบวนเรืออันมโหฬารของเจิ้งเหอนั้น ได้พบกับทวีปอเมริกาก่อนที่ขบวนเรือน้อยๆของโคลัมบัสพบดินแดนใหม่นี้ในปี 1492 หรือไม่ ตามทฤษฎีของนาย กาวิน เมนซีส์ สำหรับประเด็นถกเถียงนี้ ทางการจีนซึ่งก็ขาดหลักฐานใดๆในการพิสูจน์เรื่องนี้ กล่าวเพียงว่า เป็นประเด็นถกเถียงทางวิชาการ
       
       ปี 2005 นี้ เป็นโอกาสครบรอบ 600 ปีรำลึกการเดินทางท่องสมุทรของกองเรือเจิ้งเหอ ทางการจีนและชนชาวจีนจากทั่วโลก ได้จัดงานกิจกรรมเฉลิมฉลองให้กับวีรกรรมการเดินเรือครั้งยิ่งใหญ่นี้ทั้งในประเทศจีนและดินแดนต่างๆอีกกว่า 20 แห่งทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา แอฟริกา ออสเตรเลีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวันและไทย เป็นต้น งานกิจกรรมที่จัดขึ้น ได้แก่ นิทรรศการ เสวนา กิจกรรมรำลึกและการเดินทางย้อนรอยเส้นทางการเดินเรือของเจิ้งเหอ เป็นต้น

       
       เจิ้งเหอเป็นบุคคลที่ได้รับการกล่าวขานถึงตำนานชีวิตที่พลิกผันอย่างพิสดารคนหนึ่ง จากเด็กน้อยจากครอบครัวชาวมุสลิมที่ต้องกลายมาเป็นขันทีน้อย คอยติดตามรับใช้ ไปกับกองทัพหมิง 20 ปีต่อมากลับได้รับมอบหมายให้เป็นแม่ทัพบัญชาการกองเรือรบนับร้อยลำออกเดินทางท่องสมุทรถึง 7 ครั้งไปยังดินแดนห่างไกลนับหมื่นลี้ ใช้ชีวิตที่เหลือในอีก 28 ปีให้หลังสร้างประวัติศาสตร์การเดินเรือครั้งยิ่งใหญ่ให้กับชนชาติจีนและชาวโลก
       

       ชีวิตและครอบครัว
       เจิ้งเหอ (郑和)(ค.ศ. 1371 – 1433) เดิมแซ่หม่า(马)(มาจากภาษาอาหรับว่า Muhammad) ชื่อ เหอ และมีชื่อรองว่า ซันเป่า (ภาษาอาหรับคือ Abdul Subbar) ถือกำเนิดที่เมืองคุนหยางมณฑลหยุนหนันหรือยูนนานทางตอนใต้ของประเทศจีน ครอบครัวเป็นชาวมุสลิม ปู่และพ่อของเจิ้งเหอเคยเดินทางไปยังนครเมกกะ เพื่อร่วมพิธีฮัจญ์ พ่อของเจิ้งเหอจึงได้รับการเรียกขานด้วยความเคารพว่า หม่าฮาจือ หรือ “ฮัจญี” แม่ของเจิ้งเหอแซ่เวิน(温) เจิ้งเหอมีพี่ชายชื่อหม่าเหวินหมิง กับพี่สาวอีกสองคน ครอบครัวของเจิ้งเหอเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไปในละแวกนั้น
       
       ต่อเมื่อปี 1381 จูหยวนจางหรือหมิงไท่จู่ (ปีศักราชหงอู่)* ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิง ยกทัพมากวาดล้างกองกำลังของมองโกลแห่งราชวงศ์หยวนที่ยังปักหลักอยู่ในแถบหยุนหนัน ท่ามกลางความวุ่นวายของสงคราม เจิ้งเหอที่ขณะนั้นมีวัยเพียง 11 ปี ตกเป็นเชลยศึกของกองทัพหมิง ถูกตอนเป็นขันที หรือที่เรียกว่าซิ่วถง(秀童)ให้ทำงานรับใช้ในกองทัพ
       
       หลังจากสงครามสงบลง ในปี 1385 เจิ้งเหอติดตามกองทัพหมิงขึ้นเหนือไป เข้าร่วมในสมรภูมิรบทางภาคเหนือ จวบจนอายุได้ 19 ปี จึงได้รับการคัดเลือกให้อยู่ภายใต้ร่มธงของเอี้ยนหวังจูตี้(朱棣)องค์ชายสี่แห่งราชวงศ์หมิงที่นครปักกิ่ง นับแต่นั้นเจิ้งเหอก็คอยติดตามอยู่ข้างกายของจูตี้ กลายเป็นคนสนิทที่ได้รับความไว้วางใจอย่างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างปี 1399 – 1402 เมื่อจูตี้เปิดศึกแย่งชิงบัลลังก์กับหลานชายของตน หมิงฮุ่ยตี้ (明惠帝)(ปีศักราชเจี้ยนเหวิน) ที่สืบราชบัลลังก์ต่อจากจูหยวนจาง โดยเจิ้งเหอได้สร้างความดีความชอบในศึกครั้งนี้ไว้อย่างมาก ช่วยให้จูตี้ได้ก้าวขึ้นสู่บัลลังก์มังกรเป็นจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ (明成祖) (ปีศักราชหย่งเล่อ) ในที่สุด เจิ้งเหอได้รับการเลื่อนฐานะขึ้นเป็นหัวหน้าขันที และในปี 1404 จูตี้พระราชทานแซ่ “เจิ้ง” (郑)จึงกลายมาเป็น “เจิ้งเหอ” หรือที่รู้จักกันในนามของ ซันเป่ากง หรือซำปอกง (三宝公)
       
       เจิ้งเหอเป็นขันที จึงไม่มีบุตรหลานเป็นของตนเอง ดังนั้นพี่ชายของเขาจึงยกบุตรชายของตนให้ใช้แซ่เจิ้ง เพื่อเป็นผู้สืบทอดของเจิ้งเหอ ปัจจุบันมีทายาทหลายสาย ได้แก่ ที่หนันจิง ซูโจว หยุนหนัน และที่เชียงใหม่ประเทศไทย
       
       * จูหยวนจาง(朱元璋)เป็นชื่อก่อนขึ้นครองราชย์ หมิงไท่จู่(明太祖)เป็นพระนามอย่างเป็นทางการ ส่วนหงอู่(洪武)เป็นปีศักราชที่ใช้ในรัชสมัยนี้ เช่นเดียวกับเจี้ยนเหวิน(建文)และหย่งเล่อ(永乐)ล้วนเป็นปีศักราชของหมิงฮุ่ยตี้(明惠帝)และหมิงเฉิงจู่(明成祖)ตามลำดับ
       
       ภูมิหลังทางการเมือง
       
จูหยวนจาง สถาปนาราชวงศ์หมิง ขึ้นในปี 1368 ขับไล่กองทัพมองโกลออกจากประเทศจีนได้เป็นผลสำเร็จ ปี 1392 จูเพียวโอรสองค์โตสิ้น จูหยวนจางจึงตั้งจูหยุนเหวิน(朱允文)บุตรชายของจูเพียวที่มีวัยเพียง 14 ปีขึ้นเป็นรัชทายาทแทน และเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับราชบัลลังก์สืบต่อไป ปลายรัชกาลจูหยวนจางได้ดำเนินการปราบปรามผู้ที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้สืบทอดราชบัลลังก์ในอนาคต โดยการกวาดล้างผู้ต้องสงสัยทั้งหลาย ทั้งที่เป็นเชื้อพระวงศ์และขุนนางแม่ทัพคนสนิทที่ไม่เห็นด้วย ต่อเมื่อจูหยุนเหวินขึ้นครองราชย์ เป็นหมิงฮุ่ยตี้ (明惠帝)บ้านเมืองตกอยู่ในบรรยากาศอึมครึมทางการเมืองและเต็มไปด้วยความหวาดระแวงไปทั่ว โดยพระองค์ยังคงดำเนินการลิดรอนอำนาจของเหล่าเชื้อพระวงศ์อาวุโสที่เห็นว่าอาจส่งผลบีบคั้นต่อราชบัลลังก์ต่อไป
       
       แต่แล้วเจ้าเอี้ยนหวังจูตี้(朱棣)ที่มีฐานที่มั่นกล้าแข็งในเป่ยผิง (ปัจจุบันคือปักกิ่ง) ยกกองกำลังบุกลงใต้ เข้ายึดเมืองหนันจิงหรือนานกิงไว้ได้ในปี 1402 เมื่อเข้าถึงพระราชวัง เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่เผาผลาญพระราชวังชั้นใน แต่ไม่พบพระศพของหมิงฮุ่ยตี้ จึงเป็นที่โจษจันกันว่าพระองค์ยังคงมีชีวิตรอดอยู่ และได้ปลอมเป็นพระภิกษุหลบหนีออกจากนครหลวงสู่ทะเลจีนใต้ อันเป็นที่มาของเสียงเล่าลือว่า จุดมุ่งหมายสำคัญในการเดินทางของเจิ้งเหอ แฝงนัยสำคัญทางการเมืองนี้อยู่ด้วย
       
       อย่างไรก็ตาม การที่เจิ้งเหอได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บัญชาการคุมกองเรือขนาดใหญ่นี้ ทั้งที่ในเวลานั้น ขันทีมีสถานภาพที่ต่ำต้อยในสังคมนั้น ได้มีผู้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้มากมาย แต่ที่น่าเชื่อถือก็ได้แก่ การที่เจิ้งเหอเป็นบุคคลที่จูตี้ให้ความไว้วางใจอย่างสูง ทั้งจากการที่เป็นขันทีคนสนิทมาแต่เก่าก่อน และเนื่องมาจากความดีความชอบในการบุกเมืองหนันจิง หนุนให้จูตี้ขึ้นสู่บัลลังก์มังกรได้สำเร็จ นอกจากนี้ เป้าหมายในการเดินทางสู่ดินแดนต่างชาติต่างศาสนานั้น คุณสมบัติหนึ่งที่สำคัญในการติดต่อสัมพันธ์กับคนในท้องถิ่นนั้นก็คือ ศาสนา ซึ่งหากพิจารณาจากพื้นฐานครอบครัวของเจิ้งเหอที่เป็นชาวมุสลิม (ทั้งพ่อกับปู่เคยเดินทางไปเมกกะมาแล้ว) และเจิ้งเหอเองก็นับถือพุทธ ที่สำคัญคือต้องมีความรู้ความสามารถในการนำทัพเดินทางไกล ซึ่งเจิ้งเหอก็ได้พิสูจน์ความสามารถในการนำทัพมาแล้ว
       
       เป้าหมายในการเดินทาง
       การเดินทางของเจิ้งเหอเป็นภารกิจระดับชาติ ดังนั้นการที่ราชสำนักหมิงส่งเจิ้งเหอพร้อมกับขบวนเรืออันมโหฬารออกเดินทางไปในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ย่อมต้องมีนัยสำคัญของชาติ แม้ว่าสาเหตุที่แท้จริงอันเป็นที่มาของตำนานการเดินทางอันยาวนานของเจิ้งเหอยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่จากการศึกษาค้นคว้าในปัจจุบัน ได้มีผู้เสนอแนวคิดหลักเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายของการเดินทางไว้ดังนี้
       
       1. คลี่คลายปัญหาในการสืบราชบัลลังก์ การค้นหาร่องรอยของอดีตจักรพรรดิหมิงฮุ่ยตี้ ก็เพื่อสร้างความมั่นใจและมั่นคงแก่ราชบัลลังก์ของจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ (หย่งเล่อ)
       2. ประโยชน์ทางการเมือง การเดินทางของเจิ้งเหอมีภารกิจในการผลักดันให้เกิดความสงบมั่นคงในดินแดนรอบข้างทางตอนใต้ ทั้งนี้ก็เพื่อผ่อนคลายแรงกดดันจากภัยคุกคามทางภาคเหนือ (มองโกล) ให้กับราชสำนักจีน (เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว ดินแดนในเขตเอเชียอาคเนย์กำลังเกิดความตึงเครียดอันเนื่องมาจากการแย่งชิงอำนาจระหว่างกลุ่มชวา สยาม (อยุธยา+ ละโว้) และมะละกา)
       
       3. ประโยชน์ทางการทูต เพื่อประกาศความยิ่งใหญ่ของจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ไปยังเขตแคว้นต่างๆ สร้างกระแสภาพลักษณ์แห่งความเป็นมหาอำนาจที่เข้มแข็งให้กับจีน
       
       4. บุกเบิกกิจการค้าทางทะเล ที่ให้ผลกำไรอย่างงดงาม โดยสินค้าที่นำไปค้าขายแลกเปลี่ยน ได้แก่ แพรไหม ผ้าปักอันงดงาม เครื่องเคลือบกังไส ใบชา เครื่องทอง สัมฤทธิ์ และน้ำมันพืชสมุนไพรต่างๆ เป็นต้น
       
       ขบวนเรือของเจิ้งเหอ (2)
       การเดินทางของเจิ้งเหอ (3)
       
       เรียบเรียงจาก
       http://jczs.sina.com.cn/
       http://www.lsfyw.net/
       http://www.southcn.com/

ข่าวล่าสุด ในหมวด
จีนส่งไม้ผลัด "อุปรากรจีน" สู่มือคลื่นลูกใหม่
ยลสุดยอดสมบัติจากเมืองโบราณจีน
“รวมญาติ” สมบัติพระราชวังต้องห้าม
แฮปปี้ “หนิว” เยียร์ / อู่วัฒนธรรม
ให้ร่างกายสื่อภาษา / อู่วัฒนธรรม
ขบวนเรือของเจิ้งเหอ (2)
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์25 พฤษภาคม 2548 18:18 น.


คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
เจิ้งเหอกับเรือมหาสมบัติ

เรือมหาสมบัติ

เรือบรรทุกม้า

เรือกำลังพล

เรือเสบียง

เรือรบ

เรือบรรทุกน้ำ

เรือกรรเชียง

แผนที่ดาราศาสตร์ประกอบเส้นทางเดินเรือของเจิ้งเหอ

ภาพแผนที่การเดินเรือของเจิ้งเหอ

“ในยุคสมัยที่ยังไม่มีเทคโนโลยีโทรคมนาคมและเครื่องไม้เครื่องมือเช่นในยุคปัจจุบัน บนท้องทะเลอันกว้างใหญ่ ด้วยจำนวนคนและกองเรือขนาดมโหฬารนี้ พวกเขาสามารถฟันฝ่าคลื่นลมพายุกลับมาโดยปลอดภัยทุกครั้งได้อย่างไร ? คำตอบอยู่ที่ภูมิปัญญาในการจัดระเบียบการติดต่อสื่อสารระหว่างเรือแต่ละลำ”
       

       ขบวนเรือที่มีเจิ้งเหอเป็นผู้บัญชาการสูงสุดนี้ จัดรูปแบบตามกองเรือรบ มีขนาดใหญ่โตมโหฬาร ในสมัยนั้น กล่าวได้ว่า เป็นการแสดงแสนยานุภาพทางทะเลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคหรือของโลกทีเดียว กล่าวคือ ทั้งขบวนเรือ (อาทิ เรือ ข้าวของเครื่องใช้ อาวุธยุทโธปกรณ์) บุคคลากรและการจัดการ อีกทั้งวิทยาการของจีนในช่วงเวลาดังกล่าว ยังถือเป็นวิทยาการระดับแนวหน้าของแผ่นดินในยุคนั้นอีกด้วย
       
       ขบวนเรือ
       กิจกรรมในการท่องสมุทรย่อมไม่อาจขาดเรือได้ จากบันทึกการเดินทางของเจิ้งเหอและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่รวบรวมได้ พบว่าขบวนเรือของเจิ้งเหออย่างน้อยประกอบด้วยเรือ 7 ชนิด ได้แก่ เรือมหาสมบัติหรือเรือใหญ่(宝船) เรือบรรทุกม้า(马船) เรือรบ(战船) เรือกำลังพล (座船)เรือเสบียง(粮船) เรือบรรทุกน้ำ(水船) เป็นต้น
       
       เรือมหาสมบัติ หรือเรือใหญ่เป็นเรือบัญชาการ และใช้บรรทุกทรัพย์สินมีค่าต่างๆ เรือบรรทุกม้า เป็นเรือสำรองยามฉุกเฉิน บรรทุกเครื่องบรรณาการและสินค้าจากนานาประเทศ สามารถใช้ในการรบเมื่อถึงคราวจำเป็น เรือรบ ใช้ในการรักษาความปลอดภัยของขบวนเรือ มีขนาดเล็กเพรียว มีความคล่องตัวสูง ประกอบด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ (อาวุธปืนไฟของจีน ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นตั้งแต่สมัยปลายราชวงศ์ซ่ง) และทหารประจำการณ์ เรือกำลังพล เป็นหน่วยป้องกันการปล้นสะดมหรือโจมตีโดยโจรสลัด พร้อมสำหรับการต่อสู้แบบสะเทินน้ำสะเทินบก เรือเสบียง และ เรือน้ำ บรรทุกเสบียงอาหารและน้ำจืด ซึ่งการเดินเรือในสมัยนั้น ยังไม่เคยมีการจัดเตรียมเรือน้ำเป็นการเฉพาะมาก่อน
       
       ลูกเรือ
       การเดินทางแต่ละครั้งของเจิ้งเหอ ใช้เรือมากกว่า 200 ลำ มีลูกเรือที่ร่วมเดินทางในแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 27,000 คน ประกอบด้วยผู้ที่ทำหน้าที่ด้านต่างๆมากมาย อาทิ ขุนนาง ทหาร เจ้าหน้าที่พิธีทางการทูต พ่อค้า ช่างฝีมือ แพทย์ ล่าม นักสอนในศาสนาอิสลาม และพระภิกษุในพุทธศาสนา เป็นต้น มีการจัดแบ่งกองกำลังออกเป็น 5 หน่วย หน่วยละ 5,000 – 5,500 คน ตามหน้าที่ภารกิจในกองเรือ ได้แก่ กองบัญชาการ กองปฏิบัติการเดินเรือ กองการค้าและการระหว่างประเทศ กองเสบียง และกองกำลังป้องกัน
       
       กองบัญชาการ รับหน้าที่ในการวางแผนและกำหนดทิศทางการเดินเรือ ตลอดจนนโยบายด้านการทูต การค้าและการศึกสงครามทั้งหมด นำโดยเจิ้งเหอ กองปฏิบัติการเดินเรือ มีหน้าที่ในการเดินเรือ ซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย การพยากรณ์อากาศ เป็นต้น กองการค้าและการทูต ดูแลด้านพิธีการการทูต ล่าม และการติดต่อค้าขายกับต่างแดน กองเสบียง จัดการสนับสนุนด้านเสบียง ยุทโธปกรณ์และอำนวยความสะดวกทั่วไป รวมถึงหน่วยแพทย์ที่คอยดูแลสุขภาพให้กับลูกเรือ เป็นต้น ส่วนกองกำลังป้องกัน ทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยทั่วไปของขบวนเรือ
       
       เมื่อเทียบกับกองเรือจากตะวันตกที่ออกสำรวจโลกทางทะเลในภายหลัง นำโดย คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส(Christopher Columbus) ค้นพบทวีปอเมริกาในปี 1492 มีจำนวนลูกเรือเพียง 90 – 1,500 คน วาสโก ดา กามา(Vasco da Gama) เข้าเทียบฝั่งเมืองท่าคาลิคัทของอินเดีย ในปี 1498 มีลูกเรือ 265 คน และเฟอร์ดินัน แมคแจลลัน(Ferdinand Magallen) ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกมายังโลกตะวันออกในปี 1521 ด้วยลูกเรือจำนวน 170 คนเท่านั้น
       
       ปัจจัยแห่งความสำเร็จกับภูมิความรู้และวิทยาการ
       ในเวลานั้น กองเรือของเจิ้งเหอที่มีเพียงเรือไม้ อาศัยคลื่นลมทะเลตามธรรมชาติ ออกสู่ท้องทะเลกว้าง ไม่เพียงต้องอาศัยวิทยาการทางด้านการเดินเรือ การต่อเรือ ประสบการณ์ ภูมิความรู้สติปัญญา และยังต้องมีความกล้าหาญและจิตใจที่รักการผจญภัยอย่างมากทีเดียว
       
       วิทยาการที่ใช้ในการเดินเรือในยุคนั้น ที่สำคัญได้แก่ ความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ในการคำนวณหาตำแหน่งดวงดาวบนท้องฟ้า ที่ตั้งของกองเรือและกำหนดทิศทางการเดินเรือ ความรู้เกี่ยวกับท้องทะเล เพื่อช่วยในการพยากรณ์ลมฟ้าอากาศ ผสมผสานกับการใช้เครื่องมือต่างๆ อาทิ เข็มทิศ มาตรวัด เครื่องวัดระดับน้ำ เป็นต้น
       
       อย่างไรก็ตาม ในยุคสมัยที่ยังไม่มีเทคโนโลยีโทรคมนาคมและเครื่องไม้เครื่องมือเช่นในยุคปัจจุบัน บนท้องทะเลอันกว้างใหญ่ ด้วยจำนวนคนและกองเรือขนาดมโหฬารนี้ พวกเขาสามารถฟันฝ่าคลื่นลมพายุกลับมาโดยปลอดภัยทุกครั้งได้อย่างไร ? คำตอบอยู่ที่ภูมิปัญญาในการจัดระเบียบการติดต่อสื่อสารระหว่างเรือแต่ละลำ ซึ่งมีเพียง เรือเร็ว สัญญาณจากธง เสียงและแสง เป็นต้น โดยในเวลากลางวัน เรือแต่ละลำจะแขวนธงสัญญาณสีสันต่างกัน เพื่อบ่งบอกทิศทางและภารกิจของตน ขณะที่ยามค่ำคืนก็ใช้สัญญาณจากโคมไฟ เมื่อมีลมฝนหรือหมอกหนา คอยบดบังทัศนะวิสัย ก็ใช้การเคาะเกราะ สัญญาณระฆัง หรือสัญญาณจากแตรสังข์ ฯลฯ การบัญชากองเรือในรูปแบบของการจัดทัพนี้ ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของความสำเร็จในการเดินทางไกลของเจิ้งเหอ
       
       อนึ่ง ภาพแผนที่การเดินเรือของเจิ้งเหอ ปัจจุบันถือเป็นแผนที่การเดินเรือที่เก่าแก่ที่สุดในโลก จัดทำขึ้นในราวปีค.ศ. 1425 – 1430 ภายหลังการเดินทางครั้งที่ 6 ของเจิ้งเหอ (เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว จักรพรรดิหมิงเซวียนจงมีดำริที่จะรื้อฟื้นกองเรือให้ออกเดินทางอีกครั้งหลังจากต้องชะงักงันไปในช่วงก่อนหน้านี้ จึงได้มีการรวบรวมจัดทำแผนที่การเดินทางที่ผ่านมาขึ้น) ต้นฉบับเดิมเป็นม้วนภาพยาว ภายหลังได้มีการจัดพิมพ์เป็นเล่ม โดยแบ่งเป็น 20 แผ่น 40 หน้ากระดาษ จดบันทึกรายชื่อเมืองท่าชายฝั่งทะเลไว้กว่า 300 แห่ง แผนที่ดังกล่าวแสดงจุดเริ่มการเดินทางตั้งแต่เมืองหนันจิง จนกระทั่งถึงปลายทางที่เมืองมอมบาซา เมืองชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา แผนที่แสดงตำแหน่งของเมือง กระแสน้ำในแต่ละฤดูกาลทิศทางตำแหน่งดวงดาว สภาพเกาะแก่งและร่องน้ำในการเดินทางไว้อย่างชัดเจน
       
       เจิ้งเหอ (1)
       การเดินทางของเจิ้งเหอ (3)
       
       เรียบเรียงจาก
       
http://jczs.sina.com.cn/
       http://www.lsfyw.net/
       http://www.southcn.com/

ข่าวล่าสุด ในหมวด
จีนส่งไม้ผลัด "อุปรากรจีน" สู่มือคลื่นลูกใหม่
ยลสุดยอดสมบัติจากเมืองโบราณจีน
“รวมญาติ” สมบัติพระราชวังต้องห้าม
แฮปปี้ “หนิว” เยียร์ / อู่วัฒนธรรม
ให้ร่างกายสื่อภาษา / อู่วัฒนธรรม

อ้างอิง

http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9480000065910

 

http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9480000065985

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้60
mod_vvisit_counterเมื่อวาน2264
mod_vvisit_counterทั้งหมด10734281