Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
ตามพรลิงค์ PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อาทิตย์, 30 สิงหาคม 2009
Tambralinga
นานาสาระเกี่ยวกับท่องเที่ยว ประวตัศาสตร์ วัฒนธรรม การเดินทาง จากหลากหลายมุมของนักวิชาการทั้งไทยและเทศ
02 มกราคม 2551

ต้นกำเนิดตามพรลิงค์

นงคราญ สุขสม

 

คำว่า “ตามพรลิงค์”  ปรากฏอย่างชัดเจนที่สุดในศิลาจารึกหลักที่  24  พบที่วัดเวียง   อำเภอไชยา  จังหวัดสุราษฎร์ธานี   จารึกด้วยอักษรขอม   ภาษาสันสกฤต  ปรากฏคำว่า  “ ตามพรลิงเคศวระ ”    กับ  “ ตามพรลิงเคศวร ”   มีทั้งสิ้น   2  คำ   และมีความหมายเดียวกันคือเป็นชื่อสถานที่หมายถึงเมือง   เพราะในรูปประโยคแปลได้ความว่า  “พระเจ้าผู้ครองเมืองตามพรลิงค์”  หรือ  “พระผู้เป็นใหญ่ในตามพรลิงค์” พระผู้เป็นใหญ่ในเมืองตามพรลิงค์ในจารึกหลักที่  24  มีพระนามว่า  พระเจ้าจันทรภาณุ  ทรงเป็นพระธรรมราชาผู้ทรงศิริ   มีราชนิติเทียบเท่าพระเจ้าธรรมาโศก   ทรงเป็นผู้ใหญ่ยิ่งเหนือราชวงศ์ทั้งหมด   ทรงปกครองปัทมวงศ์    ทรงพระราชสมภพเพื่อยังประชาชนที่ถูกชนชาติต่ำปกครองมาแล้วให้สว่างรุ่งเรือง   เป็นบุญของมนุษย์ที่มีพระราชาองค์นี้   ในจารึกระบุปีศักราชตรงกับ พ.ศ. 1773
ชื่อเมืองตามพรลิงค์นี้ไปพ้องกับชื่อ  ตันหม่าหลิง  ในหนังสือจูฟานฉี   ของนายด่านศุลกากรชาวจีนชื่อ เจาจูกัว    เขียนเมื่อ พ.ศ. 1768  ดังนั้นชื่อตันหม่าหลิง  จึงน่าจะมาจากเมืองตามพรลิงค์ค่อนข้างแน่นอน   แต่ชื่ออื่นๆในภาษาจีนก่อนหน้านี้  ได้แก่  เต็งหลิวเหมย   ตันเหมยหลิว   และจูเหมยหลิว  ยังไม่อาจสรุปได้ชัดว่าเป็นชื่อเดียวกับตามพรลิงค์หรือไม่     เพราะในรายละเอียดการบรรยายสภาพบ้านเมือง   สามารถตีความได้หลากหลายโดยอาจเป็นเมืองอื่นๆบริเวณรอบอ่าวไทยแถบจังหวัดราชบุรีก็ได้   เพราะมีการกล่าวถึงภูเขาที่เป็นสัญลักษณ์ในพุทธศาสนา  ซึ่งที่จังหวัดราชบุรีมีถ้ำต่างๆที่แกะสลักพระพุทธรูปศิลปะทวารวดีติดผนังถ้ำ   เช่น  ถ้ำในเทือกเขางู   เป็นหลักฐานที่แสดงถึงความเป็นบ้านเมืองที่นับถือพุทธศาสนาตามที่ปรากฏในบันทึกของจีน    จึงมีนักวิชาการท่านอื่นๆตีความว่า   เต็งหลิวเหมย  อาจเป็นบ้านเมืองในภาคกลางก็ได้   ไม่เฉพาะเจาะจงว่าเต็งหลิวเหมยจะเป็นชื่อเดียวกับตันหม่าหลิง


                                ในหนังสือประวัติศาสตร์เมืองนครศรีธรรมราชหลายเล่ม   โยงใยคำว่าตามพรลิงค์กับชื่อสถานที่ที่ปรากฏในคัมภีร์มหานิทเทศ  ติสสเมตเตยยสูตร   ซึ่งเป็นวรรณคดีอินเดียโบราณ   แต่งด้วยภาษาบาลี   เข้าใจว่าน่าจะเขียนขึ้นราวพุทธศตวรรษที่  8   กล่าวถึงการเดินทางของนักเผชิญโชคเพื่อแสวงหาโชคลาภ  ความร่ำรวยในดินแดนต่างๆ   ชื่อเมืองที่ปรากฏในคัมภีร์มหานิทเทศน่าจะเป็นเมืองท่าในภูมิภาคต่างๆที่อยู่บนเส้นทางการค้าและการเดินเรือ  ได้แก่  เมืองท่าในอินเดีย   เมืองอเล็กซานเดรียในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน   ศรีลังกา   พม่า   ชวา  และคาบสมุทรมลายู    ในจำนวนเมืองท่าเหล่านี้มีอยู่เมืองหนึ่งชื่อ  “กะมะลิงหรือตมะลิง”   บ้างก็ออกเสียงเป็น  “ กมะลีหรือตมะลี” (Tamali)

                                เมืองท่ากะมะลิงหรือตมะลิงนี้   นักปราชญ์ทางโบราณคดีเคยเสนอว่า  ถ้านำคำว่า  “ ตมะลิง ”  ไปบวกกับคำว่า  “ คม ”   จะกลายเป็น “ ตมลิงคม ”  หรือ “ ตมพลิงคม ”   ซึ่งต่อมามีผู้นำชื่อ  “ ตมพลิงคม ”  ไปอ้างต่อว่าเป็นหลักฐานชั้นต้นที่ปรากฏในคัมภีร์มหานิทเทศ  จึงมีผู้ตีความต่อๆกันมาเป็นลูกโซ่ว่า  ชื่อเมืองตมพลิงคม   อันหมายถึงเมืองตามพรลิงค์นั้นมีมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่  8

                                การตีความดังกล่าวนี้แม้ว่าพอจะมีเค้าอยู่บ้าง  แต่ก็มิได้หมายความว่าเมืองท่ากะมะลิงเป็นเมืองที่มีอำนาจปกครองเมืองอื่นๆเหมือนกับเมืองตามพรลิงค์ในจารึกพระเจ้าจันทรภาณุ   เมื่อพุทธศตวรรษที่  18   ข้าพเจ้าอยากให้นักศึกษาประวัติศาสตร์มองบ้านเมืองในภูมิภาคนี้เชิงวิวัฒนาการ  โดยระมัดระวังที่จะไม่ใช้คำว่า  อาณาจักร ( Kingdom ) ในกรอบความคิดของนักวิชาการชาวตะวันตกเป็นเกณฑ์  เช่น  การกล่าวถึงขอบเขตของอาณาจักร  หรือการกล่าวถึงอาณาจักรในยุคต้นจนถึงยุคอวสานของอาณาจักร  เป็นต้น   เพราะสภาพการเมือง  การปกครองของเมืองโบราณในภูมิภาคนี้มีลักษณะเป็นแว่นแคว้นน้อยใหญ่ที่มีอิสระในการปกครองตนเอง   เมืองๆหนึ่งไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่ใหญ่โตมาก    โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาก่อนพุทธศตวรรษที่  14     หากพิจารณาโดยอาศัยหลักฐานความก้าวหน้าของการศึกษาวิชาโบราณคดีในพื้นที่คาบสมุทรภาคใต้   จะเห็นบ้านเมืองใหญ่น้อยที่ตั้งอยู่แถบอ่าวบ้านดอน   สันทรายนครศรีธรรมราช   คาบสมุทรสทิงพระ   และที่ราบลุ่มแม่น้ำปัตตานี   โดยเห็นการสถาปนาอำนาจของผู้ปกครองและเห็นลักษณะความแตกต่างของวัฒนธรรมค่อนข้างหลากหลาย

                                สำหรับเมืองท่ากะมะลิงในคัมภีร์มหานิทเทศ  แม้นักประวัติศาสตร์จะสรุปตรงกันว่าอยู่ในเขตพื้นที่ของจังหวัดนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน   แต่ถ้าให้ชี้ลงไปในจุดเล็กๆบนแผนที่ว่า  เมืองกะมะลิงเมืองท่าในพุทธศตวรรษที่  8  ตั้งอยู่ที่ตำบล  อำเภอใดของนครศรีธรรมราช    ข้าพเจ้าคิดว่าหลายท่านคงเกิดอาการลังเลอยู่บ้างไม่มากก็น้อย   แต่ละท่านอาจจะชี้กันไปคนละทิศเลยก็เป็นได้

                                ก่อนที่เราจะวิเคราะห์ว่าเมืองท่ากะมะลิงอยู่ที่ไหน  เราลองมาดูความหมายของคำว่า  “ตามพรลิงค์” กันก่อน  เผื่อจะได้แนวคิด(Idea)ดีๆไปตอบโจทย์เรื่องกะมะลิง    ศาสตราจารย์แสง   มนวิทูร  ผู้เชี่ยวชาญการอ่านจารึก  (ท่านเป็นผู้อ่านจารึกหลักที่ 24   ภายหลังจากที่ศาสตราจารย์เซเดส์เคยอ่านมาก่อนแล้วครั้งหนึ่ง)อธิบายว่า   ตามพรลิงค์  คือ  ตเมพ  แปลว่า  ทองแดง   ลิงค์  คือพระอิศวรหรือสัญลักษณ์ของพระอิศวร   พอแปลความรวมกันก็มีการตีความหมายไปหลากหลาย  แต่ส่วนใหญ่ก็แปลว่า  “ลิงค์ทองแดง”     พร้อมทั้งอธิบายว่าเหตุที่เรียกว่าตามพรลิงค์   เพราะว่าศาสนาพราหมณ์เจริญรุ่งเรืองมาก   หลักฐานโบราณวัตถุ  โบราณสถานในเมืองนครศรีธรรมราชก่อนพุทธศตวรรษที่ 14-15  กว่าร้อยละ  80-90  ล้วนเป็นเรื่องของศาสนาพราหมณ์ทั้งสิ้น

                                ถ้าใช้คำว่า  “ตามพรลิงค์”  เป็นเสมือนลายแทง    ผู้วิเคราะห์ลายแทงก็ตามมาถูกทางแล้ว   เพียงแต่ยังลังเลเมื่อเข้าใกล้จุดที่เป็นกรุสมบัติ   บางท่านก็ได้เห็นกรุสมบัติแล้วแต่ยังไม่รู้สึกตัวว่าพบตามพรลิงค์    ด้วยมีเส้นผมบังภูเขาลูกเบ้อเริ่มปิดตาไว้   ปริศนาการแปลความหมายของคำว่าตามพรลิงค์ไปผูกพันอยู่กับคำว่า  ลิงค์ทองแดงมากจนเกินไป   จึงเกิดความสับสนว่าตรงไหนที่มีลิงค์ทำจากทองแดง  หรือบางท่านก็ว่ามีการนำดินสีแดงไปพอกทาศิวลึงค์ให้กลายเป็นสีแดง   บางท่านก็ตีความว่าหมายถึงแผ่นดินที่มีดินเป็นสีแดง

                                หากวิเคราะห์คำว่าตามพรลิงค์ใหม่อีกครั้ง   สิ่งที่ปรากฏในคำว่าตามพรลิงค์   ที่สำคัญคือคำว่า  “ลิงค์”  (ลิงค-Linga เป็นภาษาสันสกฤต)   ในภาษาไทยเรียกว่า  “ลึงค์”    และคนไทยก็นิยมเรียกลิงค์ของฮินดูว่า  “ศิวลึงค์”   ในประเทศอินเดียไม่นิยมเรียก  ลิงค์  ว่า  ศิวลิงค์   แต่เรียกว่า  ลิงค์  เพียงคำเดียว  ซึ่งความหมายของคำว่าลิงค์  ในทางศาสนาก็ไม่มีใครคิดว่ามันคือ  อวัยวะสืบพันธุ์ผู้ชายทั่วไป     แต่ลิงค์หมายถึงพระศิวะ   เมื่อหมายถึงพระศิวะก็ไม่จำเป็นต้องใส่ชื่อเจ้าของหรือเติมคำว่า  “ศิวะ”  นำหน้าคำว่า “ลิงค์”อีก   เพราะมีเทพเพียงองค์เดียวเท่านั้นที่ปรากฏเป็นลิงค์   ลิงค์จึงหมายถึงพระศิวะ     นายคงเดช   ประพัฒน์ทอง   นักโบราณคดีอาวุโสผู้ล่วงลับไปเมื่อ  10 กว่าปีที่แล้ว   เรียกพื้นที่ในเขตอำเภอสิชล และอำเภอท่าศาลา   อันเป็นบริเวณที่พบหลักฐานโบราณวัตถุ  โบราณสถานเนื่องในศาสนาพราหมณ์หนาแน่นที่สุดของจังหวัดนครศรีธรรมราช ว่า   “ไศวภูมิมณฑล”    แปลว่า  มณฑลสถานแห่งพระศิวะ    ข้าพเจ้าขอต่อยอดให้ว่านี่คือเมืองของพระศิวะ   หรือก็คือเมืองตามพรลิงค์นั่นเอง   ชื่อตามพรลิงค์ หรือตามพรลิงเคศวร ในระยะแรกๆอาจเป็นชื่อลิงค์ที่ได้รับการสถาปนาบนยอดเขาที่มีลักษณะเป็นศูนย์กลางของจักรวาลก็ได้

เขาคา : ศูนย์กลางจักรวาลของเมืองตามพรลิงค์


                                เมื่อฤดูร้อนปี พ.ศ. 2543  ข้าพเจ้าและนักโบราณคดีรุ่นน้องไปขุดค้นอยู่ที่เขาศรีวิชัย (หรือเขาพระนารายณ์ในชื่อเดิม)   อำเภอพุนพิน  จังหวัดสุราษฎร์ธานี     เขาศรีวิชัยเป็นภูเขาลูกโดด           ขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่  กว้างประมาณ 100 เมตร  ยาวประมาณ  650  เมตร   บนยอดเขามีเนินโบราณสถานตั้งอยู่ตลอดแนวสันเขาประมาณ  8 เนิน       ณ  ภูเขาแห่งนี้เคยพบเทวรูปพระวิษณุหรือพระนารายณ์ขนาดเท่าคนจริง  (สูงประมาณ  170 เซนติเมตร)   อยู่บนยอดเขาทางด้านทิศเหนือ   ต่อมาได้มีการนำพระนารายณ์องค์นี้ไปไว้ที่กรุงเทพฯเมื่อ  80  กว่าปีมาแล้ว   ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  พระนคร   หลังจากนั้นก็ได้พบเทวรูปพระนารายณ์อีก  3  องค์ในสภาพไม่สมบูรณ์  หลักฐานที่กล่าวมานี้ชี้ให้เห็นว่าโบราณสถานบนยอดเขาควรจะเป็นเทวสถานเพื่อบูชาพระวิษณุในศาสนาฮินดูลัทธิไวษณพนิกาย


                                ในการขุดค้นครั้งนี้สิ่งที่สร้างความตื่นตาตื่นใจที่สุดก็คือ   การค้นพบฐานหินทรงปิระมิดยอดตัด  ที่เกิดจากการนำก้อนหินขนาดใหญ่มาก่อเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ  ตั้งแต่เชิงเขาขึ้นไปในรูปฐานปิระมิดจนถึงยอดเขาก็จะปรับพื้นข้างบนให้เป็นที่ราบเรียบ   ฐานปิระมิดนี้จึงได้รับชื่อเรียกว่าฐานปิระมิดยอดตัด   ระหว่างการเรียงหินได้ถมดินลูกรัง    ก้อนหินขนาดใหญ่   หินที่ถูกทุบให้แตกเป็นก้อนเล็กๆ     ถมอัดลงไปบนภูเขาธรรมชาติที่มีระดับสูงต่ำไม่เท่ากัน   เมื่อถึงยอดเขาก็ปรับพื้นที่ให้เป็นแนวระนาบเรียบเพื่อสร้างเทวาลัยศักดิ์สิทธิ์บนยอดเขา   สิ่งก่อสร้างที่กล่าวถึงนี้เป็นการดัดแปลงภูเขาธรรมชาติให้กลายเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์   ด้วยฝีมือของแรงงานจำนวนมากที่คงมีระบบการควบคุม   จัดการและดำเนินการให้เป็นไปตามความต้องการของผู้มีอำนาจ   ถึงแม้ว่าความศรัทธาในองค์พระผู้เป็นเจ้าจะเป็นแรงผลักดันอย่างหนึ่งในการสร้างสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา   แต่ในการก่อสร้างศาสนสถานขนาดใหญ่ที่ต้องเกณฑ์แรงงานคนจำนวนมาก   น่าจะมีสิ่งที่แฝงอยู่และสิ่งนั้นก็คืออำนาจรัฐ   หรืออำนาจทางการเมืองการปกครองที่เข้ามาดำเนินการให้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งของผู้ปกครอง   ซึ่งเข้าใจว่าผู้ปกครองในยุคนี้ (ประมาณพุทธศตวรรษที่  12-14)   น่าจะยกระดับเป็นพระราชาหรือกษัตริย์มิใช่ผู้นำหมู่บ้านธรรมดาๆ


                                จากหลักฐานที่เขาศรีวิชัยเป็นกระจกสะท้อนภาพศาสนสถานบนยอดเขาในเมืองนครศรีธรรมราชที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันคือ   เขาคา   ในเขตอำเภอสิชล  ซึ่งเป็นภูเขาลูกโดด   บนยอดเขานี้มีเทวสถานเรียงรายกันหลายหลัง  ที่น่าสนใจที่สุด  คือโบราณสถานที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือสุดของเขาคา   สภาพปัจจุบันค่อนข้างรก   ยังมิได้ขุดแต่งศึกษารูปแบบสถาปัตยกรรม   จึงยังมิได้พัฒนาแต่อย่างใด   อีกทั้งตำแหน่งที่ตั้งของโบราณสถานอยู่บริเวณยอดเขาคนละเนินกับโบราณสถานก่ออิฐทางยอดเนินด้านทิศใต้   จึงทำให้เป็นที่ลับตา   คนทั่วไปที่ไปเยี่ยมชมเขาคาจึงเดินทางไปไม่ถึง


                                สิ่งที่สะดุดตาที่สุดของเนินโบราณสถานทางทิศเหนือคือ  มีโขดหินธรรมชาติแท่งใหญ่โผล่พ้นดินขึ้นมาในมุมเอียงประมาณ  70 –80  องศา    สูงประมาณ  2  เมตรเศษ   ก้อนหินนี้มีร่องรอยการกะเทาะที่ขอบส่วนบนให้มีลักษณะคล้ายเส้นเอ็นของส่วนหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย  เรียกว่าเส้นพรหมสูตร  ซึ่งจะสลักเป็นเส้นดิ่งบนส่วนหน้าแล้วลากลงมาทางซ้ายและขวา ลากไปพบกันด้านหลังเรียกว่า  เส้นปารศวสูตร   แม้ว่าแท่งหินธรรมชาติแท่งนี้จะมีเส้นลักษณะของพรหมสูตรและปารศวสูตรไม่ชัดเจนเหมือนส่วนสำคัญของมานุษลึงค์ (ลึงค์ที่มนุษย์สร้างขึ้น)   แต่องค์ประกอบอื่นๆที่ประกอบกันเป็นศาสนสถานบ่งชี้ว่าแท่งหินนี้มิใช่แท่งหินธรรมดาๆ  แต่เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระศิวะ


                                องค์ประกอบที่กล่าวถึงนี้  ได้แก่  แนวหินที่ก่อเรียงซ้อนกัน  3  แถวในลักษณะยกเป็นแท่นภายในถมดินแล้วปรับด้านบนให้เรียบ   อยู่ในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด  14.20 x 16  เมตร   ก่อล้อมแท่งหินที่น่าจะเป็นศิวลึงค์ไว้ตรงกลาง   ถัดจากแนวแท่นหินออกไปด้านนอกมีลักษณะสิ่งก่อสร้างที่เกิดจากการนำก้อนหินมาก่อเรียงกันเป็นแนวเขตคล้ายกำแพงแก้วเพื่อกำหนดขอบเขตศาสนสถาน   มีผังเกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส   กว้าง-ยาวประมาณด้านละ  34.50  เมตร   แนวหินขอบนอกที่ครั้งแรกข้าพเจ้าเข้าใจว่าเป็นกำแพงแก้วนี้ก็พบที่โบราณสถานบนยอดเขาศรีวิชัย   แต่เมื่อดำเนินการขุดค้น  ขุดแต่งโบราณสถานแล้วจึงพบว่าสิ่งนี้คือ  ฐานหินทรงปิระมิดยอดตัด   ไม่ใช่กำแพงแก้วที่ก่อล้อมเพื่อกำหนดเขตโบราณสถาน    เพราะฉะนั้นแนวฐานหินที่เขาคาก็น่าจะสร้างด้วยเทคนิคเดียวกันกับโบราณสถานที่เขาศรีวิชัย   คือมีการนำก้อนหินขนาดใหญ่ก่อเรียงมาจากเชิงเขาในรูปทรงของฐานปิระมิด  เมื่อถึงยอดเขาก็ปรับพื้นที่ให้เรียบโดยการถมอัดปรับพื้นและปรับระดับแล้วก่อสร้างเทวสถานบนยอดเขา   ดังนั้นแท่งหินธรรมชาติที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่บนฐานหินนี้จะต้องเป็นสัญลักษณ์สูงสุดทางศาสนา    ซึ่งจะเป็นอะไรอย่างอื่นไปไม่ได้นอกเสียจาก  “ศิวลึงค์”


                                บางท่านเรียกศิวลึงค์ที่โบราณสถานแห่งนี้ว่า  “ลิงคบรรพต”         อาจารย์ก่องแก้ว   วีระประจักษ์  ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านภาษาโบราณ  กรมศิลปากร ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับการอธิบายว่าสิ่งใดคือลิงคบรรพตว่า   ให้ดูที่องค์ประกอบแวดล้อมของสถานที่นั้น   ถ้ามีองค์ประกอบแวดล้อมชัดเจนว่าสิ่งนั้นสร้างขึ้นหรือปรับใช้เพื่ออุทิศถวายแต่พระศิวะโดยการสถาปนาศิวลึงค์ธรรมชาติบนยอดเขา    สิ่งนั้นก็จะเป็นลิงคบรรพตคือ ภูเขาศักดิ์สิทธิ์


                                ในแคว้นปาณฑะรังคะซึ่งเป็นของพวกจามทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม   มีภูเขาลูกหนึ่งตรงปลายแหลมบนยอดภูเขาที่เด่นตรงออกมาคล้ายกับแท่งศิวลึงค์  เขาลูกนี้เห็นได้ทั้งจากที่ราบภายในและจากทะเล  โดยเฉพาะจากทะเลนั้น  เป็นสิ่งที่นักเดินเรืออาจใช้สังเกตเป็นสัญลักษณ์ของภูมิประเทศ (Land  mark)  ว่าได้เดินทางมาถึงชายฝั่งทะเลของเมืองใดแล้ว    ดูเหมือนความโดดเด่นของภูเขาที่มีเดือยคล้ายศิวลึงค์อยู่บนยอดเขานี้ได้มีผู้จดบันทึกไว้ในจดหมายเหตุจีนโบราณ  และเรียกภูเขาลูกนี้ว่าลิงคบรรพต


                                มีเขาสูงอีกลูกหนึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง  ในเขตเมืองจัมปาสัก  สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว   มีชื่อว่าภูเก้า   สูงตระหง่านอยู่เหนือที่ราบลุ่มของเมืองจัมปาสัก   บนยอดเขามีเดือยหรือแท่งหินที่ดูคล้ายลึงค์ธรรมชาติ    ตรงไหล่เขาและเชิงเขาลูกนี้เป็นที่ตั้งปราสาทขอมที่มีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (พ.ศ.1545-1593) แห่งอาณาจักรกัมพูชา   เรียกกันทั่วไปในปัจจุบันว่า  ปราสาทวัดภู   เป็นปราสาทขนาดใหญ่และสวยงามไม่แพ้เขาพระวิหาร         รองศาสตราจารย์ศรีศักร   วัลลิโภดมตีความว่าบริเวณที่เป็นเมืองจัมปาสักเดิมมีเมืองขอมรูปสี่เหลี่ยมเกือบเป็นจัตุรัสตั้งอยู่  เป็นร่องรอยของเมืองเศรษฐปุระ   และมีความเกี่ยวข้องกับบ้านเมืองในสมัยเจนละที่หลายท่านตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเมืองสำคัญของเจนละบก  ร่องรอยของเมืองเศรษฐปุระที่มีมาก่อนเมืองพระนคร  (Angkor)   ปราสาทวัดภู  และภูเก้า    ที่มีศิวลึงค์ธรรมชาตินั้นก็คือสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความนึกคิดของคนเจนละและขอมโบราณที่เกี่ยวกับการสร้างบ้านแปงเมืองที่สัมพันธ์กับภูเขาศักดิ์สิทธิ์


                                ดังนั้นแท่งหินที่โบราณสถานด้านทิศเหนือของเขาคาจึงเข้าข่าย  “ลิงคบรรพต”  เป็นการเลือกสรรชัยภูมิที่มีความเหมาะสมกับคติความเชื่อทางศาสนา  จึงเกิดบูรณาการของการสร้างบ้านแปงเมืองที่ผูกพันกับภูเขาศักดิ์สิทธิ์   โดยที่ภูเขาลูกนี้มีลึงค์ที่พระศิวะทรงประทานมาให้   เป็นลึงค์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ  เรียกว่า “สวยัมภูลึงค์”    หากสวยัมภูลึงค์เกิดการแตกหักไปต้องเอาทองหรือทองแดงไปซ่อม   จึงสันนิษฐานว่าสวยัมภูลึงค์หรือลิงคบรรพตนี้อาจเป็นที่มาของคำว่า  “ตามพรลิงค์”   และเป็นศาสนสถานแห่งแรกที่สร้างขึ้นบนเขาคา       ในลักษณะเทวสถานกลางแจ้งที่ไม่มีตัวอาคารคลุม   สร้างกลมกลืนอยู่กับธรรมชาติ   หลังจากนั้นต่อมาจึงได้มีการสร้างเทวสถานก่ออิฐเพิ่มเติมขึ้นทางยอดเนินด้านทิศใต้


                                บนเกาะชวาภาคกลางมีจารึกกล่าวถึงการประดิษฐานศิวลึงค์ที่เขาวูกีร์  เมื่อ พ.ศ.1275  โดยพระเจ้าสัญชัย   ตามคติความเชื่อที่ว่าการกระทำเช่นนั้นทำให้พระศิวะสามารถเข้ามาสู่องค์กษัตริย์และให้ความเป็นอมตะแก่พระองค์   ต่อมาที่เกาะชวาภาคตะวันออก    พระเจ้าเกียรตินครได้ประดิษฐานศิวลึงค์ไว้ในห้องกลางของจันทิสิงหัดส่าหรี  เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่  19


                                ในเขมรสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่  2  ได้ประดิษฐานลัทธิเทวราช  หมายถึงลัทธิที่ถือว่าพระราชาได้รับอำนาจจากพระศิวะผ่านพราหมณ์  และพราหมณ์จะประดิษฐานอำนาจของพระราชาที่ศิวลึงค์ซึ่งสร้างขึ้นบนภูเขาโดยสมมติว่าศิวลึงค์นั้นประดิษฐานบนยอดเขาพระสุเมรุ  ซึ่งเป็นศูนย์กลางของโลก   โดยประกอบพิธีประดิษฐานศิวลึงค์ขึ้นบนเขาพนมกุเลน (มเหนทรบรรพต)  ในพุทธศตวรรษที่  14  ด้วยคติความเชื่อนี้ศิวลึงค์จึงแพร่หลายมากในกัมพูชา


                                ในจัมปา(เวียดนาม)พบจารึกจำนวน  130  หลัก มีถึง  92  หลัก  ที่กล่าวถึงพระศิวะ  จารึกมิเซิน (พ.ศ. 1200)  กล่าวว่าพระเจ้าภัทรวรมันทรงประดิษฐานศิวลึงค์นามว่า  ภัทเรศวร  ที่เทวสถานมิเซิน  ซึ่งเป็นเทวสถานแห่งแรกของจัมปา    และเป็นประเพณีสืบต่อมาว่ากษัตริย์องค์ต่อมาต้องประดิษฐานศิวลึงค์   ซึ่งมีศิวลึงค์ที่ประดิษฐานโดยกษัตริย์จัมปาทั้งหมด  12  องค์


                                คติความเชื่อเรื่องการประดิษฐานศิวลึงค์บนยอดเขาแพร่กระจายไปทั่วอุษาคเนย์   เริ่มตั้งแต่รัฐเก่าแก่ที่สุดเช่นรัฐฟูนัน  เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่  8-11  ก็เป็นรัฐที่นับถือศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย   พระราชาแห่งฟูนันมีสมญาว่า  กษัตริย์แห่งภูเขา ( King  of  the  mountain)   ดังนั้นศิวลึงค์และภูเขาศักดิ์สิทธิ์จึงเป็นสัญลักษณ์ของการสร้างบ้านแปงเมืองและการสถาปนาอำนาจของกษัตริย์ที่อิงอยู่กับหลักความเชื่อทางศาสนา   ที่เปรียบพระราชาเป็นดั่งพระจักรพรรดิราช   พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่เหนือพระราชาอื่นๆทั้งปวงในจักรวาล   จึงได้มีพิธีกรรมสถาปนาศิวลึงค์ขึ้นบนยอดเขาที่สมมติให้เป็นเขาพระสุเมรุอันเป็นแกนกลางของจักรวาล   บ้านเมืองของพระจักรพรรดิราชพระองค์นั้นจึงเป็นดั่งศูนย์กลางของโลก   มีอำนาจสูงสุดในจักรวาล    ความเจริญรุ่งเรืองของรัฐจึงผูกพันกับการทำพิธีบูชาศิวลึงค์


                                บนยอดเขาคามีเทวสถานทั้งสิ้น  5  หลัง  เทวสถานด้านทิศเหนือที่มีสวยัมภูลึงค์เป็นเทวสถานที่ไม่มีอาคารคลุม   เข้าใจว่าเป็นเทวาลัยรุ่นแรกบนเขาคาที่ก่อสร้างโดยการดัดแปลงภูเขาธรรมชาติให้เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์  โดยนำก้อนหินมาก่อเป็นฐานโอบล้อมภูเขาในส่วนที่เป็นฐานของเทวาลัย     เพื่อประดิษฐานศิวลึงค์ธรรมชาติหรือ สวยัมภูลึงค์   เข้าใจว่าช่วงนี้เป็นยุคแรกของเมืองตามพรลิงค์น่าจะเริ่มต้นประมาณพุทธศตวรรษที่  12  เป็นอย่างช้า  กษัตริย์องค์ต่อๆมาของเมืองตามพรลิงค์คงจะสร้างเทวาลัย(วิมาน)ประจำพระองค์     โดยการประดิษฐานศิวลึงค์ที่เรียกว่า  มานุษลึงค์  คือลึงค์ที่มนุษย์สร้างขึ้นตามกฎเกณฑ์ที่บ่งบอกไว้ในอาคม   คือมานุษยลึงค์ที่สมบูรณ์แบบจะต้องประกอบด้วยส่วนต่างๆ  3  ส่วน  คือส่วนล่างสุดเป็นรูปสี่เหลี่ยมเรียกว่า   พรหมภาค   ส่วนกลางเป็นรูปแปดเหลี่ยมเรียกว่า   วิษณุภาค  และส่วนยอดเป็นรูปทรงกระบอกยอดมนเรียกว่ารุทรภาค    ศิวลึงค์นี้จะวางอยู่บนฐานที่ทำเป็นแท่นมีร่องน้ำหรือพวยยื่นออกมาทำหน้าที่รองรับน้ำสรงศิวลึงค์  แท่นฐานศิวลึงค์นี้เป็นสัญลักษณ์แทนรูปโยนิ (อวัยวะเพศหญิง)  ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเทพีตามคติการบูชาอิตถีพละในลัทธิศักติ    ซึ่งบนยอดเขาคาได้พบฐานโยนิที่สวยงามจำนวน  2  แท่นฐาน ที่โบราณสถานหมายเลข  2  และ 4        อาคารโบราณสถานหมายเลข  2  เป็นอาคารก่ออิฐขนาดใหญ่มีฐานสูง    เป็นเทวาลัยประธานที่สร้างขึ้นเพื่อการประดิษฐานศิวลึงค์   ในการขุดแต่งโบราณสถานแห่งนี้ได้พบวัตถุมงคลที่ใช้ประกอบในพิธีวางศิลาฤกษ์ (คงฝังไว้ใต้ฐานอาคาร)  เช่นเดียวกับเทวสถานในอินเดีย    พิธีวางศิลาฤกษ์หมายถึงการประกอบพิธีกรรมในการวางรากฐานของจักรวาลหรือหลักแห่งจักรวาล  วัตถุมงคลที่พบได้แก่   แผ่นทองคำรูปช้างในลักษณะช้างค้ำที่เชิงเขาพระสุเมรุ  อันหมายถึงศาสนสถานนั้นคือศูนย์กลางจักรวาลนั่นเอง    ดังนั้นผู้ที่สร้างเทวสถานบนยอดเขาคาควรจะเป็นพระมหากษัตริย์   ซึ่งเมืองๆนั้นน่าจะเป็นเมืองตามพรลิงค์มากกว่าเมืองใด     ตัวเมืองคงประกอบด้วยหมู่บ้านใหญ่น้อยที่รายล้อมรอบอยู่ในบริเวณพื้นที่ราบรอบเขาคาและพื้นที่รอบนอก  ซึ่งปัจจุบันได้พบแหล่งโบราณคดีจำนวนมากในพื้นที่ราบตั้งแต่คลองท่าเรือรี   คลองท่าควาย     คลองท่าเชี่ยว   คลองท่าทน   คลองท่าลาด   คลองหิน   คลองกลาย   คลองท่าสูง   คลองท่าพุด   ลงมาถึงคลองปากพยิง  จนเข้าเขตคลองท่าดีและคลองท่าเรือ

ตามพรลิงค์บนหาดทรายแก้ว

                                เมื่อ พ.ศ.1773  ยังปรากฏชื่อเมืองตามพรลิงค์ในจารึกหลักที่  24  ของพระเจ้าจันทรภาณุ  ศรีธรรมราช   หากนับย้อนกลับขึ้นไปถึงยุคตามพรลิงค์ที่เริ่มต้น  ณ  เขาคาเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่  12   ก็จะกินเวลาประมาณ  600  ปี    ระยะเวลายาวนานเช่นนี้น่าจะเกิดกระแสความเปลี่ยนแปลงมากมายในเมืองตามพรลิงค์  เพียงแต่เราไม่มีหลักฐานว่าสิ่งนั้นคืออะไร   ถึงกระนั้นอย่างน้อยที่สุดในช่วงพุทธศตวรรษที่  16  ก็ปรากฏหลักฐานจากภายนอกที่น่าจะมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเมืองตามพรลิงค์   นั่นคือสงครามจากโจฬะ


                                ในจารึกเมืองตันชอร์ของพระเจ้าราเชนทร์โจฬะที่  1  แห่งอินเดียใต้   กล่าวถึงการยกกองทัพของพระเจ้าราเชนทร์เข้าปล้นสดมภ์เพื่อตัดทอนอำนาจของศรีวิชัยในหมู่เกาะทะเลใต้   เมื่อปี พ.ศ. 1568  ทั้งนี้เพราะศรีวิชัยดำเนินนโยบายผูกขาดการค้าทำให้โจฬะไม่พอใจ   ความตอนหนึ่งของจารึกเมืองตันชอร์  กล่าวว่า  พระเจ้าราเชนทร์ส่งกองทัพเรือขนาดใหญ่ยึดประตูชัยที่ชื่อว่า “วิทยาธรโตรณะ”  ซึ่งอยู่ตรงประตูชัยของนครหลวงที่ชื่อ  “ศรีวิชัย”   นอกจากนี้พระเจ้าราเชนทร์ยังยกทัพเข้ายึดและปล้นสดมภ์เมืองต่างๆจำนวน  12  เมือง  ซึ่งสันนิษฐานว่าตั้งอยู่บนคาบสมุทรมลายูและเกาะสุมาตรา     1ใน 12  เมืองนี้มีชื่อเมือง “มาทมาลิงคัม”   ปรากฏอยู่ด้วย   นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าคือเมืองตามพรลิงค์  (อย่างน้อยที่สุดก็ปรากฏคำว่า “ลิงคม” ในขณะที่เมืองอื่นๆไม่มีเมืองใดลงท้ายด้วยคำนี้)    หมายความว่าชื่อตามพรลิงค์ถ้าหากมีมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่  12  ก็ยังดำรงอยู่สืบต่อมาถึงพุทธศตวรรษที่ 16  จนถึงพุทธศตวรรษที่  18      การโจมตีของโจฬะน่าจะส่งผลกระทบต่อเมืองตามพรลิงค์อย่างแน่นอน  เพียงแต่เราไม่มีหลักฐานว่ามีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน   เพียงใด  ถึงขั้นต้องย้ายเมือง(ศูนย์กลาง)หรือไม่


                                อย่างไรก็ตามเมื่อถึงสมัยของพระเจ้าจันทรภาณุผู้เป็นใหญ่ในตามพรลิงค์   เมื่อปลายพุทธศตวรรษที่  18  มีหลักฐานค่อนข้างแน่ชัดว่าเมืองตามพรลิงค์  คือเมืองที่ตั้งอยู่บนสันทรายที่เรียกว่า  หาดทรายแก้ว   และศาสนาในเมืองตามพรลิงค์ก็เปลี่ยนไปกลายเป็นพุทธศาสนาที่พระราชามีราชนิติเทียบเท่าพระเจ้าธรรมาโศกราช(แห่งอินเดีย)   พระเจ้าจันทรภาณุ  ศรีธรรมราชก็มีหลักฐานว่าเกี่ยวข้องกับทางลังกา   สอดคล้องกับหลักฐานพุทธศาสนาบนหาดทรายแก้วในช่วงพุทธศตวรรษที่  18  คือองค์พระบรมธาตุก็เป็นสถูปทรงกลมแบบลังกา   ประวัติพุทธศาสนา   รวมทั้งตำนานการอัญเชิญพระทันตธาตุก็ล้วนมาจากลังกา    เมืองตามพรลิงค์ในสมัยพระเจ้าจันทรภาณุ      หรือเมืองตามพรลิงค์ในสมัยราชวงศ์ปทุมวงศ์(ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช)ก็เป็นเมืองตามพรลิงค์ที่ได้รับอิทธิพลพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์    พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนของเมืองตามพรลิงค์   จากชื่อดั้งเดิมที่หมายถึงเมืองแห่งพระศิวะ  กลายเป็นนครศรีธรรมราชอันหมายถึงนครแห่งพระราชาผู้ทรงธรรมอันประเสริฐ

                                ชื่อที่เปลี่ยนไปนี้ปรากฏหลักฐานจากการที่เมืองอื่นๆเรียกชื่อเมืองนี้ตามพระนามของพระราชาผู้ทรงพระอิสริยยศเป็น  พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช   ตัวอย่างจากหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์   เอกสารตำนานในแคว้นล้านนา  เรียกเมืองตามพรลิงค์ว่า  “สิริธรรมนคร”  อันเป็นชื่อที่มีความหมายเดียวกับ “นครศรีธรรมราช”   และเรียกพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชว่า  “พระเจ้าสิริธรรมนคร”      ในศิลาจารึกหลักที่  1  ของพ่อขุนรามคำแหงเรียกว่า “ศรีธรรมราช”   และในเอกสารสมัยอยุธยาก็เรียกเมืองแห่งนี้ว่า  นครศรีธรรมราช   ชื่อเมืองตามพรลิงค์จึงค่อยๆสาบสูญไป    ถึงกระนั้นเมืองตามพรลิงค์ก็มิได้ถึงกาลอวสานเพียงแต่เปลี่ยนสภาพไปเป็นเมืองแห่งพระราชาผู้ทรงธรรมอันประเสริฐ   จุดเปลี่ยนของศาสนาน่าจะชี้นำถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 17  ถึงต้นพุทธศตวรรษที่   18  ที่ปรากฏราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชขึ้นในศิลาจารึกหลักที่  35  ที่ดงแม่นางเมือง  อำเภอบรรพตพิสัย  จังหวัดนครสวรรค์   เมื่อ พ.ศ. 1710    สืบต่อมาถึงการปรากฏของพระเจ้าจันทรภาณุ  ศรีธรรมราช  เมื่อ  พ.ศ. 1773

                                กล่าวโดยสรุปเมืองตามพรลิงค์น่าจะมีจุดเริ่มต้นที่การสถาปนาอำนาจรัฐ โดยพระราชาผู้นับถือศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย   โดยการประดิษฐานหรือสถาปนาศิวลึงค์บนยอดเขาในลักษณะศูนย์กลางแห่งจักรวาล  ซึ่งภูเขาแห่งนั้นปัจจุบันเรียกว่า  “เขาคา”  มีโบราณวัตถุ  โบราณสถานเนื่องในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกายจำนวนมาก และที่สำคัญคือการปรากฏของสวยัมภูลึงค์หรือลิงคบรรพต  ที่เกี่ยวข้องกับพระราชาตามแบบแผนทางคติความเชื่อของฮินดูที่เชื่อว่าพระราชารับถ่ายทอดอำนาจมาจากพระศิวะมหาเทพ   อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่มักจะเกี่ยวข้องกับการสร้างบ้านแปงเมืองที่ปรากฏในบ้านเมืองต่างๆทั่วดินแดนอุษาคเนย์     จุดเริ่มต้นของเมืองตามพรลิงค์น่าจะเริ่มขึ้นแล้วไม่หลังกว่าพุทธศตวรรษที่  12   และชื่อตามพรลิงค์ยังคงอยู่ถึงพุทธศตวรรษที่  18   ซึ่งในช่วงนี้น่าจะมีจุดหักเหทางการเมือง   รวมไปถึงการเปลี่ยนราชวงศ์มาเป็นราชวงศ์ปทุมวงศ์หรือที่รู้จักกันในนามของราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช    ที่พระราชาทรงเป็น “ศรีธรรมราช”          เมืองตามพรลิงค์จึงกลายเป็นเมืองนครศรี ธรรมราช    มีพุทธศาสนาเป็นหลักชัยของบ้านเมืองสืบต่อมาจนทุกวันนี้


                                ส่วนคำถามเรื่องกะมะลิงที่ตั้งโจทย์ไว้ข้างต้น   ข้าพเจ้าอยากตั้งข้อสังเกตว่า   เมืองกะมะลิงอาจจะใช่หรือไม่ใช่เมืองตามพรลิงค์ก็ได้   เพราะหลักฐานยังไม่ชัดจึงไม่สามารถระบุแน่นอนลงไปได้   หากแต่ข้อมูลเรื่องเมืองท่ากะมะลิงในพุทธศตวรรษที่  8  เป็นการส่งสัญญาณให้เห็นถึงกระบวนการสร้างบ้านแปงเมืองของเมืองท่าต่างๆในคาบสมุทรมลายูที่มีแรงกระตุ้นจากกิจการพาณิชย์นาวีโพ้นทะเล      ซึ่งต่อมาเมื่อมีการนำคติความเชื่อทางศาสนาเข้ามาเป็นพื้นฐานให้กับอำนาจรัฐ    เราจึงเห็นบ้านเมืองที่มีพระราชาตามแบบแผนอย่างอินเดีย      เมืองกะมะลิงจึงอาจเป็นเมืองท่าแถบคลองท่าเรือหรือเป็นเมืองท่าแถบคลองท่าทนก็มีความเป็นไปได้ทั้งสองอย่าง   แต่ภาพของเมืองตามพรลิงค์กลับปรากฏชัดในแถบอำเภอสิชลและอำเภอท่าศาลา     ส่วนเมืองพระเวียงที่ตั้งอยู่บนหาดทรายแก้วใกล้กับเมืองโบราณนครศรีธรรมราช   ซึ่งนักวิชาการหลายท่านให้ความสนใจว่าเป็นเมืองเดิมก่อนที่จะมาตั้งเมืองใหม่ที่เมืองอันมีพระบรมธาตุนั้น     ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าบนสันทรายอันเป็นที่ตั้งเมืองพระเวียงและเมืองโบราณนครศรีธรรมราช   น่าจะมีผู้คนตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยอย่างน้อยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่  5  เป็นต้นมา    เมืองพระเวียงมีลักษณะเป็นย่านการค้ามาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่  12   แต่หลักฐานด้านศาสนวัตถุที่มีอายุเก่าลงไปถึงช่วงพุทธศตวรรษที่  10-14   ยังด้อยกว่าบ้านเมืองแถบสิชล-ท่าศาลามาก     แม้เมืองพระเวียงอาจจะเคยเป็นเมืองตามพรลิงค์ในยุคสมัยหนึ่ง   แต่คงไม่ก่อนเมืองตามพรลิงค์ที่สิชล-ท่าศาลาเป็นแน่  เพราะหลักฐานแถบนี้หนาแน่นและหนักแน่นกว่ามาก    ชนิดที่นำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้เลยทีเดียว


                                ก่อนจะจบบทความนี้ก็อยากให้ท่านตั้งข้อสังเกตว่า    เมืองตามพรลิงค์ไม่น่าใช่กรุงศรีวิชัยที่ปรากฏในจารึกหลักที่  23  ที่วัดเสมาเมือง เมื่อพุทธศตวรรษที่  14       เมืองตามพรลิงค์คงไม่เปลี่ยนไปใช้ชื่อกรุงศรีวิชัย   แล้วอยู่ๆไปก็กลับมาใช้ชื่อตามพรลิงค์อีกครั้งหนึ่ง    แต่เมืองตามพรลิงค์ดำรงไว้ซึ่งนามนี้ตลอดมาจนในที่สุดเปลี่ยนชื่อเป็นนครศรีธรรมราช   ตามพระนามของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช    และเมืองบริวารของเมืองนครศรีธรรมราชก็คือเมือง  12  นักษัตร ที่ปรากฏในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช   ดังนั้นจึงไม่มีกรุงศรีวิชัย  12  นักษัตร  ซึ่งจะเขียนถึงในตอนต่อไป
                                                                                      …………………………

 บรรณานุกรม

นงคราญ   ศรีชาย ,  เขาคา : วิมานแห่งพระศิวะมหาเทพ, ประวัติศาสตร์   โบราณคดี  นครศรีธรรมราช, กรุงเทพฯ: บริษัท เอ.พี. กราฟิค  ดีไซน์ และการพิมพ์ จำกัด, 2543


                นงคราญ   ศรีชายและวรวิทย์    หัศภาค , โบราณคดีศรีวิชัย : มุมมองใหม่การศึกษาวิเคราะห์แหล่งโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน ,  นครศรีธรรมราช : โรงพิมพ์เม็ดทราย ,2543
 

ประทุม    ชุ่มเพ็งพันธุ์ , อาณาจักรตามพรลิงค์ , รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช  ครั้งที่1, วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช ,กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงสยามการพิมพ์ ,2521


ผาสุข       อินทราวุธ ,  ศิวลึงค์ : ในภาคใต้  , สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้  เล่ม 9, สถาบันทักษิณคดีศึกษา ,กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์ ,2529


ศิลปากร,กรม ,  จารึกในประเทศไทย  เล่ม 4 ,  หอสมุดแห่งชาติ  กรมศิลปากร  พิมพ์เผยแพร่ ,กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ภาพพิมพ์,2529


ศรีศักร   วัลลิโภดม , ภูเขาศักดิ์สิทธิ์กับความเป็นสากล, เมืองโบราณ , ปีที่  25  ฉบับที่  3  กรกฎาคม-กันยายน ,2542


 

Posted by : Tambralinga
เวลา : 22:58
จำนวนผู้อ่าน : 12697 คน
Url เรื่องนี้คือ : http://blog.eduzones.com/tambralinga/1852
print พิมพ์หน้านี้  favorite ชอบเรื่องนี้  comment อ่านความคิดเห็น (3)  respond แสดงความคิดเห็น
อ้างอิง
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้2187
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1238
mod_vvisit_counterทั้งหมด10734144