Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow News arrow มนุษยศาสตร์ arrow ชูคนไทยเรียนรู้ตลอดชีวิต
ชูคนไทยเรียนรู้ตลอดชีวิต PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อังคาร, 18 สิงหาคม 2009

ปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ผ่าน ครม.“จุรินทร์” ชูสร้างคนไทยเรียนรู้ตลอดชีวิต

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์18 สิงหาคม 2552 15:19 น.
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รมว.ศธ.
       ปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่ 2 ผ่าน ครม.“จุรินทร์” ชูเป้าหมายสร้างคนไทยเรียนรู้ตลอดชีวิต อย่างมีคุณภาพ มุ่งสร้าง 4 ใหม่ พร้อมจัดตั้งสถาบันคุรุศึกษา กำหนดมาตรฐานปั้นครู และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ วัดสมรรถนะเด็กจบใหม่สู่การปฏิบัติงานจริง เตรียมผุดคณะกรรมการ 2 ชุด เร่งรัดนโยบาย ขับเคลื่อนปฏิรูปรอบ 2 เต็มสูบ
       

       วันนี้ (18 ส.ค.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติตามที่ ศธ.เสนอการปฏิรูปการการศึกษาในทศวรรษที่ 2 ระหว่างปี 2552-2561 โดยทิศทางการปฏิรูปในทศวรรษที่สองนั้นมีเป้าหมายเพื่อให้คนไทยเรียนรู้ตลอดชีวิต อย่างมีคุณภาพ ซึ่งจะมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพการขยายโอกาส และแสวงหาการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยในเรื่องคุณภาพจะมุ่งสร้าง 4 ใหม่ ได้แก่ สร้างคนไทยยุคใหม่ ครูยุคใหม่ แหล่งเรียนรู้ สถานศึกษาใหม่ และระบบบริหารจัดการแบบใหม่ รวมทั้งจะมีการดำเนินการจัดตั้งสถาบันที่จำเป็น เช่น สถาบันคุรุศึกษา มีหน้าที่กำหนดมาตรฐานในการผลิตครู และพัฒนาครู รวมทั้งทำหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานในการผลิตครูของครู
       
       นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น จะจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อกำหนดเกณฑ์ในการชี้วัดสมรรถนะ ในการปฏิบัติงานจริงของผู้จบการศึกษา ว่า อยู่ในระดับใด โดยจะมีการกำหนดมาตรฐานในแต่ละแขนงอาชีพออกเป็นระดับๆ เมื่อผู้จบการศึกษาแล้ว ก็สามารถเทียบสมรรถนะว่าตนเองอยู่ในระดับใด เพื่อที่จะได้รับค่าตอบแทนตามคุณวุฒิวิชาชีพนั้น
       
       “เรื่องนี้เป็นความต้องการของภาคเอกชนมาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งจะนำไปสู่การเปรียบเทียบขั้นเงินเดือนในอนาคตด้วย เพราะแม้ว่านักศึกษาจะจบการศึกษาในระดับที่ไม่สูง แต่หากมีคุณวุฒิวิชาชีพสูง ก็สามารถได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องคิดเงินเดือนตามวุฒิการศึกษาเสมอไป เนื่องจากระบบการให้เงินเดือนในอนาคตมีแนวโน้มจะเทียบเคียงคุณวุฒิวิชาชีพมากกว่าวิชาการ” รมว.ศธ.กล่าว
       
       นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ยังมีการปรับบทบาทของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เป็นสำนักงานการศึกษาตลอดชีวิต ขณะเดียวกัน ครม.ยังเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการขึ้น 2 ชุด ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย คณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 ซึ่งมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มี รมว.ศธ.เป็นรองประธาน และ นายธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นเลขานุการ และ คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่ 2 ที่มี รมว.ศธ.เป็นประธาน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ นายกรัฐมนตรี ต้องการให้มีการนัดประชุมคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อจะได้ดำเนินการได้ในทันที สำหรับในส่วน ศธ.เองก็ได้เตรียมการไปล่วงหน้าแล้วหลายเรื่อง ซึ่งจะสามารถนำมาผสมผสานและเดินหน้าต่อไปได้ทันที เช่น โครงการสถานศึกษา 3D โครงการครูพันธุ์ใหม่ เป็นต้น
18 สค. 2552 18:07 น.

นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกฯ รักษาการโฆษกรัฐบาล กล่าวเสริมอีกว่า นายกฯ ได้พูดในที่ประชุมครม.ในการปฏิรูปการศึกษา โดยกำชับให้มียกระดับให้ประชาชนรับทราบและมีส่วนร่วม เพราะถือเป็นเรื่องใหญ่ รอมานานถึง 10 ปี ซึ่งรัฐมนตรีหลายคนในครม.ครั้งนี้หารือกันว่า การปฏิรูปการศึกษา ปกติก็ปฏิรูปในระบบราชการ แต่คราวนี้ถือเป็นการปฏิรูปในลักษณะการเชื่อมโยง
ขณะที่แหล่งข่าวในที่ประชุมครม. เปิดเผยว่า สังเกตท่าทีของนายกฯในเรื่องการปฎิรูปการศึกษานั้น เห็นได้ชัดว่าพยายามจะสั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการ ทำการประชาสัมพันธ์นโยบายการศึกษาให้มากๆเพราะเป็นเรื่องที่จะทำให้รัฐบาลได้แต้มบวกกลบข่าวที่ไม่ดีหลายเรื่องในรัฐบาล

 

วันที่ 11 สิงหาคม 2552 18:08

ผลวิจัยเด็กวัยเรียนออกกลางคันอื้อ

วิทยากร เชียงกูล คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต

 

 สกศ.เผยผลวิจัยภาวะการศึกษาไทยไม่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ชี้รัฐบาลมักเข้าใจพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่าการศึกษา พบเด็กไม่ได้เรียนเฉียด 3 ล้านคน

 รร.ปรินซ์พาเลซ - สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) จัดสัมมนา เรื่องสภาวะการศึกษาไทย ปี 2551/2552 "การศึกษากับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม" โดยมีรศ.ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานกล่าวเปิดงานว่า มิติเรื่องการศึกษามีความกว้างขวางและซับซ้อนมาก หากไม่กำหนดทิศทางการแก้ปัญหาที่ชัดเจนก็เป็นเรื่องยากที่จะเดินต่อไปได้ถูกทิศ เรื่องใดที่ดีอยู่แล้วก็ควรต้องส่งเสริม แต่บางอย่างที่บกพร่องก็ต้องเติมเต็ม ตนขอฝากเรื่องความเชื่อมโยงการศึกษากับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งต้องตอบสนองสังคมโดยรวม ทั้งด้านกำลังคน อุตสาหกรรม และแรงงาน เราคงไม่สามารถพัฒนาได้ หากไม่มีทรัพยากรบุคคล ซึ่งสำคัญกว่าประมาณ

วันนี้มีคำถามว่าสิ่งที่ระบบการศึกษาผลิตออกไปตกงานขณะที่สาขาที่ต้องเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานกลับขาดแคลนเป็นตัวอย่างง่ายๆ ว่าการศึกษาต้องสัมพันธ์กับเศรษฐกิจ สังคมซึ่งวันนี้ค่อนข้างมีความบิดเบี้ยวไปทั้งในเรื่องความเห็นของเด็กสมัยนี้ที่ต่างจากคนรุ่นก่อน ความซื่อสัตย์สุจริต ความมีจิตใจไม่คดโกง ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ทุกอย่างล้วนมีความเชื่อมเชื่อมโยงกับการศึกษาทั้งสิ้น 

นายวิทยากร เชียงกูล คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต นำเสนอผลการวิเคราะห์และวิจัยเรื่องสภาวะการศึกษาไทย ปี2551/2552 “การศึกษากับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม” ใจความโดยสรุปว่าการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการเมือง เศรษฐกิจ สังคมไทยและสถานะของประเทศไทยในระบบเศรษฐกิจโลก ความด้อยพัฒนาทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและการศึกษาต่างมีอิทธิพลต่อกัน คือการเมือง เศรษฐกิจเป็นอย่างไรก็ส่งผลกระทบทางการศึกษา ผู้บริหารประเทศมักเข้าใจผิดว่าต้องพัฒนาเศรษฐกิจก่อนพัฒนาการศึกษา ซึ่งความจริงแล้วเราต้องสร้างบุคคลกรที่มีคุณภาพก่อนเพื่อมาช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น ดังนั้นปัญหาใหญ่ของไทยคือ การกระจายการศึกษาและคุณภาพเป็นตัวการที่ทำให้คุณภาพการศึกษาของเราต่ำ ขณะที่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจจะเน้นเรื่องความเจริญเติบโตแต่ไม่เน้นการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การศึกษากระจายไม่ทั่วถึง 

นายวิทยากร กล่าวอีกว่า ไทยเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับที่ 21 ของโลก แต่รายได้ต่อหัวกลับอยู่อันดับที่ 92 ของโลกจึงถือเป็นประเทศด้อยพัฒนา ขณะที่ความสามรถทางการแข่งขัน อยู่อันดับที่ 34 ดัชนีการพัฒนามนุษย์อยู่ในอันดับที่ 81 และน่าตกใจว่าเมื่อย้อนกลับไป 5-10 ปีจะพบว่าอันดับความสามารถทางเศรษฐกิจของไทยลดลงนั่นคือมีหลายประเทศที่แซงหน้าไทยไป สัดส่วนของผู้เรียนต่อประชากรในทุกระดับการศึกษาปี 52 เพิ่มขึ้นจากปี 50-51 เล็กน้อย ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเพิ่มจาก 79.89% เป็น 81.29 ของประชากรวัยเรียน นอกจากนั้นยังพบว่ามีประชากรวัย 3-17 ปีที่ไม่ได้เรียนถึง 2.76 ล้านคน 

นอกจากนั้น ยังพบว่าระดับที่ได้รับการศึกษาต่ำคือปฐมวัยและระดับม.ปลาย ระดับปฐมวัยมีเด็กที่ได้เรียนเพียง 61% ของประชากรทั้งหมด เพราะค่าใช้จ่ายสูงผู้ปกครองไม่ให้ความสำคัญ และปัญหาที่สำคัญคือปัญหาออกกลางคันซึ่งรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญ 

“สถิติที่น่าสนใจคือ เด็กที่เข้าป.1ตอน ปี 40 ได้เรียนถึงชั้น ม.6/ปวช.3 ในปี2551 เพียงร้อยละ 47.2 คือออกกลางคันไปกว่าครึ่งหนึ่งคิดเป็นจำนวน 5.2 แสนคน ดังนั้นรัฐบาลต้องแก้ปัญหาเด็กออกกลางคันก่อน แทนที่จะไปแจกของฟรีควรให้ทุนการศึกษาคนจนมากกว่า ส่วนสถิติทางด้านแรงงาน เวลาบอกว่าคนออกกลางคันมา ศธ.ชอบเถียง แต่หากดูตัวเลขแรงงานแล้ว ร้อยละ 54.2 ของประชากรทั้งหมดคือคนวัยแรงงานหรือคิดเป็นจำนวนประชากร 37 ล้านคน และประมาณ 20 ล้านคนหรือมากกว่าครึ่งมีการศึกษาแค่ประถมหรือต่ำกว่า แต่ แล้วแบบนี้จะไปแข่งขันกับใครได้ ที่สำคัญพบว่าตัวเลขคนว่างงาน มากสุดคือคนจบป.ตรี ถึง 2 แสนคน จากจำนวนผู้ว่างงานทั้งหมด 8.2 แสนคน แสดงว่าเราผลิตคนได้ไม่ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน โครงการเรียนฟรี 15 ปี ที่ช่วยออกค่าใช้จ่าย 5 อย่างให้กับทุกคนไม่ได้ช่วยคนจนได้จริง คนจนผู้มีรายได้น้อยกว่าร้อยละ 40 ขาดโอกาสทางการศึกษา ซึ่งกลุ่มนี้จำเป็นต้องมีทุนช่วยเหลือค่าอยู่กิน และให้ทุนการศึกษาสำหรับเด็กยากจนด้วย” นายวิทยากร กล่าว 

ทั้งนี้ จากการประเมินผลการปฏิรูปการศึกษาโดยบุคลากรวงการต่าง ๆ พบว่า การจัดการศึกษายังไม่มีการกระจายตัวอย่างเป็นธรรม โดยเฉลี่ยมีคุณภาพต่ำ ซึ่งยังคงต้องเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพของครู อาจารย์และผู้บริหารอย่างจริงจัง ปรับโครงสร้างอำนาจบริหารแบบรวมศูนย์ที่ศูนย์กลาง หรือที่กระทรวงศึกษา มาเป็นสำนักงาน และคณะกรรมการประกันคุณภาพการศึกษาที่มีภาคี 4 ฝ่ายคือ ศธ. ประชาชน ผู้ทรงคุณวุฒิ และครูอาจารย์ในฐานะผู้ปฏิบัติงาน ร่วมบริหารจัดการ เพื่อลดอำนาจผูกขาดและวิธีการบริหารแบบสั่งการจากบนลงล่าง และมุงสนองความต้องการของประชาชน ชุมชน มากกว่าระบบราชการเพื่อราชการ 

ดร.เลขา   ปิยะอัจฉริยะ   กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสภาการศึกษา  กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาในรอบแรก ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษายังอ่อน และการชี้จุดอ่อนของตนเองเป็นเรื่องที่น่าอับอาย จึงมีการแต่งผลการประกันภายใน ขณะที่การประกันคุณภาพการศึกษาภายนอกโดย สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.)ยังขาดความเข้าใจแท้จริง 

"ข้อเสนอให้ปรับอำนาจการบริหารของศธ. เป็น สำนักงานคณะกรรมการประกันคุณภาพการศึกษา โดยยึดรูปแบบเดียวกันกับ สปสช.เป็นรูปแบบที่น่าสนใจมากทำให้ สธ. สามารถปฏิรูประบบสาธารณสุขของชาติได้ประสบความสำเร็จ เพราะสธ.มีการวิจัยระบบสาธารณสุข ในขณะที่ปฏิรูปการศึกษา แต่ไม่สนใจที่จะวิจัยระบบการศึกษา โดยคิดเพียงว่า การนำประถมกับมัธยมมารวมไว้ในองค์กรเดียวกัน ก็จะสำเร็จ แต่ความจริงหากมีการทำวิจัยระบบ ก็จะทราบถึงความแตกต่างกันของวัฒนธรรมองค์กร จึงทำให้ขณะนี้ประถมและมัธยม ต้องขอแยกตัวจากกัน" ดร.เลขา กล่าว

 

 

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( อังคาร, 18 สิงหาคม 2009 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

News

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้42
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1659
mod_vvisit_counterทั้งหมด10719301