Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
แหล่งประวัติศาสตร์เมืองถลาง PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พฤหัสบดี, 10 มกราคม 2008

แหล่งประวัติศาสตร์ถลาง


สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์

อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปเพื่ออ่านมันได้
----------

บ้านท้าวเทพกระษัตรี

 ท้าวเทพกระษัตรีถือกำเนิดเป็นบุตรีคนโตในครอบครัวท่านจอมร้างบ้านเคียน ผู้เป็นเจ้าเมืองถลางประมาณปลายกรุงศรีอยุธยา  พระยาพิมลอัยาขันผู้เป็นสามีได้เป็นเจ้าเมืองถลางในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งเมืองอยู่ที่เกาะบ้านเคียน

การค้นหาตำแหน่งบ้านเรือนท้าวเทพกระษัตรี
 ๑. จดหมายเหตุเมืองถลางได้ระบุไว้ว่า     "ครั้นพม่ายกมาตีปากพระได้  กลับแล่นหนีมา ณ บ้าน แลคนซึ่งให้รักษาบ้านเรือนอยู่นั้นแล่นทุ่มบ้านเรือนเสีย  ข้าวของทั้งปวงเป็นอันตราย มีคนเก็บริบเอาไปสิ้น" (ประสิทธิ  ชิณการณ์และสมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ ๒๕๒๕:๑๓) เป็นข้อความในจดหมายของท่านผู้หญิงจันมีไปถึงพระยาราชกปิตันที่เมืองปีนัง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๙ (หลังเสร็จศึกถลาง พ.ศ.๒๓๒๘ แล้ว) เหตุการณ์ในช่วงที่ท่านผู้หญิงจันกลับคืนมาถึงบ้านในครั้งนั้น  ท่านผู้หญิงจันเล่าว่าผู้คนหนีภัยพม่าไปเกือบสิ้น  ท่านผู้หญิงจันจึงได้รวบรวมผู้คนมาเสริมค่าย ณ บ้านตะเคียนไว้ต้านศึกพม่า (นรภัยพิจารณ์,ขุน ๒๕๑๐:๑๑๖) ความสอดคล้องต้องกันดังนี้ ตำแหน่งที่บ้านท้าวเทพกระษัตรีจึงควรอยู่ที่บ้านตะเคียน (ชาวบ้านเรียกบ้านเคียน)
 ๒. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เสด็จถึงเมืองถลางตอนปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๔๕๒ ทรงบันทึกไว้ว่า "บ้านท้าวเทพกระษัตรี ยังชี้ได้ อยู่ริมวัดพระนางสร้าง" (มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,พระบาทสมเด็จพระ ๒๖๐๖:๙๓) ซึ่งนายคล้อย  ทองเจริญ ผู้เคยเห็นเหตุการณ์ในวันนั้น ยืนยันว่าเมื่อก่อนบริเวณวัดพระนางสร้าง มีอาณาเขตกว้างออกไปทางทิศเหนือถึงริมคลองบางใหญ่ (สมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์ ๒๕๒๖:๒๔๒) บ้านท้าวเทพกระษัตรีจึงควรอยู่ด้านทิศเหนือของบริเวณวัดพระนางสร้างและควรอยู่ใกล้กับคลองบางใหญ่

 ข้อความในแผ่นป้ายบ้านท้าวเทพกระษัตรี  ตามฉบับร่างของนายสมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์  ซึ่งกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ  มีมติให้ความเห็นชอบแล้ว มีดังนี้
 "หน้าเรือนแม่หม้า  มีขามคอม้า  มีหว้ากาจับ  มีต้นม่วงคล้า  มีสระหน้าบ้าน  มีคูโดยรอบ  มีขอบค่ายไผ่"  คำเชิญตายายผีถลางที่บ่งบอกบริเวณบ้านท้าวเทพกระษัตรี (จัน)
 สถานที่นี้ เดิมเป็นจวนของจอมร้างบ้านเคียน  ผู้รั้งเมืองถลางในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  ตกมาเป็นมรดกของบุตรสาวคือท่านผู้หญิงจัน(ท้าวเทพกระษัตรี)   ท่านผู้หญิงจันได้สร้างค่ายไม้ตะเคียนไว้ต้านศึกพม่าจนพม่าแตกพ่ายไปเมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๓๒๘
 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๖ เคยเสด็จทอดพระเนตรเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๔๕๒ (ร.ศ.๑๒๘)

 

บรรณานุกรม

ดำรงราชานุภาพ,สมเด็จกรมพระยา  ไทยรบพม่า พิมพ์ครั้งที่ ๕ ศิลปาบรรณาคาร ๒๕๑๔, ๘๐๗ หน้า


นรภัยพิจารณ์,ขุน "ประวัติท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร" อนุสรณ์ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร หน้า ๑๑๖ โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น
๒๕๑๐ 

ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๒ คุรุสภา ๒๕๐๖,๓๓๖ หน้า


ประสิทธิ  ชิณการณ์ และสมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์  จดหมายเหตุเมืองถลาง  ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต ๒๕๒๕, ๒๗ หน้าอัดสำเนา


พระบาทสมเด็จพระ มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, จดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ.๑๒๘  ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ ๒๕๐๖,
๒๙๐ หน้า


ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต แผนที่ (เพิ่มแผนที่และภาพ)บ้านในค่าย หอวัฒนธรรมภูเก็จ ๑ เมษายน ๒๕๑๐, ๑ หน้า


สมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์ เสริมรู้เมืองภูเก็จ ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต ๒๕๒๖, ๒๙๐ หน้า

 

สุเหร่าแม่หม้าเสี้ย

 เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว มีเศษอิฐปรากฎอยู่บริเวณที่ชาวบ้านเรียกว่า สุเหร่าบ้านเคียน บัดนี้มีเพียงเนินดินและคันนา มีต้นไทรกับต้นตาลอยู่บริเวณที่เป็นสุเหร่า
 สถานที่นี้อยู่ที่เกาะบ้านเคียน ตำบลเทพ-กระษัตรี อำเภอถลาง

 

อนุสรณ์สถานถลางชนะศึก


 เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๘  พม่ายกกองกำลังจำนวน ๓,๐๐๐ คน มาตีเมืองถลางบ้านเคียน ท่านผู้หญิงจัน คุณมุก  พญาเทียน  พญาทองพูน และวีรชนเมืองถลาง  ได้รบพุ่งต้านต่อกับพม่าเป็นเวลาเดือนเศษ  เมืองถลางใช้ยุทธวิธีพิรุณสังหารพม่าเจ็บป่วยล้มตาย ๓๐๐ - ๔๐๐ คน แล้วแตกพ่ายไปเมื่อ ๑๓ มีนาคม ๒๓๒๘
 สถานที่แห่งนี้อยู่กลางทุ่งนาริมคลองบางใหญ่ ระหว่างเกาะบ้านเคียนกับบ้านดอน ตำบล
เทพกระษัตรี  อำเภอถลาง

 

สุสานแม่หม้าเสี้ย

 หินตาหนา  เป็นหินแปรที่ปักไว้ระหว่างศพบนเนินที่ชาวบ้านเรียกว่า สานแขก ซึ่งหมายถึง สุสานของมุสลิม  มีหินแปรขนาด ๔ - ๕ ตารางฟุต จำนวนไม่ต่ำกว่า ๖ แท่ง
 สถานที่แห่งนี้อยู่ที่บ้านเหรียง ตำบลเทพกระษัตรี  อำเภอถลาง

 


บ้านพระยาวิชิตสงคราม

          ภูเก็ต ร่ำรวยทรัพยากรที่มีค่าและร่ำรวยธรรมชาติ แม้เมื่อทรัพยากรแร่ลดลง   ภูเก็ตก็มีธรรมชาติให้ชาวโลกได้ชื่นชม สถานที่ธรรมชาติหลายแห่งมีประวัติศาสตร์อันควรค่าแก่ความภาคภูมิใจ   บางสถานที่มีซากอิฐซากปูนเหลือทิ้งไว้ให้เป็นที่ฉงนสนเท่ห์ก็มีมิใช่น้อย
          กรมการเมืองภูเก็ตได้รายงานให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี ทราบว่า  กองอิฐกองปูนที่อยู่ตรงข้ามโรงเรียนบ้านท่าเรือ ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลางว่า  เป็นบ้านท้าวเทพกระษัตรี วีรสตรีเมืองถลาง  แต่ พลเรือโทพิศณุ  ณ ถลาง รน. เข้าใจว่า ที่นั่น คือ จวนและที่ว่าราชการเมืองถลางของพระยาถลาง(หนู ณ ถลาง) เจ้าเมืองคนสุดท้ายของถลางก่อนเปลี่ยนการปกครองมาเป็นมณฑล   จึงได้ดูแลเอาใจใส่สถานที่นี้ไว้ จนกระทั่งกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ ได้ค้นคว้าหาหลักฐานยืนยันได้ว่า   กองอิฐกองปูนบริเวณนั้นเป็นศาลาว่าการเมืองภูเก็จ  และนิวาสสถานของพระยาวิชิตสงคราม(ทัด และ ลำดวน รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) สร้างเมื่อศึกวุ่นจีน พ.ศ.๒๔๑๙    ในที่ดินมรดกของเจ้ะมะเจิม ผู้เป็นเจ้าเมืองถลางท่าเรือเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๒       บุตรชายชื่อ แก้วไปเป็นเจ้าเมืองภูเก็จที่บ้านเก็ตโฮ่    บุตรชายชื่อ ทัดไปเป็นเจ้าเมืองภูเก็จที่บ้านทุ่งคา  เมื่อเกิดศึกวุ่นจีน ๒๔๑๙    พระยาภูเก็จทัดได้ย้ายจวนเมืองภูเก็จไปที่บ้านท่าเรือ 
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระสยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จทอดพระเนตรเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๔๕๒  และทรงบันทึกเล่าไว้ว่า
ขากลับแวะทอดพระเนตรบ้านพระยาวิชิตสงคราม จางวางเมืองภูเก็จ ที่บ้านท่าเรือ    บ้านนี้ ท่านพระยาวิชิตไปสร้างขึ้นเมื่อครั้งจีนกระทำการตั้วเหี่ยขึ้นที่เมืองภูเก็จ ท่าน   พระยาวิชิตเห็นว่าจะอยู่ในเมืองภูเก็จใกล้ภัยอันตรายมากนัก   จึงไปสร้างบ้านขึ้นที่ท่าเรือสำหรับเป็นที่เลี่ยงไปอยู่ มีกำแพงแข็งแรงราวกับกำแพงเมือง  มีใบเสมาตัดสี่เหลี่ยม มีป้อมวางเป็นระยะ ๆ รอบ   เตรียมรบเจ๊กอย่างแข็งแรง   ภายในได้ก่อตึกรามขึ้นไว้หลายหลัง แต่ปรักหักพังเสียเกือบหมดแล้ว  ยังเหลือพอเป็นรูปอยู่แต่ทิมแถวที่สำหรับพวกหญิงละครอยู่   มีสระสำหรับแม่ละครลงเล่นน้ำ.....
           ประสิทธิ  ชิณการณ์  ประธานกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ ได้ศึกษาหลักฐานต่าง ๆ กล่าวไว้ว่า สถานที่ท่าเรือนี้เคยเป็นท่าเรือใหญ่ ที่ชาวต่างประเทศต้องแวะมาติดต่อกับเมืองถลาง   บริเวณท่าเรือเคยเป็นที่อยู่ของพระยาพิมลขัน  ผู้เป็นสามีของท่านผู้หญิงจัน(ท้าวเทพกระษัตรี)เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๗ ที่ท่าเรือมีบ้านเรือนอยู่ราว ๘๐ หลังคาเรือน
           จังหวัดภูเก็ตได้เห็นความสำคัญของบ้านพระยาวิชิตสงคราม  จึงได้มีคำสั่งเมื่อ ๑๘พฤศจิกายน ๒๕๒๕ แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาบริเวณบ้านพระยาวิชิตสงคราม   เจ้า
เมืองภูเก็จเนื้อที่ ๑๐ ไร่ ๑ งาน ๘๐ ตารางวา ให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและรวบรวมวัตถุทางประวัติศาสตร์   ที่ประชุมมีมติให้ สิรินพัณ  พันธุเสวี เป็นผู้ออกแบบอาคารเพื่อเก็บรักษาโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ อันเป็นแนวความคิดในการเสนอการจัดตั้ง   "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติถลาง" ในบริเวณนี้   แต่กองโบราณคดี กรมศิลปากร เห็นว่า  สถานที่นี้ยังไม่ได้ตรวจสอบหลักฐานทางโบราณคดี  ไม่สมควรสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในที่ดินนี้   จังหวัดภูเก็ตจึงตั้งคณะทำงานพิจารณาที่ดินสร้างพิพิธภัณฑ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๒๘   กองโบราณคดีจึงได้ตรวจสอบที่ดินบ้านพระยาวิชิตสงครามอย่างจริงจัง   และเห็นว่าที่ดินนี้มีความสำคัญแก่แผ่นดิน  จึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ  ภูเก็ตจึงมีโบราณสถาน"บ้านพระยาวิชิตสงคราม เจ้าเมืองภูเก็จ" เป็นแห่งที่ ๓
          องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตได้สนับ สนุนทุนในการก่อสร้างป้ายบอกสถานที่มอบหมายให้ สิรินพัณ  พันธุเสวี เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างอันเป็นส่วนหนึ่งของการฉลอง ๒๐๐ ปีวีรสตรีเมืองถลาง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ กิตติศัพท์การร่วมมือของทุก ๆ คนที่ตั้งใจรักษามรดกของชาติ  ภูเก็ตจึงได้รับการคัดเลือกเป็นจังหวัดดีเด่นในการอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี ๒๕๓๓

 

เมืองถลางบ้านดอน

สถานที่ตั้ง
          เมืองถลางบ้านดอนตั้งอยู่ที่บ้านดอน ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต    ตรงตำแหน่งละติจูด ๘ องศา ๑ ลิปดา ๑๓ ลิปดา ตะวันออก และลองจิจูด ๙๘ องศา ๑๙ ลิปดาเหนือ

สภาพบริเวณ
          ในบริเวณกำแพงเมืองถลางบ้านดอนมีบ้านเรือน ๓ หลัง  อยู่ในสวนมะพร้าว กำแพงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ความยาวด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกประมาณ ๙๐ เมตร ด้านทิศเหนือและทิศใต้ยาวประมาณ ๗๐ เมตร  ชาวบ้านดอนเคยขุดพบปืนใหญ่อย่างน้อย ๓ กระบอก ปืนยาว ๑ กระบอก  หัวนอโมและแร่แทนตาไลท์หรือขี้ตะกรันจำนวนมาก (แฉล้ม พิมลเอกอักษร ให้สัมภาษณ์ ๒๕๒๔)    กำแพงด้านทิศตะวันออกติดกับทุ่งนาเคยเป็นคอกม้า นอกกำแพงด้านทิศเหนือเป็นคุก (เอียด  ณ ถลาง ให้สัมภาษณ์ ๒๕๒๔)

เจ้าเมืองถลางบ้านดอน


           พงศาวดารเมืองถลางได้ระบุไว้ว่า  เจ้าเมืองถลางบ้านดอน  คือ จอมเฒ่าบ้านดอน ซึ่งเป็นพี่ชายของจอมร้างบ้านเคียน(ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๒, ๒๕๐๖ : ๒๔๙) หรือมีศักดิ์เป็นลุงของท้าวเทพกระษัตรี (จัน) และท้าวศรีสุนทร (มุก)
       จอมเฒ่าบ้านดอนเป็นเจ้าเมืองถลางบ้านดอน ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อจอมเฒ่าบ้านดอนถึงแก่อนิจกรรม เมืองถลางจึงย้ายไปอยู่ที่เมืองถลางบ้านเคียนจนถึงปลายรัชกาลที่ ๔ จึงได้มีหลักฐานว่า พระยาถลางคิน จันทโรจวงศ์ มาเป็นเจ้าเมืองบ้านดอน(เอียด  ณ ถลาง ให้สัมภาษณ์  ๒๕๒๔)  ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๐๕ - ๒๔๑๒ (สุนัย ราชภัณฑารักษ์ ๒๕๒๗ : ๘๔) พระยาถลางคิน จันทโรจวงศ์       เป็นบุตรของพระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงครามทับ หรือพระยาถลางทับ  จันทโรจวงศ์ เชื้อสายฝ่ายบิดาสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาสุรินทราชา(จันทร์) ข้าหลวงสำเร็จราชการแปดหัวเมืองฝั่งตะวันตก(พงศาวดารเมืองพัทลุง ๒๕๑๕ : ๓๗) มีบุตรชายได้เป็นเจ้าเมืองถลางระหว่าง พ.ศ. ๒๓๘๐ - ๒๓๙๑ คือ พระยาถลางฤกษ์  จันทโรจวงศ์(ลำดับผู้สืบสายโลหิตโดยตรงจากเจ้าพระยา
สุรินทราชา(จันทร์) ต้นสกุลจันทโรจวงศ์ ๒๕๐๕ : ๒)  บุตรชายพระยาถลางฤกษ์  จันทโรจวงศ์   คือ พระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงครามหรือพระยาถลางทับ  จันทโรจวงศ์  เป็นเจ้าเมืองถลาง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๑ - ๒๔๐๕  (สุนัย  ราชภัณฑารักษ์ ๒๕๒๗ : ๘๓)
          เมื่อพิจารณาเชื้อสายทางฝ่ายมารดาของพระยาถลางทับ  จันทโรจวงศ์   ก็ปรากฏว่าพระยาถลางฤกษ์  จันทโรจวงศ์ เป็นบุตรเขยของพระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหงหรือพระยาถลางเทียน ประทีป ณ ถลาง ซึ่งเป็นบุตรของท้าวเทพกระษัตรี(จัน) พระยาถลางฤกษ์  จันทโรจวงศ์ จึงเป็นหลานเขยของท้าวเทพกระษัตรี(จัน) ผู้สืบเชื้อสายจากพระยาถลางฤกษ์  จันทโรจวงศ์ คือ พระยาถลางทับ  จันทโรจวงศ์  พระยาถลางคินจันทโรจวงศ์ และพระยาถลางเกต  จันทโรจวงศ์   ต่างก็สืบเชื้อสายมาจากวีรสตรีเมืองถลางสายท้าวเทพกระษัตรี

หลักฐานทางด้านเศรษฐกิจ

           ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๐ - ๒๕๒๒   เจ้าของที่ดินในบริเวณกำแพงเมืองถลางบ้านดอนขุดได้แร่แทนทาไลท์(จำนงค์  พิมลเอกอักษร ให้สัมภาษณ์ ๒๕๒๔) แสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้มีแร่ดีบุก แม้ในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ รอบบริเวณเมืองถลางบ้านดอนก็ยังคงทำเหมืองแร่ดีบุกสืบมานับเป็นร้อยปีมาแล้ว
           รอบ ๆ เมืองถลางบ้านดอนเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนา ทุ่งนารอบเมืองถลางบ้านดอนมีเนื้อที่ทำนามากที่สุดในจังหวัดภูเก็ต

ประวัติการสำรวจเมืองถลางบ้านดอน


          สมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์ ประธานศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต   นายเลียบ  ชนะศึก กรรมการกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ   และสมาชิกหอพักวัฒนธรรมภูเก็ต ได้สำรวจบริเวณเมืองบ้านดอนเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๒๔  คณะผู้สำรวจได้วัดความยาวของกำแพงทั้งสี่ด้าน เขียนแผนผังบริเวณเมืองถลางบ้านดอน นอกจากนี้ยังทราบว่าขนาดอิฐของเมืองถลางบ้านดอนมีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดภูเก็ต คือแต่ละแผ่นมีขนาด ๖ x ๑๗ x ๒๔ ซม.
          นายจำนงค์  พิมลเอกอักษร   นักศึกษาวิทยาลัยครูภูเก็ตที่อาศัยอยู่ในบริเวณกำแพงเมืองถลางบ้านดอนในขณะที่เตรียมดินจะปลูกอ้อยใกล้แนวกำแพงทิศตะวันออก ขุดพบกำแพงอิฐที่ฝังอยู่  พบเมื่อเดือนเมษายน ๒๕๒๖   อันเป็นหลักฐานให้เห็นแนวกำแพงเมืองถลางบ้านดอนชัดเจนยิ่งขึ้น

การสร้างป้ายบ้านเมืองถลางบ้านดอน


           คณะกรรมการจัดสร้างป้ายโบราณสถานและโบราณวัตถุ ๒๐๐ ปี วีรสตรีเมืองถลางและกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จได้พิจารณาแบบป้ายแล้ว อนุมัติให้ใช้แบบป้ายของปรัชญา  อาภรณ์อาจารย์ภาควิชาอุตสาหกรรมศิลป์ สถาบัน
ราชภัฏภูเก็ต  ได้รับงบประมาณจากจังหวัดภูเก็ตเป็นเงิน ๔ หมื่นบาท  สร้างในที่ดินบริจาคของนางแฉล้ม  พิมลอักษร บ้านเลขที่ ๙ หมู่ ๔ บ้านดอน ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต   ซึ่งบริจาคที่ดินตรงแนวกำแพงด้านทิศตะวันออกให้สร้างป้ายจำนวน ๖ คูณ ๖ ตารางเมตร ก่อสร้างป้ายเสร็จจากการดูแลของนางสิรินพัณ พันธุเสวีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๒๗

ข้อความในแผ่นป้ายเมืองถลางบ้านดอน
          กลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จได้พิจารณาข้อความและให้ใช้ข้อความในแผ่นป้าย  ดังนี้

เมืองถลางบ้านดอน

       จอมเฒ่าบ้านดอนพี่ชายจอมร้างบ้านเคียน(บิดาท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร)เจ้าเมืองถลางบ้านดอนสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ
        พระยาถลาง (คิน  จันทโรจวงศ์)เป็นเจ้าเมืองตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๐๕ – ๒๕๑๒

ภาพนูนบนแผ่นป้ายเมืองถลางบ้านดอน


         นางสิริพัณ พันธุเสวี  อาจารย์ภาควิชาศิลปศึกษา สถาบันราชภัฏภูเก็ตและในฐานะประธานโครงการจัดสร้างป้ายโบราณวัตถุ ๒๐๐ ปีวีรสตรีเมืองถลาง ได้ออกแบบภาพนูนบนแผ่นป้ายตามแนวข้อมูลของนายสมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ เลขานุการกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ  ที่ค้นได้ในขณะนั้น
           ภาพนูนเป็นภาพพระภิกษุกำลังบิณฑบาต  แสดงให้เห็นว่าเมืองถลางบ้านดอนมีความสงบ   ชาวเมืองถลางบ้านดอนช่วยกันถลุงแร่ดีบุก  เพื่อส่งเป็นสินค้าออกหรือไว้แลกเปลี่ยนสินค้าจากต่างประเทศ    แร่ดีบุกได้มาจากการทำเหมืองและการร่อนแร่ด้วยเลียง ด้านหลังการร่อนแร่เป็นภาพชาวนากำลังเก็บเกี่ยวข้าว ชาวนาสวมหมวกเตยทรงหกเหลี่ยมอันเป็นลักษณะพิเศษที่คงไม่มีที่ใดเหมือน.

 

 บรรณานุกรม

จำนงค์  พิมลเอกอักษร  อายุประมาณ ๒๒ ปี บ้านเลขที่ ๙ หมู่ ๔ ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ให้สัมภาษณ์ สมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์ สัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๒๔


แฉล้ม  พิมลเอกอักษร (พิมล)  อายุ ๕๗ ปี บ้านเลขที่ ๙ หมู่ ๔ ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ให้สัมภาษณ์ สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ สัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๗
 

พงศาวดารเมืองพัทลุง  โรงพิมพ์เจริญธรรม ๒๕๑๕, ๙๓ หน้า  ลำดับผู้สืบสายโลหิตโดยตรงจากเจ้าพระยาสุรินทราชา (จันทร์) ต้นสกุลจันทโรจวงศ์  แสงสว่าง ๒๕๐๕, ๖๗ หน้า

สุนัย  ราชภัณฑารักษ์   ท้าวเทพกระษัตรี  โรงพิมพ์ศิริภัณฑ์ออฟเซ็ท   ขอนแก่น   ๒๕๒๗, ๙๐ หน้า

เอียด  ณ ถลาง อายุ ๗๐ ปี บ้านดอน เทพกระษัตรี ถลาง ภูเก็ต ให้สัมภาษณ์ สมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์ สัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๒๔

 

เมืองถลางบางโรง

สถานที่ตั้ง
        เมืองถลางบางโรงอยู่ที่หมู่ ๓ บ้านบางโรง ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต  ตรงตำแหน่งละติจูด ๘ องศา ๓ ลิปดา ๑๐ ฟิลิปดาเหนือ และลองติจูด ๘๙ องศา ๒๔ ลิปดา ๔๐ ฟิลิปดาตะวันออก

สภาพบริเวณ

        มีแนวกำแพงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า    แนวกำแพงทิศเหนือและทิศใต้ยาวประมาณ๑๒๐ เมตร  แนวกำแพงส่วนใหญ่ถูกทำลาย      มีเนินกำแพงเล็กน้อยปรากฏอยู่ข้างบ้านนายดลเล๊าะ  ท่อทิพย์   กำแพงด้านทิศตะวันตกถูกไถถมดินลูกรัง      กลายเป็นถนนซึ่งแยกจากถนนคินเกตไปบ้านอ่าวปอ ในบริเวณกำแพงเป็นสวนมะพร้าว   ชาวบ้านปลูกเรือนอาศัยอยู่ ๓ หลังคาเรือน(บันทึกงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต  ๒๕๒๔ : ๗๗)  นายดลเล๊าะ ท่อทิพย์ พบเหรียญต่างประเทศในบริเวณกำแพง เช่น เหรียญอีสต์ อินเดีย คอมปานี ค.ศ.๑๘๐๔ ตรงกับ พ.ศ.๒๓๔๗  สมัยรัชกาลที่  ๓ เหรียญ NEDER-LANDCE INDIE ค.ศ.๑๘๕๘ ตรงกับ พ.ศ.๒๔๐๑  สมัยรัชกาลที่ ๔ (ดลเล๊าะ  ท่อทิพย์ ให้สัมภาษณ์ ๒๕๒๗) เป็นต้น

เจ้าเมืองถลางบางโรงสกุลจันทโรจวงศ์
        ชาวบ้านบางโรงเรียกชื่อเจ้าของบริเวณที่ดินในกำแพงนั้นว่า    เจ้าคุณถลางคิน (ยีนะ วงศ์หลี ให้สัมภาษณ์ ๒๕๒๗)   เป็นเจ้าเมืองถลางบางโรงระหว่าง พ.ศ.๒๓๙๔ - ๒๔๑๑ ตอนปลายสมัยรัชกาลที่ ๔  พระยาถลางคิน จันทโรจวงศ์เป็นพี่ชายของพระยาถลางเกต  จันทโรจวงศ์ ซึ่งเป็นเจ้าเมืองถลางเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ - ๒๔๓๓ (สุนัย  ราชภัณฑารักษ์ ๒๕๒๗ : ๘๔) พระยาถลางคิน จันทโรจวงศ์และพระยาถลางเกต จันทโรจวงศ์ เป็นบุตรของพระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงครามซึ่งเดิมชื่อทับ  จันทโรจวงศ์  ได้เป็นหลวงนรานุชิต ผู้ช่วยเมืองถลาง   เมื่อบิดาถึงแก่อนิจกรรมจึงได้เป็นเจ้าเมืองถลางเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๐ - ๒๓๙๑ (สุนัย ราชภัณฑารักษ์ ๒๕๒๗ : ๘๓)
        พระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงคราม หรือเจ้าเมืองถลางทับ จันทโรจวงศ์เป็นบุตรของพระยาถลางฤกษ์  จันทโรจวงศ์(ลำดับผู้สืบสายโลหิตโดยตรงจากเจ้าพระยาสุรินทราชา(จันทร์) ผู้เป็นต้นสกุล จันทโรจวงศ์ ๒๕๐๕ : ๓)
        พระยาถลางฤกษ์ จันทโรจวงศ์เป็นบุตรของเจ้าพระยาสุรินทราชา(จันทร์) ผู้เป็นต้นสกุลจันทโรจวงศ์  ซึ่งรัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้า ฯ ให้ออกมาเป็นข้าหลวงสำเร็จราชการแปดหัวเมืองฝั่งตะวันตก ณ เมืองถลาง(พงศาวดารเมืองพัทลุง ๒๕๑๕ : ๓๗) และพระยาถลางฤกษ์  จันทโรจวงศ์เป็นบุตรเขยของพระยาถลางเทียน ประทีป ณ ถลาง หรือพระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหงซึ่งเป็นบุตรของท้าวเทพกระษัตรี(จัน) (สุนัย ราชภัณฑารักษ์ ๒๕๒๗ : ๘๒)     จึงกล่าวได้ว่าพระยาถลางฤกษ์  จันทโรจวงศ์เป็นหลานเขยของท้าวเทพกระษัตรี ด้วยเหตุนี้  ผู้สืบสกุลต่อจากพระยาถลางฤกษ์  จันทโรจวงศ์ คือ พระยาถลางทับ จันทโรจวงศ์  พระยาถลางคิน จันทโรจวงศ์ และพระยาถลางเกต จันทโรจวงศ์ ต่างก็มีเชื้อสายสืบต่อมาจากวีรสตรีเมืองถลางสายท้าวเทพกระษัตรีด้วยประการหนึ่ง

หลักฐานทางเศรษฐกิจ
        ใกล้บริเวณกำแพงเมืองถลางบางโรงมีท่าเรือ ๓ แห่ง  คือ  ท่าเรือหลังกำแพง ท่าเรือท่าตลาดหรือท่าต้นโด และท่าเรือหลังตึก   ท่าเรือใหญ่มีน้ำลึกพอที่จะให้เรือใบเสากระโดง ๓ หลักจอดเทียบท่าขนถ่ายสินค้าได้     คือ  ท่าเรือท่าตลาดและท่าเรือหลังตึก   ส่วนท่าเรือหลังกำแพงเรือใบขนาดเสากระโดง ๑ หลักเข้าเทียบท่าได้ (ยีนะ วงศ์หลี ให้สัมภาษณ์ ๒๕๒๗)
        ด้านทิศใต้ของสระน้ำเจ้าคุณถลางคิน  จันทโรจวงศ์ มีร่องรอยการถลุงแร่ดีบุก มีเศษภาชนะและแร่แทนทาไลท์หรือขี้ตะกรัน   ท่าเรือทั้ง ๓ แห่งมีแร่แทนทาไลท์จำนวนมาก เมืองถลางบางโรงจึงเป็นเมืองส่งแร่ดีบุกเป็นสินค้าออก
        เจ้าคุณถลางคิน  จันทโรจวงศ์มีช้าง ๒ เชือก ชื่อ พลายนิลและพลายเหม  ช่วยลากฟืนจากภูเขามาเผาเป็นถ่าน (ยีนะ วงศ์หลี ให้สัมภาษณ์ ๒๕๒๗)  ท่าเรือท่าตลาดในปี พ.ศ.๒๕๒๗ เป็นท่าเรือขนส่งสินค้าถ่านออกซึ่งคงสืบเนื่องการส่งสินค้าถ่านออกมาตั้งแต่อดีต
        บริเวณที่ราบลุ่มเป็นที่ทำนาเนื้อที่ประมาณ  ๒ ตารางกิโลเมตร  ชาวนาใช้ควาย
คู่ไถนามาตั้งแต่อดีต (ยีนะ  วงศ์หลี ให้สัมภาษณ์ ๒๕๒๗)
 
ประวัติการสำรวจ
        สมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์  เลขานุการกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จและนายพัฒน์  จันทร์แก้ว  ผู้ช่วยเลขานุการกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ ได้ไปสำรวจบริเวณเมืองถลางบางโรงเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๒๔ สิ่งที่พบเห็นในครั้งนั้นคือ แร่แทนทาไลท์บริเวณท่าเรือท่าตลาด   ซากตึกปูนปนหินปะการัง    สระน้ำเจ้าคุณถลางคิน จันทโรจวงศ์และกำแพงเมืองด้านทิศใต้        วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๒๔ นายสมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์ ประธานศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ตได้นำสมาชิกหอวัฒนธรรมภูเก็จไปสำรวจข้อมูลบริเวณเมืองถลางบางโรงเพิ่มเติม   ครั้งนี้พบกองอิฐด้านกำแพงทิศใต้  ขุดพบอิฐประมาณ ๕ - ๗ ก้อนตามแนวกำแพงด้านทิศตะวันออก   กำแพงด้านทิศเหนือมีซากกำแพงปูนผสมหินปะการัง  วัดความยาวของกำแพงทิศตะวันออกและทิศใต้ยาว ๘๐ เมตร  กำแพงทิศเหนือและทิศใต้ยาว ๑๒๐ เมตร กำแพงด้านทิศตะวันตกถูกรถไถทำเป็นถนนดินลูกรัง

การสร้างป้ายเมืองถลางบางโรง
       กลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ  ได้เสนอแนะจังหวัดภูเก็ต ผ่านทางคณะอนุกรรมการกิจกรรมประวัติศาสตร์ ๒๐๐ ปีวีรสตรีเมืองถลางให้แต่งตั้งกรรมการจัดสร้างป้ายทางประวัติศาสตร์   จังหวัดภูเก็ตจึงได้แต่งตั้งนางสิรินพัน พันธุเสวี เป็นหัวหน้าโครงการจัดสร้างป้ายโบราณสถานและโบราณวัตถุ  และได้อนุมัติงบประมาณจัดสร้างป้ายเมืองถลางบางโรงประมาณ ๔ หมื่นบาท
        คณะกรรมการโครงการจัดสร้างป้ายโบราณสถานและโบราณวัตถุ ได้พิจารณาแบบป้ายและเห็นชอบแบบป้ายของนายปรัชญา  อาภรณ์ อาจารย์วิทยาลัยครูภูเก็ต  จึงพิจารณาอนุมัติให้สร้าง  ณ บริเวณที่ดินของนายดลเล๊าะ  ท่อทิพย์ เลขที่ ๑๒๙ หมู่ ๓ บ้านบางโรง ตำบล   ป่าคลอก อำเภอถลาง  จังหวัดภูเก็ต   ซึ่งนายดลเล๊าะ  ท่อทิพย์ ได้บริจาคที่ดินให้จำนวน ๖.๖ ตารางเมตรเพื่อสร้างป้ายเมืองถลางบางโรง

ข้อความในแผ่นป้ายเมืองถลางบางโรง


        กลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จได้พิจารณาและอนุมัติข้อความในแผ่นป้ายเมืองถลางบางโรง ดังนี้

 

                  เมืองถลางบางโรง

        บริเวณนี้มีกำแพงล้อมรอบเนื้อที่กว้าง ๘๐ เมตร ยาว ๑๒๐ เมตร ทิศใต้มีสระน้ำ  ทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นท่าเรือ    เดิมเป็นเมืองถลางบางโรง
        พระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงคราม(ทับ  จันทโรจวงศ์) เป็นเจ้าเมืองตั้งแต่  พ.ศ.๒๓๙๑ - ๒๔๐๕    พระยาถลางคิน(บุตรพระยาถลางทับ)เป็นเจ้าเมืองตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๐๕-๒๔๑๒และพระยาถลางเกต(น้องชายพระยาถลางคิน)เป็นเจ้าเมืองตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๒ - ๒๔๓๓

ภาพนูนบนแผ่นป้ายเมืองถลางบางโรง
       นายปรัชญา อาภรณ์ อาจารย์ภาควิชาอุตสาหกรรมศิลป์ วิทยาลัยครูภูเก็ต ได้ร่างแบบภาพนูนเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๒๖ ตามแนวที่นายสมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์  เลขานุการกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ    เสนอตามหลักฐานที่ค้นคว้าได้ในขณะนั้น  และมอบให้นายประสิทธิ ชิณการณ์ประธานกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จพิจารณาในขั้นสุดท้าย
       ภาพนูนบนแผ่นป้ายเมืองถลางบางโรง เป็นภาพคนกำลังแบกถุงบรรจุแร่ดีบุกขนลงเรือใบเสากระโดงหนึ่งหลักซึ่งจอดเทียบท่าเรือบริเวณเมืองถลางบางโรง   ชายฝั่งมีกองถ่านพร้อมที่จะขนลงเรือ     ช้างเชือกหนึ่งกำลังกินอ้อยอยู่ระหว่างสวนมะพร้าวและเรือนหลังคาจากของชาวถลางบางโรง ชาวนากำลังให้ควายคู่ลากไถทำนา.

บรรณานุกรม

ดลเล๊าะ  ท่อทิพย์ อายุ ๔๔ ปี บ้านเลขที่ ๑๒๙ หมู่ ๓ บ้านบางโรง ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ให้สัมภาษณ์ สมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์   เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๗.


บันทึกงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต หน้า ๗๗ ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต ๑๒ ธันวาคม ๒๕๒๔    ฉบับเขียน.


พงศาวดารเมืองพัทลุง  โรงพิมพ์เจริญธรรม   ๒๕๑๕,  ๙๓ หน้า.


ยีนะ วงศ์หลี อายุ ๗๐ ปี บ้านเลขที่ ๗๓ หมู่ ๓ บ้านบางโรง ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ให้สัมภาษณ์ สมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๗.


ลำดับผู้สืบสายโลหิตโดยตรงจากเจ้าพระยาสุรินทราชา(จันทร์) ต้นสกุลจันทโรจวงศ์   โรงพิมพ์แสงสว่าง   ๒๕๐๕,  ๖๗ หน้า.


สุนัย  ราชภัณฑรักษ์    ท้าวเทพกระษัตรี   โรงพิมพ์ศิริภัณฑ์ออฟเซ็ท  ขอนแก่น  ๒๕๒๗,  ๙๐ หน้า.



 

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( อาทิตย์, 13 มกราคม 2008 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้1408
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1243
mod_vvisit_counterทั้งหมด10646555